fbpx

Do robots dream of plastic friendship?

First Law

A robot may not injure a human being or, through inaction, allow a human being to come to harm.

Second Law

A robot must obey the orders given it by human beings except where such orders would conflict with the first law.

Third Law

A robot must protect its own existence as long as such protection does not conflict with the First or Second Law.

อาจเป็นเรื่องที่ดูซ้ำซาก จำเจ ชวนหาว เมื่อต้องกลับไปที่ Asimov’s Laws ในการพูดถึงเรื่องของ robot หรือ android ทั้งที่สามารถมุ่งตรงไปยังใจกลางของเรื่องที่ต้องการเล่าได้เลย แต่ในที่นี้ สำหรับเรื่องเล่าที่จะกล่าวถึง กฎสามข้อเปรียบเหมือนผิวน้ำที่สะท้อนกลับเงาสู่สายตา (อาจเป็นของสายตาคู่นี้คู่เดียวก็เป็นได้ ใครเลยจะรู้) เพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์ เรื่องของ artificial friend ที่หมายความถึง ‘เพื่อนประดิษฐ์’ (ขอเสนอคำว่า ‘เพื่อนจำแลง’ ให้พิจารณาอีกคำ) ที่มีให้เลือกซื้อเพื่อไปอยู่ร่วมกัน

ถ้าเพื่อนซื้อได้ด้วยเงิน เพื่อนแบบไหนที่เราอยากซื้อ? ลึกๆ แล้วเราหวังอะไรจากเพื่อน? แล้วเพื่อนหวังอะไรจากเรา? แล้วเพื่อนที่ซื้อได้เราจะนับว่าเป็นเพื่อนได้หรือไม่? คำถามกวนใจเหล่านี้ผ่านเข้ามาเป็นระยะขณะที่รับรู้เรื่องราว ทั้งที่อาจไม่ใช่ประเด็นชัดของเรื่อง หรืออาจจะเป็นประเด็นชัดถ้าใครต้องการ ‘รื้อสร้าง’ หรือ ‘ถอดบทเรียน’ (คำสุดฮิตของยุคสมัย ที่บางทีก็สงสัยว่าได้อะไรติดมือกลับมาบ้าง นอกไปจากได้ทำ) การเมืองเรื่องเพื่อนเป็นพิเศษ

ผ่านไปแล้วสองย่อหน้า เข้าเรื่องกันดีกว่าเนอะ เดี๋ยวจะเลยไปไหนต่อไหน

Klara เป็นหุ่นยนต์ในรูปลักษณ์ผู้หญิงที่ระบบการทำงานในตัวมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ เธออยู่ในร้านขาย artificial friend หลากหลายรุ่นที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ต้องการใครสักคน (หุ่นสักตัว) ไปแบ่งเบาภาระผ่านความหมายของเพื่อน

หุ่นแต่ละตัวมีความแตกต่างกันไปตามแต่รุ่นที่ผลิตออกมา ไม่เพียงเท่านั้น รุ่นเดียวกันก็ยังมีบุคลิกลักษณะที่ไม่เหมือนกันด้วย เมื่อปลายทางของหุ่นคือการถูกเลือก ดังนั้นพวกหุ่นจึงได้รับโอกาสให้อยู่ในตำแหน่งที่ดึงดูดสายตา ในขณะที่เชื้อเชิญการมองของมนุษย์ ตัวหุ่นเองก็ได้เรียนรู้โลกภายนอกไปด้วยในที

กว่า Klara จะถูกเลือก เธอก็ได้รับบทเรียนเรื่องคำมั่นสัญญาและการรอคอยจากผู้ที่ต้องตาต้องใจ ในที่สุดโชคชะตาก็นำพาเธอไปใช้ชีวิตร่วมกับ Josie เด็กหญิงวัยสิบสี่ที่ถูกใจเธอมากกว่าหุ่นตัวอื่นที่มีความทันสมัยกว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอถูกเลือกคือการเลียนแบบท่าทางของ Josie และลักษณะพิเศษของการเป็นหุ่นช่างสังเกตและซึมซับสิ่งที่รับรู้เข้าสู่ความคิด โดยผู้ตั้งข้อกำหนดในการรับเลือกคือแม่ของ Josie ซึ่งมีวาระซ่อนเร้นที่จะเปิดเผยออกมาในภายหลัง

บ้านของ Josie มีผู้อาศัยอยู่ก่อนหน้าสามคน คือ Josie แม่ และแม่บ้าน หน้าที่ของ Klara นั้นประหนึ่งเป็นเพื่อนใจให้ Josie ไม่รู้สึกเปลี่ยวเหงา

