fbpx

‘Decriminalization on Drug’ สู่ฉันทมติโลกใหม่ ปฏิรูปนโยบายยาเสพติดให้ตรงจุด

เมื่อโลกไม่อาจชนะ ‘สงครามยาเสพติด’ ได้

หากย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 กระทั่งในหลายประเทศยุโรปที่ได้ชื่อว่ามีระดับการพัฒนาที่สูง ภาพผู้คนเสพยาตามท้องถนน จัตุรัสกลางเมือง หรือสวนสาธารณะพร้อมเข็มฉีดยาถูกทิ้งกลาดเกลื่อน และภาพการก่ออาชญากรรมลักเล็กขโมยน้อยรายวัน คือภาพที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นไม่ต่างจากส่วนอื่นในโลก

ภัยยาเสพติดคือความท้าทายที่โลกเผชิญร่วมกันตั้งแต่ยุโรป สหรัฐฯ ละตินอเมริกา แอฟริกา ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของยาเสพติดยังตามมาด้วยวิกฤตสุขภาพจากโรคระบาดอย่าง HIV และไวรัสตับอักเสบซี การเสียชีวิตจากใช้สารเสพติดเกินขนาด (overdose) หรือความเสี่ยงอันตรายทางสุขภาพอื่นๆ ในระยะยาว รวมทั้งอัตราการก่ออาชญากรรมที่พุ่งขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ

ณ ช่วงเวลาดังกล่าว หนทางจัดการปัญหายาเสพติดที่ทั่วโลกเชื่อว่าจะขจัดยาเสพติดและสารพัดปัญหาที่ตามมาจากยาเสพติดให้หมดสิ้นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการทำ ‘สงครามยาเสพติด’ (war on drug) การเสพ ครอบครอง และขายยาเสพติดทุกชนิดคือ ‘อาชญากรรมร้ายแรง’ ต้องปราบปรามและคาดโทษให้หนัก เพื่อสร้างความหวั่นเกรงต่อโทษจากการละเมิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เวลาล่วงผ่านมากว่า 50 ปี กาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า การดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดโดยรัฐบาลทั่วโลกไม่ได้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้แต่อย่างใด ในทางกลับกัน ทั้งๆ ที่ทั่วโลกลงงบประมาณขจัดปัญหายาเสพติดรวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่ปัญหายาเสพติดกลับไม่หมดสิ้น ในปี พ.ศ. 2564 ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดราว 275 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดในปี พ.ศ. 2552 ปริมาณยาเสพติดที่ยึดได้จากการจับกุมไม่มีทีท่าลดลง โรคติดต่อจากการใช้อุปกรณ์เสพยายังคงระบาด อัตราการเสียชีวิตจากการใช้สารเสพติดเกินขนาดยังเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ การใช้มาตรการลงโทษทางอาญาได้นำไปสู่สภาวะ ‘คนล้นคุก’ เพราะกว่า 83% ของผู้ต้องขังคดียาเสพติด คือผู้เสพที่ครอบครองยาเสพติดเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว มิได้กระทำผิดในคดีอุกฉกรรจ์ หาใช่ผู้ค้าหรือเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด ซ้ำอดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดยังต้องเผชิญต่อการตีตราจากสังคมคราวพ้นโทษ

นี่คือสัญญาณว่า แนวทางการใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ฉันทมติระดับโลกในการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดเริ่มผุกร่อนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และค่อยๆ แทนที่ด้วยเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนในประชาคมโลกให้มีการปรับเปลี่ยนปฏิรูปนโยบายยาเสพติดที่ได้ผลอย่างแท้จริง

ข้อถกเถียงและโจทย์ท้าทายที่รัฐต้องคิดมีอยู่ว่า ควรเปลี่ยนวิธีคิดต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างไร และแนวทางการปฏิรูปนโยบายยาเสพติดแบบไหนที่ส่งผลดีต่อทั้งผู้ใช้ยาเสพติด ชุมชนและสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

