fbpx

‘Disrupted Classes, Undisrupted Learning’: จากประสบการณ์จัดการเรียนรู้ ‘ไม่หยุดชะงัก’ แบบจีน สู่การจัดการเรียนรู้บนข้อจำกัดแบบไทย

ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาการศึกษาเป็นความท้าทายใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอยลงของเด็กนักเรียน และที่ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาเด็กหลุดออกจากการระบบศึกษา

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าโลกการศึกษาได้แปรสภาพกลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่เพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบให้แก่โจทย์ปัญหาใหญ่ว่าด้วยการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หลายคนเชื่อว่าท่ามกลางความผันผวน ‘การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น’ คือคำตอบที่แน่นอนที่สุด

101 เก็บความจากงานเสวนาออนไลน์ คุณภาพของการศึกษาและความสามารถพลิกฟื้นจากวิกฤต: ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นของจีนใน COVID-19 (Reviewing the Quality and Resilience of Education: Chinese Experience on Flexible Learning in the Time of COVID-19) ว่าด้วยประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Learning) ของจีนเพื่อให้รองรับนักเรียนกว่า 270 ล้านคนทั่งประเทศสามารถเรียนทางออนไลน์ที่บ้านได้ต่อเนื่องผ่านปฏิบัติการ ‘ห้องเรียนพลิกผัน การเรียนไม่หยุดชะงัก’ (Disrupted classes, Undisrupted Learning) และประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นแบบไทยท่ามกลางข้อจำกัดทางดิจิทัล

‘Disrupted Class Undisrupted Learning’ การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น: กรณีศึกษาประเทศจีน

การจัดการเรียนรู้ในโลกที่เรียนออนไลน์ไม่ใช่แค่ทางเลือก

ดร.หรงเหว่ย หวาง คณบดีแห่ง Smart Learning Institute มหาวิทยาลัย Beijing Normal University ได้ฉายภาพให้เห็นถึงการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนบทบบาทและเพิ่มความสำคัญของการเรียนออนไลน์ จากคลื่นลูกแรกที่อินเทอร์เน็ตทำหน้าที่เป็นเพียงแค่แหล่งข้อมูลสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา สู่คลื่นลูกที่ 2 ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียน สามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการ (On-demand Learning) บนแพลตฟอร์มเว็บไซต์การศึกษา จนมาถึงปัจจุบัน การเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์กำลังก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3 ‘การเรียนรู้ออนไลน์ในโรงเรียน’ (School-based Online Learning) ซึ่งพัฒนาขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด การเรียนออนไลน์กำลังกลายเป็นช่องทางหลักในการเรียนรู้ในโรงเรียน และทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ต่างจากประเทศทั่วโลก ประเทศจีนเช่นกันก็ต้องเผชิญความท้าทายอย่างยิ่งที่ในการปฏิวัติการศึกษาให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญที่จีนต้องคำนึงถึงในการจัดการเรียนรู้ในโลกที่การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือกอีกต่อไปจึงมี 7 ข้อ ดังนี้

1. การผสานพื้นที่ห้องเรียนทั้งทางกายภาพและทางออนไลน์ เช่น มีผู้เรียนบางส่วนเรียนในห้องเรียนของชุมชนและบางส่วนเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สำหรับทุกคน

2. การข้ามขอบเขตทางกายภาพและเสมือนจริงของที่เรียน (campus) บางส่วนอาจจะนั่งเรียนในห้องเรียน บางส่วนอาจจะไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียนแต่ยังสามารถเรียนในวิชาเดียวกันได้

3. โมเดลหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น เพื่อให้ครูสามารถปรับลำดับการสอนได้ในช่วงที่มีความไม่แน่นอน

4. บทบาทของผู้สอนที่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (human machine collaboration) ครูค้องสามารถใช้คลิปวิดีโอหรือเครื่องมือดิจิทัลในการสอน

5. การประเมินผลการเรียนรู้ผ่าน Big Data, AI, Blockchain เพื่อให้สามารถประเมินการเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้เหมาะสม

6. การเตรียมความรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารสำหรับพลเมืองดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครูและนักเรียนในการใช้ชีวิตที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

