fbpx
Drag Your Life With Love

Drag Your Life With Love

1

ช่วงนี้กิจกรรมที่ดูดเวลาว่าง (และเวลานอน) ของผมไปคือบรรดารายการทีวีคืนวันเสาร์อาทิตย์นี่ล่ะครับ

เย็นวันเสาร์ดู The Face Thailand กลางคืนก็มี ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ คืนวันอาทิตย์มานั่งรอ Gay OK Bangkok นี่ยังไม่รวมที่ต้องคอยตามในยูทูบว่า Asia’s Next Top Model กับ เทยเที่ยวไทย ตอนใหม่จะลงให้ดูวันไหนอีก

แต่พอได้มาเจอกับ Rupaul’s Drag Race (ที่เพื่อนๆ ลือลั่นกันมานาน) ชีวิตของผมก็เปลี่ยนไป…

สนุกจนหยุดดูไม่ได้หลับไม่ได้นอนนะครับ ไม่ใช่ว่าได้อินสไปเรชั่นลุกขึ้นมาแต่งหญิง!

 

2

เผื่อใครจะยังไม่รู้จักว่าเอ๊ะ… รูพอลเป็นใคร แล้วแดรกคืออะไร มาแข่งลากอะไรกันเหรอ (แป้ก) ที่จริงแล้วมันก็คือรายการเรียลิตี้ที่มีฟอร์แมตเหมือนรายการเฟ้นหานางแบบทั่วไปนั่นล่ะครับ มีชาเลนจ์ย่อย แคมเปญหลัก แล้วก็มีคณะกรรมการมาตัดสินว่าในแต่ละสัปดาห์ใครจะต้องโบกมือลาแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน คัดออกไปเรื่อยๆ จนได้ผู้ชนะหนึ่งเดียวคนนี้ ถ้ายังไม่เห็นภาพ นึกถึงเดอะเฟซเข้าไว้นะครับ

แต่สิ่งที่ทำให้ Rupaul’s Drag Race โดดเด่นกว่ารายการเรียลิตี้นางแบบอื่นๆ คือความเป็นการแข่งขันของ ‘แดรกควีน’ ที่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยในสังคมชาวเควียร์นี่ล่ะ

ในซับไตเติลของรายการแปลคำว่า ‘แดรกควีน’ ไว้ว่า ‘นางโชว์’ แต่เอาเข้าจริงผมว่ามันออกจะทื่อไปซักหน่อย เพราะถ้าลองไปอธิบายเพื่อนผู้ชายแมนๆ เตะบอลครัชของผมว่าแดรกควีนก็คือนางโชว์ สิ่งที่ออกมาจากปากพวกมันคำแรกอาจจะเป็นคำถามว่า ‘อ๋อ กะเทยแปลงเพศน่ะเหรอ’ ซึ่งไม่ใช่แล้วโว้ย!

โอเค, จริงอยู่ว่าแดรกควีนบางคนเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แต่ก็เป็นคนละความหมายโดยสิ้นเชิงกับคำกริยา ‘drag’ ที่หมายถึงการ ‘แต่งตัว’ และ ‘แสดง’ เป็นเพศตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตัวเอง ดังนั้นคนที่จะเข้าสู่วงการแดรกไม่จำเป็นจะต้องเป็นทรานส์เจนเดอร์อย่างที่เรานึกภาพนางโชว์ในพัทยาเสมอไป พวกเขาอาจเป็นเกย์ ไบเซ็กซ์ชวล หรือแม้กระทั่งผู้ชายแท้ๆ ก็ได้เหมือนกัน

อย่างที่มีคนให้คำจำกัดความของวัฒนธรรมแดรกเอาไว้ว่า ‘แดรกคือศิลปะ ไม่ใช่วิถีการใช้ชีวิต’

