fbpx
Disney & Netflix : Ain’t no ENDGAME

Disney & Netflix : Ain’t no ENDGAME

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ผมจำได้ว่า รายการหนึ่งบน Netflix ที่ได้ดูแล้วรู้สึกอึ้งปนทึ่ง ก็คือรายการทำอาหารรายการหนึ่ง

รายการที่ว่าไม่ใช่รายการทำอาหารธรรมดานะครับ แต่ชื่อรายการคือ Cooking on High ก็น่าจะพอบอกได้ว่า ทำอาหารเวลา ‘ไฮๆ’ นี่ มันหมายถึงอะไร

ใช่ครับ นี่คือรายการแข่งขันทำอาหารโดยใช้ ‘กัญชา’ เป็นหลัก

รายการนี้เป็นรายการแข่งทำอาหารโดยใช้กัญชาเป็นส่วนผสมหลักทุกตอน โดยให้เชฟมาทดลองใช้กัญชาปรุงอาหาร และมี ‘คอกัญชา’ (ที่แต่ละคนจะดูมีท่าทีไฮๆ เมาๆ เคล้ิมๆ อารมณ์ดี) มาคอยตัดสินว่าชอบอาหารของเชฟคนไหน

คุณว่ารายการแบบนี้สามารถอยู่ในสารบบของค่าย Disney ได้ไหม?

ก่อนหน้านี้ ดิสนีย์ประกาศว่าจะดึงเอาเนื้อหาของตัวเองออกมาจาก Netflix ให้หมดภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นั่นเพราะดิสนีย์จะทำช่องใหม่ของตัวเองแบบ Livestreaming คือให้บริการแบบเดียวกับ Neflix ด้วยเหมือนกัน

หลายคนวิเคราะห์ว่า หมากนี้ของดิสนีย์น่าจะทำให้ Netflix ลำบากอยู่ไม่น้อย เพราะหนังในจักรวาลมาร์เวล (เช่น Avengers: Endgame) นั้นทำรายได้มหาศาลและเป็นที่นิยมกันมาก แถมดิสนีย์ไม่ได้มาเดี่ยว แต่ยังมีช่อง ESPN และช่องอื่นๆ อยู่กับตัวอีก จึงไม่น่าเป็นเรื่องยากเท่าไหร่ ถ้าดิสนีย์คิดจะขยับมาเบียดตลาดนี้บ้าง

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ เราพูดได้เลยว่า ดิสนีย์เป็นค่ายที่เติบโตมากับความ ‘สะอาด’ ของเนื้อหา เริ่มตั้งแต่ปี 1937 กับการ์ตูนอย่าง Snow White and the Seven Dwarfs หลังจากนั้น ดิสนีย์ก็กลายเป็นบล็อคบัสเตอร์สำหรับครอบครัวมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อมาสร้างดิสนีย์แลนด์ เป้าหมายในตอนแรกก็เจาะไปที่กลุ่มเด็กๆ และครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

แน่นอน ในธุรกิจทีวีแบบเคเบิล ดิสนีย์ถือว่ามีมูลค่าสูง โดยเฉพาะช่องอย่าง ESPN ที่เป็นช่องกีฬา แต่ความสำเร็จจากทั้งความ ‘สะอาด’ และความสำเร็จในธุรกิจเคเบิลทีวี กลับเริ่มกลายเป็นภาระหนักให้กับดิสนีย์ เพราะในปัจจุบันนี้ มีสถิติบอกว่า ผู้ใหญ่วัย 22 ถึง 45 ปี เกือบครึ่งหนึ่ง ไม่ดูทีวีเลย ไม่ว่าจะเป็นทีวีแบบแพร่ภาพกระจายเสียง หรือทีวีแบบเคเบิล แต่คนเหล่านี้หันมาใช้บริการ ‘สตรีมมิ่ง’ กันแทน ทำให้ ESPN มียอดผู้ชมลดลงมากกว่า 10% นับตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่

