fbpx

ละครต้องรอด !

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

"ทำละครเพื่ออะไร?" - ภาสกร อินทุมาร
ความเปลี่ยนแปลงของการละครในโลก
ที่เต็มไปด้วยคำถาม

...แสงไฟค่อยๆ สว่างขึ้นกลางเวที ดนตรีเงียบเสียงลง นักแสดงปรากฏกายในฉาก กวาดสายตาไปทั่วโรงละครปะทะสายตาผู้ชมที่จ้องมองกลับมาในความมืด หลังจากนั้นเรื่องราวก็เริ่มต้นขึ้น…

นับแต่ยุคกรีกที่มนุษย์ทำการแสดงบวงสรวงเทพเจ้าและพัฒนามาเป็นละคร ศิลปะประเภทนี้ก็อยู่คู่อารยธรรมมนุษย์มายาวนานถึงปัจจุบัน

ในความเข้าใจของคนไทยทั่วไปมักจดจำภาพละครเวทีขนาดใหญ่พร้อมแสงสีเสียงเพื่อความบันเทิง แต่สำหรับนักละคร โลกของละครมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ประกอบด้วยศิลปะหลากรูปแบบ เพื่อนำมาสู่ ‘เรื่องเล่า’ ที่สร้างบทสนทนาระหว่างนักแสดงและผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลก ชีวิต ความรัก ความเชื่อ ความตาย ความขัดแย้ง ฯลฯ ทั้งด้านงดงามและเลวร้ายของมนุษย์ถูกทำให้ปรากฏในพื้นที่โรงละคร

แม้ว่าวัฒนธรรมการชมละครเวทีจะไม่ได้แนบชิดอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อมั่นในการทำละครเวทีและทำกันมาอย่างต่อเนื่องในสังคมที่ไม่เอื้อให้ศิลปะประเภทนี้เติบโตนัก ดังจะเห็นได้จากกลุ่มละครขนาดเล็กที่พยายามสร้างสรรค์งานละครโดยมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและค่าตอบแทน

ในมุมของการศึกษา ศาสตร์นี้มีการเรียนการสอนในหลายมหาวิทยาลัย แม้ว่าการเป็นนักละครอาชีพจะไม่ง่าย แต่การเรียนการสอนการละครก็ผลิตบุคลากรไปสู่หลายวิชาชีพที่นำความรู้ด้านการละครไปประยุกต์ใช้

วันที่ทั่วโลกพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในศาสตร์ต่างๆ คำถามนี้เกิดขึ้นกับการละครเช่นกันว่า การละครจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร ศิลปะชนิดนี้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่หรือไม่ และละครแบบไหนที่จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายในสังคม

101 ชวนสนทนากับ ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจในการมองละครด้วยแว่นสังคมศาสตร์ และความเป็นไปได้ในการพาละครไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของสังคม

นอกจากคำถามใหญ่ที่ต้องคิดถึงความเปลี่ยนแปลงในศาสตร์การละครแล้ว คำถามที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “เราจะทำละครไปเพื่ออะไร?”

ผมคิดว่าละครไม่ได้มีอำนาจจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรโดยตัวมันเองได้ แต่มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้

หากจะอธิบายให้คนที่ไม่รู้จักศาสตร์นี้มาก่อน การเรียนการละครเป็นอย่างไร ในแต่ละมหาวิทยาลัยแตกต่างกันไหม

ครูละครมักกล่าวว่าการเรียนละครคือการเรียนรู้มนุษย์ เพราะการศึกษาตัวบท การทำความเข้าใจตัวละครก็คือการทำความเข้าใจมนุษย์ และทำให้เกิดความเข้าใจตัวเราเองด้วย

ภาพรวมของการเรียนละครมี 3 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีมาก่อนคือกลุ่มมนุษยศาสตร์ เช่น ศิลปการละครที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือที่อักษรศาสตร์ ศิลปากร สำหรับการละคอน ธรรมศาสตร์ สมัยที่อยู่ในคณะศิลปศาสตร์ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นการละครในมิติมนุษยศาสตร์ซึ่งมีวรรณคดีเป็นฐาน แปลงตัวบทที่เป็นวรรณกรรมหรือบทละครมาสู่การแสดงบนเวที กลุ่มนี้เน้นการวิเคราะห์ตัวบท ให้น้ำหนักพอๆ กับด้านโปรดักชัน เน้นผลิตนักมนุษยศาสตร์ซึ่งไม่ได้มีอาชีพชัดเจน อาจเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ นักวิเคราะห์ตัวบท ครูหรืออาชีพอื่นๆ

กลุ่มที่ 2 กลุ่มศิลปกรรม เช่น การละคอน ธรรมศาสตร์ ในปัจจุบันที่ย้ายมาอยู่คณะศิลปกรรม ในภาพรวมเน้นผลิตศิลปิน ให้น้ำหนักที่งานปฏิบัติมากกว่ากลุ่มแรก สำหรับการละคอน ธรรมศาสตร์ ตอนอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ เราจะเรียนวิเคราะห์ตัวบทกันมาก โดยมีฐานวรรณคดี เช่น เรียนเชกสเปียร์หนึ่งวิชา ละครกรีกหนึ่งวิชา ละครตะวันตกสมัยใหม่หนึ่งวิชา น้ำหนักพอๆ กับการแสดง การกำกับ ส่วนการออกแบบจะมีน้อยเพราะไม่ค่อยมีผู้สอนที่จบ theatre design แต่พอย้ายมาศิลปกรรม วิชาสายวรรณกรรมจะรวมเหลือการละครตะวันตกหนึ่งวิชาและการวิเคราะห์บทละครหนึ่งวิชาที่เป็นตัวบังคับ และมีวิชาปฏิบัติเพิ่มขึ้นเยอะมาก

ที่ธรรมศาสตร์จะมีกลุ่มวิชาบังคับ แล้วนักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะเน้นการแสดง การกำกับการแสดง การเขียนบท การออกแบบเพื่อการแสดง เช่น ฉาก แสง เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า หรือเน้นละครประยุกต์ เช่น การเอาละครไปใช้ในการเรียนรู้และการศึกษา อีกสายหนึ่งคือการทำวิจัย ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของศิลปกรรมที่ต้องการผลิตคนสร้างงานศิลปะที่ต้องลดน้ำหนักทางวิชาการและการคิดวิเคราะห์มาเน้นการปฏิบัติ

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มนิเทศศาสตร์ เช่น สาขาศิลปะการแสดง นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ซึ่งได้ปริญญาศิลปบัณฑิต (bachelor of fine arts) เน้นทั้งฐานจากตัวบทและการปฏิบัติ เขามีบริษัทของตัวเองคือ BU Theatre Company นิเทศศาสตร์บางแห่งมีสาขาสื่อสารการแสดง ที่ให้น้ำหนักเรื่องสื่อสารมวลชน ผมไม่แน่ใจว่าสื่อสารการแสดงคืออะไรเพราะเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่คิดว่าเป็นการนำศิลปะการแสดงไปรับใช้งานสื่อสารมวลชน

ละครประยุกต์ที่มีสอนในการละคอนธรรมศาสตร์คืออะไร

applied drama หรือ applied theatre เป็นการสร้างคำใหม่ เริ่มมาจากละครในการศึกษา (drama in education) คือการใช้กระบวนการทางการละครสร้างการพัฒนาและการเรียนรู้ในเด็ก รวมถึงพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ เป็นกิจกรรมทางการละคร ไม่ใช่แบบละครเป็นเรื่อง ส่วน theatre in education คือการสร้างการเรียนรู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งผ่านละครแบบเป็นเรื่อง เช่น ต้องการให้เด็กรักษาความสะอาด

