fbpx

หมอนักปฏิวัติผู้ปลุกขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย: โรงเรียนแพทย์พื้นเมืองของเจ้าอาณานิคมดัตช์สอนสิ่งใด?

อนาคตของชาวอินโดนีเซียตั้งอยู่บนรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแค่รัฐบาลเช่นนี้เท่านั้นที่ได้รับการยอมรับโดยประชาชน

สุนทรพจน์นี้กล่าวโดย ดร.ซูโตโม (Soetomo) ราวปลายปี 1922 ในที่ประชุมสมาคม Perhimpunan Indonesia (สมาคมชาวอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนชาวอินโดนีเซียในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมไม่ได้ใช้ชื่อนี้ แต่ใช้ชื่อในภาษาดัตช์ว่า Indische Vereeniging (สมาคมอินเดีย)

สมาคมชาวอินโดนีเซียเป็นองค์กรแรกที่ใช้คำว่า ‘อินโดนีเซีย’ ในชื่อองค์กร เป็นที่น่าสนใจว่าคำว่า ‘อินโดนีเซีย’ เกิดขึ้นแล้ว ณ ช่วงเวลานั้น ก่อนหน้าที่จะเกิดชาติหรือประเทศอินโดนีเซียเสียอีก การใช้คำว่าอินโดนีเซียในชื่อสมาคมสะท้อนให้เห็นแนวคิดเรื่องชาตินิยมของบรรดานักเรียนจากดินแดนภายใต้การปกครองอาณานิคมของดัตช์ที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘ชาวอินโดนีเซีย’ ซึ่งแม้ว่าแต่ละคนจะมีภูมิหลังที่หลากหลาย มาจากภูมิภาค กลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนต่างมีจุดร่วมทางอัตลักษณ์เดียวกันคือความเป็นชาวอินโดนีเซีย และ ดร.ซูโตโมก็เป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้มีการเปลี่ยนชื่อสมาคมมาใช้ชื่อภาษาอินโดนีเซีย (มลายู) ในฐานะที่เขาเป็นประธานสมาคมช่วงปี 1921-1922                                            

ดร.ซูโตโมเป็นชาวชวา เกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 1888 ที่เขตชวาตะวันออก เขาเป็นหนึ่งในนักชาตินิยมอินโดนีเซียและเป็นผลผลิตของการศึกษาสมัยใหม่ที่เจ้าอาณานิคมดัตช์นำเข้ามา เขาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนแพทย์พื้นเมืองที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลอาณานิคมดัตช์ในปี 1903 ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ เขาและบรรดาเพื่อนๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรบูดี อูโตโม (Budi Utomo) ขึ้นมาในปี 1908 ซึ่งได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของขบวนการชาตินิยมในอินโดนีเซีย

หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์พื้นเมืองในปี 1911 ดร.ซูโตโมเริ่มทำงานในโรงพยาบาลก่อนจะได้รับทุนการศึกษาและเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี 1919-1923 และได้เป็นหนึ่งในแกนนำสมาคม Perhimpunan Indonesia เมื่อกลับสู่อินโดนีเซีย นอกจากทำงานในหน้าที่แพทย์แล้ว เขายังได้ตั้งกลุ่มสโมสรศึกษาอินโดนีเซีย (Studi Klub Indonesia) ที่เมืองสุราบายาในปี 1924 เป็นกลุ่มสำหรับคนรุ่นใหม่เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นการเมืองและสังคม ต่อมาองค์กรนี้พัฒนากลายเป็นพรรคการเมืองชื่อ พรรคอินโดนีเซียรายา (Partai Indonesia Raya) 

ดร.ซูโตโมเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1938 เมื่ออายุได้ 49 ปี เขาได้รับการยกย่องจากบทบาทและผลงานทั้งในฐานะแพทย์และนักชาตินิยมอย่างมาก ในปัจจุบัน ที่สุราบายามี ‘พิพิธภัณฑ์ซูโตโม’ เพื่อรำลึกถึงชีวิตและผลงานของหมอนักชาตินิยมผู้นี้

