fbpx

7 รอบอายุ ดุษฎี พนมยงค์ ศิลปินแห่งชาติกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เมื่อเอ่ยถึงวง ‘สวนพลูคอรัส’ หรือคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ซึ่งกวาดรางวัลในระดับโลกมาแล้วมากมาย หลายคนย่อมนึกถึงครู ‘ดุษฎี พนมยงค์’ ผู้อำนวยการคณะนักร้องแห่งนี้ที่มีผลงานจำนวนมากในวงการดนตรีอย่างเป็นที่ประจักษ์

นอกจากบทบาทของศิลปินแห่งชาติในด้านดนตรีแล้ว ชีวิตของครูดุษยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลายหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกด้วย

ในวาระ 7 รอบอายุของครูดุษ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 จึงขอนำเสนอ 7 เรื่องของครูผ่านพื้นเพกำเนิด ครอบครัว การศึกษา การงาน และความฝัน


ดุษฎี พนมยงค์
(ศรวณีย์ พรพิทักษ์พงศ์ ถ่ายเมื่อ 4 มีนาคม 2565)


1. จากเหรียญเกียรติยศสู่นามธิดา


ดุษฎี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2481 (ตามปฏิทินเก่า) ที่บ้านพูนศุข ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม โดยมีหลวงพรหมทัตตเวที (ไหมพรม) เป็นหมอตำแยทำคลอด

ในระยะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้เป็นบิดา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา และเพิ่งลงนามยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับนานาประเทศเป็นผลสำเร็จ ทำให้สยามได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ ผลจากการปฏิบัติราชการด้านต่างประเทศเรื่องนี้ ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 และลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 เดือนเดียวกัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสูติบัตรของเด็กหญิงที่เกิดแต่นางประดิษฐ์มนูธรรมนั้น แจ้งเกิดเมื่อวันที่ 28 เดือนเดียวกันว่า ‘ดุษฎี’ อันมาจากเครื่องหมายแห่งเกียรติยศซึ่งบิดาเพิ่งได้รับมา  


สูติบัตรของเด็กหญิงดุษฎี พนมยงค์
ดุษฎีกับบิดา


2. โดนคุณพ่อดุ


หลังจากญี่ปุ่นบุกไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทางราชการจึงจัดที่พักให้ ณ ทำเนียบท่าช้าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ‘ลูกผู้สำเร็จฯ’ อย่างดุษฎีจึงเติบโตขึ้นในบ้านหลังนี้

ดุษฎีเป็นเด็กที่ทั้งดื้อและซน มักทำอะไรโลดโผน หวาดเสียว สนุกๆ เป็นงานอดิเรก เช่น การปีนต้นไม้ มีคราวหนึ่งเธอหอบเอาแซนด์วิชปีนขึ้นไปกินบนต้นมะม่วงสูง ซึ่งมีอายุหลายสิบปีจนกิ่งผุกร่อนไปตามเวลา มะม่วงต้นนั้นอยู่ริมน้ำ ใกล้กับศาลาที่นายปรีดีนั่งทำงาน เมื่อเธอเหยียบไปมาก็เกิดเสียงกรอบแกรบ จนคนในบ้านเอะอะตะโกนโหวกเหวก ในที่สุด ‘ผู้สำเร็จฯ’ จึงเดินมาใต้ต้นมะม่วง และพูดด้วยเสียงดุว่า “ดุษ ลงมาเดี๋ยวนี้”

ดุษฎีค่อยๆ ไต่ลงมา แล้วยืนร้องไห้อยู่ตรงนั้น

รู้ไหมว่า มันอันตราย เดี๋ยวตกลงมาขาแข้งหักหรอก” นายปรีดีสอนลูกด้วยน้ำเสียงอันอบอุ่น แล้วเดินกลับไปทำงานต่อที่ศาลาอย่างเงียบๆ

นั่นนับเป็นครั้งแรกที่เธอถูกบิดาดุจนจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ดุษฎีเข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินีล่างอยู่ 1 ปี แล้วย้ายไปเรียนที่เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ แม้จะเป็นช่วงที่สุดา พี่สาวของเธอ ย้ายกลับไปเรียนที่เซนต์โยเซฟคอนแวนต์แล้ว แต่ดุษฎีก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากหม่อมราชวงศ์หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยเขียนหลังภาพถ่ายให้กับสุดาว่า “เพื่อนที่รักมากกว่าเพื่อนอื่นๆ


ดุษฎี (ซ้าย) กับวาณี (ขวา) น้องสาว
ในงานวันเกิดของสุดา (พี่สาว) อายุครบ 1 รอบ 2 มีนาคม 2489


