fbpx
อ่านไทย อาเซียน และอินโด-แปซิฟิก ดุลยภาค ปรีชารัชช

อ่านไทย อาเซียน และอินโด-แปซิฟิก กับ ดุลยภาค ปรีชารัชช

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ในวันที่ 8 สิงหาคม 1967 สมาชิก 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมลงนามใน ‘ปฏิญญากรุงเทพ’ อันเป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘อาเซียน’ (ASEAN)

53 ปีผ่านไป อาเซียนเติบโตและขยายความร่วมมือออกไปทั้งในและนอกภูมิภาค ขณะเดียวกัน จากระบบโลกที่ผันผวนและระเบียบโลกที่ระส่ำระส่าย อาเซียนต้องเจอความท้าทายและโจทย์ที่แหลมคมหลายประการ โดยเฉพาะการที่อาเซียนกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันทางยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน

คำถามสำคัญคือ การยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนยังสมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ในยุคที่โลกพัวพันกันเช่นนี้ อะไรคือโจทย์ใหญ่ของอาเซียนในยุคโลกาภิวัตน์แบบย้อนกลับ อาเซียนจะก้าวย่างในการแข่งขันของมหาอำนาจอย่างไร ประเทศไทยอยู่ตรงไหน และเราควรวางยุทธศาสตร์อย่างไรในสภาวะเช่นนี้

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับ 5 ทศวรรษอาเซียน รวมไปถึงภาพใหญ่อย่างไทย อาเซียน และอินโด-แปซิฟิก ในเกมกระดานของสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-On-One Ep.168 : “อ่านไทย อาเซียน และอินโด-แปซิฟิก” – ดุลยภาค ปรีชารัชช (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563)

ดุลยภาค ปรีชารัชช

53 ปีอาเซียน

 

จากวันที่เริ่มก่อตั้งอาเซียนจนถึงปัจจุบัน อาจารย์มองว่าอาเซียนเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบริเวณข้างเคียงไปอย่างไร ตอนนี้อาเซียนอยู่จุดไหนบนเวทีโลก

ผมว่าจุดตั้งต้นที่ดีคือการย้อนไปดูประวัติศาสตร์ การก่อรูปรัฐเอกราช และอิสรภาพของรัฐในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งถ้าเราย้อนไปดูช่วงเวลาที่มีการสถาปนาอาเซียนขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1967 (พ.ศ.2510) บรรยากาศตอนนั้นอึมครึมทั้งด้วยการเมืองหรือบรรยากาศของสงครามเย็น และยังมีการค่อยๆ ก่อตัวเป็นรัฐเอกราชของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

สำหรับอาเซียน จุดเริ่มต้นอยู่ที่ประเทศไทยกับบรรดารัฐภาคพื้นสมุทรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนบรูไนเพิ่งได้รับเอกราชหลังจากก่อตั้งอาเซียนมาได้สักพัก แล้วจึงค่อยเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในภายหลัง

ดังนั้น ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งในรัฐและสังคมเช่นนี้ การก่อกำเนิดของอาเซียนจึงมีคุณูปการพอสมควร กล่าวคือ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในภูมิภาคที่เหนียวแน่นกว่าการรวมกลุ่มก่อนหน้า เช่น องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) หรือองค์การมาฟิลอินโด (Maphilindo) ซึ่งการรวมกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้รวมรัฐจำนวนมากเข้ามา และไม่ได้เป็นการบูรณาการในระดับภูมิภาคนิยม (regionalism) ได้เท่าเทียมกับอาเซียน เพราะฉะนั้น อาเซียนจึงถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมความก้าวหน้าของการรวมกลุ่มภายในภูมิภาค

ถ้ามองในบริบทของสงครามเย็น การที่โลกถูกแบ่งหลักๆ ออกเป็นค่ายเสรีประชาธิปไตยและค่ายสังคมนิยมส่งผลกระทบอะไรกับการก่อกำเนิดอาเซียนบ้างไหม

ในตอนแรก เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ตรงนี้ก็สะท้อนว่า ตอนที่อาเซียนก่อกำเนิดขึ้นแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดการรวมตัวในระดับภูมิภาค ภายใต้การเรียกร้องและได้รับอิสรภาพ อาเซียนยังถูกการเมืองยุคสงครามเย็นแบ่งภูมิทัศน์หรือจำกัดจำนวนสมาชิกด้วย เพราะกลุ่มประเทศเริ่มก่อตั้งที่ลงนามในปฏิญญากรุงเทพจะอยู่ในค่ายเสรีประชาธิปไตย หรือไม่มีนโยบายที่ไปผูกมิตรหรือฝักใฝ่ฝ่ายคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด

ตรงนี้จะแตกต่างกับกรณีรัฐอินโดจีน โดยเฉพาะการปฏิวัติสงครามกลางเมืองที่มีรัฐเวียดนามเหนือเป็นแกนนำ ซึ่งต่อมา รัฐเวียดนามเหนือประสบความสำเร็จในการเข้าไปกุมกายาทางภูมิศาสตร์ของรัฐลาวหรือกัมพูชา ทำให้เกิดค่ายอีกค่ายหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กันในทางภูมิรัฐศาสตร์และอุดมการณ์ ส่วนเมียนมามีนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ค่อนข้างโดดเดี่ยวตัวเอง

อย่างไรก็ดี จากวันนั้นจนถึงวันนี้ พัฒนาการประวัติศาสตร์การทูตได้เผยให้เห็นความก้าวหน้าหลายประการ อย่างน้อย การตั้งต้นของอาเซียนก็ทำให้รัฐเอกราชมีชีวิตชีวาในการเกาะกลุ่มกันมากขึ้น และแม้จะมีการแบ่งแยกในยุคสงครามเย็นดังที่กล่าวไป แต่พอสงครามสิ้นสุด เกิดการเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน ทั้งสี่ประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ต่างตบเท้าเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนทีละห้วงเวลาจนครบ 10 รัฐเอกราชในภูมิภาคนี้เลย ยกเว้นติมอร์-เลสเตที่ฉีกตัวออกมาจากอินโดนีเซียทีหลัง และเป็นผู้เฝ้าสังเกตการณ์ในอาเซียน

53 ปีผ่านไป อะไรคือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของอาเซียน และอะไรคือสิ่งที่เราสามารถแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้นได้

ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือภูมิภาคาภิวัฒน์ คือมีการขยายตัวทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ แนวระนาบคือการเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 5-6 ประเทศตั้งต้น กลายเป็น 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหากติมอร์-เลสเตได้รับการตอบรับ ซึ่งตรงนี้ต้องรอดูกันต่อไป

ขณะที่ในแนวดิ่ง ก็มีความร่วมมือทั้งการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ตรงนี้ก็มีกลไกและแพลตฟอร์มต่างๆ มีเวทีสัมมนาวงประชุมทางการทูต และยังมีกลไกแก้ความขัดแย้งและแสดงจุดยืนในภูมิภาคด้วย เช่น การประกาศให้อาเซียนเป็นเขตสันติภาพและความเป็นกลาง การประกาศให้อาเซียนเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ มีความพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจหรือการแลกเปลี่ยนสินค้าบริการที่เสรีภายในอาเซียน ตรงนี้นับได้ว่าเป็นความสำเร็จจริงๆ ขณะที่รัฐสมาชิกก็มีเวทีในการแสดงออก ทั้งอัตลักษณ์ ความคับข้องใจ หรือแสดงจุดยืนในการร่วมมือหรือระมัดระวังบทบาทมหาอำนาจที่เข้ามารอบด้านด้วย

จะเห็นว่า อาเซียนเรามีพลวัตและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับอาณาบริเวณหรือมหาอำนาจข้างเคียง ผมว่านี่เป็นความก้าวหน้าในเรื่องภูมิภาคนิยมเหมือนกัน ดังที่เราจะเห็นความร่วมมืออาเซียน +3 +6 และ +8 รวมถึงการที่อาเซียนเข้าไปอยู่ในกลไกความร่วมมือมหภาคที่ใหญ่กว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเข้าไปอยู่ในวงของเอเชีย-แปซิฟิก เช่น กรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ซึ่งทำให้อาเซียนมีเวทีและกลไก รัฐสมาชิกก็มีอัตลักษณ์ความเป็นอาเซียนมากขึ้น

