fbpx
กงล้อกำลังหมุนไป : “ทรอม่า-ฆ่าตัวตาย-ครอบครัวสลาย” ในยุค COVID-19

กงล้อกำลังหมุนไป : “ทรอม่า-ฆ่าตัวตาย-ครอบครัวสลาย” ในยุค COVID-19

ธิติ มีแต้ม, ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

1

 

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นวันครอบครัวแห่งปีที่ไม่ปกติที่สุดของสังคมไทย

ตัดเรื่องรดน้ำดำหัว สาดน้ำ ประแป้งไปได้เลย หลายครอบครัว ทั้งปู่ย่า ตายาย ลูกหลาน แม้ว่าจะอยู่กันพร้อมหน้า แต่สถานการณ์ไวรัสโควิดก็บังคับให้เป็นความพร้อมหน้าที่มีระยะห่าง

แม้จะอยู่ด้วยกัน เห็นหน้าค่าตา สนทนากันได้ ก็ใช่ว่าจะใกล้ชิดกันเหมือนเดิมได้ ยังไม่มีใครทราบว่าความไม่ปกติที่เกิดขึ้นจะกินเวลานานเท่าไหร่ และ new normal ของความสัมพันธ์ในครอบครัวจะมีหน้าตาอย่างไร

มีรายงานว่าบางประเทศ เช่น จีน มีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเมื่อคู่รักถูกกักตัวให้อยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน ส่วนที่ฝรั่งเศส สถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นในช่วงมาตรการล็อกดาวน์

เช่นเดียวกับครอบครัวของนางเย็น (สงวนนามสกุล) เธอให้สัมภาษณ์หลังจากพักฟื้นและมีอาการดีขึ้นพอสมควร ด้วยเหตุที่เธอพยายามทำร้ายตัวเองเพราะน้อยใจสามีที่กลับมาติดสุราเรื้อรังอีกรอบหลังตกงาน

นางเย็นเล่าว่า สามีเธอมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ตั้งแต่ขับรถส่งของ ก่อสร้าง และทำนา พอกรุงเทพฯ ประกาศปิดเมือง สามีตกงานทันที พอกลับมาอยู่ที่บ้านก็เอาแต่กินเหล้า แม้ว่าจะเคยเลิกไปได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่พอตกงาน เขาก็กลับมากินใหม่ เธอตักเตือนอยู่หลายครั้งว่าเงินในกระเป๋าจะไม่พอยาไส้แล้ว แต่ไม่เป็นผล

คืนก่อนมันเมาขึ้นมาบนบ้าน ห้าทุ่มแล้วนะ เราดับไฟนอนแล้ว สักประเดี๋ยว มันถีบประตูเข้ามาร้องโวยวาย เราก็ตกใจตื่น มันบอกเมื่อย จะให้เหยียบหลังให้ เราก็เลยด่าว่ามึงนี่น่ารำคาญ มันก็ด่าเราเป็นสัตว์นั้นสัตว์นี้ บอกอีกว่าเงินจะเอาไหม แล้วมันก็กระทืบเราจนมันหมดแรงหลับไป”

“พอเป็นแบบนี้มากๆ เข้า ทนไม่ไหว วันนั้นเพื่อนบ้านต้องขับรถพาไปส่งโรงพยาบาล ไม่ใช่เพราะถูกกระทืบนะ แต่กินยาพาราฯ ไปกำมือหนึ่ง พอเบลอๆ ก็เอามีดมาแทงขาแทงแขนตัวเอง อยากรู้ว่ายังมีความรู้สึกอยู่ไหม ถามตัวเองว่าทนไปทำไม สมองมันหยุดคิดไม่ได้ รู้ตัวตลอดนะว่าอยากตาย แต่มันไม่ตายสักที สุดท้ายเลยปีนหน้าต่างบ้านกระโดดลงมาจนข้อเท้าหัก” นางเย็นบรรยายวินาทีตัดสินใจลาโลก แต่โลกไม่อนุญาตให้เธอไปไหน

แล้วสามีล่ะ? – นางเย็นว่าก็นั่งกินเหล้าอยู่ใต้ถุนบ้าน เมาไม่รู้เรื่อง

“มันหาว่าเราประท้วงมัน” คือคำที่เธอได้ยินจากสามี หลังเขาสร่างเมาในหลายวันต่อมาและพบว่าเธอกำลังนอนพักฟื้นอยู่ที่บ้าน

