ดับเบิ้ลซีไรต์ (อีกแล้ว) กับความน่าเหนื่อยหน่ายของวรรณกรรมไทย (อีกครั้ง)

ดับเบิ้ลซีไรต์ (อีกแล้ว) กับความน่าเหนื่อยหน่ายของวรรณกรรมไทย (อีกครั้ง)

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในปลายปีพุทธศักราช 2563 ผลการประกวดประชันวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือเป็นที่รู้จักในชื่อเล่นว่า “ซีไรต์” ก็ได้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในปีนี้เป็นการประกวด ‘เรื่องสั้น’ และรางวัลก็ตกเป็นของ จเด็จ กำจรเดช จากรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ” ซึ่งเป็นการได้รับรางวัลซีไรต์ครั้งที่ 2 (อีกแล้ว) ของจเด็จ กำจรเดช หลังจากเขาเคยได้ซีไรต์ครั้งแรกจากรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” ในปี 2554

ประเด็นที่อยากเล่าในวันนี้คือ จเด็จเป็นนักเขียนคนที่สามในรอบสามปีที่ได้ ‘ดับเบิ้ล’ ซีไรต์ ถัดจาก วีรพร นิติประภา ที่ได้รางวัลซีไรต์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2561 จากนวนิยายชื่อยาวเหยียดคือ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” และ อังคาร จันทาทิพย์ ซึ่งได้รางวัลซีไรต์ครั้งที่สองประเภทกวีนิพนธ์จากเรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” ในปี 2562

นั่นเท่ากับว่าในหนึ่งรอบของการประกวดที่ครบถ้วนทุกประเภทของวรรณกรรม (ที่ซีไรต์จัด– คือ นวนิยาย กวีนิพนธ์ และเรื่องสั้น) นั้น นักเขียนที่ได้รางวัลล้วนเป็นนักเขียนชุดเดิมซึ่งเคยได้รางวัลในทศวรรษก่อนหน้านี้ คือ จเด็จ กำจรเดช ได้ครั้งแรกเมื่อปี 2554 อังคาร จันทาทิพย์ ปี 2556 และวีรพร นิติประภา ปี 2558

กล่าวอีกแบบคือนักเขียนที่เคยได้รางวัลในครึ่งหลังของทศวรรษ 2550 ล้วนกลับมาได้รางวัล ‘อีกครั้งหนึ่ง’ ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2560 แบบติดๆ กันสามปีซ้อน

เมื่อย้อนมองว่าตั้งแต่ปี 2554-2563 ในรอบ 9 ปี มีนักเขียนได้รางวัลซีไรต์ 7 คน และเป็นการได้ ‘ดับเบิ้ล’ ถึงสามคนในสามรูปแบบการประกวด ผมอยากชวนให้คิดว่ามันแปลว่าอะไรได้บ้าง ส่วนตัวผมลองทดความคิดไว้ก่อนดังนี้

    1. ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา นักเขียนทั้งสามคนนี้ คือส่วนหนึ่งของภาพแทนนักเขียนไทยที่มีผลงานอันเยี่ยมยอด มีฝีมือ เทคนิคและเรื่องเล่าที่ดี เหมาะสมแก่การมอบรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูความสามารถทางวรรณกรรม
    2. ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานของนักเขียนทั้งสามคนนี้ คือตัวอย่างของงานวรรณกรรมที่ดี ที่ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา แสดงให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของพัฒนาการวรรณกรรมไทยร่วมสมัย หรือวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่น่าสนใจ
    3. ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา หานักเขียนไทยร่วมสมัยที่มีฝีมือดีกว่านักเขียนทั้งสามคนนี้ไม่ได้เลย แม้จะพยายามควานหาเท่าไรก็ตาม แต่ก็ไม่มีนักเขียนที่ดีกว่านี้สมควรได้รับรางวัล หรืออาจจะมีก็ได้ แต่นักเขียนเหล่านั้นไม่ยอมส่งประกวดวรรณกรรมซีไรต์
    4. นักเขียนทั้งสามคนนี้มีแนวทางในการสร้างสรรค์งานที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรางวัลมากกว่าผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ และสมควรที่จะได้รับรางวัล