3. เด็กหญิงในคุก


หลังความผันผวนทางการเมืองครั้งใหญ่จนเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แม้นายปรีดีจะหนีเอาชีวิตรอดไปได้ แต่ภรรยาและลูกๆ ก็ต้องเผชิญกับกระสุนจากรถถังและการบุกทำเนียบท่าช้างจากคณะนายทหาร จนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ต้องตะโกนบอกไปว่า “อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก

จากนั้น เมื่อครอบครัวย้ายไปอยู่ที่บ้าน ‘คุณยาย’ คือ คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ดุษฎีจึงย้ายมาเรียนที่เซนต์โยเซฟ ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของมารดาด้วย เธอเรียนที่นี่ตั้งแต่ ป.2 ถึง ม.5 จนกระทั่งไปฝรั่งเศส

โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุข มารดาของเธอ ถูกจับฐานกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร (ในคราวที่รู้จักกันในนาม ‘กบฏสันติภาพ’) ขณะเป็นประธานพิธีหมั้นของนายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ กับนางสาวเครือพันธ์ ปทุมรส ก่อนที่ท่านผู้หญิงพูนศุขจะถูกควบคุมตัวไปสันติบาล ได้ขอไปรับลูกที่โรงเรียนเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ ดุษฎีและวาณี น้องสาว จึงมีโอกาสเข้าไปนอนในห้องขังพร้อมกับมารดา “สามแม่ลูกปูเสื่อนอนบนพื้นห้อง


ดุษฎี, ท่านผู้หญิงพูนศุข, วาณี
ที่บ้านนายแพทย์โกวิท อัศวนนท์ ถนนสุรวงศ์


หลังจากนั้น ‘น้าเพียงแข’ น้องสาวท่านผู้หญิง ได้พาหลานสองคนไปอยู่ประจำที่โรงเรียน แล้วทุกเย็นวันศุกร์หลังเลิกเรียนก็จะกลับมานอนในห้องขังกับมารดา จนครบกำหนด 84 วันของการควบคุมตัว เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง ท่านผู้หญิงจึงได้รับอิสรภาพ

จากเหตุการณ์นี้เองทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขตัดสินใจพาลูกๆ ย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ขณะนั้นดุษฎีอายุ 14 ปี


วาณีกับดุษฎีที่สนามบินดอนเมือง
“วันที่จากเมืองไทยครั้งแรก” พ.ศ. 2496


4. แรงงานเป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์


ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดุษฎีเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมสตรีของรัฐ แล้ว 8 เดือนหลังจากนั้น ท่านผู้หญิงสามารถติดต่อกับรัฐบุรุษอาวุโสผู้ลี้ภัยการเมืองได้ ดุษฎีจึงย้ายไปอยู่ที่ประเทศจีนเป็นเวลาถึง 19 ปี โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีหมายเลข 1 ที่กรุงปักกิ่ง จากนั้นเมื่อครอบครัวย้ายไปพำนักที่กวางโจว เธอก็ย้ายไปเรียนมัธยมปลายต่อที่โรงเรียนสตรีที่นั่น


ขณะเรียนหนังสือในเมืองจีน


ในฐานะแขกของรัฐบาลจีน ครอบครัวของเธอได้รับการดูแลเป็นอย่างดี นอกจากมีบ้านพัก ยังมีรถยนต์พร้อมคนขับ คนครัว คนทำความสะอาดบ้าน พร้อมทั้งอาหารการกินและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สำหรับในโรงเรียน การเป็นนักเรียนต่างประเทศ ทำให้เธอได้รับยกเว้นไม่ต้องไปทำไร่ทำนา หรือไปเป็นกรรมกรฝึกหัดตามนโยบายในยุคนั้น

แต่บิดาของเธอเห็นว่า นี่เป็นโอกาสที่จะได้ไปทดลองใช้ชีวิตแบบต่างๆ และให้คติว่า “แรงงานเป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์” ดุษฎีและวาณีจึงได้ไปทำนาครบทุกขั้นตอน โกยถ่านหินลงจากรถไฟ สร้างคันดินสำหรับวางรางรถไฟ รวมถึงทำงานในโรงงานทอผ้า โรงพิมพ์ ฯลฯ

จากประสบการณ์เช่นนี้เอง เธอสรุปว่า “เรารู้คุณค่าของคนเสมอ ไม่เคยดูถูกคนที่ตรากตรำเสียแรงเหงื่อแรงกาย เสียสละให้ทุกคนมีชีวิตอยู่บนโลกเช่นทุกวันนี้



เมื่อจบมัธยม 6 ตามระบบโรงเรียนจีนแล้ว จึงเข้าเรียนต่อที่สถาบันดนตรีกลางแห่งกรุงปักกิ่ง ในคณะการขับร้องเพลงคลาสสิก จนจบปริญญาโทจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้

