fbpx
อาเซียนกับความไม่เป็นประชาธิปไตย ‘ดุลยภาค ปรีชารัชช’ มองบทบาทไทย 2019

อาเซียนกับความไม่เป็นประชาธิปไตย ‘ดุลยภาค ปรีชารัชช’ มองบทบาทไทย 2019

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

“อย่าให้ผู้นำทหารไทยเป็นประธานอาเซียนปีหน้า”

คำคัดค้านการรับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยจากบทความในจาการ์ตาโพสต์ ที่เงียบหายไปและถูกแทนที่ด้วยบรรยากาศชื่นมื่น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับไม้ต่อในตำแหน่งประธานอาเซียนจาก ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ พร้อมชูแนวคิด ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ ปราศจากเสียงคัดค้านจากชาติสมาชิกที่ยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน และให้เป็นไปตามหลักการหมุนเวียนตามตัวอักษร ซึ่งถึงคิวประเทศไทยพอดี

แม้ว่าการยกระดับทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหาร จนขึ้นสู่ตำแหน่งประธานภูมิภาคนี้ จะสวนทางกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในภูมิภาค ซึ่งหลายประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญของอาเซียน เมื่อยังยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในและเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย

จนหลายครั้งการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยอุ้มชูความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ได้

มองไปในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากไทยจะต้องจัดประชุมให้เพียบพร้อมสมศักดิ์ศรีแล้ว อาเซียนยังมีความท้าทายหลายด้านที่น่าจับตา เมื่อไทยนั่งเก้าอี้ประธาน ทั้งประเด็นความขัดแย้งต่างๆ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีชาติมหาอำนาจข้องเกี่ยว

อีกด้านหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน หากมีการเลือกตั้งจริงในปี 2562 จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรัฐประหาร สู่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่แม้การทำหน้าที่ประธานอาเซียนคงจะเดินหน้าต่อได้ไม่สะดุด จากคณะทำงานที่ทำหน้าที่อยู่ แต่ก็น่าจะมีผลต่อบรรยากาศการเจรจา

101 ชวน ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงทิศทางต่อไปในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อไทยรับตำแหน่งประธาน และสถานการณ์ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านช่วงรัฐบาลทหาร ที่เคลื่อนไปพร้อมกระแสความไม่เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

สิ่งที่น่าจับตาเมื่อไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2019 

ประธานอาเซียนใช้หลักหมุนเวียนตามตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศ บวกกับจังหวะความพร้อมของประเทศที่ถึงคิว หน้าที่หลักคือจัดประชุมอาเซียนซัมมิทหลากหลายแขนง ทั้งการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่สำคัญคือเวลาจัดประชุม รัฐที่เป็นประธานต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องศักดิ์ศรีเกียรติภูมิประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวก ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองก็สำคัญ

ไทยเคยเป็นประธานอาเซียนติดต่อกันสองสมัย แต่มีรอยต่อสำคัญคือ ปี 2008-2009 มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง กลุ่มคนเสื้อสีประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผู้นำชาติต่างๆ ของอาเซียนต้องหลบหนีการประท้วงจ้าละหวั่น แม้ไทยมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งเรื่องโรงแรมหรือชื่อเสียงของประเทศที่เป็นสมาชิกก่อตั้งอาเซียน แต่ความขัดแย้งการเมืองช่วงนั้น ทำให้การจัดประชุมในฐานะประธานเสียศูนย์ไปพอควร

วันนี้ก้าวจังหวะที่ไทยรับไม้ต่อจากสิงคโปร์แล้ว ต้องจับตาดูต่อไป หากจะมีเลือกตั้งจริงๆ จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ คสช. กดปุ่มเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่าง คสช. จะมีบทบาทช่วงแรกที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ถ้ามีเลือกตั้งแล้วเปลี่ยนผ่าน ผบ.ทบ.คุมสถานการณ์ความสงบ ก็จะทำให้การประชุมพอไปต่อได้ นี่เป็นการพูดในแง่การจัดระเบียบในฐานะรัฐที่จัดประชุม แต่ถ้าจะพูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตยก็อีกเรื่องหนึ่ง

การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไทยระหว่างดำรงตำแหน่งประธาน อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงนัก?