ในตะวันตกยังมีละครในสายฝ่ายซ้ายทางการเมือง คือใช้ละครในฐานะเครื่องมือของการต่อสู้ และมีละครของผู้ถูกกดขี่ (Theatre of the Oppressed) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of the Oppressed) ที่ เปาโล เฟรรี (Paulo Freire) เขียน แล้วออกุสโต โบอาล (Augusto Boal) นักละครบราซิลนำมาสร้างเป็นรูปแบบการละคร เป้าหมายคือใช้ละครในฐานะที่เป็นกระบวนการให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้กับสภาวะกดขี่ รวมทั้งปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดออกจากการถูกกดขี่ ในฟิลิปปินส์ยุคโค่นล้มประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส การเคยเป็นอาณานิคมตะวันตก ทำให้ละครตะวันตกเข้ามานานมากแล้วกระจายไปทั่วจนมีกลุ่มละครเยอะ แต่ละเกาะ แต่ละชุมชน ก็ทำละครกัน ช่วงนั้นมาร์กอสควบคุมสื่อทุกชนิด ยกเว้นละครที่กระจายตัวไปตามหมู่บ้าน แม้จะกำหนดให้ต้องส่งบทละครให้ดูก่อน แต่เวลาเล่นจริงก็เล่นอีกแบบหนึ่ง เขารวมตัวกันเป็นเครือข่ายละครประชาชนแห่งฟิลิปปินส์ มีละครนับร้อยกลุ่มไปเล่นละครให้คนตระหนักถึงสภาวะถูกกดขี่และลุกขึ้นมาร่วมขบวนการต่อสู้จนนักละครถูกตามฆ่า ในที่สุดก็ขับไล่มาร์กอสสำเร็จ โดยมีละครเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการของประชาชนทั้งประเทศ ต่อมา มีการเรียกกลุ่มละครที่ทำหน้าที่ทางการเรียนรู้ การศึกษา การพัฒนา การเมือง การต่อสู้ในสังคมการเมืองว่า ‘ละครประยุกต์’ แต่สิ่งที่การละคอนธรรมศาสตร์สอนตอนนี้ยังไม่ไปถึงเรื่องสังคมการเมือง เรามีละครเพื่อการศึกษา ละครสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกระบวนการทางการละครไม่ใช่ละครแบบเป็นเรื่อง แล้วนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น เคยมีคนทำธีสิสโดยใช้ creative drama มาออกแบบกระบวนการเพื่อสร้าง self esteem ให้กับนักศึกษาหญิงข้ามเพศที่ยังไม่มีความมั่นใจในเพศภาวะของตนเอง เป็นกระบวนการระหว่างนักละครกับผู้เข้าร่วมกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ในกลุ่ม นอกจากนี้ก็มีวิชาละครเพื่อการศึกษา ละครสำหรับเด็ก และมีอีกวิชาในหลักสูตรที่ยังไม่เปิด คือละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผมตั้งใจจะสอนเรื่องกระบวนการละครของผู้ถูกกดขี่และละครในโซเชียลมูฟเมนต์ต่างๆ การเคลื่อนไหวในไทยช่วงที่ผ่านมา มีศิลปินและนักละครใช้งานศิลปะไปอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว ทำให้บทบาทพวกนี้เริ่มกลับมา ผมคิดว่าละครไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงอะไรโดยตัวมันเองได้ แต่มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่เคยอยู่เดี่ยวๆ ในต่างประเทศมีกลุ่มย่อยๆ ที่ใช้ละครในการเคลื่อนไหว เช่น ขบวนการละครของผู้ใช้แรงงานอังกฤษ ขบวนการละครของคนผิวดำ ขบวนการละครของคนรักเพศเดียวกัน ขบวนการละครชายรักชายผิวดำ มีการใช้ละครในแง่มุมนี้มาเนิ่นนาน แต่ในบ้านเรายังไม่เห็น สถาบันการศึกษาเองก็สอนละครเพื่อเป็นคนทำละครเวทีหรือนักวิเคราะห์บทละครเสียมากกว่า ยังไม่ไปสู่การเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาเห็นว่าละครสามารถเป็นเครื่องมือทางสังคมการเมืองได้ ธรรมศาสตร์พยายามมุ่งเน้นสิ่งนี้และการละครจุฬาฯ ระดับปริญญาโทก็มีละครประยุกต์อยู่

แล้วละครของผู้ถูกกดขี่ของออกุสโต โบอาล (Augusto Boal) มีวิธีการหรือลักษณะเฉพาะยังไง

มีหลายรูปแบบ อย่าง invisible theatre คนจะไม่รู้ว่ากำลังมีคนแสดงอยู่ เช่น เคยมีเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงบนรถโดยสารประจำทางโบอาลต้องการทำให้คนตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ให้นักแสดงขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทาง สร้างสถานการณ์ว่ามีคนถูกล่วงละเมิดแล้วโวยวายขึ้นมา มีนักแสดงที่เป็นโจ๊กเกอร์พยายามบอกว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วผู้โดยสารคนอื่นคิดยังไง เขาใช้นักแสดงสร้างสถานการณ์ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมเพื่อให้สังคมเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนขึ้น

อีกแบบหนึ่งคือ forum theatre ทำละครที่เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคม พอเล่นไปแล้วผู้ชมจะสั่งหยุดเมื่อไหร่ก็ได้หากไม่พอใจเหตุการณ์ในละคร โดยมีโจ๊กเกอร์เป็นตัวกลางระหว่างละครกับผู้ชม เช่น ละครแสดงเหตุการณ์ที่ครูกระทำความรุนแรงกับนักเรียน จนคนดูทนไม่ไหว สั่งให้ละครหยุดแล้วให้คนอื่นขึ้นไปเล่นเป็นนักเรียนแทน หรือหากรู้สึกว่าครูเลวร้ายเกินไป ก็ให้คนดูขึ้นไปเล่นเป็นครูแทนจนกว่าจะพาละครไปสู่จุดที่คนดูทุกคนรู้สึกโอเค ซึ่งคนดูก็คือคนที่เผชิญประเด็นเหล่านั้นอยู่แล้วด้วย คำว่าผู้ชมคือ spectator แต่โบอาลต้องการเปลี่ยนผู้ชมเป็น spect-actor เป็นทั้งผู้ชมและผู้แสดง ซึ่งในไทยทำไม่ได้ ไม่มีคนไทยลุกขึ้นไปเล่นเอง แต่เราปรับได้ว่าเขาไม่ต้องออกมาเล่น ให้โจ๊กเกอร์เข้าไปถามว่าคนดูต้องการให้ตัวละครเปลี่ยนแปลงยังไงก็ได้

นักศึกษาใหม่ที่เข้ามาเรียนตอนนี้ ส่วนใหญ่เขาเข้าใจไหมว่าจะได้เจอกับอะไร แล้วมันตรงกับสิ่งที่เป็นจริงๆ ไหม

ไม่ค่อยเข้าใจ ส่วนใหญ่คิดว่าละครคือการแสดง ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะเราไม่เหมือนตะวันตกที่รู้จักละครเวทีกันตั้งแต่เด็ก เราเห็นแต่โทรทัศน์และภาพยนตร์ เด็กจำนวนมากเข้ามาเพราะอยากเป็นนักแสดง มาด้วยความรับรู้ว่าการเรียนละครเป็นเรื่องง่ายๆ ชิลๆ มีเด็กบอกว่าเขานึกเอาว่าไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ มาถึงก็ตีบท เล่นอารมณ์ เราไม่มีโอกาสไปสร้างความเข้าใจกับเด็กมัธยมทุกแห่งในประเทศไทย เด็กจำนวนมากเข้ามาเรียนแล้วก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ทั้งที่ตอนปฐมนิเทศก็ย้ำว่าถ้าไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังก็อย่าทน

ที่นี่เรียนหนัก ต้องอ่านหนังสือเยอะ เขียน คิด วิเคราะห์ บางทีต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษด้วย ปฏิบัติก็หนัก เรียนการแสดงไม่ใช่แค่อ่านบท ตีบท แล้วเล่น แต่ต้องเตรียมร่างกายอยู่นานพอสมควร เราเตรียมนักแสดงเพื่อให้เป็นนักแสดง เครื่องมือของนักแสดงคือร่างกาย และเสียงในละครบางประเภท เด็กส่วนใหญ่เข้ามาแล้วพบว่า…เฮ้ย มันลึกซึ้งกว่าที่คิดไว้ และก็มีเด็กที่ไม่ไหวแล้วลาออก

หลายสาขาวิชาเจอปัญหาเดียวกัน คือระบบการศึกษาระดับมัธยมโดยเฉพาะสายสามัญทำให้เด็กเรียนๆ ไป จนวันหนึ่งก็ต้องเลือกคณะทั้งที่ไม่รู้จักศาสตร์นั้นดีนัก และไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร วิชาแนะแนวก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่