เอาเท่านี้ก่อน… ผมไม่พยายามจะตำหนิส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะผมอยากเข้าใจในมุมกว้างๆ เข้าใจในแง่มุมของกรรมการ ของตัวรางวัล เข้าใจในแง่มุมของนักเรียนวรรณกรรม เข้าใจแง่มุมของนักวิจารณ์วรรณกรรม…

แต่ทุกๆ ครั้งที่ผมพยายามจะเข้าใจ ก็ทำให้ผมเกิดคำถามมากมายตามมา คำถามที่ไม่อาจตอบได้ทั้งหมดในบทความชิ้นนี้ และต่อให้ผมต้องทำวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบ ผมก็อาจจะจบงานวิจัยไม่ได้เช่นกัน

ผมสนใจรางวัลวรรณกรรมในฐานะที่เป็น ‘สถาบันทางสังคม’ อย่างหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดคุณค่าและสร้างมาตรฐานการสร้างและเสพวรรณกรรมในแต่ละสังคม เพราะรางวัลวรรณกรรมคือการชี้ว่าวรรณกรรมแบบใดเป็นวรรณกรรมที่ดี มีคุณค่าสมควรได้รับการยกย่อง และในฐานะที่ตัวมันเองเป็นสถาบันทางสังคม (ตามความสนใจและเข้าใจของผม) รางวัลวรรณกรรมจึงไม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากสังคมเช่นกัน เพราะมันต้องดึงคุณค่าบางอย่างในสังคมมาเป็นเกณฑ์ชี้ว่าวรรณกรรมเล่มไหนเข้าลักษณะวรรณกรรมที่ดี หรือพยายามสร้างมาตรฐานชุดหนึ่งของรสนิยมทางวรรณกรรมในสังคมขึ้นมา

หากถามว่ามันสะท้อนภาพคุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์ รสนิยมในสังคมอย่างชัดเจนไหม ผมก็ได้แต่อ้ำอึ้งๆ ไม่รู้จะตอบยังไงให้กระชับ เพราะมันทั้งใช่และไม่ใช่ เนื่องจากในสภาพสังคมปัจจุบันไม่มีใครสามารถถือสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของนิยามคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์อีกต่อไปแล้ว หรือไม่มีคุณค่าและรสนิยมชุดใดชุดหนึ่งมีอำนาจนำในการชี้นำสังคมได้อีกต่อไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทึกทักไปเองว่ารางวัลวรรณกรรมในฐานะสถาบันทางสังคมมีบทบาทต้องตอบสนองและรับผิดชอบต่อค่านิยมและรสนิยมทางวรรณกรรมชุดหนึ่ง แต่ไม่อาจพูดได้ว่าค่านิยมและรสนิยมชุดนั้นเป็นแก่นแกนหลักของสังคม อีกทั้งผมสนใจต่อไปว่า รางวัลวรรณกรรมพยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไรในสภาพสังคมเช่นนี้ พูดแบบพัฒนา กิตติอาษาก็อาจพูดได้ว่าสังคมที่ไร้องคาพยพนั่นน่ะครับ

กลับมาที่รางวัลซีไรต์… ความสนใจของผมที่มีต่อรางวัลวรรณกรรมซีไรต์คือมันเป็นรางวัลที่อยู่มานานในสังคมไทย หรือตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 รางวัลดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศทางวรรณกรรมที่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลณิชย์ (2558) อธิบายว่าเป็น “สุญญากาศทางวรรณกรรม” คือ ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา นักเขียนและปัญญาชน ‘ฝ่ายซ้าย’ ทั้งหลายก็กรูกันเข้าป่า ทำให้บรรยากาศการปะทะกันระหว่างวรรณกรรมเพื่อชีวิตกับวรรณกรรมจารีตนั้นมลายหายไปทันที ในสภาวะสุญญากาศนี้เองได้เปิดโอกาสให้ปัญญาชนเสรีนิยมกระฎุมพี[1] เข้ามามีบทบาทในการกำหนดคุณค่าและรสนิยมทางวรรณกรรมให้กับสังคมในฐานะ ‘ทางเลือก’ ของรสนิยมทางวรรณกรรม ผ่านทางนิตยสารวรรณกรรมที่มีมากมายในเวลานั้น และ ‘รางวัลวรรณกรรม’ ซึ่งรางวัลซีไรต์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลาแบบนี้เอง