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าเราต้องไปเกลี่ยความสัมพันธ์กับอาณาบริเวณและประเทศข้างเคียงด้วย โดยเฉพาะประเทศตลาดยักษ์ใหญ่มาแรงอย่างจีน อินเดีย หรือญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และยังมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็มีเยอะ ที่สำคัญคือ อาเซียนยังมีลักษณะเป็นกระดานหมากรุกทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจการเมืองโลก แม้เราจะมีการรวมกลุ่มกันภายในภูมิภาค อาเซียนก็ยังถูกสะบั้นหรือถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปอยู่ในมุ้งการเมืองของมหาอำนาจเจ้านั้นเจ้านี้ เช่น สมัยสงครามเย็นมีสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต สมัยนี้มีสหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และยังมีกรอบใหญ่ๆ อีกหลายกรอบที่เข้ามาคลุมอาเซียนอีกที เช่น อินโด-แปซิฟิก

ถ้ามองภายในอาเซียน อะไรคือความท้าทายที่เราต้องเผชิญ

ถ้าเป็นปัญหาภายใน เราจะเห็นว่ารัฐสมาชิกบางประเทศยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความขัดแย้งด้านเขตแดนที่อิงอยู่กับมรดกทางประวัติศาสตร์ รวมถึงลัทธิชาตินิยมที่ก่อให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกัน เช่น การแย่งชิงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมและอาหารระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย หรือการแย่งชิงเรื่องโขน และปัญหาข้อพิพาทเขตแดนปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา

อีกปัญหาสำคัญคือ เรื่องของเมียนมา ว่าทำไมอาเซียนไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลเผด็จการทหารในอดีตยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ทำให้อาเซียนปัจจุบันยังไม่ทรงกำลังวังชามากพอที่จะเข้าไปแก้ไขวิกฤตโรฮิงญา แต่ตรงนี้ก็น่าเห็นใจอาเซียนเหมือนกันที่ยังไม่มีน้ำหนักพอจะเข้าไปจัดการด้วย เพราะปัญหานี้มีสเกลใหญ่มาก ครอบคลุมมหาสมุทรอินเดีย และยังสัมพันธ์กับบังกลาเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน

ถ้าให้ผมสรุปคือ นับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 จนถึงปัจจุบัน อาเซียนมีทั้งความก้าวหน้า การสะดุด หยุดชะงัก หรือถอยหลังบ้างบางส่วน แต่ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไป ลักษณะการบูรณาการภายในภูมิภาคก็มีความลึกซึ้งและแหลมคมขึ้นด้วย

หนึ่งในหลักการสำคัญที่อาเซียนยึดถือคือ ‘หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน’ มองในมุมหนึ่ง หลักการนี้ก็มีความสำคัญในการให้ประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายสามารถรวมตัวกันได้ แต่ในโลกปัจจุบันที่มีความพัวพันและเชื่อมต่อกันมากขึ้น หลักการนี้เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในเรื่องที่ว่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพและความมั่นคงร่วมในภูมิภาค อาจารย์มองว่า หลักการนี้เป็นอย่างไร และในทางปฏิบัติ เรายังยึดถือหลักการนี้อย่างเข้มงวดอยู่มากน้อยแค่ไหน

หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในมีอยู่ในปฏิญญากรุงเทพ โดยการใช้หลักการนี้มาจากการที่ช่วงเริ่มแรก ประเทศสมาชิกบางประเทศเพิ่งได้รับเอกราชมาหมาดๆ ยังมีปัญหาความมั่นคงภายในอยู่ หลักการนี้ก็จะช่วยให้พวกเขาสบายอกสบายใจขึ้นในการรวมกลุ่ม รวมถึงรักษาความปลอดภัยให้หลายรัฐที่ยังไม่มีความมั่นคงทางการเมือง เป็นการกันไม่ให้ทั้งสมาชิกก้าวก่ายกิจการภายใน แทรกแซงซึ่งกันและกัน รวมถึงกันไม่ให้ประเทศมหาอำนาจ ทั้งในและนอกภูมิภาคเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ตรงนี้จึงถือได้ว่าเป็นเกราะคุ้มกันให้ระบอบการเมืองหรือรัฐบาลในช่วงหลังได้รับเอกราช

จุดที่ทำให้เห็นปัญหาของหลักการนี้เด่นชัดคือ ในช่วงทศวรรษ 1990 ที่มีหลายเหตุการณ์ใหญ่ๆ ให้อาเซียนต้องขบคิดและหันมาทบทวนหลักการนี้ เช่น การครองอำนาจที่ยั่งยืน ยาวนาน ของรัฐบาลทหารพม่า ตอนนั้น ทหารพม่ากับการเมืองเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ร้อนแรงมากในเวทีอาเซียน ซึ่งอาเซียนก็กดดันรัฐบาลทหารพม่าให้คลายอำนาจหรือเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายค้านกับประชาชนไม่ได้มาก นอกจากนี้ ในช่วงปลายสงครามเย็นก็มีกรณีเวียดนามรุกรานกัมพูชา อินโดนีเซียครองครอบติมอร์-เลสเต นี่ก็เริ่มเป็นจุดที่ทำให้สมาชิกอาเซียนหรือสถาปนิกทางการทูตที่โด่งดังในอาเซียนเริ่มขบคิดและทบทวนหลักการนี้

หนึ่งในนักการทูตคนสำคัญและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้ยกประเด็นเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์เชิงยืดหยุ่น (flexible engagement) ขึ้นมาในลักษณะที่ว่า เราไม่ต้องเข้มงวดเสมอไปว่า เราจะแทรกแซงกิจการภายในรัฐสมาชิกไม่ได้เลย ถ้าระบอบหรือรัฐบาลนั้นทำให้เกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาในอาเซียน เช่น กวาดไล่ผู้คนจนต้องอพยพข้ามแดนมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก หรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่ออาเซียน

จะเห็นว่าหลักคิดเรื่องความมั่นคงเริ่มเปลี่ยนไป ความมั่นคงไม่ใช่แค่เรื่องของการทหารเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ หรือความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ คุณสุรินทร์ก็พยายามยกแนวคิดนี้ขึ้นมา แต่ก็มีการขัดกันพอประมาณในรัฐบาลไทย เช่น ในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศว่า ขอยึดมั่นในการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ (constructive engagement) ซึ่ง ‘สร้างสรรค์’ เป็นศัพท์การทูต คือการค้าขาย ลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามองในเงื่อนไขช่วงเวลานั้น คือการค้าขายระหว่างรัฐบาลคุณทักษิณกับรัฐบาลทหารพม่า เน้นการค้าการลงทุน ไม่แตะการเมือง จะเป็นระบอบไหนก็ปล่อยเขาไป เพราะกลัวเสียโอกาสทางธุรกิจ

ดุลยภาค ปรีชารัชช

เท่ากับว่า การมีปฏิสัมพันธ์เชิงยืดหยุ่นเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้การยึดถือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในเริ่มคลายตัวลง?