บทความนี้จะนำผู้อ่านไปรู้จักประวัติศาสตร์โรงเรียนแพทย์พื้นเมืองและนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้ว่า มีบทบาทอย่างไรต่อประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ดัตช์อีสอินดีส’ (Dutch East Indies) หรือ ‘ฮินเดียเบอลันดา’ (Hindia Belanda) ในฐานะดินแดนอาณานิคมของดัตช์

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่อาณานิคมดัตช์นำเข้ามายังอินโดนีเซียคือการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งในระยะแรก โรงเรียนแบบตะวันตกเปิดเพื่อรองรับบุตรหลานของชาวดัตช์และชาวยุโรป และแม้อาจจะมีบุตรหลานเจ้าพื้นเมืองเข้าไปเรียนด้วยบ้าง แต่แน่นอนว่าโรงเรียนเหล่านี้ไม่ใช่ที่ของบรรดาลูกชาวนา

เมื่อการปกครองอาณานิคมขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับการโดนกดดันทั้งจากเพื่อนร่วมชาติที่เริ่มรับไม่ได้กับนโยบายกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนพื้นเมืองและการต่อต้านจากคนพื้นเมืองเอง รัฐบาลอาณานิคมดัตช์จึงประกาศใช้นโยบายจริยธรรม (Ethical Policy) ในปี 1901 ทำให้การศึกษาแบบตะวันตกขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว บรรดาลูกหลานข้าราชการชั้นสูงชาวพื้นเมืองมีโอกาสศึกษาความรู้ด้านสายวิชาชีพ กฎหมาย บัญชี ชลประทาน ป่าไม้ การรถไฟ การไปรษณีย์ ฯลฯ แต่การคำนึงถึงการศึกษาของเด็กพื้นเมืองอาจจะไม่เท่ากับความต้องการผลิตบุคลากรเพื่อมาทำงานในระบบราชการของอาณานิคม เพราะสามารถลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายได้มาก หากเทียบกับการจ้างชาวยุโรปในตำแหน่งเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการศึกษาที่เกิดขึ้นจากนโยบายจริยธรรมส่งผลต่อโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียแบบที่รัฐบาลอาณานิคมก็อาจจะคาดไม่ถึงเช่นกัน นั่นคือการเกิดขึ้นของสำนึกทางด้านสังคมและการเมืองของบรรดานักเรียนที่ผ่านระบบการศึกษาดังกล่าว และในที่สุดก็นำไปสู่ขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม

โรงเรียนแพทย์พื้นเมือง (STOVIA – School tot Opleiding van Indische Artsen) 

โรงเรียนแพทย์พื้นเมือง หรือเรียกย่อๆ ว่า STOVIA เป็นโรงเรียนที่ถูกก่อตั้งขึ้นในยุคที่อินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคมของดัตช์ จุดเริ่มต้นของโรงเรียนแพทย์พื้นเมืองคือโรงเรียนหมอชวา (Sekolah Dokter Djawa) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1851 เนื่องจากมีการระบาดของโรคไข้ทรพิษในเกาะชวา รัฐบาลอาณานิคมดัตช์จึงสร้างโรงเรียนเฉพาะขึ้นมาเพื่อรับมือกับโรคระบาดดังกล่าว และดังชื่อคือมีเฉพาะชาวชวาเท่านั้นที่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนี้ นักศึกษารุ่นแรกสำเร็จการศึกษาในปี 1856 และได้รับตำแหน่งนำหน้าชื่อว่า ‘หมอชวา’ และในปีเดียวกันนี้เองที่ทางโรงเรียนเปิดรับนักเรียนจากเกาะอื่นที่ไม่ใช่แค่เพียงชวาเท่านั้น แต่มีนักเรียนชาวมินังกาเบาจากสุมาตราเข้ามาเป็นนักเรียนที่โรงเรียนหมอชวาเป็นจำนวนมากเป็นอันดับสอง รองจากชาวชวา

