fbpx
“การที่คุณไม่พูด เท่ากับคุณอนุญาต” ดวงฤทธิ์ บุนนาค

“การที่คุณไม่พูด เท่ากับคุณอนุญาต” ดวงฤทธิ์ บุนนาค

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ ภาพ

 

เมื่อเอ่ยชื่อ ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค บทบาทแรกที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก คือการเป็นสถาปนิกไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก บทบาทต่อมาคือการเป็นผู้ก่อตั้ง The Jam Factory พื้นที่สร้างสรรค์และแหล่งหย่อนใจแห่งใหม่ของคนเมือง รวมไปถึงธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาต่อยอดมาจากโครงการนี้ ตั้งแต่การทำแมกกาซีน แบรนด์เสื้อผ้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ

ล่าสุด เขากำลังปลุกปั้นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่ชื่อว่า ‘Warehouse 30’ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 30 นำโกดังเก่ามาปรับปรุงใหม่ในลักษณะเดียวกับโครงการ The Jam Factory

นอกจากบทบาทในเชิงธุรกิจที่ว่ามา ดวงฤทธิ์ยังให้ความสนใจกับประเด็นการพัฒนาเมือง ก่อตั้งมูลนิธิ Creative District Foundation ร่วมมือกับชุมชนต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนและเมืองกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็คอยสอดส่องวิพากษ์วิจารณ์โครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ล่าสุดคือเรื่องถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร ที่ดวงฤทธิ์บอกว่า ‘ไม่ชอบมาพากล’ ทั้งในแง่ของงบประมาณ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“ผมเชื่อว่ามีคนกรุงเทพฯ มากมายที่ไม่เห็นด้วย แต่คนเหล่านั้นกลับเงียบหมดเลย ซึ่งเมื่อคุณเงียบ สุดท้ายมันก็จะเกิดขึ้นไง”

ในวันที่ใครหลายคนพากันบ่นด่าประเทศไทย ดวงฤทธิ์คือหนึ่งในคนที่กล้าด่าออกมาดังๆ

เขาบอกว่าคนไทยถูกปลูกฝังมาให้เงียบ ซึ่งความเงียบนั้นเองที่ย้อนกลับมาทำลายชาติ

101 นัดหมายกับเขาเพื่อพูดคุยถึงบทบาทต่างๆ ที่เขาทำอยู่ ตั้งแต่โครงการใหม่อย่าง Warehouse 30 ไปจนถึงมุมมองต่อชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ และสังคมอันสงบเรียบร้อย

 

 

การทำโครงการ Warehouse 30 มีที่มาที่ไปอย่างไร

ถ้าผมบอกคุณว่าผมทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล คุณคงคิดในใจว่าพี่ด้วงแม่งเลวว่ะ พี่ด้วงบ้า.. คือเราอยู่ในสังคมที่ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นสังคมที่เวิร์กหรือเปล่า เพราะเวลาคุณทำโดยไม่มีเหตุผล คนจะมองว่าคุณบ้า สิ่งที่ผมทำก็เหมือนคนบ้า แต่บางครั้งเวลาเราทำอะไรโดยไม่มีเหตุผล มันเป็นเรื่องสนุกนะ และบางทีมันก็เวิร์ก

 

ถ้าไม่ทำจากเหตุผล แล้วคุณทำจากอะไร

ผมทำจาก possibility เริ่มต้นจากความเป็นไปได้ นั่นคือสิ่งที่ผมสนใจ

Warehouse 30 ไม่ได้ทำมาจากเหตุผล ไม่ได้ทำจาก passion ด้วย หลายคนคิดว่าผมทำด้วย passion แต่เปล่าเลย ผมทำมาจาก possibility ด้วยความที่เราถูกฝึกมาแบบสถาปนิก เราจะมองเห็นความเป็นไปได้ตลอดเวลา พอเราไปเจอโกดังเก่า เราก็จะมองว่าโกดังเก่าทำอะไรได้บ้าง มันเกิดแล้วที่นี่ (The Jam Factory) แล้วกำลังจะเกิดอีกครั้งที่โน่น (Warehouse 30)