ใช่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ระบบการศึกษาไม่ทำให้เด็กรู้จักว่าในโลกนี้มีศาสตร์อะไรอยู่บ้าง และศาสตร์ไหนที่เขาสนใจอยากเข้าไปเรียนรู้จริงๆ โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ พอจบม.ต้น เด็กเก่งไปเรียนสายวิทย์ เด็กที่เรียนสายศิลป์คือไม่อยากเรียนเลข จริงๆ มันไม่ใช่เรื่อง ‘ไม่เก่ง’ มันคือทักษะและความสนใจที่แตกต่าง แต่การให้คุณค่าต่อสาขาวิชาในบ้านเรามีปัญหา เราให้คุณค่ากับวิทยาศาสตร์ และเฉพาะกับวิทยาศาสตร์บางสาขาด้วย เช่นที่เราเชิดชูฟิสิกส์โอลิมปิก เคมีโอลิมปิก แต่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ปรากฏตัวขึ้นในประเทศไทย เด็กฟิสิกส์เคมีชีวะโอลิมปิกทั้งหลายก็ไปเรียนหมอ เรียนวิศวะ

สำหรับคนเรียนจบการละคร โลกเชิงวิชาชีพต้อนรับเขาแค่ไหน เพราะหากจะทำงานตรงสายคือทำละครเวที ในไทยก็มีเพียงกลุ่มเล็กๆ อยู่ไม่มากและหาเลี้ยงตัวเองได้ยาก

คนที่เรียนจบละครในยุคก่อนจะไม่มีใครอยู่ในสายอาชีพละคร อย่างเก่งก็ไปเรียนปริญญาโทแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ ซึ่งก็มีน้อยกว่าอาชีพอื่น คนเรียนการละครส่วนหนึ่งไปทำอาชีพใดๆ ก็ได้ตามที่คนเรียนจบสายมนุษยศาสตร์ทำ เป็นแอร์โฮสเตส พนักงานบริษัท พนักงานแบงก์ ส่วนที่จะใช้ความรู้ทางการละครหน่อยคืออาชีพในสายทีวี เช่น การเขียน การกำกับ การออกแบบ ถ่ายละครทีวีก็พอมี ส่วนหนึ่งก็ไปทำอีเวนต์ออแกไนเซอร์

แต่ 15 ปีหลังนี้นับตั้งแต่มีเครือข่ายละครกรุงเทพและเทศกาลละครกรุงเทพ ทำให้มีที่ทางของกลุ่มละครเวทีขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณูปการมาก เพราะทำให้เด็กที่เรียนละครเห็นว่ามีที่ทางของละครเวทีอยู่ แม้ว่าจะเป็นสเกลเล็กๆ ไม่ใช่เวทีใหญ่ แต่ในการเรียนการสอนเราไม่ได้พาเด็กไปสู่สเกลใหญ่แบบรัชดาลัยอยู่แล้ว เด็กธรรมศาสตร์ 5-6 ปีหลังนี้เข้าไปเป็นอาสาสมัครเทศกาลละคร ไปอยู่กับกลุ่มละคร บางคนเรียนจบแล้วตั้งกลุ่มละครเองก็มี แน่นอนว่ามันไม่สามารถเลี้ยงชีพได้จริงในทางเศรษฐกิจ จึงต้องมีอาชีพอื่นที่เลี้ยงชีพด้วย เช่น เป็นครูสอนการแสดง นักแสดงภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา อาจารย์พิเศษสาขาการละคร

เด็กที่เรียนละครทุกวันนี้เห็นที่ทางของการเป็นนักละครอาชีพ แม้ว่าเป็นอาชีพที่ยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ บางคนยอมรับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจก็ไปทำอาชีพอื่นแล้วมามีความสุขกับการทำละครปีละ 1-2 ครั้ง ต่างจากในยุคที่ผมเรียนซึ่งไม่เห็นโอกาสในการทำกลุ่มละครอาชีพ จุดเปลี่ยนคือเทศกาลละครกรุงเทพฯ ที่ทำให้เด็กเห็นความเป็นไปได้ของการเป็นนักละคร

ตราบใดที่โลกนี้ยังต้องการการเล่าเรื่อง การละครก็ยังมีพื้นที่อยู่ เรียนจบละครอาจจะไม่มีพื้นที่ให้ทำละครมากนัก แต่ยังมีพื้นที่อื่นที่ใช้ความรู้และเครื่องมือทางการละคร

ในต่างประเทศมีปัญหาแบบนี้ไหม โดยเฉพาะในสังคมที่มีวัฒนธรรมการดูละครเวที

ครับ ในบริบทสังคมที่มีละครเวทีอาชีพแบบประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขัน คนส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบการแสดงก็ต้องไปออดิชัน บางคนกว่าจะรอออดิชันได้ก็เนิ่นนาน เป็นปัญหาเหมือนกัน นักแสดงละครเวทีเป็นอาชีพได้จริง แต่กว่าจะเข้าไปสู่อาชีพได้ต้องผ่านการแข่งขันกันมากมายมหาศาล ในโลกตะวันตกก็ไม่ใช่ว่าง่าย แม้จะมีโรงละครเยอะและรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้งบ

ที่น่าสนใจคือละครหุ่น ซึ่งคนไทยจะไม่ค่อยรู้จัก คิดว่าเป็นการแสดงประกอบนิทานสำหรับเด็กหรือรู้จักหุ่นแบบประเพณี หนังใหญ่ หนังตะลุง หุ่นกระบอก ขณะที่ละครหุ่นในโลกตะวันตกเติบโตมาก เป็นรูปแบบหนึ่งของการละครที่มีการศึกษากันอย่างลึกล้ำ นักละครหุ่นพัฒนาละครของตัวเองไปในเชิงปรัชญา เชิงสัญญะ

ในอังกฤษ ที่ The Royal Central School of Speech and Drama มีสาขา puppetry ซึ่งมีคนเรียน 4-5 คน แต่จบแล้วมีงานทำเลย ส่วนที่โปแลนด์มีสาขาการละครหุ่นถึงปริญญาเอก ในการเรียนการละครหุ่นก็จะแยกเป็น puppet acting / puppet directing / puppet making และมีละครหุ่นมากมายหลายแบบ โปแลนด์มีโรงละครหุ่น 24 แห่งทั่วประเทศ คนเรียนจบแล้วมีงานทำ แม้ว่าโรงละครหุ่นส่วนใหญ่ยังถูกให้ความหมายว่าเป็นโรงละครสำหรับเด็ก แต่เด็กก็ไม่ได้ไปเพื่อรับรู้เรื่องราวจากละครเท่านั้น แต่ไปซึมซับสุนทรียภาพของละครหุ่นด้วย มีการออกแบบโปรดักชันที่สวยงาม มี aesthetic สูง มีรูปแบบการแสดงที่น่าสนใจ

ถ้ามองเรื่องความเปลี่ยนแปลงในศาสตร์ เช่นที่บางสาขาถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของสังคม แล้วการละครมีดิสรัปชันไหม

ผมเคยถูกตั้งคำถามจากผู้ประเมินหลักสูตรเรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชันและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นว่า อาจารย์สอนละครเวทียังจำเป็นกับโลกนี้อยู่หรือเปล่า ในขณะที่เด็กยุคนี้อย่าว่าแต่ละครเวทีเลย ทีวีหรือหนังโรงก็ไม่ค่อยจะดู เขาอยู่กับโลกออนไลน์ มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้เข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยมากมาย ไม่ได้เป็น passive audience แบบนั่งดูละครเวที

ผมตอบเท่าที่นึกออกว่า ละครเวทีสอนสิ่งที่เรียกว่า story telling เราเป็นนักเล่าเรื่อง มีเรื่องที่จะเล่า มีประเด็นที่อยากบอก มีเรื่องที่อยากตั้งคำถามชวนคิดชวนคุย แต่เครื่องมือของเราคือละครเท่านั้นเอง ละครเวทีเป็นกระบวนการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง ซึ่งในยุคนี้ story telling เป็นที่นิยมมาก ไลฟ์โค้ชทั้งหลายบอกว่าทุกอย่างต้องมีเรื่องเล่าไม่งั้นไม่น่าสนใจ องค์กรที่ทำกระบวนการบุคลิกภาพก็ฝึกอบรม story telling สำหรับผู้บริหาร จะขายของก็ต้องฝึกให้สามารถเรียบเรียงตัวบทและนำเสนอให้ดึงดูดคนในช่วงเวลาแค่ 15 นาที นี่คือศาสตร์ที่เราสอนอยู่ 4 ปีกว่าจะเรียนจบ

ตราบใดที่โลกนี้ยังต้องการการเล่าเรื่อง การละครก็ยังมีพื้นที่อยู่ เรียนจบละครอาจจะไม่มีพื้นที่ให้ทำละครมากนัก แต่ยังมีพื้นที่อื่นที่ใช้ความรู้และเครื่องมือทางการละคร

กรณีแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วงโควิดที่ผ่านมามีการปรับตัวของนักละครที่เอาละครเวทีมาสู่โลกออนไลน์ National theatre ที่ลอนดอนก็ทำสตรีมมิง โรงละครบางที่สตรีมมิงให้ดูฟรี บางที่ก็เก็บเงิน เป็นการปรับตัวที่ไม่ได้เกิดเพราะเทคโนโลยี แต่เกิดเพราะโควิดที่ทำให้คนไม่สามารถไปโรงละครได้

ในอังกฤษก่อนโควิดก็มีปัญหามาก่อนแล้วว่าคนไปโรงละครน้อยลงเพราะตั๋วแพง โรงละครก็ปรับตัว ถ่ายวิดีโอละครมาตัดต่อแล้วฉายบนจอในโรงละคร คล้ายฉายภาพยนตร์ แต่ค่าตั๋วถูกกว่าดูสดมาก นี่คือการปรับตัวของละครเวทีในโลกตะวันตก พอเกิดโควิดจึงมาทำสตรีมมิงออนไลน์มากขึ้น

สำหรับนักละครไทย ช่วงโควิดระบาด สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยก็ให้งบประมาณกลุ่มละครของศิลปินศิลปาธรทำ online performance เช่น พระจันทร์เสี้ยว B-floor แปดคูณแปด เราเริ่มเห็นการปรับตัว แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็กลับเป็นเหมือนเดิม เพราะความหวังและความสุขทุกอย่างของนักละครอยู่ในโรงละคร ไม่ใช่บนจอ

แน่นอนว่ามันต้องปรับตัว ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ก็มาสมัครเข้าเรียนละครเยอะอยู่ แสดงว่าความสนใจละครเวทีในเด็กรุ่นใหม่ยังมี แต่เมื่อจบไปแล้วจะไปอยู่ตรงไหนแค่นั้นเอง กลุ่มละครก็มีไม่เยอะ ปัจจุบันแนวโน้มคนดูละครเวทีในโรงละครน้อยลง ถ้ายังยืนยันจะทำละครก็ต้องปรับตัวไปสู่โลกออนไลน์ ยังไงก็ตาม ผมไม่คิดว่าการเล่นในโรงละครจะหมดไป เพราะยังมีคนที่พึงพอใจจะซื้อตั๋วเข้าไปดูในโรงละครอยู่

การเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทำลายคุณค่าของละครไหม เมื่อเราเชื่อว่าการชมละครเป็นการเผชิญประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ณ ขณะนั้น หรือละครบางแบบต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม

มันทำลายละครบางรูปแบบ เช่น ละครที่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม โดยเฉพาะละครที่เป็นประเด็นทางสังคม แน่นอนว่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทำได้ลำบาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย มีการลองทำในสเกลเล็กๆ ช่วงโควิดพระจันทร์เสี้ยวทำ online performance แสดงในโปรแกรม Zoom เสร็จแล้วก็พูดคุยกันต่อ แต่การจะนำละครเวทีมาสู่ออนไลน์ก็ต้องมีการปรับด้วย เพราะเงื่อนไขต่างกัน ถ้ายืนยันจะทำแบบละครเวที เช่นที่ National Theatre ของอังกฤษทำ คือเล่นละครเวทีเหมือนเดิมแล้วตั้งกล้องถ่าย ตัดต่อให้ต่อเนื่อง มันทำได้ แต่ก็ไม่ต่างจากการดูภาพยนตร์

ละครเวที คือ live performance ประหนึ่งว่าคนดูเป็นประจักษ์พยานต่อเรื่องราวชีวิตของมนุษย์และสังคมที่อยู่ตรงหน้า รับรู้ความรู้สึก ได้ยินเสียง ได้มองเห็น ณ ขณะนั้น ได้มีประสบการณ์ตรง แต่พออยู่บนจอก็อาจจะไม่ต่างกับภาพยนตร์ พอเปลี่ยนแพลตฟอร์ม คุณค่าในความเป็น stage performance หรือ live performance จะหายไปแน่ๆ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปเราก็อาจต้องหาวิธีเปลี่ยนตามโลกไปด้วยในที่สุด

การปรับตัวของละครเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็มีดีเบตคำว่า theatre กับ performance ว่าต่างกันยังไง บางคนมองว่าอยู่ที่เส้นแบ่งระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม แต่ศิลปะการแสดงละครมีแนวโน้มที่จะพยายามสลายเส้นแบ่งระหว่างละครกับผู้ชม ในศตวรรษที่ 19 ละครสัจนิยมยุคแรก ผู้ชมเป็น The Fourth Wall นักแสดงโลดแล่นอยู่ตรงนั้นประหนึ่งไม่รู้ว่ามีคนนั่งดูอยู่ มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างละครกับผู้ชมก็จริง แต่มีความพยายามสลายเส้นแบ่งระหว่างละครกับผู้ชมมาโดยตลอด ตั้งแต่ Bertolt Brecht ต้องการปลุกเร้าผู้คนให้คิดและสร้างการเปลี่ยนแปลง คุยกับคนดู ให้คนดูช่วยคิด จนกระทั่งสาย performance เกิดขึ้นก็ยิ่งสลายเส้นแบ่งนั้น หรือละครที่เอาคนดูเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ก็เป็นการสลายความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงพิธีกรรมของการละคร ให้คนดูกับละครไม่มีเส้นแบ่ง อยู่ในพื้นที่ชุดเดียวกัน

พอละครต้องมาอยู่หน้าจอ กลายเป็นว่าเส้นแบ่งนั้นกลับมาอีกครั้ง เป็นการแบ่งขาดคนละมิติเวลาด้วยซ้ำ สิ่งนี้กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับนักละครที่พยายามจะสลายเส้นแบ่งระหว่างผู้ชมกับละคร ซึ่งผูกโยงไปถึงแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยด้วย

ปัจจุบันสังคมเรียกร้องมากขึ้นว่าการเรียนการสอนต้องตอบสนองตลาดแรงงานและความเปลี่ยนแปลง ในหลายศาสตร์จากเดิมที่สอนความรู้พื้นฐาน แล้วผู้เรียนจะเอาไปประยุกต์ใช้อะไรก็เรื่องของคุณ แต่เริ่มเปลี่ยนมาสอนเชิงประยุกต์ที่เฉพาะเจาะจงกันมากขึ้น คล้ายการชี้ให้เห็นเลยว่าจบแล้วจะเอาความรู้ไปทำอาชีพอะไรได้ สำหรับละครมีความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไหม

การละคอนธรรมศาสตร์มี แต่น้อยมาก เรายังคงอยู่บนพื้นฐานทางการละคร พยายามให้นักศึกษาได้มองเห็นรูปแบบทางการละครและแนวคิดที่หลากหลาย ทั้ง theatre ทั้ง performance หรือการสร้างตัวบทจากกระบวนการบางอย่างที่ไม่ได้เริ่มจากบทละครอีกต่อไป แต่อาจสร้างตัวบทจากบทกวี จากโต๊ะเก้าอี้ ให้เด็กได้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายในละครเวทีแบบดั้งเดิมหรือการละครในเชิงสัญญะ การสอนยังไม่ได้ปรับตัวสู่โลกของอาชีพขนาดนั้น แม้ว่าจะมีวิชา presentation คือการนำเสนองานสร้างสรรค์ การคิดอีเวนต์ การพิตช์งาน เราเพิ่งปรับหลักสูตรให้ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพข้างนอก จากเดิมที่ไม่มี เป็นการฝึกงานอะไรก็ได้ที่สามารถบอกได้ว่าใช้ความรู้ทางการละคร ที่โรงละคร เอเจนซีโฆษณา บริษัทอีเวนต์ออแกไนเซอร์ บริษัททีวีภาพยนตร์ หรือไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อาจทำให้เด็กได้เริ่มเอาความรู้ทางการละครไปทดลองใช้กับงานที่ไม่ใช่ละครเวที

มีความจำเป็นไหมว่าเวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องไปผูกกับตลาดแรงงานมากขึ้น เช่นที่เราสอนความรู้พื้นฐานแล้วต้องไปชี้ให้ผู้เรียนเห็นว่าจะเอาไปใช้ตรงไหนได้บ้าง

