fbpx
“ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ของเดือนวาด พิมวนา กับความจริงอันเหลือจะกล่าวได้เช่นกัน

“ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ของเดือนวาด พิมวนา กับความจริงอันเหลือจะกล่าวได้เช่นกัน

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

ในแวดวงวรรณกรรมไทย ผมคิดว่านักเขียนร่วมสมัยที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งคือ เดือนวาด พิมวนา

ไม่ใช่เพราะว่าเดือนวาดเป็นนักเขียนที่เคยได้รับรางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง “ช่างสำราญ” หรือเป็นเจ้าของผลงานจำนวนมาก เช่น “หนังสือเล่มสอง” “คุณสงคราม” “แดดสิบแปดนาฬิกา” ไม่ใช่เพราะเดือนวาดเป็นหนึ่งในนักเขียนยุคแรกๆ จำนวนหยิบมือหนึ่งที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรวมถึงทำกิจกรรมต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอด

แต่เป็นเพราะความเรียบง่ายในงานของเธอ

ความเรียบง่ายที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ตีความและเข้าถึงงานได้หลากหลายวิธีการ น้ำเสียงในงานของเดือนวาดไม่ได้หวือหวาหรือผาดโผน แต่มีความเรียบ นิ่ง อ้อยอิ่ง ค่อยๆ ผูกตัวเรื่องกับผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันโดยที่ผู้อ่านไม่รู้ตัว และกว่าที่ผู้อ่านจะรู้ตัวก็หลงอยู่ในงานของเธอเสียแล้ว

นอกจากนี้ ความเรียบง่ายในงานของเดือนวาดยังเต็มไปด้วยความลึกซึ้ง หากเราพิจารณาตัวเรื่อง น้ำเสียง และเรื่องที่ถูกเล่า ซึ่งโดยมากเป็นเรื่องของปุถุชนทั่วๆ ไปที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน จะพบว่าความลึกซึ้งที่ว่านั้นเกิดจากการทำให้ตัวละครที่กำลังเล่าอยู่มีความลึก มีมิติ จนเราเชื่อได้ว่าคนอย่างที่เดือนวาดกำลังเล่านี้อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชีวิตเราเท่าไรนัก เพียงแต่เราไม่ค่อยตระหนักถึงพวกเขาเท่านั้นเอง และปัญหาที่พวกเขาประสบก็ล้วนเป็นสิ่งที่เราต่างเข้าใจได้ทั้งสิ้น

 

ในฝันอันเหลือจะกล่าวและความฝันอันสูงสุด

 

“ในฝันอันเหลือจะกล่าว” คือนวนิยายเล่มล่าสุดของเดือนวาด พิมวนา ชื่อเรื่องนี้น่าจะล้อเลียนมาจากละครเวที “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” หรือ The man of La mancha ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมระดับโลกอย่าง ดอนกิโฆเต้ หรือชื่อภาษาไทยว่า “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน” อีกที

เรื่องราวของดอนกิโฆเต้ ทั้งที่เป็นวรรณกรรมและละครเวทีนั้นเป็นเรื่องของดอนกิโฆเต้ ขุนนางแก่ที่เชื่อว่าตัวเองคืออัศวิน ออกเดินทางพเนจรร่อนเร่ไปกับม้าแก่ๆ และชาวนาที่ชื่อซานโช่ ผู้เชื่อว่าถ้าติดตามดอนกิโฆเต้ไป เขาจะได้ครองดินแดนที่มีน้ำล้อมรอบ พวกเขาออกตระเวนสู้รบกับจินตนาการของตนเอง เช่น เห็นกังหันเป็นยักษ์ และเพราะความเชื่อของดอนกิโฆเต้ที่ว่าตนเองคืออัศวินที่ต้องปราบอธรรม วีรกรรมของเขาจึงเป็นเรื่องของชายวิกลจริตที่อ่านนิยายอัศวินมากเกินไป แล้วออกมาไล่ฟาดฟันอธรรมในจินตนาการบนท้องถนน ทำให้ผู้คนเดือดร้อนจากการเป็นอัศวินวิกลจริตของเขามาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะพิจารณาชื่อเรื่อง “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” “สู่ฝันอันสูงสุด” หรือ “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน” สิ่งที่มีร่วมกันคือคำว่า ‘ฝัน’