ต้องเล่าก่อนว่า พอเกิดหลักการปฏิสัมพันธ์เชิงยืดหยุ่นขึ้น วงการทูตอาเซียนก็เริ่มทบทวนแล้วว่า บางครั้งเราก็มีประเด็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ บางครั้งระบอบในประเทศอธิปไตยหนึ่งก็สร้างแรงสั่นสะเทือนหรือผลักภาระให้รัฐเพื่อนบ้าน หรือรัฐสมาชิกโดยรวมด้วย จึงน่าจะมีความชอบธรรมอยู่บ้างในการเปลี่ยนบรรทัดฐานการปฏิบัติ ไม่ให้ไปยึดมั่นกับการไม่แทรกแซงกิจการภายในแบบเที่ยงตรงและเข้มงวด แต่ต้องเปิดช่องว่างให้เกิดความยืดหยุ่นบ้าง

ผมว่าตรงนี้สำคัญและจะช่วยสองอย่าง อย่างแรกคือช่วยเปลี่ยนหลักคิดเรื่องการรุกรานประเทศ ในบางประเทศ เราไม่ได้คิดถึงการใช้กำลังทหารรุกราน แต่มองในแง่ว่า ถ้าประเทศนั้นก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การอพยพข้ามแดน หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐต่างๆ หรือประชาสังคมในอาเซียนก็มีสิทธิตั้งคำถาม และยังช่วยให้เกิดความงอกงามหรือวัตรปฏิบัติให้บางรัฐลดการทำรัฐประหารภายในประเทศ ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และการกดดันจากรัฐสมาชิกอาเซียน

อีกแง่มุมหนึ่งคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratisation) ที่ผมเน้นย้ำเสมอว่า ปัจจุบัน เราเข้าสู่ประชาธิปไตยลูกที่ 4-5 แล้ว ถ้ามองผ่านทฤษฎีของแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ที่บอกว่าประชาธิปไตยมี 3 คลื่นหลักๆ ในประวัติศาสตร์โลก และคลื่นลูกที่ 3 จบลงในปลายสงครามเย็น และมีรัฐหลายรัฐในภูมิภาครอบโลกเป็นประชาธิปไตย เราเห็นการพูดถึงอาหรับสปริง กระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา นี่เป็นคลื่นประชาธิปไตยที่หลีกเลี่ยงได้ยากในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย ถ้าเราไปยึดติดกับการไม่แทรกแซงกิจการภายใน บางรัฐเป็นเผด็จการก็เป็นไปเลย ไม่เปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์จนเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสร้างสรรค์บ้าง ตรงนี้ก็ขัดกับกระแสเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยทั่วโลก นักประชาธิปไตยนิยมก็เห็นพ้องกันว่า เราควรมีบรรยากาศยืดหยุ่นขึ้นในหลักการพัฒนาการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถ้ามองออกไปในระดับโลก หลายคนนิยามว่า โลกกำลังอยู่ในยุค ‘โลกาภิวัตน์แบบย้อนกลับ’ (reverse globalisation) กระแสชาตินิยมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หลายชาติหันเข้าหากิจการภายใน และพึ่งพิงเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เหมือนจะเน้นย้ำสภาพดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้นไปอีก อะไรคือโจทย์ใหญ่ของอาเซียน และถ้ามองไปให้ไกลกว่านั้น เรามองเห็นโอกาสอะไรบ้างไหม

ผมว่าเรามีความท้าทายบางอย่างในสถานการณ์โควิด พลังชาตินิยมกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์และพาประชากรในประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้น การสลายพรมแดนแห่งรัฐเพื่อเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคจะเปลี่ยน หมุนจากการปิดพรมแดนเป็นการปิดประเทศ บางรัฐพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศค่อนไปทางโดดเดี่ยวมากขึ้น เป็นผลมาจากการปิดประเทศและโควิด ซึ่งนี่ก็เป็นสภาพวิถีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นหลายที่รอบโลก

แต่มีปริศนาบางอย่างที่น่าถกเถียงและพูดคุยกัน เช่น ท่ามกลางแรงกดดันโควิดในอาเซียน รัฐแบบไหนที่จะทำให้เกิดการแข็งขันหรือประสิทธิภาพประสิทธิผลในการจัดการโควิดมากกว่ากัน ระหว่างรัฐแบบประชาธิปไตยกับเผด็จการ ในประเด็นนี้ สิ่งที่แน่ชัดคือ จะมีกลุ่มมุ้งอำนาจทางการเมืองหรือรัฐบาลอำนาจนิยมสามารถรักษาอำนาจและอยู่รอดได้ หากสามารถจัดการหรือเอาใจประชาชนได้ในช่วงโควิด เราเห็นผลการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในรัฐแถบนี้ เช่น ในลาว พรรครัฐบาลประกาศว่ากำชัยชนะเหนือโรคระบาดเรียบร้อยแล้ว แม้หลายคนจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ลาวติดเชื้อน้อยด้วย ไม่ว่าจะเป็นความบางเบาของประชากร วิถีชีวิตที่ไม่ได้สัญจรบนรถโดยสารหรือไปห้างที่แออัด ทว่ามักจะไปในพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าเพราะประชากรน้อย แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร พรรครัฐบาลก็ประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหา คนติดเชื้อก็น้อย ไม่มีแรงเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาลทำให้อยู่ต่อไปได้ คล้ายคลึงกับที่เกิดในเวียดนาม

ในกรณีของเมียนมา เป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตย แต่ก็มีการชิงไหวชิงพริบในช่วงโควิดระหว่างค่ายทหารกับพลเรือน กล่าวคือ ขณะที่อองซานซูจีกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กำลังโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันโควิด ทางกองทัพ โดยรองประธานาธิบดีท่านหนึ่งที่เป็นสายทหาร ก็ชิงตั้งศูนย์จัดการโควิดในการประชุมรัฐสภาที่เมืองเนปิดอว์ ทหารสวมหน้ากากกันทุกนาย ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองสวมบ้างไม่สวมบ้าง ทำให้ทหารมีการนำตรงนี้ไปโจมตีด้วย

ส่วนในประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับสูงอย่างอินโดนีเซียมีตัวเลขติดเชื้อไม่ใช่น้อย ซึ่งรัฐบาลจาการ์ตาก็ใช้มาตรการที่ค่อนข้างเด็ดขาดเหมือนกันในการจัดการ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่มีประชาธิปไตยค่อนข้างสูง ประธานาธิบดีดูเตอร์เตก็ใช้มาตรการเผด็จการเต็มที่ในการจัดการกับวิกฤตโควิด แต่ตรงนี้ต้องบอกด้วยว่า อาจจะเกี่ยวกับสไตล์การบริหารของผู้นำ (leadership style) มากกว่าจะเอาไปจับกับเรื่องระบอบการเมือง (political regime) ด้วย ก็ต้องแยกแยะตรงนี้ แต่ในกระแสโลกที่มีการถกเถียงกันว่า แบบไหนจัดการได้ดีกว่ากัน ผมบอกเลยว่ามีปัจจัยหลายอย่างต้องวิเคราะห์ รัฐที่เป็นประชาธิปไตยอาจจะจัดการได้เข้มงวดเกินไป ขัดขวางเสรีภาพจนเกินไป หรือบางทีรัฐเผด็จการก็ไม่ได้แข็งขันขนาดนั้นในการจัดการ เพราะสภาพแวดล้อมหลายอย่างไม่เอื้อ เช่น จีนที่เหมือนจะจัดการได้โอเค แต่อิหร่านที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมกลับมีคนติดเชื้อเยอะ ตรงนี้ทำให้ผมมองว่า เรื่องระบอบอาจจะมีสหสัมพันธ์บางอย่าง แต่ไม่มีเหตุและผลที่จะกระทบกับการจัดการโควิดแบบชัดเจนนัก

 

ไทยและสมาชิกอาเซียน

 

เรามักได้ยินคำว่า ไทยดำเนินนโยบายทางการทูตแบบ ‘ไผ่ลู่ลม’ แล้วอาจารย์มองว่า ไทยดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบไหน และรักษาสมดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ดีแค่ไหน

ก่อนอื่น ผมต้องขอจำแนกประเภทนโยบายต่างประเทศของรัฐเอเชียอาคเนย์ต่อมหาอำนาจก่อน ซึ่งแต่ละรัฐก็จะเลือกใช้นโยบายแตกต่างกันออกไป บางประเทศร่วมหัวจมท้าย เลือกข้างไปเลย เช่น โปรจีนก็ร่วมหัวจมท้ายกับจีนและละทิ้งสหรัฐฯ บางประเทศลดระดับลงมานิดหนึ่ง คือไม่ถึงกับเลือกข้าง แต่พยายามจะรักษาสัมพันธภาพระหว่างมหาอำนาจ 2-3 เจ้า อาจจะมีโยกไปหาอีกฝ่ายบ้าง และมีการสร้างความร่วมมือทางการทหารหรือพันธมิตรทางยุทธศาสตร์บ้าง

ถ้าเบาลงมาอีกคือ ใช้นโยบายถ่วงดุลอำนาจ (balancing) พยายามไม่เอนไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ไม่ได้เตรียมทำพันธมิตรหรือเตรียมสะสมกำลังทางทหารที่เป็นไปตามอาวุธยุทโธปกรณ์ของค่ายหรือมหาอำนาจอีกเจ้าเป็นพิเศษ และที่เบากว่าการถ่วงดุลอำนาจคือ wait and see เฝ้าดูสถานการณ์ก่อน ไม่เลือกข้าง พยายามเป็นกลาง