เดิมดุษฎีเคยอยากเป็นแพทย์ แต่แล้ววันหนึ่งไปดูงานในห้องผ่าตัด ซึ่งมีคนไข้เป็นเนื้องอกในสมอง พอเธอเห็นหมอเอาสว่านมาเจาะตรงกลางกระหม่อม จนเศษเลือดเศษกระดูกกระเด็นออกมาตามแรงเจาะนั้น เธอถึงกับเป็นลมทรุดไป ภาพสยดสยองนั้นติดตาอยู่นานจนเธอไม่อยากเป็นหมออีกเลย


5. การงานในต่างแดน


เมื่อ พ.ศ. 2513 ดุษฎีย้ายตามบิดามารดามาพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส ในบ้านหลังเล็กๆ ที่เมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส ซึ่งซื้อมาจากเงินที่ได้จากการขายบ้านพูนศุข ในบริเวณป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลมนั่นเอง

ที่นี่เธอได้ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยก็อง อันเป็นเมืองเดิมที่นายปรีดีเคยมาเรียนภาษาและอุดมศึกษา เมื่อเรียนจบหลักสูตร 3 เดือน ก็กลับมาอยู่ที่ปารีสอีกครั้ง

หลังจากที่วาณี น้องสาวของเธอ ทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างเลี้ยงเด็ก รับจ้างทำความสะอาดบ้าน และครูพี่เลี้ยงในโรงเรียนอนุบาลย่านอองโตนี ดุษฎีจึงได้งานทำเป็นครูเปียโนประจำสถาบันดนตรีของรัฐ ที่เมืองก็อง เช่าหอพักที่นั่น แล้วกลับปารีสทุกวันศุกร์

วาณี พนมยงค์ เคยเขียนถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า “คุณพ่อคุณแม่เราสอนเสมอว่าควรบากบั่นสู้ชีวิต ไม่ควรงอมืองอเท้า ครอบครัวเราต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ”


ปรีดี กับดุษฎี (ซ้าย) และวาณี (ขวา)


ก่อนกลับเมืองไทย ดุษฎียังได้ไปเรียนวิชาดนตรีเพิ่มเติมที่ Royal College of Music (London) ทั้งวิชาขับร้อง เปียโน ทฤษฎีดนตรี และฝึกโสต ฯลฯ

ดุษฎีเล่าว่า ระหว่างที่อยู่ในกรุงลอนดอนนี้เอง มีโอกาสไปร้องเพลงที่ Royal Albert Hall ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกด้วย เพราะภารโรงลืมปิดประตูห้องแสดงที่นั่น! เธอจึงเล็ดลอดเข้าไปร้องเพลงคนเดียวได้โดยไม่มีผู้ชม


ลอนดอน พ.ศ. 2518


6. งานดนตรีที่รัก


หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มรสุมทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ดุษฎีกลับมาเมืองไทย สมรสกับ ชาญ บุญทัศนกุล เมื่อปี 2518 เขากล่าวถึงความรักของทั้งคู่ว่า “อุดมการณ์ทำให้เราได้เจอกัน เห็นอกเห็นใจกัน…เราต่อสู้กับชีวิตด้วยสองมือเปล่า เราสู้กับชะตากรรม เรารักความยุติธรรม…และเราจะรักกันชั่วกาลนาน…


ปรีดี กับดุษฎี ชาญ และดนย


นอกจากงานด้านดนตรีที่ใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินเลี้ยงชีพแล้ว เธอยังหางานประจำเพื่อความมั่นคงในชีวิตด้วย โดยได้รับความกรุณาจากนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ช่วยประสานงานให้ จนเธอได้งานที่แผนกวัฒนธรรม สถานทูตฝรั่งเศส ในตำแหน่งเลขาฯ ของผู้แทนถาวรฝรั่งเศส ประจำ SEAMEO

ต่อมาเธอได้รับเชิญไปสอนภาษาจีนที่ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะอักษรศาสตร์ สถาบันเดียวกัน รวมถึงยังได้เป็นครูสอนวิชาดนตรีที่โรงเรียนดรุโณทยาน ของนางฉลบชลัยย์ พลางกูร เป็นเวลากว่า 20 ปี

ว่าจำเพาะในทางดนตรี เธอเป็นผู้นำความรู้การขับร้องเพลงคลาสสิกเข้ามาสอนในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษวิชาการขับร้องสากลและการขับร้องประสานเสียงในสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่ง ที่สำคัญคือเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ซึ่งได้รับรางวัลระดับโลกมามากมาย