สำหรับเรื่องของดอนกิโฆเต้เป็นการออกผจญภัยตามความฝัน แม้ว่าจะเป็นฝันของคนไม่สมประกอบและทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ชื่อ “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ของเดือนวาดนั้นดูเหมือนจะเป็นการ ‘เสียดสี’ ความฝันมากกว่า เพราะคำว่า “เหลือจะกล่าว” นั้นน่าจะหมายถึง “หมดสิ้นคำจะพูดจากันแล้ว”

กล่าวคือ มันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อที่ไม่รู้จะพูดหรืออธิบายออกมาอย่างไร เป็นความฝันที่เราๆ ท่านๆ ต่างก้มหน้ากุมขมับและส่ายหัว เป็นอากัปกิริยาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนั่นเอง

นอกจากชื่อเรื่องแล้ว เดือนวาดยังนำลักษณะของตัวละครสำคัญอย่างดอนกิโฆเต้และซานโช่มาใช้ประโยชน์ในเรื่อง “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ได้อย่างน่าสนใจ โดยทำให้ดอนกิโฆเต้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทยช่วงวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2556 จนถึงการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้นำ

ตัวเรื่อง “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” นั้นเล่าถึงชีวิตของ นที กวีที่มีชีวิตไม่ปกติอันเนื่องมาจากต้องเผชิญกับปัจจัยทางสังคมการเมือง ควบคู่กับไปประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รวมถึงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเหล่านั้น โดยเฉพาะจากกลุ่ม กปปส. ในขณะที่กำลังชุมนุมประท้วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างพี่น้องที่เลือกข้างทางการเมือง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องทะเลาะกับพี่สาวอีกคนหนึ่งอยู่ดี

“ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ได้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งในช่วงปีนั้นส่งผลกระทบร้าวลึกลงไปในสังคมไทยทุกภาคส่วน กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม กปปส. ต้องมีชีวิตใกล้เคียงกับการหลบซ่อน มิเช่นนั้นจะถูกประจานหรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันภายในชุมชน คนถูกคุกคามจากการปิดคูหาเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. โดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำอะไรไม่ได้

คล้อยหลังช่วงที่ กปปส. เป็นใหญ่ในบ้านเมือง ความแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ในสังคมไทยทั้งหมดจบลงที่การรัฐประหารหรือยึดอำนาจโดยทหาร และที่น่าเศร้าโศกเสียใจไปกว่านั้นก็คือ มีคนจำนวนไม่น้อยไชโยโห่ร้องกับการยึดอำนาจครั้งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” บันทึกไว้อย่างละเอียดลออ

ในเบื้องต้น นวนิยายเรื่อง “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” นั้นนำข้อเท็จจริงและเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยมาเขียน เรียบเรียงใหม่ให้เป็นเรื่องแต่งขึ้นมาเรื่องหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นนวนิยายที่สะท้อนสังคมไทยในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ไม่มีการซ่อนสัญลักษณ์ สัญญะ หรือซ่อนปมของเรื่อง ซ่อนความขัดแย้งใดๆ

กล่าวให้สุดกว่านั้นคือ แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นว่าเดือนวาด พิมวนา ใช้กลวิธีการทางวรรณศิลป์ที่แยบยลซับซ้อนอย่างที่งานวรรณกรรม ‘ซีเรียสๆ’ ทั้งหลายนิยมทำกันเลย มันมากกว่าความสมจริงอย่างที่ไอดา อรุณวงศ์กล่าวไว้ในหมายเหตุบรรณาธิการ มันพูดได้ว่าเป็นการเอาเหตุการณ์จริงมาเขียนอย่าง ‘ดื้อๆ’ และ/หรือ ‘ทื่อๆ’ เลยด้วยซ้ำ

หากจะกล่าวว่า นวนิยาย “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” คือนวนิยายที่มีความสมจริงตามแบบฉบับของคติสัจนิยม ก็คงไม่อาจกล่าวเช่นนั้นได้ เพราะ “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ไม่ได้วางจุดยืนของตัวเองว่าเป็นกลางทางการเมืองด้วยการให้ภาพที่ชัดเจนตรงไปตรงมาและไม่ตัดสินใคร ในทางตรงกันข้าม “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” เลือกที่จะยืนอยู่ข้างกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการกดขี่ จากความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือจากมุมมองของผู้ถูกกระทำในระบอบประชาธิปไตย (อย่างน้อยที่สุดการถูกคุกคามเพราะตั้งใจจะไปเลือกตั้งตามกติกานั้นก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าใครคือผู้กระทำและใครคือผู้ถูกกระทำ)