ส่วน Netflix นั้น มีสมาชิกแล้วเกือบจะ 140 ล้านรายทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการลงทุนสร้างภาพยนตร์ รายการ สารคดี ซีรีส์ ฯลฯ ของตัวเองขึ้นมา โดยก่อนหน้านี้ Netflix เพิ่มทุนทั้งที่อยู่ในช่วงราคาหุ้นขึ้นสุดๆ แปลว่า Netflix กำลังวางแผนใหญ่ในเรื่องการผลิตเนื้อหาของตัวเอง โดยนิตยสาร Forbes วิเคราะห์ว่าในด้านหนึ่ง Netflix จำเป็นต้องเดินไปในทิศทางนี้ เพราะสตูดิโอในฮอลลีวู้ดหลายเจ้า (ที่ชัดๆ ก็อย่างเช่นดิสนีย์) เริ่มตัดสินใจว่าจะไม่ต่อใบอนุญาตให้ Netflix นำทรัพย์สินของตนไปใช้อีกแล้ว ดังนั้น ถ้า Netflix จะอยู่รอดได้ ก็ต้องสร้างรายการขึ้นมาเอง

Cooking on High เป็นตัวอย่างหนึ่ง และเป็นตัวอย่างในแบบที่หลายคนอาจรู้สึกว่าสุ่มเสี่ยงด้วย เพราะเป็นการคิดรายการทำอาหารที่อยู่บนรอยต่อของการถกเถียงเรื่องการใช้กัญชา และถือเป็นก้าวแรกและรายการแรกของโลกด้วย ที่นำเอากัญชามาไว้ในรายการทำอาหารอย่างสง่าผ่าเผยในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในทีวี

แม้รายการนี้จะยังขาดๆ เกินๆ และน่าจะต้องปรับปรุงอีกเยอะ แต่ในแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของ Netflix ที่จะนำเสนอเนื้อหาแปลกใหม่ ทำให้เราเห็นถึง ‘ประกาย’ ความเป็นไปได้ที่จะได้ดูรายการแปลกๆ ท้าทายขนบมากยิ่งกว่านี้ในอนาคต แต่งานสร้างของรายการนี้ยังดูต้นทุนต่ำและจำกัดวงแคบอยู่สักหน่อย อาจทำให้คนดูไม่ค่อยสนุกหรืออยากติดตามต่อ ทว่าโดยสรุป เราจะเห็นได้เลยว่า Netflix มุ่งมั่นและ ‘เห็น’ ถึง Business Model ของตัวเองชัด ว่าจะตอบสนองต่อคนกลุ่มไหนอย่างไร

ส่วนดิสนีย์นั้น ฟอร์บส์บอกว่าจุดเด่นคือความหลากหลาย ดิสนีย์ทำธุรกิจแบบ diversify มากกว่า จึงกระจายความเสี่ยงไปในธุรกิจต่างๆ มากกว่า ดิสนีย์มีทั้งเครือข่ายโทรทัศน์ ช่องกีฬา และสตูดิโอผลิตหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง มีสตูดิโองาน animation ชั้นเยี่ยมของโลก มีทั้งธีมปาร์คและรีสอร์ต ทั้งยังมีตัวการ์ตูนต่างๆ ที่นำมา ‘ขาย’ ได้ในฐานะ Iconic Characters ซึ่งถ้ามองในสายตาของนักลงทุนแล้ว ดิสนีย์อาจมีความเสี่ยงต่ำกว่า Netflix ก็ได้

ฟอร์บส์แนะนำ Netflix เอาไว้ว่า ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ก็ต้องเอาชนะในสนามต่างๆ หลายด้าน โดยเฉพาะด้านที่เป็น ‘วัฒนธรรมผู้สร้าง’ (Cretor Culture) เพราะ Netflix มีคู่แข่งอื่นนอกเหนือไปจากดิสนีย์อีก คือ Apple กับ Amazon Prime ซึ่งถ้า Netflix จะเอาชนะได้ ก็ต้องสร้างงานของตัวเองขึ้นมา และต้องเป็นงานที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งเราก็เห็นความพยายามนี้จากภาพยนตร์อย่าง Roma

