fbpx
ชาวบ้านต้องเสียสละ? ข้ออ้างการพัฒนากับเสียงคัดค้านอันแผ่วเบาของ ‘ดงมะไฟ’

ชาวบ้านต้องเสียสละ? ข้ออ้างการพัฒนากับเสียงคัดค้านอันแผ่วเบาของ ‘ดงมะไฟ’

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

พวกเขาอยู่กันอย่างเรียบง่ายเช่นชาวชนบทอีสานในพื้นที่อื่นๆ ทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่า หากินอยู่กับธรรมชาติ แต่เมื่อมีการยื่นขอสัมปทานเหมืองหินเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ชีวิตชาวดงมะไฟก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ชาวดงมะไฟมองป่าในฐานะแหล่งอาหาร ยามที่ไม่มีงานในไร่นาก็เข้าป่า ‘ช้อปปิ้ง’ พืชผัก สมุนไพร สัตว์ป่า แล้วจ่ายด้วยแรงกาย อันเป็นวัฒนธรรมทางอาหารที่ชาวบ้านคุ้นชิน การอยู่กับป่าแบบนี้ต้องมีความชำนาญและความรู้ อันหมายถึงการรู้จักพืชผักรอบตัวว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ไปตรงไหนจะอันตราย ซึ่งมาจากการรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

การมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติใกล้บ้านเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะมีอะไรกิน แม้ในวันที่หาเงินไม่ได้เลย

จนเมื่อปี 2536 มีบริษัทเอกชนยื่นขอสัมปทานเหมืองหินที่ภูผายา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู สร้างความหวาดหวั่นให้ชาวบ้านจนออกมาคัดค้านนับพัน เพราะบนเขานั้นมีสำนักสงฆ์และภาพเขียนสีโบราณที่ตอนหลังกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี โดยมีทนายทองใบ ทองเปาด์มาให้ความรู้เรื่องกฎหมายกับชาวบ้าน

ปีต่อมาบริษัทเอกชนย้ายมาขอสัมปทานทำหินปูนที่ภูผาฮวกซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก และมีคนถูกลอบยิงเสียชีวิต 2 คน จนถึงปัจจุบันก็ยังจับผู้ก่อเหตุไม่ได้

คนดงมะไฟยังคงเดินหน้าคัดค้านต่อเนื่องหลายปี จน 2542 กำนันซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านในการต่อสู้ถูกลอบยิงเสียชีวิต 2 คน ชาวบ้านแห่ศพไปประท้วงถึงตัวจังหวัด แต่ต่อมาก็มีการอนุญาตประทานบัตรเหมืองหินระยะเวลา 10 ปี ชาวบ้านที่ไม่พอใจจึงประท้วงปิดถนนเข้าเหมืองและถูกสลายการชุมนุม

เอกชัย ศรีพุทธา เป็นหนึ่งในแกนนำประท้วงปิดเหมืองในวันนั้น ทั้งที่ชาวบ้านมีมติร่วมกันแล้วว่าจะไม่เข้าไปแตะข้าวของในเขตเหมือง แต่จู่ๆ ก็เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นตรงที่พักคนงานและโรงเก็บอุปกรณ์ของเหมือง ขณะที่เอกชัยจับไมค์คุยกับชาวบ้านอยู่

สุดท้ายผู้ชุมนุม 12 คนถูกดำเนินคดีข้อหาวางเพลิง เอกชัยเล่าว่าชาวบ้านที่ต้องขึ้นศาลเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด เขาและเพื่อนอีกคนหนึ่งจึงยอมรับผิดในคดี ทำให้ศาลตัดสินจำคุกพวกเขาและยกฟ้องอีก 10 คนที่เหลือ

“ตอนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมสบายใจว่าสิ่งที่ทำลงไป เราไม่ได้ทรยศพื้นที่ เรารักผืนป่า รักธรรมชาติ ภูมิใจที่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ”

