fbpx
น้ำยาของศิลปะ (?)

น้ำยาของศิลปะ (?)

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผู้เขียนได้ไปพูดคุยในหัวข้อ ‘ศิลปะแห่งการช่วงชิงความทรงจำ (ทางการเมือง)’ ในรายการ 101 One-On-One ในช่วง Q & A ก็มีคำถามจากผู้ฟังท่านหนึ่งส่งเข้ามาว่า “ศิลปะยังมีน้ำยาอยู่ไหม”

หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เขียนก็ได้รับเชิญไปเสวนาหลังการฉายภาพยนตร์เรื่อง สายน้ำติดเชื้อ (By the River, 2556) กับผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล และคุณธนกฤต โต้งฟ้า ในรายการ 1 day with NONTAWAT ที่ LIDO CONNECT ว่าด้วยการค้นหา ‘ความพอดีของการรุกล้ำ’ และบทบาทเชิงสังคมของงานศิลปะ

อันที่จริงแล้ว คำถามเกี่ยวกับบทบาทเชิงสังคมของศิลปินและศิลปะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือในต่างประเทศ เป็นเวลานับร้อยปีมาแล้วที่เหล่าผู้สร้างสรรค์งานศิลปะถูกตั้งคำถามว่าทำงานศิลปะไปทำไม มีเป้าหมายอย่างไร ช่วยเหลืออะไรสังคมได้ไหม ศิลปะจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาทางสังคมได้อย่างไร แล้วศิลปะเป็นแค่การฉกฉวยเอาปัญหามาพูดถึงอย่างฉาบฉวย เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับตัวศิลปินเองเท่านั้น — หรือเปล่า?

ชุดคำถามอมตะว่าด้วยที่ทางของศิลปะในสังคม ดูจะยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้นเป็นทวีคูณ เมื่อสังคมนั้นๆ อยู่ในภาวะไม่ปกติ โดยเฉพาะความไม่ปกติทางการเมือง

ความเป็นอมตะ (ในความหมายที่ว่ายังใหม่ ยังร่วมสมัยอยู่เสมอ) ของคำถามชุดนี้ ชวนให้ย้อนคิดไปถึงข้อถกเถียงระหว่าง ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ กับ ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’ ในทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการรื้อฟื้นจิตร ภูมิศักดิ์ ของปัญญาชนยุคก่อน 14 ตุลา ที่ได้นำพาวาทกรรม “ศิลปะควรรับใช้ประชาชน” ที่จิตรได้เสนอไว้ในทศวรรษ 2490-2500 กลับขึ้นมาด้วย แน่นอนว่าในบริบทของยุคสมัยที่แตกต่างกัน ข้อถกเถียงดังกล่าวได้ขยับขยายขอบเขตของประเด็นปัญหาออกไปมาก แต่แกนความคิดสำคัญที่ว่าด้วยบทบาทหน้าที่เชิงสังคมของศิลปะยังคงอยู่เช่นเดิม

ผู้เขียนเคยกล่าวถึงประเด็นนี้มาแล้วหลายครั้ง ใครที่ได้เห็นงานกันอยู่บ่อยๆ ก็คงจะรู้สึกเบื่อพอๆ กัน แต่ก็ขอยืนยันจากความเป็นอมตะของตัวประเด็นเองว่า คำถามชุดนี้จะคงอยู่เป็นปัญหาโลกแตกไปตราบนานเท่านาน ไม่ใช่เพียงเพราะโลกจะมีปัญหาอะไรสักอย่างมาเป็นโจทย์ให้ทั้งศิลปินและคนแวดวงอื่นขบคิดกันอยู่เสมอเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าคำถามที่ดูทื่อๆ กำปั้นทุบดินเหล่านั้นเป็นคำถามที่ตอบยากอีกด้วย

ยากเพราะทั้งปฏิบัติการทางศิลปะและปฏิบัติการทางการเมืองในปัจจุบันมีความซับซ้อน คาบเกี่ยวกันหลายส่วน ยากเพราะการตอบความคาดหวังเรื่องบทบาทของศิลปะต่อสังคมของแต่ละคนไม่มีมาตรวัดที่ตายตัว ยากเพราะการแยกระหว่างศิลปะที่เป็นการแสดงทัศนะของศิลปินในฐานะปัจเจกบุคคลกับกิจกรรมเชิงรณรงค์ที่ใช้ปฏิบัติการทางศิลปะเป็นสื่อออกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย หรือในบางกรณีคือ เป็นไปไม่ได้เลย ยากเพราะไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ยากเพราะตอบอย่างมักง่ายไม่ได้….