ชูศักดิ์ (2558) เสนอว่า คุณค่าของรสนิยมวรรณกรรมทางเลือกในช่วงหลัง 6 ตุลานั้น มันคือการ ‘เกี๊ยะเซี้ยะ’ กัน (คำนี้เป็นการสรุปของผมเอง) ระหว่างแนวทางวรรณกรรมเพื่อชีวิตของพวกฝ่ายซ้าย กับวรรณกรรมจารีตของพวกฝ่ายจารีตนิยม-อนุรักษนิยม โดยชูศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า ในคำประกาศรางวัลนั้นมักจะมีกลุ่มคำที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าสองชุดเสมอ นั่นคือ ‘คุณค่าทางวรรณศิลป์’ และ ‘คุณค่าต่อชีวิตและสังคม’ ซึ่งผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า ‘คุณค่าทางวรรณศิลป์’ คือคุณค่าที่ฝ่ายจารีตนิยม-อนุรักษนิยมยึดถือ ในขณะที่ ‘คุณค่าต่อชีวิตและสังคม’ คือคุณค่าแบบที่พวก ‘ฝ่ายซ้าย’ พยายามนำเสนอนั่นเอง

(ผมอยากชวนให้กลับไปอ่านคำประกาศรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ทุกปี จะพบว่าคุณค่าทั้งสองชุดนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย ที่สำคัญมันได้กำกับวิธีการในการพิจารณาวรรณกรรมอีกด้วย เช่น ในแบบเรียนวรรณกรรมและวรรณคดีไทยโบราณ คุณค่าทั้งสองชุดนี้กลายเป็นแก่นแกนในการพิจารณาวรรณกรรมแทบทั้งสิ้น)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มาตรฐานและรสนิยมทางวรรณกรรมแบบ ‘เสรีนิยม-มนุษยนิยม-อนุรักษนิยม’ (อันที่จริงเราอาจเรียกแบบลำลองได้ว่าเป็นรสนิยมแบบกระฎุมพีไทย) กลายเป็นคุณค่าหลักในการสร้างสรรค์วรรณกรรมและพิจารณาวรรณกรรมทั้งเก่าและใหม่ในสังคมไทย นอกจากนี้ ผมคิดว่าในแง่ของการศึกษาวรรณกรรมมันยังเป็นมาตรฐานที่ถูกทำให้เข้าใจว่านี่คือระเบียบวิธีในการพิจารณาวรรณกรรมที่ถูกต้องด้วย (ก็ที่เราบ่นกันว่าการเรียนการสอนวรรณกรรมและวรรณคดีไทยของเรานั้นคร่ำครึและน่าเบื่อนั่นแหละครับ)

ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาของรางวัลซีไรต์นั้นมีความน่าสนใจหลายประการ ประการหนึ่งผมคิดว่ามันเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการสถาปนามาตรฐานคุณค่าและรสนิยมทางวรรณกรรมของกระฎุมพีไทยหลัง 6 ตุลา ประการถัดมา แม้มันจะเป็นความสำเร็จ แต่ก็ยังมีความพยายามต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ หรือการต่อรองของแนวทางวรรณกรรมแบบอื่นๆ หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมของพวกฝ่ายซ้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดมาตรฐานของกระฎุมพีก็เป็นตัวชี้วัดเสมอ