คำว่าศิลปะของความเป็นแดรกในที่นี้กินความหมายตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกไปจนถึงบุคลิกลักษณะภายในที่แสดงออกมาในเพอร์ฟอร์แมนซ์เพื่อเอนเตอร์เทนคนดู ในรายการของรูพอล นอกจากบุคลิกของเหล่าราชินีที่พวกเธอใส่เข้ามาในการแดรกอันสุดแสนจะครีเอท เรายังได้เห็นโจทย์การแข่งขันต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความสามารถในการเป็นสุดยอดแดรกควีน ตั้งแต่การดีไซน์ชุดที่จะต้องขึ้นมาเดินบนรันเวย์ ร้องเพลง ถ่ายแบบ แสดงตลก และการลิปซิงก์ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ในการแสดงแดรกโชว์ เพื่อให้รูพอลตัดสินว่าใครจะต้องกลับบ้านในสัปดาห์นั้น (เพราะพลังในการแสดงของพวกเธอจะออกมาสุดๆ ก็ในการลิปซิงก์นี่แหละครับ)

สิ่งที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2009 ที่ Rupaul’s Drag Race เปิดตัวมา รูพอล (เจ้าของรายการและ ‘ตัวแม่’ ของวงการแดรกในอเมริกา) ทำให้วัฒนธรรมแดรกเปลี่ยนสภาพจากการอยู่แค่ในคลับใต้ดินที่มีคนไม่กี่กลุ่มอินกับมัน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่พาให้แดรกเข้ามาสู่โลกเมนสตรีม เป็นวัฒนธรรมป๊อบเต็มรูปแบบ เห็นได้จากเหล่าดาราดังที่ตบเท้ากันเข้ามาเป็นกรรมการตัดสินรับเชิญในแทบทุกเทป ถึงขั้นที่ซีซั่นล่าสุด Lady GaGa ก็ยังมาเล่นด้วย

ว่าไปแล้วก็คล้ายกับรายการประกวดส่วนใหญ่ รูพอลได้สร้าง ‘อาณาจักร’ ของบรรดาราชินีแดรกควีนขึ้นมา ระยะเวลาเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา เธอได้ลูกสาวไว้ในสังกัดเกือบร้อยคน บ้างก็ดัง บ้างก็แป้ก แต่ที่แน่ๆ โลกของวัฒนธรรมแดรกกำลังเปลี่ยนไป ในด้านที่กลายเป็น ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ เต็มรูปแบบ

จากความเป็นศิลปะเพื่อค้นหา แสดงออกตัวตนที่อยู่อีกด้านหนึ่งในตัวของแต่ละคน แดรกในมือของรูพอลกำลังเปลี่ยนสภาพแดรกควีนแต่ละคนให้เป็น ‘แบรนด์’ ที่ต้องขายภาพลักษณ์ สร้างฐานแฟนคลับ ขายของ ทำวิดีโอ สร้างตัวตนให้คนจำได้เพื่อหารายได้ เหมือนกับที่เธอ [รูพอล] ทำได้

มองในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่คนได้รู้จักวัฒนธรรมนี้มากขึ้น และไม่ได้มองว่าแดรกเป็นความ ‘ประหลาด’ อย่างที่ใครคิด และยังทำให้เหล่าแดรกควีนใช้ชีวิตอยู่รอดด้วยการทำสิ่งที่เธอรักเป็นอาชีพได้ด้วย (ก็ผ้าตัดชุด เครื่องสำอาง วิกผมตีกระบังมันหากันไม่ได้ฟรีๆ นี่นา)

 

3

แต่ในอีกแง่ ความเป็นรายการ ‘เรียลิตี้’ (ที่ใครๆ ก็รู้ว่ามันไม่เรียลร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก) ที่เป็นเครื่องมือให้รูพอลใช้ปั้นสาวๆ ในอาณาจักรของเธอ สร้างการยอมรับเพศทางเลือกและวัฒนธรรมนอกกระแสให้เพิ่มมากขึ้น ก็กลายเป็นมีดย้อนกลับมาแทงพวกเธอเหมือนกัน

เคสคลาสสิกก็เช่น แดรกควีนผิวสีถูกรายการสร้างคาแรกเตอร์ให้เป็น ‘Shady Queen’ ที่ขี้เหวี่ยง ด่ากราด ปากร้าย จนชาวผิวสีบางคนบอกว่า นี่มันคือการสเตอริโอไทป์พวกชั้นชัดๆ หรือจะเป็นสาวๆ จากฝั่งละตินอเมริกา ที่ถูกตัดต่อให้ดูไม่เก่งอังกฤษ จนรายการโดนด่าว่านี่เหยียดชาติพันธุ์รึเปล่าเนี่ย

