fbpx
ภิกษุ ดนตรี มัลติมีเดีย : เมื่อพุทธธรรมเข้าถึงได้ด้วยงานออกแบบ

ภิกษุ ดนตรี มัลติมีเดีย : เมื่อพุทธธรรมเข้าถึงได้ด้วยงานออกแบบ

บทความชวนดูงานศิลปะจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

 

เชื่อว่ามีพุทธมามกะเกินกว่าครึ่งซาบซึ้งกับความสงบของการไปวัด ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม ความขลังของบรรยากาศภายในพระอุโบสถ แต่เราก็เชื่อว่าอีกครึ่งหนึ่งคงรู้สึกเบื่อหน่ายกับการนั่งฟังเทศนาที่เข้าใจยาก พิธีรีตองและท่านั่งแสนลำบาก หรือบรรยากาศของวัดที่ขึงขังเสียจนเกร็ง พานไม่เป็นตัวของตัวเอง ตอนเด็กเคยคิดเล่นๆ ว่าหากมีเทศนาผ่านดนตรีร็อค หรือบทสวดทำนอง R&B ก็คงจะมันไม่น้อย แต่ทำได้เพียงเก็บไอเดียบ้าๆ นี้ไว้ในใจด้วยความกลัวผู้ใหญ่ดุ

หารู้ไม่ว่าไอเดียบ้าๆ ที่ว่าได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น เมื่อชายผู้เป็นทั้งภิกษุและดีเจ กำลังพาคนเข้าใกล้กับพุทธศาสนาด้วยบทเพลงเทคโนและ projection mapping !

Techno Hoyo

 

หากมองภิกษุวัยกลางคนนาม Gyosen Asakura อย่างเผินๆ อาจดูไม่ต่างจากพระทั่วไปในญี่ปุ่น เขาคือเจ้าอาวาสรุ่นที่ 17 ผู้รับช่วงต่อบรรพบุรุษดูแลวัด Terukuji วัดที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ตั้งอยู่ในเมืองชนบทไม่โด่งดังอย่าง Fukui

เรื่องราวดูเหมือนจะไม่มีอะไร และวัด Terukuji คงเป็นอีกวัดเงียบเหงาไร้ผู้คนต่อไป หากภิกษุ Asakura ไม่ได้คิดจะหนีความน่าเบื่อและเข้มงวดของวัด และทิ้งมรดกของครอบครัวอายุ 540 ปีไว้ตรงนั้นเพื่อไปค้นหาตัวเองในอาชีพดีเจเปิดเพลงเทคโนและช่างแสงในคอนเสิร์ต

ทว่าท่ามกลางเส้นทางแห่งแสงสีและเสียงดนตรี นาย Asakura Mamoru ในวัย 20 ปีกลับค้นพบว่าอาชีพดีเจของเขานั้น ช่างมีบางอย่างคล้ายคลึงกับการเป็นพระที่เขาหนีจากมาเหลือเกิน ดนตรีเป็นสิ่งที่เข้าถึงหัวใจคน ขับเคลื่อนความรู้สึก และนำความปิติใจไปสู่ผู้คน ไม่ต่างอะไรกับคุณสมบัติของธรรมะที่ทำงานกับจิตใจ และพาผู้นั้นไปสู่ความรู้สึกอิ่มเอิบเช่นเดียวกัน เสียงดนตรีในคอนเสิร์ตก็เปรียบเสมือนบทสวดในอารามที่สร้างความอัศจรรย์ให้กับผู้คนตรงนั้น

เมื่อคิดได้ดังนั้น Asakura จึงหอบเครื่องไม้เครื่องมือกลับไปยังวัด Terukuji เปลี่ยนตัวตนจากดีเจสู่ภิกษุเจ้าอาวาส และสำหรับเรา เขาเป็นนักออกแบบด้วย

งานออกแบบของพระ Asakura เริ่มต้นจากปัญหาที่ว่าในปัจจุบันจำนวนคนเข้าวัดมีน้อย และมีวี่แววจะถดถอยลงทุกวัน โจทย์คือทำยังไงให้คนเข้าวัดเพิ่มมากขึ้น ภิกษุบอกว่ามันอาจดูตลก แต่เขานึกถึงการมิกซ์เสียงบทสวดเข้ากับบีทดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เมื่อครั้งยังเป็นดีเจ