ประการสุดท้าย ผมคิดว่าซีไรต์เป็นสถาบันทางวรรณกรรมที่ ‘อยู่มานาน’ ในประวัติศาตร์ภูมิปัญญาวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ดังนั้น ในแง่หนึ่งมัน ‘เคย’ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยอยู่ระยะหนึ่งเหมือนกับสถาบันอื่นๆ ในสังคมไทยที่อยู่มานาน

ต่อมาเมื่อกาลเวลาก้าวไปข้างหน้า สังคมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมเปิดกว้างขึ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมาตรฐานหรือรสนิยมอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีกต่อไป ไม่มีใครมีอำนาจนำในการสถาปนาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้ต่อไปแล้ว รางวัลซีไรต์ก็ไม่พ้นกฎเกณฑ์ข้อนี้ไปได้ ผมคิดว่าในช่วงทศวรรษ 2550 รางวัลซีไรต์จึงเริ่มถูกมองข้ามจากสังคม กล่าวคือ นอกจากไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจอย่างที่เคยเป็นมา พื้นที่ทางวรรณกรรมในสังคมไทยก็เปิดกว้างขึ้นด้วย มีแนววรรณกรรมแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย มีวรรณกรรมแปลจากหลากหลายภาษาที่ส่งอิทธิพลให้กับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น มีพื้นที่ในการสร้างและเสพวรรณกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ เพลง ดนตรี ก็มีการพัฒนาไปไกลมาก ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความนิยมที่ลดน้อยลงในตัวรางวัลซีไรต์ด้วย

ไม่เพียงแต่รางวัลวรรณกรรมอย่างซีไรต์เท่านั้น ผมคิดว่ารางวัลวรรณกรรมในเวทีอื่นๆ ก็เช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการตัดสินนั้นต่างก็วนเวียนกันไปมาอยู่ในแต่ละรางวัลนั่นเอง และนั่นย่อมหมายถึงมาตรฐานที่ไม่ต่างกันมากนักในแต่ละเวที…

ผมคิดว่าตัวรางวัลซีไรต์เองตระหนักได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ดังนั้นในช่วงหนึ่ง วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์จึงเป็นการให้รางวัลกับรูปแบบและแนวทางวรรณกรรมใหม่ๆ เช่น ให้รางวัลกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์อย่าง “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” หรือให้รางวัลกับนวนิยายที่หม่นมืดอย่าง “คนแคระ” ซึ่งนวนิยายแนวนี้หลังจากคำพิพากษาก็ไม่เคยได้รางวัลในเวทีนี้อีกเลย (ผมมักจะพูดทีเล่นทีจริงกับมิตรสหายหลายๆ ท่านว่า “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ที่ได้ซีไรต์นั้นเป็นอุบัติเหตุและมันไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก)

ผมคิดว่านี่คือความพยายามในการปรับตัวเองของรางวัลซีไรต์ แต่ด้วยเหตุผลกลใด หรือด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ ในสากลโลกก็มิอาจทราบ ทำให้รางวัลซีไรต์กลับไปให้วรรณกรรมที่เพียบพร้อมและครบถ้วนไปด้วย ‘คุณค่าทางวรรณศิลป์’ และ ‘คุณค่าต่อชีวิตและสังคม’ เช่นเดิม

อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าคำถามที่ถูกต้องคือ ทำไมเรายังต้องสนใจวรรณกรรมที่ได้รางวัลซีไรต์อยู่อีกในโลกที่รางวัลไม่ใช่สิ่งการันตีคุณค่าและรสนิยมที่เป็นมาตรฐานได้อีกต่อไป ในยุคสมัยที่วรรณกรรมมีให้เลือกมากมายหลายแนว และตราประทับซีไรต์ไม่ใช่การการันตีคุณค่าของวรรณกรรมที่ดีอีกต่อไป วรรณกรรมซีไรต์แม้จะได้รับการสั่งจากห้องสมุดทั่วประเทศ หรือถูกบังคับให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาก็แทบไม่มีใครหยิบมาอ่านแล้วด้วยซ้ำ ผมอยากจะชวนให้เชื่อว่าโลกทางสังคมและโลกวรรณกรรมไปไกลกว่ารางวัลซีไรต์จะตามทันแล้ว

