fbpx
อานันด์ แพตวาร์ธัน : เมื่อศาสนากลายเป็นสถาบัน และสิทธิมนุษยชนยังก้าวไม่พ้นคัมภีร์

อานันด์ แพตวาร์ธัน : เมื่อศาสนากลายเป็นสถาบัน และสิทธิมนุษยชนยังก้าวไม่พ้นคัมภีร์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เมื่อวันที่ 20-21 ก.ค. ที่ผ่านมา Documentary Club ร่วมกับ Filmvirus ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดงานฉายหนังสารคดีของ อานันด์ แพตวาร์ธัน (Anand Patwardhan) ผู้กำกับสารคดีชาวอินเดียวัยย่าง 70 ปี ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ไมเคิล มัวร์’ แห่งอินเดีย เป็นที่รู้จักจากการทำสารคดีที่สะท้อนปัญหาสังคม การเมือง และสิทธิมนุษยชน

หนังของเขามักให้ความสนใจกับสภาวะคลั่งศาสนาสุดโต่ง ความขัดแย้งของการแบ่งแยกนิกายและวรรณะของคนในอินเดีย ขณะที่งานบางชิ้นก็สำรวจตรวจสอบสภาวะชาตินิยมจากการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ผลพวงของสงคราม และการพัฒนาประเทศที่ไม่ยั่งยืน

สำหรับงานครั้งนี้ มีการฉายหนังของเขา 2 เรื่องคือ ‘Father, Son and Holy War’ (1995) ซึ่งได้รับการตัดสินให้เป็นหนึ่งใน 50 สารคดีที่น่าจดจำที่สุดตลอดกาลในปี 2004 จาก ‘DOX’ นิตยสารหนังสารคดีเล่มสำคัญของยุโรป เนื้อหาพูดถึงความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอินเดียช่วงยุค 80’s คู่ขนานไปกับการสะท้อนแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำสังคมอินเดียอย่างถึงราก ผ่านพิธีกรรมและคำสอนของศาสนา

อีกเรื่องหนึ่งคือ War and Peace (2002) ที่วิพากษ์การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของอินเดียภายใต้ความขัดแย้งระหว่างประเทศกับปากีสถาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยไม่อาจทำอะไรได้

หลังจบการฉายหนัง ได้มีเซสชั่นของการถาม-ตอบ แบบสดๆ กับอานันด์ ว่าด้วยประเด็นที่ปรากฏในหนัง ตั้งแต่การปะทะและวิธีคิดในฐานะคนทำหนังสารคดีมือฉมัง

ต่อไปนี้ คือเนื้อหาบางช่วงบางตอนจากการพูดคุยในวันแรก หลังการฉายหนังเรื่อง Father, Son and Holy war ว่าด้วยความขัดแย้งทางความเชื่อของคนต่างศาสนา แนวคิดชายเป็นใหญ่ ไปจนถึงกระบวนการต่อกรกับระบบเซ็นเซอร์ในอินเดีย

 

 

ทราบว่าหนังแทบทุกเรื่องของคุณ จะเจอปัญหาเรื่อง censorship เสมอ อยากถามว่าคุณคิดยังไงกับการเซ็นเซอร์

ผมมองว่าการเซ็นเซอร์เป็นอาวุธของรัฐที่อ่อนแอ เปราะบาง และพร้อมจะพังทลายลงได้เสมอเมื่อได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ถ้ารัฐนั้นแข็งแรงจริง และมาจากเสียงของประชาชนจริงๆ คุณต้องมีความอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคำวิพากษ์วิจารณ์คือสิ่งที่ทำให้รัฐรู้ว่าตัวเองพลาดพลั้งตรงไหน และจะแก้ไขได้อย่างไร คำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทำให้รัฐเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้น ยิ่งรัฐใช้การเซ็นเซอร์มากเท่าไหร่ มันยิ่งสะท้อนว่ารัฐอ่อนแอมากเท่านั้น

ผมเองทำหนังมามากกว่าสี่สิบปี หนังของผมทุกเรื่องมีปัญหาเรื่อง censorship ตลอด เพียงแต่ผมก็อยากจะต่อสู้กับระบบนี้ ถ้าสู้แล้วแพ้ต่อคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ผมก็จะเอาเรื่องขึ้นศาล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว หนังของผมชนะตลอด กองเซ็นเซอร์ไม่สามารถตัดหนังของผมออกได้แม้แต่เฟรมเดียว

