fbpx
อยากอยู่หรืออยากหย่า ตัวเลขเกี่ยวกับความรักที่ไม่ลงตัวระหว่างเธอกับฉัน

อยากอยู่หรืออยากหย่า ตัวเลขเกี่ยวกับความรักที่ไม่ลงตัวระหว่างเธอกับฉัน

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 

ผมไม่เคยเชื่อเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ลึกๆ รู้อยู่ในใจเสมอว่ามันขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ การอยู่เป็นคู่ผัวเดียวเมียเดียวของเราไม่ได้เกิดมาจากสัญชาตญาณอย่างนกเงือก แต่เป็นกลไกทางสังคมเพื่อควบคุมประชากรและลดทอน ‘ความเสี่ยง’ หลายๆ อย่าง เช่น การเกิดโรค การจัดลำดับทางสังคมหรือควบคุม ‘อำนาจ’ ในการต่อรอง การแต่งงานจึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่สมัยนี้การหย่าอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่า

ทุกวันนี้อัตราการหย่าร้างมีมากขึ้นนะครับ แน่นอนว่าสังคมเปลี่ยนความรักแบบเดิมที่เราเคยได้ยินในต้นศตวรรษที่แล้วกลายเป็นของที่ไม่มีอยู่จริง ผู้หญิงหลายต่อหลายคนเริ่มรู้สึกว่าเธอเสียสละมากเกินไปสำหรับชีวิตคู่ ต้องเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน และสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน ฯลฯ หลายครั้งก็นำไปสู่ความไม่เข้าใจและลงเอยด้วยการหย่าหรือแยกกันอยู่

นักจิตวิทยาเริ่มพูดถึงการ ‘เตรียมตัวหย่า’ กันมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสภาพจิตใจของลูกๆ และการจัดการทรัพย์สิน เพราะสำหรับสังคมตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา กฎหมายเรื่องการหย่านี่เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ผู้ชายคนหนึ่งอาจหมดตัวได้ง่ายๆ เลยเพราะการหย่าแค่ครั้งเดียว

สหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นประเทศที่ใหญ่และมีคนหย่ากันเยอะมากประเทศหนึ่งของโลก (ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศที่มีการหย่าร้างสูงที่สุดในโลก ส่วนอันดับ 1 และ 2 ผมจะเฉลยตอนจบ) คดีหย่าร้างเป็นหนึ่งในคดีที่ทำเงินมหาศาลให้กับสำนักงานทนายความ อเมริกาก็เลยเป็นประเทศที่ไม่ได้บ้าแค่เก็บสถิติอเมริกันฟุตบอล แต่เรื่องหย่าร้างก็ไม่น้อยเหมือนกัน

เรื่องการหย่าร้างมีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจอยู่มาก ผมจึงรวบรวมสถิติที่น่าสนใจเอามาแบ่งกันอ่าน เป็นการรวบรวมจากหลายแหล่ง แต่หลักๆ มาจากการเก็บข้อมูลของสำนักทนายความ Wilkinson & Finkbeiner ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเรื่องการหย่าร้างในแง่มุมต่างๆ ของคนอเมริกันจากหลากหลายสถาบันกว่า 115 ชิ้น และยังมีจากอังกฤษบ้างในบางส่วน

1. คนหย่าร้างกันมากขึ้นจริงไหม

น่าแปลกว่าช่วงเวลาปัจจุบันไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีคนหย่ากันมากที่สุดของสหรัฐอเมริกานะครับ แต่ก็สูงขึ้นกว่าทศวรรษที่ 1960 สองเท่า ช่วงที่อัตราการหย่าร้างสูงสุดตลอดกาลของสหรัฐอเมริกากลับอยู่ในช่วงทศวรรษ 1980 นั่นคือสูงถึง 22.6 ต่อ 1,000 คน (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 16.9 ต่อ 1,000 คน ประเทศไทยยังเป็นเลขตัวเดียวอยู่) โดยเฉลี่ย ปัจจุบันหากคุณเดินไปบนถนนถามผู้หญิง 100 คนจะพบว่ามี 15 คนที่หย่ากับสามีหรือแยกกันอยู่ เมื่อเทียบกับ ค.ศ.1920 นั้นมีเพียง 1 ใน 100 คนเท่านั้นที่หย่ากับสามี หรือหากให้เห็นภาพมากกว่านั้น ประมาณว่าหากคุณกำลังนั่งดูหนัง Nothing Hill อยู่ จะมีคนหย่ากันในสหรัฐอเมริการาว 554 คู่

