fbpx

ด้วยรัก ความรุนแรง และครอบครัวสลาย: ปิดตาธิปไตยกับความรุนแรงในครอบครัว

สมมติคุณเจอผู้ชายที่อยากปักหลักใช้ชีวิตร่วมกันกับคุณ…

เขาดีกับคุณทุกอย่าง เข้าหาพ่อแม่คุณ อยากจะแต่งงานกับคุณ สามารถหาเงินดูแลครอบครัวโดยที่คุณไม่ต้องออกไปทำงานด้วยซ้ำ แล้วนับแต่นั้น ชีวิตของคุณก็มีแค่เขาเพียงคนเดียว

ฉับพลันเมื่อชีวิตคุณเปลี่ยน จากที่เคยมีงาน มีบ้าน มีเพื่อน มีเงิน เป็นของตัวเอง ผู้ชายคนนี้กลับตัวพองโตขยายใหญ่ขึ้น ครอบคลุมเอาไว้ทุกอย่างจนคุณไม่เหลืออะไร แล้วเริ่มทำร้ายคุณเมื่อมีเรื่องไม่ถูกใจเขา

ถ้าคุณเริ่มรู้สึกแล้วว่านี่ไม่ใช่ความรักอย่างที่ควรจะเป็น มีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องมากๆ ในเรื่องนี้ คุณจะวิ่งหนีออกมาโดยปราศจากความหวาดกลัวว่าจะถูกตามล่าได้หรือไม่ และคุณจะยอมแบ่งเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่เพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดหรือไม่ หากสุดท้ายแล้วคำตอบคือการกลับมาอยู่ด้วยกัน

ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้เผยแพร่สถิติความรุนแรงในครอบครัวในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63 – ก.ค.64) พบว่า มีผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัวจำนวน 1,837 ราย กว่า 81% เป็นผู้หญิง และเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในบ้านพักอาศัยของตนเองมากถึง 88%

จากประเด็นความรุนแรงในครอบครัวนี้ 101 คุยกับ จอมเทียน จันสมรัก ผู้จัดการรายกรณีหรือ  case manager ที่เปรียบเหมือนตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างผู้ถูกกระทำกับหน่วยงานต่างๆ ในการทวงคืนชีวิตที่ปกติก่อนเกิดเหตุการณ์เลวร้ายของผู้ถูกกระทำ และจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในนามองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงและบูรณาการการมีส่วนร่วมของสังคม ว่าด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่ได้เกิดเพราะเหล้าขวดเดียว

กระบวนการหนีเสือปะจระเข้

หลายครั้งที่เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เรายังคงได้ยินคำครหามากมายที่มักบอกผู้ถูกกระทำว่า ‘ทำไมไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี’ หรือ ‘ปกป้องตนเอง’ บ้าง

ในฐานะที่เคยช่วยเหลือผู้ถูกกระทำหลายราย จอมเทียนเล่าให้ฟังว่า “ปกติเคสที่มาหาเรา ไม่ใช่ครั้งแรกของเขาหรอกที่พยายามหาความช่วยเหลือ ทุกเคสไปแจ้งความมาแล้วแต่ตำรวจไม่รับ” 

ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในหลายกรณี ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น แต่ผู้ที่ถูกกระทำในสถานการณ์อื่นก็ตกอยู่ในภาวะยากลำบากเช่นกัน จากจุดบกพร่องในกระบวนการทางกฎหมาย โดยจอมเทียนชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาตั้งแต่กระบวนการสอบปากคำ

“ในระหว่างการสอบปากคำ ต้องมีการแจ้งสิทธิที่เขามี เช่น กรณีที่เคสถูกข่มขืนรุมโทรม เขามีสิทธิขอคุยกับพนักงานสอบสวนหญิง หรือเอาบุคคลที่ไว้ใจอย่างนักจิตวิทยาหรือทนายเข้าไปอยู่ด้วยระหว่างสอบปากคำ และมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ตอบบางคำถามที่ไม่สบายใจ แต่ไม่เคยมีตำรวจแจ้งสิทธิเหล่านี้เลย บางทียังมีคำถามอยู่เลยว่ากางเกงในฝ่ายชายสีอะไร ซึ่งเป็นเรื่องล้าหลังมาก”

นอกจากการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จอมเทียนเสริมว่าองค์กรอิสระที่พร้อมช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงโดยไม่มีข้อแม้ก็มีอยู่อย่างจำกัด บางองค์กรพิจารณาการช่วยเหลือโดยเลือกกรณีที่มีความเป็นเหยื่อสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ กรณีที่ผู้ถูกกระทำมีความหลากหลายทางเพศ หรือประกอบอาชีพที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เช่น พนักงานขายบริการ ฯลฯ มักจะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะสังคมไม่ได้มองว่าพวกเขาเหมาะที่จะรับบทเหยื่อ

หลายหน่วยงานขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปัญหาความรุนแรง จนกลายเป็นว่าการให้คำปรึกษาทำให้ผู้ถูกกระทำเจ็บปวดมากขึ้น ยังคงมีการใช้ทัศนคติแบบกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผลกระทบที่ตามมา ไม่เพียงจะทำให้ผู้ถูกกระทำหลุดออกจากกระบวนการยุติธรรมโดยง่ายและเกิดความสิ้นศรัทธาในตัวกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่หลายคนหมดความเชื่อมั่นในตัวเองไปโดยสิ้นเชิง ณ จุดนั้น พวกเขารู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือได้แล้ว หวาดกลัวไปหมดว่าเขาโดดเดี่ยวโดยลำพังในประเทศนี้ ตำรวจก็ไม่ช่วย หน่วยงานก็ไม่ช่วย แล้วเขาจะทำอย่างไร

“คนถูกกระทำไปถึงจุดที่ต้องหนีจากความตาย ในขณะที่ผู้กระทำนอนกระดิกเท้าอยู่บ้านสบาย ตำรวจไม่มีอำนาจไปไล่คนที่ขู่ฆ่าเมียออกจากบ้านได้หรอก” จอมเทียนกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

จอมเทียน จันสมรัก
ที่มาภาพ Jomtian Jansomrag

ด้านจะเด็จ ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสริมประเด็นว่า ยังมีการเพิกเฉยต่อคดีหลังรับแจ้งความมาแล้วด้วย ซึ่งทำให้ผู้ถูกกระทำหลายคนไม่อยากมาแจ้งความ “บางทีตำรวจก็รับแจ้งความเฉยๆ ไม่มีการเอาผู้ชายมาคุยหรือปรามเขา บางทีก็เงียบไป ซึ่งไม่นำมาสู่การไกล่เกลี่ย เราเจอเคสที่แจ้งความ 7 ครั้งแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาของกระบวนการอาจจะไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมถึงกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งมาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมา ทำให้ลักษณะการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นแบบนี้”

การทำงานขององค์กรอิสระหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่มีหัวใจเปิดกว้าง จึงเริ่มต้นอย่างมีหวังในขณะที่ผู้ถูกกระทำสิ้นหวังมากเต็มที ลำดับต่อไปคือการนำความเจ็บปวดที่เคยถูกปัดตกให้เข้าสู่ระบบให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่แจ้งความด้วยกัน เพื่อให้อำนาจของผู้ถูกกระทำเสมอกับตำรวจขึ้นมาบ้าง ทั้งศิลปะในการพูดจาหว่านล้อม ไปจนถึงการข่มขู่ที่อาจลงท้ายด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่ก็ตาม

เพราะรัฐไทยอ่อนไหวกับคำว่าครอบครัว

ไม่ใช่เพราะสงสัยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีปัญหาอะไรบ้าง แต่เพราะสงสัยว่ากฎหมายแบบไหนที่เลือกรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้มากกว่าความปลอดภัยของคน

จอมเทียนเปิดประเด็นด้วยการเผยให้เห็นความจริงอันน่าเศร้า ถึงเหตุการณ์ที่เคยมีเด็กสาวกระโดดลงจากชั้น 2 ของศาล หลังจากที่ศาลตัดสินไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ แม้ผู้เป็นพ่อที่ทุบตีแม่อย่างโหดร้ายจะตามรังควานและข่มขู่เอาชีวิต เนื่องจากศาลไม่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน

“คิดดูว่าคุณเป็นลูก คุณเห็นแม่โดนกักขัง โดนตี โดนฟาด พ่อข่มขู่จะฆ่าแม่ จนคุณต้องไปขอคำสั่งคุ้มครองจากศาลเพื่อให้ปลอดภัยจากผู้ใช้ความรุนแรง แต่ศาลกลับปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ น้องเขาจึงคิดว่าต้องให้ตายไปเลยหรือเปล่าถึงจะเรียกว่ากรณีฉุกเฉิน”