อย่างเรื่องนี้ (Father, Son and Holy war) ก็สู้อยู่หลายปี จนในที่สุดไปชนะในชั้นศาล แล้วได้เรท R โดยคณะกรรมการอ้างว่ามีบางฉากในหนังที่รุนแรง แต่สิ่งที่ผมต้องการไม่ใช่แค่ให้หนังได้ฉายเท่านั้น ผมอยากให้มันไปถึงคนดูในวงกว้างด้วย ก็เลยคิดว่ามันต้องได้รับการฉายในทีวี

ในอินเดียจะมีช่อง National Broadcast ที่ปกติจะฉายหนังที่ดีที่สุดที่ทางช่องคัดสรรมา แล้วพอหนังเรื่องนี้ชนะรางวัล National Awards สาขาสารคดียอดเยี่ยม ผมก็เลยติดต่อกับทางสถานี บอกว่าคุณฉายเรื่องนี้สิ มันชนะรางวัลระดับชาติเลยนะ

ปรากฏว่าช่องก็ไม่ยอมฉาย ทั้งที่มันผ่านการจัดเรทติ้ง และได้รับการการันตีจากรางวัลระดับชาติแล้ว แต่ผมก็ไม่ยอม สู้กันมาเกือบสิบปี แล้วสุดท้ายก็ชนะ ได้ฉายทางทีวีในที่สุด

 

ตอนเด็กพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์จะสอนว่า ศาสนาคือสิ่งที่สอนให้คนทำดี คิดดี เป็นคนดี แต่ถ้าเราดูจากในหนัง จะเห็นว่าความขัดแย้งของผู้คนเกิดจากความคิดเห็นที่ต่างกันทางศาสนา อยากรู้ว่าโดยส่วนตัวแล้ว คุณคิดว่าศาสนาคืออะไร ทำให้คนเป็นคนดีได้จริงหรือเปล่า

ผมเห็นด้วยว่าศาสนานั้นสอนให้เราเป็นคนดี แต่ปัญหาคือการสอนให้เป็นคนดีนั้น มักจะใช้วิธีขู่ให้คนกลัว เช่น ถ้าทำไม่ดีจะตกนรก พระเจ้าจะลงโทษ ถ้าทำดีจะได้ขึ้นสวรรค์ แง่หนึ่งมันคล้ายการ blackmail ให้คนทำดี แต่เอาเข้าจริง มันก็พอรับได้นะ ผมไม่มีปัญหาถ้าศาสนาสอนให้มนุษย์กลายเป็นคนดี

แต่ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือ ศาสนากลายเป็นสถาบัน พอเป็นสถาบัน ก็ต้องเริ่มหาเงิน หาอำนาจ พยายามรวบรวมให้ผู้คนเข้ามาเป็นสมาชิก แล้วถ้าเกิดใครไม่เป็นสมาชิกของสถาบันนั้นๆ ก็จะถูกแปะป้ายว่าเป็นศัตรู เราจะเห็นว่ามีคนที่ยอมตายเพราะศาสนามากกว่าเรื่องอื่นใดในโลกนี้ ผมก็เลยตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า Father, Son and Holy War ล้อกับคำว่าพระบิดา พระบุตร และพระจิต (Father, Son and Holy Ghost) ในศาสนาคริสต์

ผมคิดว่าในตัวของศาสนาเอง ไม่ว่าศาสนาใด มันมีไอเดียของสงครามอยู่แล้ว ในฮินดูก็มี ในอิสสามก็มี คำหนึ่งที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ คือคำว่า รัฐฆราวาส (Secular state) หมายถึงรัฐที่ไม่ได้อิงกฎหมายของตัวเองกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง โดยคอนเซ็ปต์ของตะวันตก รัฐฆราวาสคือรัฐที่แบ่งแยกโบสถ์ออกจากรัฐ ศาสนาก็เรื่องหนึ่ง รัฐก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการถือศาสนาของตัวเองได้ในพื้นที่ส่วนตัว แต่เมื่อคุณออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้วคุณต้องใช้กฎหมายของรัฐ ซึ่งไม่ได้อิงกับหลักหรือกฎของศาสนาใดๆ

แต่ในอินเดียนั้น จะมีคอนเซ็ปต์ที่ต่างออกไป โดยผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างมหาตมะ คานธี มองว่าทุกศาสนาล้วนพูดถึงเรื่องเดียวกัน สอนสิ่งเดียวกัน ฉะนั้นทุกคน ทุกศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่มีปัญหากับทั้งสองแนวคิด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบรัฐฆราวาสที่ศาสนาถูกแยกออกจากรัฐ หรือแนวคิดแบบผนวกรวม (inclusive) ของคานธี ที่มองว่าทุกคนสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะได้