แน่นอนว่าในการออกแบบนโยบายย่อมไม่มียาวิเศษขนานเดียวที่แก้ไขปัญหายาเสพติดอันซับซ้อนและละเอียดอ่อนได้ทั้งหมดในคราวเดียว แต่ท่ามกลางความพยายามในการหาทางเลือกนโยบายใหม่ๆ ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หนึ่งในตัวแบบนโยบายและกรอบกฎหมายที่ได้รับความสนใจจากหลากหลายประเทศ มีการนำลงไปปรับใช้จริงแล้วในกว่า 30 กว่าประเทศทั่วโลก และประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการลดจำนวนผู้ใช้ยา ลดการพึ่งพาการใช้สารเสพติด ลดอัตราการเสียชีวิตและอันตรายจากการใช้ยา ลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งลดการตีตราผู้ต้องขังหลังพ้นโทษอาญาเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง จนกลายเป็นเทรนด์นโยบายและกฎหมายที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปตาม นั่นคือ ‘นโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด’ (decriminalization)

จาก ‘ปราบปราม’ สู่ ‘บำบัด’ และ ‘ปรับเปลี่ยน’: สูตรสำเร็จใหม่ นโยบายยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และให้คุณค่าความเป็นมนุษย์

เมื่อตัวแบบนโยบายปราบปรามยาเสพติดมุ่งเน้นการแก้ปัญหาไปที่การลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรง แล้วตัวแบบนโยบายลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดมีมุมมองและแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดไม่ใช่การปลดล็อกให้ยาเสพติดทุกชนิด ทุกประเภท ไม่ว่าจะให้โทษต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงหรือกระทบต่อสุขภาพไม่ร้ายแรงมากในระดับที่ยอมรับได้ กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด แต่ในการออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ตรงจุด ต้องมีการจำแนกว่า การเสพและครอบครองแบบไหนคือ ‘อาชญากรรม’ แบบไหนคือ ‘อาการป่วยที่ต้องได้รับการรักษา’ และมาตรการแบบไหนที่สมเหตุสมผลต่อฐานความผิด

แน่นอนว่าแต่ละประเทศต่างออกแบบรายละเอียดกลไกนโยบายแตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายเฉพาะบริบทที่กำลังเผชิญ แต่หัวใจของตัวแบบนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดที่หลายประเทศมีร่วมกันและขาดไม่ได้คือ การปรับเปลี่ยนมาตรการทางกฎหมายต่อผู้เสพรายย่อย เปลี่ยนจากการลงโทษทางอาญาที่เน้นการคุมขังไปใช้มาตรการทางแพ่ง มาตรการทางการปกครอง หรือมาตรการสังคมสงเคราะห์ เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ขณะที่ยังเน้นมุ่งกำหนดโทษอาญาต่อผู้ค้ารายใหญ่และขบวนการค้ายา เพื่อทลายต้นน้ำยาเสพติดที่แท้จริง

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้ปัญหายาเสพติดได้รับการแก้ไขอย่างรอบด้าน ตัวแบบนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดยังเปลี่ยนไปเน้นที่มาตรการทางสาธารณสุขอีกด้วย โดยให้ความสำคัญต่อกระบวนการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพจากพิษสารเสพติด (treatment) ลดอันตรายจากยาเสพติด (harm reduction) และลดการพึ่งพาสารเสพติดของผู้ใช้ยา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สารเสพติดมีทางเลือก

ภายใต้ตัวแบบนโยบายเช่นนี้ รัฐจะโยกความรับผิดชอบและงบประมาณจากกระทรวงยุติธรรมไปอยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานทางด้านสังคมมากขึ้น เพื่อให้นโยบายดำเนินไปได้

กล่าวโดยสรุป นโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดเปลี่ยนมุมมองปัญหายาเสพติดจาก ‘ปัญหาอาชญากรรม’ ไปสู่ ‘ปัญหาสุขภาพ’ เพื่อลดผู้ใช้สารเสพติดและเปิดโอกาสให้ผู้พึ่งพาสารเสพติดสามารถอยู่ร่วมหรือกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวแบบนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการออกแบบกลไกที่ตายตัว และไม่ได้ประกันเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในทุกประเทศ ดังที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักในเม็กซิโกหรือโคลอมเบีย เพราะยังขึ้นอยู่กับว่าออกแบบกลไกนโยบายได้ตรงจุดแค่ไหน แบ่งแยกผู้เสพและผู้ค้ารายใหญ่ได้จริงหรือไม่ มาตรการลงโทษที่มิใช่อาญาเป็นอย่างไร อาศัยการบังคับใช้ตามกรอบกฎหมายหรืออาศัยดุลพินิจของตำรวจ อัยการ ศาลมากกว่ากัน ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร หรือมีบริการทางสาธารณสุขที่ดีพร้อมพอหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพความสำเร็จที่ปรากฏขึ้นในโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก หรือประเทศยุโรปอื่นๆ ก็พอจะช่วยพิสูจน์ได้ว่า การปฏิรูปนโยบายยาเสพติดด้วยการลดทอนความเป็นอาชญากรรม คือหนทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นไปได้

