fbpx

ตัวละคร และความเปราะบางอันเหลือทนใน “อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง”

‘ความเปราะบาง (ทางอารมณ์)’ และ ‘ภาวะซึมเศร้า’ ในระยะหลายปีมานี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในสังคมไทยอย่างยิ่ง เราจะพบว่าในแวดวงสังคมที่แต่ละคนปฏิสัมพันธ์อยู่นั้นมีเพื่อน พี่ น้อง ญาติสนิทมิตรสหายมากกว่าครึ่งต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เราจะได้เห็นข่าวการฆ่าตัวตายและความพยายามฆ่าตัวตายของทั้งคนที่มีชื่อเสียง คนธรรมดา และยังเป็นคนทุกเพศ ทุกวัยด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราเข้าทวิตเตอร์ก็ดี เฟซบุ๊กก็ดี หรือเว็ปไซต์ต่างๆ เราจะได้เห็นคำเตือน ‘trigger warning’ (คำขึ้นเตือนเนื้อหาบางประเภทที่อาจกระตุ้นหรือทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมนึกถึงประสบการณ์เลวร้ายของตัวเอง) อยู่บ่อยครั้ง ด้วยความตระหนักว่าในปัจจุบันนั้นมีผู้ที่อยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางอารมณ์มีอยู่จำนวนมากนั่นเอง

ความเปราะบางทางอารมณ์และภาวะซึมเศร้าของแต่ละคนนั้นอาจเกิดขึ้นมาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน แต่โดยมากภาวะเช่นนี้มักถูกวินิจฉัยให้เป็นเพียงเรื่องของสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกันหรืออาจเรียกได้ว่ามันถูกลดทอนให้กลายเป็นปัญหาภายในและ/หรือปัญหาสุขภาพทางจิตของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วสารเคมีในสมองอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ดังนั้นการวินิจฉัยทางการแพทย์อาจทำให้เราเห็นและเข้าใจภาวะความไม่มั่นคงทางอารมณ์ได้เพียงแค่ไม่กี่ทาง อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากกว่าสารเคมีในสมอง ข้อวินิจฉัยทางการแพทย์ยังอาจทำให้เราหลงลืมไปด้วยว่ามนุษย์มีสังคมต้องเผชิญหน้ามีโครงสร้างทางสังคมที่ต้องต่อสู้จนในบางครั้งบาดแผลจึงไม่ได้เกิดขึ้นในส่วนที่เรามองเห็นจากภายนอก แต่มันไปปรากฏตัวอยู่ในส่วนลึกที่สุดของจิตใจและค่อยๆ บ่อนเซาะรากฐานทางอารมณ์ให้กลายเป็นแผ่นน้ำแข็งที่บางเบาล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่

‘อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง’ เป็นชื่อของรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนที่จะบอกว่าเป็นรุ่นใหม่ก็ไม่ถนัดนัก – ในความเห็นของผม – เพราะผลงานของจิดานันท์ มีความต่อเนื่องทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ อีกทั้งยังเป็นนักเขียนมือรางวัลที่ส่งประกวดในเวทีต่างๆ  อย่างสม่ำเสมอ สำหรับ ‘อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง’ นั้นเป็นรวมเรื่องสั้นที่นำเสนอสภาวะแหว่งวิ่น ความร้าวรานและความภินท์พังภายในจิตใจของตัวละคร แม้กระนั้นเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็ไม่ได้จู่โจมผู้อ่านด้วยความพินาศทางอารมณ์ของตัวละครแต่ถ่ายเดียว แต่มันยังได้นำเสนอการโอบอุ้ม ความรู้สึกที่ได้มีใครสักคนเคียงข้างในวันที่เรารู้สึกว่าโลกนี้ไม่สามารถโอบกอดคนเช่นเราได้อีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น ‘อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง’ นั้นอาจไม่เป็นเพียงชื่อเรื่อง แต่ยังเป็นคำเตือนให้กับผู้อ่านได้อีกด้วย

ตัวละครในฐานะศูนย์กลางจักรวาลของเรื่องสั้นใน

‘อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง’