ต่อมาในปี 1902 โรงเรียนหมอชวาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียน STOVIA วัตถุประสงค์คือเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนคือภาษาดัตช์ นักเรียนรุ่นแรกๆ ของโรงเรียนมาจากกลุ่มชนชั้นข้าราชการหรือขุนนางเก่า ต่อมามีลูกหลานสามัญชนเข้าไปเรียนมากขึ้นจนโรงเรียน STOVIA ได้ชื่อว่าเป็น ‘โรงเรียนของคนยากจน’ ซึ่งโรงเรียน STOVIA ได้ผลิตแพทย์พื้นเมืองที่ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนชวาเหมือนเช่นโรงเรียนหมอชวาในตอนแรก ต่อมาโรงเรียน STOVIA ได้กลายเป็นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย หนึ่งในคณะยอดนิยมอันดับหนึ่งของนักเรียนอินโดนีเซีย 

ผู้ที่จะเข้าไปเรียนที่โรงเรียน STOVIA ต้องผ่านการสอบคัดเลือกที่เข้มข้น นักเรียนของโรงเรียนจะพักอาศัยที่หอพักของโรงเรียน การที่นักเรียนจากภูมิภาคต่างๆ ที่มีพื้นฐานแตกต่างกันต้องอยู่ร่วมกันในหอพักเดียวกันเป็นเวลาหลายปีก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกพ้องและเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมาจนก่อตัวเป็นสำนึกเรื่อง ‘ชาติเดียวกัน’ ในที่สุด 

โรงเรียน STOVIA ได้ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่ต่อมาได้เป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากดัตช์ ทว่าไม่ใช่การต่อสู้ที่ใช้กำลังหรืออาวุธ หากเป็นการก่อกำเนิดความคิดผ่านองค์กรต่างๆ ที่บรรดานักเรียน STOVIA ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

องค์กรบูดี อูโตโม (Budi Utomo) และวันตื่นขึ้นแห่งชาติ (Indonesia’s National Awakening Day) 

วันที่ 20 พฤษภาคม 1908 ซูโตโมและนักเรียนโรงเรียน STOVIA เช่น กูนาวัน มางุนกูซูโม (Goenawan Mangoenkoesoemo) และ ซูราจี (Soeraji) ได้ประกาศก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า บูดี อูโตโม ขึ้นที่บาตาเวียหรือจาการ์ตาในปัจจุบัน การก่อตั้งองค์กรบูดี อูโตโม ริเริ่มในปี 1907 เมื่อ ดร.วาฮีดิน ซูดีโรฮูโซโด (Wahidin Soedirohoesodo) ศิษย์เก่าได้ไปเยี่ยมโรงเรียน STOVIA และพบนักเรียนของ STOVIA รวมถึงได้แนะนำให้พวกนักเรียนตั้งองค์กรขึ้นมา การมาของดร.วาฮีดิน ซูดีโรฮูโซโด สร้างแรงบันดาลใจให้กับซูโตโมและเพื่อนๆ จนในที่สุดองค์กรบูดี อูโตโมก็ถือกำเนิดขึ้นมาและได้ขยายสาขาไปยังเมืองอื่นๆ

วันที่ 3-5 ตุลาคม 1908 องค์กรบูดี อูโตโมได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกขึ้นที่เมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งขณะนั้นองค์กรบูดี อูโตโมมีอยู่ 7 สาขาในเมืองบาตาเวีย โบกอร์ บันดุง มาเกอลัง ยอกยาการ์ตา สุราบายา และปอนอรอกอ ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้มีการแต่งตั้ง ระเด่น อาดีปาตี ตีร์โตกูซูโม (Raden Adipati Tirtokoesoemo) ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าเป็นประธานองค์กรบูดี อูโตโม หลังจากนั้นมีบรรดาชนชั้นสูงชวาและผู้ที่ทำงานกับรัฐบาลอาณานิคมเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรมากขึ้น ส่งผลให้สมาชิกรุ่นเยาว์ไม่ค่อยสบายใจและหันไปหาองค์กรอื่นๆ ที่ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นตามมาภายหลังจากนั้น 