“คนที่เราสู้ด้วยไม่ได้มีแค่ผู้กระทำ แต่รัฐก็เหมือนจะอยู่ตรงข้ามเราตลอดเวลา เราปกป้องเคสของเราจากผู้กระทำ แล้วเรายังต้องปกป้องเคสจากรัฐที่ขอให้ไกล่เกลี่ยแล้วกลับไปเป็นบ้านที่รักกันเหมือนเดิม” จอมเทียนกล่าว

ด้านจะเด็จชี้ว่า รัฐไทยยังมองไม่เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความรุนแรงมีสิทธิกลับตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งตัวจะเด็จเองเห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่ถึงอย่างไรหัวใจหลักของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือการให้การคุ้มครองผู้ถูกกระทำก่อนเป็นอันดับแรก

“เราต้องให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจ ถ้าเขาเลือกไม่กลับไป คุณก็ต้องจบ ไม่ต้องไปประนีประนอมให้เขากลับไปเป็นครอบครัว แต่ถ้าดูข้อสรุปแล้วเขายังอยากให้โอกาส รัฐต้องมีกลไกในการการันตีว่าสามีจะไม่กลับไปกระทำความรุนแรงซ้ำ เช่น มีข้อตกลงให้เห็นว่าสามีต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่มีสิทธิมาเข้าใกล้ผู้ถูกกระทำเป็นระยะเวลา 3 เดือน ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ก็จะนำไปสู่การออกกฎหมายที่ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ” จะเด็จเสนอแนะ

“เรื่องความรุนแรงในครอบครัว หน่วยงานรัฐไม่มีกระบวนการช่วยเหลือทางกฎหมายเลย อย่างมากสุดก็คืออยู่บ้านพักหรือให้คำปรึกษาแนะนำขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าเขาต้องการเลิก ต้องการเอาผิดกับสามี หรือเอาผิดกับคนที่ใช้ความรุนแรงทางเพศ มันไม่มีกระบวนการยุติธรรมรองรับตรงนี้ ดังนั้น เคสที่เข้าไปขอรับความช่วยเหลือในหน่วยงานรัฐต่างๆ ก็จะหยุดอยู่แค่บ้านพัก ซึ่งทำให้มูลนิธิเราทำงานต่อยาก”

มีหลายเรื่องที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและจะเด็จต่อสู้มาอย่างยาวนาน โดยมี 4 ประเด็นใหญ่ที่เขาพยายามส่งเสียง

หนึ่ง การปรับหลักสูตรในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยให้ความสำคัญ ปัจจุบันรูปที่เด็กนักเรียนใช้เขียนอ่าน ยังคงมีรูปที่เพศหญิงถูกกดทับเต็มไปหมด มีคำถามที่เต็มไปด้วยมายาคติที่ผิดเพี้ยนเรื่องครอบครัว จะเด็จเห็นสมควรว่าต้องยกเลิกเป็นการด่วน เพราะรากฐานสำคัญต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ประถมวัย เยาวชนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่แค่หญิงชาย อันจะนำมาสู่ความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นได้จริงในสังคม 

สอง การปฏิรูปละครหรือสื่อต่างๆ ที่ฉายให้เห็นภาพความรุนแรงทางเพศ การข่มขืน ถ่ายทอดเรื่องราวของความสัมพันธ์เป็นพิษที่ลงเอยด้วยความรัก เป็นการผลิตซ้ำชุดความคิดผิดๆ ที่ไม่สามารถใช้การได้ 

สาม ในสถาบันครอบครัว ควรจะรณรงค์ให้มีการทำกิจกรรมในบ้านไม่ว่าจะเป็นเพศใด ไม่ผูกบทบาทหน้าที่ไว้กับเพศหญิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

และสี่ ชุมชนจะต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลไม่ให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น โดยต้องอาศัยหน่วยงานรัฐอย่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในการสร้างกลไกบูรณาการที่จะเชื่อมโยงสหวิชาชีพต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับเล็กสุดอย่างชุมชนหรือในระดับจังหวัดก็ตาม