อย่างที่ผมบอกว่าผมสนใจรางวัลซีไรต์ในฐานะสถาบันทางสังคมและยังเป็นสถาบันที่อยู่มานาน ผ่านการท้าทายคุณค่าและต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงหลายครั้งหลายหน แต่ซีไรต์ก็ผ่านพ้นมาได้ หากแต่ว่าการผ่านพ้นวิกฤตเหล่านั้นได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของรางวัลซีไรต์ไปอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าในรอบสองทศวรรษมานี้ การอยู่รอดของรางวัลซีไรต์ทำให้ซีไรต์กลายเป็นสถาบันทางวรรณกรรมที่คร่ำครึและล้าสมัย ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในทุกแง่มุม

ในโลกวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่เอาโปรแกรมแชทมาสร้างสรรค์เป็นรูปแบบทางวรรณกรรมอย่างหนึ่ง หรือจับเอาตัวละครเอกของวรรณกรรมหลายๆ เรื่องมาตีความใหม่ สร้างเป็นเรื่องใหม่ขึ้นมาในลักษณะที่เรียกว่า ‘แฟนฟิค’ ในโลกวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่ปัญหาทางสังคมการเมืองถูกสอดแทรกอย่างแนบเนียนและแหลมคมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘นิยายวาย’ มากกว่าวรรณกรรมที่ซีเรียสทั้งหลายแหล่ ดูเหมือนว่าคุณค่าและมาตรฐานของรางวัลซีไรต์จะไม่ได้ไปไกลกว่าความคิดทางวรรณกรรมแบบหลัง 6 ตุลาเลย

หลังจากพูดมายืดยาว ผมอยากชวนให้กลับไปพิจารณา “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ” ของจเด็จ กำจรเดช ที่เพิ่งได้รางวัลซีไรต์มาหมาดๆ ผมมีข้อสังเกตไม่มากนักและมันชวนให้ผมต้องครุ่นคิดต่อไป

ข้อแรก ผมเห็นว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้ของจเด็จนั้น ‘น่าสนใจ’ ด้วยวิธีการเล่าที่หลากหลาย จเด็จมีวิธีการเล่าหลายแบบมาก ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ดูแล้วเหมือนโรงมหรสพที่แสดงความสามารถในการเล่าเรื่องของเขา แต่วิธีการของเขาทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เคยได้รับความนิยมในช่วงหนึ่งของความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมไทย นั่นคือ การใช้เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า

มันเป็นการเอาเรื่องเล่าหลายๆ ชุดมาวางทับซ้อนกันหลายๆ แบบ เช่น วางเหลื่อมกัน วางซ้อนกัน วิธีการแบบนี้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในแวดวงวรรณกรรมที่พยายามชี้ให้เห็นอำนาจการสถาปนาความจริงของเรื่องเล่า ไม่มีเรื่องเล่าชุดไหนเป็นเรื่องเล่าแม่บทของความจริงได้อีกต่อไป ความจริงนั้นสัมพัทธ์กับจุดที่เรื่องเล่านั้นถูกเล่าขึ้นมา หรือพูดให้ง่าย มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่าและเล่าอยู่ในจุดไหน แง่มุมไหน ทุกๆ จุดในการมองมันล้วนแต่เป็นความจริงได้ทั้งสิ้น

พูดให้ง่ายขึ้นไปอีก คือวิธีการเล่าแบบนี้กำลังเสนอภาพวิกฤตของความจริงและการนำเสนอความจริงแบบที่แนวคิดสัจนิยมพยายามเสนอ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิดและวิธีการแบบสัจนิยมนั้นไม่สามารถนำเสนอหรือสะท้อนความเป็นจริงได้อีกต่อไป

 

