วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ค่ำคืนหนึ่งระหว่างนั่งล้อมวงคุยกับเพื่อน บทสนทนาพาไปถึงเรื่องความตาย จากที่เห็นข่าวคนฆ่าตัวตายเกิดถี่ขึ้นและเริ่มมีรูปแบบการฆ่าตัวตายคล้ายคลึงกัน
ฉันไม่อาจตัดสินได้ว่าความตายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องถูกต้องสมควรหรือไม่ ไม่มีชีวิตใครควรถูกชี้ถูกผิดจากคนอื่น
เช่นเดียวกับเรื่องการุณยฆาต มนุษย์ควรมีสิทธิเลือกความตายของตัวเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับโรคภัยจนการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาอีกต่อไป ทุกวันนี้การตัดสินใจรับการุณยฆาตทำได้แต่ในต่างประเทศซึ่งใช้ทุนทรัพย์มาก หลายคนจึงเลือกจบชีวิตด้วยตนเอง
เราคุยกันถึงความตายแต่ละรูปแบบและการจัดการกับร่างกายที่เหลืออยู่
“ถ้าบังเอิญตายในห้องแล้วผ่านไปนานกว่าจะมีคนมาเจอจะรู้สึกยังไง?”
“ถ้าตอนนั้นตายแล้วก็คงไม่รู้สึกอะไร” ฉันหัวเราะขื่นๆ “กว่าจะเจออาจจะเป็นปีก็ได้ แต่คงเร็วกว่านั้น และคนที่รู้สึกคนแรกคงเป็นป้าแม่บ้านที่เจอกันทุกเช้า”
ฉันคิดขึ้นมาบ่อยครั้งว่าถ้าความตายมาถึงในวันหนึ่ง ใครจะเป็นคนแรกที่รู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่มีฉันอีกต่อไปแล้ว บางช่วงก็นึกชื่อคนคนนั้นออก แต่บางช่วงก็ไม่
บทสนทนาวันนั้นทำให้นึกถึงสารคดีเรื่องหนึ่งซึ่งเคยดูเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่เรื่องราวยังกลับมาวิ่งวนเวียนในหัวอยู่บ่อยครั้ง คือ Dreams of a Life สารคดีที่เผยแพร่ในปี 2011 เล่าเรื่องความตายอันโดดเดี่ยวของหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้เวลา 3 ปีกว่าจะมีคนพบว่าเธอจากไปแล้ว
ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นจากวันหนึ่งในปี 2006 ขณะนั่งรถไฟใต้ดินในลอนดอน แครอล มอร์ลีย์ หยิบหนังสือพิมพ์เดอะซันมาอ่านเจอข่าวที่รายงานว่าพบศพหญิงสาววัย 30 ปลายรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ เสียชีวิตมาแล้ว 3 ปีบนโซฟาในแฟลตบนศูนย์การค้าที่พลุกพล่าน ท่ามกลางกองของขวัญคริสต์มาสและโทรทัศน์ที่เปิดค้างมาแล้ว 3 ปี ช่วงแรกค่าห้องและค่าน้ำค่าไฟถูกหักผ่านระบบอัตโนมัติ แต่เมื่อขาดจ่ายและค้างค่าห้องหลายเดือน เจ้าหน้าที่จึงเข้ามาตรวจสอบเพื่อยึดทรัพย์ก่อนพบเธอในสภาพที่เหลือแต่กระดูก
ชื่อของเธอคือ จอยซ์ วินเซนต์ หญิงสาววัย 38 ผู้เสียชีวิตไป 3 ปีโดยที่คนรอบข้างไม่รู้ตัว
แครอลใช้เวลา 5 ปีในการตามหาคนที่รู้จักจอยซ์ เธอลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ติดโฆษณาข้างรถแท็กซี่ที่ขับไปทั่วลอนดอน จนเจอคนสนิทของจอยซ์และตามสัมภาษณ์คนที่อยู่รอบตัวจอยซ์ในแต่ละช่วงชีวิต
น่าประหลาดที่ทุกคนไม่รู้เลยว่าจอยซ์เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว จนกระทั่งแครอลติดต่อไป
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสารคดีที่บางช่วงใช้การแสดงเข้ามาช่วยเล่าเรื่อง โดยมีนักแสดงหญิงรับบทเป็นจอยซ์ ตัดสลับกับฉากการนั่งสัมภาษณ์เพื่อนร่วมงาน แฟนเก่า และคนรู้จักของเธอหน้ากล้อง พูดคุยกับผู้กำกับถึงเรื่องราวของจอยซ์ที่พวกเขาจดจำได้
สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้มีความโดดเด่นในการถ่ายทำ การตั้งกล้องสัมภาษณ์หน้าฉากสีทึมเทาออกจะดูโบราณ แต่สิ่งที่ตราตรึงคือเรื่องเล่าถึงคนคนหนึ่งในหลายมุมมอง