ตรงนี้ตอบไม่ได้ แต่ คสช. คงยืนยันว่าสามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้การจัดประชุมและทำหน้าที่ประธานอาเซียนมีเสถียรภาพ หลักการตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพประชาธิปไตย เพราะประเทศที่มีเสถียรภาพหลายประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม ก็มีระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความมีเสถียรภาพไม่ว่าจะเป็นระบอบไหนก็ดำเนินต่อได้ในฐานะประธานอาเซียน

ประเพณีของอาเซียน รัฐที่เป็นประธานไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพประชาธิปไตย เพราะหลักการอาเซียนคือระบอบการเมืองที่แตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในภูมิภาคนี้ เป็นอัตลักษณ์การรวมกลุ่มในภูมิภาคนี้เฉยๆ ไม่ได้ส่งผลดีกับการพัฒนาประชาธิปไตย รัฐที่ไม่ได้พัฒนาประชาธิปไตยก็เป็นประธานอาเซียนได้ ถ้าควบคุมให้ไม่มีการก่อกวน ก็ทำให้เดินหน้าต่อไป

ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน แนวโน้มการเจรจาและความร่วมมือจะเป็นไปในทิศทางไหน แตกต่างจากสิงคโปร์หรือไม่ อย่างไร

รัฐที่มาเป็นประธานอาเซียน จะมีการผูกคำขวัญที่จะกำหนดทิศทางความร่วมมือของอาเซียน ผ่านบทบาทหน้าที่ของรัฐที่เป็นประธาน อย่างคำขวัญของสิงคโปร์คือ “ยืดหยุ่นและมีนวัตกรรม” อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดก็มีประเด็นให้ขบคิดอยู่แล้วว่า ทิศทางความร่วมมือจะเป็นอย่างไรบ้าง

โดยหลักๆ รัฐที่เป็นประธานต้องดูความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ปัจจุบันเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ยังเป็นเสาหลักเดียวที่สำคัญอยู่ ต้องดูว่ารัฐไทยจะเคลื่อนอย่างไร และใส่โครงการความริเริ่มอะไรเข้าไปใน 3 เสาหลักนี้

เสาการเมืองความมั่นคง แน่นอนคงไม่ได้พูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างโดดเด่นนัก เพราะไม่ใช่วิธีปฏิบัติของอาเซียน และการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแบบบนลงล่างของไทย ก็คงไม่เหมาะจะไปรณรงค์เรื่องนี้มากนัก แต่ไทยน่าจะพูดและริเริ่มเรื่องความมั่นคงได้มาก เช่น ความมั่นคงรูปแบบใหม่ในยุคสงครามเย็น การปราบปรามกลุ่มค้ายาเสพติด การจัดการการอพยพข้ามชาติ ซึ่งต้องรอดูว่าประเด็นโรฮิงญาอยู่ในนี้ด้วยหรือเปล่า

นอกจากนี้ ไทยอาจมีบทบาทพูดเรื่องการจัดการความขัดแย้งเขตแดนในทะเลจีนใต้ แต่ต้องดูสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่แท้จริงด้วย เพราะเราก็มีความสัมพันธ์กับจีนไม่น้อย โดยเฉพาะในยุค คสช. จะเกลี่ยสัมพันธภาพระหว่างยักษ์ใหญ่แบบจีนกับเพื่อนบ้านในอาเซียนบางชาติอย่างไร

เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตอนนี้เป็นยุคเศรษฐกิจเรขาคณิต เหลี่ยมความร่วมมือต่างๆ ในอาเซียนก็มี โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ที่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่มีความก้าวหน้านัก สันติภาพในชายแดนใต้ก็เป็นปัญหาในการทำสามเหลี่ยมเศรษฐกิจตรงพื้นสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) จะวางอย่างไร มีระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก เราจะสร้างด่านการค้าและความร่วมมือกับประเทศอื่นในอาเซียนอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่สามารถเสนอเข้าไปได้

ประเด็นร้อนของไทยตอนนี้คืออีอีซี แนวเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ทุนจีนไหลลงมา และมีการเชื่อมกับรัฐอื่นๆ ของอาเซียนด้วย เป็นเสาเออีซีที่ต้องคุยกัน

สุดท้ายเรื่องสังคมวัฒนธรรม ที่ผ่านมาทางไทยมีนักการทูตในสำนักเลขาธิการอาเซียนที่จาการ์ตา มีการริเริ่มความร่วมมือทางสังคมวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น จัดเวิร์กชอปตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐ เชิญกลุ่มศิลปิน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวิพากษ์วิจารณ์สังคม มาร่วมประชุม ถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าไทยขึ้นมามีบทบาทตรงนี้ได้

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

การที่ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ส่งผลต่อการเจรจาความขัดแย้ง หรือความร่วมมือในภูมิภาคหรือไหม

จีนมีมหายุทธศาสตร์ เป็นความฝันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ คือ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (One Belt, One Road) จีนต้องการคุมยูเรเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จีนต้องการคุมทั้งพื้นทวีปและมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก มีการสร้างฐานทัพเรือทางยุทธศาสตร์ สร้างท่าเรือพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ในศรีลังกา บังกลาเทศ และเตรียมเจาะมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยไม่มีการคัดค้านจากรัฐสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มองว่าตัวเองเป็นรัฐขนาดเล็กที่กำลังถูกจีนเอารัดเอาเปรียบ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับมาเลเซียก็สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของไทย วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา พอบ่งชี้ได้ว่า เราจะระมัดระวังไม่เอนเอียงไปหาจีนซะทีเดียว ยังคงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาไว้ แต่ไม่ได้เป็นพันธมิตรเต็มที่เหมือนยุคก่อนหน้าหรือยุคสงครามเย็น เพราะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในจังหวะที่สหรัฐอเมริกาลดขนาดกิจการทางการทูตในบางพื้นที่ ช่วงรอยต่อโอบามากับทรัมป์ จีนโดดเข้ามาจังหวะที่ไทยต้องการทุนและการยอมรับเรื่องระบอบการปกครอง