 

จากในหนัง จะมีฉากที่ฉายให้เห็นพิธี ‘สตี’ (sati) หรือพิธีเผาแม่หม้าย ที่มีการบูชายัญหญิงหม้ายด้วยการเผาทั้งเป็น ทุกวันนี้ยังมีเหตุการณ์แบบนั้นอยู่ไหม  

ต้องเข้าใจก่อนว่า หนังเรื่องนี้ใช้เวลาในการทำถึงเจ็ดปี แล้วก็เอาฟุตเทจที่ได้มาตัดต่อร้อยเรียงกัน แต่จริงๆ แล้ว ผู้หญิงในอินเดียไม่ได้ถูกเผาทุกวัน ในศตวรรษที่ผ่านมาอาจเกิดขึ้นแค่หนึ่งถึงสองครั้งเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมโฟกัสมากกว่าคืออุดมการณ์ที่อยู่ภายใต้การเผาผู้หญิงในพิธีกรรมดังกล่าว

จริงอยู่ที่การเผาผู้หญิงไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน แต่การเชิดชูการเผาผู้หญิงยังเกิดขึ้นตลอดเวลา การมองว่าผู้หญิงเป็นสินทรัพย์ของบุรุษ ของสามี เกิดขึ้นอยู่เสมอ และเป็นสิ่งที่สามัญมากในอินเดียจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่ผมนำเสนอในหนัง ไม่ได้พูดเกินจริง แต่ถ่ายทอดจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง แล้วผมก็เอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาชนกัน เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันว่า จริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นภายใต้ความคิดของคนที่อยู่ในสังคมนั้น

ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกวันนี้ยังมีวัดหลายแห่งมากในอินเดียที่เฉลิมฉลองผู้หญิงที่กลายเป็นสตี ภายใต้ความเชื่อว่าหลังจากทำพิธีแล้ว พวกเธอจะได้เลื่อนขั้นกลายเป็นเทพ ความเชื่อเหล่านี้ยังมีอยู่ แม้พิธีสตีจะแทบไม่ได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม

หรือล่าสุดก็มีหนัง Bollywood ที่พูดถึงสตี ก็คือเรื่องนางปัทมาวดี หนังพูดถึงพิธีกรรมนี้ในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของอินเดียที่มุสลิมกำลังจะชนะ ทีนี้มันมีฉากที่ชายฮินดูคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า แทนที่จะปล่อยให้ผู้หญิงฮินดูของพวกเราตกไปอยู่ในมือของพวกมุสลิม เราเป็นคนฆ่าเธอให้ตายเองดีกว่า

 

อยากถามถึงผู้หญิงที่ปรากฏในหนัง มีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะให้กำลังใจและส่งเสริมผู้หญิงด้วยกันว่า ต้องต่อสู้ ต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง และไม่เห็นด้วยกับพิธีสตี แต่อีกด้านหนึ่ง มีบางคนในกลุ่มที่ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าให้ลูกสาวได้เรียนสูงๆ หรือมีการศึกษา เดี๋ยวจะหาสามีไม่ได้ ก็เลยไม่ส่งลูกสาวเรียน ดูแล้วมีความย้อนแย้งอยู่พอสมควร อยากรู้ว่าเบื้องหลังความคิดแบบนี้คืออะไร

ในหนังจะมีผู้หญิงคนสองคนที่เด่นๆ คนแรกคือผู้หญิงที่มาจากชนชั้นสูง ซึ่งเป็นคนที่เห็นด้วยกับพิธีสตีอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็ถูกล้างสมองอย่างสิ้นเชิง เธอเชื่อจริงๆ ว่าพระเจ้าที่เห็นในรูปถ่ายนั้นคือพระเจ้าจริงๆ

