fbpx
หลากความฝันของประชาชนปลดแอก

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

แม้ว่าการชุมนุมของประชาชนปลดแอกจะมีข้อเรียกร้องหลัก คือ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน แต่การชุมนุมทางการเมืองคือการรวมตัวของคนจำนวนมาก เชื่อว่าเหตุผลที่แต่ละคนตัดสินใจออกจากบ้านมาลงถนนร่วมการชุมนุมย่อมแตกต่างหลากหลายกันไป

101 พูดคุยกับผู้ชุมนุมประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ถึงความหวัง ความฝัน และความรู้สึกที่แต่ละคนหอบหิ้วมาร่วมในการต่อสู้ภาคประชาชนครั้งนี้

บางคนหอบหิ้วความฝันนั้นมาหลายสิบปี เคยสู้จนเจ็บตัว ลงถนนครั้งแล้วครั้งเล่า และพบว่าคนรุ่นใหม่ในวันนี้มีความฝันเดียวกัน

บางคนสู้จนท้อ หลงลืมความฝัน จนถูกจุดประกายอีกครั้งด้วยความฝันของคนรุ่นใหม่

บางคนอยากเห็นความเท่าเทียมทางเพศ อยากเห็นรถไม่ติด อยากเห็นการศึกษาที่ดีกว่านี้ อยากเห็นคนเป็นคน อยากเห็นคนเท่ากัน

และพวกเขามารวมตัวกันเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความฝันที่แต่ละคนวาดหวังถึงสังคมที่ดีกว่าเดิม

หมูฝอย-ดอย-มินท์ นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“หนูออกมาร่วมชุมนุมเพราะครอบครัวของหนูเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีรัฐบาลนี้ ที่บ้านทำการค้าขายแล้วเศรษฐกิจแย่มาก เลยอยากออกมามีส่วนร่วมโดยเราสนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน”

“ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญตอนนี้มาจากการเลือกตั้ง ช่วงเลือกตั้งหนูติดตามเทรนด์แฮชแท็กในทวิตเตอร์และเห็นเรื่องการโกงคะแนนเกิดขึ้นและมีความไม่โปร่งใสต่างๆ รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขาร่างขึ้นเอง มันไม่โปร่งใสเลย”

“นอกจากนี้เรายังเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องสิบข้อว่าพระมหากษัตริย์ควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้อเรียกร้องนี้ไม่ใช่การทำให้เกิดความแตกแยก เราแค่ต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สิบข้อนั้นไม่มีตรงไหนจาบจ้วงเลย เราอยากเห็นทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

“การออกมาร่วมชุมนุมที่บ้านก็เห็นด้วย พ่อสนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่โรงเรียนก็ไม่ปิดกั้น ครูอนุญาตให้นักเรียนจัดบอร์ดข่าวสาร นักเรียนก็เอาเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อและข่าวอื่นๆ ไปติดให้อ่านกัน”ประ

“ถ้าผู้ใหญ่มองว่าเด็กๆ ถูกชักจูงได้จริงแล้วทำไมฝ่าย คสช. ถึงชักจูงพวกเราไม่ได้เลย ทำไมลุงตู่ถึงบอกให้เรารักเขาไม่ได้เลย ถูกไหมคะ อันนี้เป็นปัญหาที่เราเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว”

“ส่วนคนที่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง หนูมองว่าเขาควรมีความเป็นมนุษย์ การใช้ความรุนแรงไม่ถูกต้อง เราออกมาเพราะต้องการสันติภาพ ต้องการประชาธิปไตย เรามีแต่กระดาษ ไม่มีอาวุธเลย ทหารเขามีพร้อมหมด”

“ประเทศไทยในฝันที่หนูอยากจะอาศัยอยู่ อย่างแรกคือหนูมีปัญหาด้านการขนส่งมากเลย เวลากลับจากโรงเรียน รถติดมาก รถเมล์ก็ขึ้นราคา เรื่องการศึกษาก็ไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่เลย แล้วก็เศรษฐกิจด้วย ทั้งหมดเลย อยากให้ทุกอย่างดีขึ้นมากๆ”