จะผิดหรือไม่ถ้าจำนวนคนที่เข้าใจงานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ มีไม่มากนัก? ผิดหรือไม่ถ้ารูปแบบและวิธีการนำเสนอยากและไม่เป็นที่คุ้นเคยจนไม่สื่อสารกับคนหมู่มาก? เสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกบุคคลกับการสื่อสารเชิงรณรงค์เพื่อสร้างสำนึกในสังคม จะมีคุณค่าและความสำคัญอย่างทัดเทียมกัน พร้อมทั้งเคารพและเข้าใจในความแตกต่างพื้นฐานระหว่างกันได้อย่างไร? เหล่านี้คือโจทย์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการถามหา ‘น้ำยาของศิลปะ’

ผู้เขียนอยากจะหยิบยกภาพยนตร์เรื่อง สายน้ำติดเชื้อ (By the River) มาเป็นกรณีตัวอย่าง เมื่อผู้กำกับคือคุณนนทวัฒน์ซึ่งรู้จักกันเป็นการส่วนตัวได้ติดต่อให้ไปร่วมวงเสวนาหลังฉายหนัง ผู้เขียนรู้สึกงงเล็กน้อย เพราะว่า สายน้ำติดเชื้อ เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในขอบเขตความรู้หรือความเชี่ยวชาญใดๆ ของตัวเองเลย

ภาพจาก เพจ By the River : สายน้ำติดเชื้อ

 

สายน้ำติดเชื้อ นำเสนอเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ใช้ชีวิตโดยอาศัยน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้มานานนับสิบปี สารตะกั่วที่ว่านี้มาจากบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ ประเทศไทย (จำกัด) ที่เข้าไปทำเหมืองอยู่บริเวณเหนือทางน้ำของชาวบ้าน หลังจากกระบวนการยุติธรรมอันยาวนานกว่า 14 ปี ชาวบ้านคลิตี้ล่างชนะคดี ได้รับค่าเสียหายจากกรมควบคุมมลพิษ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ สายน้ำติดเชื้อ เล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคนในหมู่บ้านที่ยังพึ่งพาแหล่งน้ำที่การเยียวยายังไม่เสร็จสมบูรณ์

ทว่า คุณนนทวัฒน์ไม่ได้ชวนผู้เขียนให้ไปคุยกันเรื่องศิลปะกับปัญหาสิ่งแวดล้อม (ซึ่งก็เป็นกระแสนิยมอีกเช่นกัน อาห์ เราคงจะทำอะไรๆ อย่างมีความชอบธรรมไม่ได้เลยหากไม่ได้หยอด ‘สำนึกเชิงสังคม’ ลงไปในงานสักหน่อย) แต่อยากจะสนทนากันเพื่อ ค้นหา ‘ความพอดีของการรุกล้ำ’ เมื่อคนนอกเข้าไปบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่มีเลือดเนื้อในพื้นที่จริง เพื่อนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปแบบงานศิลปะ งานจำเป็นต้องส่งผลและสามารถเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมเพื่อสะท้อนกลับไปยังพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่?”

คุณนนทวัฒน์เล่าว่า ในฐานะคนทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ (เขตแดน สิ่งแวดล้อม ชนกลุ่มน้อย การเมือง ฯลฯ) เขามักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอจากผู้คนในแวดวงนักกิจกรรมว่า ผลงานเหล่านี้มีส่วนช่วยเหลือเพียงไรต่อความหนักหน่วงของประเด็นปัญหาที่มันเข้าไปแตะต้อง คำถามเหล่านี้ดูจะยิ่งย้อนกลับมาทับถมตัวเองจนหนักอึ้งในวันที่เขากลายเป็นผู้กำกับมือรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่างๆ ความพอดีของการรุกล้ำอยู่ที่ไหน? เมื่อไหร่ที่เราจะไม่กลายไปเป็นเพียงผู้ฉกฉวยชื่อเสียงและผลประโยชน์เข้าตัวในนามของความสร้างสรรค์? ‘เท่าไหร่’ และ ‘แบบไหน’ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียกร้องที่ ‘ไม่น้อยเกินไป’ ?