7.ระบบการศึกษาแบบใหม่ที่รองรับความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เฉพาะบุคคล

ปฏิบัติการ ‘ห้องเรียนพลิกผัน การเรียนไม่หยุดชะงัก’ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้เกิดการปรับการศึกษาของประเทศจีนในระยะเวลาอันรวดเร็ว หวางแบ่งปันประสบการณ์ว่า นโยบายที่แข็งแกร่งและตรงจุดของกระทรวงศึกษาธิการประเทศจีนมีส่วนสำคัญต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างยิ่งยวด โดยในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกแผนปฏิบัติงาน โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. เลื่อนการเปิดภาคเรียนสำหรับระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย (K-12) และระดับอุดมศึกษา ปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

2. กำหนดให้หน่วยงานด้านการศึกษาจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

3. กระทรวงศึกษาธิการออกปฏิบัติการ ‘ห้องเรียนพลิกผัน การเรียนไม่หยุดชะงัก’ (‘Disrupted Class, Undisrupted Learning’) เตรียมการเรื่องการเรียนรู้ยืดหยุ่นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนกว่า 270 ล้านคนได้เรียนที่บ้านอย่างไม่สะดุด

4. กระทรวงศึกษาธิการออกแนวทางสนับสนุนครูในการปรับการสอน

5. สนับสนุนให้เด็กจบใหม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน

6. มหาวิทยาลัยเปิดแห่งประเทศจีน (The Open University of China) เปิดให้บริการฟรีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้าน

กุญแจสำคัญที่กระทรวงการศึกษาจีนวางไว้เพื่อปรับการเรียนการสอนให้รับมือกับความผันผวนของสถานการณ์การระบาดได้คือแผนปฏิบัติการ ‘ห้องเรียนพลิกผัน การเรียนไม่หยุดชะงัก’ ที่ให้ความสำคัญกับการสอนแบบยืดหยุ่น (flexible pedagogy) เน้นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกสรรเวลา สถานที่และแหล่งการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สนับสนุนให้เกิดการเรียนที่ง่าย มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ

หวางอธิบายว่าลักษณะเด่นของการจัดการเรียนรู้ตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวคือ (1) การจัดการเรียนการสอนภายใต้การเรียนรู้แบบยืดหยุ่นผ่านการให้บริการที่แตกต่าง เช่น จัดการเรียนการสอนตามโจทย์ความต้องการของนักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายที่ต้องเน้นทบทวนความรู้เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ (2) การมีรูปแบบการสอนที่หลากหลายและสอดคล้องกับเนื้อหา (3) การเปิดแหล่งเรียนรู้ฟรี โดยสนับสนุนด้าน ICT ให้นักเรียนเพื่อตอบรับกับการเรียนที่บ้าน (4) การบริหารจัดการเรียนการสอนโดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้นำในการวางแผนระดับนโยบายและมีโรงเรียนบริหารจัดการให้เหมาะสมต่อบริบทของพื้นที่ และ (5) การทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และสังคมโดยรวม

ส่วนองค์ประกอบในการสนับสนุนปฏิบัติการห้องเรียนพลิกผัน การเรียนไม่หยุดชะงัก หวางอธิบายว่ามีอยู่ 7 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่ดีและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ต้องมีทั้งการเตรียมความพร้อมขยายแบนด์วิธ (Bandwidth) ของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อให้การเรียนรู้ไม่กระตุ ให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศจีนเพิ่มบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ และใช้การเรียนรู้ทางไกลผ่านช่องโทรทัศน์เพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น

(2) การมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีประเทศจีนมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายตามระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน รวมทั้งรัฐบาลส่วนกลาง รัฐบาลส่วนท้องถิ่นและบริษัทเอกชนในประเทศยังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย และสำนักพิมพ์ People’s Education Press (PEP) ซึ่งจัดพิมพ์ตำราให้กับกระทรวงศึกษาธิการยังเปิดให้มีการเข้าถึงตำราอิเล็กทรอนิกส์ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ฟรี 