แต่ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะกดปุ่มนโยบายเลือกข้างฝักใฝ่ฝ่ายใด จีนก็ไม่ได้เข้าหารัฐบาล คสช. อย่างเดียว กลุ่มทักษิณหรือคนอื่นๆ ที่ไปจีนก็ได้รับการต้อนรับ จีนเล่นไพ่การทูตแบบหลากหลาย จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลไหนจีนต้องได้ประโยชน์แค่นั้นเอง

รัฐอาเซียนก็พอสัมผัสได้ว่า เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน ก็ต้องเกรงใจจีน แต่ใช่ว่าจะทำตามคำสั่งจีนเสมอไป ไทยอ้าแขนรับสหรัฐอเมริกา อินเดีย หรือรัฐอื่นๆ เราไม่สามารถมองบทบาทไทยในกรอบของอาเซียนอย่างเดียว แต่มีกรอบความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นด้วย เช่น BIMSTEC ความร่วมมือรอบอ่าวเบงกอล ที่มีไทย เมียนมา และรัฐในเอเชียใต้ ไทยเล่นในฐานะประธานอาเซียนเต็มๆ ไม่ได้ เพราะหลายรัฐในอาเซียนไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น เวลาคุยเรื่องโรฮิงญาที่อพยพย้ายถิ่น จากมหาสมุทรอินเดียเข้าไปในบังกลาเทศ เวทีเล่นก็ไม่ใช่อาเซียนอย่างเดียว ต้องมีกลุ่มประเทศเอเชียใต้ด้วย

ผู้นำไทยระดับสูงโดยเฉพาะกองทัพ มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้นำทหารเมียนมา กระแสนี้ล็อกไทยพอสมควรว่า อย่าไปยุ่งเรื่องโรฮิงญาตามประชาคมโลกอย่างหนักหน่วง แต่ความท้าทายคือ จะทำยังไงกับมาเลเซียที่อยากยกประเด็นนี้ให้หนักแน่นขึ้นในสหประชาชาติกับรัฐมุสลิม ถ้ามาเลเซียมีท่าทีไม่พอใจ ก็จะกระทบกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้ไม่มากก็น้อย ในอนาคตถ้าไทยเป็นประธานอาเซียน จะจัดการสัมพันธภาพกับสองเพื่อนบ้านนี้อย่างไร

อาเซียนจะมีท่าทีเรื่องโรฮิงญาชัดเจนขึ้นไหม เมื่อมาเลเซียกับอินโดนีเซียเห็นว่าควรทำอะไรมากกว่านี้

โรฮิงญากลายเป็นประเด็นระดับโลกไปแล้ว ขณะที่สหประชาชาติเข้ามากดดันให้อาเซียนทำอะไรมากกว่าที่อาเซียนจะริเริ่มเอง เพราะยังมีหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในและการพัวพันเชิงสร้างสรรค์ ที่เป็นประเพณีการทูตเก่าแก่ของอาเซียน พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ยุ่งเรื่องเซนซิทีฟ

แต่ด้วยแรงกดดันจากสหประชาชาติและบางรัฐในอาเซียน เช่น มาเลเซียกับอินโดนีเซีย ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซึ่งได้รับผลกระทบด้วย สองชาตินี้ขาหนึ่งไม่อยากเข้าไปแทรกแซง แต่อีกขาหนึ่งมีหลักภราดรภาพของมุสลิม และคนในประเทศเรียกร้องเพราะเห็นใจโรฮิงญา จึงเริ่มขยับตัวเตรียมเปลี่ยนแปลงชุดนโยบายบางอย่าง

ตอนนี้โรฮิงญาส่วนใหญ่ถูกผลักไปที่บังกลาเทศ แล้วมีเอ็มโอยูส่งกลับโรฮิงญามาให้เมียนมา นานาชาติอาจผ่อนคลายความตึงเครียดลง แต่ถ้าไม่เวิร์คก็ต้องมาทบทวน เมื่อบังกลาเทศอยู่นอกวงอาเซียน แล้วบอกให้อาเซียนมาจัดการเรื่องโรฮิงญาก็ไม่ครอบคลุมพอ ต้องต่อจิ๊กซอว์กับวงอื่น ไม่ว่าจะเป็น สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (SAARC) รวมถึง BIMSTEC หรือดูว่ากรอบความร่วมมือของบังกลาเทศต่อกับส่วนไหนบ้าง

แรงกดดันจากนานาชาติอาจไม่ได้ผลกับเมียนมา?

