fbpx
ประจานให้ได้เจ็บ: Doxxing วิธี (ไม่) ใหม่ในการปิดปากผู้เห็นต่าง

ประจานให้ได้เจ็บ: Doxxing วิธี (ไม่) ใหม่ในการปิดปากผู้เห็นต่าง

ในการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้แสดงฝ่ายต่างๆ จะใช้ข้อมูลและวาทศิลป์ในการสื่อสารกับสาธารณะเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำและเป้าหมายที่ตนเคลื่อนไหว แต่วิธีหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีผลกระทบต่อการสร้างพื้นที่การสื่อสารที่เป็นธรรมและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย และอาจไม่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจในความขัดแย้งได้ คือวิธี doxxing

doxxing (หรือ doxing) คือการจงใจรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว (personal information) ของคนคนหนึ่ง (หรือกลุ่มคน) ที่มีอยู่แล้วบนอินเทอร์เน็ต เช่น ชื่อในฐานข้อมูลของโรงเรียน ที่อยู่ ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว คอมเมนต์ที่เคยไปเขียนไว้ในเว็บบอร์ด เป็นต้น แม้ข้อมูลเหล่านี้จะเข้าถึงได้โดยสาธารณะอยู่แล้ว แต่ความอันตรายอาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีคนปะติดปะต่อข้อมูลที่กระจัดกระจายพวกนี้เพื่อเล่าเป็น ‘เรื่อง’ แบบใดแบบหนึ่ง แล้วเผยแพร่ทางออนไลน์

การทำ doxxing ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะแฮ็กข้อมูลขั้นสูง แค่มีทักษะสืบค้นข้อมูลทางออนไลน์ประมาณหนึ่งก็ทำได้แล้ว โดยเฉพาะในยุคที่ร่องรอยการใช้อินเทอร์เน็ต (digital footprint) ของผู้ใช้ทำให้ข้อความ อีเมล ภาพนิ่ง คลิป IP address ฯลฯ ซึ่งระบุความเป็นตัวตน ความสนใจ และนิสัยของเรากระจัดกระจายอยู่บนพื้นที่ออนไลน์ได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว

Jasmine McNeal ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโทรคมนาคมจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา วิเคราะห์ว่า คนนำข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นมาเชื่อมต่อกัน และเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ที่ไม่รู้จักกันหรือแม้กระทั่งสาธารณะในวงกว้างได้รับรู้ เพื่อประณามในที่สาธารณะและทำให้ผู้ที่ถูก ‘doxxed’ ยอมรับผิดรับชอบต่อการกระทำที่ผู้เผยแพร่ข้อมูลเห็นว่าไม่ถูกต้องของตนเอง doxxing จึงถือเป็นการแย่งชิงการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (private data) ของคนที่ตกเป็นเป้าหมายของการเผยแพร่ข้อมูล

doxxing ถูกนำมาใช้ทั้งเพื่อปราบปรามและเพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลจีนของชาวฮ่องกง มีการนำข้อมูลส่วนตัวของคนที่เห็นว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง นักศึกษาชาวฮ่องกงในต่างประเทศไม่น้อยตกเป็นเป้าของการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวและการประทุษร้าย ขณะที่ผู้จัดการประท้วงและนักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับการประท้วงก็ได้รับข้อความที่ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงทางเพศเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาชาวฮ่องกงคนหนึ่งเข้าร่วมชุมนุมในออสเตรเลียเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย โดยในวันนั้นเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายสนับสนุนฮ่องกงและรัฐบาลจีน มีผู้ถ่ายภาพเธอไว้และนำไปแชร์ต่อในแอปพลิเคชัน WeChat หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เพื่อนๆ ก็ส่งข้อความมาบอกเธอว่ารายละเอียดเกี่ยวกับตัวเธอถูกกระจายไปทั่วทางแอปพลิเคชันดังกล่าว หลังจากนั้นก็มีการแชร์ภาพเธอที่ไม่ได้มาจากพื้นที่ชุมนุม ทำให้เธอไม่เพียงหดหู่และกังวลต่อสวัสดิภาพของตนเอง แต่ยังเป็นห่วงครอบครัวที่อยู่ฮ่องกงด้วย เพราะเธอไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ติดตามถ่ายรูปเธอและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

ส่วนศิลปินชาวจีนแผ่นดินใหญ่อีกคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อผู้ชุมนุมในฮ่องกงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ปรากฏว่าเพื่อนของเขาแชร์ข้อความนั้นต่อ แถมแปะภาพของเขาและเขียนแคปชั่นประกอบว่า “ดูไอ้หมอนี่ จำหน้ามันไว้” ทำให้ศิลปินคนนี้เจอทัวร์ลงเต็มๆ โดยมีทั้งข้อความที่แสดงความเกลียดชังและข่มขู่คุกคาม

