fbpx
เขตวัฒนธรรมพิเศษ ‘ดอยช้างป่าแป๋’ เมื่อผู้คนส่งเสียงถึงรัฐว่าเขามีตัวตน

เขตวัฒนธรรมพิเศษ ‘ดอยช้างป่าแป๋’ เมื่อผู้คนส่งเสียงถึงรัฐว่าเขามีตัวตน

ณัฐกานต์ ศรีสมบูรณ์ เรื่องและภาพ

 

“ณ ที่นี้ พวกเราประกาศว่าพื้นที่ทางจิตวิญญาณบ้าน ‘ต่าหลู่เก่อชอ’ ดอยช้างป่าแป๋ ยึดเจตนารมณ์ของบรรพชนนี้ไว้ให้ยั่งยืน สืบทอดต่อไปตราบนานเท่านานสู่ลูกหลานในอนาคต”

คำประกาศนิ่งสงบแต่หนักแน่นนี้มาจาก ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ วัย 34 ปีที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ติดตามชุมชน’ เขากล่าวติดตลกว่า ‘ติดตาม’ ในที่นี้หมายถึง ติดตามความหายนะที่คนอื่นมาสร้างไว้

ชายผมยาวคนนี้เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนที่เข้าแก้ไขปัญหาหลังจากพื้นที่กว่า 21,034 ไร่ของชาวปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ถูกกฎหมายทับซ้อนหลายฉบับ ทั้งพ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ทำให้พวกเขาอาศัยบนผืนดินถิ่นเกิดตัวเองอย่างถูกกฎหมายไม่ได้ แม้อายุของชุมชนจะอยู่มาก่อนระบอบประชาธิปไตยเสียอีก ดังนั้น แกนนำชุมชนจึงร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาชนหาทางเจรจากับภาครัฐมานานเพื่อขอให้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

กระทั่งในที่สุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ชวน 101 ร่วมงานสถาปนา พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) เพื่อเป็นสักขีพยานวันที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านต่าหลู่เก่อชอสามารถปกป้องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณจากการคืบคลานเข้ามาของอำนาจรัฐ ไม่ให้สิ่งที่พวกเขามีถูกลิดรอนโดยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้สำเร็จในขั้นเริ่มต้น จนเกิดเป็นประกายเล็กๆ ในแววตาของพี่น้องร่วมถิ่นเกิดท่ามกลางเช้าที่ลมพัดเย็นขณะฟังคำประกาศที่กลั่นกรองจากหัวใจสู่สาธารณชนพื้นราบและพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากจังหวัดอื่น

 

ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ ผู้ติดตามชุมชน
ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ ผู้ติดตามชุมชน

 

“ดิปุนุ แปลว่าบักหำน้อย ตอนพ่อแม่ตั้งชื่อจะเห็นภาพของความสุข ความอบอุ่น ที่จริงผมเป็นคนที่นี่ แต่ลงไปเรียนข้างล่างตอนมัธยมต้น พอเรียนจบมหาวิทยาลัยสายนิเทศศาสตร์ ก็ไปทำสื่อ ทำดนตรี จนได้กลับหมู่บ้านมาก็เจอว่าคนที่นี่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ คนในชุมชนสับสนกับการเข้ามาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เราเห็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่กำลังจะเข้ามาในช่วงปี 2553-54 จากการเดินทางที่ผ่านมาเราก็เข้าใจว่ามันจะมีผลกระทบแบบนี้ๆ แต่คนในชุมชนไม่รู้เพราะไม่ได้ออกไปศึกษา พอคนนอกเข้ามาเขาก็จะเชื่อ จะทำตามทุกอย่าง

“สุดท้ายเราเลยกลับมาบ้าน เรียนรู้ว่าจะแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร จะรักษาสิ่งที่มีให้คงอยู่ไว้ได้อย่างไร ปรากฏว่าสิ่งที่เราทำมันมีพลังงานธรรมชาติบางอย่างที่คอยเสริมแรงใจให้กับเรา เรามองเห็นคุณค่าที่ได้ต่อลมหายใจ ต่อชีวิตให้กับสรรพสิ่ง สัตว์ หรือคนให้อยู่ต่อไปได้ แล้วก็ผลักดันจนถึง ณ วันนี้ เป็นพื้นที่คุ้มครองทางจิตวิญญาณ”