รัฐและสังคมเมียนมาส่วนใหญ่ไม่เอาโรฮิงญาอยู่แล้ว นานาชาติกดดันยังไงก็มีเอกภาพพอประมาณ ในการรวมตัวรับมือแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวกพม่าแท้ พวกยะไข่ที่เข้มศาสนาพุทธแบบสุดโต่ง และต่อต้านมุสลิมมาสนับสนุนปฏิบัติการของทหารเมียนมา ยูเอ็นอยากเอาผู้นำทหารเมียนมาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่จะเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชน พระสงฆ์ กลุ่มพุทธชาวพม่า ที่พร้อมออกมาปกป้องคณะนายพล

ไม่ง่ายที่สหประชาชาติจะลากตัวผู้นำทหารเมียนมาขึ้นศาล หรือกดดันให้คนในเมียนมาส่วนใหญ่ยอมรับโรฮิงญาให้มีสิทธิพลเมือง หรือเอามาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตอธิปไตยของเมียนมา ยิ่งตอนนี้ถือว่าเมียนมาประสบความสำเร็จทางยุทธวิธี เพราะโรฮิงญา 7 แสนคนออกนอกเขตอธิปไตยเมียนมาไปแล้ว จะกลับเข้ามาก็ควบคุมได้

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าแรงกดดันของสหประชาชาติ ไม่ส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของผู้นำทหารเมียนมาเลย อย่างน้อยถ้า ผบ.สส.มิน อ่อง หล่าย อยากเล่นการเมือง โดยเฉพาะศึกเลือกตั้ง 2020 ฝันที่จะเป็นผู้นำประเทศในระดับสูงสุดตามสายการเลือกตั้ง ก็คงยาก เพราะมีคดีเป็นชนักติดหลัง

มีมุมมองว่าเมื่อนานาชาติเข้ามากดดัน อาเซียนอาจเป็นทางออกที่ดีในการเจรจากับเมียนมา ด้วยท่าทีประนีประนอมมากกว่า

พม่าชื่นชอบอาเซียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นความฝันของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่โดนตะวันตกกดดัน ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายแล้วพลโทขิ่นยุ้นต์ เจ้ากรมข่าวกรองช่วงนั้น ดันเมียนมาที่เป็นรัฐเผด็จการทหารเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนสำเร็จ ไทยที่ช่วงนั้นสนับสนุนรัฐที่มีประชาธิปไตย ก็เอาเมียนมาเข้ามาในฐานะสมาชิกอาเซียนใหม่ แสดงว่าเราก็ไม่ได้คำนึงถึงระบอบการเมือง แต่รวมกลุ่มในภูมิภาคให้ครบองค์เท่านั้นเอง และเป็นช่วงที่้ CLMV ทยอยตบเท้าเข้ามา และแทบทุกประเทศไม่ใช่ประชาธิปไตย เมียนมาเลยค่อนข้างมีความสุขกับการสมาคมในอาเซียน ทั้งในฐานะ CLMV ขณะเดียวกันก็ไม่มีการกดดันเรื่องกิจการภายใน

สุดท้ายเมียนมาพัฒนาประชาธิปไตยด้วยปัจจัยของตัวเอง อาเซียนไม่ได้กดดัน แต่กลับโอบอุ้มให้เมียนมาเป็นเผด็จการทหาร ควบคู่กับการโอบอุ้มของจีน กระทั่งอินเดียที่เป็นรัฐประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่กดดันรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะชั่งน้ำหนักว่าถ้ากดดันแล้วจีนเข้ามาเต็มที่แน่นอน จะเห็นว่าปัจจัยระหว่างประเทศบางครั้งก็ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย แต่บางครั้งก็โอบอุ้มเผด็จการได้ เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังให้ดี

เมื่อเมียนมาปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่แล้วเปิดประเทศ ก็ต้องมองรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปมากขึ้น แต่ถ้าพวกนี้กดดันมาก เมียนมาก็ต้องเลือกไปหาจีนหรืออาเซียนในแบบที่เขาสบายใจ อย่างคณะกรรมการที่เข้าไปให้คำแนะนำการปรองดองเรื่องโรฮิงญา เขาก็ค่อนข้างพอใจที่เอา สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นตัวแทนจากไทยเข้ามา อาจได้เรื่องบ้างไม่ได้เรื่องบ้างก็ให้เขาสบายใจไว้ก่อน

การรวมกลุ่มแบบประนีประนอม ไม่ยุ่งกิจการภายในของกันและกัน จะยังตอบโจทย์ความท้าทายของภูมิภาคในปัจจุบันได้หรือไม่