ทั้งโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็กต่างเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องเผชิญต่อวิกฤตยาเสพติดและวิกฤตโรคติดต่อมาแล้วในอดีต อะไรคือบทเรียนจากความสำเร็จของโปรตุเกสโมเดล ดัตช์โมเดล และเช็กโมเดลบ้าง?

ปฏิรูปกลไก ลดทอนความเป็น ‘อาชญากรรม’ ของยาเสพติด

ทั้งโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็กต่างเลือกใช้กลไกการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดที่มีความเฉพาะและแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏ ณ ปลายทางนั้น กลับบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จไม่ต่างกันมากนัก

โปรตุเกสไม่ใช่ประเทศแรกในโลกที่หันหลังให้กับแนวทางปราบปรามยาเสพติด แต่การตัดสินใจตรากฎหมาย 30/2000 ของรัฐบาลโปรตุเกสเมื่อปี พ.ศ. 2544 ได้เปลี่ยนให้โปรตุเกสกลายเป็นประเทศที่มีนโยบายยาเสพติดก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และทำให้ ‘โปรตุเกสโมเดล’ กลายเป็น ‘ต้นแบบ’ และ ‘แรงบันดาลใจ’ ในการปฏิรูปนโยบายยาเสพติดในหลายประเทศทั่วโลก

เมื่อรัฐบาลโปรตุเกสตระหนักได้ว่า มาตรการปราบปรามไม่มีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอีกต่อไป และสังคมปลอดยา 100% (drug-free society) คือสังคมอุดมคติที่ไม่อาจบรรลุได้ในความเป็นจริง เพราะยังมีทั้งผู้ใช้ยาเป็นครั้งคราวหรือผู้ที่จำต้องพึ่งพิงยาเสพติดด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวม ดังนั้น การใช้สารเสพติดจึงไม่จำเป็นต้องเป็นโทษฐานทางอาชญากรรมที่ร้ายแรงเสมอไป

หลังปฏิรูปนโยบาย กลไกสำคัญที่ช่วยลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดในโปรตุเกสโมเดลคือ ‘คณะกรรมการยับยั้งการใช้ยาเสพติดโดยมิชอบ’ (Commission for the Dissuasion of Drug Abuse: CDT) ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อพิจารณามาตรการที่เหมาะสมต่อผู้ใช้สารเสพติดเป็นรายกรณี ในกรณีที่ตำรวจตรวจพบผู้ที่มียาในครอบครองในปริมาณไม่เกิน 10 วัน สำหรับการเสพส่วนตัว – ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดร้ายแรงอย่างเฮโรอีน โคเคน ยาอี หรือประเภทที่ไม่ร้ายแรงอย่างกัญชาก็ตาม – จะมีการส่งต่อไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

หากพบว่าผู้ใช้ยาไม่ได้ใช้สารเสพติดอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการระงับกระบวนการพิจารณาชั่วคราวโดยไม่บังคับใช้มาตรการใดๆ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น คณะกรรมการอาจพิจารณาใช้มาตรการทางปกครอง อย่างการเตือน ห้ามเข้าออกบางสถานที่ ห้ามพบบุคคล หรือแนะนำให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูโดยสมัครใจ ซึ่งเมื่อดำเนินการใช้กลไกดังกล่าวจริง พบว่ามีการสั่งระงับกระบวนการพิจารณาชั่วคราวกว่า 83% ส่วนในกรณีที่พบผู้ที่ครอบครองยาเสพติดปริมาณเกินกว่า 10 วันสำหรับการเสพส่วนบุคคล ก็จะยังคงต้องได้รับการพิจารณาโทษทางอาญาโดยศาล – ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้ผู้เสพรายย่อยปรับพฤติกรรมการใช้ยาหรือเข้ารับการบำบัดอย่างปลอดภัย ปราศจากความหวั่นกลัวต่อโทษอาญา