ที่ใหญ่กว่านั้น คือบางช่วงของรายการดันไปสะกิดต่อมเอ๊ะของเหล่า ‘ตำรวจตรวจภาษา’ ให้คันยิบๆ อย่างคำว่า ‘She-Mail’ ที่ใช้ตอนรูพอลออกมาอธิบายภารกิจ หรือภารกิจชื่อว่า ‘Female or She-male’ ก็โดนบอกว่าใช้คำนี้มาเล่นเนี่ย มันทั้งลดค่าความเป็นมนุษย์ไม่รักษาน้ำใจบรรดาทรานส์เจนเดอร์บ้างเลยนะ เรื่องใหญ่จนสถานีต้องออกมาขอโทษ

โถ่ ถ้าเจอ เทยเที่ยวไทย เข้าไป ไม่อกแตกตายกันเลยเหรอเนี่ย…

พูดไปเดี๋ยวก็จะหาว่าไม่ละเอียดอ่อนกับความรู้สึกคนอื่นนะครับ แต่บางทีบรรดาตำรวจแอคทิวิสต์ (ทั้งต่างประเทศและไทยด้วยเนี่ยแหละ) ควรจะต้องแยกให้ออกกันหน่อยระหว่างการใช้คำสแลงจากคนในกลุ่มตัวเอง ที่เข้าใจความเจ็บปวดจากการโดนกดทับ กับการใช้คำสแลงเพื่อด่าหรือใช้แบบไม่รู้ความเหมาะสมจากคนที่ไม่ได้เข้าใจความรู้สึกคนอื่น (แบบไม่เข้าใจ จริงๆ)

เหมือนทรานส์เจนเดอร์เรียกตัวเองและเพื่อนว่า อีกะเทย กับผู้ชายตะโกนด่าว่า อีกะเทย น่ะครับ ประเด็นมันอยู่ที่บริบทของภาษา กับความตั้งใจว่าคนที่ใช้คำต้องการใช้เพื่ออะไร ไม่ใช่เอะอะก็เล่นบทผู้ถูกกระทำ กรีดร้องว่าโดนเหยียดเอาท่าเดียวในเรื่องที่เวรี่หยุมหยิม (เหมือนคำว่าเควียร์ที่ผมเคยเขียนถึงในตอนแรก)

ถ้าเป็นอย่างนี้ตลอด ไม่แคล้วจะมีแต่คนมองว่า ‘อ๋อ กลุ่มหลากหลายทางเพศน่ะเหรอ ก็พวกที่ต้องคิดคำดีๆ ก่อนเข้าไปคุยด้วยไง ระวังนะแก ใช้ผิดเดี๋ยวโดนด่ากลับ’

แล้วอย่างนี้มันจะทำให้คนเข้ามาเข้าอกเข้าใจความเป็นพวกเราได้ยังไง

 

รูพอลเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมแดรกเอาไว้ว่ามันคือการ ‘เล่นตลก’ กับตัวตนของตัวเอง

ความตลกที่มาจากตัวตนของเธอและสาวๆ แดรกควีนในรายการไม่ใช่แค่การเปิดมุมมองใหม่ๆ ของวัฒนธรรมของแดรก เพราะถ้าดูดีๆ หลายช่วงที่เราได้เห็นแดรกควีนบางคนพูดถึงลูกที่บ้าน พ่อแม่ที่ส่งกำลังใจให้พวกเธอ บางบ้านที่เคยรับไม่ได้ก็เปิดใจ ให้กำลังใจสาวๆ ในการแข่งขันรอบสุดท้าย

จะบอกว่านี่คือการขายดราม่า ก็ใช่ล่ะครับ นี่มันวงการบันเทิงนี่นา

 

แต่จะบอกว่าการเล่นตลกกับตัวตนของตัวเอง เท่ากับการไม่เคารพตัวเอง ผลิตซ้ำ กดทับ เบียดบัง สร้างมโนทัศน์ (ฯลฯ) ที่ว่าคนภายนอกจะดูถูกความเป็นเรามากขึ้นไปอีก ในทุกตอนของรายการ รูพอลก็บอกกับสาวๆ และคนดูทุกคนไว้แล้วนี่ครับ…

“If you can’t love yourself, how in the hell you’re gonna love somebody else!”

ถ้ายังไม่เข้าใจ… ผมว่าคุณคงต้อง Sashay Away!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save