ชีวิตของตัวละครเอกอย่างนทีนั้นได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองจนทำให้เขากลายเป็นโรคประหลาด นั่นคือ เขาเห็นใครก็ตามที่เข้าร่วมหรือมีแนวโน้มเห็นด้วยกับกลุ่ม กปปส. เป็น ซานโช่ ทั้งหมด จนเขาสงสัยว่าตัวเองกำลังจะเป็นบ้า ในตอนต้นเรื่อง นทีจึงพยายามจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีความวิปลาสดังกล่าวด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่สำเร็จ เขายังคงต้องมีชีวิตและมองเห็นซานโช่ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา

และซานโช่นี้เองคือที่มาแห่งกองทุกข์ระทมในชีวิตของนที

 

วรรณกรรมแห่งการวิจารณ์วรรณกรรม

 

ในฐานะที่วรรณกรรมเป็นเรื่องแต่ง เป็นเรื่องไม่จริงที่พยายามนำเสนอความสมจริงหรือสมเหตุสมผลกับตัวเรื่อง ในแง่หนึ่งมันจึงจำเป็นต้องปกปิดความเป็นเรื่องเล่าของตัวเอง หรือพูดอีกแบบก็คือมันต้องรักษาสมดุลของความเป็นโลกที่สมจริงในตัววรรณกรรมเอาไว้

แต่สำหรับวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่ที่มักเล่นกับรูปแบบในการนำเสนอ รวมถึงเปิดเผยความเป็นเรื่องแต่งของตนเองอย่างตรงไปตรงมา การปกปิดฐานะของตัววรรณกรรมเองอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป ซึ่งนอกจากการที่วรรณกรรมจะเปิดเผยสถานะความเป็นเรื่องแต่งของตัวเองแล้ว กิจกรรมอีกอย่างที่เปิดเผยและเปิดโปงความเป็นเรื่องแต่งของวรรณกรรมอย่างชัดเจน ก็คือกิจกรรมการวิจารณ์

การวิจารณ์คือกิจกรรมที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นเรื่องแต่งของวรรณกรรมนั้นทำงานอย่างไร มีระบบ ตรรกะอย่างไรในการสื่อความหมาย รวมถึงพยายามตีความสิ่งที่อยู่ในตัวบทวรรณกรรมนั้นเพื่อพยายามชี้ให้เห็น หรือพยายามโน้มน้าวว่าตัวบทวรรณกรรมที่กำลังอ่านอยู่นี้กำลังพูดถึงอะไรและพูดถึงอย่างไร

“ในฝันอันเหลือจะกล่าว” นั้นมีความน่าสนใจสำหรับผมในฐานะที่เป็นนวนิยายแห่งการวิจารณ์วรรณกรรม เพราะนอกจากทำหน้าที่ในฐานะวรรณกรรมแล้ว ตัวมันเองยังทำหน้าที่ในฐานะการวิจารณ์วรรณกรรมอีกด้วย

เราจะเห็นได้จากในตอนต้นเรื่องที่นทีระลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งตนมีโอกาสได้ไปพูดในงานวิจารณ์หนังสือดอนกิโฆเต้ ณ ร้านหนังสือที่มีชื่อเดียวกันนี้ ทุกคนในงานต่างพูดจาชื่นชมตัวละครดอนกิโฆเต้ผู้มีความฝันและพยายามทำตามความฝันของตัวเอง แต่นทีกลับเป็นคนเดียวที่วิจารณ์ดอนกิโฆเต้อย่างตรงไปตรงมา