ขณะที่ความสำเร็จของโปรตุเกสโมเดลอาศัยกลไกพิเศษที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อให้กระบวนการลดทอนความเป็นอาชญากรรมดำเนินไปได้ โมเดลที่เนเธอร์แลนด์เลือกใช้คือ ‘ร้านกาแฟ’ (coffee shop) หรือการผ่อนปรนให้การขาย-เสพกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสถานที่ที่รัฐอนุญาต และในปริมาณตามที่รัฐกำหนด

เนเธอร์แลนด์ถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่เริ่มบุกเบิกนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด ในปี พ.ศ. 2519 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ตรา ‘กฎหมายฝิ่น’ (Dutch Opium Act) เพื่อจำแนกยาเสพติดออกเป็นยาเสพติดชนิดร้ายแรงและยาเสพติดชนิดไม่ร้ายแรง โดยจะไม่มีการลงโทษทางอาญาในกรณีที่ใช้เสพ ครอบครอง และขายยาเสพติดชนิดไม่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้อย่างกัญชา รัฐบาลดัตช์จึงยอมเปิดให้มีการซื้อ-ขาย-เสพกัญชาภายใต้การควบคุมผ่านร้านกาแฟ เพื่อแยกตลาดกัญชาออกจากตลาดยาเสพติดชนิดร้ายแรง และลดความเสี่ยงที่ผู้ใช้กัญชาจะเริ่มใช้ยาเสพติดชนิดร้ายแรงอื่นๆ ที่เคยอยู่ในตลาดสารเสพติดเดียวกันก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ส่วนการเสพและครอบครองยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่นๆ เนเธอร์แลนด์ยังถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายและต้องได้รับการพิจารณาโทษทางอาญาหากละเมิด ทว่าก็ยังคงมีการนำกระบวนการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดมาใช้ โดยให้ตำรวจและอัยการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลในการพิจารณาจับกุม ยึดของกลางและพิจารณาโทษได้ในทางปฏิบัติ ตามปกติ อัยการจะยกฟ้องและพิจารณามาตรการทางแพ่งอย่างการจ่ายค่าปรับ หรือมาตรการทางการปกครองอย่างการบริการชุมชนแทนโทษจำคุกในกรณีที่พบผู้ครอบครองยาในปริมาณที่ต่ำกว่า 0.5 กรัม และในกรณีพิเศษ อัยการและศาลสามารถพิจารณาให้ผู้ใช้ยาที่มีประวัติการก่ออาชญากรรมหลายครั้งเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ส่วนสาธารณรัฐเช็กหลังเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย ก็อยู่ในกระแสการปฏิรูปนโยบายยาเสพติดเพื่อมุ่งลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดเช่นกัน ความพยายามของเช็กเริ่มตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 2530 โดยมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2536 และปี พ.ศ. 2541 ปัญหาที่ตามมาจากความไม่ลงตัวของนโยบายและความต่างของผลลัพธ์ทางนโยบายจากการแก้ไขกฎหมายทั้งสองครั้งนั้นเอื้อให้รัฐบาลเช็กใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวิจัยวิเคราะห์และประเมินหาทางเลือกการออกนโยบายอีกครั้งให้ตรงจุดที่สุด จนกระทั่งสามารถปฏิรูปนโยบายยาเสพติดที่กำหนดเส้นแบ่งระหว่างผู้ใช้ยาและผู้ขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำแนกประเภทยาเสพติดตามความร้ายแรงได้อย่างชัดเจน และเน้นให้น้ำหนักความสำคัญในมิติสาธารณสุขได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2552

เช่นเดียวกันกับดัชต์โมเดล กระบวนการลดทอนความเป็นอาชญากรรมตามแบบเช็กโมเดลแยกผู้เสพและผู้ค้าโดยอาศัยดุลยพินิจส่วนบุคคลของตำรวจ อัยการ และศาลในการพิจารณามาตรการว่าจะใช้มาตรการแพ่ง ปกครอง สาธารณสุข หรืออาญาต่อผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการพิจารณาใช้โทษอาญาต่อเมื่อการลงโทษจะส่งผลให้ปริมาณยาเสพติดในตลาดลดลง หรือเพื่อกำจัดขบวนการเครือข่ายยาเสพติดเท่านั้น ดังนั้น จึงแทบไม่พบว่ามีผู้เสพรายย่อยถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สารเสพติดเป็นการส่วนตัว

หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าแนวนโยบายที่หละหลวมอาจทำให้ยาเสพติดระบาดหนักกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว นับตั้งแต่มีการใช้นโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด โดยพยายามให้โทษอาญาเป็น ‘ทางออกสุดท้าย’ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด กลับพบว่าทั้งในโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็กมีอัตราการใช้สารเสพติดลงลดในภาพรวม ทั้งอัตราการเริ่มใช้สารเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น อัตราการใช้สารเสพติดในช่วงระยะเวลา 30 วันที่ผ่านมา และอัตราการใช้สารเสพติดตลอดช่วงชีวิต และยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อีกทั้งในกรณีเนเธอร์แลนด์ การเปิดให้มี ‘ร้านกาแฟ’ ยังช่วยลดการเข้าถึงยาเสพติดชนิดร้ายแรงอย่างมีนัยสำคัญตามความตั้งใจในการออกนโยบาย

ยิ่งไปกว่านั้น การลงโทษจำคุกโทษฐานเสพยาเสพติดก็ลดลงเช่นกัน โดยในโปรตุเกสพบว่าลดลงกว่า 40% ส่วนเนเธอร์แลนด์และเช็ก สัดส่วนนักโทษคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอยู่ที่ราว 18.9% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งโดยส่วนมากต้องโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขาย

บำบัด-ฟื้นฟู-ลดความเสี่ยง หาทางออกให้ผู้ใช้สารเสพติดอย่างยั่งยืน

ตัวแบบนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดของโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็กจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดการบูรณาการอีกหนึ่งกลไกสำคัญอย่างมาตรการลดความเสี่ยงอันตรายจากการใช้สารเสพติด (harm reduction) และมาตรการบำบัดฟื้นฟู (treatment) ร่วมด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดมุ่งสู่แนวทางสาธารณสุขที่คำนึงถึงสุขภาวะ สิทธิมนุษยชน และตรงความต้องการของผู้ใช้สารเสพติดแต่ละคนอย่างแท้จริง

เมื่อการเลิกพึ่งพาสารเสพติดเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ผู้เสพยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการใช้สารเสพติดอยู่ตลอด ฉะนั้น ความปลอดภัยในการใช้สารเสพติดจึงเป็นเรื่องสำคัญ โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็กต่างเปิดให้มีโปรแกรมแจกหรือแลกเข็มฉีดยาที่ถูกสุขอนามัย และโปรแกรมการเสพสารทดแทนที่มีอันตรายต่ำกว่าภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการแพร่โรคติดต่อและลดความเสี่ยงจากการใช้ยาเกินขนาด พร้อมกับส่งเสริมให้มีบริการเข้ารับคำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยเหลือจัดการภาวะวิกฤต บริการทางสุขภาพอื่นๆ ช่วยเหลือให้ผู้ใช้สารเสพติดสามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดหรือความช่วยเหลือทางสาธารณสุขและสังคมในขั้นต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดไม่ใช่เรื่องง่ายดายเท่าไหร่นัก ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้มาตรการและบริการต่างๆ จากรัฐกระจายและเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพคือองค์กรภาคประชาสังคม ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในกรณีเช็ก ส่วนดัชต์โมเดลอาศัยการให้อำนาจแก่หน่วยงานปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นตัดสินใจและบริหารการให้บริการ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลดัตช์ยังลงงบประมาณเพื่อสร้าง ‘ห้องสำหรับใช้ยา’ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยจัดให้เป็นพื้นที่ให้สำหรับใช้สารเสพติดหรือสารทดแทนอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแล รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนช่วงกลางวันสำหรับผู้ใช้สารเสพติดที่ไร้บ้าน