นอกจากนี้ยังสร้างหลักสูตรการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านโครงการ ‘ลมหายใจ…ดนตรี…ชีวิต’ ซึ่งเป็นการนำดนตรีที่มีคุณภาพมาใช้อย่างสร้างสรรค์ผสมผสานการทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติปัญญา  การเคลื่อนไหวร่างกาย การร้องเพลงเพื่อสุขภาพ และสร้างจินตนาการด้วยเสียงดนตรีจากธรรมชาติ

จนในที่สุด เธอได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เมื่อพุทธศักราช 2557


คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู
(ภาพจาก Suanplu Chorus)


7. ‘นักเขียน’ รางวัลนราธิปฯ


ความฝันอย่างหนึ่งของดุษฎีสมัยอยู่ปักกิ่ง คือ การเป็น ‘กระปี๋รถเมล์’ (พนักงานกระเป๋ารถเมล์หญิง) เหตุเพราะว่าคนขายตั๋วรถเมล์มักจะเขย่ากระบอกใส่เงินไปพลาง ตะโกนร้องเรียกผู้โดยสาร หรือบอกป้ายรถเมื่อถึงสถานที่ต่างๆ มีเสียงที่ไพเราะกังวาน ท่าทางการทำงานกระฉับกระเฉง ซึ่งเธอบอกว่า “ดูเท่มากเลย ตอนนั้นคิดว่า โตขึ้นกว่านี้ จะไปเป็นกระปี๋รถเมล์

นั่นเป็นความฝันที่เธอไม่มีโอกาสได้ทำ

แต่ความฝันอีกอย่างหนึ่งของเธอตั้งแต่วัยยี่สิบต้นๆ และมีโอกาสได้ทำด้วย คือการเป็นนักเขียน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จนเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว จึงมีโอกาสเขียนหนังสือลงในนิตยสารต่างๆ เป็นระยะ และมีผลงานหนังสือมาแล้วหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น ‘ร้อยลายมังกร ท่องแดนศิลปะกับครูดุษ เก็บดอกไม้รายทาง’ รวมถึงงานด้านดนตรีอย่าง ‘สานฝันด้วยเสียงเพลง’ และอัตชีวประวัติอย่าง ‘แม่อยากเล่า’ และ ’82 ปี 11 เดือน 21 วัน’ เป็นต้น


ผลงานหนังสือบางส่วน


แม้กระนั้น เธอมักจะออกตัวอยู่เสมอว่า ตนเองไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นเพียง “คนดนตรีที่มีความสุขที่จะเขียน สนุกที่จะเล่าเรื่อง

ล่าสุดในวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้มอบ ‘รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์’ ประจำปี 2565 ให้แก่ดุษฎี พนมยงค์ ในฐานะนักเขียนอีกด้วย ซึ่งเป็นวาระประจวบเหมาะที่จะได้ฉลองอายุ 7 รอบนักษัตร 84 ปีของเธอในปีนี้ด้วย


ท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร มอบ “รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์” แก่ดุษฎี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566
(ภาพจาก วรรณกรรมรีวิว โดย อาคุงกล่อง)


ส่งท้าย


คราวที่ครูดุษอายุครบ 6 รอบนักษัตร เมื่อปี 2554 คุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นอกจากคุณดุษภูมิใจกับรางวัลดนตรีระดับสากล…ดิฉันมั่นใจว่า รางวัลชีวิตที่คุณดุษภูมิใจมากที่สุด คือ การที่ได้ถือกำเนิดเป็นลูกของท่านปรีดี-คุณพูนศุข

มาถึงปีนี้ที่ครูดุษครบ 7 รอบนักษัตรนั้น นับว่าอายุเกินกว่าบิดา คือรัฐบุรุษอาวุโสของไทยผู้นั้นไปแล้ว จึงหวังว่าครูดุษจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ สู่สังคมไทยไปอีกนาน อย่างน้อยก็จนได้ฉลองอายุครบ 8 รอบนักษัตร ที่จะอายุยืนยาวเกินกว่าท่านผู้หญิงพูนศุข ผู้มารดา


ท่านผู้หญิงพูนศุขกับธิดาทั้ง 4 คน
วาณี, ลลิตา, ดุษฎี, สุดา


บรรณานุกรม

  • ดุษฎี พนมยงค์. 82 ปี 11 เดือน 21 วัน บทความคัดสรรของดุษฎี พนมยงค์ เรื่องดนตรี ชีวิต และประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2565).
  • ดุษฎี พนมยงค์. แม่อยากเล่า…ชีวิต 72 ปีที่ผ่านเลย. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ปาปิรุส, 2555).
  • ดุษฎี พนมยงค์. เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ (กรุงเทพฯ : บ้านเพลง, 2541).
  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2557, http://book.culture.go.th/artist/artist2557/mobile/index.html#p=1


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save