เมื่อเรามองที่รัฐไทย ผมว่าปัจจุบันนี้ รัฐไทยไม่มีทางใช้นโยบายร่วมหัวจมท้ายเหมือนบางประเทศ แต่จะก้ำกึ่งระหว่างการถ่วงดุลอำนาจกับการประกันความเสี่ยง (hedging) มากกว่า ผมว่ารัฐไทยพยายามถ่วงดุล สร้างกรอบความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจบางชาติ ไม่ถึงกับลื่นไหลไปร่วมหัวจมท้ายเสียทีเดียว นี่คือความแตกต่าง เพราะในประวัติศาสตร์การทูต เรามีนโยบายลู่ตามลม นโยบายถ่วงดุลอำนาจ คือไม่ให้มหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งมีกำลังหรือมีอัตราชี้นำการต่างประเทศไทยมากจนเกินไป เห็นได้ชัดในราชสำนักกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4 ที่พยายามถ่วงดุลอำนาจ แต่พอไทยเจอจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสคุกคาม ไทยก็ใช้นโยบายผ่อนปรนอำนาจ คือยอมเสียพื้นที่การครอบครองบางส่วนไม่ให้มหาอำนาจคุกคามไปมากกว่านี้

หลังจากนั้น เราก็มีนโยบายเลือกข้าง ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเลย เห็นได้ชัดในช่วงสงครามเย็นที่เราโปรสหรัฐฯ ทำให้เราเป็นปฏิปักษ์กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่มาวันนี้ ผมว่าเราไม่ใช้นโยบายเลือกข้างแล้ว แต่มีการประนีประนอมผ่อนปรนในทางยุทธศาสตร์ อยู่ระหว่างการถ่วงดุลอำนาจกับประกันความเสี่ยงอย่างที่บอกไป ผมว่านี่เป็นลักษณะเด่นการต่างประเทศของไทย ลองยกตัวอย่างว่า ไทยจะร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐฯ หรือจีนไปเลยไหม คำตอบคือไม่ใช่ ไทยพยายามจะถ่วงดุล รักษาระยะห่าง กระชับจีนมากขึ้นแต่ก็ไม่ทิ้งสหรัฐฯ บางมิติก็โยกเข้าหาสหรัฐฯ มากขึ้นโดยที่ยังถนอมน้ำใจจีนอยู่ ผมว่าอันนี้เป็นจุดเด่น

ไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน

ผมว่านี่เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะระยะหลังๆ เราไม่เห็นนโยบายของไทยที่พยายามจะขยายอำนาจให้เป็นมหาอำนาจเบอร์ต้นๆ ในอาเซียนเลย ตรงนี้มีหลายวิธีนะครับ ทั้งทางเศรษฐกิจ ลูกเล่นหรือสมรรถนะของผู้นำและรัฐบาลในการสร้างแบรนด์การเป็นผู้นำในภูมิภาค คุณทักษิณอาจจะเคยทำได้ในระดับหนึ่ง ลี กวนยูของสิงคโปร์ หรืออดีตนายกฯ ของมาเลเซียอย่างมหาเธร์ก็เคยทำได้ แต่ปัจจุบัน เรายังไม่เห็นนโยบายตรงนี้ของไทยสักเท่าไหร่

อาจารย์มองว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้ไทยไม่สามารถขยับขยายอำนาจขึ้นมาเป็นเบอร์ต้นๆ ในอาเซียนได้

ผมว่ามีหลายสาเหตุ อย่างแรกอาจจะเป็นที่ภาวะผู้นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีพื้นฐานเป็นนักการทหาร เชี่ยวชาญการจัดระเบียบความมั่นคง แต่เรายังไม่เห็นการปลดปล่อยบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ การใช้ภาษา การรับแขกบ้านแขกเมือง หรือการประกาศวิสัยทัศน์ที่จะสะเทือนภูมิภาคหรือทำให้ไทยเป็นแกนนำและประเทศอื่นล้อรับตาม เรายังไม่เห็นตรงนี้สักเท่าไหร่

ประการที่สอง อาจจะเป็นเรื่องสภาวะแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของรัฐในภูมิภาคต่างๆ ที่ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมภูมิภาคด้านการเมืองความมั่นคงที่ดูสลับซับซ้อนจนเกินไป จนเกินกว่าที่รัฐขนาดกลางบางรัฐจะชิงไหวชิงพริบทางการทูตได้อย่างทันท่วงที เพราะกว่าเราจะจัดการกับปัญหาภายใน ตั้งทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มั่นคงและแข็งแรง ก็กินทรัพยากรไปอย่างมหาศาล ทำให้ไทยยังไม่มีขีดความสามารถพอ แต่ถ้ารัฐมีสโลแกนที่ดี ผู้นำมีวิวาทะเด็ด เศรษฐกิจเข้มแข็ง การเมืองนิ่ง ตอบโจทย์กระแสนิยมของประชาคมโลก นานาชาติขานรับพร้อมร่วมมือ มันก็ไปได้อยู่

แม้ไทยจะเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีลีลาทางการทูตพลิ้วไหวเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นั่นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาแล้ว เรายังไม่เห็นร่องรอยอะไรในตอนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ เราอาจจะต้องลองไปดูระบบคิดหรือกลไกบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศว่า พวกเขามีกลยุทธ์อะไรซ่อนอยู่ วางตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ตรงนี้ต้องค่อยๆ ติดตามต่อไป แต่กรอบต่างๆ ก็ยังถูกจำกัดอยู่ใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายจุดที่เน้นเรื่องประชาคมอาเซียน แต่เรายังไม่เห็นการปฏิบัติจริงๆ หรือการคลอดวิสัยทัศน์ที่ฉีกแนวไปไกลกว่านั้นให้เราได้เป็นภูมิภาค ตรงนี้เป็นเรื่องที่อาจจะต้องแก้ไขกันต่อไป

แล้วสมาชิกอาเซียนประเทศไหนที่กำลังมีบทบาทในการขยายอำนาจขึ้นมา

ผมจับตาดูอยู่สองประเทศ ประเทศแรกคือสิงคโปร์ ซึ่งเขาก็พยายามชิงบทบาทในเวทีวงประชุมอาเซียนหลายๆ ประเด็น จุดเด่นของสิงคโปร์คือ เขาพยายามรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน คือมึความร่วมมือทางการทหารกับสหรัฐฯ แต่ก็ยอมรับอิทธิพลการค้า การลงทุน และความร่วมมือของจีนในอาเซียนด้วย

อีกประเทศที่น่าสนใจมากคืออินโดนีเซีย ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโจโกวี (โจโก วีโดโด) สมัยแรก เขามีความพยายามผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นใจมหาสมุทรโลก หรือที่เรียกว่า global maritime fulcrum สืบเนื่องมาจากความคิดที่ว่า อินโดนีเซียเป็นรัฐภาคพื้นสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทำไมไม่มีบทบาทหรือความโดดเด่นในการเป็นมหาอำนาจทางทะเล ที่คุมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเลย ทั้งที่ภูมิรัฐศาสตร์ของอินโดนีเซียตอบโจทย์เช่นนั้น

สิ่งที่โจโกวีทำจึงเป็นการพยายามปฏิรูประบบกองทัพเรือ และสถาปนาชื่อเสียงของอินโดนีเซียให้เป็นใจมหาสมุทรโลกที่สำคัญ รวมถึงผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้นำสำคัญ เกิดศัพท์เทคนิคทางการทูตหรือกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า ASEAN Centrality (ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน) กล่าวคือให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความร่วมมือในภูมิภาค รวมพลังกันเพื่อให้อาเซียนเป็นแกนกลางในการกำหนดสัมพันธภาพระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรืออินโด-แปซิฟิก ไม่ใช่กระดานหมากรุกที่มหาอำนาจจะเข้ามายื้อแย่งอิทธิพล หรือทำลายตัวตนความเข้มแข็งของอาเซียน แต่ไส้ในที่รัฐบาลจาการ์ตาซ่อนไว้และทับซ้อนกับ ASEAN Centrality คือให้อินโดนีเซียเป็นใจมหาสมุทรโลก ถ้าซื้อหลักการหนึ่งก็ต้องแถมอีกตัวหนึ่งเข้าไปด้วย อินโดนีเซียวางตำแหน่งของตัวเองแบบนี้