 

แล้วโครงการอย่าง The Jam Factory หรืออย่าง Warehouse 30 ที่กำลังจะเปิด คุณมองเห็นความเป็นไปได้ในแง่ไหนบ้าง

หนึ่งคือเราเห็นว่า เฮ้ย โกดังเก่ามันเอามาทำแบบนี้ได้นี่หว่า สอง เราเห็นว่ามันน่าจะเป็นที่ที่คนมาเจอกัน เพราะมันสวย มันเท่ มีสถานที่ให้มานั่งกินกาแฟ เดินซื้อของ นั่งทำงาน ดูหนัง ทำอะไรได้หลายอย่างมาก คนยุคใหม่โดยเฉพาะพวกฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้มีออฟฟิศ คุณอยู่บ้านคุณก็เหงา ไม่มีคนคุย ไม่ได้แลกเปลี่ยน

อย่าง Warehouse 30 ผมเห็นว่ามันทำเป็น Working-space ได้ ให้คนมานั่งทำงาน พบปะกัน เกิดเป็นสังคมเล็กๆ มีร้านกาแฟ มีร้านอาหาร มีที่ให้เดินซื้อของ มันน่าจะเป็นสถานที่ที่ดีสำหรับคนยุคใหม่

 

โมเดลของ Warehouse 30 เหมือนหรือต่างจาก The Jam Factory ยังไง

ถ้าจากมุมมองของการปรับปรุง ก็ไม่ต่าง เป็นการเอาตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ให้มันใช้งานได้ โดยยังคงลักษณะเดิมของอาคารไว้ แต่ถ้าพูดในแง่การใช้งาน จะต่างกันโดยสิ้นเชิง The Jam Factory เป็นเหมือน commercial retail คือมีพื้นที่่ส่วนกลาง แล้วก็มีห้องต่างๆ แยกออกไป เป็นสำนักงาน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่ที่ Warehouse 30 จะเป็นเหมือน concept store ทุกอย่างอยู่ในโกดังเดียวกันหมดเลย เป็นโกดังใหญ่เชื่อมด้วยทางเดินในร่ม

 

คนที่มาร่วมเปิดร้านใน Warehouse 30 เป็นใคร มาจากไหนบ้าง

คนส่วนมากที่มาเปิดร้านใน Warehouse30 จะเป็นบริษัทย่อยของผมอยู่แล้ว เช่น ร้านกาแฟ แบรนด์แฟชั่น นอกนั้นก็เป็นเพื่อนฝูงที่รู้จักกัน แล้วก็มีคนอื่นที่มาขอเช่าบ้าง เช่น ร้านสปา ร้านอาหารฝรั่งเศส คนที่มาร่วมกับเราคือคนที่มี vision เดียวกับเรา รู้ว่าเรากำลังทำอะไร มองเห็นว่าสถานที่นี้จะเป็นอย่างไร เวลาคุณมีไอเดียที่ดีหรือมีโปรเจ็กต์ที่ดี ผู้คนจะถูกโน้มน้าวเข้ามาในพื้นที่เอง

 

 

การเกิดพื้นที่แบบนี้ในเมือง คุณมองว่ามีข้อดีอย่างไร

คุณว่ามันดีไหมล่ะ ถ้าคุณว่าดี อีกหลายคนว่าดี อีกแสนคนก็คงว่าดี อาจมีบางคนที่เฉยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่กลุ่มที่คิดว่ามันดี คือกลุ่มที่เราสนใจ ถามว่าเราต้องทำอีกหลายๆ ที่ไหม ก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอบไม่ได้ อย่าง Warehouse 30 พอเราเห็นความเป็นไปได้ เราก็ทำมัน และเราเชื่อว่ามันจะให้ผลลัพธ์เหมือนกับที่ The Jam Factory คือทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุข ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็อาจเพิ่มขึ้นจากเดิมนิดหน่อย จากหนึ่งแสนอาจกลายเป็นสองแสนคน นั่นก็คือกลุ่มที่เราอยากดีลด้วย เราไม่ได้อยากดีลกับคนทั้งประเทศ ตราบใดที่มันทำให้คนสองแสนคนมีความสุข เราก็ประสบความสำเร็จ