ผมเคยได้อ่านงานของจิดานันท์อยู่บ้างทั้งเรื่องสั้น หรือนิยายวายในนามปากกา ร. เรือในมหาสมุท ในเบื้องต้นผมเห็นว่างานของจิดานันท์น่าสนใจในฐานะที่เป็นความพยายามในการรวมประเภทของวรรณกรรม (genre) ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น เราอาจจะพบความเป็นนิยายวายในงานเขียนแบบวรรณกรรมสร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งนิยายวายที่มีประเด็นทางประวัติศาสตร์สังคมที่เข้มข้นอย่างการนำเรื่องของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาใส่ไว้ในนิยายวาย แต่เมื่อได้อ่าน ‘อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง’ จุดเด่นที่ผมสังเกตได้ในงานเล่มนี้ก็คือการสร้างสรรค์ตัวยละครที่มีความร้าวรานภายในหลากหลายรูปแบบ พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือเรื่องสั้นชุดนี้จิดานันท์เล่นกับ ‘ตัวละคร’ มากกว่า ‘ตัวเรื่อง’ หรือ ‘โครงเรื่อง’ นั่นเอง

การนำเสนอความเศร้าโศกหรือสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคงและเปราะบางในวรรณกรรมนั้นไม่มีอะไรจะเหมาะสมไปกว่าการแสดงออกผ่านตัวละครมากไปกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ในวรรณกรรม และในการสร้างตัวละครนั้นนักเขียนต้องออกแบบมาเป็นอย่างดีว่าจะให้ตัวละครนั้นแสดงการกระทำผ่านวิธีการใด นักเขียนบางคนอาจเลือกใช้ผู้เล่าเรื่องในการเล่าอารมณ์ความรู้สึกตัวละครวิธีการนี้อาจจะมีข้อดีในแง่ที่ว่าสามารถอธิบายได้ละเอียดลออ เพราะการเล่าอารมณ์ความรู้สึกตัวละครนั้นมีข้อจำกัดน้อยกว่าวิธีอื่นๆ แม้จะทำให้ผู้อ่านสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องจินตนาการของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครนั้นๆ มันถูกจำกัดเอาไว้ด้วยความละเอียดลออนั่นเอง นักเขียนอีกหลายคนใช้วิธีนำเสนอตัวละครผ่านบทสนทนาซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถใช้จินตนาการถึงตัวละครได้กว้างไกล วิธีการนี้นักเขียนต้องมีความสามารถสูงในการนำเสนอบุคลิกลักษณะของตัวละครผ่านคำพูด/บทสนทนาที่ไม่มากนักซึ่งในแง่หนึ่งบทสนทนาที่ไม่ควรจะยืดยาวนั้นอาจเป็นข้อจำกัดได้เช่นกัน ในขณะที่นักเขียนอีกจำนวนไม่น้อยใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมผสานกันอย่างลงตัว

ในเรื่องสั้น ‘ปฏิสสาร’ จิดานันท์แสดงให้เห็นความสามารถในการสร้างตัวละคร ‘ผม’ ในฐานะผู้เล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ตัวเรื่องเองมีขนาดที่ไม่ได้ยาวมากแต่สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหลักผ่านบทสนทนา ผ่านการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างกระชับและชับไวแต่ก็สามารถเข้าใจอารมณ์ของตัวละครได้อย่างดี เช่นการอธิบายบุคลิกลักษณะของ ‘ผม’ ผ่านคำพูดของ ‘เรย์’ ว่า

“รู้จักปฏิสสารรึเปล่า มันคือสิ่งตรงกันข้ามกับสสาร สสารคือทุกสิ่งบนโลก บนท้องฟ้า ดวงดาว ส่วนปฏิสสารก็เป็นศัตรูกับสสาร ผลก็คือปฏิสสารจะไปแตะไปต้องอะไรเข้านิดหน่อยไม่ได้ เป็นต้องระเบิดหมด นักวิทยาศาสตร์เลยต้องเก็บไว้ในอุปกรณ์เฉพาะให้ลอยอยู่ในสุญญากาศ เป็นบัฟเฟอร์ให้ไม่สัมผัสโดนอะไรเข้า” (หน้า 59)