เอกชัยพูดอย่างเรียบง่ายพร้อมแววตาที่ไม่หวั่นกลัวใดๆ หลังอยู่ในเรือนจำ 6 เดือนเขาก็ออกมาร่วมต่อสู้กับทุกคน จนถึงปัจจุบันเสียงคัดค้านของพวกเขาก็ยังคงไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ

เอกชัย ศรีพุทธา
เอกชัย ศรีพุทธา
พื้นที่เปิดหน้าเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน โครงการมีพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย-นากลาง
พื้นที่เปิดหน้าเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน โครงการมีพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย-นากลาง

เสียสละเพื่อใคร?

 

“ต้องมีคนเสียสละ ต้องมีการพัฒนา”

คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจจากหน่วยงานราชการพูดกับชาวบ้านที่ไปคัดค้าน และหวังให้พวกเขาสยบยอม พวกเขาไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่คำถามที่สะท้อนออกมาคือพวกเขาเสียสละไปเพื่อใคร เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอกชน และสิ่งนี้เป็นการพัฒนาจริงหรือ

ปัจจุบันบริษัทเอกชนที่ทำเหมืองหินมีใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนฯ และถือประทานบัตรในช่วงปี 2553-2563 ซึ่งจะมีการต่ออายุใหม่ในปีหน้า ท่ามกลางความกังวลของชาวดงมะไฟที่คัดค้านเรื่อยมาถึงปัจจุบันว่าการทำเหมืองจะยืดไปอีก 10 ปี

เหมืองหินเริ่มระเบิดภูผาฮวกและลำเลียงแร่มาแล้ว 2 ปี โดยยังมีคดีเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได และ สถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน ได้ทำรายงานสรุปผลกระทบต่อชุมชน[1] ระบุว่ามีผลกระทบ 5 ประการ

1. ปักหมุดเขตรุกที่ทำกินชาวบ้าน ปี 2553 บริษัทที่ได้รับสัมปทานได้ปักหมุดพื้นที่สัมปทานบางส่วนรุกล้ำที่ทำกินของชาวบ้านโดยเจ้าของที่ไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ให้ความยินยอม โดยรอบโครงการเป็นที่ดิน ภบท.5 ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มานานแต่ไม่มีการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพราะอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทำให้ชาวบ้านตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์ว่า เหตุใดเมื่อมีการขอสัมปทานภูเขาซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ภาครัฐจึงไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้าน

2. เศษหินจากการระเบิด โครงการเริ่มระเบิดเปิดหน้าเหมืองปี 2558 ทำให้มีเศษหินกระเด็นไปตกในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านรอบโครงการจนพืชผลเสียหาย บางแปลงเข้าไปทำงานไม่ได้ต้องปล่อยทิ้งร้าง บางแปลงเจ้าของไร่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเอาเศษหินออกจากแปลงและเสี่ยงอุบัติเหตุต่อชาวบ้าน

ก่อนการระเบิดช่วง 16.00-17.00 น. จะมีการแจ้งเตือนก่อนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยรอบ ทำให้ชาวบ้านเสียเวลาทำงานในวันที่มีการระเบิด แม้ว่าต่อมาเมื่อเหมืองเริ่มขุดลึกลงไปจะมีหินกระเด็นออกมาน้อยลงแต่ก็ยังสร้างความกังวลใจให้ชาวบ้าน

3. กระทบถนนในชุมชน เหมืองต้องใช้รถบรรทุกหรือรถพ่วงในการขนหินไปบนถนนเส้นหลักของหมู่บ้านวันละไม่ต่ำกว่า 20 เที่ยว สร้างความยากลำบากและความเสี่ยงในการใช้ถนน ชาวบ้านบางส่วนต้องเปลี่ยนเส้นทางเข้าไร่นาไปใช้ถนนที่อ้อมกว่า เพราะถนนเดิมมีการตั้งด่านกั้นทางเข้าเหมือง และมีชาวบ้านน้ำปู่ ต.บ้านหยวก อ.น้ำโสม อุดรธานี ที่เคยให้รถบรรทุกแร่ผ่านหมู่บ้าน แต่พอถนนเริ่มพังและกระทบการสัญจรคนในหมู่บ้าน จึงมีมติให้รถบรรทุกแร่หินหยุดวิ่งผ่านหมู่บ้าน