ดุลยภาค ปรีชารัชช

มหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก: โจทย์ใหญ่ของอาเซียน

 

ในช่วงที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศกลายมาเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) โดยเฉพาะในการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน เราเห็นการใช้คำว่าอินโด-แปซิฟิก แทนที่คำว่าเอเชีย-แปซิฟิก สำหรับอาจารย์ เมื่อพูดคำว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ เรามองเห็นอะไร คำๆ นี้สะท้อนนัยอะไรที่น่าสนใจในทางภูมิรัฐศาสตร์บ้าง

อินโด-แปซิฟิกเป็นศัพท์ภูมิภาคนิยมตัวใหม่ ทำให้นึกถึง 2 องค์ประกอบหลักๆ คือ มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก แต่ก่อน เราจะได้ยินคำว่า ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ ที่คลุมมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้คลุมถึงมหาสมุทรอินเดีย และคลุมสองภูมิภาคหลักๆ ในเอเชียคือ เอเชียตะวันออก (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ) เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมไปถึงฮ่องกงและมาเก๊า กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ (อาเซียน 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต) ขณะเดียวกัน ก็รวมออสเตรเลีย-โอเชียเนีย ขอบตะวันตกของแองโกลอเมริกา และฝั่งลาตินอเมริกา คือมลรัฐตะวันตกของสหรัฐฯ ที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก

แต่ปรากฏว่าโลกยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจใหญ่กว่านั้นแล้ว เพราะจำเป็นต้องดึงมหาสมุทรอินเดียเข้ามากับแปซิฟิก และการดึงมหาสมุทรอินเดียเข้ามาหมายถึงการดึงอินเดียเข้ามาด้วย ซึ่งอินเดียเป็นตลาดใหญ่ ประชากรเกิน 1 พันล้านคน และเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทในการเมืองเอเชีย นี่คือสิ่งที่นักยุทธศาสตร์และนักการระหว่างประเทศขบคิดกันเวลามองอินโด-แปซิฟิก

อย่างไรก็ดี ถ้ามองขอบเขตทางภูมิศาสตร์หรือเรื่องรูปสัณฐาน ต้องบอกว่ามันยังไม่นิ่ง เพราะหลายคนมองขอบเขตรวมๆ ว่า คลุมสองมหาสมุทร แต่เริ่มที่ไหน สุดที่ไหน ยังมองต่างกันอยู่ และตรงนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับนักอาณาบริเวณศึกษา

อาจารย์บอกว่าต่างคนต่างมองขอบเขตของอินโด-แปซิฟิกแตกต่างกันออกไปในทางภูมิศาสตร์ อยากลองชวนอาจารย์ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า แต่ละคนมองขอบเขตของอินโด-แปซิฟิกอย่างไรบ้าง

นักยุทธศาสตร์หรือนักการทูตบางประเทศเคยเสนอว่า อินโด-แปซิฟิกรวมมหาสมุทรอินเดียและเอเชีย-แปซิฟิก พูดง่ายๆ คือฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ จนถึงฝั่งตะวันออกของแอฟริกา อันนี้คือสโคปใหญ่มาก แต่บางท่านก็บอกว่า มันไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น แต่ให้นับจากฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ไปถึงอินเดียพอ ไม่ได้เขยิบไปถึงแอฟริกา แต่คลุมมหาสมุทรอินเดียด้วย

ขณะที่ออสเตรเลียก็มองว่า อินโด-แปซิฟิกต้องเอาออสเตรเลียเป็นตัวตั้ง บวกกับหมู่เกาะของสหรัฐฯ และหมู่เกาะต่างๆ ในท้องทะเลรายรอบ เช่น หมู่เกาะ Midway และ Marshall รวมถึงไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยับไปที่มหาสมุทรอินเดียอีกหน่อย ความคิดนี้ก็จะคล้ายๆ กับเอเชีย-แปซิฟิก ผสมกับ อินโด-แปซิฟิก แต่จะค่อนมาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้กับออสเตรเลีย

ฉะนั้น จะเห็นว่าสโคปทางภูมิศาสตร์ยังตีความไม่เหมือนกัน แต่สุดท้าย มีรัฐมหาอำนาจที่ซื้อไอเดียและเล่นล้อรับกับคอนเซปต์อินโด-แปซิฟิก 4 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งเป็น 4 มหาอำนาจที่เป็นรัฐประชาธิปไตยทั้งหมด มารวมตัวกันเป็นเหลี่ยมยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสี่เหลี่ยมคลุมอินโด-แปซิฟิก ตรงนี้ก็มีนักวิเคราะห์พยายามตีความเหมือนกันว่า การที่ 4 มหาอำนาจมารวมตัวกันเช่นนี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์อะไร บางคนก็ว่า การทำแบบนี้คงทำให้จีนขยายอำนาจผ่านหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไม่สะดวกแน่นอน เพราะมีสี่แง่งยุทธศาสตร์ตีกรอบล้อมอยู่ บางคนก็ว่า ถ้าอำนาจของ 4 ประเทศจะเข้าหัวหาดผ่าน Maritime South East Asia หรือชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียก็จะทำให้รุกเข้าไปในภาคพื้นทวีปได้สะดวกขึ้น เพราะมีการคลุมหัวหาดทิศสำคัญอยู่

ถ้าให้สรุปคือ สำหรับผม อินโด-แปซิฟิกเป็นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่มากในทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ทางภูมิศาสตร์ยังไม่นิ่ง ยังมีการตีความอยู่ว่าจุดเริ่มต้น-สิ้นสุดอยู่ตรงไหน แต่ที่แน่ๆ มี 4 มหาอำนาจล้อรับกับความคิดนี้ และสหรัฐฯ เป็นประเทศที่เด่นมากๆ ที่รับเอาแนวคิดนี้เข้าไป แม้จริงๆ แนวคิดนี้ก็แตกแรงมาจากนายกฯ ชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ที่พูดเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2007 แล้ว แต่สหรัฐฯ พยายามจะปรับยุทธศาสตร์นี้ให้เข้ากับกองบัญชาการของสหรัฐฯ ที่โฮโนลูลู (Honolulu) ในรัฐฮาวายด้วย ดูได้จากการที่สหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อกองกำลัง United States Pacific Command เป็น United States Indo-Pacific Command แล้ว เท่ากับอาณาเขตของภาคทหารสหรัฐฯ ที่อยู่บริเวณฮาวายและคลุมเอเชีย-แปซิฟิกเปลี่ยนยุทธการควบคุมใหม่ พูดง่ายๆ คือเอาอาณาบริเวณเดิมทั้งหมดและเพิ่มอินเดียกับมหาสมุทรอินเดียเข้าไป ทำให้อินเดียกลายเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อถ่วงดุลและลดอิทธิพลจีน

จะเห็นว่า สหรัฐฯ ได้ขยายอิทธิพลและอำนาจเข้ามาในภูมิภาคอย่างมาก ผ่านทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึงสองมหาสมุทร แต่เราจะเห็นว่าปัจจุบัน สหรัฐฯ ต้องแบกรับภาระต่างๆ มากขึ้น หันขวามากขึ้น และยังต้องเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง อาจารย์มองว่าสหรัฐฯ จะยังดำเนินยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ขนาดนี้อยู่ได้อย่างเข้มแข็งขนาดไหน

สหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจโลกยุคหลังสงครามเย็น แม้ปัจจุบันจะถูกจีนท้าทายบ้าง ซึ่งก็มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานาว่า ระเบียบโลกใหม่จะเป็นระบบอำนาจคู่ไหม หรือสหรัฐฯ กับจีนจะสถิตคู่ในตำแหน่งที่ทัดเทียมกัน ก็ว่ากันไป แต่ในสนามอินโด-แปซิฟิก เราเห็นว่าสหรัฐฯ ถูกท้าทายอิทธิพลและพลังอำนาจอย่างไม่หยุดยั้งจากการพุ่งทะยานของจีน เพราะจีนมีทั้งแสนยานุภาพทางการทหารที่เพิ่มขึ้น พลังเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อมองฝั่งผู้นำ ศิลปะทางการทูตของสี จิ้นผิง ก็ไม่เบาเลย