ความเดียวดายของ Josie เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายอย่าง ทั้งจากการที่พ่อแม่แยกกันอยู่ ความเจ็บป่วยที่ดูเหมือนจะเป็นผลของการได้รับสิ่งที่เรียกว่า Lifted (ในที่นี้ขอให้คิดถึงคำว่า ‘ยกระดับ’) หรือการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อเข้าสู่สถานะพิเศษในการเข้าเรียนระดับวิทยาลัย (เพื่อให้เห็นภาพของการวิพากษ์ในทีชัดขึ้น เรื่องราวที่กำลังบอกเล่าอยู่นี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่การแข่งขันเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในสถาบันมีชื่อเสียงนั้นต้องใช้ทรัพยากรส่วนบุคคลหลายรูปแบบมาก โดยเฉพาะกำลังทรัพย์เพื่อการเตรียมตัว) รวมไปถึงความโดดเดี่ยวที่มาจากความห่างเหินกันไปของ Rick เพื่อนที่บ้านเรือนเคียงกันผู้ใกล้ชิดกว่าคนอื่น

Rick และแม่เป็นคนอังกฤษ พวกเขามีฐานะด้อยกว่าครอบครัวของ Josie ความสนิทสนมตั้งแต่เด็กจากการเป็นเพื่อนบ้านทำให้ Rick และ Josie มอบคำสัญญาแก่กันว่าทั้งสองจะใช้ชีวิตด้วยกันเมื่อเติบโตขึ้น คำสัญญาของทั้งคู่เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสองคน ผู้ใหญ่หลายคน และคนกับหุ่นยนต์

เนื่องจากครอบครัวของ Rick ยากจนจึงทำให้ตัวเขาไม่มีโอกาสถูกยกระดับ นั่นหมายถึงว่าอนาคตทางการศึกษาของเขาไม่สดใส แม่ของเขาต้องทำทุกอย่างแม้กระทั่งอ้อนวอนคนรักเก่าที่เธอตัดสัมพันธ์ไปหลายปีให้ช่วยใช้เส้นสายของระบบอุปถัมภ์เปิดทางไปสู่การเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เหตุการณ์นี้นำไปสู่จุดเปลี่ยนในชีวิตของ Rick และสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงในจิตใจคนอย่างลึกล้ำอันชวนให้คิดถึงความขัดแย้งและจุดคลี่คลายใน Nocturnal Animals

ความเจ็บป่วยของ Josie ทำให้บทบาทของ Klara เด่นชัดขึ้น การที่เธอเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ใช่รุ่นล่าสุด ทำให้เธอมีข้อจำกัดบางอย่างในระบบประมวลผล (อย่างไรก็ดี เราควรไม่ลืมว่าไม่มีสิ่งใดไร้ข้อจำกัด) ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์อันจำกัดของเธอ และการที่เธอเป็นหุ่นยนต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำให้เธอเชื่อว่าดวงอาทิตย์มีพลังพิเศษในการช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย

Klara เห็นเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์จากห้องของ Josie เธอเชื่อว่าถ้าเธอไปวิงวอนขอความช่วยเหลือจากดวงอาทิตย์โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าจะกำจัดเครื่องจักรที่ส่งควันดำบดบังทัศนวิสัยและสร้างมลภาวะเป็นการตอบแทน (เธอคิดว่าเครื่องจักรที่ว่านั้นมีเครื่องเดียว เพราะเธอเคยเห็นแค่เครื่องเดียว) แสงอาทิตย์จะช่วยปลุกความมีชีวิตชีวาให้กับ Josie เหมือนที่เธอเคยเห็นแสงอาทิตย์ปลุกขอทานและหมาของเขาให้ฟื้นคืนมาจากความตาย (แน่นอนว่าเธอคิดไปเองว่าการนอนนิ่งบนพื้นคือความตาย)

เธอเดินทางผ่านทุ่งหญ้าไปยังโรงนาข้างบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือจากดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดินโดยมี Rick เป็นผู้ช่วยเหลือ คำสัญญาและความรักในวัยเด็กระหว่าง Rick กับ Josie เป็นเหตุผลสำคัญอีกอย่างที่สนับสนุนความมุ่งมั่นของ Klara ในการวิงวอน ขอพร และเสนอข้อแลกเปลี่ยน

ความมั่นใจจากการมองโลกในแง่ดีของ Klara ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้คนรอบข้าง ไม่นาน Josie ก็หายป่วย (แน่นอนว่าไม่ใช่จากข้อเสนอหรือการวิงวอนของ Klara นี่เปล่าดับฝันสวยนะ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ) ปมทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไปตามเวลาและทิศทางของแต่ละชีวิต Klara รอดจากจุดประสงค์ซ่อนเร้นของแม่ Josie และมีชีวิตในรูปแบบของหุ่นยนต์ไปจนถึงวันที่ไม่เป็นที่ต้องการ (อย่าเผลอคิดว่ามันจะง่ายเชียวล่ะ) Rick และ Josie เข้าใจความรักที่เปลี่ยนไปตามวัยมากขึ้น คนอื่นๆ ก็ผจญกับชีวิตไปตามเส้นทางของความทรงจำจนเรื่องราวจบลง