ส่วนการ ‘ชน’ กับดิสนีย์ตรงๆ นั้น หลายฝ่ายยังมองว่า Netflix ยังสู้ดิสนีย์ในเรื่องรายการสำหรับครอบครัวไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ Netflix จะมุ่งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่ เนื้อหาของซีรีส์และรายการต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่คุ้นเคยกับคุณค่าแบบครอบครัวเดิมๆ มากกว่า ยิ่งถ้าดิสนีย์จะถอนตัวออกไป Netflix ก็อาจต้องรีบสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นไปในมุมของครอบครัว ประเภทเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีมากขึ้น ซึ่งในระยะหลังเราจะเห็นได้ชัดว่ามีรายการประเภทตกแต่งบ้านหรือรายการอาหาร (ที่ไม่ใช่ Cooking on High) เพิ่มมากขึ้นใน Netflix

ในส่วนของดิสนีย์ The Atlantic เคยวิเคราะห์ดิสนีย์เอาไว้ว่า การทำช่องสตรีมมิ่งของตัวเองก็ไม่ได้ไร้อุปสรรค อย่างหนังในจักรวาลมาร์เวลทั้งหลาย ถ้าดิสนีย์นำมาให้บริการสตรีมมิ่งเร็วเกินไป ก็จะเกิดการ ‘แย่งตลาด’ กันเองขึ้น ทำให้รายได้จากโรงภาพยนตร์ลดลง แต่ถ้าพะยี่ห้อดิสนีย์แล้วในบริการสตรีมมิ่งไม่มีหนังของดิสนีย์ใหม่ๆ ทันใจเอาเสียเลย คนดูก็อาจตั้งข้อสังเกตว่าไม่รู้จะสมัครไปทำไม ดังนั้น ทางออกอีกแบบหนึ่งก็คือ ดิสนีย์ต้องผลิตเนื้อหาป้อนบริการสตรีมมิ่งของตัวเองที่แตกต่างไปจากหนังโรง ซึ่งก็เท่ากับต้องเดินตาม Netflix แถมยังมีฐานสมาชิกสตรีมมิ่งน้อยกว่า (เพราะเริ่มช้ากว่า) ด้วย และในเวลาเดียวกัน การทำแบบนี้ก็อาจเท่่ากับการ ‘ฆ่า’ หนังในโรงภาพยนตร์ไปโดยปริยาย จึงทำให้ดิสนีย์ต้องคิดหนักถ้าจะทำ Disneyflix ขึ้นมา เพราะ Disneyflix คงไม่ใช่ Netflix ที่มีหนังของดิสนีย์เท่านั้น และในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่ใช่บริการสตรีมมิ่งที่มีแต่รายการที่สร้างขึ้นใหม่ การเลือกทางใดทางหนึ่งอาจหมายถึงหายนะของอีกทางหนึ่งได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นการทำลายธุรกิจของตัวเองโดยไม่ตั้งใจ

ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนสงคราม แต่แน่นอนว่าไม่ใช่สงครามแบบ Endgame ทว่าคือจุดเริ่มต้นการแข่งขัน ซึ่งหากเกิดการต่อสู้กันตามกลไกตลาดเสรี คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็น่าจะเป็นคนดูนี่เอง เพราะทั้งมีค่าใช้จ่ายน้อยลงและมีความหลากหลายของเนื้อหาเพิ่มขึ้น

 

หมายเหตุ: ดัดแปลงจากบทความเก่าเรื่อง Disney และ Netflix: สงครามหรือสันติภาพ (ของคนดู)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save