4. ผลกระทบทางสุขภาพจากเสียงและแรงสั่นสะเทือน การระเบิดหินจะทำช่วงเย็น โดยไม่มีการกำหนดวัน บางช่วงระเบิดทุกวัน บางช่วงระเบิดวันเว้นวัน เสียงระเบิดจะดังไปไกล 5 กม. คนที่อาศัยในระยะ 1 กม.จะได้รับผลกระทบมากสุดและสร้างความรำคาญทั้งวัน เพราะหลังระเบิดจะมีการบดหิน ขนหิน บางวันขนหินเสร็จช่วงตี 4-5 ซึ่งผู้คนกำลังหลับพักผ่อน และในช่วงหลังมีการร่อนหินตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 2

5. ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ในพื้นที่สัมปทานมีถ้ำที่สำคัญและสวยงามหลายแห่ง มีหลายถ้ำยังไม่ได้สำรวจอย่างเป็นทางการ และมีถ้ำผาน้ำลอดเป็นทางน้ำไหลไปรวมกับลำห้วยปูนที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน แล้วไหลไปสู่แม่น้ำโขง

เดชา คำเบ้าเมือง นักวิชาการอิสระ เล่าว่าอำเภอสุวรรณคูหามีพื้นที่แหล่งแร่ 2 แปลงใหญ่ รวมเนื้อที่เป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่แร่ในหนองบัวลำภู โดยพื้นที่เหมืองปัจจุบันคือภูผาฮวก 300 ไร่ และในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขอสัมปทานที่ผาจันไดจำนวน 200 ไร่ด้วย

“กระบวนการที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง มีความขัดแย้งกับประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น มีการสังหารแกนนำการต่อสู้ 4 คนและมีชาวบ้านติดคุก ทั้งที่หลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนต้องไม่มีความขัดแย้งกับชาวบ้าน แต่หน่วยงานที่อนุมัติเอาแค่มติ อบต. มาใช้โดยความขัดแย้งกับประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข”

เดชา บอกว่า ชาวบ้านเคยช่วยกันคำนวณว่าพื้นที่นี้สามารถหาหน่อไม้ได้รวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 70,000 กก. แล้วยังมีสมุนไพร เห็ด หนู คำนวณเป็นเงินปีละ 113 ล้านบาท โดยปริมาณแร่หินปูนของโครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท แต่รัฐจะได้ค่าภาคหลวงประมาณ 194 ล้านบาท จึงอยากให้คิดถึงความคุ้มค่าในฐานะพื้นที่แหล่งอาหารของชาวบ้านและหากมีการต่อสัมปทานอีก 10 ปีข้างหน้า ภูเขานี้ก็จะหมดไปในที่สุด

ถ้ำศรีธน หนึ่งในถ้ำจำนวนมากที่พบในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่สัมปทาน มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในกว้างขนาดจุคนได้ 100 คน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ที่ชาวบ้านนับถือและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ถ้ำศรีธน หนึ่งในถ้ำจำนวนมากที่พบในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่สัมปทาน มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในกว้างขนาดจุคนได้ 100 คน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ที่ชาวบ้านนับถือและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สมควร เรียงโหน่ง
สมควร เรียงโหน่ง

ขอเจ้าของพื้นที่ร่วมตัดสินใจ

 

“ไม่ใช่ว่าไม่กลัว แต่มันจำเป็น เวลาไปนอนที่นาผมก็บอกลูกหลานว่าไม่ต้องมานอนเป็นเพื่อน ถ้าเกิดอะไรจะได้เกิดกับผมคนเดียว เราต้องต่อสู้เพราะมันไม่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น”

สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เล่าถึงความรู้สึกของเขาที่เป็นผู้นำการรวมตัวของชาวดงมะไฟในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องการคือการมีส่วนร่วมตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่เป็นบ้านของพวกเขา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาคือเสียงของพวกเขาถูกทำให้ไม่ได้ยิน และกระบวนการหลายขั้นตอนไม่โปร่งใส

สมควรบอกว่าในอดีตช่วงที่มีการต่ออายุประทานบัตร ทาง อบต. ใช้เอกสารประชาคมปลอม จนเป็นประเด็นฟ้องร้องและมีการตัดสินลงโทษคนปลอมเอกสาร แต่ยกฟ้องผู้ที่นำเอกสารไปใช้

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจคนในพื้นที่ เมื่อไม่มีความพยายามที่จะให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“การขอสัมปทานผิดมาตั้งแต่ต้น อยากให้ยกเลิกหมดแล้วเริ่มใหม่แต่ต้น ถ้ายังยืนยันอยู่ก็ให้ลงมาทำประชาคมให้โปร่งใส โดยมีหน่วยงานที่ชาวบ้านเชื่อถือเป็นผู้จัดทำ เพราะที่ผ่านมาทำอย่างไม่ถูกต้อง” สมควรกล่าว

ปัญหาเหมืองหินยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อมีการนำเรื่องต่ออายุสัมปทานเหมืองหินบรรจุวาระการประชุม อบต. ผิดขั้นตอน และมีการนำเอาประชาคมที่ถูกสั่งระงับมาบรรจุเข้าวาระประชุมให้สมาชิกรับทราบ

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการคัดค้านของคนดงมะไฟที่คาดหวังว่าหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดคนในพื้นที่ควรช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชาวบ้าน แต่กลับเป็นผู้ที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น

การจะทำโครงการต่างๆ ต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แต่เหตุใดที่ผ่านมาเสียงคัดค้านของชาวดงมะไฟจึงไม่เคยถูกนับรวมไปพิจารณา

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการ Community Health Impact Assessment (CHIA) อธิบายว่า เหมืองแห่งนี้มีการทำอีไอเอฉบับแรกผ่านในปี 2543 และมีการปรับปรุงรายงานในปี 2554 โดยในการศึกษาผลกระทบต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำข้อกังวลไปศึกษา แล้วมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนอีกครั้ง จากนั้นจึงส่งรายงานไปให้หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านดงมะไฟเลย นอกจากนี้ต้องมีการทำรายงานติดตามผล แต่กลับไม่มีสถานีวัดฝุ่นและวัดเสียง จึงถือว่ากระบวนการติดตามผลกระทบขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบต่างๆ

“ในการต่อใบอนุญาต ผู้ประกอบการต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อมเสนอกรมเหมืองแร่ ซึ่งต้องรวมเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านด้วย แต่ไม่ได้กำหนดให้เปิดรับฟังความคิดเห็น จึงกังวลว่าข้อร้องเรียนจะไม่อยู่ในรายงานนั้น”

สมพรบอกว่าต้นเหตุของเรื่องนี้เกิดจากการกำหนดนโยบายที่เจ้าของพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม เป็นการกางแผนที่จิ้มกันว่าตรงไหนเป็นภูเขาหินปูนที่ต้องระเบิดบ้างแล้วให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์ ทำให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ในฐานะผอ. CHIA เธอให้ความเห็นว่า ควรมีการทำนโยบายจัดสรรทรัพยากรหินกันใหม่ให้สาธารณะมีส่วนร่วม โดยต้องมองว่าหินอุตสากรรมนั้นนำไปใช้เพื่อใคร มีใครเสียประโยชน์และใครได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป จะใช้อย่างไรให้ยืนยาวหรือใช้วัสดุอื่นทดแทนได้ หากพื้นที่ใดมีทรัพยากรหินแต่ไม่เหมาะสมจะทำเหมืองก็ควรสั่งห้าม