อาเซียนเป็นการรวมตัวของผู้นำรัฐที่เป็นตัวแทนของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นตัวแทนโครงสร้างรัฐแบบเป็นทางการ รัฐบาลเมียนมาก็เป็นตัวแทนประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นพม่าแท้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นอกเห็นใจชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพิเศษ เหมือนเวลาที่อาเซียนปฏิสัมพันธ์กับตัวแทนรัฐบาลไทย ชนชั้นนำที่กรุงเทพฯ ไม่ได้หมายความว่าต้องแคร์คนท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้ หรือชาวเขาในตะเข็บชายแดน อาเซียนเป็นการพูดคุยในหมู่ผู้นำเป็นตัวตั้ง เวลาจัดการความขัดแย้งในอาเซียน หลักๆ จะเทไปที่ระดับผู้นำก่อนว่าพอประนีประนอมกันได้ไหม

กรณีลาวกับกัมพูชา พิพาทเขตแดนลาวตอนใต้กับสตึงแตรง ถ้าพรรคประชาชนปฏิวัติลาว กับ ฮุน เซน และคีย์แมนสำคัญ คุยกันได้ก็จบ แต่บางครั้งภาคประชาสังคมก็สามารถช่วยทั้งแก้ไขปัญหาและกระทุ้งปัญหาได้ด้วย

กรณีความขัดแย้งไทยกัมพูชาเรื่องเขาพระวิหาร ช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรพยายามจุดไฟเรื่องชาตินิยม ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลก็คุยกันไม่ค่อยได้ อภิสิทธิ์ไม่ได้เล่นเกมง้องอนประนีประนอมกับ ฮุน เซน เกิดความขัดแย้งและการปะทะทางการทหาร ซึ่งน่าเศร้าที่ช่วงนั้นกองทัพกัมพูชาพัฒนาจรวดหลายลำกล้องพอดี มีคนเสียชีวิตเยอะพอสมควร

แสดงว่าเอาเข้าจริง สงครามก็เกิดขึ้นในอาเซียนได้ แต่ไม่ใช่สงครามแบบเบ็ดเสร็จ จบท้ายด้วยกัมพูชายอมถอย การใช้กำลังแบบดั้งเดิมก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในอาเซียน ช่วงนั้นอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน มีสัมพันธภาพที่ดีกับไทย ก็พยายามเข้ามายับยั้งความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

มองความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในรัฐบาลนี้ ถือว่าสอบผ่านไหม

การรักษาความสัมพันธ์แบบปกติถือว่าสอบผ่าน แต่การขยับความสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อฉายอิทธิพลเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านตลาดการค้าการลงทุน หรือความสัมพันธ์ทางการเมือง ถือว่ายังไม่พอ เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถูกนานาชาติกดดันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วไม่ได้มีความชอบธรรมมากในการขยับอำนาจในเวทีโลกเพื่อให้เพื่อนบ้านยอมรับ

วิถีอาเซียนยอมรับได้อยู่แล้วไม่ว่าจะระบอบไหน เมียนมาก็ไม่กดดันไทย เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำทหาร ทั้งที่ ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย แต่จะไม่เห็นการกดดันจากออง ซาน ซูจี เลยว่า “ประยุทธ์ คุณกดปุ่มเลือกตั้งโดยเร็วเลยนะ” เพราะนโยบายต่างประเทศสำคัญคือไม่ยุ่งกับเพื่อนบ้านเรื่องกิจการภายใน เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ ออง ซาน ซูจี ต้องแชร์อำนาจกับทหาร ยิ่งเจอปัญหาโรฮิงญา การชะงักงันของกระบวนการสันติภาพ แค่เรื่องภายในก็ยุ่งอยู่แล้ว

ส่วนลาวเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ เข้มงวดกว่าเราอีก จึงไม่เห็นท่าทีจะมายุ่งอะไร ส่วนสมเด็จฮุน เซน ก็เป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยม การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา สหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกาเข้ามากดดันกัมพูชา ส่วนจีนไม่ยุ่งกับการเลือกตั้งกัมพูชาเลย ในขณะที่ทางการไทยก็ไม่มีท่าทีใดๆ ว่าเลือกตั้งไม่ฟรีแอนด์แฟร์ เพราะเราก็ยังไม่มีเลือกตั้งเลย

ความสัมพันธ์กับมาเลเซียก็ถือว่าสอบผ่าน เพราะผู้นำก่อนหน้าไม่ได้คัดค้านเรื่องรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้ง มหาเธร์เอาเข้าจริงก็เป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม เป็นอีกขั้วเพื่อมาล้มอัมโน และแนวร่วมพันธมิตรแห่งชาติ ย้อนไป 22 ปีที่ผ่านมา มหาเธร์พูดถึงประชาธิปไตยแบบเอเชีย หมายความว่ามีการเลือกตั้งและหมุนเวียนผู้นำอยู่บ้าง แต่ยอมรับว่าอำนาจนิยมเป็นวิถีประเพณีวัฒนธรรมคู่กับเอเชีย ตะวันตกมีประชาธิปไตยอีกประเภทหนึ่ง เราก็เป็นแบบนี้ จะเห็นว่ารัฐที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยสูงในอาเซียน คืออินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ ก็ไม่ได้กดดันไทยเรื่องประชาธิปไตย แม้จากาตาร์โพสต์ค้านไม่ให้ไทยเป็นประธานอาเซียน แต่สุดท้ายก็เงียบไป