ชีวิตของ จอยซ์ วินเซนต์ เป็นเรื่องเล่าที่ขาดวิ่น อันมาจากการปะติดปะต่อความทรงจำจากคนรอบตัว แต่ละคนมีประสบการณ์ร่วมกับเธอในระยะสั้นๆ ก่อนเธอจะหายไปจากชีวิตพวกเขา
จอยซ์เป็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดี มีเสน่ห์ เสียงเพราะ บุคลิกดีชวนมองและเป็นที่สนใจจากคนรอบข้าง เพื่อนบางคนคิดว่าเธอเติบโตมาโดยการเลี้ยงดูที่ดี มีการศึกษาที่ดี และตกใจเมื่อรู้จากแครอลว่าจอยซ์ไม่ได้เรียนเก่ง โตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ และออกจากโรงเรียนช่วงมัธยม หลายคนพูดตรงกันว่าจอยซ์ร้องเพลงเพราะและเธออยากเป็นนักร้องตลอดมา ขณะที่แฟนเก่าบอกว่าเธอร้องเพลงไม่ได้ด้วยซ้ำ
ข้อมูลที่ไม่ตรงกันของจอยซ์จากคำบอกเล่าของเพื่อนแต่ละคน ทำให้คนดูเริ่มสับสนว่าที่สุดแล้วเธอเป็นคนอย่างไรแน่ เธอมีชีวิตอย่างไร และทำไมจึงลงเอยเช่นนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดตรงกันคือเธอมักมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแบบ ‘มาๆ หายๆ’ เธอย้ายที่อยู่บ่อยและจะปรากฏตัวต่อเมื่อต้องการคนอื่น เปิดเผยเรื่องส่วนตัวเฉพาะที่อยากให้คนอื่นรู้ เธอกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในแวดวงเพื่อนของแฟนเก่าแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ขณะที่แฟนเก่าแทบไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนของจอยซ์เลย
ความสัมพันธ์แบบ ‘มาๆ หายๆ’ ของจอยซ์ถูกพูดถึงว่าอาจเกิดจากประสบการณ์ที่แม่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก ถูกแยกจากพี่สาวอีกสี่คนและโตมากับพ่อที่ไม่เอาใจใส่เธอ จอยซ์เที่ยวบอกคนอื่นว่าพ่อเสียชีวิตไปนานแล้ว ก่อนที่คนรอบข้างจะพบว่าพ่อของเธอเพิ่งเสียชีวิตหนึ่งปีหลังจากที่จอยซ์จากไป และแน่นอนว่าพ่อของเธอไม่มีโอกาสรู้ว่าลูกสาวตายไปแล้ว
สาเหตุการเสียชีวิตของเธอไม่แน่ชัดว่ามาจากโรคหอบหืดหรือแผลในกระเพาะอาหาร แต่มีหลักฐานว่าช่วงก่อนเสียชีวิตเธอถูกทำร้ายร่างกายจากแฟนคนหนึ่งและอาจย้ายมาอยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก ตัดการติดต่อทุกอย่างเพื่อหนีจากสถานการณ์ช่วงนั้น

สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอในเชิงสืบสวนสอบสวนคดีผู้เสียชีวิต และสิ่งที่ทำให้พรั่นพรึงไม่ใช่เรื่องราวการตายของหญิงสาวที่เราไม่รู้จักคนหนึ่ง แต่เป็นความรู้สึกซ้อนทับของผู้คนที่อาศัยในโลกยุคใหม่ ชีวิตที่โดดเดี่ยว การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างผิวเผิน ความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออาศัยอยู่ในชุมชนในฐานะ ‘คนแปลกหน้า’ และเปิดเผยรายละเอียดชีวิตเฉพาะด้านที่อยากให้คนอื่นรู้
ความโดดเดี่ยวนั้นเจ็บปวด แต่หลายคนวิ่งเข้าหามันอย่างโหยหา เสพมันอย่างเป็นสุข คล้ายเป็นความโรแมนติกชนิดหนึ่งของชีวิต แต่สารคดีเรื่องนี้ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องความโดดเดี่ยวในชีวิตอยู่บ่อยครั้ง อาจเพราะการเห็นเงาที่ซ้อนทับกันจนทำให้เห็นความหวาดกลัวในเงานั้น