ส่วนผู้หญิงอีกคนที่มาจากบริเวณเดียวกัน เป็นผู้หญิงชนชั้นล่าง เธอรู้สึกว่ามีอะไรผิดแปลก ไม่ถูกต้อง ในพิธีสตี ซึ่งเธอไม่สนับสนุนพิธีกรรมนี้ แต่ขณะเดียวกัน ในชีวิตจริงที่ผ่านมา ก็สอนให้เธอรู้ว่าไม่ควรส่งให้ลูกสาวเรียนสูงๆ เพราะในสังคมอินเดีย ผู้หญิงต้องเป็นคนจ่ายค่าสินสอด พอผู้หญิงเรียนสูง ก็ต้องแต่งงานกับผู้ชายที่เรียนสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานสูงตามไปด้วย พูดง่ายๆ คือ เรียนสูงแล้วอาจจะหาสามียาก หรือถ้าหาได้ ก็อาจจ่ายค่าสินสอดไม่ไหว

 

 

ผู้หญิงดูเหมือนจะเป็นพลเมืองชั้นสองในอินเดีย ไม่ว่าจะในความคิดของคนฮินดูหรือมุสลิมก็ตาม คำถามคือแล้วคนข้ามเพศในอินเดีย ถูกจัดให้อยู่ในสถานะใด ได้รับการยอมรับในระดับไหน

สำหรับคนข้ามเพศ สถานการณ์น่าจะเปลี่ยนไปแล้วในอินเดีย เราจะเห็นว่ามี movement ของคนรักเพศเดียวกันมากขึ้นในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนรักร่วมเพศกลายเป็นที่รับรู้ในสาธารณะมากขึ้น หรือล่าสุด ก็มีนักกีฬาในอินเดียที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน แน่นอนว่าครอบครัวของเธอเองอาจจะไม่โอเค แต่โดยกระแสของสังคมโดยรวม ถือว่ามีการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ลืมไม่ได้อย่างหนึ่งคือ อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่มาก สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียมีความหลากหลายมาก บางพื้นที่เรามี gay parade มีการฉายหนังเกี่ยวกับคนข้ามเพศ แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีบางพื้นที่ในอินเดียที่ยังคงกระทำต่อผู้หญิง ต่อเกย์ อย่างน่าสยดสยองมาก เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงอินเดีย เราไม่สามารถพูดถึงอินเดียในบริเวณใดบริเวณหนึ่งได้

 

เข้าใจว่าอินเดียมีกฎหมายที่ระบุถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีบทบัญญัติของบางศาสนาที่ไม่ได้ให้คุณค่าผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย อยากทราบว่าคุณมองปัญหานี้อย่างไร

ผมมองว่าสิ่งแรกที่เราควรทำ คือการพยายามตระหนักหรือทำความเข้าใจรากฐานความเป็นประชาธิปไตย ที่อยู่ภายใต้หลักศาสนาของทุกศาสนาก่อน

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงมิติด้านกฎหมาย ในอินเดียยังมีข้อขัดแย้งกันระหว่างสิทธิของผู้หญิงในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่เท่าเทียมกับผู้ชาย กับผู้หญิงในฐานะผู้นับถือศาสนาต่างๆ การที่อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายสูง โดยเฉพาะศาสนาที่หลากหลาย ก็ส่งผลให้ผู้หญิงในแต่ละศาสนามีสิทธิหน้าที่ รวมถึงบทบาทที่แตกต่างกัน และในบางครั้ง สิ่งที่ศาสนาบางศาสนาคาดหวังต่อผู้หญิง ก็ขัดแย้งกับหลักสากลที่พูดถึงสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค

จริงๆ แล้วตั้งแต่อินเดียเป็นเอกราช ก็มีการเขียนในรัฐธรรมนูญว่าผู้หญิงควรเท่าเทียมกับผู้ชาย รัฐบาลอินเดียมีความพยายามที่จะทำให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ชายในทางกฎหมาย แต่อาจไม่เท่าเทียมในทางปฏิบัติ ถึงที่สุดแล้วอินเดียไม่ได้มีกฎหมายสูงสุดที่เหนือกว่าบทบัญญัติหรือกฎของศาสนา

ดังนั้น ผู้หญิงที่อยู่ในบางชุมชนหรือบางพื้นที่ของประเทศ ก็อาจถูกกระทำหรือได้รับผลกระทบจากกฎของศาสนาได้ แม้กฎหมายของประเทศจะเขียนไว้ว่าผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชายแล้วก็ตาม

 

ในปัจจุบัน ผู้หญิงหลายๆ ประเทศสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว และอาจไม่จำเป็นต้องแต่งงานหรือมีครอบครัว ในอินเดียมีปรากฏการณ์อย่างนี้บ้างไหม

