fbpx

‘ละครบำบัด’ เมื่อศาสตร์การละครมาอยู่ในพื้นที่ของกระบวนการจิตบำบัด

‘ทำผมเผ้าให้รุงรัง ป้ายสีเทาดำให้เปื้อนหน้า ใส่เสื้อผ้าที่หลุดลุ่ย เคลื่อนไหวด้วยความหิวกระหายที่สุดในชีวิต’

นี่คือคำอธิบายตัวละครขอทานคนหนึ่งในเมืองแห่งความขูดรีดสุดโต่ง เป็นบทที่ผู้เขียนเคยร่วมแสดงในละครเวทีมิวสิคัลของคณะ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย แม้ว่าบทบาทดังกล่าวจะเป็นทีมเต้นที่คล้ายเป็นบรรยากาศของแต่ละฉาก แต่การได้เข้าไป ‘เป็น’ ตัวละครอื่นๆ ที่มีชีวิตแตกต่างจากตนเอง กลับสร้างความรู้สึกพิเศษอยู่ในนั้น

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า การได้แสดงละครเป็นบทบาทต่างๆ ทำให้เกิดพื้นที่ของความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เพราะการแสดงไม่ใช่แค่การทำท่าทางให้เหมือนตัวละคร แต่คือการทำความเข้าใจเส้นทางชีวิตของตัวละคร สวมบทบาทเข้าไป ‘เป็น’ และแสดงออกมาด้วยท่าทางและความรู้สึกของตัวละครนั้นๆ ซึ่งผู้เขียนพบว่านอกจากการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นแล้ว ศาสตร์การละครยังทำให้ได้ทำงานกับสภาวะจิตใจภายในของตัวเองด้วย

เวลานึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่แสดงบทบาทนั้น ผู้เขียนมักรู้สึกสนุก มีพลัง เหมือนเป็นจังหวะที่ได้ค้นหา ได้ลองเล่นกับด้านที่รกรุงรังและท่าทางหิวกระหายสุดโต่ง ด้านที่ในชีวิตจริง เราและคนรอบข้างจะไม่มีทางอนุญาตให้ตัวเองเป็น ถือเป็นช่วงเวลาแห่ง ‘อิสระ’ ที่จะ ‘เป็น’ และ ‘แสดงออก’ ภายใต้บทบาทของตัวละครในเรื่องนั้น นอกจากความรู้สึกเป็นอิสระที่ช่วยเยียวยาจิตใจแล้ว สภาวะเช่นนี้ยังอาจนำไปสู่การค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ความเข้าใจใหม่ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากมีกระบวนการที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ศาสตร์การละครในการขับเคลื่อนสังคม ชุมชน และการศึกษา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ยังไม่ใช่ศาสตร์ที่เรียกว่าละครบำบัด เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพละครในมุมที่นอกเหนือไปจากการแสดง และพอให้จินตนาการได้ว่าศาสตร์ของละครจะเชื่อมโยงมาถึงเรื่องจิตบำบัดได้อย่างไร

ปัจจุบัน ผู้เขียนศึกษาปริญญาโทด้าน Drama and Movement Therapy หลักสูตรเต็มเวลา 2 ปี ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และมีเป้าหมายที่จะฝึกฝนและเดินทางสู่การเป็น ‘นักละครบำบัด’ (Dramatherapist) อาชีพด้านจิตบำบัดที่ใช้องค์ประกอบของศาสตร์การละครในการดูแลผู้รับการบำบัด หลักสูตรที่เรียนนั้นเป็นแขนงของละครบำบัดที่เรียกว่า Sesame Approach เป็นศาสตร์ที่ทำงานจิตบำบัดผ่านเครื่องมือการละคร การเคลื่อนไหว สัญลักษณ์ การเล่าเรื่อง และการเล่นบำบัด โดยอ้างอิงองค์ความรู้จากจิตวิเคราะห์ของ คาร์ล ยุง (Analytical Psychology) และจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology)

กระบวนการของละครบำบัดนี้ทำได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม แน่นอนว่าห้องบำบัดไม่ต้องมีเวที และผู้รับการบำบัดไม่ต้องมีพื้นฐานการแสดงใดๆ เพราะไม่ใช่การละครในรูปแบบการแสดงโดยสิ้นเชิง