ภาพจาก https://incidentalcomics.storenvy.com/products/12323216-conflict-in-literature-poster

 

นอกจากนี้ เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ การเปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นเรื่องเล่า ในแง่หนึ่งมันก็ทันสมัยอยู่มาก ผมนึกถึงภาพการ์ตูนที่อธิบายความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมโลกที่มักแชร์กันอยู่ในเฟซบุ๊ก ภาพนี้พยายามอธิบายว่าปมขัดแย้งในวรรณกรรมแต่ละยุคสมัยนั้นต่างกันอย่างไร เช่น ในอดีตอาจเป็นปมขัดแย้งระหว่างคนกับพระเจ้า คนกับสัตว์ คนกับความเป็นจริง จนกระทั่งในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างเรื่องเล่ากับผู้เขียน

สำหรับผม เทคนิคเช่นนี้มันเคยน่าตื่นเต้น แต่มันไม่อาจเป็นได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมันมีรูปแบบวรรณกรรมอื่นๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่านี้อีกมาก ปมขัดแย้งเองก็น่าสนใจกว่านี้อีกหลายเท่าตัว ผมมักจะพบความน่าตกตะลึงของวรรณกรรมไทยเช่นนี้ในนิยายออนไลน์ — นิยายที่เด็กๆ รุ่นใหม่เขียนกันตามแพลตฟอร์มออนไลน์

ดังที่ผมกล่าวไปแล้วว่า วิธีการแบบนี้เคยได้รับความนิยมมากในหมู่นักเขียนไทยร่วมสมัย ผมสังเกตว่านักเขียนที่ใช้เทคนิคนี้มีทั้งการเอามาใช้เพื่อแสดงให้เห็นวิกฤตของการสะท้อนความเป็นจริงในสังคม หรือวิกฤตของความจริงที่เรื่องเล่าธรรมดาๆ ไม่สามารถสะท้อนได้ และมีทั้งนักเขียนที่พยายามแสวงหาเทคนิคในการประพันธ์ใหม่ๆ โดยเทคนิคที่ว่าถูกนำเอามาใช้ในวรรณกรรมไทยอยู่บ่อยครั้งช่วงกลางทศวรรษ 2530 จนถึงทศวรรษ 2540

ผมคิดว่าเทคนิคดังกล่าวถูกใช้จนกลายเป็นความเท่อย่างหนึ่งในการประพันธ์วรรณกรรมไทย เพราะผู้เขียนนั้นอยู่เหนือปัญหาของเรื่องเล่าทั้งปวงที่เขารังสรรค์ให้มันทับซ้อนกันยุ่งวุ่นวาย…ซึ่งในบางครั้งมันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นในงานเขียน เรื่องมันไม่ต้องซับซ้อนขนาดนั้นเพื่อสื่อสารก็ได้ แต่กลับบรรจงใส่ไว้เพื่อให้ดูเป็น ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ที่ใช้เทคนิคและลูกเล่นทางวรรณศิลป์เพื่อให้ดูมีความแยบยล ซับซ้อน สับสน…ประดามี…

“คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ” สำหรับผมอยู่ในข้อสังเกตนี้อย่างชัดเจน เรื่องสั้นหลายเรื่องยืดยาวและเพิ่มโครงเรื่องย่อยที่ไม่จำเป็น เรื่องทั้งหมดจึงดูเทอะทะ ด้านการเพิ่มมุมมองของเรื่องเล่าและมุมมองของผู้เล่าเรื่องที่แตกต่างหลากหลาย ตลอดจนพยายามเปิดโปงความเป็นเรื่องเล่า ผมคิดว่าเป็นเทคนิคที่เชยมากๆ ในวรรณกรรมร่วมสมัย และเหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่ามันเชย เพราะมันเป็นวิธีการนำเสนอที่ ‘พูดยังไงก็ถูก’ เหมือนเราพูดว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกในทิศตะวันตกทุกๆ วัน เพียงแต่ใส่ความยุ่งยากให้การพูดประโยคนี้ดูมีน้ำมีเนื้อมากขึ้น