ผมคิดว่าไม่จำเป็น แต่การไปมีประสบการณ์ข้างนอกเป็นเรื่องที่ดี ผมยืนยันมาตลอดเรื่องความเป็นศาสตร์หลัก หมายถึงวรรณคดี ปรัชญา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ศาสตร์ที่ทุกคนถามว่าเรียนแล้วจบไปจะทำอะไร เมื่อจบไปแล้วคุณจะทำอะไรก็เรื่องของคุณ ไม่ต้องชี้เป้าว่าทำนู่นทำนี่ได้ นั่นเป็นเรื่องของผู้เรียน เรามีหน้าที่ทำความเข้มข้นของศาสตร์ให้ดีและมีคุณภาพ ถ้าเขามีฐานคิดที่ดี มีแนวคิดที่ชัดเจน ได้เรียนรู้แนวคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้แล้วเขาเชื่อมโยงตัวเองกับสังคมได้ เขาสามารถเอามาใช้ในการคิดวิเคราะห์ตัวเองและปรากฏการณ์ทางสังคม เขาไม่ตายหรอก เขาจะรอดในชีวิต เทคนิคเป็นเรื่องจำเป็น แต่เรายืนยันในศาสตร์หลัก แม้แต่การเรียนภาษาอังกฤษ ในคณะศิลปศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ เอกที่เด็กต้องการเรียนเป็นหลักคือเอกอังกฤษ เพราะเขารู้ว่าถ้ามีทักษะภาษาอังกฤษจะอยู่ที่ไหนก็ได้ บางที่ก็กลัวว่าเด็กจะไม่เลือกเรียน เลยมี Business English หรือ English for Communication ซึ่งไม่ต้องกลัวหรอก เพราะเด็กเรียนอยู่แล้ว ตัวผมมาจากสองทาง ทั้งละครและสังคมศาสตร์ ผมจึงเห็นว่าหลักสูตรไม่จำเป็นต้องบอกว่า เอาล่ะ…เราสอนละครก็จริงแต่คุณสามารถประยุกต์ไปประกอบอาชีพนู่นนี่นั่นได้ เขาจะเป็นนักละครก็เป็นไป เขาจะไม่เป็นนักละครก็ไม่เป็นไร หน้าที่ของเราคือทำความเข้มข้นของศาสตร์ให้ดีแล้วกัน

การดำรงอยู่ได้ของละครต้องพาตัวเองไปสู่เส้นทางนี้ คือการใช้ละครในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้ การศึกษา การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงทางสังคม นี่คือหัวใจของละครที่มีมานานแล้วแต่ในบ้านเรายังไม่ถูกให้น้ำหนัก

แล้วถ้ามองแบบภาครัฐ การละครจะตอบสนองตลาดแรงงานยังไง หรือจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ยังไง

เราไม่มีความหวังกับภาครัฐอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการพูดถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ซึ่งรวมถึงการใช้ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม หรือศิลปะอื่นๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่เห็นเป็นมรรคผลในทางปฏิบัติ เดี๋ยวนี้มีการพูดถึงเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม (culture economy) ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่าทำอะไร หน่วยงานที่มีส่วนใหญ่มักให้ทุนสายทัศนศิลป์ หรือวันดีคืนดีก็สั่งให้ทำหนังเทิดพระเกียรติ สายศิลปะการละครและการแสดงไม่ได้มรรคผลอะไรจากสิ่งเหล่านี้

คนไทยจำนวนมากบินไปดูละครเวทีที่สิงคโปร์ซึ่งเขาอิมพอร์ตมาจากอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย และเขาสนับสนุนคณะละครของสิงคโปร์เอง คนดูในประเทศเขาก็มีส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องมีกระบวนการสร้างคนดู ศิลปะการละครจะกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ creative economy ได้ต้องมีคนดู ต่อให้มีนักละครรวยที่ลงทุนเองได้ แต่ปัญหาใหญ่คือเราไม่ค่อยมีคนดู ประเทศอย่างสิงคโปร์หรือในโลกตะวันตกมีกระบวนการสร้างคนดูมาตั้งแต่เด็ก ในโรงเรียนเด็กได้อ่านบทละคร เรียนละคร เล่นละคร มีวัฒนธรรมการดูละคร แต่ประเทศไทยไม่ได้สร้างสิ่งนี้ อยู่ๆ จะมาบอกว่าให้ศิลปะการละครขับเคลื่อน creative economy ไม่ได้หรอก

สังคมไทยมีมุมมองว่าละครคือความบันเทิง เพราะเห็นแต่ละครสเกลใหญ่ที่มีแรงโปรโมตเยอะๆ และเน้นความบันเทิง เช่น รัชดาลัย ซึ่งที่จริงแล้วความบันเทิงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของละคร มันยังมีฟังก์ชันอื่นอีกเยอะแยะ ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างใหญ่หลวง สร้างการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก จึงจะเกิดผู้ชมที่รู้จักและเข้าใจละครในฐานะศิลปะ รู้จักใช้ละครในฐานะเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และเครื่องมือขับเคลื่อนทางสังคม

ในสังคมที่ยังขาดการสนับสนุนละคร เป็นข้อจำกัดต่อนักเรียนการละครหรือนักละครอย่างไรบ้าง

การจะเป็นนักละครต้องมีประสบการณ์ทางการละคร ไม่ใช่ดูแค่ละครธีสิสรุ่นพี่ แต่ต้องไปดูละครอาชีพไม่ว่าสเกลใหญ่หรือเล็ก ละครรัชดาลัยก็ควรดูเพื่อเป็นประสบการณ์ ทำให้ได้เห็นวิธีการ แต่เด็กดูละครน้อยเพราะไกล เช่น มหา’ลัยอยู่นครปฐมหรือรังสิต ที่สำคัญคือตั๋วแพงมากสำหรับเด็ก ซึ่งกลุ่มละครต้องตั้งค่าตั๋วแบบนี้ไม่งั้นก็อยู่ยาก ทำละครกันนักแสดงก็ไม่ได้ค่าตัวหรือได้น้อยอยู่แล้ว นี่คือข้อจำกัดของนักเรียนละครประเทศเรา ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนกลุ่มละครให้สามารถทำละครและขายตั๋วในราคาถูกได้ เด็กนักศึกษาจะได้ดูโดยไม่เดือดร้อนมากนัก

 

ทุกวันนี้พื้นที่ของนักละครก็หายไปเยอะมาก สถาบันปรีดีเคยเป็นพื้นที่สำคัญมาก มีโรงละครพระจันทร์เสี้ยว โรงละคร B-floor หรือหอประชุมพูนศุข เป็นชุมชนนักการละคร วันที่ไม่มีละครก็มีเวิร์กชอปแวะเวียนกันมาพูดจาแลกเปลี่ยน พอไม่มีพื้นที่ทางกายภาพ ชุมชนทางการละครก็หายไป ทุกคนต้องไปดิ้นรนหาพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง

ผมเคยสัมภาษณ์พิเชษฐ กลั่นชื่น เขาบอกว่ารัฐต้องจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้ สิ่งสำคัญคือต้องมี art space ที่สามารถแสดงนิทรรศการศิลปะ ฉายหนัง เล่นละคร แสดงละคร เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสนทนา เกิดชุมชนศิลปินหรือนักการละครขึ้น รัฐต้องมีงบประมาณ มีกองทุนสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน พิเชษฐ์ใช้คำว่าศิลปะต้องเป็นสวัสดิการให้ประชาชน ประชาชนต้องได้ชื่นชมศิลปะโดยไม่เสียเงิน

ในสังคมที่ยังขาดการสนับสนุนละคร เป็นข้อจำกัดต่อนักเรียนการละครหรือนักละครอย่างไรบ้าง

คิดว่ามีโอกาส สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือเรายืนยันมาตลอดว่าละครไม่ใช่ความบันเทิง เราไม่ได้ผลิตคนเพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง ละครคือการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม กระบวนการสร้างสุนทรียภาพ แต่ที่เรายังอยู่ได้เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่อยากเข้าวงการบันเทิงมาเรียน สาขาการละครหลายแห่งตั้งใจรับดาราเพื่อให้สาขาอยู่ได้ ความย้อนแย้งคือสาขาการละครไม่ตายหรอกตราบใดที่ยังมีคนเข้าวงการบันเทิง (หัวเราะ) เราก็ตลกตัวเองเหมือนกัน

ที่จริงคนที่อยากเข้าวงการบันเทิงไม่ต้องเล่นละครก็ได้ เพราะคนที่เติบโตในวงการบันเทิงอาจมีหน้าตาที่ดีหรือทักษะบางอย่าง ช่องทางการเข้าสู่วงการบันเทิงไทยมีเยอะ เป็นประเทศที่มีการประกวดเยอะมาก ทั้งประกวดนักแสดง นักร้อง นางงาม นางแบบ ทั้งหมดนี้คือการเข้าสู่วงการบันเทิง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเรียนละครเลย ถ้าวันหนึ่งคนที่อยากเข้าวงการบันเทิงตระหนักรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเรียนละคร วันนั้นสาขาละครก็คงตายจริงๆ