 

โหม่ทีหล่อ ป่าทีคลอ

(บ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่)

 

ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ ผู้ติดตามชุมชน

 

“ไร่หมุนเวียนเป็นหัวใจของเราชาวปกาเกอะญอ” ดิปุนุยืนยันขณะยืนถือต้นงา เบื้องหลังเป็นดอยช้างซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านที่นี่

“เราจะทำพิธีกรรมก่อนเริ่มทำไร่หมุนเวียน ใช้ไก่ 6-7 ตัว ใส่หม้อต้มประกอบพิธีกรรมตรงนั้นเลย โดยมีความเชื่อว่าถ้าญาติพี่น้องมาร่วมเยอะจะยิ่งทำให้ผลผลิตดีขึ้น เรามองเห็นคุณค่าของพิธีกรรมนั้นว่ากว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด กว่าจะแผ้วถางพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน จะต้องขออนุญาตแล้วลงมือทำ ทำเสร็จก็ต้องคืนพื้นที่ มีพิธีกรรมอำลาพื้นที่ อัญเชิญเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าแห่งต้นไม้ เจ้าแห่งดินกลับมาอยู่ที่เดิม มันเป็นความนอบน้อม ไม่ใช่ว่าอยากจะปลูกตรงนี้ก็ปลูก อยากจะทำตรงนี้ก็ทำ มันไม่ใช่”

ชาวปกาเกอะญอไม่ว่าจะที่ดอยช้างป่าแป๋หรือในจังหวัดอื่นก็ยังมีวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียนสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ผู้ติดตามชุมชนเล่าว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย ไม่ได้เผาป่าเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยวจนเป็นเขาหัวโล้น แต่ไร่หมุนเวียนคือการหมุนเวียนทำไร่ไปตามชื่อของมัน

‘ไร่ปีปัจจุบัน’ คือ พื้นที่ซึ่งชาวบ้านกำลังใช้ประโยชน์ปลูกพืชผักทั้งปี เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงเวียนไปทำแปลงอื่นโดยแต่ละแปลงมีขอบเขตชัดเจน และปล่อยให้ไร่ปีปัจจุบันกลายเป็น ‘ไร่พักฟื้น’ โดยส่วนมากจะปล่อยให้หน้าดินได้พักตั้งแต่ 7-10 ปี รอให้แร่ธาตุกลับมาอุดมสมบูรณ์แล้วค่อยเวียนกลับไปทำตรงนั้นใหม่

เมื่อไร่พักฟื้นกลายสภาพเป็นป่า ถ้าจะกลับมาปลูกพืชผักตรงนี้อีกครั้ง ชาวบ้านต้องแผ้วถางแล้วเผาเศษพืชให้กลับเป็นปุ๋ยลงสู่ดิน ซึ่งการเผานี้จะทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามไว้แล้ว มีเทคนิคคือการเผาชน โดยจะเผาจากที่สูงลงมาก่อน แล้วค่อยเผาจากที่ต่ำขึ้นไป เมื่อไฟมาชนกันก็จะดับลงได้ง่าย ชาวบ้านต่าหลู่เก่อชอจะเผาในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น เพราะอากาศร้อนจัดทำให้มีควันไม่มาก บางครั้งเผาแค่ 20 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย ดังที่ดิปุนุชี้ไปตามเนินเขาเขียวขจีสลับซับซ้อนไร้รอยด่างของไร่เลื่อนลอยหรือพืชเชิงเดี่ยว

นอกจากต้องทำความเข้าใจกับคนภายนอกว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยแล้ว ชาวบ้านต่าหลู่เก่อชอยังต้องต่อสู้กับต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง คือกฎหมายหลายฉบับซึ่งทับซ้อนกับที่ดินทำกินของพวกเขาอยู่