เพียงบทสนทนานี้ก็สามารถอธิบายคุณลักษณะที่สำคัญของตัวละครได้ทั้งหมดอีกทั้งยังสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ของ ‘ผม’ กับตัวละครอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน นั่นคือประโยคที่ว่า “นักวิทยาศาสตร์เลยต้องเก็บไว้ในอุปกรณ์เฉพาะให้ลอยอยู่ในสุญญากาศ เป็นบัฟเฟอร์ให้ไม่สัมผัสโดนอะไรเข้า” เราจะเห็นว่า ‘ผม’ นั้นมีความโดดเดี่ยวจากสิ่งที่เขาเป็น คือ การเป็นปฏิสสารทำให้เขาต้องอยู่ใน ‘สุญญากาศ’ และในภาวะสุญญากาศนั้นเองเป็นสิ่งที่ปกป้องตัวเขาจากคนอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้น ความโดดเดี่ยว ความร้าวรานภายในของ ‘ผม’ ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นพลังอารมณ์ในทางลบนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เขาต้องโดดเดี่ยวแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความปลอดภัยกับตัว ‘ผม’ และคนอื่นๆ อีกด้วย

นอกจากนี้การสร้างตัวละครที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ยังปรากฏในเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง เรื่องที่น่าสนใจเช่น ‘สัตว์โดดเดี่ยวประเภทโดดเดี่ยวพิเศษ’ ตัวละคร ‘ผม’ ที่เป็นผู้เล่าเรื่องด้วยนั้นแม้เขาจะเต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจในหน้าตาของตนเอง แต่ความมั่นอกมั่นใจเหล่านั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ปกปิด/กลบเกลื่อนความด่างพร้อยในชีวิตและการไร้ตัวตนในหมู่เพื่อนฝูง ชีวิตของเขา “…ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ตัวเองดูเป็นผู้เป็นคนขึ้น เพียงแต่เที่ยวท่องไปวันๆ วาดฝันว่าตัวเองจะกลายเป็นผู้น่าเคารพทรงภูมิขึ้นมาสักวันหนึ่ง” (หน้า 41-42)

ตัวละครอย่างเวฬาและวาฬิกาในเรื่อง ‘เวฬากับวาฬิกา’ ที่เคยเป็นคู่รักกันแต่ต้องเลิกรากันไปจนกลับมาพบกันอีกเวฬาพยายามขอให้กลับไปคบกันอีกครั้งแต่วาฬิกาปฏิเสธอย่างหนักแน่นเนื่องจาก “คือผมต้องออกมาแล้วว่ะพี่ ถ้าผมอยู่ที่นั่นต่อบางทีผมคง…ไม่อยู่แล้ว ผมเป็นพวกพร้อมไป พี่เคยบอกใช่ไหม ว่าคนเศร้ามันมีแบบพร้อมไป กับแบบที่จะไม่ไป ผมเป็นพวกพลิกลงเหวได้ง่าย พี่เข้มแข็งกว่า พี่เลยอยู่ได้ ไม่ไปไหน” (หน้า 127) การพบกันอีกครั้งและบทสนทนาของทั้งคู่ยังเป็นการแสดงให้เห็นสิ่งที่ถูกซ่อนและกักเก็บเอาไว้ภายในอีกด้วย โดยเฉพาะ วาฬิกา แม้เขาจะบอกว่าหลังจากเลิกกับเวฬาเขากลายเป็นคนไม่เศร้าโศกอีกต่อไป แต่ลึกๆ แล้ว ความเป็นคนเศร้าโศกนั้นไม่เคยหายไปจากตัวเขา มันกลายเป็นตัวตนของเขาและถูกเก็บเอาไว้ในส่วนลึกที่สุดดังที่เวฬาเห็นเข้าไปในแววตาของเขาซึ่งเป็นแววตาที่เวฬาคุ้นเคยเพราะมันคือแววตาของวาฬิกาผู้ตรอมตรม

ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจประการแรกหลังจากอ่านรวมเรื่องสั้น ‘อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง’ จบก็คือ นอกจากจิดานันท์จะสามารถสร้างตัวละครได้อย่างซับซ้อนแล้วรวมเรื่องสั้นชุดนี้แทบจะไม่มี ‘เหตุการณ์’ ของตัวเรื่องเลย เพราะเรื่องสั้นเต็มไปด้วยเรื่องของตัวละคร ราวกับว่าเรากำลังดูชีวิตและจิตใจของตัวละครในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องแต่เราจะไม่เห็น ‘เรื่อง’ หรือ บทบาทของ ‘เรื่อง’ หรือเหตุการณ์ที่เป็นบริบทของตัวละครมากไปกว่าการได้เห็นตัวละครเหล่านี้ ในแง่หนึ่งผมคิดว่าวิธีการนำเสนอตัวละครให้โดดเด่นเหนือองค์ประกอบอื่นๆ ในวรรณกรรมเช่นนี้มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมเน็ตไอดอลหรือไอดอลที่เป็นที่นิยมในวัฒนธรรมประชานิยมอยู่ในขณะนี้ ข้อสังเกตของผมนี้หาได้เป็นการประเมินค่าว่าดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด เป็นเพียงข้อสังเกตที่ผมสนใจเท่านั้นเอง