2. แต่งแล้วอยู่กันรอดไหม

ปัจจุบันคู่แต่งงานในสหรัฐอเมริกาจะจบลงด้วยการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการหย่าที่มาจากการแต่งงานครั้งแรก ยังพบด้วยว่าสัดส่วนความอดทนต่อการอยู่ด้วยกันจะลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนการแต่งงาน นั่นคือการแต่งงานครั้งที่สองจะจบลงด้วยการหย่า 60 เปอร์เซ็นต์ และ 73 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการหย่าหลังงานแต่งรอบที่สาม (ว่าไปก็เปลืองชุดนะ)

3. แล้วอยู่กันนานแค่ไหนก่อนหย่า

‘The seven-year itch’ ดูเป็นวลีติดปากที่น่าสนใจ คนสมัยก่อนรู้ได้อย่างไรว่าเจ็ดปีเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการแต่งงาน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลทางสถิติก็พบว่าคู่สามีภรรยาจะหย่ากันมากที่สุดไม่เกินปีที่ 8 ของการแต่งงาน ในคู่ที่แต่งงานกันครั้งแรก การหย่าจะเกิดขึ้นราว 7 ปี 9 เดือนสำหรับผู้ชาย และ 7 ปี 10 เดือนสำหรับผู้หญิง จากสถิติยังพบด้วยว่าสำหรับคนที่หย่าแล้วจะตัดสินใจแต่งงานใหม่ (เพื่อพบว่าจะหย่ากันอีกตามสถิติข้อ 2) เมื่อครองความเป็นโสดได้ประมาณ 3 ปี แต่จำนวนนี้มีไม่มากคือราว 29 คนจาก 1,000 คนเท่านั้น

4. วัยมีผลกับการหย่าร้างไหม

ช่วงวัยที่หย่ากันมากสุดช่วงอายุระหว่าง 25-39 ปี โดยช่วงอายุที่หย่าร้างมากที่สุดคืออายุ 30 ปี คิดว่าข้อมูลนี้อาจเก่าไปนิด เพราะอ้างอิงการวิจัยมาจากปี 2011 แต่ปัจจุบันคนแต่งงานช้าลง อายุของคนที่หย่าร้างน่าจะมากขึ้น น่าสนใจก็คือกลุ่มคนอายุ 50 ปี มีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

5. ใครขอหย่าใครก่อน?

พบว่าส่วนมากคนที่ขอหย่าจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ข้อนี้ก็น่าสนใจว่าทำไม ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังทางสังคม ทำให้ผู้ชายไม่กล้าบอกเลิกก่อน อีกส่วนในตะวันตก กฎหมายการหย่าร้างให้ผู้หญิงได้เปรียบกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะหากมีลูกด้วยกัน ในไทยเอง ผมคิดว่าน่าเสียดายที่เรื่องแบบนี้นายทะเบียนคงไม่ถามและไม่มีใครสนใจเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการเพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

6. วันและเดือนแห่งการหย่าร้าง

เดากันออกไหมครับว่าเป็นช่วงไหน เดือนไหน ตามสถิติของสหรัฐอเมริกาคือช่วงวันที่ 12-16 มกราคมของทุกปี ทำไมน่ะเหรอครับ เหตุผลคือผู้คนใช้โอกาสการเริ่มต้นปีใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยมากแล้วกระบวนการคิดกว่าจะหย่ามักเริ่มในช่วง 6 เดือนหลังของปีและมาตัดสินใจช่วงหลังงานคริสมาสต์ว่านี่คงเป็นคริสมาสต์สุดท้ายที่จะต้องทน แต่กว่าสำนักงานทนายความจะเปิดทำงานหลังหยุดยาว ก็เป็นช่วงกลางเดือนมกราคมพอดี

7. อาชีพไหนที่หย่าร้างมากที่สุด

มีการเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน พบว่ากลุ่มอาชีพที่มีการหย่าร้างมากที่สุด คือ นักเต้นอาชีพ (43 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือบาร์เทนเดอร์ (38.4 เปอร์เซ็นต์) ส่วนอาชีพที่มีอัตราการหย่าร้างต่ำสุดคือ ผู้ที่ทำงานที่อยู่ในสายงานเกี่ยวกับการแพทย์ต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ รองลงมาเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย (แน่นอนสิ) และผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร ก็มีอัตราส่วนการหย่าต่ำเช่นกัน น่าสนใจดีนะครับ