ผู้เขียนคิดว่าคำถามที่คุณนนทวัฒน์มีต่อตัวเอง เป็นข้อทบทวนที่ถึงจุดหนึ่งผู้สร้างสรรค์จำเป็นต้องมี ไม่ใช่เพื่อสั่นคลอนความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ แต่เพื่อสำรวจตรวจสอบความรู้สึก ความคิด และปฏิบัติการทางศิลปะของตัวเอง กระนั้นก็ตาม อย่างที่ผู้เขียนกล่าวว่ามันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปและมาตรวัดของทุกคนก็เป็นคนละแบบ ในขณะที่ สายน้ำติดเชื้อ ซึ่งดำเนินเรื่องอย่างเนิบๆ ในบรรยากาศธรรมชาติสงบงามได้รับคำวิจารณ์ว่ามันไม่เรียกร้องให้ตระหนักถึงปัญหาตกค้างในพื้นที่มากพอ ผู้ชมบางคนเช่นตัวผู้เขียนเอง กลับมองว่าสารในภาพยนตร์เรื่องนี้หนักหน่วงและโหดร้าย

ในความเรียบเรื่อยของการดำเนินเรื่อง ที่แม้กระทั่งความตายของตัวเอกคนหนึ่งก็ยังไม่ถูก dramatized ให้เห็นความฟูมฟาย สายน้ำติดเชื้อ มีองค์ประกอบหลักอยู่ที่การใช้ชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านที่ “ก็เดินไปเดินมา” (ตามคำของผู้กำกับ) มีช่วงเวลาที่ดูออกจะเร้าใจอยู่ช่วงหนึ่งคือตอนที่ชาวบ้านชนะคดี แล้วหลังจากนั้นหน้าจอก็ปรากฏตัวหนังสือวิ่งเป็นคำอธิบาย ดูเหมือนว่าฉากนี้จะทำหน้าที่เป็นฉากจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง กล่าวคือ คนตัวเล็กตัวน้อย (ที่เป็นคนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์อย่างชาวกะเหรี่ยง) ชนะในคดีฟ้องร้องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐ

ความโหดร้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ฉากที่ว่าไม่ได้เป็นเพียงตอนจบของเรื่อง แต่ยังมีเรื่องราวที่ดำเนินต่อไปอีกเพื่อชี้ให้เห็นว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันกระบวนการฟื้นฟูและเยียวยายังไม่บรรลุผลสำเร็จ ได้ส่งผลถึงวิถีชีวิตและสุขภาพของคนในหมู่บ้านชนิดที่เรียกเอาคืนมาไม่ได้

ฉากยายตาบอดฟังคำอธิบายจากบุคลากรทางการแพทย์ว่าการรักษาจะไม่ช่วยอะไร เพราะได้รับสารพิษมาเป็นระยะเวลานานเกินไป เป็นฉากนิ่งๆ ไม่มีอะไรเร้าอารมณ์ เช่นเดียวกับฉากที่เล่าถึงความตายของหนุ่มกะเหรี่ยงนักดำปลาประจำหมู่บ้าน ไม่มีการโคลส-อัพไปที่ดวงตา (ที่บอด) ให้เห็นน้ำตาหยดแหมะ ไม่มีการเร่งเร้าผู้ชมว่าต้องเศร้า แต่ความนิ่งของฉากดังกล่าวกับตัวละครกลับสร้างความสะเทือนใจอย่างลึกล้ำ ฉากสั้นๆ นี้ประมวลเอาความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่ชาวบ้านต้องประสบและยังคงเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะสายน้ำที่ ‘ติดเชื้อ’ นั้นไม่อาจรักษาได้โดยง่าย…