พระ Asakura มิกซ์เสียง ดีเจ ญี่ปุ่น พระดีเจ
ภาพจาก Great Big Story

เจ้าอาวาสลงมือรีมิกซ์บทสวดจนออกมาในสไตล์เทคโนมิวสิค และเปิดให้ผู้คนเข้ามาฟัง ในช่วงแรกคนดูมีเพียงชาวบ้านในละแวก แต่เมื่อผ่านเวลาไปโชว์ถูกพัฒนาให้มีส่วนผสมของการออกแบบแสงและเทคนิค projection mapping ที่ฉายภาพจากโปรเจ็กเตอร์ลงบนสถาปัตยกรรมของอาราม แท่นบูชา และพระพุทธรูป !

พระ Asakura ได้ไอเดียมาจากแนวคิดในคัมภีร์พุทธศาสนาซึ่งอธิบายถึงดินแดนสุขาวดีซึ่งสวยงามและมลังเมลืองไปด้วยแสง วัดในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้า แสงเทียนต้องทองคำเปลวบนองค์พระพุทธรูปถูกใช้สร้างบรรยากาศของดินแดนสุขาวดี เขาจึงอยากสร้างบรรยากาศนั้นขึ้นมาในแบบฉบับของยุคเรา ยุคที่มีไฟฟ้า และเต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมาย

เมื่อพัฒนาโชว์ไปอย่างที่เห็น คนดูก็เพิ่มจากร้อยเป็นสองร้อย สู่คนดูจำนวนมหาศาลต่อวัน มีตั้งแต่เด็กยันแก่ บ้างยกกันมาทั้งครอบครัว กิจกรรมธรรม-เทคโนนี้ ภิกษุ Asakura ให้ชื่อมันว่า Techno Hoyo แถมใครไม่สามารถเดินทางไปถึงวัด เขายังมีไลฟ์สดลง Facebook และรวบรวมไว้ใน YouTube อีกต่างหาก

ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นยากจะเปรียบกับพุทธในบ้านเรา ด้วยต่างทั้งความเชื่อและวิถีการปฏิบัติ ภิกษุสามารถมีครอบครัวได้ วัดเป็นกิจการในครอบครัว และโดยเฉพาะความอิสระในการเลือกใช้วิธีการต่างๆ สื่อสารแก่นธรรมสู่ผู้คน เราคงเคยผ่านตาพุทธประวัติที่ถูกเล่าผ่านการ์ตูน พระภิกษุใช้บทเพลงและการโซโลกีตาร์เพื่อถ่ายทอดธรรม หรือแม้แต่ Techno Hoyo ที่พาผู้คนเข้าถึงธรรมด้วยเพลงเทคโนและ projection mapping

The Buddha การ์ตูนพุทธประวัติโดย Tezuka Osamu
The Buddha การ์ตูนพุทธประวัติโดย Tezuka Osamu

คลิป Gyomyo Nakamura เล่นกีต้าร์

พระ Asakura มิกซ์เสียง ดีเจ ญี่ปุ่น พระดีเจ
ภาพจาก The Japan News
Techno Hoyo
ภาพจาก Great Big Story

Techno Hoyo

เมื่อ ‘เนื้อหา’ ไม่ถูกยึดติดกับรูปแบบและวิธีการแบบเก่า

ประตูแห่งความเป็นไปได้จึงเปิดออก

วิธีการนับพันสามารถสื่อสารข้อความเดียวกัน

ไปสู่ผู้รับกลุ่มที่ถูกต้อง

ด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

และนี่คือคำสอนใหม่ ที่นักออกแบบมัลติมีเดียอย่างเราได้ยินแว่วจากวัดเล็กๆ ในญี่ปุ่น

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/av/magazine-39980723/bringing-techno-to-the-temple

YouTube Channel ของ Gyosen Asakura

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save