 

ผลลัพธ์จาก The Jam Factory เป็นอย่างที่คิดไว้ไหม

อันดับแรกเลย ผมไม่เคยมีภาพที่คิดไว้ ผมมีภาพ แต่ภาพก็เปลี่ยนทุกวัน วันหนึ่งผมอยากจะเพิ่มอะไรเข้าไปผมก็ทำ ฉะนั้นผมไม่มีภาพที่ตายตัว ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความผิดหวัง เหมือนเรา improvise ไปในแต่ละวัน คิดอะไรได้ก็ใส่เข้าไป เป็นพื้นที่ที่เราสนุกกับมันมากกว่า

Warehouse 30 ก็เหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่เราสนุกกับมัน เหมือนเป็นของเล่น คุณเคยเล่นเลโก้ไหม มันต่อเป็นอะไรก็ได้ เล่นไปเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่พอใจ คุณก็ต่อมันใหม่ ผมมองแบบนั้นมากกว่า

 

ถ้าให้มองกรุงเทพฯ ตอนนี้ มีความเป็นไปได้อื่นๆ ที่คุณมองเห็นอีกไหม

เยอะแยะ แต่ผมบอกคุณไม่ได้ ตอนนี้สมองผมมีแต่สองโปรเจ็กต์นี้ ผมยังมองไม่เห็นจุดอื่น แต่ผมบอกได้ว่าถ้าคุณเริ่มมองหามัน มันมีความเป็นไปได้ในทุกๆ ที่ของกรุงเทพฯ ทุกหัวเมือง ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เรามองไม่เห็นเพราะเราไม่มองหา

ส่วนใหญ่เราไม่ได้ถูกฝึกมาให้มองหาความเป็นไปได้ แต่เราจะมองหาปัญหาเก่งมาก ผมโชคดีที่เรียนสถาปัตย์ ซึ่งประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของศาสตร์นี้คือการมองหาความเป็นไปได้ แต่อาจารย์สถาปัตย์หลายคนก็ยังสอนว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหา คุณก็ต้องไปทะเลาะกับอาจารย์เอง

 

ทุกวันนี้หลายคนเลือกที่จะหนีกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัด คุณมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร

คุณคิดว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของคนเหล่านี้คืออะไร เมืองมันไม่น่าอยู่จริงๆ รึเปล่า มันไม่สงบจริงๆ รึเปล่า หรือเป็นมึงเองที่ไม่สงบ แล้วกูก็โทษเมืองแม่งเลย

ทุกวันนี้ผมนั่งทำงานตรงนี้ (The Jam Factory) แม่งโคตรสงบเลย ประเด็นคือในเมืองมันก็มีที่ที่สงบได้ เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับเมืองด้วยซ้ำ ผมเลยตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วคุณอยากละทิ้งเมืองไปเพราะอะไร

สมมติคุณเห็นว่าเมืองนี้มันเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ เฮ้ย อันนี้ก็ทำได้ ไอ้นั่นก็ทำได้ คุณจะทิ้งเมืองนี้ไปรึเปล่า ก็คงไม่ คุณอาจรู้สึกว่า โอเค กูจะหาซอกเล็กๆ ของกู ทำร้านกาแฟ หรือทำร้านเหล้าเล็กๆ เป็นสิ่งที่คุณจะมีความสุขกับมัน แล้วสุดท้ายคุณจะอยู่ในเมืองได้

 

หมายความว่าผิดที่คน ?