8. สหรัฐอเมริกายังห่วงใยทหารด้วย – สงครามทำให้ทหารหย่ากันมากขึ้นไหม

เพนตากอนเก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างทหารที่ไปออกรบกับทหารที่ทำงานในกองบัญชาการว่า หน่วยไหนมีการหย่าร้างมากกว่ากัน ก็เป็นไปตามคาดครับ  พบว่าทหารที่ออกไปรบกลับมามีอัตราการหย่าร้างสูงกว่าทหารที่ไม่ได้ไปออกรบเกือบหนึ่งเท่า หน่วยที่มีการหย่าร้างมากสุดคือทหารอากาศ แต่ที่สูงมากกว่าหน่วยอื่นทั้งหมดก็คือ Navy Seal ซึ่งมีอัตราการหย่าร้างสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมองภาพรวมอาชีพทหารยังเป็นอาชีพที่มีการหย่าร้างต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ

9. แล้วคู่รักเพศเดียวกันล่ะ?

ข้ามไปที่ฟากอังกฤษกันบ้าง มีการเก็บข้อมูลโดย UK’s Office of National Statistic พบว่าคู่แต่งงานเพศเดียวกันที่ขอหย่ามีอยู่ราวร้อยละ 1 ต่อปี และพบว่าคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นผู้หญิง มีแนวโน้มที่จะแต่งงานเมื่อมีการอนุญาตให้แต่งงานในคนเพศเดียวกันมากกว่าคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นผู้ชาย

10. สาเหตุของการหย่าส่วนมากมาจากอะไรกัน?

ส่วนมากคนที่หย่ากัน เหตุผลอันดับหนึ่งไม่ใช่เรื่องของการนอกใจนะครับ แต่เป็นเรื่องของการขาดการสื่อสารกัน ซึ่งมีมากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นเรื่องมีปากเสียง ส่วนเรื่องเจ้าชู้นั้นมาเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 56 เปอร์เซ็นต์

11. สาเหตุหนึ่งของการหย่าร้างที่สำคัญก็คือ การแต่งงานเร็วเกินไป

จากการศึกษายังพบว่าคู่ที่แต่งงานก่อนอายุ 18 ปีมักหย่ากันในช่วงเวลาไม่เกิน 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่แต่งงานหลังอายุ 25 ปี และ 60 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่แต่งงานในช่วงอายุ 20-25 ปีลงเอยด้วยการหย่า ซึ่งหากคู่รักคนไหนทนคบกันไปก่อนจนกระทั่งอายุเลย 25 ปี แล้วค่อยแต่งงานกัน พบว่าอัตราการหย่านั้นลดลง 24 เปอร์เซ็นต์

12. มีการพูดถึงเรื่องของการทดลองการอยู่ก่อนแต่ง ว่าจะสามารถลดเรื่องการหย่าร้างได้จริงไหม

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น การอยู่ก่อนแต่งเพิ่มโอกาสในการหย่าร้างมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่อยู่กับพ่อแม่ก่อนแต่งงาน มหาวิทยาลัยไอโอวาทำการศึกษาความสัมพันธ์เรื่องการมีเซ็กซ์ในวัยรุ่นกับการหย่าร้าง พบว่าการมีเซ็กซ์เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะหย่ามากขึ้นเท่านั้น และยังพบอีกว่าหากคุณแต่งงานกับแฟนที่คบกันมาตั้งแต่อยู่มัธยมปลาย ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรักกันดูดดื่มหรือเข้าใจกันมากกว่าคู่อื่น แต่พบว่าคู่แต่งงานที่เป็นแฟนกันตั้งแต่มัธยมมีอัตราการหย่าร้างอยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่แต่งงานกับคนที่เจอกันในวัยทำงาน

13. เรื่องเฟซบุ๊กก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการหย่าร้าง

ในสหราชอาณาจักรพบว่า 1 ใน 3 ของการหย่าร้างปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการนอกใจที่มาจากเฟซบุ๊ก ที่น่าสนใจคือการติด ‘หนังโป๊’ มากเกินไป ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการหย่าร้างได้เช่นกัน แต่กลับกัน มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ พบว่าหากสามีภรรยามีโอกาสได้ดูหนังรักด้วยกันในช่วง 3 ปีแรกของการแต่งงาน จะสามารถลดอัตราการหย่าร้างลงจาก 24 เปอร์เซ็นต์เหลือครึ่งหนึ่ง (น่าจะมีหนังแนะนำด้วยเลย ว่าควรดูเรื่องไหนดี)

14. พื้นฐานครอบครัวเองก็มีส่วนอย่างมากเรื่องการ ‘หย่า’ หรือ ‘ไม่หย่า’ ของสามีภรรยา