 

2

 

ถ้ามองเห็นเฉพาะฉากและการกระทำของสามีเธอตามที่ว่ามา สังคมไทยคงมักโทษสุราว่าคือผู้ร้ายและผู้ชายอย่างสามีเธอย่อมเป็นคนเลว โดยไม่จำเป็นต้องไถ่ถามกันอีกว่าเงื่อนไขอะไรบ้างที่กดลงมาบนบ่าของครอบครัวเธอ

ครอบครัวนางเย็นอยู่กันสองคนผัวเมีย ลูกชายคนโตแต่งงานมีครอบครัวย้ายออกไปหลายสิบปีแล้ว ลูกสาวคนเล็กทำงานเสิร์ฟอาหารอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เวลานี้ทั้งสามีและลูกสาวย่อมตกที่นั่งเดียวกัน เพียงแต่ลูกสาวไม่ได้กลับมาอยู่บ้านเท่านั้น

พื้นฐานที่บ้านของนางเย็นไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง อาจจะปีละครั้งหรือสองปีครั้งที่สามีเธอจะผละจากกรุงเทพฯ มารับจ้างทำนา แต่ก็อีกนั่นแหละ วันนี้ วินาทีนี้ ไม่มีใครจ้าง ไม่ต้องถามถึงทุนรอนจะไปเช่าที่นาใครหว่านไถ

ส่วนนางเย็นทำงานไม่ได้มาร่วมยี่สิบปี ความที่โรคเบาหวานและโรคหัวใจรุมเร้า แน่นอน ทั้งค่าข้าวค่ายาย่อมได้จากสามีและลูกสาวส่งมาให้ แต่ก็อีกนั่นแหละ วันนี้ วินาทีนี้ ไม่มี

คำว่าไม่มีแปลว่าไม่มี แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และกลายเป็นว่านับตั้งแต่วันที่สามีเธอกลับมาอยู่บ้าน เริ่มบรรเลงเพลงสุราทุกเช้าค่ำนั้น เป็นเธอเองที่ต้องเดินไปต่อคิวรับอาหารที่จุดตั้งเต็นท์ของผู้ใจบุญแทน

“บางคนถามมึงจะทนอยู่กับมันทำไม เราก็บอกสภาพกูแบบนี้จะไปไหนได้ ไปได้ที่เดียวคือยมโลก ตอนรัฐบาลให้มาห้าพันบาท ต้องแอบไว้ในตูด ห้ามให้มันเห็น” เสียงนางเย็นเจืออารมณ์ขัน แต่แห้งผากไม่ต่างไปจากเสียงนักร้องผิวสีที่ขับขานเพลงบลูส์

“แต่ละวันนี้ได้แต่สวดมนต์ภาวนาให้มันเลิกเหล้า อย่างน้อยไม่มีงานก็ไปขอข้าวเขากินได้ แต่ถ้ามันเมาเผลอไปตกน้ำตกท่าตาย ไอ้เรานี่แหละจะลำบาก ก่อนหน้านี้ที่มันเคยเลิกได้ มันสัญญากับลูกไว้ว่าจะเก็บเงินดาวน์รถกระบะให้ เผื่อไว้ใช้ค้าขายได้” น้ำเสียงนางเย็นคล้ายจะมีความหวัง แต่เป็นความหวังที่ขุดเอามาจากอดีตเพื่อรับใช้ปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเรืองรองหรือริบหรี่ลงเมื่อไหร่

ในวัยย่าง 60 ปี นางเย็นเปลือยอารมณ์ชีวิตคู่ในยุคสมัยที่ไวรัสโควิดลามไปเข้าไปในบ้านว่า “ไม่ต้องฝันอะไรมาก ลูกเต้าก็โตเอาตัวรอดไปหมดแล้ว คนเรามันจะทนได้แค่ไหนกันเชียว ขนาดเหล็กยังถูกสนิมกินได้ นับประสาอะไรกับคน

 

3

 