 

พวกเราอยู่มาก่อน

 

ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ สามารถสืบประวัติด้วยหลักฐานเป็นพระพุทธรูปและหลักศิลาย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2344 มีปราชญ์ชุมชนชื่อ พือ พากานา ขึ้นไปถึงส่วนหัวของดอยช้างอันเป็นจุดสูงสุดของลำพูนเพื่อมองดูรอบทิศว่าตรงไหนเหมาะจะตั้งรกรากได้ แล้วจึงสร้างชุมชนและโยกย้ายอยู่ประมาณสามครั้ง ในภาษาปกาเกอะญอคำว่า ‘ต่าหลู่’ แปลว่าดอย ส่วน ‘เก่อชอ’ แปลว่าช้าง ฉะนั้น ชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอแห่งนี้มีอายุถึง 219 ปี จึงอยู่มาก่อนกฎหมายจะบังคับใช้

แต่แล้วรัฐไทยก็เข้ามาเหยียบตีนดอยพร้อมจดหมายทักทายแรกเป็นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 บอกกับชาวบ้านกลุ่มนี้ว่าตามมาตรา 4 “ป่า หมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน” แปลว่าพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ป่า แม้ว่าจะมีบ้านคน มีเรือกสวนไร่นา แต่ถ้ายังไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวก็ถือว่าเป็นป่า เว้นแต่ว่าตรงนั้นจะมีโฉนดที่ดินซึ่งระบุชื่อเจ้าของชัดเจน แต่คนในชุมชนตกลงกันไว้ว่าจะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งได้ครอบครองพื้นที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกัน ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ร่วมกัน ทว่าเมื่อไม่มีชื่อเจ้าของ ไม่มีโฉนด บ้านของชาวปกาเกอะญอกลุ่มนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ป่าของรัฐตั้งแต่นั้น

 

แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋
แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋

 

ต่อมารัฐไทยก็ส่งจดหมายฉบับที่สองมา เป็นพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 บอกว่าพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นี้จะกลายเป็นหนึ่งใน ‘ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านโฮ่ง’ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมพูดคุย และรัฐก็ไม่แม้แต่จะกันพื้นที่ชุมชน พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยออกไป แต่กลับนับรวมและวางครอบไปทั้งผืนตามภาพคือเส้นกรอบสีขาวพื้นที่ 21,034 ไร่ ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนไปโดยปริยาย

มาถึงปี 2545 เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่พบนกยูงไทย (Pavo Muticus) หนึ่งในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในพื้นที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ จึงมีกระบวนการเตรียมประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอยู่หลายปี โดยใช้พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้ผืนดินเขตใหญ่นี้กลายเป็น ‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่ง’ ในปี 2559 กินพื้นที่ประมาณ 236,900 ไร่ของสามอำเภอ ตั้งแต่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน อ.ฮอด และอ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ตามภาพแผนที่คือพื้นที่ไข่ขาวทั้งหมด (นอกเส้นกรอบสีเหลืองแต่อยู่ในพื้นที่กรอบสีขาว) ส่วนพื้นที่ในกรอบเหลืองเหมือนไข่แดงนั้นยังคงใช้พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติอยู่

พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านปลูกเพิงนอน ทำไร่ไถนาในพื้นที่ได้ แต่พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าถือเป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดในบรรดากฎหมายเกี่ยวกับป่าและสัตว์ป่า ห้ามรัฐและเอกชนแตะต้อง ห้ามล่าสัตว์ ห้ามยุ่งกับตาน้ำ ห้ามทำลายป่า ห้ามเข้าไปทำประโยชน์ใดๆ ในเขตห้ามล่าฯ ชาวบ้านที่มี ‘ไร่หมุนเวียน’ อยู่ตรงนั้นทั้งหมด 18 ไร่จาก 4 ครัวเรือนจึงถูกยึดที่ดินทำกินไปเมื่อปี 2562 ช่วงฤดูหว่านข้าวในไร่หมุนเวียนปีปัจจุบัน ชาวบ้านที่เคยอยู่บ้านทำนาก็ต้องลงดอยไปทำงานเพื่อซื้อข้าวกิน แถมยังมีกรณีไร่หมุนเวียนของบางคนถูกเส้นสีเหลืองพาดทับ ทำให้พื้นที่ครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนที่ยังพอจะทำอะไรได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าฯ ซึ่งห้ามทำอะไรทั้งสิ้น สร้างความสับสนว่าต้องยึดกฎหมายฉบับไหน

เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชนต้องเร่งประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษโดยเร็ว ก่อนที่ใครจะได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้อีก

 

นดอยช้างป่าแป๋

 

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานก็รับทราบถึงปัญหา จึงใช้พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2562 ให้ชาวบ้านไปสำรวจพื้นที่ของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน ขนาดเท่าไหร่ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เมื่อสำรวจเสร็จแล้วภายในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองพื้นที่ตามแนวทางของมติครม. 26 พฤศจิกายน 2561 คือ นโยบายการจัดการปัญหาที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อจะได้กันเขตพื้นที่ของชาวบ้านให้อยู่อาศัยได้ดังเดิม

แต่หลักเกณฑ์คัดกรองของ คทช. ขัดกับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เพราะมันระบุว่า “ต้องใช้ต่อเนื่อง อาสินเต็มแปลง และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนมือ” จึงจะงดเว้นพื้นที่ของชาวบ้านไม่ให้นับรวมไปในเขตห้ามล่าฯ ได้ แต่ไร่หมุนเวียนไม่ได้มีลักษณะการใช้อย่างต่อเนื่อง เป็นลักษณะการใช้เป็นประจำ มีระยะเวลาที่หมุนเวียนมาใช้ประโยชน์พื้นที่

ส่วนข้อที่ระบุให้ใช้พื้นที่เต็มแปลงนั้น บางครั้งชาวบ้านก็ใช้ไม่เต็มเพราะก็ปลูกแค่ถั่ว พืชสวนครัว ข้าว และการบอกว่าต้องไม่มีการเปลี่ยนมือให้คนอื่นที่ไม่ใช่ทายาท พื้นที่นั้นต้องมีกรรมสิทธิ์ แต่วิถีชุมชนของชาวบ้านต่าหลู่เก่อชอในการทำไร่หมุนเวียนคือไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ดิน ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้หมด นี่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม เป็นสิทธิชุมชนที่พวกเขาพึงมีตามกฎหมายสูงสุดของประเทศ

เกณฑ์ คทช. ยังมีปัญหาที่กำหนดว่า ‘ต้องไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลม’ หมายถึงพื้นที่นั้นต้องไม่อยู่ในชั้นคุณภาพ ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งและชั้นสอง นอกนั้นกรมอุทยานสามารถกำหนดได้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ล่อแหลมบ้าง โดยจะพิจารณาจากความสวยงามและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ

แน่นอน พื้นที่ในเส้นขาวตามแผนที่ด้านบน ดอยช้างป่าแป๋เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งและชั้นสอง สูงกว่าน้ำทะเลอย่างต่ำ 1,200 เมตร มีดอยช้างที่เป็นพื้นที่จิตวิญญาณสูงสุดของชุมชน และยังมีจำนวนนกยูงไทยมากที่สุดในจังหวัดลำพูนด้วย ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ล่อแหลมและไม่มีกรรมสิทธิ์

สรุปได้ว่าหลักเกณฑ์ คทช. ทำให้พื้นที่ทำกินของชุมชนต้องอยู่ในเขตห้ามล่าฯ ต่อไป ชาวบ้านจะทำไร่หมุนเวียนอันเป็นวิถีชีวิตตั้งแต่เก่าก่อนไม่ได้ ใช้กินนอนในบ้านที่ปลูกเองไม่ได้ ต้องออกไปจากผืนดินที่พวกเขาเกิดมา

 

นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงานสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและมอบนโยบายแก่ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋
นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงานสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและมอบนโยบายแก่ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋

 