(3) เครื่องมือเรียนรู้ที่สะดวก ในเมื่อรูปแบบในการเรียนรู้และการสอนต่างกันต้องใช้วิธีการต่างกัน ประเทศจีนจึงจัดทำข้อแนะนำเครื่องมือที่เหมาะสมในแต่ละประเภทของการจัดการเรียนการสอนให้ครู

(4) วิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย ประเทศจีนจัดให้มีรูปแบบการเรียนรู้ ทั้งการบรรยายออนไลน์ การอภิปรายในชั้นเรียน การโต้วาทิ การระดมความคิด การทำกิจกรรมแบบกลุ่ม การเรียนผ่านเกมและการแข่งขัน การเรียนผ่านกรณีศึกษาและการทดลองเสมือนจริง การเรียนผ่านช่องโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแห่งชาติจีนสำหรับเด็กในชนบท รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี AI อย่าง Squirrel AI เพื่อช่วยออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคลให้กับนักเรียน โดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติการเรียนเดิมมาประมวลผล

(5) การจัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นสำหรับครูและนักเรียน เปิดให้มีการเลือกใช้วิธีการเรียนรู้และกิจกรรมตามความเหมาะสม เช่น ใช้การดูคลิปวิดีโอซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบไม่ต้องพบกันในเวลา (Asynchronized Learning) ก่อนจะอภิปรายในห้องเรียนออนไลน์ (synchronized Learning)  

(6) บริการที่สนับสนุนการเรียนรู้สำหรับผู้สอนและผู้เรียนที่มีประสิทธิภาพ มีทั้งการอบรมให้ครูสามารถสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนและเล่นรวมถึงการพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(7) ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เอกชนและโรงเรียน ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดทั้งในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและแหล่งการเรียนรู้ โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายที่ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นได้

Smart Education: ทางออกการศึกษาในอนาคตของประเทศจีน

ในช่วงท้ายของการแบ่งบันประสบการณ์ หวางเกริ่นถึงปัญหาของการศึกษาในแถบประเทศเอเชียที่มีการติวนอกเวลาเรียนอย่างหนักเพื่อจำและนำไปสอบ พร้อมให้ความเห็นว่า การศึกษาแบบสมาร์ต (Smart Education) การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้จะเป็นทางออกของการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น (resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับประเทศจีน

การวางแผนกระบวนการพัฒนาการศึกษาแบบสมาร์ตถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ขั้นแรก การสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบสมาร์ท (Smart Learning Environment) สร้างการเรียนรู้ เครื่องมือและแหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ขั้นที่สอง การใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้และการสอน (Technology-Enhanced Learning and Teaching) นำไปสู่การจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalized Learning) และการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive Learning) และขั้นสุดท้าย ระบบการศึกษาบนฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Education System) โดยให้ความสำคัญกับผลผลิตความรู้ของทั้งประเทศ (Knowledge Productivity) และระบบทรัพยากรมนุษย์

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยทั้งการเปลี่ยนผ่านการสอนและการเรียนรู้โดยนำการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนบนระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุด หวางเน้นย้ำว่าต้องแน่ใจว่าการบริหารจัดการของรัฐบาลอยู่บนฐานของแนวคิดและนโยบายที่ก้าวหน้า

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าจับตามองและอาจเกิดขึ้นเมื่อนำเทคโนโลยี ICT เข้ามาใช้ในห้องเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย (K-12) ได้แก่ ประเด็นแรก ความหลากหลายของนักเรียน ซึ่งนำไปสู่ระดับการเรียนรู้ที่ต่างกันในชั้นเรียน ประเด็นที่สอง เนื้อหาและวิธีการสอนที่ต้องปรับให้รับกับความแตกต่าง (Differential Instruction) ซึ่งผู้สอนต้องปรับเพื่อให้รับกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการเรียนออนไลน์ที่นำไปสู่การขยายโอกาส ประเด็นที่สาม ช่องว่างระหว่างครูที่เป็น non-digital natives และนักเรียนที่เป็น digital natives โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ และประเด็นสุดท้าย ความต้องการการรู้เท่าทันเทคโนโลยี ICT และโลกดิจิทัล

ประเทศไทยกับการจัดการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัด: กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านปลาดาว