“…การลุกขึ้นมาทำตามความฝันของดอนกิโฆเต้ไม่ได้กระทำด้วยสติสัมปัญชัญญะใดๆ เลย เขากระทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยความฟั่นเฟือนวิกลจริตเป็นเหตุ เขาอาจเป็นแรงบันดาลใจที่ดีหรือเป็นสัญลักษณ์ทีน่าทึ่ง คนส่วนใหญ่ก็จับประเด็นนี้กันเป็นหลัก คือความกล้าที่จะลุกขึ้นทำตามฝัน แต่ผู้เขียนก็แสดงออกชัดเจนว่าดอนกิโฆเต้อยู่คนละโลกกับโลกแห่งความเป็นจริง ฝันอันสวยงามนั้นเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว แต่โลกแห่งความเป็นจริงยังคงเป็นโลกที่มีอยู่เพียงใบเดียว  ไม่ว่าใครจะลุกขึ้นมาทำอะไรบนโลกใบนี้ก็ล้วนแต่ส่งผลในเชิงสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาไม่มากก็น้อย จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีคนลุกขึ้นมากระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่สนใจสภาพความเป็นจริงรอบตัว ไม่สนใจมาตรฐานการอยู่ร่วมกันใดๆ ในโลก คิดเพียงความฝันและอุดมคติของตนเป็นที่ตั้ง” (หน้า 39)

นทีย้ำว่า “ผมถึงคิดว่าตัวละครแบบดอนกิโฆเต้อาจจะเป็นฮีโร่ของนักฝันมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งของฮีโร่คนนี้กลับเป็นคนฟั่นเฟือนวิกลจริต จะกระทำเรื่องร้ายหรือดีเขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองทั้งสิ้น ความฝันของเขาจะกระทบกระเทือนสิ่งใดหรือผู้ใดเขาไม่สามารถจะเข้าถึงความจริงของการล่วงล้ำก้ำเกินนั้นได้ เรื่องราวของดอนกิโฆเต้กลับแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกแห่งความจริงถูกคุกคามโดยโลกแห่งความลวง ผมคิดว่าน่ากลัวจริงๆ นะครับ ถ้าจะเกิดดอนกิโฆเต้ขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง มันจะไม่ใช่เรื่องตลกอย่างที่เราอ่านในนวนิยายแน่นอน…” (หน้า 41)

ความสำคัญของการวิจารณ์เรื่องดอนกิโฆเต้ในตอนต้นเรื่องนี้คืออะไร? ผมทดลองตอบดูว่ามันคือกรอบที่ตัวเรื่องให้กับคนอ่านเข้าใจร่วมกัน ว่ากลุ่มกปปส. นั้นก็คือซานโช่ที่เดินตามดอนกิโฆเต้นั่นเอง เพราะเมื่อนทีเห็นกลุ่ม กปปส. ทุกคนเป็นซานโช่ นั่นก็ย่อมหมายความว่าแกนนำ กปปส. นั้นก็ไม่ต่างอะไรจากดอนกิโฆเต้ ไม่ใช่ในฐานะนักฝันแต่คือคนบ้า และซานโช่คือคนที่เดินตามคนบ้าและเชื่อคนบ้าอย่างสุดจิตสุดใจว่าจะได้อะไรจากคนบ้าอย่างดอนกิโฆเต้

ดังนั้นการวิจารณ์วรรณกรรมในนวนิยาย “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคม และความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มันได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมการวิจารณ์กับสังคมอีกด้วย

สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนุกมากๆ ก็คือ ในเรื่อง ตัวนทีเป็นกวีที่มีชื่อเสียงจากผลงานเกี่ยวกับสังคมการเมืองอยู่พอสมควร จึงได้พบกับแฟนบทกวีของตน พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันจนเรียกได้ว่าสนิทสนมกันในระดับหนึ่ง และมีการวิจารณ์ในลักษณะเล่าอธิบายความเป็นมา รวมถึงความหมายของบทกวีของเขา

ซึ่งบทกวีของนทีในนวนิยายเรื่องนี้เกือบทั้งหมด คือบทกวีที่มาจาก “อาชญารมณ์ต่อเนื่อง” ผลงานบทกวีของเดือนวาด พิมวนา

ดังนั้น การวิจารณ์บทกวีของนทีก็เปรียบเสมือนการอธิบายที่มาของบทกวีและความมุ่งหมายของบทกวีของเดือนวาดนั่นเอง

 

ในฝันอันเหลือจะกล่าวกับความขัดแย้งในแวดวงวรรณกรรมไทย

 

ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจในนวนิยายเรื่องนี้คือ การใช้เหตุการณ์จริงมาสลับสับเปลี่ยนทำให้กลายเป็นวรรณกรรมขึ้นมา

อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” เอาเหตุการณ์จริงแบบทั้ง ‘ดื้อๆ’ และ/หรือ ‘ทื่อๆ’ มาสร้างเป็นวรรณกรรม ไม่ต้องใส่สัญลักษณ์ ซ่อนปมปัญหาให้ลึกซึ้งอย่างเช่นนักเขียนวรรณกรรมซีเรียสทั้งหลายนิยมทำกัน ต่อประเด็นนี้ ผมคิดว่านี่คือการวิพากษ์วิจารณ์แวดวงวรรณกรรมไทยอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องการวางตัวของวรรณกรรมในสังคม หรือการวางตนของนักเขียนที่สนใจเรื่องปัญหาสังคมและพยายามจะนำเสนอผ่านวรรณกรรม

โดยปกติแล้ว บรรดาวรรณกรรมซีเรียสทั้งหลายบรรดามีนั้นมักมีท่าทีในการนำเสนอที่แยบยล มีกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่แยบคายในการสื่อความหมาย นักเขียนบางคนจงใจซ่อนปมปัญหาของสังคมเอาไว้ผ่านสัญลักษณ์อันซับซ้อน ต้องถอดสมการกันหลายชั้นกว่าจะได้ความหมายในตัวบทออกมา ผมยืนยันว่านักเขียนบางคนจงใจให้ซับซ้อนจนไม่สามารถขุดลงไปให้ถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารได้ แต่นั่นก็อาจเป็นความไร้ประสิทธิภาพในการอ่านของผมเอง

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของวรรณกรรมที่ต้องนำเสนอประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อน หรือบางประเด็นก็ละเอียดอ่อนเกินกว่าจะพูดอย่างตรงไปตรงมา แต่นักเขียนต้องพยายามนำเสนอมันออกมาให้ได้มากที่สุด ชัดเจนที่สุดเท่าที่ความซับซ้อนและกลวิธีทางวรรณศิลป์อันแยบยลต่างๆ จะอนุญาตให้ทำได้ ทำให้เกิดคำถามในใจผมเสมอมา

นั่นคือวรรณกรรมยากๆ ที่มีกลวิธีซับซ้อน แสดงให้เห็นความฉกาจฉกรรจ์ของนักเขียนนั้น ชาวบ้านชาวช่องจะอ่านกันรู้เรื่องไหม? ถ้าวางตัวเองเป็นนักเขียนที่ต้องการสะท้อนปัญหาสังคม มีความเข้าอกเข้าใจประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ถูกกดขี่แล้ว ไอ้ความยากเกินจะหยั่งถึงเหล่านั้นจะให้ใครอ่าน หากไม่ได้สนองความสูงส่งของการเป็นนักเขียนของตนเอง?

เมื่อผมได้อ่าน “ในฝันอันเหลือจะกล่าว”​ ผมคิดว่านวนิยายเรื่องนี้ได้ให้คำตอบบางอย่างกับผมเกี่ยวกับเทคนิคและกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่สุดแสนจะซับซ้อน แต่กลับว่างเปล่าในการสื่อความหมายหรือแม้แต่ยากจะสะท้อนปัญหาทางสังคมให้ชัดเจน

คำตอบที่ว่านั้นคือ “ความเสแสร้งของวรรณกรรมเกี่ยวกับสังคม”

กล่าวคือ วรรณกรรมเกี่ยวกับสังคมของไทยที่มีรูปแบบและกลวิธีที่ยากและซับซ้อนนั้น มันมีหน้าที่อะไรทางสังคมหรือแม้กระทั่งตำแหน่งแห่งที่ของตัวมันเองในความเข้าใจเรื่องวรรณกรรม นอกจากการทำให้ตัวนักเขียนนั้นเป็นผู้สูงส่ง ยืนอยู่บนยอดภูเขาของปัญหาสังคมทั้งปวงและมองลงมาด้วยสายตาอันแหลมคม (ประชด)…

ปัญหาดังกล่าวในแวดวงวรรณกรรมไทยมันชัดเจนมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 แล้ว เพราะเราจะเห็นได้ว่านักเขียนที่ได้ชื่อว่า หรือถูกเชื่อว่า ‘ซ้าย’ หรือ ‘เพื่อประชาชน’ นั้น ต่างไชโยโห่ร้องต้อนรับการยึดอำนาจของทหารอย่างอบอุ่น การรัฐประหารปี 2549 สร้างความแตกแยกในวงการวรรณกรรมไทยมาก และความขัดแย้งดังกล่าวก็ดำรงอยู่ รวมถึงพัฒนามาจนกระทั่งในช่วงของการชุมนุมกปปส. จนถึงการรัฐประหารปี 2557 นักเขียนไทยจำนวนไม่น้อย ต่างยกยอปอปั้นคณะรัฐประหารอย่างออกหน้าออกตาและหาได้อายตัวเองแต่อย่างใด