ส่วนในทัศนะของจอมเทียน จุดแรกที่ต้องมองให้ออกคือคนในสังคมต้องล้มเลิกความคิดที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาส่วนตัว และต่อจากนั้นคือการร่วมกันกดดันให้รัฐบาลรับรู้ว่ากฎหมายหรือหลักการใดใดที่มีอยู่ไม่สามารถใช้การได้จริง เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ถูกกระทำออกมาจากความรุนแรงในครอบครัวได้ยาก สังเกตได้จากนโยบายของรัฐที่ออกมาในรูปแบบของการ ‘เลิกเหล้าเท่ากับหยุดความรุนแรงในบ้าน’ รัฐยังคงคิดว่าต้นเหตุของความรุนแรงอยู่ในระดับปัจเจกอย่างการดื่มแอลกอฮอล์เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

“เป้าหมายของรัฐในการจัดการกรณีความรุนแรงในครอบครัวคือการให้กลับไปอยู่ในครอบครัวที่สมบูรณ์ เขาจึงไม่สนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำสู้และแจ้งความจนถึงที่สุด ระบบของรัฐยังมองไม่เห็นว่าความรุนแรงทางใจ ความรุนแรงทางการเงิน การจำกัดการเข้าถึงทรัพยากร หรือความเพิกเฉยของรัฐก็ถือเป็นความรุนแรง รัฐมองเห็นแค่ความรุนแรงทางกาย ซึ่งเป็นแค่ยอดเล็กๆ ในพีระมิดของความรุนแรงระหว่างคู่”

จอมเทียนอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น ด้วยการสร้างสถานการณ์ตัวอย่างให้จินตนาการไปพร้อมกัน เมื่อผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นเมีย เป็นแม่ มีลูกสองคน มีพ่อและแม่เป็นคนแก่อยู่ที่บ้าน และมีสามีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ชอบทำร้ายร่างกายถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหาก ‘แม่’ คนนี้ต้องการหย่าร้าง

“เธอต้องหยุดงาน 1 วันมาแจ้งความ ต้องหยุดงาน 3 วันมาให้ปากคำ แล้วปากท้องของคนในบ้านจะเป็นอย่างไร ที่จริงรัฐต้องเข้ามาช่วยด้วยการให้ทุนฉุกเฉินสำหรับช่วยเหลือเด็ก ซึ่งมันมี แต่เคสรู้ไหมว่ามี ถ้าแม่ที่เป็นหลักของบ้านไม่สามารถดูแลคนแก่ได้ คนแก่ในบ้านจะสามารถไปบ้านพักคนชราของรัฐได้ไหม และบ้านพักนั้นดีพอให้คนชราไปอยู่หรือไม่ อย่างน้อยลดภาระ ลดความเครียด ให้แม่คนนี้ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

“แต่ในไทยทุกอย่างเต็ม คุณไปนอนบ้านพักเด็กได้นะ แต่คุณไม่มีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง เคยมีเคสน้องคนหนึ่งปีนหนีออกมาจากบ้านพักเด็กหลังอยู่ได้ 2 อาทิตย์ น้องยอมกลับมาโดนพ่อทำร้ายดีกว่าต้องเข้าไปอยู่ในนั้น ทำไมรัฐถึงไม่เอางบมาพัฒนาเรื่องพวกนี้” 

“ภาระของแม่ที่กำลังต่อสู้กับความรุนแรงในบ้านจะหายไปถ้ามีรัฐสวัสดิการที่ดี ดังนั้น รัฐไม่อยากให้แม่คนนี้ออกมาหรอก เขาอยากให้แม่คนนี้อยู่ตรงนั้นตลอดไป เพื่อแบกรับคนแก่และเด็กที่รัฐไม่อยากช่วยแบก” เธอสรุปความ

โครงสร้างที่กดทับเช่นนี้ทำหลายคนถอดใจ เลือกที่จะอดทนถูกทุบตี และประคับประคองครอบครัวที่สายใยพังทลาย ดีกว่าต่อสู้เพื่อแยกตัวไปเริ่มต้นใหม่ จอมเทียนขยายประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างจากรัฐว่ายังเป็นเรื่องยาก เพราะประเด็นความรุนแรงจมไปในกองเอกสาร