แล้วศิลปะจะมีน้ำยาอะไร? ผู้เขียนนึกถึงนิทรรศการศิลปะอีกงานหนึ่งที่เพิ่งไปดูมาคือ A Forest of Spirits ของไคว สัมนาง (Khvay Samnang) ศิลปินชาวกัมพูชา ที่โนวา คอนเทมโพรารี (Nova Contemporary) คิวเรทโดยภัณฑารักษ์ชาวอินเดีย อภิจัน โตโต้ (Abhijan Toto) ที่ว่าด้วยการประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอาเรง (Stung Areng) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลกัมพูชาได้มอบสัมปทานให้กับบริษัทซิโนไฮโดร (Sinohydro) จากประเทศจีน การสร้างเขื่อนดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบกับหุบเขารอบข้างซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวชอง (Chong) และสัตว์ป่านานาชนิด แผนการนี้นำไปสู่การประท้วงจากชุมชนชาวชอง พระสงฆ์ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมืองจนทำให้รัฐบาลกัมพูชายกเลิกโครงการนี้ไปในที่สุด

 

นิทรรศการ ‘A Forest of Spirits’ ภาพจากเพจ Nova Contemporary

 

นี่เป็นตัวอย่างของชัยชนะของชาวบ้านต่อรัฐและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เช่นกัน สัมนางได้เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนชาวชองและเรดี เอง (Rady Nget) ซึ่งเป็นนักแสดง เพื่อพัฒนาผลงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติ ความเชื่อโบราณ สัตว์ ผี และมนุษย์ ตามวิถีแบบดั้งเดิมที่อาจถูกทำลายไปหากโครงการสร้างเขื่อนประสบความสำเร็จ (หรืออาจตีความอีกแบบได้ว่า นี่คือการประกาศชัยชนะเหนือโครงการสร้างเขื่อนที่เพิ่งเลิกล้มไป)

เช่นเดียวกับภาพยนตร์สารคดีของนนทวัฒน์ A Forest of Spirits ให้ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงามและยิ่งใหญ่ ไม่มีตัวบ่งชี้ใดในวิดีโอ ภาพถ่าย การร่ายรำของเรดี เอง หรือประติมากรรมรูปหัวสัตว์ต่างๆ ที่บอกถึงการประท้วงโครงการสร้างเขื่อนอย่างชัดเจนเลย กระนั้นมันก็ยังเป็นงานศิลปะที่ว่าด้วยการคุกคามสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

คำถามคือ จะต้องโหวกเหวกเร่งเร้าขนาดไหนเพื่อตีแผ่ปัญหาและสร้างความตระหนักรู้? ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถยอมรับการพูดผ่านภาษาและไวยากรณ์ที่หลากหลายได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อผลงานศิลปะคาบเกี่ยวกับงานรณรงค์ แต่ไม่ได้มีการรณรงค์เป็นเป้าหมายโดยตรง? เมื่อศิลปะอาจเพียงชวนให้คิด แต่ไม่ได้ให้แนวทางแก้ไขปัญหาและไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง

ไม่มีคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จสำหรับ ‘ความพอดีของการรุกล้ำ’ ศิลปินบางคนวางตัวในฐานะผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมและสะท้อนมุมมองของตนจากระยะที่ห่างออกไป บางคนเข้าคลุกคลีวงใน หรือบางคนโดดเข้าร่วมความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยหนทางศิลปะ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ศิลปะก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกำลังของตนแต่เพียงลำพัง หากแต่เป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของความพยายามอื่นอีกมากมาย ผลสำเร็จของการแก้ปัญหาใดๆ ไม่ขึ้นกับศิลปะ และในบางครั้งเราต้องยอมรับว่า แม้องคาพยพอื่นของสังคมรวมทั้งศิลปะได้พยายามอย่างถึงที่สุดของความสามารถแล้ว ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจะยังไม่มาถึง (เช่น มีศิลปินมากมายทำงานศิลปะเชิงการเมือง และพวกเขาก็ออกไปเลือกตั้งร่วมกับคนไทยอาชีพอื่นอีกเป็นล้านคน แต่เผด็จการทหารก็ยังไม่ออกไปจากรัฐบาลอยู่ดี)

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหยุดให้แก่ความพ่ายแพ้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีน้ำยา เพราะถึงที่สุดแล้ว การขับเคลื่อนเพื่อทำงานทางความคิดเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save