ในประเด็นนี้ “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” ได้บันทึกความขัดแย้งและเกียรติยศของนักเขียนไทยจำนวนหนึ่งเอาไว้อย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ปราศจากกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่อาจกลายเป็นอาภรณ์ของความเสแสร้งในการพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เช่นในตอนที่นทีกำลังอยู่ในงานชุมนุมของนักเขียน และกำลังจะขึ้นอ่านบทกวีของตน กลับมีทหารเข้ามาขัดขวางในงานพร้อมทั้งบอกว่านี่คือการชุมนุมเกินห้าคน ผิดพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ผู้จัดงานพยายามต่อรอง แต่แล้วนายทหารคนนั้นก็ได้แจ้งให้ทุกคนทราบว่า พลเอกประยุทธ์ได้ยึดอำนาจทำรัฐประหารแล้ว จากนั้นในงานก็มีแต่คนไชโยโห่ร้อง สรรเสริญการยึดอำนาจของทหาร

“ใบหน้าและกิริยาอาการของคนทั้งห้องประชุมในเวลานี้เหมือนกันหมด ทุกคนกลายเป็นท่านเจ้าคุณผู้เกลียดกลัวปีศาจ ความเคียดแค้นชิงชังต่อบุคคลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปีศาจได้ถูกเปิดเผยออกมาจนหมดเปลือก นี่คือความประหลาดพิกลที่นทีเพิ่งเข้าใจ บรรยากาศคลุมเครือที่เขาคิดสงสัยในคราแรก อันที่จริงไม่มีอะไร ก็แค่มายาแห่งความดัดจริตเท่านั้นเอง นทีสัมผัสได้นับแต่วินาทีแรกในแวบเดียวกับที่เขารู้ว่าใครคือซานโช่ ใครคือดอนกิโฆเต้ ความป่วยไข้ไม่ปกติในตัวเขายังทำงานได้ดีจนถึงวินาทีนี้” (หน้า 193)

เพื่อนของนทีพยายามเข้ามาปลอบประโลมและพูดกับเขาว่า ” ‘ผมตกใจนะ เห็นคุณยืนหน้าซีดไม่ขยับเลย ผมรู้คุณรับไม่ได้และต้องรู้สึกแย่มากที่มาอยู่   ท่ามกลางคนที่เห็นต่างในสถานการณ์อย่างนี้ แต่คุณรู้ไหม ผมลองคุยกับหลายๆ คนที่เราเห็นว่าเขาดีอกดีใจกับการรัฐประหารนั่นน่ะ มันก็ไม่ใช่ว่าเขาเห็นด้วยกับการรัฐประหารซะทีเดียวนะ แต่เป็นเพราะเขาอยากให้บ้านเมืองสงบมากกว่า ทุกคนพูดประมาณนี้ทั้งนั้น’ นิพนธ์ตบบ่าเพื่อเบาๆ ตลอดเวลาในลักษณะปลอบประโลม” (หน้า 195-196)

แต่นทีเองก็รู้สึกว่า “…เขาสะอิดสะเอียน ไม่พร้อมรับฟัง ไม่พร้อมจะเข้าใจ สำหรับนที ไม่มีเหตุผลกลใดในโลกที่การรัฐประหารจะถูกอ้างเป็นความดีงามไปได้” (หน้า 197)

ภายในงานเขาพบเจอกับคนที่เขาเคยโต้เถียงด้วยเมื่อครั้งที่เขาวิจารณ์ดอนกิโฆเต้ ชายคนนั้นอยู่ในงานเช่นกันและพยายามถามถึงบทกวีที่นทีกำลังจะขึ้นอ่าน นทีจึงอ่านให้เขาฟัง จากนั้นก็เป็นการอธิบายบทกวีดังกล่าว และคุยกันถึงปัญหาของงานวรรณกรรม โดยเฉพาะงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตหรืองานวรรณกรรมที่พยายามเห็นอกเห็นใจคนทุกข์ยากซึ่งต้องสร้างความแตกต่างให้ชัดเจนระหว่างขาวกับดำเพื่อให้คนอ่านเห็นใจ