ป้านิ อายุ 65 ปี

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“ป้ามาจากเชียงใหม่เพื่อมาให้กำลังใจเด็กๆ เพราะเด็กๆ เขาเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง เราอายุหกสิบกว่าแล้วเห็นมาเยอะว่าประเทศเราไม่ไปไหนเลย วนอยู่อย่างนี้ เด็กๆ เขาทำเพื่ออนาคตของเขา เราเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการเลือกข้าง ควรยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะไม่มีอะไรดีสักอย่าง เอาแค่เรื่อง ส.ว. คุณแต่งตั้งมาได้ยังไง รวมถึงข้อเรียกร้องเรื่องให้ยุบสภาและให้หยุดคุกคามประชาชน ประชาชนมีสิทธิในการเรียกร้อง เมื่อคุณอาสามาเป็นคนสาธารณะแล้วคุณต้องยอมรับฟัง”

“ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบัน 10 ข้อนั้น เราไม่ได้ดึงท่านลงมา ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้สร้างความแตกแยก รัฐธรรมนูญสมัยก่อนมีระบุเลยว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองเป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตย แต่หลังๆ คำนี้หายไป เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โลกสมัยนี้เป็นยุคโบราณไม่ได้แล้ว เราอยากคุยกับสังคมเรื่องนี้ว่า “ถ้ารักต้องบอก” เราต้องบอกคนที่เรารักว่าอะไรดีหรือไม่ดี เพื่อให้เขาเป็นที่รักของคนทั้งหมด”

“เรื่องความรุนแรงที่คนกังวลกัน หากจะเกิดขึ้นเป็นเพราะจะมีคนสร้างสถานการณ์มากกว่า ประชาชนไม่เคยรุนแรง ไม่มีใครมีอาวุธสักคน ถามว่าใครจะทำให้เกิดความรุนแรง”

“เราทำงานค้าขายได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมาก วันหนึ่งขายไม่พอกิน บริษัทปิดตัวคนตกงานเท่าไหร่ มันดึงกันไปหมดเลย ประเทศเราเจอหนักแบบนี้ คุณต้องยอมรับว่าคุณไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนทั้งประเทศลำบาก อย่ามาโทษว่าค่าแรงสูง”

“ป้าผ่านมาหลายยุค ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจก็ดี เราเคยเห็นแบบนั้นมาแล้ว อะไรก็ขายเป็นเงินเป็นทองไปหมด สมัยนี้มีอะไรตั้งเยอะแต่ขายไม่ได้เลย จะสั่งของมาขายก็คิดแล้วคิดอีกว่าสั่งมาแล้วจะขายได้ไหม แต่เมื่อก่อนอะไรก็ขายได้หมด การเมืองแบบนี้กระทบชีวิตเรา คนไม่มีเงิน ชาวไร่ชาวนาจนหมดเลย”

“ป้าฝันอยากเห็นบ้านเมืองเราก้าวหน้าเหมือนประเทศอื่นที่เขารับฟังประชาชน ไม่ใช่มากดกันอย่างนี้ ระบบแบบนี้เป็นระบบโบราณ ใช้ในยุคนี้ไม่ได้แล้ว มันอยู่ไม่ได้”

“ป้าผ่านมาเยอะ เห็นเหตุการณ์มาเยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ข่าวไปไม่ถึงต่างจังหวัด เราเห็นข้อเปรียบเทียบ ได้ข้อสรุปว่าการเมืองแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว จึงต้องออกมาช่วยเด็กๆ ป้าจะอยู่อีกกี่ปีก็ไม่รู้ ต้องช่วยเขา นึกถึงคนรุ่นหลัง ป้าอ่านหนังสือว่าที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เขาประท้วงกันก่อนเป็นประชาธิปไตย แล้วประเทศเขาก็ดีขึ้น เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ต้องแก้ไขให้ได้อย่างเขา”

ณฐกฤต โตพิทักษ์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มสปริงมูฟเมนต์

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“ผมออกมาร่วมเคลื่อนไหวการเมืองเพราะเห็นว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่นปัญหาเศรษฐกิจก็เชื่อมโยงกับเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาที่จะต้องออกมาประท้วง ออกมาแสดงเจตจำนงของเราเสียที”

“ผมอยากเห็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การวิพากษ์วิจารณ์สมควรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อาจเป็นสถานะแบบอังกฤษก็ได้ ผมอยากได้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง เรื่องรัฐธรรมนูญผมคิดว่าควรแก้บางส่วนที่สำคัญ เช่นเรื่องระบบการเลือกตั้งและเรื่องส.ว.”

“ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องการสืบทอดอำนาจของ คสช. แม้รัฐบาลจะบอกว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องดูว่าการเลือกตั้งนั้นมีองค์ประกอบอย่างไร สะท้อนเจตจำนงของประชาชนจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าไม่ ถ้าเรามีการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้จริง มีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ อย่างน้อยที่สุดเขาจะฟังเสียงของเรา ไม่ใช่มาจากการปล้นสิทธิเสรีภาพของคนอื่น มาครองอำนาจแล้วทำตัวแบบนี้”

“สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ เพราะเราต้องการสังคมที่สามารถพูดคุยเรื่องทุกอย่างกันได้ด้วยเหตุผลบนสิทธิเสรีภาพของเรา เราต้องการเท่านั้นเอง อยากบอกคนที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาว่าให้ลองคิดดีๆ เราเป็นลูกหลานของคุณ ถ้าคุณจะทำอะไรคือคุณทำลูกหลานของคุณ การใช้ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ เราควรมาพูดคุยกันว่าควรเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรมากกว่า ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงปิดปากประชาชนหรือมองว่าความคิดแบบนี้ปล่อยเอาไว้ไม่ได้”

“เราคือประชาชนที่ต้องการสิทธิเสรีภาพของเรา และเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม”

ริตา นักศึกษา อายุ 21 ปี

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“เราเป็นเฟมินิสต์ที่เล่นทวิตเตอร์ แล้วโดนแคปไปลงเฟซบุ๊ก โดนคนอื่นเรียกว่า ‘เฟมทวิต’ ก็เลย เออ เป็นเฟมทวิตก็ได้ อยากเรียกก็เรียกไป เรามาร่วมชุมนุมเพราะสนับสนุนข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แล้วเห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิ LGBT สิทธิผู้หญิง เรื่องทำแท้ง เรื่องแรงงาน และหลายๆ เรื่องที่มานำเสนอกันในม็อบ”

“การเคลื่อนไหวเรื่องเพศสภาพไม่สามารถแยกขาดจากการเรียกร้องประชาธิปไตยได้ ประชาธิปไตยคือการมองว่าคนเท่ากัน และถ้าคนเท่ากันแล้วก็ไม่สามารถจะมีเรื่องของกลุ่มไหนที่เอาไว้ทีหลังได้ ถ้ามีประชาธิปไตย เรื่องอื่นก็จะตามมาง่ายขึ้น”

“คุณจะเรียกร้องประชาธิปไตยโดยอ้างว่าเป็นแค่นักศึกษากลุ่มเดียวไม่ได้ ก่อนหน้านี้มีคนที่กรุยทางมาให้เราก่อน จะมาบอกว่าเราเป็นปัญญาชน เราไม่รับฟังเสียงคนที่อยู่ต่ำกว่าเราเพราะหยาบคาย มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว การเป็นประชาธิปไตยคือการไม่คิดว่าตัวเองสูงส่ง มีอภิสิทธิ์มาจากไหน ทุกคนมีเป้าหมาย มีอุดมการณ์ของเขา ไม่มีของใครที่สูงกว่า ต่ำกว่า หรือสำคัญกว่าใคร”

“การพูดเรื่องสถาบันเป็นแค่การเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ จึงอยากให้สังคมลองเปิดใจฟังดูก่อน ผู้ใหญ่ต้องลองวางทิฐิลง ต้องยอมรับให้ได้ว่าสิ่งที่เขาคิดมาตลอดมันไม่ถูกต้อง และต้องลองมองว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ถ้าอีกฝั่งยอมรับฟังจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น”

“ประเทศไทยที่เราอยากเห็นคือทุกอย่างต้องตรวจสอบได้ ทุกคนต้องมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ไม่มีใครมีสิทธิมากกว่าคนอื่นหรือมีอำนาจมีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ความเห็นของผู้หญิงต้องไม่ถูกตีตกว่าด้อยกว่าผู้ชาย การเป็นผู้หญิงทำให้ถูกตั้งแง่ว่าเรื่องมากหรือ emotional ซึ่งผู้หญิงไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ผู้หญิงมีสมอง มีความคิดของตัวเอง”

“บางคนมองว่าคนที่มาเรียกร้องเรื่องเฟมินิสต์นั้นเรื่องมาก ทำให้เสียขบวน จริงๆ มันไม่ใช่เลย การเป็นเฟมินิสต์หรือการเรียกร้องความหลากหลายทางเพศก็คือหนึ่งในขบวนการที่นำไปสู่ความเท่าเทียม นำไปสู่ประชาธิปไตย เป็นหนึ่งเป้าหมายในเป้าหมายใหญ่เดียวกัน”

นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

“เรามาร่วมชุมนุมเพราะรู้ว่าระบอบที่มีอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนถูกกดขี่มานานมากแล้ว รัฐประหารซ้ำๆ ประเทศไทยก็ไม่ไปไหนสักที การออกมาเหมือนเป็นการแสดงจุดยืนของเราด้วย ว่าเราจะไม่เอาระบอบแบบเดิม เราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง”

“ถ้าพูดเรื่องชังชาติ ก็ต้องถามว่าความหมายของ ‘ชาติ’ ของแต่ละคนหมายถึงยังไง ถ้าเขาตีความว่าชังชาติคือเด็กอย่างพวกเรา เราก็คงเป็นเด็กชังชาติมั้งคะ เรายอมเป็นเด็กชังชาติที่ออกมาสู้ ออกมาทำอะไรเพื่อให้ชาติก้าวหน้า ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วบ่นว่าคนพวกนี้ชังชาติ”

“ชาติคือประชาชนเป็นหลัก ควรจะเห็นประชาชนบ้าง การที่ทำร้ายประชาชนหรืออุ้มฆ่า นี่แหละคุณกำลังทำสิ่งที่คุณบอกเองว่าเป็นการชังชาติ”

แองเจเล่ อานัง ผู้ชนะ Drag Race Thailand ซีซั่น 2

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“เรามาร่วมด้วยใจล้วนๆ เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรที่จะออกมาพูดในสิ่งที่เราต้องการจะพูด ออกมาเป็นในสิ่งที่เราต้องการจะเป็น แล้วเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกคนในสังคม ไม่ใช่แค่คนที่มีเงิน ไม่ใช่แค่คนที่มีการศึกษา แต่คนที่ทำงานกลางคืนก็ควรจะได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน ได้รับสิทธิการช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนกัน”

“เป้าหมายหลักที่เราออกมาคือเรื่องสมรสเท่าเทียม และเรื่องกฎหมายใช้คำนำหน้า รวมถึงเรื่องอื่นที่คนไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น คนยากจนที่ไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท คนที่ล้มละลาย คนที่โดนอุ้มฆ่า เขาก็มารวมตัวกันเพราะทุกคนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีหลายเหตุผลหลายปัจจัยมาก ซึ่งเป็นปัญหามาจากรัฐบาลชุดนี้ ผ่านมาหลายปีแล้ว เขาไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สักที เรารู้สึกหมดหวัง ไม่รู้จะทำยังไง เรารู้สึกว่าเป็นทางตัน ต้องดันกลับไปบ้างแล้ว”

วงสามัญชน

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา วงดนตรี

“วันนี้มาเล่นดนตรี ให้กำลังใจน้องๆ เพื่อนๆ ที่มาร่วมม็อบวันนี้”

“พวกเรานิยามตัวเองเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21 มีเนื้อหาเพื่อการเมืองเศรษฐกิจ เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น ดนตรีเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่สามารถเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองสังคม เหมือนที่เราเชื่อในรัฐสวัสดิการ เชื่อในความเท่าเทียม เราแต่งเพลงพวกนี้ในยุคสมัยของพวกเรา หวังว่าเสียงเล็กๆ ผ่านเครื่องดนตรีจะแพร่กระจายไปได้เยอะขึ้น ส่วนจะเปลี่ยนแปลงสังคมแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือไหมก็อยู่ที่นโยบายจากภาครัฐ เราทำได้แค่สื่อสารออกไป”

“ปัญหาสำคัญจริงๆ คือกติกาที่เราจะต้องอยู่ร่วมกันไม่ได้ยึดโยงมาจากเรา ไม่มีฉันทามติ เมื่อมีคนที่มีอำนาจเหนือกว่าในการเขียนกฎหมาย เขาก็มีสิทธิที่จะครองอำนาจ ครองทรัพยากรบางอย่าง เพราะฉะนั้นทรัพยากรที่ควรจะเป็นของสาธารณะที่คนใช้ประโยชน์ให้เกิดกับชีวิตก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ การต่อรองให้เกิดรัฐสวัสดิการก็เกิดขึ้นไม่ได้ สาธารณูปโภคก็จะไม่ถูกพัฒนา เพราะมีชนชั้นนำกุมอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรอยู่ ผ่านการกำหนดกติกาของเขาเอง”

กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากร

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา ธรรมศาสตร์ ศิลปากร

“ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปูพื้นฐานความคิดชุดใหม่ ต้องยอมรับแล้วว่าในอดีตเราถูกปลูกฝังความคิดบางอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามยุคสมัย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ใช่ตอนนี้หรอก อาจจะอีก 20-30 ปี แต่ก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการปลูกฝัง ไม่ใช่ว่าถูกสอนสั่งมายังไงก็ต้องทำตามอย่างนั้น เวลาเปลี่ยน ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยน”