ข้อสังเกตของผมประการต่อมา ซึ่งอาจเป็นความพยายามตอบคำถามที่ผมทดไว้ในใจก่อนหน้านี้ คือ จเด็จเป็นนักเขียนคนที่สามในรอบสามปีที่ได้ ‘ดับเบิ้ลซีไรต์’ เท่ากับว่า ในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมาของรางวัลซีไรต์ มีนักเขียนที่ได้รางวัลเวียนกันสองรอบอยู่สามคน

นั่นหมายความว่าแวดวงวรรณกรรมไทยไม่มีนักเขียนหน้าใหม่ๆ ที่ควรจะได้รับรางวัลบ้างเลยหรือ? หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ มาตรฐานและรสนิยมของซีไรต์ในรอบสิบปีวนเวียนอยู่กับนักเขียนสามคนนี้หรือ? ผมไม่มีเจตนาจะบอกว่านักเขียนทั้งสามคนนั้นฝีมือไม่ดี แต่ผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมซีไรต์ในรอบสิบปีหลังจึง ‘ไม่ไปไหนเลย’

ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า สภาพสังคมเปลี่ยน วรรณกรรมก็เปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่ามีนักเขียนรุ่นใหม่และหน้าใหม่จำนวนมากที่มีผลงานน่าสนใจหรือมีนักเขียนรุ่นกลางๆ ที่พัฒนาแนวทางการเขียนของตัวเองไปตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่ผลงานเหล่านั้นกลับถูกมองข้าม

เพื่อให้เห็นอย่างชัดเจน ผมยกตัวอย่างรวมเรื่องสั้นจากการประกวดปีนี้ก็ได้ “2559” ของศิวรัฐ หาญพานิช นั้น เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีเทคนิคน่าสนใจและมีความเป็นเอกภาพตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนี้ยังเสนอ ‘คุณค่าต่อชีวิตและสังคม’ อย่างชัดเจนอีกด้วย แต่เรื่องสั้นเล่มนี้ไม่ผ่านแม้กระทั่งรอบคัดเลือก  โดยเฉพาะเรื่องการประสานความเอกภาพกับเทคนิคทางวรรณกรรมและประเด็นทางสังคมนั้น ผมคิดว่า “2559” น่าสนใจกว่า “คืนปีเสือฯ” เสียอีก

ยิ่งไปกว่านั้น หากเทียบกับเรื่องสั้นที่เข้ารอบสุดท้ายมาด้วยกันแล้ว ผมคิดว่ามีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจกว่า “คืนปีเสือฯ” เช่น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่นๆ” ของกำพล นิรวรรณ “ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ” ของภาณุ ตรัยเวช อย่างน้อยที่สุด ทั้งสองเรื่องนี้ก็มีความเป็นเอกภาพมากกว่า คือ “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำฯ” สำหรับผมก็ชัดเจนในเรื่องการจัดการความทรงจำ “ลิงหินฯ” นั้นก็ชัดเจนว่าเป็นงานแบบ ‘แฟนฟิค’ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน และทั้งสองเรื่องสามารถสอดประสานประเด็นทางสังคมเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

สำหรับผม “คืนปีเสือฯ” นั้นไม่มีความเป็นเอกภาพเลย มีแต่การแสดงวิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่สามารถเกาะเกี่ยวไปด้วยกันกับเนื้อหาที่พยายามนำเสนอด้วย ส่วนของเนื้อหาของ “คืนปีเสือฯ” ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่หรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่เหนือไปจากแนวคิดทางสังคมของกระฎุมพี  กล่าวคือ เปิดโปงสังคมในแง่มุมที่ไม่ดี แต่ก็ไม่ถึงกับชวนหดหู่อะไรมากมายนัก เป็นประเด็นทางสังคมที่ผมเล่นเฟซบุ๊กก็มีคนพูดเรื่องเดียวกันกับจเด็จอยู่มากมายเลยทีเดียว