พิษ “โควิด-19” ฆ่าคนทางอ้อม!! ไกด์เครียดไร้งานผูกคอลาโลก

หญิงวัย 52 ปีเครียดโรคโควิด-19 กระโดดตึกฆ่าตัวตาย

หนุ่มเครียดผลเลือดเป็นบวก กลัวติด “โควิด” โดดตึกฆ่าตัวตาย

สาวใหญ่กำแพงเพชรเครียดโควิด-19 ระบาด ชวดเงิน เราไม่ทิ้งกันแขวนคอตายไม่มีแม้แต่เงินซื้อโลง

สลด พ่อเฒ่า 74 อยู่คนเดียว โดนกักโควิด-เครียด ปลิดชีพคาห้องนอน

ท่ามกลางมาตรการรัฐที่ดูเหมือนจะเข้มข้นจากการกดข่มประชาชนด้วยกฎหมาย แต่สภาพปากท้อง รัฐกลับดูผ่อนคลาย ไม่อินังขังขอบ ปล่อยไปตามมีตามเกิด กรณีนางเย็นและคนอื่นๆ ที่ปรากฏตามข่าวก็อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ในซอกมุมของสังคมไทยที่ไม่ค่อยถูกให้ค่านัก

คำประกาศเช่นว่า “ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล” หรือ “เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” ดูเหมือนไม่มีใครได้ยินเสียงเหล่านี้ หลายคนที่ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน พวกเขาอาจรอให้ผ่านไปไม่ไหว และคำว่า “ด้วยกัน” ก็อาจเป็นคำที่แทงใจดำของใครต่อใคร

คนแล้วคนเล่า ครอบครัวแล้วครอบครัวเล่า คำเตือนอันเงียบงันก็ป่าวร้องอยู่อย่างนั้น เกินกว่าจะนับนิ้วมือหมด…

พิษโควิด! แม่ลูกสอง เครียดชีวิต ไร้เงินซื้อนมให้ลูก ผูกคอดับในห้องน้ำ

หดหู่ พิษเศรษฐกิจ-โควิด สาวใหญ่รมควัน หลังทะเลาะกับแฟนหนักปมหนี้สิน

พิษโควิด-19! หนุ่มช่างแอร์เครียดตกงาน 2 เดือน-รถถูกยึด ผูกคอตายในห้องเช่า แม่บอกไม่มีแม้แต่เงินทำศพ

หนุ่มเครียดตกงาน-เลิกแฟนโดดจุดชมวิวเขารังตายสลด

หนุ่มช่างเชื่อมเครียดโควิด-19 ทำไม่มีงาน-รายได้หดหาย ตัดสินใจปาดคอตัวเองดับสยอง

 

4

 

พ้นไปจากความเศร้าสลดดังตัวอย่างที่กล่าวมา มีคำกล่าวที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดีทำนองว่า ข้อดีของโควิดคือทำให้ครอบครัวอบอุ่นขึ้น เพราะการที่แต่ละคนต้องอยู่บ้านด้วยกันตลอดเวลา เป็นโอกาสที่ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน แต่ในโลกความจริง การใช้เวลาอยู่ด้วยกันอาจไม่ใช่คำตอบของความสัมพันธ์ที่ดีเสมอไป ยิ่งโดยเฉพาะครอบครัวที่มีรอยร้าวอยู่เดิม

ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แม้จะมีคำพูดที่ว่า “บ้านเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด” แต่ขณะเดียวกันบ้านก็เป็นสถานที่เพาะบ่มความรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่ง

Marianne Hester นักสังคมวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง (abusive relationships) จากมหาวิทยาลัยบริสตอล เคยกล่าวว่า “ความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นเมื่อครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เช่น ช่วงวันคริสต์มาสและวันหยุดพักร้อน”

ภาพจินตนาการที่ว่าความอบอุ่นมาพร้อมกับการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน กลายเป็นช่วงเวลาที่มีความรุนแรงเกิดมากขึ้น บางครั้งความใกล้ชิดจึงเหมือนเป็นกำแพงที่กั้นให้คนออกจากกันโดยไม่รู้ตัว

ความรุนแรงในครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงในเด็กและความรุนแรงกับคู่รัก ทั้งโดยวาจาและร่างกาย