จริงๆ มันก็เกิดขึ้นบ้าง การที่ผู้หญิงไม่ต้องแต่งงานในอินเดียจะค่อนข้างจำกัดในชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลาง แต่ยังไม่ได้แพร่หลายจนเป็นสภาวะปกติ ส่วนผู้หญิงในชนชั้นแรงงาน จะค่อนข้างตลกนิดนึง เพราะดูเหมือนจะมีอิสระมากกว่า และไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะต้องแต่งงาน เพราะเขาต้องทำมาหากินเอง ดูแลตัวเองอยู่แล้ว แต่อีกทางหนึ่ง คนที่แต่งงานกลับต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า คือทำทั้งงานนอกบ้านที่หาเลี้ยงชีพ และงานในบ้านคือดูแลสามีไปด้วย

 

เวลาคุณทำหนัง ใช้เวลาในการทำรีเสิร์ชนานแค่ไหน

จริงๆ ผมทำหนังแบบใช้สัญชาตญาณมากเลย ส่วนกระบวนการรีเสิร์ชนี่เกิดขึ้นหลังจากที่เริ่มถ่ายไปแล้ว เพราะหนังของผมไม่ได้เป็นหนังที่ต้องเขียน proposal เพื่อขอทุน เลยไม่จำเป็นต้องทำรีเสิร์ชก่อน ผมแค่มีกล้องของผม แล้วก็ออกไปถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้น พอถ่ายจนได้ฟุตเทจมากพอ จนถึงจุดหนึ่ง ผมก็ค่อยเอามาดูว่า เราจะทำหนังอะไรขึ้นมาได้จากฟุตเทจที่มี บางทีผมก็ถ่ายไปแล้วตัดไปด้วย จนเจอว่าทางนี้แหละใช่ คล้ายกับการค้นหาแนวทางของหนังไปด้วยระหว่างถ่ายทำ พบเจอทางแล้ว ถึงจะเริ่มรีเสิร์ชอย่างจริงจังในประเด็นนั้นๆ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นกินเวลาหลายปี

หนังเรื่องนี้เป็นภาคสุดท้ายในไตรภาค ซึ่งตอนที่ผมถ่าย ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะออกมาเป็นไตรภาค ถ้าคำนวณคร่าวๆ หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำจนถึงตัดต่อเสร็จสิ้น ประมาณเจ็ดปี และใช้เวลาอีกเกือบสิบปีในการต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อให้ได้ฉาย

พูดง่ายๆ คือ มันไม่ใช่การทำงานที่ใช้รีเสิร์ชเป็นตัวตั้งขนาดนั้น แต่ว่าระหว่างถ่ายทำก็รีเสิร์ชตลอด โดยจะมารีเสิร์ชหนักๆ ในพาร์ทที่เป็นเสียงบรรยายว่า แต่ละเหตุการณ์คืออะไร มีบริบทแวดล้อมยังไง

 

 

คุณเคยพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดเสรีนิยมใหม่ กับการคลั่งศาสนาแบบสุดโต่งในช่วง 80’s ว่ามันเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน อยากให้อธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่า มันสัมพันธ์กันอย่างไร

โดยส่วนตัว ผมมองว่ามันมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการขึ้นมาของแนวคิดด้านศาสนาสุดโต่ง กับการเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจของโลก และปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

ในยุค 80’s ที่สหภาพโซเวียตยังแข็งแกร่งและมีการต่อสู้กับอเมริกา การต่อสู้ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทำสงครามกันตรงๆ ระหว่างสองประเทศ แต่เป็นสงครามตัวแทนที่เกิดในพื้นที่อื่น เช่นในเวียดนาม เป็นต้น มันเป็นการต่อสู้กันในเชิงอุดมการณ์สองแบบ แต่สู้กันบนแผ่นดินของคนอื่น หลังจากนั้น ในจังหวะที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย คนก็คาดหวังว่าสันติภาพจะมาสู่โลกของเราแล้ว คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปหมดแล้ว กอร์บาชอฟกับเรแกนจะปรองดองกัน ยอมปลดอาวุธต่อกัน นั่นคือสิ่งที่คนคาดหวังตอนนั้น

แต่ในความเป็นจริง เรแกนยังสนับสนุนสงครามอยู่ เมื่อคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของโลกเสรีได้ล้มหายตายจากไป แต่หลายบริษัทในสหรัฐฯ ยังทำมาหากินอยู่กับการผลิตและค้าอาวุธสงคราม ในเมื่อศัตรูหายไป แล้วเราจะขายอาวุธสงครามให้ใคร เราคงไม่สามารถทิ้งให้มันสูญเปล่าไปได้