เรามักจะมีจินตนาการกันว่าคนที่จะตายไปโดยที่คนรอบข้างไม่สังเกตเห็น น่าจะเป็นคนประเภทเก็บตัวอยู่แต่ในห้องและตัดขาดปฏิสัมพันธ์รอบตัว แต่ในกรณีของจอยซ์นั้นไม่ใช่ อาจมีบางช่วงที่เธอหายไปจากวงโคจรของเพื่อนๆ แต่ภาพของเธอที่คนรอบข้างจดจำได้คือความสดใสโดดเด่น กระทั่งบางคนมองว่าเธอมีชีวิตที่น่าอิจฉา ชีวิตของเธอรายล้อมด้วยความรักของเพื่อนและคนรัก ยกเว้นบางช่วงเวลาที่เธอเลือกเดินออกจากอ้อมกอดอันอบอุ่นนั้นเอง
ฉันรู้สึกเข้าใจที่จอยซ์มีความสัมพันธ์แบบ ‘มาๆ หายๆ’ กับคนรอบตัว การอยู่ท่ามกลางเพื่อนที่สนิทใจช่วยกระตุ้นให้ชีวิตสดใสขึ้น แต่หากมากเกินไปก็จะเริ่มอยากถอยห่าง ทุกคนย่อมต้องการพื้นที่ส่วนตัวในชีวิต การรู้จังหวะชีวิตตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะประคองให้รักษาความมีชีวิตชีวาในตัวเองได้
ชีวิตแค่ดำเนินไปเรื่อยๆ ตามจังหวะที่เคยชิน แต่แล้ววันหนึ่งเราอาจพบว่าตัวเองถอยห่างจากคนรอบข้างโดยไม่ได้ตั้งใจ บางช่วงเวลาเราเพียงแค่อยากพักจากความสัมพันธ์ต่างๆ เพื่ออยู่กับตัวเอง หรืออาจเจอสถานการณ์ที่ไม่อยากให้คนอื่นร่วมรับรู้ และบางช่วงเวลาจังหวะชีวิตที่เรารู้สึกปลอดภัยอาจยืดยาวจนกลายเป็นว่าเราหายไปจากชีวิตใครสักคนโดยไม่รู้ตัว
แฟนเก่าของจอยซ์บอกว่าเธอต้องรับผิดชอบความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอเอง
ใช่ ไม่มีใครควรโดนกล่าวโทษว่ามีความผิด โดยเฉพาะเมื่อเราไม่รู้ความรู้สึกนึกคิดและความตั้งใจที่แท้จริงของคนที่เลือกใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากผู้คนในบางช่วงเวลา เธออาจไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเศร้าอะไร คล้ายเราอีกหลายคนที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ รู้สึกสงบกับการไม่ถูกจดจำ มีความสุขกับพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ถูกจับจ้องจากคนรู้จัก
แต่การตายอยู่ในห้อง 3 ปีโดยไม่มีคนรับรู้และไม่มีใครตามหาเป็นสิ่งที่ไปไกลเกินกว่าจินตนาการเรื่องความโดดเดี่ยวจะไปถึง
เราอาจเสพติดความโดดเดี่ยวเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิต แต่การถูกลืมโดยไม่มีใครคิดถึงตลอดเวลาหลายปีนั้นฟังดูน่าใจหาย
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือตลอดช่วงเวลาหลายปีหลังจากที่จอยซ์เสียชีวิต เพื่อนๆ ยังคิดว่าเธอยังมีชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ เพียงแค่ไม่อยากติดต่อคนอื่นเหมือนที่เคยเป็นมา การรับรู้ว่าจอยซ์ตายไปตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้วเป็นเรื่องเหนือจริงสำหรับเพื่อนๆ เพราะ ‘จอยซ์’ ยังคงมีตัวตนในความรับรู้ของเพื่อนแต่ละคน
พ่อของจอยซ์ก็รับรู้ว่าลูกสาวตัวเองมีชีวิตอยู่จนกระทั่งเขาตายโดยไม่รู้ความจริง ความตายของจอยซ์จึงไม่เคยมีอยู่ในความทรงจำของพ่อตลอดไป
การมีอยู่ของเราอาจไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ‘เรา’ ที่ดำรงอยู่ในความรับรู้ของคนอื่น
ที่สุดแล้วความตายที่แท้จริงของจอยซ์อาจเพิ่งเกิดขึ้น 3 ปีหลังจากร่างกายของเธอหยุดหายใจ เมื่อคนอื่นเพิ่งรับรู้ว่าเธอตายไปแล้ว
หรือความตายของจอยซ์อาจไม่เคยเกิดขึ้นเลยกับคนที่คิดว่าเธอยังคงมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง หากการ ‘มีชีวิต’ หรือ ‘ไม่มีชีวิต’ ของเธอ ไม่ได้สร้างความแตกต่างในความรับรู้ของผู้คนที่เธอถอยห่างออกมานานแล้ว