ความเศร้าโศก เปราะบาง ที่มีอดีตแต่หาอนาคตไม่ได้

ความเศร้าโศกและความเปราะบางของตัวละครทุกตัวในเรื่องสั้นชุดนี้มีสาเหตุที่น่าสนใจอยู่ที่ความสัมพันธ์กับผู้อื่นในชีวิตของตัวละครแต่ละตัวนั้นล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จยิ่งไปกว่านั้นมันยังได้ทิ้งบาดแผลเอาไว้ในเบื้องลึกที่สุดของจิตใจและมันได้พัฒนากลายเป็นบุคลิกที่สำคัญของตัวละครเหล่านั้นอีกด้วย สำหรับผมสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือแม้ตัวละครแทบทุกตัวจะมีปม มีบาดแผลทางจิตใจมากเพียงใดก็ตามแต่ก็มีตัวละครบางตัวที่สามารถจัดการกับบาดแผลของตนเองได้และยังสามารถปลอบประโลมตัวละครอื่นๆ ได้ราวกับว่าไม่มีความเศร้าโศกชนิดใดจะมาปลุกความร้าวรานที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้ในจิตใจของตัวเองอีกต่อไป

ตัวละคร ‘เรย์’ ในเรื่อง ‘ปฏิสสาร’ เป็นตัวอย่างแรกที่น่าสนใจในประเด็นนี้ ในเบื้องต้น เรย์คือคนสุดท้ายที่เคียงข้างกับ ‘ผม’ ในยามที่ ‘ผม’ กลายเป็นปฏิสสารที่ทำลายทุกสิ่งอย่างไปแล้ว หรือต้องเป็นที่นั่งฟัง ‘ผม’ บริภาษบ่นด่าในห้วงเวลาที่ไม่มีใครฟังหรือสนใจ สิ่งที่ทำให้เรย์กลายเป็นสุดท้ายที่เข้าใจว่า ‘ผม’ คิดหรือรู้สึกอะไรอย่างไรนั้นก็คือการที่เขาเคยเป็น ‘ปฏิสสาร’ มาก่อน “ผมจะดูแลคุณได้ยังไง ถ้าผมไม่เคยเศร้ากว่าคุณ” (หน้า 64) เขาบอกกับ ‘ผม’ ว่า “ไม่ต้องรู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้น คุณรู้เท่านี้ก็พอ ผมเคยเป็นปฏิสสาร แล้วปฏิสสารก็สัมผัสโลกใบนี้ มันเกิดการระเบิดครั้งใหญ่…ทำลายผมและคนอื่นๆ ยับเยิน” (หน้า 65) เราจะได้เห็นและสัมผัสว่า เรย์นั้นเคยเป็นปฏิสสารที่รุนแรงกว่า ‘ผม’ มากมายหลายเท่าจากการเห็นใบหน้าที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน

ภายใต้รอยยิ้มและความอ่อนโยนของเขา มันคือใบหน้าและแววตาของคนที่ถูกโลกกระหน่ำตีมานับครั้งไม่ถ้วน คือร่างกายที่พร้อยไปด้วยรอยแผล เขาถูกทำลายไปแล้วจริงๆ เรย์ปะทะเข้ากับบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่ธรรมดามากๆ อย่างปากกา ส้อม แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น … แต่เรย์พยายามเต็มที่ เขารวบรวมชิ้นส่วนเปลือกเหล่านั้น เอามาหยอดกาว ปะติดขึ้นมาเพื่อห่อหุ้มตัวตนภายในไว้ ฉาบชั้นนอกสุดด้วยรอยยิ้มและความอ่อนโยนชนิดดีที่สุด (หน้า 65-66)