ดังนั้น พวกเขาจึงต้องสร้างศัตรูตัวใหม่ขึ้นมา ศัตรูตัวนั้นก็คือศาสนาอิสลาม โดยใช้การรื้อฟื้นแนวคิดสงครามศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกครั้ง

ผมคิดว่าปัญหาในโลกสมัยใหม่หลายอย่าง ล้วนเกิดขึ้นในยุคอาณานิคมทั้งสิ้น อังกฤษคือคนที่ไปแบ่ง British India ให้แยกออกมาเป็นปากีสถาน กับบังคลาเทศ แทนที่จะให้เป็นเอกราชประเทศเดียว ก็เพราะมีความรู้สึกว่า การมีสองประเทศที่ไม่ถูกกันนั้น ดีกว่าการมีประเทศเดียว เพื่อที่อังกฤษจะได้ขายอาวุธให้กับประเทศนั้นประเทศนี้ได้

 

อยากถามถึงเทคนิคในการสัมภาษณ์คน คุณมีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษไหมในการทำให้คนกล้าเปิดใจ และเล่าเรื่องที่อาจกระทบกระเทือนใจ หรือกระทั่งสุ่มเสี่ยงต่อตัวเอง

ผมไม่มีสูตรตายตัว อาจมีเทคนิคนิดหน่อย เช่น ถ้าเกิดเจอคนที่ไม่ชอบ ก็จะไม่พูดความจริงทั้งหมด จะสร้างเรื่องอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้เข้าไปสัมภาษณ์ เช่น มาจากทีวีครับ อย่างในหนัง จะมีการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ชายที่ต่อสู้กัน เราแฮปปี้มากเลย อ๋อ ผมมาจากพรรคการเมืองซาดิสๆ เต็มที่เลยนะครับ ซึ่งบางทีก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง บางทีเขาก็จับได้ แต่ถ้าไปสัมภาษณ์คนที่เรารู้สึกเห็นใจ เราก็จะบอกหมดเลย แล้วอาจจะไปสัมภาษณ์หลายๆ รอบ เพื่อไปให้ถึงจุดที่ตัว subject หรือตัวคนที่ถูกสัมภาษณ์สบายใจที่จะพูดที่สุด แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมพยายามจะไม่โกหกนะ

แล้วถ้าถามว่า จะช่วยเซฟผู้ถูกสัมภาษณ์ยังไง เพราะบางเรื่องก็ดูสุ่มเสี่ยง ตอนไปสัมภาษณ์ก็เรื่องนึง แต่อีกขั้นตอนที่ผมเน้นคือตอนตัดต่อ ผมใช้เวลาตัดนานมาก และจะมีคนมาช่วยดูเยอะมาก เพื่อรีเช็ค ถ้าจุดไหนเห็นว่าอาจเป็นอันตรายกับ subject เราจะเลี่ยง จะไม่โชว์ทุกอย่าง

 

หนังเรื่องไหนที่เป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้คุณอยากทำหนังสารคดี

มีสารคดีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมดูอยู่หลายรอบมาก และเป็นเรื่องที่ทำให้ตระหนักได้ว่า สารคดีมันทำแบบนี้ได้ด้วย คือหนังเรื่อง ‘The Battle of Chile’ ของ Patricio Guzmán ผู้กำกับชาวยิว เป็นหนังที่ติดตามไปถ่าย Salvador Allende จากพรรคฝ่ายค้านของชิลี ที่ได้รับเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต่อมาก็ถูกรัฐประหาร

ตัวสารคดีมันค่อยๆ ไล่ให้เห็นตั้งแต่สาเหตุว่าทำไมเขาถึงได้รับการเลือกตั้งเข้ามา จนถึงจุดที่โดนรัฐประหาร และมีเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก คือคนที่เป็นตากล้องเสียชีวิตตอนถ่ายทำ ในเหตุการณ์ระหว่างที่ทหารสู้รบกัน มีปืนเล็งมาหากล้อง แล้วก็ยิงมา ตากล้องโดนยิงตายตอนที่ยังถ่ายอยู่ เป็นช็อตที่ทรงพลังมาก

แต่ผมคงไม่ลงทุนถึงขั้นนั้นนะ ไม่แนะนำให้คนอื่นทำด้วย ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าไหร่ (หัวเราะ)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save