สมาชิกขององค์กรบูดี อูโตโมส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวชวาที่มีการศึกษาซึ่งเป็นพวกบรรดาเชื้อสายขุนนางที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม องค์กรจึงเน้นกิจกรรมไปที่ด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่ไม่เน้นกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นขององค์กรบูดี อูโตโม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการชาตินิยมในอินโดนีเซีย และแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงโต้แย้งจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับบทบาทขององค์กรบูดี อูโตโม ที่ดูเหมือนจะไม่การเมืองมากพอและไม่เคยเปิดหน้าท้าทายรัฐบาลอาณานิคมแบบตรงๆ  แต่ก็เป็นยอมรับกันโดยทั่วไปว่า บูดี อูโตโม เป็นองค์กรแรกที่ก่อตั้งโดยชาวอินโดนีเซีย วันก่อตั้งองค์กรคือวันที่ 20 พฤษภาคม ได้ถูกสถาปนาให้เป็นวันสำคัญของชาติอินโดนีเซียและมีการรำลึกถึงทุกปี นั่นคือ ‘วันตื่นขึ้นแห่งชาติ’ นอกจากนี้โรงเรียน STOVIA เดิมยังถูกใช้เป็นที่ตั้งของ ‘พิพิธภัณฑ์ตื่นขึ้นแห่งชาติ’ อีกด้วย 

บทบาทด้านสังคมและการเมืองของนักเรียนโรงเรียนแพทย์พื้นเมือง

นอกจากองค์กรบูดี อูโตโมแล้ว นักเรียนโรงเรียน STOVIA ยังได้ก่อตั้งหรือมีส่วนในองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กร Indische Partij ก่อตั้งในปี 1911 มีผู้นำคือ เดาเวส เดกเกอร์ (Douwes Dekker) ระเด่น มัส ซูวาร์ดี ซูร์ยานิงรัต (RM Surwardi Suryaningrat) หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า กี ฮาจาร์ เดวันตอรอ (Ki Hadjar Dewantoro) ซึ่งเคยเข้าศึกษาที่โรงเรียน STOVIA แต่เรียนไม่จบ ส่วนผู้นำที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน STOVIA คือ จิปโต มางุนกูซูโม (Tjipto Mangoenkoesoemo) มีบทบาทสำคัญในองค์กร Indische Partij ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องการสร้างความรู้สึกชาตินิยม และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพวกลูกครึ่งกับชาวพื้นเมือง องค์กรนี้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาณานิคมดัตช์อย่างแหลมคม 

ทั้งนี้ องค์กร Indische Partij ได้ออกวารสารทางการเมืองชื่อ De Epress  ซึ่งในปี 1913 ระเด่น มัส ซูวาร์ดี ซูร์ยานิงรัต ได้เขียนบทความลงวารสารดังกล่าวชื่อเรื่องว่า ‘หากผมเป็นชาวดัตช์สักครั้งหนึ่ง’ ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีวิจารณ์การปกครองและสถานะของเจ้าอาณานิคมดัตช์ที่อยู่เหนือหัวของชาวพื้นเมือง ส่งผลให้รัฐบาลอาณานิคมประกาศให้ Indische Partij เป็นองค์กรที่ผิดกฎหมายและเนรเทศผู้นำทั้งสามคนไปที่เนเธอร์แลนด์