‘เรย์’ ในเรื่อง ‘ปฏิสสาร’ กับ ‘วาฬิกา’ ในเรื่อง ‘เวฬากับวาฬิกา’ นั้นมีความคล้ายคลึงกัน จะบอกว่าเป็นตัวละครที่ ‘move on’ ความโศกเศร้าในอดีตไปแล้วก็ว่าได้ วาฬิกานั้นแม้จะก้าวข้ามความร้าวรานในใจไปแล้ว แต่มันก็ยังคงเหลือ ‘ควัน’ ของความโศกเศร้าในตัวของเขา เวฬาปรารถนาให้วาฬิกากลับไปใช้ชีวิตที่แสนจะตรอมตรมด้วยกันอีกครั้ง (อันที่จริงแล้วดูเหมือนเวฬาอยากหาคนไปรองรับอารมณ์ของตนเองมากกว่า เพราะคงไม่มีใครอยากให้คนรักของดื่มกินความโศกเศร้าอยู่ตลอดเวลา) เวฬาพยายามโน้มน้าวถึงวันเวลา (อันโศกศัลย์) ในอดีตอยู่ตลอดเวลา เอาอารมณ์ความรู้สึกมาเป็นศูนย์กลางในการ ‘รำลึก’ ถึงเวฬาผู้ตรอมตรม แต่วาฬิกาเองก็ทำหน้าที่เป็นผู้ปลอบประโลมเวฬาได้อย่างน่าสนใจ เขากล่าวกับอดีตคนรักว่า

“เขายังอยู่พี่  สบายใจเถอะ คนที่พี่รักคนนั้น เขายังอยู่ตลอดไป เขาจะไม่หายไปไหน เขาจะอยู่กับผม เขาจะอยู่ในตัวผม แต่ผมจะไม่พาเขาออกมาอีกแล้ว ผมจะไปต่อแบบโอเค ส่วนพี่ พี่ยังระลึกถึงเขาได้เสมอ อย่ากลัวไปเลย เขายังไม่ตาย และยังอยู่ตรงนั้นให้พี่คิดถึง ถ้าวันไหนพี่เหงาขึ้นมาน่ะนะ” (หน้า 130)

เราจะเห็นได้ว่า แม้ทั้ง ‘เรย์’ และ ‘เวฬา’ จะ ‘move on’ จากการเป็นผู้ตรอมตรมไปแล้วและมักแสดงให้ผู้อื่นเห็นอยู่เสมอว่า “ข้าพเจ้าหาได้ฟูมฟายต่อชีวิตอีกต่อไปไม่” แต่ความโศกเศร้านั้นก็เปรียบเสมือนโรคร้ายอย่างหนึ่ง ที่เมื่อใครได้เป็นสักครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงการเยียวยาและจัดการตัวเองไม่ให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้นในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องตัวละครแต่ละตัวไม่ได้มีใครข้ามข้ามความเศร้าโศกไปได้มากกว่าใคร แต่มันขึ้นอยู่กับว่าใครจัดการตัวเองและกักเก็บความร้าวรานเอาไว้ได้ลึกที่สุดเท่านั้นเอง

บางครั้งความพยายามในการเป็นที่รักก็นำมาสู่ความทุกข์ของตนได้เช่นกัน เช่นเดียวกับ ‘ผม’ ในเรื่อง ‘สัตว์โดดเดี่ยวประเภทโดดเดี่ยวพิเศษ’ ดังที่ผมได้อธิบายไว้แล้ว กับตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ ‘พาเวล’ ในเรื่อง ‘หยดฝนในกรุงมอสโก’ พาเวลเป็นตัวละครที่ปฏิเสธใครไม่เป็นและรู้สึกว่าตนเองต้องการเป็นประโยชน์ให้คนอื่นๆ อยู่เสมอเพราะรู้สึกว่าตัวเองนั้นไร้ค่า หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ พาเวลมองไม่เห็นคุณค่าของตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เผชิญกับภาวะซึมเศร้าเป็นอยู่ตลอดเวลา และความที่พาเวลต้องการเป็นประโยชน์กับคนอื่นมันจึงทำให้เขาต้องประสบกับความยากลำบากในชีวิตอยู่เสมอ

“ฉัน…ไม่รู้จะพูดอะไรดี ฉันคิดว่าตัวเองไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ เราโตแล้วใช่มั้ย โตพอจะรู้แล้วว่าความฝันในวัยเด็กที่จะเป็นคนยิ่งใหญ่ มันไม่มีทางเป็นจริง ฉันจะมีจุดจบอยู่ในร้านอาหารแบบนี้ตลอดไป ชีวิตไม่ได้ก้าวหน้ากว่าคนรอบตัว อาจจะห่างมาทางข้างหลังนิดหน่อยด้วยซ้ำ ปกติ ธรรมดา น่าเบื่อ และว่างเปล่า พอมีใครสักคนยินยอมให้คอยทำตัวเสียสละให้ ก็เทชีวิตเข้าหาเขา ยอมทุกอย่างเพื่อจะได้รู้สึกตัวเองมีประโยชน์ อยาก..อยากเป็นอย่างนั้น” (หน้า 109-110)