เรื่องการปรับตัว เด็กรุ่นหลังๆ เริ่มพูดกันว่าคนที่เรียนสายประยุกต์จะมีงานทำ เด็กของเราจำนวนมากไปเป็นครู คนที่จบสายละครประยุกต์ ละครเพื่อการศึกษา ละครสร้างสรรค์ ไปเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน สำหรับผม การดำรงอยู่ได้ของละครต้องพาตัวเองไปสู่เส้นทางนี้ คือการใช้ละครในฐานะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้ การศึกษา การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงทางสังคม นี่คือหัวใจของละครที่มีมานานแล้วแต่ในบ้านเรายังไม่ถูกให้น้ำหนัก

หน้าที่ของละครในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้มีตั้งแต่ยุคกรีก เป็นเครื่องมือในการทำให้คนคิด เรียนรู้ หรือเป็นเครื่องมือของรัฐในการ propagandize ความบันเทิงมาทีหลังด้วยซ้ำ นี่จึงไม่ใช่บทบาทใหม่ของละคร เราควรพาตัวเองไปในเส้นนี้ให้มากขึ้น แน่นอนว่าการเรียนการแสดงหรือการกำกับการแสดงยังจำเป็นอยู่ เพราะการทำละครสายสังคมยังต้องใช้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ต้องเพิ่มน้ำหนักของวิชาการทางด้านละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือให้นักศึกษาได้รู้จักแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มากขึ้นเพื่อเอามาใช้สร้างงานละคร

ผมมักแนะนำนักศึกษาที่เรียนเอกละครให้เลือกวิชาโทสายสังคมวิทยา มานุษยวิทยา วรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา เพื่อให้นักละครสามารถเห็นมิติของสังคมและมนุษย์ที่ลึกซึ้งขึ้น ชัดเจนขึ้น จะได้เห็นว่าละครของเราจะไปสถิตอยู่ตรงไหนได้บ้างในสังคมนี้ เรามีเครื่องมืออยู่แล้ว แต่เราทำละครเพื่อจะไปตอบอะไร นั่นคือคำถามที่ใหญ่กว่า

เรามีเครื่องมืออยู่แล้ว แต่เราทำละครเพื่อจะไปตอบอะไร

นั่นคือคำถามที่ใหญ่กว่า

ในการเรียนการสอนให้น้ำหนักเรื่องความตระหนักรู้ทางสังคมมากแค่ไหน ผู้เรียนตั้งคำถามไหมว่า ทำไมละครต้องซีเรียส ถึงขนาดต้องรับใช้สังคมหรือเปล่า

สิ่งที่ทำมาตลอดคือทำให้เห็นว่าละครไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ แต่อยู่ในบริบททางสังคม บทละครแต่ละเรื่องที่เราเลือกให้อ่านไม่ว่าคลาสสิกหรือร่วมสมัยจะผูกโยงกับแนวคิดและปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงเวลานั้น เช่น ละครเรื่อง ‘A Doll’s House’ ที่มีส่วนต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในยุคนั้น เวลาวิเคราะห์บทละครเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคม ละคร ‘รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire)’ หรือ ‘ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie)’ ก็ผูกโยงกับปัญหาเศรษฐกิจในอเมริกา คนตัวเล็กตัวน้อยชนชั้นกลางและชนชั้นล่างแตกสลายไปกับสภาพสังคมเศรษฐกิจที่แย่ซึ่งก็ผูกโยงกับนโยบาย แม้แต่บทละคร absurd หรือตระกูล existentialism ก็ผูกโยงอยู่กับปรัชญาหรือแนวคิดทางสังคม

เท่าที่เห็น นักศึกษาสนุกกับการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีความคิดเชิงวิพากษ์ ยิ่งใน 4 -5 ปีนี้ ปรากฏการณ์สังคมการเมืองและการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ทำให้เด็กเปิดตัวเองไปสู่โลกทางสังคมมากขึ้น เราไม่ได้บอกเขาว่าละครต้องไปรับใช้สังคม แต่ก็เห็นได้จากละครของเขา เช่นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดกระบวนการล่าแม่มดทำลายล้างผู้ที่เห็นต่างในสังคม มีเด็กเลือกทำธีสิสละครเรื่อง ‘หมอผีครองเมือง (The crucible)’ มีเด็กสนใจเรื่องผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังคณะราษฎรผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ก็ทำเรื่อง ‘มาดามพูนศุข’ เขียนบทใหม่เป็นละครเพลง บางวิชาก็มีคนเลือกเรื่อง ‘Death and the Maiden’ ว่าด้วยเหตุการณ์ในชิลีที่พูดถึงการทำรัฐประหารที่นายพลปิโนเชต์ปราบปรามผู้ต่อต้านและขบวนการเคลื่อนไหว เราไม่ต้องบอกว่าเขาต้องทำละครเพื่ออะไร แต่กระบวนการทั้งหมดทำให้เขาได้เรียนรู้

ช่วงไม่กี่ปีมานี้เราจะเริ่มเห็นพลังของละครปรากฏตัวในบางพื้นที่ของสังคม แต่ถึงที่สุดแล้วละครมีพลังต่อสังคมได้แค่ไหน ถึงขนาดจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือเปล่า

ผมไม่คิดว่าละครมีฤทธิ์ขนาดนั้น มันอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับย่อยหรือระดับปัจเจกบุคคล เช่นนักละคร ผู้ดูละครหรือผู้เข้าไปร่วมในกระบวนการละคร เพราะองค์ประกอบทั้งหมดในสังคมไทยไม่เอื้อให้ละครทำหน้าที่อย่างที่มันควรจะเป็น

ถ้าเราดูประวัติละคร เช่น Bertolt Brecht สร้างรูปแบบการละครด้วยอุดมคติสูงส่ง ต้องการให้คนคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ทฤษฎีของ Brecht ไม่เคยเป็นจริงในทางปฏิบัติ คนดูออกจากโรงละครไปก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่กดอยู่ทำให้คนไม่สามารถลุกขึ้นไปทำอะไรได้ มันอาจกระตุกให้คนคิดได้ในระดับปัจเจกบุคคล แต่การที่จะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้ามอง chaos theory ที่ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ก็ไม่ใช่ว่าเด็ดดอกเดียวแล้วจะทำได้ มันต้องมี critical mass จำนวนหนึ่งจึงจะนำไปสู่การพลิกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ละครไม่ทำให้เกิด critical mass แต่อาจเกิด critical individual ได้

ถ้าย้อนกลับไปมอง A Doll’s House ซึ่งเป็นแนวละครที่ Brecht หยามเหยียดว่าเป็นละครแบบ dramatic แบบ realism ไม่ทำให้คนคิด คนดูมีอารมณ์ร่วมกับตัวละคร ละครจบคนดูก็กลับบ้านไป แต่ในที่สุด A Doll’s House กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงในยุโรป ละครจะทำหน้าที่ได้หรือไม่ ต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบเพื่อทำให้มันออกฤทธิ์ได้ เช่น กรณีฟิลิปปินส์ที่ละครทำหน้าที่ได้เพราะอยู่ร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่กว่าตัวมันเอง

สำหรับ A Doll’s House ตอนนั้นมีอุณหภูมิของสังคมในการเคลื่อนไหวเรื่องผู้หญิงอยู่แล้ว ละครเข้ามาทำให้เห็นภาพปรากฏ เป็นตัวกระตุ้นตัวหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่เคยคิดเรื่องสิทธิผู้หญิงมาก่อนเลยในชีวิตจะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพราะละครเรื่องนี้ มันเป็นไปไม่ได้

ผมก็เคยทำละครแล้วใช้ทั้ง Boal และ Brecht มาผสมปนเปกันในการทำงานชุมชน มันเกิดการคิด แต่บอกไม่ได้เลยว่าเกิดแล้วมันจะดำรงอยู่ ตอนละครจบ คนดูก็เห็นว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็ไม่เคยมีการประเมินเป็นระบบอย่างจริงจังว่ามันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไหม

ในสภาพสังคมที่ไม่เอื้อนักต่อการเติบโตทางปัญญาหรือการลุกขึ้นมาต่อต้าน ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะมีที่ทางแบบไหน หรือมันต้องไปพร้อมกัน ในวันที่สังคมพร้อมแล้วคนถึงจะหยิบเอาละครมาใช้