ตอบกลับฉบับแรก

 

มติครม. 26 พฤศจิกายน 2561 เป็นปัญหาทำให้บ้านของชาวปกาเกอะญอกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยกเว้นจากเขตห้ามล่าฯ ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาจึงต้องการให้รัฐทบทวนเกณฑ์ของมติดังกล่าวเสียใหม่ ขอให้เพิกถอนเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้พื้นที่ทั้งหมด 21,034 ไร่ของเขตชุมชนกลับไปเป็นเพียงป่าสงวนแห่งชาติ ให้รัฐออกนโยบายที่พวกเขาจะสามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของตัวเองได้อย่างราบรื่น

รวมถึงข้อเรียกร้องเชิงนโยบายและกฎหมายที่กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move ที่พูดถึงการยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐ จัดให้มีโฉนดชุมชน ผลักดันให้มีพ.ร.บ.ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ปรับปรุงเนื้อหาพ.ร.บ.ต่างๆ ที่บังคับใช้ในพื้นที่นี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560

สิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ คือ มติครม.ปี 2553 ที่วางนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง อันเกิดขึ้นจากการที่ชาวปกาเกอะญอพิสูจน์ผ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยอย่างที่คนนอกเข้าใจ แต่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศได้จริง จนมติครม.นี้ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่มาก่อนกฎหมาย

มติครม. 3 สิงหาคม 2553 เป็นจดหมายฉบับแรกที่ชาวปกาเกอะญอได้ตอบกลับภาครัฐเสียที หลังต้องทนถูกเบียดเบียนมาตั้งแต่ปี 2484 เหมือนกับที่ชาวปกาเกอะญอที่บ้านแม่หมี จ.ลำปาง ทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งประเด็นการจัดการทรัพยากรของมติครม. มีใจความหลัก คือ

1. เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ อนุรักษ์ป่าสงวนซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่พิสูจน์แล้วว่าอยู่มาก่อนรัฐจะประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว

2. ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

3. จัดตั้งคณะกรรมการหรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม

4. ส่งเสริมระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

5. สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการจัดการของชุมชนท้องถิ่นดังเดิม เช่น การออกโฉนดชุมชน

นอกจากพระเอกอย่างมติครม. 3 สิงหาคม 2553 แล้ว ยังมีพระรองที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีมาตลอดคือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเพิ่งออกมาเมื่อปี 2562 ชาวบ้านคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกมาช่วยเหลือพวกเขาในการให้สิทธิแก่ชุมชนในการดูแลพื้นที่ป่าของตัวเองได้อย่างอิสระและถูกกฎหมาย แต่ติดที่เนื้อความกฎหมายที่ออกมาก็ยังลิดรอนสิทธิของพวกเขาอยู่ดี แถมยังติดที่ข้อบังคับของพ.ร.บ.ป่าชุมชน คือ หากจะจัดตั้งป่าชุมชนได้ พื้นที่นั้นจะต้องไม่เป็นป่าอนุรักษ์ (ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) เนื่องจากพื้นที่ดอยช้างป่าแป๋มีสถานะเป็นป่าอนุรักษ์และเขตห้ามล่าฯ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้

ดังนั้น ชาวบ้านจึงนำมติครม.เก่า (3 สิงหาคม 2553) มาชนกับมติครม.ใหม่เจ้าปัญหา (26 พฤศจิกายน 2561) แม้มติครม.จะไม่ใช่กฎหมาย ไม่สามารถหักล้างกฎหมายที่มีอยู่ แต่สามารถชะลอกระบวนการให้ทางรัฐนำไปทบทวนเพื่อแก้ไขและหาข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านได้

ส่วนการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษก็เป็นช่องทางการสื่อสารแก่โลกภายนอกเพื่อบอกว่ามีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีสถาปนา ถือเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับเขตพื้นที่วัฒนธรรมแห่งนี้ และรับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องไปพิจารณาต่อไป

มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ยังเอาไปต่อยอดเป็น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหัวหอกร่วมผลักดันกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยในประเทศไทยให้ภาครัฐร่างกฎหมายคุ้มครองวัฒนธรรมที่เปราะบางของพวกเขา ด้วยวิถีชีวิตที่ถูกคุกคามจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เศรษฐกิจทุนนิยม สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยน หลายสิ่งล้วนทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความเป็นอยู่ลำบากขึ้น โดยร่างกฎหมายนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 และประกาศใช้ในปี 2565

ด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิที่จะดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมในแผ่นดินไทยอย่างอิสระ จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ ตามมติครม. 3 สิงหาคม 2553 มีมติที่ว่าด้วยการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งให้กำหนดพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สำหรับชาวบ้านดอยช้างป๋าแป๋ที่มีความเชื่อดั้งเดิมที่เคารพเจ้าป่าเจ้าเขา นับถือศาสนาพุทธและคริสต์นิกายคาทอลิก มีความเชื่อพื้นถิ่นน่าสนใจ พื้นที่ตรงนี้ย่อมมีความพิเศษทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวปกาเกอะญอจะอนุรักษ์ไว้ได้อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญด้านสิทธิชุมชน

 

ชาวบ้านใส่สิ่งของที่มีคุณค่าทางใจก่อนปิดฝาหมุดรูปดอยช้าง ในพิธีปักหมุดสถาปนาพื้นที่จิตวิญญาณบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ)
ชาวบ้านใส่สิ่งของที่มีคุณค่าทางใจก่อนปิดฝาหมุดรูปดอยช้าง ในพิธีปักหมุดสถาปนาพื้นที่จิตวิญญาณบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ)

 

อนาคตของเรา อยู่ในจิตวิญญาณ

 

ดอยช้าง ไร่หมุนเวียน และข้าว เป็นจิตวิญญาณของชาวบ้านที่นี่ นอกจากนั้น สายใยที่พันผูกคนในชุมชนไว้ก็เป็นสิ่งล้ำค่าเหนือสิ่งอื่นใดเช่นกัน

“ช่วงที่เรียนมัธยมปลาย มองจากโรงเรียนจะเห็นดอยช้าง เห็นแล้วก็คิดถึงบ้าน อยากกลับบ้าน น้ำตาจะไหล เพราะเรามีความผูกพันกับที่นี่ ตอนเด็กๆ เราไปกับพ่อแม่ตรงที่เขาทำไร่หมุนเวียนแล้วจะเห็นดอยช้าง พอหน้าฝนจะมีเมฆเข้าไปปกคลุมยอดดอย แม่ก็บอกว่าดอยช้างกำลังโพกหัว มันเลยทำให้เรานึกถึงสมัยเด็กในไร่หมุนเวียนที่ลมพัดเย็นๆ พอไปที่ไหนแล้วเห็นดอยก็จะนึกถึงบรรพชน นึกถึงปู่ย่าตายาย” ดิปุนุกล่าว

หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปตั้งแต่ดิปุนุยังเล็กจนเติบโต ตั้งแต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังมาไม่ถึงชุมชน ถึงวันที่ระบบเกษตรเชิงเดี่ยวเข้ามาทำความรู้จัก แต่เขาก็แนะนำคนรุ่นพ่อแม่ถึงผลเสียจนเข้าใจ มาถึงวันที่ส่งออกกาแฟและน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนได้ ถึงวันที่ไม้ใหญ่เริ่มผลัดใบ แก่นแท้ของชีวิตชาวปกาเกอะญอส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ดิปุนุยังถือว่าเป็นคนหนุ่มมีแรง เขายังมอบกำลังใจของเขาไปสู่เยาวชนทั้งหลายในหมู่บ้านด้วย

“กับเด็กๆ เราใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของเด็กกับผู้ปกครอง หลังจากที่ผมเข้ามาทำงานในชุมชน มีเด็กกลุ่มหนึ่งอยู่กับผมตลอด บางคนพอไม่มีเราก็อยู่ไม่ได้ อยู่ที่บ้านเขาไม่ได้ทำงาน ญาติเลยบอกว่าให้มาอยู่กับเรา บวกกับว่าพ่อแม่ของเขาไว้ใจกับสิ่งที่เราทำอยู่

“ตอนทำแนวกันไฟหรือไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล พ่อแม่เขาก็ไม่ว่าอะไร เขาส่งลูกอายุแค่ 14-15 ปีไปเลย เด็กพวกนี้ได้เพื่อนจากที่อื่น ได้พูดคุยกันจนเขามีความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อหมู่บ้านมากกว่าผู้ใหญ่บางคน เราเลยมองว่าจะมีคนรุ่นใหม่มาต่อสิ่งที่เรากำลังทำอยู่และพร้อมจะเดินทางไปด้วยกัน ถ้าสักวันหนึ่งผมไม่อยู่แล้ว เยาวชนกลุ่มนี้จะก้าวขึ้นมาช่วยกันปกป้องชุมชน”

วิทยาการของชาวปกาเกอะญอต่าหลู่เก่อชอไม่ได้มีแค่ไร่หมุนเวียน แต่มีการทำแนวกันไฟป่ารอบเขตหมู่บ้านด้วย มีแนวกันไฟทั้งชั้นนอกและชั้นใน จากภาพแผนที่หมู่บ้านด้านบน จุดสีแดงคือจุดร้อน (hotspot) ที่ไฟไม่เคยถาโถมเข้ามาถึงตัวหมู่บ้าน มากที่สุดคือทะลุแนวกันชั้นนอก แต่ไม่เกินชั้นในเข้ามา นั่นก็เพราะแนวกันไฟมีความกว้าง 8-10 เมตร ยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ดิปุนุและผู้ใหญ่ที่ยังมีกำลังคนอื่นจะพาเหล่าวัยรุ่นเฝ้าระวังไฟป่าทุกวันโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน รวมถึงช่วยกันทำแนวกันไฟช่วงเดือนมีนาคม กวาดใบไม้แห้งในหลุมแนวยาวรอบหมู่บ้าน บางครั้งหากมีไฟป่าที่อื่น ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ก็ส่งคนไปช่วยเหลือได้เช่นกัน

 

เด็ก

 

“เด็กที่มาช่วยเป็นเด็กส่วนใหญ่ของที่นี่ แต่ก็มีคนลงไปเรียนเยอะ ตรงกับคำสอนของผู้เฒ่าคนหนึ่งว่า ‘การศึกษาเปรียบเสมือนนกยักษ์ที่คาบลูกหลานออกจากชุมชน’ เพราะพอคุณไปเรียนก็ต้องกู้กยศ. เรียนจบ ทำงาน ลามาร่วมงานที่ชุมชนไม่ได้ ไม่มีเวลา ไม่สะดวก สิ่งสำคัญคือคนในชุมชนที่เขาอยู่ที่นี่จะดูแลป่าอย่างไรโดยที่ตัวของเขาไม่ออกไปจากหมู่บ้าน แต่ว่าอยู่ที่นี่เขามีรายได้และมีกำลังใจในการทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ต้องไปแย่งอากาศ แย่งทรัพยากรในเมืองใช้”

ดิปุนุเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกนกยักษ์ในนามระบบการศึกษาไทยโฉบให้จากบ้านไปไกลเช่นกัน เขามองว่าเมื่อมีค่านิยมที่ทำให้คนต้องเรียนหนังสือสูงๆ จบมามีงานดีๆ ทำเพื่อที่จะร่ำรวยในภายภาคหน้าทำให้จำนวนคนในต่าหลู่เก่อชอน้อยลง คนทำไร่หมุนเวียนก็น้อยลงตาม ผลกระทบคือเมื่อคนออกห่างจากชุมชนไปแล้วก็ไม่ได้สนใจว่าวิถีวัฒนธรรมของตัวเองคืออะไร