ย้อนกลับไปก่อนผู้เขียนจะตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการกลุ่มละครบำบัดเป็นเวลา 4 วันเต็ม จากนักละครบำบัดชาวอเมริกัน Joel Gluck ผู้พัฒนาเครื่องมือแขนงหนึ่งของละครบำบัดที่เรียกว่า Insight Improvisation เป็นการผสานศาสตร์จิตบำบัด ศาสตร์การละคร และการภาวนาเข้าด้วยกัน เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้ทำงานกับตนเองผ่านกระบวนการที่ไม่ใช่เพียงการคิดวิเคราะห์ตนเองไปมา หรือจำกัดอยู่ที่การพูดคุยผ่านฐานของความคิด แต่ได้ใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย การรับรู้ฐานความรู้สึก และกระบวนการยังนำพาให้เปิดประตูสู่จิตไร้สำนึกเพื่อทำงานกับเรื่องราวชีวิตของตนเองที่ติดค้างหรือมีความขัดแย้งภายใน โดยมีนักละครบำบัดและกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ตกลงใจร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสนับสนุนกระบวนการของแต่ละคนโดยไม่ตัดสิน ผู้เขียนได้ทำงานกับเรื่องราวภายในที่ติดค้าง ได้มีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับตนเอง และนำมาสู่ความรู้สึกสมดุลและเป็นหนึ่งเดียวกับตนเองมากขึ้น

หลังจากค่อยๆ เรียนรู้ ฝึกฝน ใช้กระบวนการละครบำบัดกับตัวเองอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 ปี ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและความคลี่คลายของตนเองและเพื่อนๆ ในกลุ่มฝึกฝน จนรู้สึก ‘อิน’ อยากจะใช้ศาสตร์นี้ในเชิงวิชาชีพอย่างจริงจัง และเป็นที่มาของการมาเรียนต่อในครั้งนี้

ละครบำบัดนั้นอยู่ใต้ร่มใหญ่ของศาสตร์ศิลปะบำบัด (Creative Arts Therapy) ภายใต้ร่มใหญ่นี้ยังแตกแขนงแยกย่อยไปอีก คือ Expressive Arts Therapy, ละครบำบัด, ดนตรีบำบัด, การเต้นและการเคลื่อนไหวบำบัด อย่างไรก็ตาม การเป็นนักละครบำบัดนั้นไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องใช้เครื่องมือทางการละครอย่างเดียวเท่านั้น หลายๆ ครั้งจะนำเครื่องมือทางศิลปะอื่นๆ มาผสานเข้าไปในกระบวนการด้วย เช่น การวาด การเขียน การใช้ดนตรี

คำจำกัดความของละครบำบัด (Dramatherapy) โดยสมาคมตัวแทนวิชาชีพนักละครบำบัดที่ประเทศอังกฤษ (The British Association of Dramatherapists) ให้คำจำกัดความว่า

ละครบำบัดมีจุดโฟกัสหลักไปที่ความตั้งใจในการนำมิติด้านการเยียวยาของศาสตร์ละครมาใช้ในกระบวนการบำบัดรักษา มันคือวิธีการของการทำงานและการเล่นที่ใช้หลากหลายวิธีของการกระทำและการเคลื่อนไหว เพื่ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การเรียนรู้ ความเข้าใจใหม่ และการเติบโต

เพื่อเป็นการขยายความเพิ่มเติม ผู้เขียนขอยกคำจำกัดความจาก Emunah Renee นักละครบำบัดชาวอเมริกันอีกท่านหนึ่งมาเพื่อประกอบความเข้าใจด้วย

ละครบำบัด คือการตั้งใจใช้กระบวนการละครอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตทางจิตใจ เครื่องมือนำมาจากศาสตร์ของการละคร ในขณะที่เป้าหมายนั้นหยั่งรากในงานด้านจิตบำบัด แม้ว่าละครบำบัดสามารถถูกฝึกฝนได้ในกรอบของงานจิตบำบัดแทบจะทุกแขนง แต่มันมีองค์ความรู้เฉพาะที่ถูกถ่ายทอดมา, มีกรอบคิดของศาสตร์ละคร, psychodrama, การเล่น, พิธีกรรม หรือ การใช้บทบาทสมมติ (Emunah, 1994)