ผมเสนอข้อสังเกตว่า ไทยช่วงที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเพื่อนบ้าน ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ออกนโยบายค่อนข้างกดดันเมียนมาว่าให้มีการเลือกตั้ง แต่พอรัฐบาลทักษิณ กลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ บอกว่าอย่าไปยุ่งกับตาน ฉ่วย มาก เดี๋ยวไทยเสียผลประโยชน์ ไม่ได้เข้าไปลงทุน ช่วงนั้นมีความร่วมมืออิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง มี Look West Policy หลายอย่างต้องผ่านพม่า ถ้าไปยุ่งแล้วผลประโยชน์การทูตสไตล์ทุนนิยมหรือซีอีโอเชิงลุกของทักษิณจะเสีย ทั้งที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างประวัติศาสตร์การทูตว่าปัจจัยระหว่างประเทศ บางครั้งอาจช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย แต่บางครั้งก็ช่วยสนับสนุนการดำรงอยู่ของอำนาจนิยม

รัฐบาล คสช. ความสัมพันธ์แบบปกติสอบผ่าน แต่ความสัมพันธ์เชิงรุกยังต้องปรับปรุงอีกมาก เช่น กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เข้าไปรุกในเพื่อนบ้าน ไม่เหมือนสมัยทักษิณที่เป็นเชิงรุกมาก ได้เรื่องบ้างไม่ได้เรื่องบ้าง แต่ภาพที่ออกมา พลังมันได้ เราไม่เห็นภาพนี้ในรัฐบาล คสช. เลย การเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตมีปัญหา เพราะปัญหาด้านระบอบการเมืองและทักษะการบริหารของ คสช. นโยบายต่างประเทศบางอย่างดูดั้งเดิม ไม่ได้มีเกมรุกที่หวือหวา ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกอย่างเต็มที่ ประคับประคองป้องกันการสวนหมัดให้อยู่รอดเป็นเปลาะๆ เท่านั้นเอง

ในเวทีโลก ต้องยอมรับว่าพอรัฐบาลไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง ก็สร้างภาพลักษณ์ที่สง่างามไม่ได้ แม้ได้รับการยอมรับในอาเซียนก็ตาม

คิดว่าเพื่อนบ้านมองไทยอย่างไร โดยเฉพาะช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีรัฐประหาร 2 ครั้ง มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง

มีประเด็นเปรียบเทียบหลายแง่มุม โดยเฉพาะกรณีทักษิณที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็เป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยม นั่นคือ ลักษณะการเมืองแบบอัตตาธิปไตย ที่ต้องฟังทักษิณและรวมอำนาจได้เยอะจนฝ่ายตรงข้ามตกใจ

มีความพยายามเปรียบเทียบทักษิณกับผู้นำบางคนในอาเซียน เช่น ลี กวน ยู ของสิงคโปร์ ที่มีวิชั่นด้านการต่างประเทศ มีหัวด้านซีอีโอ บริหารจัดการรัฐได้ค่อนข้างดี ส่วนคนที่ไม่ชอบทักษิณก็วิจารณ์ว่า คล้ายการครองอำนาจของมาร์กอสในฟิลิปปินส์ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความปั่นป่วนในสังคมเปิดช่องให้ประกาศกฎอัยการศึก ใช้ความรุนแรงโดยขาดความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่มาร์กอสเป็นทุนนิยมแบบพวกพ้องวงศ์วาน แม้หลายอย่างเทียบไม่ได้ แต่บางอย่างเทียบได้ นี่คือการมองระบอบทักษิณ

ส่วนรัฐประหาร เพื่อนบ้านบางกลุ่ม เช่น เวียดนาม ลาว มองว่าธรรมดา ระดับการควบคุมสู้ประเทศเขาไม่ได้ เพราะมีลักษณะเป็นรัฐพรรค มีคนของพรรคแทรกซึมเข้าไปในโครงสร้างการปกครองทุกระดับ คนที่เคลื่อนไหวประชาธิปไตยจะถูกมองว่าเป็นคนที่ต่อต้านรัฐ พลังการเคลื่อนไหวต่ำ ขณะที่ไทยมีรัฐประหาร มีทหารปกครอง แต่เปิดช่องสิทธิเสรีภาพให้พลเมืองเยอะกว่า ไม่ได้เป็นแบบเกาหลีเหนือ อาจเรียกว่าเผด็จการกึ่งแข็งกึ่งหน่อมแน้ม

ส่วนเมียนมาน่าสนใจ ตอนประยุทธ์ทำรัฐประหารใหม่ๆ มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.เมียนมาบินมาด่วน จับมือประยุทธ์และคณะ ชื่นชมว่าต้องให้ได้อย่างนี้

