fbpx

วาทกรรมเฟกนิวส์กับบรรยากาศแห่งความ(ไม่)กลัว

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มักเรียกเรื่องราวหรือแม้แต่นักข่าวที่เขาไม่ชอบว่า ข่าวกุ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน หรือเฟกนิวส์ (fake news) ขณะที่ที่ปรึกษาประธานาธิบดีตอนนั้นได้สร้างคำว่า ‘ความจริงทางเลือก’ (alternative facts) เพื่อกลบเกลื่อนข้อมูลเท็จที่รัฐบาลเป็นผู้ปล่อยให้กับสื่อมวลชน

ในทำนองเดียวกัน ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ก็นิยมตีตรานักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์เขาว่าเป็นพวกผลิตเฟกนิวส์ และยังดำเนินคดีกับหลายคนในข้อหาหมิ่นประมาทจากเนื้อหาที่เผยแพร่ออนไลน์

ปรากฏการณ์แบบเดียวกันกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

ท่ามกลางกระเสกังขาและวิกฤตศรัทธาของประชาชนจากนโยบายเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งบังคับใช้ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพื่อดำเนินการกับข้อมูลข่าวสารบิดเบือนผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งทางองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านข่าวสาร 6 องค์กรก็ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลทบทวนข้อกำหนดดังกล่าวโดยอ้างถึงผลกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อสารมวลชนและประชาชน

หลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเพื่อประท้วงรัฐบาลในเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพในวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งปรากฏว่ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สกัดม็อบด้วยรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายรายรวมถึงนักข่าวด้วย นำไปสู่กระแสอันร้อนแรงบนโลกออนไลน์อีกระลอก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล

อีกสามวันต่อมา ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้นำทางความคิดที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ เน้นไปที่กลุ่มดารานักแสดงซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนมากให้หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการดำเนินนโยบายในเรื่องวัคซีนบนโซเชียลมีเดีย โดยอ้างว่าอาจเป็นการบิดเบือนข้อมูลและเข้าข่ายเฟกนิวส์ สามารถถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ขณะเดียวกันก็แจ้งว่าเตรียมดำเนินคดีกับผู้โพสต์หรือแชร์ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 147 ราย จากเฟซบุ๊ก 15 รายและทวิตเตอร์ 132 ราย

อย่างไรก็ดี ดาราและผู้นำทางความคิดส่วนหนึ่งไม่ได้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ หากแต่ยังแสดงออกถึงความไม่พอใจและความคลางแคลงในการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจทางนโยบายอย่างต่อเนื่อง ดาราชายคนหนึ่งได้ตั้งคำถามกลับไปที่เพลง ‘เราจะทำตามสัญญา’ ของนายกรัฐมนตรีเมื่อสมัยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเป็นเรื่องเท็จหรือไม่ และประชาชนอย่างเขามีสิทธิฟ้องรัฐบาลหรือไม่

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่รัฐไทยสถาปนาเฟกนิวส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ดิสอินฟอร์เมชัน’ (disinformation จะอธิบายต่อไป) ขึ้นมาเป็นวาทกรรม (หมายถึง ชุดความคิดและการสื่อความหมายซึ่งนำไปสู่การรับรู้ความจริงที่สร้างอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่งและลดทอนอำนาจคนอีกกลุ่มหนึ่ง) สะท้อนความพยายามในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวด้วยการอ้างการลงโทษตามข้อกฎหมาย ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็น่าจะส่งผลในทางลบต่อการสื่อสารที่เสรี บรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการตรวจสอบอำนาจบนฐานแห่งข้อมูลและการปรึกษาหารือในระบอบประชาธิปไตย

แน่นอนว่า ข้อมูลกุ ข่าวปลอม เรื่องราวที่เป็นเท็จ และสารที่บิดเบือน เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ในปัจจุบัน เพราะย่อมนำไปสู่ความระส่ำระสายของการรับรู้ข้อเท็จจริง ทัศนคติอันไม่เชื่อถือต่อมาตรการของภาครัฐ และพฤติกรรมที่อาจจะไม่เอื้อต่อการควบคุมโรคระบาดในหลายมิติ

ทว่าเราก็ไม่ควรหลงประเด็น เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลกำลังตั้งคำถามและมุ่งจัดการอาจไม่ได้สะท้อนเฟกนิวส์หรือดิสอินฟอร์เมชันในรูปแบบและลักษณะที่เป็นปัญหาในระดับสากลเสมอไป นอกจากนี้ รัฐไทยยังได้ละเลยที่จะพิจารณาแนวทางอันหลากหลายในการจัดการกับดิสอินฟอร์เมชัน (หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นตามนั้นจริง) นอกเหนือจากการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากและลงโทษไปด้วย