“ใช่ว่าเอ็นจีโอหลายคนจะไม่เคยไปร้องเรียน แต่รัฐเหมือนอยู่ในโลกที่มีกระดาษปิดเอาไว้ และมองไม่เห็นเลยว่ามันใช้ไม่ได้ บางประเด็นผลักดันไปเป็น 10 ปีก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย เพราะในหนึ่งวันรัฐมีหนังสือร้องเรียนไปประมาณพันฉบับ เรื่องความรุนแรงของเราก็หายจมไปในกองเอกสาร 

“เราทำงานเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐไม่ขยับ เราก็ไม่ได้มีพลังเท่ารัฐที่จะกระจายศูนย์ความรุนแรงในครอบครัวให้ได้พันกว่าศูนย์ทั่วประเทศ ต้องเปลี่ยนตั้งแต่นโยบาย ข้างล่างถึงจะเปลี่ยน” จอมเทียนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง

เรื่องของชาวบ้านคืองานของเรา

เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยย่อยของรัฐ แน่นอนว่าความมั่นคงของสถาบันครอบครัวจึงต้องส่งผลต่อคุณภาพของประชากรโดยตรง และนั่นหมายถึงสังคมที่ดี คำถามคือ ทำไมใครหลายคนที่ฝักใฝ่ในประชาธิปไตยและหวงแหนเสรีภาพบนร่างกายตัวเอง ถึงเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นและอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อหนึ่งคนขอความช่วยเหลือจากการถูกทำร้าย เหตุใดจึงปฏิเสธความเจ็บปวดของเขา

“ถ้าเรามองในส่วนย่อยของสถาบันครอบครัว ไปที่สถาบันชุมชน ไปที่สถาบันรัฐ เห็นสิ่งที่รัฐกระทำกับประชาชน รัฐไม่ค่อยสนใจและไม่ได้ดูแลเรา แต่รัฐใช้งานเรา เราวิจารณ์อะไรไปรัฐก็เพิกเฉย ก็เหมือนกับที่ชุมชนเพิกเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ปล่อยให้ผู้ถูกกระทำดูแลตัวเอง เราว่าบางทีความรุนแรงในบ้านก็เป็นภาพจำลองของความรุนแรงระดับใหญ่ ที่รัฐเพิกเฉย ละทิ้ง ทอดทิ้งประชาชนในทุกด้าน” จอมเทียนชี้แจง

มากกว่ารอยแผลบนเรืองร่างคือการถูกทำให้ตายอย่างไร้ปราณี จะเด็จพูดถึงประเด็นการเข่นฆ่ากันในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มนุษย์คือทรัพยากรที่ต้องลงทุนในระยะยาว ต้องมอบโอกาสในการขวนขวาย มอบโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นแรงงานสร้างรายได้หมุนเวียนประเทศ แล้วหนึ่งชีวิตนี้จะไม่สมควรค่าแก่การถูกจดจำได้อย่างไร หากหนึ่งคนถูกทำให้ตาย อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เรายังคงนิ่งเฉย

“การฆ่ากันมันรุนแรงมาก ปีหนึ่งเราสูญเสียบุคลากรสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เราจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวได้อย่างไร ใครฆ่ากันแล้วเราเคยชินนี่มันไม่ถูก ยิ่งเราไม่ช่วย เราไม่เป็นปากเป็นเสียงให้หน่วยงานรัฐ เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งคนข้างบ้านเขาเกิดฆ่ากันขึ้นมา” จะเด็จตั้งคำถาม

เขาเสนอว่าถึงอย่างไร สังคมก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคำว่าครอบครัว มายาคติของความเป็นครอบครัวไทย ไม่ได้เป็นแค่หลักคำสอนของบ้านใดบ้านหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมส่งต่อกันมาทางวัฒนธรรม เป็นเหมือนข้อบังคับใช้ทางเพศ จากความคิดแบบอนุรักษนิยมที่เชื่อว่าครอบครัวจะต้องมีผู้นำซึ่งเป็นผู้ชายคอยดูแลภรรยาและลูก เพราะบริบทสังคมไทยเปลี่ยนไปนานแล้ว เราเห็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อแม่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สร้างประชากรที่มีคุณภาพเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้ครอบคลุมแค่หญิงชายเท่านั้นอีกแล้ว