มีสถิติชี้ว่าความรุนแรงในเด็กเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางมากกว่าประเทศรายได้สูงถึง 2-3 เท่า และหากแผนที่เปลี่ยนสีได้ สีของความรุนแรงจะเข้มข้นเป็นพิเศษที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นเหตุที่สอดคล้องกับสังคมชายเป็นใหญ่ วัฒนธรรมที่แฝงฝังมาในภูมิภาคนี้อย่างยาวนาน และไม่ใช่แค่ความรุนแรงกับเด็กเท่านั้น แม้แต่ความรุนแรงระหว่างคู่รักและคู่สมรสก็มีข้อมูลชี้ว่ามีสถิติสูงกว่ามากเช่นเดียวกันในประเทศกำลังพัฒนา

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาพความรุนแรงในครอบครัวยิ่งขยายชัดขึ้น ไม่ใช่แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

มีข้อมูลชี้ว่าในประเทศจีน มีอัตราการขอหย่าร้างมากขึ้นถึง 25% หลังช่วงกักกันตัวที่คู่รักมีเวลาอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน หรือแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ลุกลามตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยประจำวันไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่ทำให้ตัดสินใจหย่าร้างกัน

ในประเทศฝรั่งเศส ที่แม้จะไม่ใช่ประเทศรายได้ต่ำ แต่ในภาวะวิกฤตก็มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 36% ในช่วงที่มีคำสั่งกักกันตัว

สำหรับไทย มีข้อมูลจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ชี้ว่าในปี 2563 มีประชาชนแจ้งว่าโดนกระทำความรุนแรงในครอบครัวถึง 154 รายในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นจาก 144 รายในเดือนกุมภาพันธ์ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน ก็คือช่วงรัฐบาลประกาศให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับรายงานขององค์การยูนิเซฟที่บอกว่า สมัยที่ไวรัสอีโบลาแพร่ระบาดและมีการปิดโรงเรียนในทวีปแอฟริกาตะวันตก ช่วงปี 2557-2559 พบจำนวนแรงงานเด็กที่ถูกทอดทิ้งและถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากขึ้น

อัตราความรุนแรงต่อเด็กและความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกัน มีสถิติชี้ว่าในมณฑลหูเป่ย นิวยอร์ก หรือแคว้นคาตาลันในสเปน มีสายด่วนรับแจ้งเหตุรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น

 

5

 

ความน่ากังวลของประเด็นความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นในยุคสมัยโควิดระบาด

ในทัศนะของ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ ผอ.วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ว่าโควิดทำให้ยิ่งเห็นว่าสังคมไทยที่มีความเปราะบางทางสถาบันครอบครัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากมากขึ้น

เราวิเคราะห์กันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวไทยหรือครอบครัวทั่วโลก เรากำลังเผชิญกับวงจรการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในทุกด้าน และย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวโดยตรง”

หมออดิศักดิ์ อธิบายว่ามีปัจจัย 4 อย่างที่ทำให้สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ได้แก่ 1. ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 2.ปัจจัยในข้อแรกก่อให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทวีคูณไปเรื่อยๆ

เหมือนระเบิดเวลา เราเคยทำวิจัยของครอบครัวที่มีฐานะยากจนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 300 ครอบครัว พบว่าส่วนใหญ่เด็กที่เกิดและเติบโตจากครอบครัวที่ยากจน เมื่อเขาเติบโตและออกไปสร้างครอบครัวใหม่ เขาก็จะเป็นครอบครัวที่ยากจนและมีปัญหาส่งผลในครอบครัวรุ่นถัดไปเรื่อยๆ”

ปัจจัยที่ 3 คือสิ่งแวดล้อม ปัจจัยนี้อาจดูเหมือนเป็นแค่ปัญหาทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริงเป็นความรุนแรงต่อเด็กโดยตรง ไม่ใช่แค่เรื่องพ่อแม่ที่ตีลูก มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่เกิดใกล้โรงงานกำจัดขยะ พบสารตะกั่วในสมองสูงทำให้มีไอคิวต่ำ ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ เป็นโรค LD (learning disorder) นี่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางสังคม

ปัจจัยที่ 4 คือปัญหาการบริโภค ตั้งแต่การโฆษณา ค่านิยมทางโซเชียลมีเดีย

“ไม่ว่าประเทศไหนก็มีการวิเคราะห์ออกมาคล้ายกันว่า เราไม่สามารถเดินบนเส้นทางการพัฒนาแบบเดิมได้ ความสุขในชีวิตของมนุษย์ทั้งสุขภาวะทางกายและใจควรจะเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทุกประเทศมากกว่าสิ่งอื่น ความสุขของมนุษย์เริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ใช่เทคโนโลยี”

แม้ว่าโลกจะมีการคุยกันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-sustainable development goals) แต่ในทางปฏิบัติ หมออดิศักดิ์บอกว่าไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะแต่ละประเทศก็สนับสนุนการพัฒนาเพื่อการแข่งขันเป็นหลัก และเราไม่เคยได้ข้อยุติเรื่องความสมดุลเลย

เมื่อโควิดเข้ามาดิสรัปต์สังคมไทย แล้วสถาบันครอบครัวที่เคยเชื่อกันว่าเป็นปราการอันแข็งแกร่ง รองรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกได้ดีที่สุดจะยังแข็งแกร่งอยู่ไหม

ประเด็นนี้ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มองว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แน่นอนว่าครอบครัวได้เจอกันมากขี้น ได้อยู่ร่วมกันมากขึ้น แต่นั่นเป็นจุดอ่อนในตัวด้วย

“ผมคิดว่าจุดที่เปราะบางมากๆ ในสถานการณ์นี้คือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก พ่อแม่ที่ไม่เคยมีทักษะในการดูแลลูก จากที่ปกติตอนเช้าไปส่งลูกเข้าโรงเรียนหรือศูนย์เลี้ยงเด็ก แล้วตอนเย็นค่อยไปรับ อาจจะทำให้เด็กได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม

“โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ขาดรายได้ในหลายอาชีพ ลูกก็จะซึมซับความเครียดของพ่อแม่ไปด้วย และหากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเกิดใช้ความรุนแรงต่อกันและต่อเด็กด้วย สิ่งที่ตามคือภาวะบาดเจ็บทางใจหรือทรอม่า (trauma) หากเกิดขึ้นแล้วมันจะติดตัวไปในระยะยาว

หมออดิศักดิ์ยกตัวอย่างถึงงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่ยืนยันผลกระทบกับคนที่เคยได้รับความกระทบกระเทือนทางใจในวัยเด็กว่า มีผู้ร่วมการทดลองจำนวนมากและพบว่าพวกเขามักประสบความล้มเหลวในการเรียน หากเป็นวัยรุ่นก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกก่อนวัยอันควร ติดยา หรือก่ออาชญากรรม ส่วนในวัยกลางคน งานวิจัยระบุว่ามีแนวโน้มสูงที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มีบุคลิกที่ไม่เป็นมิตรกับผู้คนในชุมชน

“ที่น่าสนใจที่สุดคือคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่มีโรคไม่ติดต่อติดตัวมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน เส้นเลือดในสมองแตก เพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสมองในวัยเด็ก เมื่อเด็กได้รับความเครียดจากภาวะวิกฤตในบ้าน เช่น เห็นพ่อแม่ตีกัน หรือลูกถูกตี พ่อแม่เสพยา สมองเด็กจะหลั่งสาร stress hormone ออกมา สมองที่หลั่งสารดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน โครงสร้างสมองจะเปลี่ยนไป สมองจะอยู่ในโหมดเรื่องความอยู่รอด ไม่หนีก็สู้ ไม่สู้ก็เฉย มากกว่านั้นคือ โกหก ขโมยของ หรืออยากวิ่งหนีตลอดเวลา ภาวะแบบนี้ทำให้ร่างกายป่วยได้”

เมื่อประเมินจากข้อน่ากังวลที่หมออดิศักดิ์อธิบายมาทั้งหมดแล้ว คำถามอาจไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลจะเลิกล็อกดาวน์เมื่อไหร่ หรือจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร แต่ไกลที่สุดความกังวลคือกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กที่กำลังตั้งไข่ในยุคสมัยโควิดจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนในอนาคต

และนี่อาจเป็นคำถามที่สังคมไทยแบบเก่าอาจไม่มีคำตอบให้

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save