ศิลปินคนนี้ยังถูกเพื่อนคนนี้แปะป้ายว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นมุมมองแบบเหมารวมที่ชาวจีนมักมองผู้ประท้วงที่สนับสนุนการปกครองตนเองของฮ่องกงและสอดคล้องกับสารหลักในโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ทั้งยังยังนำรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวของศิลปินมาเผยแพร่และเชิญชวนให้ผู้ใช้คนอื่นๆ ร่วมกันหาว่าพ่อแม่ของศิลปินคนดังกล่าวทำงานที่ไหน จากนั้นก็ส่งต่อข้อความไปให้อินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคนแชร์ข้อมูลของศิลปินคนนี้ต่อ ทำให้ต้องเจอกับกระแสทัวร์ลงอย่างหนักอีกครั้ง

รายงานของเว็บไซต์ Quartz ตั้งข้อสังเกตว่า การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวโดยผู้ใช้ด้วยกันเองกลายเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีลักษณะคล้ายกับยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วง 1966 – 1976 ที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันชี้เป้าและประจานเพื่อน เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือแม้กระทั่งสมาชิกในครอบครัวที่แสดงความเห็นที่ไม่เคารพต่อพรรค

Fergus Ryan นักวิเคราะห์จาก International Cyber Policy Centre และ Australian Strategic Policy Institute อธิบายว่า กลุ่มชาตินิยมจีนมักใช้วิธี doxxing เพื่อทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งในฮ่องกงและต่างประเทศหวาดกลัว หรือสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น (chilling effect) ในการถกเถียงประเด็นที่ต้องการให้สังคมได้พูดคุยกันในขณะนั้น และการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของคนก็อาจนำไปสู่อันตรายเชิงกายภาพได้ ขณะที่ Fang Kecheng ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์จาก Chinese University of Hong Kong ชี้ว่า ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐไม่เพียงเผชิญกับการเซนเซอร์รูปแบบต่างๆ จากรัฐ แต่ตอนนี้ก็ต้องระวังการตรวจตราจากเพื่อนฝูงและคนทั่วไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้คนก็จะกล้าแสดงความคิดเห็นน้อยลง และยิ่งทำให้ความแตกแยกระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ต่างๆ ในสังคมร้าวลึกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงก็นำข้อมูลของตำรวจมาเผยแพร่เช่นกัน มีรายงานว่า ในปี 2019 ซึ่งการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยผู้ชุมนุมบางส่วนบุกยึดสถานที่และปะทะกับตำรวจ ขณะที่ตำรวจใช้ความรุนแรงปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมาธิการสิทธิส่วนบุคคลด้านข้อมูลส่วนบุคคล (the Office of the Privacy Commissioner of Personal Data: PCPD) ได้รับคำร้องเกี่ยวกับการถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของตำรวจและครอบครัวกว่า 1,500 คำร้อง โดยมีการเปิดเผยชื่อตำรวจ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ชื่อของคู่ครองและลูก โรงเรียนของลูก รวมถึงมีภาพใบหน้าที่ดึงมาจากรูปโปรไฟล์ทางบัญชีโซเชียลมีเดีย พร้อมกับข้อความที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระทบกระเทียบเปรียบเปรยว่าเป็นสุนัข และประชดประชัน

หลังจากนั้น ก็มีผู้ประณามและคุกคามตำรวจกับครอบครัวทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ศาลสูงออกคำสั่งชั่วคราวห้ามการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว และมีการลบข้อความที่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ออกจากพื้นที่ออนไลน์ในเวลาต่อมา

Carmen Lee จากมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong วิเคราะห์แบบแผนของโพสต์ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตำรวจและครอบครัว พบว่าผู้นำข้อมูลมาเปิดเผยอธิบายว่าเพราะอะไรตำรวจจึงสมควรถูกประจาน โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำเพราะเป็นการป้องกันตนเอง (ของผู้ชุมนุม) ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สิ่งที่ทำไม่ใช่การ doxxing และไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีการศึกษาและไม่มีศีลธรรม และคนที่นำข้อมูลมาเปิดเผยเป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจ (‘เรา’ เป็นเหยื่อมากกว่า ‘เขา’)