จอมเทียนอธิบายเพิ่มเติมว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจมากกว่ากระทำต่อคนที่มีอำนาจน้อยกว่า เช่น อำนาจจากการเงิน ซึ่งคนนั้นอาจจะเป็นผู้หญิงก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอัตลักษณ์กระแสหลัก เช่น การเป็นเพศชายหรือเพศหญิงโดยกำเนิด มีแนวโน้มกระทำความรุนแรงต่อลูกหรือคนในบ้านที่มีความหลากหลายทางเพศ”

เมื่อชุดความคิดที่ผิดเพี้ยนเหล่านั้นหายไป อาจทำให้เรามองเห็นมิติความรุนแรงในครอบครัวชัดมากขึ้น ว่านี่ไม่ใช่การกระทบกระทั่งกันประสาสามีภรรยาตามที่เข้าใจ แท้จริงแล้วไม่ควรมีบ้านไหนจบปัญหาด้วยการลงไม้ลงมือ ไม่มีใครจำเป็นต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของใคร และบทบาทผู้นำก็ไม่ใช่ใบเบิกทางในการกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นอย่างลุแก่อำนาจ

สิ่งที่เริ่มต้นได้ทันทีในหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสังคม อาจเป็นเพียงแค่การยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่มีครอบครัวที่ดี ไม่ใช่ทุกคนที่มีครอบครัวสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองกลับไปที่บ้านแล้วเห็นคนที่ห่วงใย หรือไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกปลอดภัยแม้จะอยู่ใต้ชายคาบ้านของตัวเอง

“ครอบครัวเป็นสิ่งที่เราจับสลากได้มา เราเลือกเกิดไม่ได้ เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน อย่างการบังคับให้มีลูกชายและทำแท้งลูกสาว ในบางสังคมอาจถึงขั้นฆ่าทารกหญิงด้วยซ้ำ ซึ่งเราควรจะมีสิทธิเลือกว่าใครจะเป็นครอบครัวของเรา เหมือนกับที่เราเลือกได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้นำประเทศที่เราอยู่ ประเทศไทยมีกรณีผู้ถูกข่มขืนโดยคนในบ้านเยอะแยะ เราจะเรียกเขาว่าเป็นคนในครอบครัวของเราเหรอ ส่วนตัวเราขอไม่เรียก” จอมเทียนกล่าว

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าเด็กที่ก่ออาชญากรรมจำนวนมากมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เด็กหลายคนไม่สามารถพึ่งพาพ่อแม่ที่เป็นเสาหลักเดียวในชีวิตได้ เมื่อเกิดปัญหาจึงหันหน้าเข้าสู่ยาเสพติด คบเพื่อนต่างวัย หรือแม้แต่การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร จริงอยู่ที่อาจเหมารวมไม่ได้ทั้งหมดว่าเพราะความรุนแรงในครอบครัวทำให้เกิดสิ่งนี้ แต่จิตใจที่เปราะบางก็ง่ายต่อการสร้างปัญหาสังคมทั้งสิ้น 

เราจึงไม่อาจพูดได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป เพราะการเมินเฉยต่อปัญหาไม่ต่างอะไรกับการอนุญาตให้เกิด จะเห็นได้ว่าผลพวงของการทุบตีในบ้านไม่กี่ครั้ง สามารถนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าหลายเท่าตัว มายาคติของสังคมที่เคยหล่อหลอม เปลี่ยนเป็นกล่อมเกลาให้เรามองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมชาติ

คงถึงเวลาเก็บเอาเรื่องชาวบ้านมาเป็นงาน สอดส่องดูสถานการณ์ที่อาจเป็นภัยในอนาคต หากเราทุกคนยังแกล้งไม่ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือของผู้ถูกกระทำ จะเด็จคงต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่อีกครั้ง “คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งคนข้างบ้านเขาเกิดฆ่ากันขึ้นมา แล้วคุณไม่ช่วย?”