อีกสมาคมที่น่าสนใจคือสมาคม Perhimpunan Indonesia ก่อตั้งขึ้นที่ไลเดน (Leiden) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1908 โดยในตอนแรกใช้ชื่อสมาคมเป็นภาษาดัตช์ มี ดร.ซูโตโม และโมฮัมมัด ฮัตตา (Mohammad Hatta) เป็นผู้นำสมาคมที่มีบทบาทโดดเด่น ต่อมา นอกจากจะเปลี่ยนชื่อสมาคมจากภาษาดัตช์มาใช้ภาษาอินโดนีเซียดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น สมาคมยังได้เปลี่ยนชื่อวารสารของสมาคมจาก ‘Hindia Putra’ (ลูกของอินเดีย) เป็น ‘Indonesia Merdeka’ (อินโดนีเซียเอกราช) เป็นการส่งสารทางการเมืองถึงเจ้าอาณานิคมอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาต้องการเอกราช เมื่อบรรดาสมาชิกสมาคม Perhimpunan Indonesia จบการศึกษาและเดินทางกลับมายังบ้านเกิด พวกเขาได้เป็นหัวหอกในขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศึกษาอภิปราย องค์กรต่างๆ ตลอดจนเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ยังมีบรรดานักเรียนของโรงเรียน STOVIA เข้าไปมีบทบาทในการก่อตั้งองค์กรต่างๆ ซึ่งแม้จะมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มทางภูมิภาค แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของแนวคิดเรื่องการเมืองแบบใหม่และแนวคิดเรื่องชาติอินโดนีเซีย เช่น องค์กร Jong Sumatranen Bond และ Jong Ambon เป็นต้น จะเห็นว่าแม้พันธกิจหลักของโรงเรียน STOVIA คือผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ทว่าผู้ที่เข้าศึกษาที่นี่จำนวนมากกลับไม่ได้เป็นหมอดังที่หลักสูตรวางเอาไว้ หากหันไปเป็นนักวิจารณ์ นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีบทบาทชี้นำสังคมในขณะนั้น พวกเขาทำงานแข็งขันเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบอบอาณานิคมและนำเสนอแนวคิดเรื่องชาติ เอกราช ผ่านคำพูดและข้อเขียนของพวกเขา คนที่มีบทบาทโดดเด่น เช่น ตีรโต อาดี ซูรโย (Tirto Adhi Soerjo) ผู้เป็นชาวอินโดนีเซียคนแรกในยุคอาณานิคมที่ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนพื้นเมืองชื่อ Medan Prijaji ในปี 1907 (ตีรโต อาดี ซูรโย คือผู้ที่ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) นำเอามาเป็นตัวละครเอก ‘มิงเก’ ในนิยายชุดจตุรภาคเกาะบูรูอันโด่งดังของเขาที่มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วสามเล่มได้แก่ แผ่นดินของชีวิต ผู้สืบทอด และรอยย่างก้าว) 

ช่วงระหว่างปี 1908-1945 ถูกเรียกขานว่าเป็นยุคแห่งขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมอินโดนีเซีย ซึ่งจุดเริ่มต้นในปี 1908 หมายถึงการกำเนิดขึ้นขององค์กรบูดี อูโตโม และไปถึงจุดสูงสุดในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 เมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราชปลดแอกจากการปกครองของดัตช์

หากไม่มีโรงเรียน STOVIA ก็ไม่มีบูดี อูโตโม แต่รัฐบาลอาณานิคมดัตช์ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดโรงเรียนแพทย์พื้นเมืองเพื่อผลิตนักชาตินิยมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปกครองที่เท่าเทียม เรียกร้องสังคมที่ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ ทว่าต้องการสร้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเท่านั้น การที่บรรดานักเรียนแพทย์หันมาตั้งคำถามกับการปกครองของรัฐบาลอาณานิคมและลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม จึงเกิดจากสามัญสำนึกภายในของนักเรียนแพทย์เองที่ผลักให้พวกเขามีมโนสำนึกต่อเพื่อนร่วม ‘ชาติ’ และในฐานะของความเป็น ‘หมอ’ ที่คำนึงถึงชะตากรรมและชีวิตของผู้คนเหนือสิ่งอื่นใด   

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save