ขณะที่สหรัฐฯ ก็อยู่ในช่วงขาลง และยังมีเรื่องโควิด-19 ซึ่งถือว่าผีซ้ำด้ำพลอยมาก หันขวาก็มากทีเดียว แต่อย่างที่ผมบอกไป สหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจโลก นักนโยบายต่างประเทศกับนโยบายป้องกันประเทศของสหรัฐฯ วางมหายุทธศาสตร์รองรับไว้ตั้งแต่ยุคสงครามโลกที่ 2 และการเล่นสงครามเย็นในการเมืองโลก

การแบ่งภาคทหารของสหรัฐฯ ไม่เหมือนกับหลายประเทศนะครับ อย่างไทย เราเอาพรมแดนกับเพื่อนบ้านเป็นตัวตั้ง ขีดแบ่งกองทัพบกเป็น 4 ภาค และมีกองทัพเรือ กองทัพอากาศ แต่ของสหรัฐฯ จะเอาลูกโลกมากางและแบ่งกองกำลังทางการทหารทั่วโลกเลย กองกำลังที่คุมแถบนี้คือ United States Indo-Pacific Command อย่างที่บอกไป คือครอบคลุมญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย โอเชียเนีย และอินเดียด้วย ส่วน Central Command (กองบัญชาการกลาง) จะคุมตะวันออกกลางและบางส่วนของเอเชียกลาง และยังมีกองกำลังที่คุมแอฟริกาด้วย จะเห็นว่าเขาเอาลูกโลกมาแบ่ง และส่งกองกำลังไปคุมรอบโลก แถมยังวางกำลังกับกลุ่มพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างฐานทัพลอยน้ำ ฐานทัพอากาศนอกประเทศ และยังดูเรื่องสงครามอวกาศอีก เรียกได้ว่าดูหลายอย่างเลยทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ สหรัฐฯ เลยโดดเด่นและมีความคงเส้นคงวาต่อเนื่องในมหายุทธศาสตร์ ความคิดที่ว่าตนจะต้องเป็นเจ้าโลก ครองพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป แต่อาจจะเปลี่ยนรายละเอียดไปบ้าง เช่น สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เน้นการสร้างแกนปักหมุด สร้างเดือยหมุนในเอเชีย หรือ Pivot to Asia ให้สหรัฐฯ ปักธงและโยกกำลังต่างๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทวีปเอเชีย ให้สหรัฐฯ มีบทบาทนำจีน ซึ่งนโยบายตัวนี้ก็ถูกต่อยอดมา ขยายผล และสัมพันธ์กับอินโด-แปซิฟิกด้วย

เพราะฉะนั้น ผมไม่ห่วงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือมหายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เลย ยังไงเขาก็พยายามจะเติมหรืออุดช่องว่างยันจีนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การประสบเคราะห์กรรมหรือประสบปัญหาหลายอย่าง การที่หันขวาหนักหรือการที่ต้องฟูมฟักกิจการภายในย่อมมีช่องว่างเกิดขึ้น ซึ่งสุญญากาศตรงนี้ทำให้จีนได้สวมทัพไปเรียบร้อยแล้วในหลายมิติ

แล้วถ้าขยับมามองคู่แข่งสหรัฐฯ อย่างจีน จะเห็นว่าตอนนี้จีนมากับยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่อย่าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI) อีกทั้งจีนยังมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และยังมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับประเทศแถบนี้ อาจารย์มองว่าจีนจะเดินเกมตอบโต้ หรือรับการเข้ามาของสหรัฐฯ อย่างไร

ต้องบอกก่อนว่า ก่อนหน้านี้ จีนจะมียุทธศาสตร์เฉพาะ เช่น ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก พยายามสร้างฐานทัพเรือทางยุทธศาสตร์และสร้างท่าเรือพาณิชยกรรม เช่น ในศรีลังกา ปากีสถาน เมียนมา เพื่อปิดล้อมและทอนกำลังอินเดีย เป็นเหมือนสร้อยมุกที่เข้าไปคานและบีบรัดอินเดีย

ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนจึงถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่และขั้นสูงมาก คือคลุมยูเรเซียทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นการพลิกฟื้นเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล คุมทั้งยุโรป เอเชีย และเอเชียแปซิฟิก ลงไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งนี่ก็เป็นมหายุทธศาสตร์ที่จะใช้คานอำนาจกับสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้แก้เกมด้วยการร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย อย่างที่กล่าวไปแล้ว

อาเซียนอยู่จุดไหนในเกมกระดานของสองมหาอำนาจนี้ และอะไรคือโจทย์ใหญ่ของเรา

ไม่ว่าจะยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ หรือจีน อาเซียนโดนหมดเลย เราเป็นเหมือนกระดานหมากรุก เป็นเขตอิทธิพลที่จีนพยายามจะเข้า take over รวมถึงในทะเลจีนใต้ด้วย ส่วนในเมียนมา จีนก็มีเส้นทาง มีท่อก๊าซที่พยายามหาทางลงมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ส่วนยุทธศาสตร์ BRI ก็คุมหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลก็อยู่ในกรอบ BRI หมดแล้ว

ส่วนสหรัฐฯ เราก็เห็นความพยายามเอาหน่วยภูมิศาสตร์ที่ใหญ่กว่าอย่างอินโด-แปซิฟิกเข้ามา และดึงอีก 3 มหาอำนาจเข้ามาร่วม สภาวะคลุมเครือแบบนี้ทำให้อาเซียนดูเหมือนไม่ค่อยปลอดภัย เพราะถูกขับเคี่ยวทางภูมิรัฐศาสตร์และยังถูกลากเข้าไปอยู่ในสโคปทางภูมิศาสตร์ที่ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่

โจทย์ที่โยนมาให้อาเซียนคือ เราจะระบุและกำหนดตัวตนอย่างไรในอาณาบริเวณใหม่อย่างอินโด-แปซิฟิกนี่ ขอบเขตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สุดเท่าที่เป็นอยู่ไหม คือสุดอยู่แค่ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต หรือขอบตะวันตกที่เลยพ้นเมียนมาไปเล็กน้อย หรือเราต้องระบุขอบเขตภูมิศาสตร์ของภูมิภาคใหม่ กล่าวคือ ตัวตนของเราต้องโยกลงไปถึงออสเตรเลีย โอเชียเนีย ไปสัมพันธ์กับเกาะต่างๆ ของสหรัฐฯ ในย่านแปซิฟิก เน้นการเชื่อมต่อ (connectivity) กับอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ หรือรับนโยบาย Act East ของอินเดียมา เหมือนกับว่า ความร่วมมือในภูมิภาคนี้อาจจะขยับไปสู่มหาสมุทรอินเดียที่เป็นอ่าวเบงกอล แล้วอาจจะไปสู่เอเชียใต้ให้ล้อรับกับอินโด-แปซิฟิก

ผมว่านี่เป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายของอาเซียน ซึ่งอาเซียนก็พยายามแก้โดยใช้แนวคิด ASEAN Centrality ให้อาเซียนเป็นแกนกลาง หยุดความยุ่งเหยิงหรือความวุ่นวายในการแข่งขันของมหาอำนาจ จึงอาจจะบอกได้ว่า อาเซียนยอมรับร่มใหญ่อย่างอินโด-แปซิฟิก แต่ก็ไม่อยากให้ตนเองโดนเปลี่ยนแปลงจนภูมิกายาถูกสะบั้น ขาดเอกลักษณ์จนเกินไป

จะเห็นว่าไม่ได้มีแค่สหรัฐฯ กับจีนที่เข้ามาในอาเซียน แต่มหาอำนาจขนาดกลางก็เข้ามามีบทบาทในอาเซียนเช่นกัน อาจารย์มองบทบาทของมหาอำนาจระดับกลางเหล่านี้อย่างไร