“การวางนโยบายต้องพิจารณาตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ การเข้าถึงอาหาร น้ำ และอากาศ คนจนจะเอาอะไรกิน เราจะเก็บแหล่งอาหารให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมไหม”

สมพรยืนยันว่าหากมีการพิจารณาเชิงนโยบายเสร็จแล้ว ควรจะมีการทำอีไอเอในพื้นที่ดงมะไฟใหม่ ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริง

กรมศิลปากรติดตามรอยแยกในผนังถ้ำศรีธน เพื่อศึกษาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่หิน
กรมศิลปากรติดตามรอยแยกในผนังถ้ำศรีธน เพื่อศึกษาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่หิน
พื้นที่การเกษตรบริเวณหน้าเมือง
พื้นที่การเกษตรบริเวณหน้าเมือง

ถึงเวลาได้ยินเสียงที่ถูกละเลย

 

ปัญหาความขัดแย้งในดงมะไฟที่เกิดขึ้นมายาวนานนี้ถึงเวลาที่ต้องมีทางออก

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เห็นว่าทางออกของเรื่องนี้คือต้องเคารพกติการ่วมกัน รัฐธรรมนูญทุกฉบับให้หลักเกณฑ์ว่าการพัฒนาต้องเคารพต่อสิทธิของชาวบ้าน เป็นสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ โครงการนี้มีผลกระทบและความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน หากจะมีการต่ออายุสัมปทานอีกสิบปีต้องมีการให้ข้อมูลถึงผลกระทบอย่างชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ

“อยากให้กำลังใจ อบต. ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจว่าทุกโครงการที่จะเกิดในตำบล อบต. ต้องให้ความเห็นชอบ แต่จะเห็นชอบได้ต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนตัดสินใจ อบต. มีทั้งอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องรับฟังความเห็นให้ครบถ้วนก่อนมีมติใดๆ และการทำประชาคมใหม่ต้องรับฟังความเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพราะหากฟังแต่คนที่เห็นด้วยก็จะเกิดปัญหาอีก” สุนีกล่าว

สำหรับคำตอบจากภาครัฐ จรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา บอกว่า “ราชการและประชาชน อาจใส่แว่นกันคนละสี ทุกปัญหา อบต. รู้ไม่ดีเท่าชาวบ้าน สิ่งที่พี่น้องรักที่สุดคือสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ทุกปัญหาต้องแก้โดยพี่น้องประชาชนและกระบวนการการมีส่วนร่วม”

ทางอำเภอได้แจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึงการคัดค้านทางข้อมูลต่างๆ และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยให้ อบต. พิจารณาหลักฐานประชาคม เอกสารการชำระภาษี รายงานการศึกษาผลกระทบ รายงานกองทุนผู้ได้รับผลกระทบ และเอกสารที่เกี่ยวข้องตามระเบียบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยืนยันว่าเอกสารต้องสมบูรณ์ที่สุดและต้องมีมติจากประชาพิจารณ์ ซึ่งในช่วงนี้จะยังไม่มีการอนุมัติต่อใบอนุญาตใดๆ นอกจากนี้ทางอำเภอยืนยันจะเป็นตัวกลางประสานงานเรื่องการทำประชาพิจารณ์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

นับเป็นความเคลื่อนไหวอีกระลอกของชาวดงมะไฟที่ต่อสู้กันมายาวนาน และได้แต่หวังว่าเสียงของพวกเขาจะถูกรับฟัง โดยที่ไม่มีการสูญเสียหรือมีใครต้อง ‘เสียสละ’ เพื่อข้ออ้างเรื่องการพัฒนาที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใคร

พื้นที่การเกษตรบริเวณหน้าเมือง


[1] ลมิตา เขตขัน และ เดชา คำเบ้าเมือง. (2562). สรุปสถานการณ์ผลกระทบต่อชุมชน กรณีโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save