กองทัพเอเชียอาคเนย์โดยเฉพาะไทย เมียนมา และอินโดนีเซียสมัยก่อน มองว่าประชาธิปไตยมีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดมาก ถ้าควบคุมไม่ได้ จะนำมาสู่ความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ ส่งผลต่อเอกภาพชาติ มีสมการง่ายๆ คือ “ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบ มีค่าเท่ากับอนาธิปไตย” แต่ก็มีคนแย้งว่า “กฎระเบียบที่ปราศจากประชาธิปไตย มีค่าเท่ากับเผด็จการ”

ผู้นำทหารเมียนมายังมีความคิดเก่าว่า ถ้าปล่อยให้เรียกร้องมากจะทำให้ประเทศสับสนวุ่นวาย ต้องยึดอำนาจและปราบอย่างรุนแรงไปเลย อย่าคิดว่ามีแต่การพัฒนาประชาธิปไตยในเอเชียอย่างเดียว แต่มีการฟื้นคืนชีพของทหารอยู่เสมอ ตัวอย่างรัฐไทยที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่สุดท้าย คสช. ขึ้นมา สะท้อนความแข็งแกร่งของเผด็จการทหาร เมียนมามองว่าเพื่อนบ้านมีพลัง เราก็มีพลังนะ ทหารเหมือนกันเข้าใจกัน

ในกระแสความถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก อาเซียนได้รับผลกระทบไหม หรือยังไปไม่ถึงจุดนั้น

ถ้าอ่าน ‘The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century’ ของซามูเอล ฮันติง นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง จะมีประชาธิปไตย 3 คลื่นในประวัติศาสตร์โลก ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในหลายประเทศในภูมิภาคหนึ่ง สักพักจะมีการทำรัฐประหาร ทหารขึ้นมา หรือมีกลิ่นอายอำนาจนิยมผุดมา ประชาธิปไตยจะก้าวหน้าไปนิดหน่อยแล้วจะถอยหลัง มีให้เห็นแทบทุกภูมิภาค

ถามว่าเอเชียอาคเนย์ ยืนอยู่จุดไหนของคลื่นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลก หลายครั้งที่่มีคลื่นประชาธิปไตยพัดผ่านไป เอเชียอาคเนย์สะท้อนการดื้อแพ่งของเผด็จการที่ยังแข็งขืนต่อพลังประชาธิปไตย ตัวอย่างง่ายๆ คลื่นลูกที่ 3 จุดตั้งต้นคือการถอนตัวกลับเข้ากรมกองของทหารโปรตุเกส ทศวรรษ 1970-80 การล้มลงของระบอบฟรังโก เกิดการเจรจาประนีประนอมระหว่างกษัตริย์หรือชนชั้นนำกลุ่มอื่น นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงในยุโรปแถบคาบสมุทรไอบีเรีย แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงนั้น เมียนมายังเป็นเผด็จการทหารสังคมนิยมเนวินอยู่เลย ระบอบซูฮาร์โตก็ยังทนทาน ในคลื่นลูกที่ 3 หลายรัฐในเอเชียอาคเนย์เป็นยุคโดดเด่นของผู้นำทหาร

มีคนบอกว่าเอเชียอาคเนย์ เป็นสนามทดลองในการสร้างข้อพิสูจน์เกี่ยวกับประชาธิปไตย เพราะมีหลายกรณียกเว้น รัฐในภูมิภาคนี้ปรับตัวตามประชาธิปไตย แต่ก็เป็นเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตยซ่อนกล แต่หัวใจอำนาจนิยมยังคงอยู่ หรือบางทีก็ล้มประชาธิปไตยไปเลย

ผมจัดอันดับกลุ่มประเทศนี้ได้ 3 ประเภท 1) รัฐที่เป็นประชาธิปไตย ค่อนไปทางประชาธิปไตยเสรี ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต เป็นตัวอย่างที่ดีในความก้าวหน้าของประชาธิปไตย แต่ยังไม่ถึงขั้นทำประชาธิปไตยให้เป็นปึกเแผ่นเพราะยังมีปัญหาอยู่ เช่น การคอร์รัปชัน การแยกขั้วทางการเมือง มีการใช้ความรุนแรง ปัญหาระบบอุปถัมภ์  2) ประเทศกึ่งประชาธิปไตย มีเลือกตั้งแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรี พรรครัฐบาลคุมและชนะเลือกตั้ง หรือปล่อยให้มีทหารขึ้นมาแชร์อำนาจ มีมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และเมียนมา 3) ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีไทยตั้งแต่รัฐประหารพล.อ.ประยุทธ์ และบรูไน ลาว เวียดนาม

ถ้านับแต้มเทียบกัน จะเห็นว่าจำนวนประเทศประชาธิปไตยน้อยกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นพลังเผด็จการยังเหนียวแน่น แต่ผมว่ายังคลายตัวไป เมื่อเทียบกับยุคสงครามเย็นหรือยุคประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 3 ตอนนี้เขาพูดกันถึงคลื่นลูกที่ 4-5 ผ่านอาหรับสปริงที่พัดตีเข้ามา พลังประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงกว่าอดีต แต่ยังไม่พอจะล้มอำนาจนิยม