ผมว่าประเทศที่น่าสนใจคืออินเดียกับญี่ปุ่น เพราะสองประเทศนี้พยายามจะกระชับมิตรกันมากขึ้น และมีความร่วมมือกันทางการทหารและเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สองประเทศนี้กระชับมิตรกันคือ การพุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้งของจีน

สำหรับญี่ปุ่น ความร่วมมือกับอินเดียสามารถทำให้เกิดมหาอำนาจใหม่ที่เข้มแข็งขึ้นในการยันอิทธิพลจีนที่ลงมาถึงมหาสมุทรอินเดีย ส่วนอินเดียก็สบายใจเพราะญี่ปุ่นยันพลังอำนาจของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ และยังสอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของอินเดียด้วย เพราะอินเดียมียุทธศาสตร์ที่วางอยู่บนหลักสัจนิยม (Realism) คือเห็นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ มีการถ่วงดุลอำนาจโดยใช้ปรัชญาการเมืองโบราณที่เป็นตำรับพิชัยยุทธพื้นฐานเข้ามาจับโลกทัศน์ของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศบางคนในกระทรวงการต่างประเทศ เช่น หลักคัมภีร์อรรถศาสตร์ของเกาฏิลย หรือ จาณกย ซึ่งเป็นปราชญ์สำคัญของพระเจ้าจันทรคุปตเมารยะ แห่งราชวงศ์โมริยะ

หลักการสำคัญอันหนึ่งคือ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ในเมื่อญี่ปุ่นเป็นศัตรูคู่ปฏิปักษ์กับจีน มีความขัดแย้งกันหลายอย่าง ญี่ปุ่นก็คือมิตรของอินเดียด้วย อินเดียจึงพยายามปรับยุทธศาสตร์กับญี่ปุ่นเพื่อดึงกำลังในการทัดทานอิทธิพลจีน เพราะอินเดียถูกจีนกดดันทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรง มีแผลทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน เช่น การที่กองทัพอินเดียพ่ายแพ้ให้กับจีนในสงครามปี 1962 และยังมีความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาอีก ตรงนี้ก็สร้างความไม่สบายใจให้กองทัพอินเดีย และทำให้คนจำนวนไม่น้อยหวนระลึกถึงเหตุการณ์ความพ่ายแพ้ในอดีต

ถ้ามองในมุมอาเซียน เราเห็นอินเดียพยายามเข้ามามีบทบาทในอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ ก็เข้ามานานแล้ว แต่เข้ามาไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับจีน เพราะมีข้อจำกัดด้านเม็ดเงิน แต่เขาก็พยายามพัฒนาภาคอีสานของอินเดีย ทั้งรัฐอัสสัมหรือรัฐมณีปุระของอินเดียในการเชื่อมโยงกับเมียนมา และเข้ามาสู่ไทย คือใช้ทั้งสองประเทศเป็นสะพานเชื่อมสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพยายามเชื่อมลุ่มแม่น้ำโขงเข้ากับลุ่มแม่น้ำคงคาผ่านการริเริ่มทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ด้วย แต่หลักๆ ก็ยังหยุดอยู่ที่เมียนมา ภาคอีสานของอินเดีย และอ่าวเบงกอล ไปไกลกว่านั้นไม่ได้

อีกประเทศคือออสเตรเลีย ซึ่งผมว่าเขายังไม่มีสถานะเป็นมหาอำนาจชั้นนำในเอเชียขนาดนั้น เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรืออินเดีย แต่ออสเตรเลียก็ถือเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ยังมีความไหวหวั่นหลายประการ และเพื่อนบ้านตะวันตกที่ออสเตรเลียประหวั่นพรั่นพรึงมากคืออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังพลทางทหารเยอะกว่า แต่ออสเตรเลียมีเทคโนโลยีทางการทหารที่ล้ำหน้ากว่า ตรงนี้ก็มีการวิเคราะห์กันว่า ถ้าสองชาติสู้กันจริงๆ ใครจะเหนือกว่าใคร

แต่ภัยคุกคามของออสเตรเลียไม่ได้มีแค่นี้ แต่มีพลังอำนาจของจีนที่เพิ่มมากขึ้น และยังไปแท๊กทีมกับอินโดนีเซีย เพราะจีนก็คุกคามอินโดนีเซียด้วย ทั้งความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือในน่านน้ำทางทะเล โดยเฉพาะทะเลนาตูนาที่มีเรือประมงของจีนเข้ามาเก็บเกี่ยวทรัพยากรใต้ท้องทะเลของอินโดนีเซียอย่างมาก อินโดนีเซียเลยประกาศปฏิรูปกองทัพเรือให้ยิ่งใหญ่ขึ้น เพื่อยันภัยคุกคามที่มาจากทั้งจีนและออสเตรเลีย

มาถึงตรงนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาเซียนกลายเป็นเหมือนสนามประลองกำลังของมหาอำนาจหลายชาติ หลายคนจึงเกิดคำถามว่า หรืออาเซียนจะต้องถูกบังคับให้เลือกข้าง แต่ก็มีคนมองว่า อาเซียนสามารถรวมตัวกันเป็นเหมือนแกนกลางของสถาปัตยกรรมภูมิภาคนี้ และไม่จำเป็นต้องเลือกข้างแต่อย่างใด ตรงนี้อาจารย์มองว่าอย่างไร เรามีอำนาจต่อรองมากน้อยแค่ไหน เป็นไปได้หรือไม่ที่อาเซียนจะก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจที่ไม่ต้องเดินตามเกมของมหาอำนาจ

ถ้ามองในแง่ของขนาดตลาด ขนาดประชากร หรือตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ แม้กระทั่งการเติบโตทางการศึกษา ชื่อชั้นของมหาวิทยาลัย อาเซียนมีความได้เปรียบและสามารถก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจที่เริ่มมีตัวตนมากขึ้นในระบบการเมืองการทูตของเอเชีย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับกันตรงๆ คือ อาเซียนไม่ใช่รัฐชาติ แต่เป็นที่รวมของหลายๆ รัฐชาติ ตัวตนของอาเซียนเป็นองค์การรวมกลุ่มกันในระดับภูมิภาค

ในการวิเคราะห์มหาอำนาจ เรามักจะเทไปที่ชาติใดชาติหนึ่ง เพราะการกำหนดนโยบายต่างประเทศ การสร้างเอกภาพ กลไก เขตอธิปไตยต่างๆ มันชัดเจนในตัว ในธรรมเนียมการวิเคราะห์ตรงนี้จึงอาจจะมีแค่สหภาพยุโรป (EU) หรือการรวมกลุ่มแบบสันนิบาต หรือสมาพันธรัฐในบางมุมบางพื้นที่ ที่อาจพอใช้พินิจพิจารณาได้ว่า เป็นมหาอำนาจ แต่ก็มีปัญหาภายในตัวเองเช่นกัน เพราะการรวมตัวกันประกอบด้วยกลุ่มของรัฐ กลุ่มของชาติ และกลุ่มของหน่วยการเมือง รวมถึงระบบพันธมิตรทางการทหารที่แตกต่างหลากหลายและขาดเอกภาพ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่มองได้เหมือนกันสำหรับอาเซียน

ในปี 2019 ที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วม 10 ประเทศเกี่ยวกับทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) เน้นย้ำ ‘ASEAN Centrality’ แสดงจุดยืนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน อาจารย์มองแนวคิดนี้อย่างไร

ผมมองว่าแนวคิดการให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง ให้อาเซียนรวมตัวกันเหนียวแน่นเป็นแนวคิดที่ดี และทำให้ภาพความเป็นมหาอำนาจของอาเซียนชัดขึ้น แต่ถามว่าจะเป็นมหาอำนาจที่จะโลดโผนโจนทะยานแบบจีนไหม ก็คงไม่ใช่ โดยเฉพาะในแง่การกำหนดนโยบายการต่างประเทศที่คงเส้นคงวาไปด้วยกัน การกำหนดนโยบายป้องกันประเทศ และการนำกองกำลังต่างๆ ในอาเซียนมาตั้งเป็นกองกำลังร่วม อันนี้เป็นโจทย์ที่ยังต้องพัฒนากันอีกยาวไกลทีเดียว