หากเราอยากทำละครเวทีอยู่ ก็ต้องดำรงและยืนยันบทบาทนี้ต่อไป บทบาทของเครือข่ายละครกรุงเทพหรือกลุ่มละครที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ละครเพื่อความบันเทิงอยู่แล้ว เป็นละครที่มีประเด็น มีความเป็นศิลปะ มีสุนทรียภาพ ยังอยากให้ดำรงสิ่งเหล่านี้และอดทนต่อสู้กับมันต่อไป แต่ในเวลาเดียวกัน ละครหรือศิลปะแขนงต่างๆ ต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามมากขึ้น โดยไม่ได้หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่โต แต่อย่างน้อยเกิดการตั้งคำถามในระดับปัจเจกบุคคล หรือนักเรียนการละครได้มองเห็นความเป็นไปได้ทางการละครที่แตกต่างหลากหลาย นำไปสู่การพูดคุยเรื่องต่างๆ ไม่ใช่มีแค่ความบันเทิง

เป็นเรื่องดีมากที่มีนักละครเข้าไปร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคนี้ ใช้ละครเป็นเครื่องมือหนึ่งในม็อบ ทำให้สังคมได้เห็นบทบาทของละครในมิตินี้เพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเปลี่ยนความรับรู้ของสังคมได้บ้างว่ามีละครแบบนี้ด้วย ทำให้เห็นว่ามันอยู่ร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ผมไม่ได้มีความคาดหวังสูงส่งว่าละครจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่อยากเห็นละครสร้างความรับรู้ชุดใหม่ให้สังคมว่าละครมีบทบาทแบบนี้ได้ด้วย แม้ว่าโดยตัวมันเองจะยังไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตได้ก็ตาม

สำหรับตัวอาจารย์เอง มีภาพอุดมคติของการเรียนการสอนการละครแบบไหนที่อยากไปให้ถึง

สำหรับในระดับปริญญาตรีของสาขาการละคอนธรรมศาสตร์ ผมค่อนข้างพึงพอใจ แต่หากเป็นในอุดมคติ ผมต้องการใส่แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เพิ่มเข้าไป ขณะนี้มีแทรกอยู่บ้าง แต่อยากให้มีวิชาที่พูดถึงทฤษฎีทางสังคมที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์หรือใช้เป็นแว่นในการมองละคร

จริงๆ ผมอยากสอน theatre studies ผมเรียนมาสายนี้ แต่ไม่มีการเรียนการสอนในเมืองไทย อ.เจตนา นาควัชระ เคยพูดไว้ว่า วิชาการด้านการละครในไทยไม่โตเพราะเราไม่มี theatre studies คือการมองละครด้วยแว่นทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา วรรณกรรม วรรณคดีศึกษา การละครในระดับปริญญาตรีแม้เราจะเรียนวรรณกรรม วิเคราะห์ วิจารณ์ เขียนบท แต่ก็ยังคงเป็นการเรียนเพื่อมาสู่การสร้างโปรดักชัน ในปริญญาโทก็ยังไม่มี theatre studies ทั้งที่วรรณคดีศึกษาประเทศไทยก้าวหน้ามากในทางวิชาการ ละครเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น แต่กลับจบลงแค่โปรดักชัน
 

ในอุดมคติผมอยากให้มี theatre studies เป็นปีกหนึ่งในสาขาการละคร ซึ่งไม่ง่ายนักเพราะเรียกร้องการข้ามศาสตร์สูง เช่น เฉพาะมานุษยวิทยาก็มี school of thought ที่เยอะแยะหลากหลายแล้ว

 

WHAT’S IN YOUR DRAMATIST BAG?

เปิดกระเป๋านักละคร เครื่องไม้เครื่องมือแบบไหนที่ควรมีเพื่อเปิดโลก หนังสือเล่มไหนที่ควรอ่าน ภาพยนตร์เรื่องใดที่ควรดู ช่องทางใดที่จะช่วยเปิดโลกให้เห็นละครรูปแบบต่างๆ ทั่วโลก และนี่คือคำแนะนำจาก ภาสกร อินทุมาร

1.

ภาพยนตร์ Dead Poets Society

นี่คือหนังที่ผมดูตั้งแต่เริ่มเรียนละครและใช้ในการสอนหนังสือมาตลอด ทุกวันนี้ก็ยังใช้หนังเรื่องนี้สอนนักศึกษาปีหนึ่งในวิชามนุษย์กับการสร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณกรรม หนังเรื่องนี้ฉายครั้งแรกปี 2532 ผมเรียนปี 2 เอกละครและเรียนวรรณคดีอังกฤษด้วย หนังเรื่องนี้มีบทกวีที่ใช้ธีม ‘carpe diem’ หรือ ‘seize the day’ ที่ตัวละครคือครูคีตติ้งใช้สอนเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่พอดี และมีการพูดถึงละคร A Midsummer Night’s Dream

หนังเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่มาก ‘seize the day’ คือการให้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม เมื่อวันเวลาผ่านไปไว เราจงรีบฉวย ที่จริงในอดีต บทกวีนี้คือกวีบอกให้หญิงสาวมารับรักแต่งงานก่อนที่จะเหี่ยวเฉาร่วงโรย แต่หนังเอามาปรับในแง่ว่าหนุ่มสาวควรแสวงหาว่าตัวคุณคือใคร ต้องการอะไร คุณไม่ควรที่จะเดินตามๆ กัน คุณควรได้ตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าที่กำกับคุณอยู่

ผมฉายเรื่องนี้ให้เด็กดูเพื่อให้เขาได้ตั้งคำถาม และหนังเรื่องนี้มีบทที่ดี สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเรื่องตัวบท โครงสร้างพล็อตกระแสหลัก ใช้สอนวิเคราะห์ตัวละครได้ด้วย และการให้ความหมายใหม่ของ seize the day ที่แตกต่างจากบทกวีเดิม หนังเรื่องนี้จึงอยู่กับผมตลอดชีวิตการเป็นครู

2.

หนังสือ Drama/ Theatre/ Performance

โดย Simon Shepherd, Mick Wallis

ทั้งสามคำนี้หากแปลเป็นไทยแทบจะกลายเป็นคำเดียวกัน นักเรียนละครควรได้ทำความเข้าใจว่าคำเหล่านี้ต่างกันอย่างไร คำเหล่านี้พากลับไปสู่ความหมายอะไร แล้วเราจะใช้มันอย่างไร เพราะบางทีคนก็ใช้ปนเปกันไปหมด

3.

หนังสือ The Radical in Performance: Between Brecht and Baudrillard

โดย Baz Kershaw

หนังสือเล่มนี้พูดถึง performance คือการสลายพรมแดนระหว่างละครกับคนดู พาไปสู่การสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับผู้ชมที่สามารถเข้ามามีบทบาทในทางการละครได้ด้วย สิ่งสำคัญคือมีการยกตัวอย่างศิลปะการแสดงและศิลปะละครที่ใช้เป็นเครื่องมือในขบวนการต่อสู้ทางสังคม นอกจากนี้มีเรื่องละครของคนตาบอด ละครกับความทรงจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจมากตอนนี้

ในปีครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ มีนักละครทำละครเรื่อง 6 ตุลาฯ หลายกลุ่ม เช่น ‘Fundamental’ ของ B-Floor, ‘ที่ ไม่มีที่’ ของกลุ่มอนัตตา และพระจันทร์เสี้ยวเอาเรื่อง ‘Death and the Maiden’ มาทำ ซึ่งพูดถึงรัฐประหารในชิลีที่มีการปราบปรามผู้ต่อต้าน แล้วนำประเด็น 6 ตุลาฯ มาซ้อนทับเข้าไป ผมจึงสนใจและพยายามทำงานต่อว่าละครทำงานเรื่องความทรงจำได้แค่ไหน ละครสามารถอยู่ร่วมในสายธารของการเขียนประวัติศาสตร์และอยู่ในกระบวนการสร้างความทรงจำทางสังคมได้ไหม เช่นที่มีความพยายามของนักละครที่จะบันทึกความทรงจำ 6 ตุลาฯ ผ่านละคร