ต่อประเด็นนี้ นทีอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าในแง่วรรณกรรมผมก็คิดว่านี่คือสูตรการเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ไม่สมจริงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาหรอกครับ แต่ก็อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้ มันน่าสะอิดสะเอียนที่เวลาทำงานเขียนพวกนักประพันธ์คิดว่าตัวเองเข้าอกเข้าใจคนยากไร้เสียเหลือเกิน ทุกคนต่างคิดว่าตัวเองก็เป็น ‘ปีศาจ’ ที่ต่อกรกับระบบอุปถัมภ์ อยู่เคียงข้างประชาชนผู้ถูกกดขี่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ครั้นพอลงจากเวทีวรรณกรรม พวกเขากลับโห่ร้องยินดีต้อนรับการรัฐประหาร มีเหตุผล มีข้อแม้มากมายเหลือเกินที่ไม่อาจไปยืนเคียงข้างประชาชนได้

“ประชาชนเลว โง่ ไร้การศึกษา คนชั้นไหนก็สีเทากันทั้งนั้น จึงไม่ควรมีข้อแม้ว่าเหยื่ออธรรมที่สมควรได้รับความเห็นใจจะต้องเป็นเหยื่ออธรรมที่เป็นคนดีที่ขาวสะอาด ความคิดรังเกียจและตั้งข้อแม้กับมนุษย์สีเทานี้กลับทำให้เขาคิดแต่เรื่องคนดีคนเลวเป็นที่ตั้ง แทนที่จะหาคำตอบเรื่องใครถูกกดขี่และใครได้ใช้อำนาจกดขี่ตามหลักฐานและเหตุผล กลายเป็นมานั่งตัดสินกันตามความรู้สึกว่าใครดี ใครเลว

“ผมรู้สึกว่านี่คือยุคสมัยที่ปุถุชนคนชั้นล่างถูกดูถูกเหยียดหยามมากเหลือเกิน และท้ายที่สุดเรื่องคนดีคนเลวก็เป็นเพียงข้ออ้างที่น่าขยะแขยง เรื่องทั้งหมดก็แค่ทุกคนยินยอมให้แก่ระบบอุปถัมภ์ บังเอิญว่าขณะนี้คือยุคสมัยที่ระบอบอุปถัมภ์แข็งแกร่งที่สุด และยังเป็นระบบอุปถัมภ์ที่รังเกียจระบอบประชาธิปไตยเป็นที่สุดอีกด้วย” (หน้า 203-204)

 

ส่งท้าย

ท้ายที่สุด ผมคิดว่า “ในฝันอันเหลือจะกล่าว” นั้น แม้จะไม่ได้นำเสนอกลวิธีที่ซับซ้อน แต่การนำเอาความจริงที่เกิดขึ้น เอาประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยในช่วงวิกฤตมาตัดต่อสลับสับเปลี่ยนให้เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งขึ้นมานั้น มันได้ทำหน้าที่ที่วรรณกรรมซีเรียสทั้งหลายพยายามจะสะท้อนปัญหาสังคมผ่านเทคนิคทางวรรณกรรมอันลึกลับซับซ้อน นั่นคือการบันทึกเหตุการณ์และภาพสังคมอย่างตรงไปตรงมา เรียบง่าย ตลอดจนบันทึกอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยให้เป็นหลักฐานทางสังคมอีกด้วย

ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนบทวิจารณ์ชิ้นนี้ มีคำถามทำนองที่ว่า “ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจในการตอบคำถามนี้มีสองข้อ

ข้อแรก ผมคิดว่านวนิยายเรื่องนี้น่าจะตอบได้ในระดับหนึ่ง ข้อสอง ต่อคำถามดังกล่าวนี้เองอาจต้องย้อนกลับไปถามคนที่ถามว่า “นั่นสิ คิดว่าทำไมกันหรือ?”

อาจไม่ใช่มารยาทที่ดีนักในการตอบคำถามด้วยคำถาม แต่ผมก็คิดว่า คำถามนั้นไม่ใช่คำถามซะทีเดียว หากเป็นการประณามฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save