เมื่อโควิดเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นคุก

ในช่วงที่ประเทศไทยถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกของความโศกเศร้าจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ก็มีอีกหลายครัวเรือนต้องเผชิญกับวิกฤตที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือคนในครอบครัว 

ปัญหาที่หนักหน่วงมากขึ้นมาพร้อมกับมาตรการที่รัดกุม คำสั่งล็อกดาวน์ไม่เพียงส่งให้คนหาเช้ากินค่ำต้องอดมื้อกินมื้อมากกว่าที่เคย แต่การชักหน้าไม่ถึงหลังก็เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวทวีคูณขึ้น การที่สามีภรรยาถูกจำกัดให้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา การทะเลาะเบาะแว้งรุนแรงกับเรื่องที่เคยกระทบกระทั่งเพียงเล็กน้อยจึงเกิดขึ้น ด้วยพื้นฐานทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ที่ไม่ได้ฝึกลูกชายเอาไว้ทำกิจกรรมในบ้าน ที่สำคัญคือความเครียดที่สูงขึ้นและความจนอย่างไม่ทันตั้งตัว จอมเทียนอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยว่าแม้ทุกภาคส่วนจะไม่ให้ความสนใจเรื่องความรุนแรงเท่าที่ควร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้นพุ่งสูงขึ้นจริง

“ก่อนมีโควิด คนในครอบครัวยังมีโอกาสออกไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยของตัวเองได้ บางคนออกไปทำงาน ออกไปนอนบ้านเพื่อน เด็กไม่ต้องเห็นพ่อแม่โดนกระทำความรุนแรงมากขนาดนั้น แต่พอมีโควิด ทุกคนต้องอยู่ในบ้านเดียวกัน ถ้าคุณเป็นคนรวยคุณอาจจะไม่เห็นก็ได้เพราะบ้านคุณมีมากกว่า 20 ห้อง แต่สำหรับคนชนชั้นแรงงานที่บ้านทั้งบ้านไม่มีห้องเลย นอนอยู่ร่วมกันในกล่องสี่เหลี่ยมกล่องเดียว มันทำไม่ได้”

ขณะที่จะเด็จเอง ไม่ปฏิเสธว่ากลุ่มคนที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงในครอบครัว แต่หากถามว่าเกิดขึ้นเฉพาะกับคนยากจนใช่หรือไม่ จะเด็จยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าไม่จริง

“ความคิดแบบชายเป็นใหญ่มีทุกคนทุกชนชั้น เพียงแต่คนยากจนมีทางเลือกน้อยกว่า สถานการณ์ของเขาจึงหนักหน่วงกว่า แต่คนที่มาหามูลนิธิผมบอกเลยว่าไม่ใช่แค่คนจน คนที่มาส่วนใหญ่จบปริญญาตรี บางคนมีอาชีพเป็นแพทย์ สถาปนิก นักธุรกิจ เป็นชนชั้นกลาง หลากหลายมาก”

ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง ทั้งสองให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ามีความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปก่อน หากไม่สามารถลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านหรือติดตามดูสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะบทบาทของรัฐบาลที่มีปัญหา ที่ไม่เพียงช่วยเหลือเรื่องปากท้องของประชาชนเท่านั้น แต่การเยียวยาหัวจิตหัวใจก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

“เราพยายามบอกหน่วยงานรัฐอย่างพวกฮอตไลน์ 1300 ว่าอย่ารับแค่เรื่องอื่น ให้รับเรื่องความรุนแรงในครอบครัวด้วย เพราะก็เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องให้หน่วยงานรัฐมาช่วยเยี่ยวยาจิตใจ โดยเฉพาะกรมสุขภาพจิตที่ต้องออกมามีบทบาทมากกว่านี้ หรือหน่วยงานรัฐที่แก้ปัญหาความรุนแรง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ต้องทำงานเชิงรุก”

“ยิ่งการเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือของรัฐตอนนี้ยิ่งหนัก เพราะรัฐไปโฟกัสเรื่องโควิดหมด ล่าสุดมีคนส่งเข้ามาทางกล่องข้อความว่า เธอถูกสามีทำร้ายแต่ไปแจ้งความแล้วไม่ได้อะไร จึงต้องเอาลูกหนีมาอยู่กับแม่ที่แคมป์คนงาน ยากลำบากมาก เพราะเข้าถึงการบริการไม่ได้”

นอกจากนี้ จอมเทียนยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมถึงการจัดการของภาครัฐที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เพราะความจริงแล้ว กลุ่มคนที่รัฐต้องให้ความสำคัญและจำเป็นต้องให้วัคซีนที่มีคุณภาพไม่ได้มีแค่แพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น แต่รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นบุคลากรด่านหน้าในการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย 