ตัวอย่างละครลักษณะนี้ คือละครของออสเตรเลียชื่อ ‘Stolen’ ในยุคหนึ่ง รัฐบาลผิวขาวของออสเตรเลียขโมยลูกชาวอะบอริจินไปไว้ในค่ายกักกัน เพื่อให้เด็กตัดขาดจากรากเหง้าดั้งเดิม ให้เด็กอยู่ในโลกทัศน์แบบคนขาว เป็นกระบวนการทำลายรากเหง้าของชนพื้นเมืองซึ่งเลวร้ายมาก ภายหลังรัฐบาลมีนโยบาย reconciliation ตั้งคณะกรรมาธิการสืบค้นข้อมูล คนในรุ่นที่ถูกขโมยมาอยู่กับคนขาวเรียกว่า ‘Stolen Generation’ มีการเก็บข้อมูลจากปากคำของคนที่ถูกลักพาตัวไปอยู่ในค่ายกักกัน ซึ่งขณะนี้แก่แล้ว มีการกล่าวขอโทษคนอะบอริจิน แล้วมีนักละครลูกครึ่งอะบอริจินทำละคร ชื่อ ‘Stolen’ เอาเด็กอะบอริจินในยุคปัจจุบันเป็นผู้แสดง ละครเล่นทั่วออสเตรเลียและไปเล่นที่อังกฤษด้วย เป็นกระบวนการรื้อฟื้นความทรงจำว่าคนขาวเคยทำอะไรไว้กับคนอะบอริจิน คล้ายการชำระประวัติศาสตร์ เด็กอะบอริจินปัจจุบันได้มองเห็นตัวเองเชื่อมโยงกับคนในรุ่นก่อน ย้อนกลับไปสู่รากเหง้าดั้งเดิม

มีงานวิจัยของออสเตรเลีย ชื่อ ‘Power Plays’ ที่พูดถึงอำนาจของละคร ซึ่งไม่ใช่อำนาจในทางการเมืองอย่างเดียว แต่คืออำนาจทางวาทกรรมด้วย เรื่อง Stolen เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยละคร เป็นกระบวนการสร้างและผลิตความทรงจำของสังคม

4.

หนังสือ Ethnodrama: An Anthology
of Reality Theatre

โดย Johnny Saldana

Ethnodrama เป็นคำเกิดใหม่ คือ ethnography+drama กระบวนการสร้างละครผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลแบบชาติพันธุ์วรรณนา กระบวนการเก็บข้อมูลในเชิงมานุษยวิทยา มีละครเรื่อง The Vagina Monologues โดย Eve Ensler นักละครอเมริกัน เขาสัมภาษณ์ผู้หญิงในอเมริกา 200 กว่าคน ต่างเชื้อชาติ สีผิว ชนชั้น การศึกษา สภาพเศรษฐกิจ ว่าด้วยเรื่องอวัยวะเพศและความรุนแรงทางเพศ แล้วทำละครโดยประมวลข้อมูลจากการสัมภาษณ์มาทำเป็นการแสดงพูดเดี่ยว หลายๆ monologue ตระเวนเล่นทั่วอเมริกาและต่างประเทศ จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอันเนื่องมาจากละคร ทำให้เกิด V-day คือวันต่อต้านความรุนแรงในผู้หญิง V มาจาก Vagina ช่องคลอด, Violence ความรุนแรง, Victory ชัยชนะ นี่คือกระบวนการสร้างตัวบทขึ้นมาจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงหลายเคส เช่น มีนักละครสงสัยว่าทำไมวัยรุ่นผิวดำในอเมริกาจึงติดคุกเยอะ คนมักมองว่าเพราะไม่เรียนหนังสือ เกเร เขาไปศึกษาเชิงมานุษยวิทยาในชุมชนคนผิวดำ ไปสัมภาษณ์คน ไปอยู่ในชุมชน แล้วพบว่าสาเหตุมาจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของสังคม แล้วเขาสร้างบทละครเพื่อให้คนเกิดความเข้าใจและพยายามลบล้างมายาคติที่ว่าเด็กผิวดำเป็นคนไม่ดี ผมสนใจเรื่องนี้และเคยเขียนบทความวิชาการลงวารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยาของธรรมศาสตร์ ชื่อบทความ “การละครเชิงชาติพันธุ์วรรณนา กับขยายพรมแดนของงานวิจัยทางสังคมศาสตร์” ยกกรณีศึกษาของต่างประเทศและไทย

5.

หนังสือมายาคติ (Mythologies)

ของ Roland Barthes

โรล็องด์ บาร์ตส์ มองปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยสัญญะวิทยา มีบทความหนึ่งพูดถึงไวน์กับนมว่า ทำไมปัญญาชนหัวก้าวหน้าถึงกินไวน์ เพราะชนชั้นกรรมาชีพในยุคนั้นกินไวน์ถูกๆ ดังนั้นปัญญาชนสายก้าวหน้าจึงกินไวน์เพื่อสร้างความหมายชุดหนึ่งขึ้นมาผูกโยงกับชนชั้นกรรมาชีพ

มีอีกบทความที่พูดถึงของเล่น ทำไมเด็กผู้ชายต้องเล่นปืน ทำไมเด็กผู้หญิงต้องเล่นชุดเครื่องครัว มันคือกระบวนการหล่อหลอมให้เด็กได้เรียนรู้บทบาททางเพศในสังคมของตัวเองตั้งแต่ยังเด็กผ่านของเล่นที่ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไร มันคือสิ่งที่ทำให้เด็กรู้ว่านี่คือเครื่องมือของเธอ นี่คือความเป็นตัวเธอ

งานวรรณคดีศึกษาแบบของ อ.นพพร ประชากุล หรือ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในยุคหนึ่งก็ใช้การมองความหมายที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่ความหมายที่ตรงไปตรงมา ซึ่งผมเอาบางบทความมาให้เด็กอ่านในช่วงที่สอนวิจารณ์การละครหรือสอนวิจัย เพราะอยากให้เด็กมองละครผ่านองค์ประกอบของปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่ใช่มองตัวบทอย่างตรงไปตรงมา

6.

วารสารอ่าน

วารสารที่ผมมีทุกเล่มและทุกวันนี้ยังเอากลับมาใช้งาน บางบทความที่เกี่ยวโยงกับเนื้อหาวิชาก็เอามาให้เด็กอ่าน มีบทความ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” ของ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ ที่พูดถึงการออกแบบพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าที่ดูเหมือนจะเชิดชูประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าที่จริงเชิดชูพระปกเกล้า และโจมตีคณะราษฎร เป็นมิติสัญศาสตร์ ผมเอาบทความมาให้เด็กอ่านผูกโยงกับแนวคิดเรื่อง dramaturgy การใช้แนวคิดทางการละครไปออกแบบนิทรรศการ 

วารสารอ่านมีทั้งเรื่องวรรณกรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม เป็นการวิเคราะห์ตัวบทที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ แต่สถาปัตยกรรมก็เป็นตัวบท การกระทำก็เป็นตัวบท เป็นวารสารที่ผมอ่านประจำและนำมาใช้งานเรื่อยๆ

6.

วารสารอ่าน

วารสารที่ผมมีทุกเล่มและทุกวันนี้ยังเอากลับมาใช้งาน บางบทความที่เกี่ยวโยงกับเนื้อหาวิชาก็เอามาให้เด็กอ่าน มีบทความ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” ของ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ ที่พูดถึงการออกแบบพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าที่ดูเหมือนจะเชิดชูประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าที่จริงเชิดชูพระปกเกล้า และโจมตีคณะราษฎร เป็นมิติสัญศาสตร์ ผมเอาบทความมาให้เด็กอ่านผูกโยงกับแนวคิดเรื่อง dramaturgy การใช้แนวคิดทางการละครไปออกแบบนิทรรศการ 

วารสารอ่านมีทั้งเรื่องวรรณกรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม เป็นการวิเคราะห์ตัวบทที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ แต่สถาปัตยกรรมก็เป็นตัวบท การกระทำก็เป็นตัวบท เป็นวารสารที่ผมอ่านประจำและนำมาใช้งานเรื่อยๆ

7.

ชาแนลละครเวทีออนไลน์

สิ่งที่นักศึกษาละครทำกันก้าวหน้ากว่าเราไปแล้ว คือการดูละครของต่างประเทศใน YouTube ผมชอบเข้าไปดูเว็บ National Theatre ของอังกฤษ ในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการสตรีมมิงละครให้ดู บางเรื่องฟรี บางเรื่องเสียเงิน บางเรื่องก็มาปล่อยใน YouTube เลย การเปิดดู YouTube หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อดูละครเวทีของต่างประเทศ เป็นสิ่งที่นักศึกษาละครทำกันอยู่แล้วและเราสนับสนุนให้ทำด้วย

Author

Share

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save