หากคุณมีพ่อแม่ที่มีความสุขกันดีในชีวิตการแต่งงาน โอกาสในการหย่าร้างของคู่แต่งงานจะลดลงด้วย แต่หากว่าพ่อแม่เคยหย่าและแต่งงานใหม่พบว่า 91 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีพ่อแม่ลักษณะแบบนี้ ลูกๆ จะจบลงด้วยการหย่า คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแบบอย่างที่เขาเห็น และคิดว่าตัวเองก็สามารถมีชีวิตต่อไปได้หากปราศจากคู่รัก (เหมือนพ่อหรือแม่ของพวกเขา)

15. การศึกษาโดย Nicholas Wolfinger ในหัวข้อเรื่อง ‘Understanding the divorce cycle’

ทำให้อังกฤษพบว่า ความเสี่ยงในการหย่าขึ้นอยู่กับพ่อแม่ของแต่ละฝ่ายเช่นกัน หากฝ่ายใดผ่ายหนึ่งมาจากครอบครัวที่มีการหย่าร้างมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่คู่แต่งงานจะหย่ากัน แต่อัตราส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 200 เปอร์เซ็นต์ หากว่าพ่อแม่ของทั้งสองบ้านผ่านการหย่ามาแล้ว

16. เรื่องที่น่าเศร้าในการจากลากันของคู่รักก็คือ ‘เด็ก’

ปัจจุบันพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กในสหรัฐอเมริการับรู้เรื่องการหย่ากันของพ่อแม่  มีเด็ก 49 เปอร์เซ็นต์โตขึ้นมาโดยไม่มี ‘พ่อ’ อยู่ในบ้าน นั่นหมายถึงว่าส่วนมากแล้ว แม่เป็นฝ่ายรับเลี้ยงลูกมากกว่าพ่อ และ 65 เปอร์เซ็นต์ของแม่เลี้ยงเดี่ยวเหล่านี้ ไม่ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูจากผู้เป็นพ่อ น่าคิดนะครับว่าบทบาทของเพศชายในครอบครัวอเมริกันในอีกสัก 20 ปีจะเป็นอย่างไร และทัศนคติต่อผู้ชายในสังคมจะเปลี่ยนไปไหม

17. มีลูกเป็นเหมือนโซ่ทองคล้องใจ?

ก็จริงส่วนหนึ่ง การศึกษาพบว่าการมีลูกช่วยลดอัตราการหย่าร้างได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีเรื่องของอคติทางเพศที่ยังเป็นประเด็นน่าคิดกันต่อ เพราะพบว่าครอบครัวที่มีลูกชาย มีอัตราการหย่าร้างต่ำกว่าครอบครัวที่มีลูกผู้หญิง การตั้งท้องก่อนแต่งงานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น

18. เรื่องการหย่าในสหรัฐอเมริกามีมากกว่าเรื่องรักเสียอีก

ส่วนหนึ่งเพราะเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าสถาบันครอบครัวของสหรัฐอเมริกา กระทบไปถึงคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งปัจจุบันและอนาคต กระทบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับที่ละเอียดอ่อนมากๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึง มีการศึกษาทั้งในเรื่องรายได้ของคู่สมรสที่หย่ากัน ศาสนาที่ทั้งคู่นับถือ รวมไปถึงนิสัยการกิน การป่วยไข้ เรียกว่าเกือบจะทุกมุมของการหย่าร้าง ข้อสรุปของการศึกษาเรื่องการหย่าร้างบอกว่ามันสร้างผลกระทบและทำให้เกิดการเสียชีวิตไม่แตกต่างจากคนสูบบุหรี่ สหรัฐอเมริกาสูญเงินจากการหย่าร้างนั้นมากถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ทุกปี

19. ที่น่าเห็นใจก็คือ หนึ่งในเงินที่จ่ายคือค่าพบจิตแพทย์

พบว่าสองปีหลังจากไปรับคำปรึกษา เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ที่ไปหาหมอก็ยังหย่ากันอยู่ดี (ใจร้ายเนอะ)

20. และ แถ่น แท้น!!! ประเทศที่มีอัตราการหย่าสูงสุด

ให้คุณทายยังไงคุณก็ทายไม่ถูก จากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลกและกินเนสบุ๊คปีล่าสุด (2017) พบว่าอันดับ 1 คือหนึ่งในประเทศที่คนไทยชอบไปฮันนีมูนมากที่สุดแห่งหนึ่งนั่นคือ มัลดีฟส์! ส่วนอันดับ 2 คือเบลารุส

น่าจะมีคนเก็บสถิติว่า คู่ที่ไปฮันนีมูนที่มัลดีฟส์แล้วลงเอยด้วยการหย่ากัน มีกี่คู่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save