ผมคิดว่าเหตุผลจริงๆ คือเขายอมแพ้ เขา give up เขาอยากกลับไปอยู่ใน confort zone แล้วเขาคิดว่าต่างจังหวัดคือพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งทันทีที่เขาไปอยู่ต่างจังหวัด เขาก็จะรู้ทันทีว่าแม่งไม่ง่ายเหมือนกันเว้ย (หัวเราะ) สุดท้ายสถานการณ์มันก็บีบให้คุณต้องดิ้นรนอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะหนีไปอยู่ที่ไหน

คุณเคยพูดไว้ว่า “เราต้องมองเห็นความเป็นไปได้ในบริบทที่อาศัยอยู่” วิธีคิดแบบนี้มาจากไหน

มันคือแก่นของการสร้างสรรค์ หลังๆ ผมพยายามไม่ใช้คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” เพราะมันไม่เกี่ยวกับความคิด คำว่า Creativity คือการสร้างสรรค์ ผมถามว่าเวลาเราจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา มันต้องเริ่มจากอะไร มันก็เริ่มจากการมองเห็นความเป็นไปได้ในบริบทที่เราอาศัยอยู่ นี่คือหัวใจของการสร้างสรรค์

ที่ผ่านมาเรามักบอกว่าการสร้างสรรค์คือการแก้ปัญหา ต้องมีเหตุผล ที่มาที่ไป หรือเป็นการสร้างสรรค์เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง แต่ผมมองว่าการสร้างสรรค์ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสามเรื่องนี้เลย ที่ผ่านมาเราไม่มีคำตอบด้วยซ้ำว่าการสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เราก็สร้างนู่นสร้างนี่ตลอดเวลา ผมจึงนิยามว่าการสร้างสรรค์จริงๆ แล้วคือการมองเห็นความเป็นไปได้ในบริบทที่เราอาศัยอยู่

แต่ถ้าคุณอยู่กับการพร่ำบ่นไปวันๆ คุณจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้เลยนะ ชีวิตคุณจะอยู่กับการพร่ำบ่นตลอดเวลา แต่ถ้าคุณฝึกที่จะมองหาความเป็นไปได้ เช่น กูอยู่ในรัฐบาลทหาร กูว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น คุณก็จะเริ่มมองหาความเป็นไปได้ ซึ่งมันไม่ใช่ magic อะไรหรอก แค่คุณต้องฝึก เอ๊ะ โต๊ะนี้มีอะไรเป็นไปได้บ้างวะ โคมไฟอันนี้ล่ะ โกดังเก่าแบบนี้ล่ะ สังคมนี้ล่ะ มีอะไรเป็นไปได้บ้าง ประเทศนี้มีอะไรเป็นไปได้บ้าง

 

อีกบทบาทหนึ่งที่เห็นบ่อยในช่วงหลัง คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อยากรู้ว่าทำไมถึงต้องออกมาพูดเรื่องนี้

ผมก็ถามว่าทำไมคุณไม่พูดล่ะ อะไรอุดปากคุณเอาไว้ ถ้าเกิดคุณไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม ทำไมไม่พูดออกมา คุณกลัวใช่ไหม? แต่เราควรมีชีวิตอยู่ในความกลัวรึเปล่า แล้วคนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัว เขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้หรือเปล่า ผมคิดว่าคนที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ ต้องไม่มีความกลัว ต้อง fearless

ธรรมชาติของผมคือการสร้าง ผมสร้างสถาปัตยกรรมของผม สร้างโปรเจ็กต์ สร้างบริษัทต่างๆ ทั้งหมดคือการสร้าง ซึ่งมันต้องก้าวข้ามความกลัวหลายอย่าง