นอกจากนี้ กระบวนการบำบัดฟื้นฟูยังเป็นอีกกุญแจสำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้เสพที่ต้องพึ่งพาการใช้สารเสพติดมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น ทั้งสามโมเดลต่างออกแบบกระบวนการบำบัดฟื้นฟูแตกต่างกันออกไป ขณะที่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูตามแบบเช็กโมเดลมุ่งเน้นการขับล้างสารพิษจากสารเสพติด การใช้สารทดแทนบำบัด หรือกระบวนการบำบัดให้เลิกใช้สารเสพติด โดยให้บริการผ่านศูนย์บำบัดเฉพาะทางด้านยาเสพติด แผนกจิตเวชตามโรงพยาบาลทั่วไป หรือการอาศัยร่วมในชุมชนบำบัดสำหรับผู้ที่อยู่ในกระบวนการเลิกยา กระบวนการบำบัดฟื้นฟูตามโปรตุเกสโมเดลพยายามบูรณาการการบำบัดดูแลในหลากหลายมิติเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษา การขับล้างสารพิษจากสารเสพติด การใช้สารทดแทนบำบัด และการเข้าสู่กระบวนการจิตบำบัด แต่ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลโปรตุเกสยังบูรณาการกระบวนการฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดให้กลับคืนสู่สังคมร่วมเข้ามาด้วย เพื่อสนับสนุนผู้พึ่งพายาเสพติดให้สามารถกลับไปใช้ชีวิต ทำงาน หรือกลับไปเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้การตีตราค่อยๆ หมดลง – การเข้าสู่กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นไปตามความสมัครใจ ยกเว้นในกรณีที่ได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการยับยั้งการใช้ยาเสพติดโดยมิชอบ

ส่วนดัตช์โมเดล แม้จะมีทั้งการใช้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูผ่านแนวทางบำบัดให้เลิก และแนวทางที่เน้นการปรับพฤติกรรมให้เสถียร แต่รัฐบาลดัตช์ตัดสินใจเน้นความสำคัญไปที่แนวทางการปรับพฤติกรรมให้เสถียร เพราะตระหนักว่าการบำบัดให้เลิกใช้สารเสพติดโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่นโยบายที่ปฏิบัติให้บรรลุผลได้จริง ดังนั้น แนวทางในการบำบัดฟื้นฟูจึงมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารทดแทนหลากหลายประเภทในการบำบัด หรือการเข้าสู่กระบวนการจิตบำบัด ทั้งการสัมภาษณ์เชิงสร้างแรงบันดาลใจ การทำจิตบำบัดเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม หรือแนะนำเทคนิคไม่ให้ผู้ที่พึ่งพิงสารเสพติดกลับไปใช้สารเสพติดอีกครั้งหลังเลิกพฤติกรรมติดสารเสพติดได้สำเร็จ

เมื่อปรับเลี่ยงการมาตรการลงโทษอย่างรุนแรงและเปิดประตูสู่โอกาสในการบำบัด ปรับเปลี่ยน และฟื้นฟูแทนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ชัดเจนที่สุดคือ ในทั้งสามประเทศสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากการใช้สารเสพติดเกินขนาด และอัตราผู้ติดเชื้อ HIV จากการเสพยาได้อย่างมาก ขณะที่มีผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับบริการในโปรแกรมลดความอันตรายจากการเสพยาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนผู้เข้ารับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นในระยะแรกหลังจากรัฐบาลออกนโยบายลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด และค่อยๆ ลดจำนวนลงตามแนวโน้มการใช้ยาเสพติดที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อนโยบายปราบปรามแบบถอนรากถอนโคนไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น และแม้ว่านโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมจะไม่ใช่ตัวแบบนโยบายที่ประกันความสำเร็จได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยทางสายกลางเช่นนี้อาจทำให้ผู้เสพยาดำรงอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น และเมื่อนำนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมลงไปปฏิบัติใช้ในสังคมควบคู่กับนโยบายการป้องกัน (prevention) ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ต้นทาง สังคมที่ยาเสพติดไม่ใช่ ‘พิษร้าย’ อีกต่อไปก็อาจเป็นไปได้ในอนาคต


อ้างอิง

The War on Drugs: Options and Alternatives

A QUIET REVOLUTION: DRUG DECRIMINALISATION ACROSS THE GLOBE

ASSESSING THE APPLICABILITY OF DECRIMINALIZATION IN THAILAND

Drug Policy in Portugal: The Benefits of Decriminalizing Drug Use

Portugal Country Drug Report 2019

Coffee Shops and Compromise: Separated Illicit Drug Markets in the Netherlands

Netherlands Country Drug Report 2019

A Balancing Act: Policymaking on Illicit Drugs in the Czech Republic

Czechia Country Drug Report 2019


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

แกะห่อ 'ยาเสพติด' พิษร้าย(?)ของสังคมไทย

18 Mar 2022

พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย

101 ชวนพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไล่เรียงประเด็นสำคัญ พร้อมวิเคราะห์ประโยชน์ มองความท้าทายข้างหน้าในการนำกฎหมายใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในมิติใหม่

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

18 Mar 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save