“ถ้าจะบอกว่านักศึกษาไม่รู้จักประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่ พอเราโตขึ้น เราพบฐานข้อมูลมากขึ้น แล้วเราจะเรียนไปทำไม ถ้าไม่หาข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ที่บอกว่าเด็กไม่รู้ประวัติศาสตร์ คุณต้องการให้เด็กรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมไหนล่ะ คุณต้องการให้เด็กรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่คุณเขียนมา ในแง่มุมของผู้ชนะ แต่สิ่งที่เด็กเข้าไปค้นหาคือประวัติศาสตร์ในทุกแง่มุม การศึกษาประวัติศาสตร์ที่แท้จริงคือการศึกษาประวัติศาสตร์ของทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ”

“ที่บอกว่าเด็กโดนล้างสมอง เด็กเชื่อคนง่าย จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้เชื่อคนง่าย เด็กเชื่อคนยาก ไม่ใช่ว่าแค่เพื่อนเราโพสต์ทวิตเตอร์ เราก็เชื่อตามเขา แต่บางคนถึงขั้นกลับไปดูว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ผิดกฎหมายข้อไหน ย้อนกลับไปดูว่ากฎหมายเริ่มใช้เมื่อไหร่ ถูกร่างมาเมื่อไหร่ ถูกแก้ไขเมื่อไหร่ แล้วก็ตั้งคำถามว่ากฎหมายเก่าแล้วนะ ทำไมบ้านเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางตัวให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน”

แพร – เชษฐ์

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา แพร-เชษฐ์

“การเมืองอยู่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องอะไรก็มีการเมืองอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ ถ้าการบริหารจัดการการเมืองไม่ดี ก็ไม่มีทางที่เราจะได้รับสิ่งที่ควรจะได้ เช่น เรื่องสื่อ การแสดงออก แค่เรื่องนี้ก็ถูกปิดกั้น มันควรจะเสรี เป็นเรื่องพื้นฐาน เหมือนประเทศโลกที่หนึ่งเขามีการบริหารจัดการที่ดี ก็เห็นๆ อยู่”

“เราอยากเห็นรัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อคนบางกลุ่ม คนอาจมีฐานะไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราทำให้มีสิทธิที่เท่ากัน เช่น มีสวัสดิการรัฐที่ดี มีการศึกษาที่ดี ก็น่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น”

เครือวัลย์ อายุ 64 ปี

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“ป้ามาช่วยเด็กๆ แต่ก่อนเราเรียกร้องให้เด็กมาช่วย ตอนนี้เด็กมาแล้ว เราก็ต้องมา ป้าเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2549 อยากได้ประชาธิปไตยเอาไว้ให้ลูกหลาน ไม่อยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้แล้ว”

“ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองคือเขาไม่เห็นอำนาจประชาชนเลย นักศึกษาเรียนจบมาแล้วจะมีงานทำหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวก็ยึดอำนาจๆ ตอนแรกป้าก็ไม่เข้าใจ มาถึงตอนนี้เข้าใจแล้ว ปัญหาคือเรื่องอำนาจนั่นแหละ”

“ถ้าคนออกมาเยอะๆ ออกมาทั้งประเทศก็น่าจะเปลี่ยนได้ เดี๋ยวนี้คนส่วนน้อยแล้วที่ไม่มา เพราะเศรษฐกิจกระทบหมดเลย ทั้งชาวนา ชาวสวน กรรมกร เศรษฐกิจประเทศไทยแย่เพราะมีแต่ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ที่นักศึกษาพูดน่ะถูกทุกอย่างเลย เอาตามนั้นเลย”

ฉ.ฉิ่ง

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“รากฐานของประเทศคือการศึกษา การที่จะทำให้มีการเจริญของคน มีสมรรถภาพในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้ผลิตแต่โซตัส อันดับแรกต้องมีการศึกษาที่ดี ระบบเราถูกกะลาครอบจริงๆ รุ่นผมอาจจะยังไม่ได้ตื่นมาก แต่รุ่นน้องๆ เขาตื่นรู้แล้ว”