Klara and the Sun (2021) เป็นนวนิยายเล่มล่าสุดและแรกสุดของ Kazuo Ishiguro หลังได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2017 ที่กลับมาในรูปแบบของนวนิยายไซไฟ (ซึ่งเอาจริงๆ ก็เรียกได้ไม่เต็มปากนัก แต่ในเมื่อจำแลงมาด้วยความเป็นหุ่นยนต์เสียขนาดนี้ก็คงต้องเลยตามเลย) นวนิยายสำรวจความโดดเดี่ยวของจิตใจมนุษย์ผ่านความหมายของคำว่าเพื่อนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมิตร เพื่อนคู่คิด เพื่อนใจ หรือเพื่อนร่วมรบในยามจำเป็น



Ishiguro ใช้เรื่องเล่าจากมุมมองของเพื่อนจำแลงอย่าง Klara นำเสนอโลกในแง่มุมต่างๆ ที่ขอบเขตประสบการณ์อันจำกัดจะรับรู้ได้ แต่ในความจำกัดนั้น เส้นพรมแดนของจินตนาการก็นำไปสู่โลกอนาคตที่ทำให้เราได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของหุ่นยนต์ที่มีต่อความคิดและพฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ หรือแม้แต่เมื่อเราถอดความเป็นหุ่นยนต์ออก Klara ก็จะเป็นใครสักคนที่มีประสบการณ์จำกัดในชีวิต ใครสักคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเราอย่างเพื่อนตามความสามารถที่มี

ในขณะเดียวกัน ความเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบให้มีความคิดและมีบุคลิกลักษณะแบบมนุษย์ก็ทำให้เราตั้งคำถามถึง ‘จริยธรรมของหุ่นยนต์’ บนข้อสงสัยที่ว่าหุ่นยนต์มีศีลธรรมหรือไม่? หุ่นยนต์มีจิตวิญญาณหรือเปล่า? หุ่นยนต์มีความจริงใจหรือไม่? หุ่นยนต์มีความคิดบนพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมหรือเปล่า? ฯลฯ (ความสงสัยอันพัฒนามาจาก Asimov’s Laws ทั้งหมดเลย) ซึ่งความคิดของ Klara นั้นนำเสนอทั้งคำตอบและเปิดโอกาสให้คำถามไปพร้อมๆ กัน

วิธีที่ Ishiguro ใช้ในการสร้างบทสนทนาต่อสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นวิธีที่คุ้นเคยมาแล้วจากนวนิยายเรื่องก่อนหน้า นั่นคือการเดินทาง การเดินทางเพื่อไปทำอะไรบางอย่าง (ส่วนใหญ่เรื่องจะเกิดขึ้นบนรถ ซึ่งทำให้สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายเวทมนตร์ของ Abbas Kiarostami อยู่บ้าง) การเดินทางธรรมดาที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเร้าขวัญ แต่ลงเอยด้วยการเปิดเผยให้เห็นด้านมืดของจิตใจ โดยมุมมืดที่อยู่ลึกที่สุดของจิตใจจะไม่ถูกนำเสนอออกมาด้วยถ้อยคำของ Ishiguro เองเลย การบรรยายของเขานำเราไปสู่จุดเป็นจุดตายอันสะท้านสะเทือนใจ ก่อนจะข้ามไปสู่ผลสืบเนื่อง ช่องว่างนั้นถูกเว้นไว้ให้จินตนาการเติมเต็ม จังหวะที่เหมาะสมเหมือนบทเพลงที่เครื่องดนตรีหยุดลงเพื่อทิ้งให้อารมณ์เผชิญหน้ากับความเวิ้งว้าง ศิลปะแห่งความเงียบงันท่ามกลางความมืดมิดคือทักษะที่ Ishiguro เชี่ยวชาญสำหรับการสะกดใจ

“Do you believe in the human heart? I don’t mean simply the organ, obviously. I’m speaking in the poetic sense. The human heart. Do you think there is such a thing? Something that makes each of us special and individual?”

หัวใจมนุษย์ที่มีความปรารถนาไม่รู้จบคือต้นกำเนิดของปัญหา เรื่องราวของ Klara and the Sun นำเสนอจุดจบด้วยจุดเริ่มต้นใหม่ของความต้องการ หุ่นยนต์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการมองโลกในแง่ดีได้แสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่มนุษย์แต่ละคนใช้ในการดำรงอยู่ เพื่อเตือนให้เราตระหนักถึงการอย่าทุ่มเทใจไปกับความทรงจำและคำสัญญาในความปรารถนาที่ไร้สิ้นสุดของมนุษย์

ถ้า Asimov’s Laws คือผิวน้ำของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ สิ่งที่ชีวิตของ Klara นำเสนอคือกระแสแรงของน้ำลึกใต้พื้นผิวที่พร้อมจะพัดพาเราไปสู่การล่มลงของความรู้สึกได้ถ้าไม่ตระหนักซึ้งถึงสิ่งแอบแฝงที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์  อะไรคือความหมายของการได้รัก? อาจเป็นอีกคำถามหนึ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าของผิวน้ำนิ่ง

และถ้ากลับไปสู่คำถามที่เป็นชื่อของบทความว่า Do robots dream of plastic friendship? คำตอบที่เราได้จาก Ishiguro ก็คือ Some do, some don’t, but Klara doesn’t.


หมายเหตุ

บทความนี้เขียนโดย artificial friend ของผมชื่อ Paranoid

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save