“การขอความช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมามีมาตลอดอยู่แล้ว แต่ความเครียดในการลงพื้นที่ของเรามีมากขึ้น เราไม่ได้อยากเอาความเสี่ยงจากพื้นที่สีแดงไปให้เขาหรอก แต่ว่าต้องขึ้นศาล” เธอพูดถึงความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

No tears left to cry #nowplaying

“เวลาคือสิ่งที่รัฐไม่สามารถยึดเหนี่ยวเอาไว้ได้” แววตาของจอมเทียนเปี่ยมหวังขึ้นมาเมื่อพูดถึง

เธอเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงเหล่านี้ลดน้อยลงได้ในอนาคต เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด มีการถกเถียงถึงประเด็นความรุนแรงในครอบครัวที่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย มีคนออกมาเรียกร้องสิทธิและมีความตั้งมั่นตั้งใจที่จะเห็นความเคลื่อนไหวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

“สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันตอนนี้คือการส่งต่อ มีเคสอายุ 14 – 15 ที่เราเคยช่วยเหลือ เดินมาบอกเราว่า พี่ หนูอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หนูอยากเป็นนักจิตวิทยา เราจึงคาดหวังในเด็กรุ่นใหม่ที่ขอบเขตของการค้นคว้าหาความรู้ของเขากว้างกว่าที่รัฐจะมอบให้ได้”

ในนามของจอมเทียน การจะเป็นเพื่อนร่วมทางที่เดินไปกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงนั้นกินเวลาถึง 3 – 5 ปี หรือมากกว่า ที่จะทวงชีวิตอันปกติสุขกลับคืนมา อุดมการณ์ของเธอจึงกลายเป็นการทำหน้าที่อย่างหนัก เพื่อให้ผู้ถูกกระทำสามารถหาเพื่อนร่วมทางที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเขาเองได้ เคสต้องกลับมามองให้เห็นว่ามีใครบ้างในชีวิตที่เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มีหัวใจที่เปิดกว้างพอกับการเรียนรู้ที่จะอยู่เพื่อให้กำลังใจกันและกัน และสร้างบุคคลนั้นขึ้นมาเป็นผู้สนับสนุนหลักในชีวิตจริงของเคสต่อไป

จะเด็จเองก็เช่นเดียวกัน ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้มาอย่างยาวนานหลายสิบปี เขามองเห็นการตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกหรือเฟมทวิตเองก็ดี และจากประสบการณ์ เขาเชื่อว่าสังคมไทยต่อจากนี้จะเปลี่ยนไป หากคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักรู้ในสิทธิบนเรือนร่างตัวเองไม่ยอมก้มหัวเป็นผู้ถูกกระทำเหมือนเช่นเคย

“ผมวิเคราะห์อย่างนี้ว่า คนยุค baby boomer กับ x ที่มาขอคำปรึกษาเรื่องความรุนแรงจะแตกต่างกันมาก คนยุค baby boomer จะถูกครอบงำความคิดแบบอนุรักษนิยมเข้มข้น คนรุ่นนี้จิตใจจะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราจะต้องค่อยๆ เปลี่ยนเขาจนนำมาสู่การลุกขึ้นสู้ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจเรื่องภาวะจิตใจ สิ่งที่เขาต้องการคือวิธีการเท่านั้น อยากจะหย่าสามีทำอย่างไร หรือสามีมาราวีทำอย่างไร เขาสนใจว่ามีกฎหมายอะไร และเขาก็ไปทำของเขาเองได้ คนรุ่นใหม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก และเขาไม่รอช้าที่จะตัดสินใจเลือก”

หลักการสำคัญที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลยึดถือไว้เป็นมั่นหมาย คือการเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่อาจเสียความเชื่อมั่นในชีวิตไปจนไม่เหลือ ให้กลับมายืนหยัดต่อสู้ ทั้งจากคำครหาของชาวบ้าน จากการเมินเฉยของเจ้าหน้าที่และเพื่อนพ้อง จากชั้นศาลที่ไม่อนุญาตให้สละความเป็นครอบครัวทิ้งไป และทั้งจากอดีตอันขื่นขมของตัวเอง เมื่อนั้น กำลังหลักของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ก็จะไม่ได้มีเพียงองค์กรอิสระใดหรือนักสงคมสงเคราะห์คนไหนอีกแล้ว.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save