เมื่อหันกลับมาประเทศไทย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธาน Starfish Education Trust ฉายให้เห็นสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยที่ได้ผลรับกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการปิดโรงเรียน และความไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์หลังการแพร่ระบาดระลอกใหม่

เพื่อให้เห็นภาพวิกฤตการเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้น นรรธพร หยิบยกสถิติจากการสำรวจความพร้อมในการเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดยสวนดุสิตโพลขึ้นมา จากการสำรวจใน 3,749 คน พบว่า 51.35% ไม่พร้อมที่จะกลับไปเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง และมีมากถึง 63.30% ที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ เมื่อถามถึงความต้องการสนับสนุนจากทางโรงเรียนและรัฐบาล พบว่าสิ่งที่ต้องการมากที่สุดในการเปิดเรียนคืออุปกรณ์การเรียนรู้ ซึ่งมากถึง 62.22% ตามมาด้วย 58.28% ต้องการอินเทอร์เน็ตฟรีหรือลดราคา 55.80% ต้องการลดค่าเล่าเรียน 50.30% ต้องการการสอนแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) และสุดท้าย 49.57% ต้องการนโยบายและแผนสนับสนุนการเรียนการสอน

นรรธพรมองว่าท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีความไม่แน่นอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น จากการตกผลึกและถอดบทเรียนจากโรงเรียนที่มีเงื่อนไขอันหลากหลาย ทั้งจากโรงเรียนบ้านปลาดาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนสำหรับนักเรียนฐานะค่อนข้างยากลำบากที่อยู่ภายใต้การบริการของ Starfish Education และอีกหลายโรงเรียนที่ Starfish Education ลงไปทำงานด้วย นรรธพรเสนอว่ากรอบคิดในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 มี 5 องค์ประกอบหลักที่ต้องคำนึงถึงดังต่อไปนี้

(1) การประเมินตามบริบท (Landscape assessment) พิจารณาทั้งบริบทในเชิงพื้นที่ และสถานการณ์การแพร่ระบาด ประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน (Learning loss), ข้อมูลตามหลักประชากรศาสตร์, ความต้องการขั้นพื้นฐาน และความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต โดยประเมินทั้งในด้านตัวผู้เรียน บุคลากรทางการศึกษา และชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม

(2) การวางแผนองค์รวมของทั้งโรงเรียน (Whole school planning) มีองค์ประกอบหลักในพิจารณาเรื่องแผนของโรงเรียน ได้แก่ บุคลากรที่วางแผนจัดการเรียนการสอนทั้งหมด (school team) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ตัวแทนชุมชน และตัวแทนผู้ปกครอง กรอบระยะเวลา งบประมาณ ความปลอดภัยและทรัพยากรต่างๆ ของโรงเรียน

(3) การสนับสนุนสำหรับคุณครู (PD Support for teachers) การสนับสนุนครูในการหาช่องว่างทางการเรียนรู้ของนักเรียน (Learning Gap) เพื่อนำไปสู่การเติมเต็มความรู้, การสร้างความเข้าใจในเรื่องหลักสูตรให้กับคุณครู เนื่องจากในแนวปฏิบัติจริง ครูต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่เด็กต้องรู้ในขณะที่ระยะเวลาเรียนจำกัด พิจารณาความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนทางไกล เครื่องมือที่ใช้ และการซัพพอร์ตเรื่องของสุขภาวะของผู้สอน

(4) นวัตกรรมและการสนับสนุนสำหรับนักเรียน (Intervention and Support for student) พิจารณารูปแบบการสอนแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) เพื่อให้สามารถเติมเต็มความรู้ได้อย่างเหมาะสม ในทางปฏิบัติอาจปรับเป็นการสอนแบบเฉพาะกลุ่มแทน บางพื้นที่อาจจะพิจารณาการสอนเสริม (Tutorial) นอกจากนี้ยังมีเรื่องสื่อการเรียนรู้ สภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน และการสนับสนุนทางครอบครัว ซึ่งเป็นโจทย์สำหรับการวางแผนการจัดการเรียนการสอน