เฟกนิวส์ และ ดิสอินฟอร์เมชัน ในความหมายที่เป็นสากล

เฟกนิวส์ ซึ่งแปลตรงตัวว่าข่าวเท็จหรือข่าวปลอมถูกทำให้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกานับแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใน ค.ศ. 2016 เนื่องจากมีข้อกล่าวหาและหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการกุข่าวและการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ ทั้งที่เป็นความผิดพลาดและประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อส่งผลต่อมติมหาชนในช่วงการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาคำว่าเฟกนิวส์ถูกมองว่าเป็นการด้อยค่าความหมายของข่าว (news) ซึ่งต้องมีองค์ประกอบของความถูกต้อง เที่ยงตรง และการตรวจสอบเป็นพื้นฐาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านนี้โดยเฉพาะจากยุโรปจึงเสนอให้ใช้คำว่า ดิสอินฟอร์เมชัน (disinformation) แทนทั้งในวงการวิชาการและวิชาชีพ

ในส่วนของดิสอินฟอร์เมชัน แม้คำนี้จะถูกใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1939 โดยนาซีเยอรมนีและถูกทำให้แพร่หลายในหน่วยสืบราชการลับของสหภาพโซเวียตภายใต้ชื่อว่า dezinformatsiya  แต่คำนี้เพิ่งจะได้รับความสนใจในระดับโลกเมื่อทศวรรษเศษๆ ที่ผ่านมานี้เอง โดยเป็นคำเรียกที่ครอบคลุมถึง ข้อมูลที่ผิดเป็นเท็จและบิดเบือนซึ่งสามารถจะนำไปสู่ผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศข่าวสารจากความไม่จริงหรือผิดพลาดของข้อมูล ตลอดจนผลเชิงพฤติกรรมในระดับสังคม ไม่ว่าจะเป็น ผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตย สุขภาวะของคนในสังคม ชุมชนของชนกลุ่มน้อยและผู้ด้อยโอกาส หรือเสรีภาพในการแสดงออก เป็นต้น

ดิสอินฟอร์เมชัน อาจมีการดำเนินการเป็นโครงการหรือขบวนการอย่างเป็นระบบ เช่น มีการจัดการเนื้อหาทั้งทางอักษร เสียง ภาพ อาจมีการสร้างทฤษฎีสมคบคิดหรือสร้างข่าวลือเพื่อส่งผลต่อมติมหาชน ส่วนใหญ่จะมีการวางแผนและจัดการโดยผู้ปฏิบัติการทั้งในภาครัฐและไม่ใช่ ทั้งโดยปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล และในพื้นที่ออนไลน์มักจะเป็นการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีอย่างบอต (bot) และอัลกอริทึมที่แนะนำหรือฟีดข้อมูลให้โดยประมวลจากแนวโน้มหรืออคติทางการรับรู้ของผู้ใช้ ซึ่งอาจส่งผลในการสร้างสิ่งแวดล้อมแบบฟองสบู่ตัวกรอง (filter bubble) อันเป็นเสมือนกระจกสะท้อนด้านเดียวที่คัดเลือกและฟีดเนื้อหาให้ผู้ใช้จากโปรไฟล์ส่วนบุคคล แบบแผนการใช้แพลตฟอร์ม และการเชื่อมโยงจากลักษณะร่วมระหว่างผู้ใช้ในเครือข่าย ทำให้ผู้ใช้ได้ปะทะสังสรรค์กับเฉพาะข้อมูลที่ถูกจริตหรือแม้แต่ช่วยตอกย้ำอคติใดๆ ที่มีด้วยการเชื่อมโยงกับเพจหรือผู้ใช้อื่นที่มีอคติแบบเดียวกัน

ในภาวะโรคระบาดใหญ่ ดิสอินฟอร์เมชันที่แพร่ระบาดและสร้างผลกระทบกว้างขวางนำไปสู่ปรากฏการณ์ของ ดิสอินฟอร์เดมิก (disinfodemic)  ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง disinformation กับ epidemic ซึ่งแปลว่าโรคระบาด งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนและเผยแพร่โดย UNESCO  เรื่อง ‘Disinfodemic: Deciphering Covid-19 disinformation’ ได้ระบุประเด็นแก่นสำคัญ 9 ประการที่มีอยู่ในเนื้อหาของภาวะดิสอินฟอร์เดมิก ดังนี้

ที่มา : Julie Posetti and Kalina Bontcheva. (2021). “Disinfodemic: Deciphering Covid-19 disinformation. Policy Brief 1”. Paris: UNESCO.

เพราะฉะนั้น หากทางกระทรวงดีอีจะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่าสร้างเฟกนิวส์ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอันเกี่ยวข้องกับโรคระบาด ก็ควรจะมีฐานคิดซึ่งมีการวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแบบนี้เป็นแนวทาง

แนวทางการรับมือกับดิสอินฟอร์เมชันทำได้อย่างไรบ้าง

งานวิจัยที่จัดทำให้ UNESCO ในปี 2020 ระบุว่านอกจากการใช้กฎหมายและมาตรการของรัฐในการจัดการกับดิสอินฟอร์เมชัน ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับดิสอินฟอร์เมชัน ซึ่งคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของสื่อ ตลอดจนการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานทางวิชาชีพของสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสามารถสรุปให้เห็นตามภาพด้านล่าง โดยภาพรวม แนวทางเหล่านี้เน้นไปที่การตอบสนองตามผู้กระทำการที่อยู่เบื้องหลังดิสอินฟอร์เมชัน เช่น อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต รัฐบาล ภาคประชาสังคม และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น

รายละเอียดโดยสังเขปของแนวทางที่เป็นสากลในการตอบสนองกับดิสอินฟอร์เมชัน
(ที่มา: Kalina Bontcheva and Julie Posetti, 2020, “Balancing Act: Countering Digital Disinformation while Respecting Freedom of Expression,” Broadband Commission research report on ‘Freedom of Expression and Addressing Disinformation on the Internet’.
 Geneva and Paris: ITU and UNESCO, p.38.)

ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับดิสอินฟอร์เมชันโดยเฉพาะในบริบทโรคระบาดดังกล่าวไปข้างต้น จึงไม่ใช่การกล่าวเกินจริงไปที่จะพิจารณารัฐในฐานะผู้ปฏิบัติการหลักฝ่ายหนึ่ง งานวิจัยเกี่ยวกับดิสอินฟอร์เมชันในเอเชียชี้ให้เห็นว่า รัฐคือตัวเล่นหลักในการสร้างและทำให้ดิสอินฟอร์เมชันยั่งยืน และในสถานการณ์ของสังคมที่ขัดแย้งแบ่งขั้วสูง ปฏิบัติการดิสอินฟอร์เมชันที่ทำเป็นระบบจนขยายอิทธิพลกว้างขวางสามารถส่งผลต่อสื่อวารสารศาสตร์วิชาชีพซึ่งกลายมาเป็นเหยื่อของการเผยแพร่ข่าวกุข่าวลวงเสียเองจนประชาชนเสื่อมศรัทธา เพราะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างข่าวจริงกับข่าวปลอมที่ถูกกุหรือประดิษฐ์ขึ้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่มีอำนาจทางกฎหมายและนโยบายย่อมอยู่ในภาวะได้เปรียบที่จะสร้างและทำให้วาทกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อระบอบอำนาจของตนแผ่ขยายเป็นวาทกรรมหลักเพื่อส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม เพราะพวกเขาไม่เพียงจะครอบครองและครอบงำการสื่อสารในช่องทางหลักๆ ของสังคม หากแต่ยังมีอำนาจตามกฎหมายในการปิดกั้นการแสดงออกด้วยการกำหนดว่าอะไรพูดได้หรือไม่ได้ด้วย

การตีตราทุกคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือแสดงทัศนะอันกังขากับแนวทางการจัดหาและจัดสรรวัคซีนไปจนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่า กำลังบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและกำลังสร้างเฟกนิวส์นั้น นอกจากจะไม่ใช่แนวทางที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นเสมือนการราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟที่ลุกโชนอยู่แล้ว เพราะสะท้อนให้เห็นกรอบคิดว่ารัฐเท่านั้นที่มีความชอบธรรมในการนิยามความจริง ขณะที่ประชาชนผู้ใช้สื่อออนไลน์ (รวมถึงผู้นำทางความคิดและผู้มีชื่อเสียงด้วย) ที่แสดงออกซึ่งความไม่พอใจกับนโยบายที่กระทบกับชีวิตและสุขภาพของพวกเขาถูกด้อยค่าว่าเป็นเพียงคนโกหกและบิดเบือนข้อมูล (เพราะสร้างเฟกนิวส์) ทั้งๆ ที่หลักฐานเชิงประจักษ์ก็ปรากฏให้เห็นว่าประชาชนกำลังประสบกับความยากลำบากอย่างไร วัคซีนที่มีคุณภาพมีให้พอเพียงหรือไม่

อันที่จริง การพยายามข่มขวัญและดิสเครดิตผู้ท้าทายอำนาจรัฐด้วยวิธีต่างๆ ในช่วงความนิยมขาลงไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในช่วงความนิยมขาลงก่อนจะถูกรัฐประหารในปี 2549 ก็ปรากฏว่ามีการฟ้องหมิ่นประมาททั้งสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนรวมหลายร้อยล้านบาท ยังไม่รวมการครอบครองซื้อสื่อหรือการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งตอนนั้นความพยายามเหล่านี้ก็ค่อนข้างจะประสบผลในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว เพราะคนจำนวนไม่น้อยไม่อยากเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือถูกปิดรายการ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เลยเงียบลงไปประมาณหนึ่ง

แต่ด้วยภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉม ทำให้การมีส่วนร่วมและการแสดงออกผ่านพื้นที่ออนไลน์ขยายขอบเขตเป็นเครือข่ายที่โยงใยกว้างขวางจนสะสมต้นทุนทางสังคมร่วมกันได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหล่านี้ประกอบกับสภาพการแบ่งขั้วทางความคิดและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สืบเนื่องยาวนานในสังคมไทยทำให้การสถาปนาวาทกรรมเฟกนิวส์อาจไม่ประสบผลในระดับที่เทียบเคียงกันกับกรณีอดีต เพราะความไม่ทนกำลังแปรเปลี่ยนเป็นความไม่กลัว และนำไปสู่วาทกรรมแบบต่อต้านซึ่งสามารถขยายผลที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่อไป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save