นอกจากนี้ ผมคิดว่า บาดแผลในจิตใจของตัวละครในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ความเจ็บปวดทางจิตใจของคนเรานั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีตแทบทั้งสิ้น เราอาจกล่าวได้อีกว่าความสูญเสียคือที่มาของความเจ็บปวดทางจิตใจ แต่หากพิจารณาลงไปเราอาจจะเห็นได้อีกว่าสิ่งที่เราสูญเสียนั้นเราไม่ได้สูญเสียสิ่งของหรือคนรักหรือความมั่นใจต่างๆ ในตัวเองไป แต่เราสูญเสียความสัมพันธ์ที่เรามีต่อสิ่งๆ หนึ่งที่เราเคยมีในอดีต ความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ คือสิ่งที่ช่วยยืนยันตัวตนของเราได้ว่าเราคือใคร ดำรงอยู่ในฐานะอะไรเมื่อเราสูญเสียมันไปอาจทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราสัมพันธ์และสำคัญต่อคนและสิ่งอื่นๆ อย่างไร

เมื่อพูดถึงความโศกเศร้าและเปราะบางของอารมณ์ มันทำให้ผมนึกถึงหน้าที่ของ ‘การไว้อาลัย’ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น งานศพ พิธีไว้อาลัยต่อบุคคลต่างๆ การไว้อาลัยในแง่หนึ่งคือการยืดเวลาเพื่อเยียวยาตัวเองจากความสูญเสียและอาจมีลักษณะของการ ‘แทนที่’ ความสูญเสียได้ด้วยระยะเวลาในการอาลัย ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ในจิตใจของผู้สูญเสียได้และในอีกแง่หนึ่งมันอาจเป็นเสมือนการ ‘ทดเทิด’ (Sublimation) ด้วยการแปรเปลี่ยนอารมณ์ในทางลบซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าไปสู่รูปแบบรูปแบบอารมณ์อื่นๆ ที่เบาบางลง

ความสูญเสียที่ไม่ทันได้ไถ่ถอนหรือแทนที่ด้วยรูปแบบอารมณ์อื่นๆ นั้นอาจนำไปสู่การสูญเสียตัวตน สูญเสียความรับรู้ที่เรามีต่อคนอื่นๆ รอบข้าง และมันได้กลายเป็นบาดแผลในจิตใจที่ไม่อาจรักษาได้ ด้วยเหตุนี้ การสูญเสียบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเมื่ออดีตมันจึงกลายเป็นคำสาปที่ไม่มีอนาคต มีระยะเวลาเป็นอนันต์ และไม่มีใครจะเข้าใจหรือกุมมือผู้ตรอมตรมได้มากไปกว่าผู้ตรอมตรมด้วยกันเอง

ส่งท้าย

ผมคิดว่าเราไม่อาจวางจิดานันท์ไว้ที่จุดนักเขียนรุ่นใหม่ในแวดวงวรรณกรรมไทยได้อีกต่อไป แม้ว่าผมไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้หรือผู้ที่ติดตามผลงานของจิดานันท์อย่างต่อเนื่อง แต่จากผลงานที่ต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งเธอยังเป็นนักเขียนมือรางวัลที่สำคัญคนหนึ่งในแวดวงเวทีประกวดวรรณกรรมไทย ผลงานของจิดานันท์มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ มีประเด็นที่หลากหลายและที่ผมชอบมากที่สุดคือจิดานันท์เล่นกับวัฒนธรรมประชานิยมได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเพื่อการตลาดหรือความหลงใหลในความร่วมสมัยหรือวัฒนธรรม ‘ตลาดๆ’ ‘แมสๆ’ งานของจิดานันท์กระตุ้นให้เราขบคิดกับเรื่องที่เราไม่อาจคิดด้วยวิธีการที่ ‘แมสๆ’ เข้าถึงทุกคนได้โดยไม่ต้องแสดงแสนยานุภาพทางวรรณกรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save