นักละครบำบัดชาวอังกฤษ Phil Jones พูดถึงการจำกัดความไว้ว่า แม้จะมีการจำกัดความหลักในเชิงวิชาชีพเพื่ออธิบายพื้นฐานของศาสตร์นี้ แต่การพูดถึงคำว่าละครบำบัดนั้นมักจะต่างกันไปตามความต้องการและเป้าหมายในการรักษาเยียวยาของผู้รับการบำบัดที่มีความแตกต่างกันไป ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างมากกับประเด็นนี้ การอธิบายคำว่าละครบำบัดสำหรับกลุ่มออทิสติกในเด็ก กลุ่มเด็กพิเศษที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูด กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการความจำเสื่อม ก็จะแตกต่างกันไปอย่างมาก

นอกเหนือไปกว่าการจำกัดความแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจกระบวนการของละครบำบัดในแบบที่ตรงกับบริบทของผู้รับการบำบัดมากที่สุด ไม่มีตัวอย่างของกระบวนการใดที่จะเรียกได้ว่าเป็นภาพแทนของละครบำบัดทั้งหมดได้ แต่สามารถยกตัวอย่างได้เพียงว่ามีเครื่องมือประมาณไหนบ้างที่ถูกนำมาใช้ เช่น การใช้บทบาทสมมติเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว, การใช้เรื่องเล่าและบทบาทของตัวละครมาสะท้อนความเข้าใจ-ความรู้สึกของตัวเองและเชื่อมโยงกับด้านที่แตกต่างไปของตัวเอง, การใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อให้ฐานกายและความรู้สึกสื่อสารออกมาโดยไม่ผ่านความคิด หรือแม้กระทั่งการนั่งพูดคุย ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของละครบำบัดได้เช่นกัน ด้วยความหลากหลายของเครื่องมือ ประสบการณ์ และการทำงานภายในที่ต่างกันไปของนักละครบำบัดแต่ละคน กระบวนการจากนักละครบำบัดที่เรียนมาจากคอร์สเดียวกันก็สามารถแตกต่างกันได้สุดขั้ว

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าละครบำบัดคือกระบวนการจิตบำบัดแบบองค์รวม นอกจากฐานของความคิดที่มักเป็นส่วนหลักในชีวิตประจำวันแล้ว พื้นที่การบำบัดนี้ยังมีกระบวนการให้ได้เชื่อมโยง รับรู้ ทำงานกับฐานร่างกายและฐานความรู้สึกด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่ใช่เพียงทำงานกับส่วนของจิตสำนึกเท่านั้น แต่ทำงานกับส่วนของจิตไร้สำนึกด้วย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมศาสตร์ละครบำบัด สามารถใช้รักษาเยียวยากลุ่มคนที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ นอกเหนือจากนี้ เพื่อให้เกิดการทำงานที่ลึกซึ้งและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ นักละครบำบัดต้องสร้างพื้นที่ที่ทำให้ผู้รับการบำบัดรู้สึกปลอดภัย เปิดกว้าง โอบรับทุกๆ ความเปราะบาง และรักษาความลับ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดไม่ต่างจากงานจิตบำบัดแขนงอื่นๆ

จากประสบการณ์ของผู้เขียน ละครบำบัดสามารถเป็นหนึ่งในหลายองค์ประกอบที่ร่วมกันสร้างกระบวนการการเยียวยาให้เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างศูนย์จิตเวชวัยรุ่นที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฝึกงาน ผู้รับการบำบัดทุกคนที่มาเข้ากระบวนการละครบำบัดเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ประจำที่ศูนย์ แต่ละคนจะได้รับการบำบัดหลายทาง เช่น นักจิตวิทยา นักบำบัดครอบครัว นักบำบัด CBT รวมทั้งได้รับยาจากจิตแพทย์ควบคู่ไปด้วย

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่า ‘ละครบำบัด’ เป็นวิธีการทางจิตบำบัดที่ดีที่สุดและเหมาะสมสำหรับทุกคน แต่สำหรับเมืองไทยที่บุคคลากรและงานด้านการดูแลด้านสุขภาพจิตยังจำกัดมาก ละครบำบัดสามารถเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลกในด้านการบำบัดรักษาสุขภาพจิต

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save