อย่างโครงการถนนเลียบแม่น้ำ 14 กิโลเมตร ผมไม่เห็นว่ามีประโยชน์กับใคร แล้วก็ไม่เห็นมีใครอยากได้สักคน แต่เขาก็ยืนยันว่าจะทำ แล้วทำไมคุณถึงไม่พูด ตอนนี้ผมเชื่อว่ามีคนกรุงเทพฯ มากมายที่ไม่เห็นด้วย แต่คนเหล่านั้นกลับเงียบหมดเลย ซึ่งเมื่อคุณเงียบ สุดท้ายมันก็จะเกิดขึ้นไง

มันไม่สำคัญว่าคุณพูดแล้วจะผิดหรือถูก ถ้าคุณรู้ภายหลังว่าพูดผิด คุณก็รับผิดชอบสิ่งที่พูดไป จบ แต่มันดีกว่าการที่คุณไม่พูด หรือไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลย คุณก็ทำตัวเป็นเด็กดี เงียบๆ ติ๋มๆ เพราะคุณกลัวว่าจะเดือดร้อน ประเทศไทยถึงเป็นแบบนี้มาตลอดชีวิตผมไง

เรานั่งบ่นกับเพื่อนว่าทำไมรถติดวะ ทำไมสังคมมันไม่ดีวะ ทำไมชีวิตไม่ดี ก็เพราะเราไม่พูดไง การที่ผมตัดสินใจพูดอะไรบางอย่างที่ผมไม่เห็นด้วย เป็นวิธีที่ผมอยากเห็นสังคมนี้ดีขึ้น ผมไม่ได้พูดมาจากส่วนได้ส่วนเสียของตัวเอง แต่พูดจากส่วนได้ส่วนเสียของสังคม ซึ่งสุดท้ายผมอาจจะผิดก็ได้ แต่อย่างน้อยเราต้องมีความคิดอื่นๆ ให้ผู้คนได้รับฟังบ้าง มีความคิดที่หนึ่ง มีความคิดที่สอง ซึ่งอาจจะมีความคิดสามและสี่ต่อไป ไม่จำเป็นต้องจบแค่นี้

 

สังคมไทยขาดความหลากหลายทางความคิด ?

สิ่งหนึ่งที่เราถูกกดไว้ตลอดมาก็คืออิสระในการแสดงความคิดเห็น แล้วคนส่วนมากก็ไม่รู้ตัวว่าถูกจำกัดความคิดด้วยชุดคำสั่งบางอย่างที่ถูกโปรแกรมไว้ในหัว สังคมไทยไม่อนุญาตให้เกิดทางเลือกของความคิด เวลาใครมีทางเลือกหรือความคิดที่ไม่เหมือนชาวบ้าน คุณก็จะถูกเอาค้อนตอกหัวตะปูให้จมมิดไม้กระดาน สังคมไทยเป็นแบบนั้น และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่

คุณเคยได้ยินผมเล่าเรื่อง ‘ความเกรงใจ’ ไหม คำๆ นี้มันเกิดขึ้นในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” เป็นคำที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อจำกัดความคิดของคุณ เพราะไม่อยากให้คุณพูด ไม่หืออือ ไม่โต้เถียง คุณต้องเคารพคนที่แก่กว่า ต้องมีสัมมาคารวะ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่รากวัฒนธรรมไทยด้วยซ้ำ คำถามคือแล้วรากเดิมของเราอะไร ก็คือคำว่า “ใคร ใคร่ ค้า ม้า ค้า…” มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แล้วคำว่า ‘ไทย’ แปลว่าอะไร แปลว่าอิสระ คือมึงอยากทำมึงทำ อยากพูดมึงพูด

เมื่อก่อนเราไม่เคยมีคำว่าเกรงใจ คำๆ นี้มันถูกเพิ่มมาทีหลัง เพราะเขาต้องการโปรแกรมให้คุณไม่เถียงเขา ซึ่งมันเป็นนัยยะของระบอบเผด็จการที่หยั่งรากอยู่ในสังคมไทยอย่างลึกมากๆ จนทำให้เราคิดว่า อ๋อ กูไม่ควรจะพูดถึงถนนเลียบแม่น้ำ เพราะกูต้องเกรงใจ กูจะเป็นคนดีถ้ากูเกรงใจ จริงๆ ผมก็มีความเกรงใจนะ แต่ผมเลือกกาลเทศะที่จะเกรงใจ

ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ของเมือง ผมคิดว่าเราไม่ควรเกรงใจ ควรเอาความเกรงใจเก็บไว้ที่บ้าน

พอไม่เกรงใจในสภาวะสังคมแบบนี้ มีผลกระทบอะไรกลับมาบ้างไหม

ผมอนุมานว่าคุณไม่ชอบรัฐบาลนี้นะ ผมเองก็ไม่ชอบ และผมก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากทหาร แต่ผมก็เห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอดห้าสิบปีของชีวิต มีเพียงช่วงเล็กๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาลทหาร

คุณรู้ไหมว่าสาเหตุคืออะไร เพราะคุณอนุญาตไง.. คุณโทษใครไม่ได้ ผมก็ไม่ชอบวิธีคิดแบบนี้หรอก แต่คุณอนุญาตเขาเพราะคุณกลัว คุณคิดว่าอยู่นิ่งๆ ดีกว่า ชีวิตกูมีความสุขดีแล้ว ทำมาหากินไปแล้วกัน อย่าไปยุ่งกับเขา เขาอยากทำอะไรก็ทำไป สังคมไทยเป็นอย่างทุกวันนี้เพราะเราอนุญาต การที่คุณไม่พูดเท่ากับคุณอนุญาต

ผมไม่เห็นด้วย ผมก็พูด ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีที่ได้มาซึ่งรัฐบาลนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าเกลียดเขา ผมพูดตามหลักการว่าอันนี้ไม่เวิร์ก อันนี้น่าจะคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นในฐานะที่คุณเป็นนายก คุณต้องดีลกับมัน ถ้าคุณบอกว่าคุณจะปราบคอร์รัปชัน คุณต้องดีลกับมัน

คุณรู้ไหมว่าตอนนี้คอร์รัปชันแม่งบานเลย นี่เป็นยุคที่คอร์รัปชันเบ่งบานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่ผมเกิดมา มันคอร์รัปชันทุกเม็ด ทุกหย่อมหญ้า เข้าไปถึงระบบราชการแบบละเอียดมาก ตั้งแต่เจ้าหน้าที่เขต ตำรวจ ทหาร ผู้นำ ทุกระดับ คอร์รัปชันกันแบบสนั่นหวั่นไหว อย่างถนนเลียบแม่น้ำ 14 กิโลเมตรนี่ก็คอร์รัปชัน คุณดูไม่ออกจริงๆ เหรอวะ ผมว่าทุกคนก็ดูออก แต่คุณอนุญาตให้มันเกิดขึ้น

สุดท้ายผมอาจจะผิด เขาอาจไม่โกงก็ได้ แต่ผมก็ตั้งคำถามว่าอันนี้มันเหมือนจะโกงนะ มึงโกงหรือเปล่า? สิ่งที่ผมต้องการคือการตรวจสอบ อย่างน้อยมันต้องมีบางคนที่ทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าคอร์รัปชันจะไม่อยู่ในระบบจริงๆ ถ้าคุณบอกว่านักการเมืองก็โกง ครั้งหน้าคุณก็แค่ไม่เลือกมันเข้ามา แต่ถ้าทหารโกงล่ะ คุณจะทำไงวะ นี่คือปัญหา

 

การทำโครงการอย่าง The Jam Factory หรือ Warehouse 30 แง่หนึ่งถือเป็นวิธีการสู้ในแบบของคุณไหม