ประเด็นสุดท้าย ในฐานะสถาบันทางสังคม ผมคิดว่าซีไรต์มีท่าทีที่ประดักประเดิก ละล้าละลัง ใจหนึ่งก็อยากจะก้าวให้ทันสภาพสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางวรรณกรรมที่เกิดขึ้นให้ทัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องรักษาความขรึมขลังของความเป็นวรรณกรรมกึ่งซีเรียสกึ่งประชานิยมอยู่พอสมควร  คือต้องสามารถอธิบายความเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ทั้งเชิงวิชาการวรรณกรรมที่เคร่งครัดได้ และมีความเป็นประชานิยมอยู่ด้วยนั่นเอง

เพราะ “คืนปีเสือฯ” นั้นสามารถอธิบายในเชิงวิชาการได้ยืดยาวเกี่ยวกับเทคนิคสารพัดบรรดามี และความเป็นประชานิยมก็อาจจะโยนให้ประชาคมวรรณกรรมเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การตัดสินเช่นนี้ รางวัลซีไรต์ก็ลอยตัวและรอดตัวไปอีกวาระหนึ่ง

ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดที่เข้ารอบ ผมคิดว่าถ้าหยิบเล่มอื่นๆ มาให้รางวัลดูจะมีคำถามน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำไป… อย่างน้อยๆ คำถามต่อการให้ดับเบิ้ลซีไรต์อีกแล้วก็ไม่อาจทำให้เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาอย่างยืดยาวนี้ ผมออกจะมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อรางวัลซีไรต์อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นรางวัลที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน ผมอยากให้ตัวรางวัลเองได้ตระหนักว่าปัจจุบันรางวัลซีไรต์อยู่ในภาวะวิกฤตและอยู่มาสักพักใหญ่ๆ แล้วด้วย แต่ผมก็ไม่ทราบว่าด้วยอะไรดลใจให้รางวัลซีไรต์ยังคงยืนหยัดที่จะอยู่จุดเดิมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในสังคมไทย ท่ามกลางคุณค่า มาตรฐานและรสนิยมทุกๆ ด้านในสังคมไทยที่ถูกตรวจสอบและถูกนำมาพิจารณาใหม่อย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทำไมเราจึงไม่เห็นว่ารางวัลซีไรต์จะยอมปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงนี้

หากว่าซีไรต์จะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง ก็อยากให้ทำความเข้าใจว่ารางวัลวรรณกรรมเป็นทางเลือกไม่ใช่มาตรฐาน…

สุดท้าย ผมอยากจะขอโทษขอโพยมิตรสหายหลายท่านที่ในบทความนี้ ผมทำตัวเป็นคนไร้เดียงสาหน้าซื่อตาใสต่อการวิพากษ์วิจารณ์รางวัลวรรณกรรมที่สำคัญรางวัลหนึ่งในสังคมไทย… เพราะผมก็พยายามแล้วน่ะครับ มันน่าเหนื่อยหน่ายจริงๆ…

 

เชิงอรรถ

[1] ต่อมาชูศักดิ์เขียนบทความ “วรรณกรรมทดลองของวินทร์กับการผลัดแผ่นดินของวรรณกรรมวิจารณ์” ซึ่งอธิบายปัญญาชนกลุ่มนี้เพิ่มเติมว่าแท้จริงแล้วปัญญาชนกลุ่มนี้มีแนวคิดของอนุรักษ์นิยมอยู่ด้วยและเรียกปัญญาชนกลุ่มนี้ใหม่ว่า “เสรีนิยม-มนุษยนิยม-อนุรักษนิยม”  รายละเอียดโปรดอ่านต่อใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2552. “วรรณกรรมทดลองของวินทร์กับการผลัดแผ่นดินของวรรณกรรมวิจารณ์” ใน อ่าน, 2(1), 39-49.

 

อ้างอิง

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2558. อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: อ่าน.

บทความชิ้นนี้พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสารคดี เมษายน 2539

 

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save