อย่ามองว่าอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยจะเป็นขั้วตรงข้ามกันเสมอไป เพราะผู้นำในเอเชียอาคเนย์มักผสมผสานสองสิ่งเข้าด้วยกันเพื่อให้ระบอบตัวเองแข็งแกร่ง นานาชาติก็ด่ามากไม่ได้เพราะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ไม่เพียงพอ ต้องดูส่วนอื่นด้วย

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ขณะที่อียูมีปัญหา Brexit เริ่มมีมุมมองว่าการรวมกลุ่มหลวมๆ แบบอาเซียนที่ยึดถือผลประโยชน์เป็นหลัก จะเป็นแนวทางที่น่าสนใจกว่า

แล้วแต่มุมมอง อียูเมื่อรวมกลุ่มแบบเหนียวแน่น ช่วงหนึ่งก็สะท้อนความเจริญรุ่งโรจน์ เป็นประทีปส่องทางให้การรวมกลุ่มหลายภูมิภาค เราเองก็อยากเป็นแบบอียูด้วยซ้ำ แต่พอมีวิกฤตการณ์เฉพาะ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวแบบที่น่ารังเกียจ แล้วเราไม่สามารถดึงมาประยุกต์ใช้ได้เลย

สหภาพยุโรปเป็นทวีปที่ค่อนข้างกระชับ รวมกลุ่มสร้างความเป็นยุโรปนิยมง่าย เมื่อเทียบกับเอเชียที่ใหญ่มากและแบ่งเป็นอนุภูมิภาค ต่อให้ยุโรปมีรอยเลื่อนทางประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น มีปัญหาอียูเก่ากับอียูใหม่ ซึ่งอียูใหม่อยู่ภายใต้ร่มโซเวียต เข้ามาก็เป็นภาระ แต่สุดท้ายทำให้ศัตรูเก่าในอดีตกลายเป็นยุโรปเหมือนกัน เอกภาพในภูมิภาคไปได้ค่อนข้างสวย แต่มีปัญหาอื่นๆ ตามมา เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องท่าทีสหราชอาณาจักร ที่การรวมตัวทำให้บางรัฐได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ แต่ผมว่าเอกภาพและอัตลักษณ์โดยรวมของภูมิภาคมันได้ไง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีข้อโต้แย้งว่า เป็นภูมิภาคเล็ก แต่ไม่ง่ายที่จะรวมตัวหนียวแน่น เพราะแบ่งเป็นพื้นทวีปและพื้นสมุทร ระบอบการเมืองสังคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก มันเล็กแต่เปราะบาง สุดท้ายอาเซียนเลยไปได้แค่หลวมๆ แต่ก็มีวิวัฒนาการที่จะก้าวสู่การรวมตัวที่เหนียวแน่นตามลำดับ

ถ้าอียูเป็นประทีปส่องทาง อาเซียนควรเดินตามทางที่ส่องนั้นไหม

สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อาเซียนเป็นการรวมตัวกับอนุภูมิภาคข้างเคียงด้วย และหนีไม่พ้นจากบทบาทมหาอำนาจทางการเมืองโลก ซึ่งแตกต่างจากยุโรปที่บางรัฐเป็นมหาอำนาจเอง และอเมริกากับจีนยังเข้ามายุ่งมากไม่ได้ ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตประลองกำลังและเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ เวลาคุยเรื่องความมั่นคง-เศรษฐกิจ เราไม่พูดถึงอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แม้กระทั่งรัสเซีย อินเดีย ไม่ได้

หลังยุคสงครามเย็น แม้เราพูดเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์ แต่มหาอำนาจก็เข้ามาเล่นบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โอบามาพูดเรื่องการปักหมุดเอเชียและทีพีพี การโยงพลังเศรษฐกิจนาฟตาเข้ามาในเอเชีย แม้ทรัมป์ไม่เอาตรงนี้มาก แต่หลักคิดนักยุทธศาสตร์อเมริกายังไงก็ต้องเอาภูมิภาคนี้

จีนมี One Belt, One Road และยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกจะคุมมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก อินเดียก็น่าคิด เพราะรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภารตภิวัฒน์ แต่พลังขาดหายไป เพราะเป็นเมืองขึ้นอังกฤษและปัญหาภายใน แต่ว่าทุกวันนี้มีการส่งออกวัฒนธรรม หนังรามเกียรติ์ ซีรีส์สีดาราม ภาพยนตร์บอลลีวูด นักลงทุนอินเดียก็เข้าเมียนมามากขึ้น อาเซียนไม่สามารถสลัดออกจากสิ่งพวกนี้ได้ กลิ่นอายเครื่องเทศ ตะเกียบ ดอกซากุระ แฮมเบอร์เกอร์ เราหนีไม่พ้น ซึ่งต่างจากอียู

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save