ไม่เกี่ยวเลย การทำสิ่งนี้ผมไม่ได้สนใจรัฐบาลเลย ผมสนใจคน สนใจท้องถิ่น สนใจคนอย่างพวกคุณมากกว่า ผมตั้งคำถามว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร อยู่แบบไหน คุณอยากมีชีวิตในเมืองแบบไหน ถ้าผมไม่ทำ The Jam Factory ชีวิตเราก็จะไปจบที่ช้อปปิงมอลล์ โอกาสที่คุณจะได้มาเห็นว่าแม่น้ำมันสวยขนาดไหนมันก็น้อยลง หรือโอกาสที่จะได้เห็นว่าตึกเก่าๆ มันเอามาทำอะไรได้ก็น้อยลง

ผมไม่ได้ทำ The Jam Factory หรือ Warehouse 30 โดยมีนัยยะทางการเมือง งานของผมไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้น มันมีชีวิตของมันเอง เป็นอิสระของมันเอง แน่นอนว่าผมมีจุดยืนของผม ในนามของดวงฤทธิ์ แต่โปรเจ็กต์ของผมไม่เคยเกี่ยวกับตัวผมหรือจุดยืนของผมเลย มันเกี่ยวกับพวกคุณ เกี่ยวกับคนอื่น ผมคิดแค่ว่าจะทำ The Jam Factory เพื่อเติมเต็มคนที่มาใช้พื้นที่นี้ได้อย่างไร ผมจะทำ Warehouse 30 ยังไงให้มันเวิร์ก นี่คือสิ่งที่ผมกังวล

ผมไม่ได้กังวลว่ามันจะต้องส่ง message หรือแสดงจุดยืนของผม ผมไม่ได้ทำ The Jam Factory เพื่อบอกว่าดวงฤทธิ์เป็นคนอย่างไร แต่มันถูกสร้างขึ้นเพราะผมคิดว่าเมืองควรเป็นอย่างไร นี่คือวิธีที่ผมทำ

แต่สมมติว่าผมทำเพื่อตอบสนองตัวผม ผมว่ามันคงดูน่าหมั่นไส้มาก คงมีอนุสาวรีย์ของผมอยู่ทุกซอกมุม คนที่เข้ามาจะมองไม่เห็นสิ่งที่ผมทำ แต่จะเห็นดวงฤทธิ์อยู่ทุกซอกมุม ซึ่งคนแม่งคงอ้วก ผมก็อ้วก (หัวเราะ)

 

แล้วถ้าถามในแง่ของตัวคุณเอง ‘ดวงฤทธิ์’ เป็นคนแบบไหน

เวลาคุณเริ่มถามตัวเองว่าคุณเป็นใคร มันน่าสนใจนะ ถ้าคุณเริ่มถามและคุณตอบได้ ชีวิตคุณจะรุ่งมาก ผมใช้เวลาเกือบสี่สิบปีของชีวิตในการถามว่าผมเป็นใคร ซึ่งผมได้คำตอบแล้ว และเป็นคำตอบที่ผมชอบด้วย

 

คำตอบที่ได้คือ ?

ผมเปรียบเทียบตัวเองกับกระดาษขาว เป็นกระดาษว่างๆ ที่พร้อมจะมีอะไรก็ได้เขียนอยู่บนนี้ เป็นพื้นที่ว่างให้บางอย่างถูกสร้างขึ้น

คุณลองดูสิ (ชี้ให้ดูกระดาษ A4 ตรงหน้า) กระดาษขาวๆ นี่มันโคตรไม่น่าสนใจเลย ไม่มีอะไรอยู่บนนี้เลย แต่มันเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถสร้างได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เขียนอะไรก็ได้ลงไปบนพื้นที่ว่างๆ ถ้าถามว่าผมเป็นอะไร ผมอาจเป็นแค่ที่ว่าง ไม่ใช่กระดาษด้วยซ้ำ ผมเป็นแค่ที่ว่างที่อนุญาตให้ทุกอย่างเกิดขึ้น เป็นพื้นที่ที่ทำให้ The Jam Factory เกิดขึ้น ทำให้ Warehouse 30 เกิดขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าคุณเป็นแค่ที่ว่าง อะไรในชีวิตคุณมันก็เกิดขึ้นได้ ผมว่าผมเป็นแบบนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save