ดังนั้น การบูรณาการเชิงลึกไปถึงระดับหน่วยเหนือชาติหรือประเทศเดี่ยว เป็นหน่วยวิเคราะห์แบบที่วิเคราะห์มหาอำนาจเดี่ยวๆ น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน

ถ้าหนทางการไปสู่มหาอำนาจแบบเดี่ยวยังอีกยาวไกล อาจารย์มองว่าตอนนี้ อาเซียนทำอะไรได้บ้าง เราควรเริ่มต้นพัฒนาไปในทิศทางไหน

สิ่งที่พอทำได้ตอนนี้คือ ให้อาเซียนมีสองภาพลักษณ์ในเวลาเดียวกัน หนึ่ง เป็นองค์กรที่มีเอกภาพ และสามารถเป็นขั้วอำนาจได้อีกขั้ว แต่ขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกภาพของอาเซียนคือ รัฐแต่ละรัฐ ที่มีอธิปไตยในการดำเนินนโยบายภายใน นโยบายต่างประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจเป็นของตนเอง เรายังไม่มีนโยบายร่วม ไม่มีรัฐบาลกลาง และยังไม่มีกองกำลังทหารร่วมกัน

การจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ต้องใช้ทั้งเวลาและนวัตกรรมทางการทูต การเมือง และการทหาร อีกมาก ผมถึงบอกว่า การจะนำอาเซียนไปเทียบชั้นว่าเป็นมหาอำนาจในระดับที่ทัดเทียมกับจีน อินเดีย และสหรัฐฯ ยังค่อนข้างไกลลิบอยู่

อย่างไรก็ดี ถ้าเรายังไปถึงขั้นนั้นไม่ได้ อย่างน้อยก็อาจจะลองจากการคิดถึงจุดที่เราเคยรุ่งโรจน์บ้าง การมองแบบนี้อาจจะฟังดูอนุรักษนิยมหรือภูมิภาคนิยมไปหน่อย แต่เท่าที่ผมเคยสัมผัสและพูดคุยกับนักการทูตบางประเทศ เขาก็เริ่มมีแนวคิดพวกนี้อยู่นะ เช่น นักการทูตเมียนมามองว่าชาติตนเองเป็นชาติเล็ก ถูกขนาบด้วยอินเดียกับจีน และถูกปกครองด้วยจักรวรรดินิยมอังกฤษ แต่ในวันวานก่อนหน้า เมียนมาเป็นแดนทอง เป็นจักรวรรดิที่รุ่งโรจน์ในเอเชีย กองทัพพม่าเคยรุกไปถึงลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร และสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แขกเบงกอล นอกจากนี้ กองทัพพม่าในสมัยพระเจ้ามังระยังเคยต้านทัพจักรวรรดิต้าชิงของจักรพรรดิเฉียนหลงได้ถึง 4 ครั้ง แล้วทำไมไม่ฟื้นความสำเร็จแบบจักรวรรดิพม่าในอดีต ซึ่งเป็นจักรวรรดิของชนพื้นเมืองในอุษาคเนย์แท้ๆ ที่มีหน้าตาและพลานุภาพไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าจักรวรรดิจีนหรือจักรวรรดิของอินเดียเลย หรืออินโดนีเซียก็คิดถึงความรุ่งโรจน์เรืองรองในสมัยอาณาจักรมัชปาหิต ที่เป็นรัฐริมทะเลที่ทรงแสนยานุภาพ

อย่างไรก็ดี ระบบคิดแบบนี้ต้องอาศัยการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาตินิยมที่ซ้อนทับกับภูมิภาคนิยมด้วย เช่น ความคิดที่จะให้อาเซียนเป็นมหาอำนาจโดยเอามัชปาหิตเป็นตัวตั้ง ก็อาจจะตั้งอยู่บนฐานคิดของเกาะชวา อินโดนีเซีย ที่ไม่ใช่ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เช่นกัน แต่ชนชั้นนำในอาเซียนก็เริ่มมีสิทธิจะฝันว่า อาเซียนไม่ได้เป็นเขตอิทธิพลหรือเขตประลองกำลังให้คนอื่นมายึดครองอย่างเดียว แต่เราเคยเติบโตและรุ่งโรจน์ด้วยตัวเองมาก่อน แต่เรื่องแบบนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดของชาตินิยมและประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งถือเป็นอันตรายเหมือนกันในประวัติศาสตร์ จึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย

ทำไมเราต้องศึกษาอาเซียน การศึกษาอาเซียนจะช่วยให้เราเห็นภาพการเมืองระหว่างประเทศและพลวัตในเวทีโลกอย่างไร

อาเซียนเป็นตัวสะท้อนภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัฒน์ที่โดดเด่น และชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การที่รัฐ ชาติ ประชากร และสังคมที่หลากหลาย ทั้งทางภาษา ระบอบการเมือง และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันถึงขนาดนี้มารวมกัน ภายใต้ภูมิภาคเดียวกัน และใช้แบรนด์เดียวกันคืออาเซียน ผมถือว่าเป็นสุดยอดแล้วของความก้าวหน้าในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้

ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นลมหายใจ เป็นตัวตน และเป็นอัตลักษณ์ (identity) หลายๆ อย่างของผู้คน เผ่าพันธุ์ หรือรัฐที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจึงคิดว่าการศึกษาอาเซียนเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ

อีกสิ่งที่น่าขบคิดคือ เรื่องโลกอาณาบริเวณศึกษาของอาเซียน ที่ได้แปลงรูป เปลี่ยนร่าง และปรับสัณฐานไปสัมผัสกับโลกอาณาบริเวณศึกษาที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งอาเซียนไม่สามารถอยู่ได้แบบโดดๆ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาชี้ให้เห็นแล้วว่า เราอยู่โดดๆ ไม่ได้ แต่ต้องเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านดินแดนข้างเคียงด้วย ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของความร่วมมือหรือภัยคุกคามก็ตาม เราหลีกเลี่ยงกระบวนการภารตภิวัฒน์ (Indianisation) กระบวนการจีนาภิวัฒน์ (Sinicisation) กระบวนการอเมริกันภิวัฒน์ (Americanisation) หรือแม้แต่อารยธรรมแบบสเปน (Hispanic civilisation) ชุมชนคาทอลิกที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปไม่ได้

จะเห็นว่า แม้อาเซียนจะมีตัวตนที่ชัดขึ้น แต่ไม่สามารถสะบั้นออกจากกลิ่นอายของมังกร อินทรี เสือ หรือดอกซากุระได้ อาเซียนยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกข้างเคียงอยู่ และสิ่งที่เป็นกระแสร้อนแรงมากในตอนนี้คือ การใช้แนวคิดการเรียกอาณาบริเวณใหม่ว่า อินโด-แปซิฟิก ซึ่งผมมองว่านี่จะเปลี่ยนตัวตนของอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเลย อีกหน่อย เราคงไม่ศึกษาอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเดียว แต่คงศึกษาอินโด-แปซิฟิกด้วย

เราต้องมองให้เห็นว่า อาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วางอยู่ตรงไหนของหน่วยภูมิภาคนิยมที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้ ทั้งภูมิภาคนี้ยังเต็มไปด้วยมหาอำนาจทางการเมืองโลกและในเอเชียที่เข้ามาโลดแล่น จับจองพื้นที่ และชิงไหวชิงพริบกัน เพราะฉะนั้น เราหนีไม่พ้นเลยว่า โลกแห่งความเป็นจริงคือโลกการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ และการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดอาณาบริเวณใหม่ที่จะเป็นตัวตน และแหล่งเรียนรู้ใหม่ของอาเซียนคืออินโด-แปซิฟิก

ความท้าทายในที่นี้จึงอยู่ที่ว่า อาเซียนจะเป็นแกนกลางของอินโด-แปซิฟิกได้หรือไม่ ซึ่งก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาเซียนทั้งไปถึงและไปไม่ถึง แต่ขอยืนยันว่า อาเซียนศึกษา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คือสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นโลกอาณาบริเวณศึกษาที่มีเสน่ห์ และยังเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในจุดสนใจของผู้คนทั้งภายในและนอกภูมิภาคมาอย่างยาวนาน ทั้งในปัจจุบันนี้และอนาคตต่อไป

ดุลยภาค ปรีชารัชช

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save