(5) การติดตามผลและการปรับปรุงนวัตกรรมการเรียนรู้ (Monitoring and Invention Redesign) พิจารณาความก้าวหน้าและฟีดแบ็กจากการเรียน โดยควรจะประเมินผลในวงจรที่สั้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงอย่างรวดเร็ว เช่นประเมินรายสัปดาห์

เมื่อมองลงไปถึงกลยุทธ์ในการวางแผนการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในสถานการณ์การระบาด นรรธพรกล่าวว่ามีสิ่งที่ต้องคำนึงเพื่อนำไปสู่การเลือกเครื่องมือและวิธีการสอนให้เหมาะสมอยู่ 6 ปัจจัย ได้แก่ (1) อายุของผู้เรียน ต้องพิจารณาว่าการเรียนออนไลน์โดยใช้คอมพิวเตอร์เหมาะกับนักเรียนเพียงแค่บางช่วงวัยเท่านั้น  (2) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากนักเรียนไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนต้องจะมีทางเลือกอื่นในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง (3) การเข้าถึงอุปกรณ์ในการเรียน เมื่ออุปกรณ์ต่างกัน การรับข้อมูลย่อมแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องออกแบบวิธีการสอนที่ไม่เหมือนกันเพื่อรองรับทั้งนักเรียนที่เรียนรู้ผ่านสมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ (4) ความต่างในวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน นักเรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ต่างกัน การออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นการฟังเพียงอย่างเดียวอาจทำให้นักเรียนที่ถนัดวิธีการเรียนในรูปแบบอื่นเสียโอกาส และสูญเสียการเรียนรู้ไป (5) ศิลปะการสอน (Pedagogy) ซึ่งการสอนออนไลน์จำเป็นต้องใส่ใจในศิลปะการสอนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างมาก (Digital Pedagogy) และสุดท้าย (6) การสนับสนุนจากทางผู้ปกครอง ทั้งในเรื่องอุปกรณ์และแนะนำเนื้อหาความรู้ให้กับนักเรียน

สำหรับนวัตกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลที่ทางโรงเรียนบ้านปลาดาวทดลองทำและแบ่งปันให้กับหลายโรงเรียน ใช้นวัตกรรมที่เรียกว่ากล่องแห่งการเรียนรู้ (Learning Box) โดยภายในกล่องจะมีอุปกรณ์เครื่องเขียน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำโปรเจ็กต์ทดลอง สื่อการเรียนรู้ สมุดบันทึกการเรียนรู้ และใบงานที่ถูกออกแบบเป็นหัวข้อเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ รวมถึงมีกิจกรรมภาคปฏิบัติที่ให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างแอกทีฟ โดยแต่ละโรงเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง

แต่เพียงแค่ Learning Box ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาการเรียนรู้ในช่วงเวลาเช่นนี้ นรรธพรมองว่ายังต้องมีการเข้าถึงชุมชน (Community Outreach) เตรียมความพร้อมครูที่อยู่ในชุมชน อาสาสมัครในชุมชน หรือรุ่นพี่ในโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือในการเรียนรู้ในกรณีที่นักเรียนมาจากครอบครัวชนเผ่าที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ต้องให้การเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกนอกเหนือจากการเรียนทางไกลในกรณีที่นักเรียนมีความพร้อม โดยโรงเรียนบ้านปลาดาวมีเว็บไซต์ starfishlabz.com เป็นตัวกลางในการเข้าถึงบทเรียน และส่วนสุดท้าย ต้องมีช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบฉับไว (Real-Time Communication Channel) ทั้งโทรศัพท์และแชทกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยให้การเรียนไปอย่างราบรื่นและเต็มประสิทธิภาพ

นรรธพรทิ้งท้ายว่า การประเมินผลผู้เรียนสามารถทำได้หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะการเรียนการสอน แต่ต้องสอดคล้องกับแผนและเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนกรณีโรงเรียนบ้านปลาดาวมีทั้งการประเมินออฟไลน์-ออนไลน์ และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ประเมินร่วมกับคุณครู โดยใช้ข้อความเกณฑ์การประเมินที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งส่งรูปภาพ วิดีโอประกอบการประเมินได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save