ปฏิบัติการทางวาทกรรมเพื่อสนับสนุนการนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกงได้รับการยอมรับ ส่วนหนึ่งเพราะการรายงานเกี่ยวกับปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องและการใช้อำนาจในทางมิชอบของตำรวจที่ปรากฏอยู่แล้วเป็นเหตุผลที่หนักแน่นในการทำให้ตำรวจไม่มีความชอบธรรม และกลายเป็นเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย

เช่นเดียวกับขบวนการต่อต้านกลุ่มขวาสุดโต่งและลัทธิคนผิวขาวสูงส่ง (white supremacy) ในสหรัฐอเมริกา ที่นำข้อมูลของคนที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือกิจกรรมของฝ่ายขวาสุดโต่งและลัทธิคนผิวขวาสูงส่งมาเผยแพร่ ทั้งชื่อ รูปภาพ และสถานที่ทำงาน โดยเห็นว่าเป็นยุทธวิธีในการต่อสู้แบบหนึ่งที่จะต่อกรกับการใช้อำนาจและความรุนแรงจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ จนผู้ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลบางคนต้องออกจากงาน ถูกเหยียดหยาม และถูกกลั่นแกล้ง

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีในสหรัฐอเมริกา Tony McAleer ซึ่งเคยเป็นผู้นำกลุ่มลัทธิคนผิวขาวสูงส่งแต่ปัจจุบันมาเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการฟื้นฟู (rehabilitation) ให้กับผู้ที่เคยมีแนวคิดนาซีใหม่ มองว่าแม้การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของคนเหล่านี้อาจทำให้กลุ่มต่อต้านแนวคิดขวาจัดรู้สึกสะใจที่ได้ตอบโต้ แต่ในระยะยาวก็อาจส่งผลต่อการประสานรอยร้าวในสังคม เนื่องจากการที่จะทำให้คนที่ถูกประณามและถูกทำให้แปลกแยกเนื่องจากเป็นคนละพวกกลับเข้าคืนสู่สังคมได้ไม่ง่ายนัก กล่าวคือ หากถูกแปะป้ายว่าเป็นนาซีบนอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็จะถูกมองว่าเป็นนาซีบนอินเทอร์เน็ตตลอดไป

ด้วยเหตุนี้ แม้หลายฝ่ายจะเห็นว่าการ doxxing โดยรัฐและผู้สนับสนุนรัฐไม่ส่งผลดีต่อการสร้างพื้นที่อภิปรายถกเถียงทางสังคมที่ปลอดภัยและเสมอภาค และเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสวัสดิภาพของบุคคลแน่ๆ เพราะจะอย่างไรเสียรัฐก็มีอำนาจมากกว่าประชาชนอยู่แล้ว แต่การที่ขบวนการที่ขับเคลื่อนโดยคนทั่วไปนำวิธีการนี้ไปใช้เพื่อสั่นคลอนหรือช่วงชิงอำนาจจากอีกกลุ่มหนึ่ง (ที่อาจจะแอบอิงกับสถาบันหรือวัฒนธรรมที่ครอบงำสังคมอยู่แล้ว) ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการไม่รับฟังและปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอีกฝ่ายหรือเปล่า และจะส่งผลอย่างไรต่อการสร้างสันติภาพในสังคม ซึ่งสมควรนำไปอภิปรายถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจกันต่อ

ส่วนการนำชื่อ สังกัด และภาพนักวิชาการที่ลงชื่อเพื่อสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยไทยมาจัดเป็นหมวดหมู่และเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยวิธีการก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการ doxxing แบบหนึ่ง (เพราะถ้าไม่จงใจก็คงไม่หารูปประกอบและจำแนกต้นสังกัดมาให้เสร็จสรรพ) แต่จะใช้เพื่อแข่งขันทางวาทกรรมและสร้างอำนาจต่อรองแบบกลุ่มต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงหรือขบวนการต่อต้านลัทธินาซีใหม่และคนผิวขาวสูงส่ง หรือสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นที่แตกต่างและปกป้องอำนาจนำในสังคมแบบกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลจีน ผู้อ่านน่าจะพอตัดสินได้โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องสรุป.


อ้างอิง:
https://theconversation.com/what-is-doxxing-and-why-is-it-so-scary-95848
https://www.abc.net.au/news/2019-08-20/hong-kong-protester-targeted-in-doxxing-attack-on-social-media/11429520
https://qz.com/1696522/chinese-supporters-of-hong-kong-protests-face-doxxing/
https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/17405904.2020.1852093
https://www.nytimes.com/2017/08/30/technology/doxxing-protests.html
https://www.sfchronicle.com/business/article/Doxxing-to-shame-targets-as-political-11818906.php

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save