fbpx
ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ทำไมคนทั่วไปไม่ค่อยรู้สึก?

ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ทำไมคนทั่วไปไม่ค่อยรู้สึก?

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

 

ช่วงนี้คงมีคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย แม้จะมีหลายฝ่ายปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจขึ้น และว่ากันว่าปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว (และปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้) แต่ทำไมผู้คนจำนวนมากถึงยังไม่ค่อยรู้สึกว่าเศรษฐกิจจะดูดีขึ้นเท่าไรเลย มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่? ผมขอลองชวนคุยดูหน่อยครับ

เศรษฐกิจไทยติดหล่มจากปัญหาหลากหลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้ายังจำกันได้ ปี 2554 เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักเพราะน้ำท่วม แล้วก็พุ่งเป็นพลุแตก เติบโตกว่า 7% ในปี 2555 เพราะการฟื้นตัวหลังน้ำท่วม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท รถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก

หลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยก็เริ่มชนกำแพง การเติบโตชะลอลงอย่างรวดเร็วเหลือ 2.7% ในปี 2556 และเหลือแค่ 0.9% ในปี 2557 ช่วงที่วิกฤตการเมืองทำเศรษฐกิจหยุดชะงัก ในปี 2558 เรากลับมาโตได้ 2.9%  ส่วนปี 2559 การฟื้นตัวเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ที่ 3.2%

ทั้งหมดนี้เทียบไม่ได้เลยกับเศรษฐกิจไทยในยุคก่อนหน้าที่เคยเกือบเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตปีละ 7-8% กระทั่งในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2551 เศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโตได้ปีละ 5%

 

ภาพที่ 1 : อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (พ.ศ. 2535-2559)

 

ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์จะเริ่มปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลายปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะโตประมาณ 3.2% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แต่หลังจากตัวเลข GDP ไตรมาสแรกออกมา รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่เริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น ก็มีการปรับประมาณการขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ธปท. คาดว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ 3.5%

แม้ตัวเลขจะปรับขึ้น แต่ feeling on the ground หรือความรู้สึกของคนทั่วไปกลับไม่ค่อยรู้สึกแบบนั้น หลายคนยังบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ค่อยได้ ยอดขายของบริษัท ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้าหลายแห่งติดลบอย่างต่อเนื่อง ป้ายโฆษณาถูกปลดลง คงเหลือไว้แต่เบอร์โทรศัพท์ ยอดการใช้จ่ายโฆษณาสินค้าและบริการยังคงลดลง ซึ่งบ่งบอกว่าคนซื้อโฆษณายังคงตัดงบ เพราะไม่แน่ใจในแนวโน้มยอดขายของตัวเอง

ผมมีข้อสังเกตสามข้อเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่น่าจะพออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็คงไม่ทั้งหมด ตามนี้ครับ

 

“แข็งนอก อ่อนใน”

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ถูกปรับขึ้นในช่วงหลังๆ ล้วนมาจากเศรษฐกิจภายนอกที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และไทยก็ได้อานิสงส์ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ และการส่งออกที่เริ่มกลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวไปนาน เพราะมูลค่าการค้าโลกเริ่มกลับมาขยายตัว การส่งออกของไทยฟื้นตัวขึ้นพร้อมๆ กับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งการฟื้นตัวก็ค่อนข้างกระจายไปเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์

แต่ตัวเลขที่ดีขึ้นของการส่งออกและการท่องเที่ยว “ยัง” ไม่ส่งผลกระจายไปยังเศรษฐกิจภายในประเทศเสียทีเดียว ตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังคงอ่อนแอ ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างกระจุกตัวเฉพาะในบางพื้นที่ จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอาจได้ประโยชน์ แต่จังหวัดที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจไม่รู้สึกถึงการขยายตัวนี้เท่าที่ควร

นอกจากนั้น แม้ยอดการส่งออกเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่สะสมไว้ตั้งแต่หลังน้ำท่วม ทำให้ความจำเป็นในการจ้างงานเพิ่ม การให้โอที การขึ้นค่าจ้างแรงงาน หรือการลงทุนเพิ่ม มีไม่มากนัก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยเมื่อเทียบกับเมื่อ 3-4 ปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แถมที่น่ากังวลคืออัตราการว่างงาน ก็พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีเสียด้วย

ก็ได้แต่หวังว่าเศรษฐกิจภายนอกที่ปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้รายได้และเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในไม่ช้า

ในส่วนของการบริโภคภายในประเทศ ยังคงถูกกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง อัตราการผิดนัดชำระหนี้เริ่มสูงขึ้น ธนาคารชะลอการเพิ่มสินเชื่อ เพราะความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ การกระตุ้นการบริโภคโดยการเร่งสร้างหนี้แบบเดิมๆ จึงเกิดขึ้นได้ลำบาก

ทางด้านการลงทุนยังคงเติบโตได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ค่อยชัดเจน ความสามารถในการแข่งขันก็น่าเป็นห่วง รวมถึงปัจจัยด้านความเชื่อมั่นเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ถ้าเราดูตัวเลขการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนดีๆ จะพบว่าบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ยังคงลงทุนอยู่ แต่มีแนวโน้มที่จะลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ากำไรจากการลงทุนยังอยู่กับเจ้าของทุนคนไทย  และอาจมีกำไรส่งกลับประเทศในอนาคต แต่มูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ใช่ภายในประเทศ

ภาวะชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นในช่วงหลังมาจากสองปัจจัยหลัก นั่นคือ รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเยอะมาก และการนำเข้าที่หายไป ทั้งจากการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่โตช้าลง เราเกินดุลเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการยังคงเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิมนิดหน่อย

ถ้ามองจากอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่มีเงินออมในประเทศมากกว่าโอกาสในการลงทุน แม้ว่าจะดีในแง่เสถียรภาพที่มีเงินไหลเข้ามากกว่าเงินไหลออกจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่ถ้ามองจากมุมมองของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นี่อาจจะเป็นอาการที่น่าเป็นห่วง มันกำลังส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังอ่อนแอ  และอาจกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวจากการขาดการลงทุนภายในประเทศ

 

“แข็งบน อ่อนล่าง”

 

ภาวะเศรษฐกิจที่โตอย่างไม่เท่าเทียมกันและย้อนแย้ง อาจเป็นอีกประเด็นที่ควรจับตาดู ผมขอยืมคำของคุณบรรยง พงษ์พานิช ที่เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจแบบ “แข็งบน อ่อนล่าง”

ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ มีเงินเหลือ เริ่มออกไปซื้อทรัพย์สินต่างประเทศ ธนาคารแย่งกันปล่อยสินเชื่อ แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กกลับขาดสภาพคล่อง และเริ่มมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้

ถ้าเราดูยอดการปล่อยสินเชื่อรวมที่โตช้าลงออก อาจจะสรุปได้ค่อนข้างลำบากว่า นี่เป็นปัญหาเรื่องความต้องการเงินกู้และการลงทุน หรือเป็นปัญหาจากสถาบันการเงินที่ไม่อยากปล่อยกู้ เพราะปัญหาการผิดนัดชำระหนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เศรษฐกิจฐานรากจะบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ร้านอาหารหรูยังจองคิวกันเป็นเดือนๆ ในขณะที่บ้านและคอนโดราคาไม่แพงเริ่มขายไม่ค่อยได้ เพราะลูกค้ากู้ไม่ผ่าน แต่บ้านหรูคอนโดหรูยังคงขายดิบขายดี ยอดขายรถหรูยังขายดีเทน้ำเทท่า ทั้งหมดนี้อาจจะสะท้อนปัญหาการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำ และการกระจายตัวของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงสะท้อนว่าเศรษฐกิจฐานรากพึ่งพา “รายได้” ขณะที่คนมีรายได้สูงพึ่งพา “ความมั่งคั่ง” ที่ได้รับประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ

ในวันที่ขนาดของพายทั้งชิ้นกำลังขยายตัวใหญ่ขึ้น คงไม่เป็นไรถ้าส่วนแบ่งของเราจะน้อยลงเมื่อเทียบกับคนอื่น ถ้าพายชิ้นที่เราได้รับนั้นใหญ่ขึ้น แต่ในวันที่พายโตช้าหรือไม่โต ส่วนแบ่งของเราเมื่อเทียบกับคนอื่นจะมีความสำคัญมากขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้

 

“ดีขึ้น แต่เคยดีกว่านี้”?

 

ประเด็นรายได้สินค้าเกษตรก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคของคนส่วนใหญ่ที่ยังมีความผูกพันกับภาคเกษตร จะสังเกตได้ว่าช่วงที่เศรษฐกิจต่างจังหวัดของไทยดีมากๆ คือช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้น และรายได้ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น

ทางการรายงานตัวเลขรายได้ภาคเกษตรว่าปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตดีขึ้น เพราะฐานจากปีก่อนค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ที่น่าสนใจคือราคา ที่ระบุว่ายังคงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ถ้าเราดูเฉพาะตัวเลข ก็น่าจะคาดหวังว่ารายได้ของเกษตรกรน่าจะดีขึ้น

แต่ถ้าเราดูแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล แบบย้อนหลังไปไกลหน่อย เราจะพบแนวโน้มคล้ายๆ กัน คือแม้ราคาจะกระเตื้องขึ้นบ้างในระยะหลัง และดีขึ้นจากช่วงที่ตกต่ำที่สุดในช่วงปลายปี 2558 แต่ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังคงต่ำกว่าราคาในช่วงที่เคยดีอย่างปี 2556 ค่อนข้างมาก และสินค้าบางชนิด เช่น ยางพารา ก็เริ่มปักหัวลงอีกแล้วด้วย คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และการผิดนัดชำระหนี้ จะมีสูงมากในภูมิภาคที่มีการปลูกยางค่อนข้างมาก

 

ภาพที่ 2 : ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้นสาม ในตลาดสิงคโปร์ (US cents per pound)

ที่มา: Indexmundi.com

 

ภาพที่ 3 : ราคาข้าวขาว 5% ตลาดกรุงเทพ (ดอลลาร์ต่อตัน)

ที่มา : Indexmundi.com

 

ข้อสังเกตทั้งสามประการชี้ให้เห็นว่า การกระจายของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะ “ยัง” ไม่ลงไปถึงคนส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อยก็เริ่มจะมีข่าวดีกันบ้างแล้ว และหวังว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น น่าจะส่งผลดีขึ้นต่อรายได้ การจ้างงาน และการบริโภค

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่น่ากังวลอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความเสี่ยงภายนอกประเทศ, แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงจนอาจนำไปสู่ภาวะเงินฝืด ทำให้การฟื้นตัวที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ส่งต่อไปยังภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ, การปรับตัวรับมือเทคโนโลยีใหม่ๆ และผลกระทบจากแนวโน้มประชากรที่น่าเป็นห่วง

เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดครับ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save