“ถ้าระบบการศึกษาสอนให้เขาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมตัวเองได้ก็จะดี การที่เราประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เขากลับมาศึกษาเรื่องนี้ แล้วก็จะบรรจุเข้าไปในหลักสูตร เพราะบางคนลงไปเรียนแล้วไม่รอด ปรับตัวไม่ได้สุดท้ายก็กลับมาอยู่บ้าน เมื่อเขาไม่เรียนก็ต้องหาวิธีทำให้เขามั่นใจว่าอยู่ชุมชนแล้วจะมีรายได้ หรือหลายคนที่ทำงานกับผมก็มีโอกาสได้เจอโลกกว้างขึ้น เจอกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำให้เขามีเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอก ได้แลกเปลี่ยนทางความคิด ทำให้เขาเกิดจิตสำนึก และไปได้ไกลกว่า”

หากดิปุนุสามารถกำหนดหลักสูตรการศึกษาเพื่อเด็กดอยช้างป่าแป๋ได้ เขาเล็งไปที่การรู้จักรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของตัวเองเป็นสำคัญ “ตราบใดที่เขายังไม่รู้จักตัวตนของเขาว่าเป็นใครมาจากไหน ประวัติศาสตร์ของชุมชนเป็นแบบไหน เขาจะเขวแน่นอน ผมเชื่อว่าถ้าได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้เขาจะเห็นคุณค่าของตัวเอง แล้วเขาจะไปได้ไกลมากขึ้น และไม่ว่าเขาไปที่ไหนเขาก็จะนึกถึงที่นี่”

ดิปุนุยังคงมีความหวังกับตัวเองและคนวัยเยาว์ในหมู่บ้านว่าจะช่วยกันรักษาตัวตนชาวปกาเกอะญอดอยช้างไว้ได้ ดังเช่นคำประกาศตอนสุดท้ายที่กลั่นกรองมาจากความในใจของคนในชุมชนว่า

“พวกเราจะดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล จะดูแลรักษาป่า ปกป้องต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะที่นี่คือ ‘โหม่ทีหล่อ ป่าทีคลอ’ (บ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่) ของเรา ที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของจิตวิญญาณของบรรพบุรุษของเรา เป็นชีวิตของเรา ที่เราจะต้องอยู่ ดูแล ใช้อย่างยั่งยืน และจะฝังร่างอันไร้วิญญาณของเราคืนแก่ธรรมชาติ เมื่อเวลานั้นมาถึง”

 

ดอยช้างป่าแป๋ ผู้หญิง

 

การประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษเป็นการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสู่การผลักดันเป็นกฎหมายรูปธรรมที่จะปกป้องพวกเขาได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่ดิปุนุคิดว่าที่นี่จะมีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นแก่นของชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ ที่ไม่ว่าเวลาจะหมุนผ่านไปนานเท่าใด มันก็จะไม่เปลี่ยนแปลงและอยู่ในตัวของคนทุกคนสืบไป

“ถ้าตราบใดที่นี่ไม่มีไร่หมุนเวียนหรือถูกเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ความพิเศษของเขตวัฒนธรรมพิเศษก็จะไม่มีแล้ว เพราะการมีไร่หมุนเวียนมันบ่งบอกถึงการก่อเกิดสิ่งมีชีวิต การที่เราเผาไร่หมุนเวียน เราไม่ได้เผาเพื่อทำลาย แต่เผาเพื่อเป็นการสร้าง ต่ออายุให้กับเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น คน สัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ

“ถึงจะมีไร่กาแฟขึ้นมาอีกมากมาย แต่คุณก็ต้องกินข้าว แล้วข้าวไม่ใช่แค่คนที่กิน มีสุนัขตัวน้อย ไก่ หมูก็กินข้าว นอกจากข้าวเราก็มีพืชนานาชนิด ทำให้ในฤดูฝนเรามีพืชผักเก็บกินจนถึงหน้าแล้ง

“ถ้าเมื่อไหร่ที่มันมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีไร่หมุนเวียนแล้ว ผมคิดว่าวันนั้น…คนที่นี่คงไม่มีชีวิตอยู่แล้วล่ะ”

 

ดอยช้างป่าแป๋ ผู้หญิง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save