“ผมคุยกับน้องๆ ในงานวิ่งแฮมทาโร่ว่า อยากเห็นการศึกษาแบบสิงคโปร์ไหม อยากจะเรียนโดยมีสวัสดิการแบบญี่ปุ่นไหม ซึ่งคนรุ่นผมไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผมตระหนักว่า ทำไมตอนเด็กๆ พ่อแม่เราลำบากจัง ผมต้องหาของมาขายที่โรงเรียนช่วยพ่อ ผมเลยบอกน้องๆ ว่าต้องสู้จนกว่าจะชนะ ถ้าน้องชนะ น้องจะได้สวัสดิการดีๆ แบบที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจะส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปให้รุ่นมัธยม รุ่นประถมได้ด้วย”

ตั้ม

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“เราออกมาเรียกร้องความยุติธรรมเพราะบ้านเมืองไม่มีความยุติธรรม”

“คำว่า ‘ชังชาติ’ เป็นการเอาชาติไปไว้กับตัวเองมากกว่า เขาไม่ได้ชังชาติ เขาชังพวกคุณนั่นแหละ หวงชาติเอาไว้กับตัวเอง แล้วก็โจมตีคนอื่นเขาว่าชังชาติ พวกเขานั่นแหละชังชาติ ผมเลยทำเสื้อมานี่ไง”

“เขาอาจจะไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง แต่เราก็ต้องสู้ เรียกร้องให้ประเทศปกติ อย่างที่ควรจะเป็น”

สมคิด อายุ 66 ปี

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“ผมต้องการแสดงพลังให้ผู้บริหารที่เป็นเผด็จการได้รับรู้ว่าประชาชนไม่ทนพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ที่บ้านเมืองทุกวันนี้มีปัญหาก็เพราะพวกทหารไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ไม่อยู่ในกรมกอง คุณเข้ามายุ่งการเมืองแล้วร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ไม่คำนึงถึงประชาชนว่าเขามีสิทธิมีเสียงเลือกคนที่เขาพอใจ ไม่ใช่มาบังคับแบบนี้ ตั้ง ส.ว. มาเพื่อเลือกนายประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งไม่ถูกต้อง ผิดหลักการประชาธิปไตย”

“วันนี้นักศึกษาตื่นตัว ตื่นรู้ขึ้นมา ผมดีใจว่าอนาคตเป็นของพวกเขา ถ้าเขาไม่รู้จักรักษาสิทธิของเขา เขาก็จะไม่มีอนาคต เพราะฉะนั้น ถ้าเขาออกมาต่อต้าน มาต่อสู้ ถือว่าเขาปกป้องตัวเอง และทำเพื่อสังคมโดยรวมด้วย เพื่อให้ตระหนักว่าเผด็จการอย่าเข้ามาวุ่นวาย เราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงที่จะเลือกผู้นำของตัวเอง”

ติ๋ม

หลากความฝันของประชาชนปลดแอก ชุมนุม ม็อบ นักเรียน นักศึกษา

“เราสู้มาสิบกว่าปีแล้ว รอว่าเมื่อไหร่เด็กจะออกมาสักที พอเห็นเด็กออกมาเราก็มาเป็นกำลังใจให้ลูกหลาน เห็นภาพแบบนี้ก็ดีใจ”

“เรามาเพื่อให้ลูกหลานข้างหน้ามีชีวิตดีกว่าที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ความเท่าเทียมควรจะมากกว่านี้ สวัสดิการ ปากท้องคนควรจะดีกว่านี้ ไม่ใช่ว่ารวยก็อย่างหนึ่ง จนก็อย่างหนึ่ง เราต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ มีความเท่าเทียมกันในทุกด้าน ไม่ใช่มาเหยียบย่ำซ้ำเติมกันอยู่อย่างนี้ รวยก็อยู่สบาย คนจนก็อดๆ อยากๆ มีกินบ้าง ไม่มีกินบ้าง เพราะอะไรล่ะ ทุกอย่างคือความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมไง”

“ถ้าจะใช้ไม้แข็งกับนักศึกษา ไม่ได้หรอก คนเราต้องใช้ความละมุนละม่อมและเหตุผลนะ นักศึกษาที่ออกมาพูด ก็ใช่ว่าเขาจะดื้อด้านนะ นี่เพราะเขาเห็นว่ามันไม่ใช่แล้ว ประเทศไปไม่ถูกทางแล้ว ต้องรับฟังกัน ทั้งความคิดเด็ก ทั้งความคิดผู้ใหญ่ ถ้าเขาใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา บ้านเมืองอยู่ไม่ได้หรอก เพราะตอนนี้โซเชียลฯ เจริญก้าวหน้ากว่าพวกรุ่นป้ามากมายนัก”

“ความฝันเราตรงกัน แค่คนละรุ่นเท่านั้นเอง”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save