fbpx

‘6 วันหลังรัสเซียก่อสงคราม เราก็หนีออกมา’ ดีนา คาราแมน และ วลาดิเมียร์ นาดีน ว่าด้วยเสรีภาพ ความขัดแย้งและโฆษณาชวนเชื่อ

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้วหลังจากที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดฉากออกคำสั่งปฏิบัติการทางทหารในยูเครนตะวันออก ก่อนบุกรุกยูเครนเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น กลายเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้งจากสองฝั่งทะยานขึ้นแตะหลักหมื่นโดยปราศจากท่าทีว่าจะสงบลง

6 วันหลังปูตินออกคำสั่ง ดีนา คาราแมน และ วลาดิเมียร์ นาดีน ผู้กำกับภาพยนตร์และโปรดิวเซอร์ ตัดสินใจออกเดินทางจากรัสเซีย ประเทศบ้านเกิด มุ่งหน้าสู่อีกฟากหนึ่งของโลก ปราศจากทางเลือกอื่นให้ไปในเมื่ออยู่ต่อก็มีสิทธิถูกจับเพราะประท้วงสงคราม หรือเลวร้ายกว่านั้นอาจหมายถึงการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ประจำการยังชายแดนหนาวเหน็บไกลโพ้นในความขัดแย้งที่พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้เห็นด้วย

คาราแมนและนาดีนพบที่พำนักแห่งใหม่ในเมืองไทเป ไต้หวัน ที่ซึ่งพวกเขาหาพื้นที่เพื่อสร้างงานศิลปะชิ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโออาร์ตหรือสารคดี และต้นปีที่ผ่านมานี้ พวกเขามีโอกาสฉาย Daily News – The Chronicle of Our Days (2019) สารคดีที่เล่าถึงโฆษณาชวนเชื่อของสหภาพโซเวียตผ่านฟุตเทจข่าวจำนวนมหาศาล และ Detours (2021) สำรวจเรือนร่างของมอสโกซึ่งดูราวกับว่าถูกรัฐจ้องมองตลอดเวลา โดยภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเข้าฉายที่โปรแกรมภาพยนตร์พิเศษ ‘A Chronicle of our Detours พงศาวดารสวรรค์เบี่ยง’ ที่ Doc Club & Pub.

101 สนทนากับคาราแมนและนาดีน ถึงการต่อต้านสงครามและชีวิตหลังจำต้องทอดทิ้งทุกอย่างไว้ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เพื่อจะออกเดินทางมาสู่เสรีภาพในแห่งหนใหม่ ตลอดจนโฆษณาชวนเชื่อที่ยังกลืนกิน ควบคุมผู้คนได้จำนวนมหาศาลและเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวรัสเซียจำนวนมากเห็นดีเห็นงามกับการก่อสงครามครั้งนี้

คุณออกมาจากรัสเซียหลังสงครามปะทุขึ้นไม่กี่วัน ตอนไหนที่ตัดสินใจว่าอยู่ไม่ได้แล้ว

นาดีน – เราออกมาจากรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคม 2022 คือ 6 วันให้หลังจากที่รัสเซียบุกรุกเข้ายูเครนเต็มรูปแบบ มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เราต้องออกมา ประการแรก เราเห็นว่าสถานการณ์เริ่มอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ หากเรายังดั้นด้นจะอยู่ในรัสเซียต่อ การปะทุขึ้นของสงครามทำให้เราตระหนกกันมาก ประการที่สอง ผมเป็นผู้ชาย อายุยังน้อย และมีสิทธิที่จะถูกเกณฑ์ให้ไปออกรบร่วมกับกองทัพซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต่อต้านอย่างที่สุด ประการที่สามคือผมไม่เห็นทางที่เราจะประท้วงอะไรได้เลย แน่นอนแหละว่าพอเกิดสงครามขึ้น เราพยายามไปประท้วงต่อต้านสงครามอยู่บ้าง แต่ก็เห็นกันชัดๆ ว่ามีคนโดนจับไปตั้งหลายคน 

เราสองคนกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นมากๆ มีการใช้กฎหมายต่อต้านการประท้วงด้วย เพราะฉะนั้นคุณไม่มีทางแสดงออกได้เลยว่าต่อต้านการทำสงครามของรัสเซียต่อยูเครน มันอาจจะเป็นระยะเวลาแค่ 6 วันก็จริง แต่ผมบอกได้เลยว่าเป็น 6 วันที่โคตรเครียด เราจึงต้องจากมา

คาราแมน – ฉันยังจำความกลัวเยือกแบบนั้นได้อยู่เลย ไม่เคยพบเคยเห็นสถานการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิตแม้แต่ครั้งเดียว มันเป็น 6 วันที่ตึงเครียดเหลือเกิน เหมือนว่าเช้าวันหนึ่ง คุณลืมตาตื่นขึ้นมา เปิดโทรศัพท์เพื่ออ่านข่าวแล้วเห็นว่าประเทศตัวเองเดินหน้าทำสงครามเต็มรูปแบบ 

แต่การตัดสินใจออกจากประเทศมาด้วยกันมันก็ดีกว่าอยู่เพียงลำพัง ที่ผ่านมา เราสองคนทำงานภาพยนตร์ด้วยกัน มีโปรเจกต์หลายอย่างที่ร่วมทำมาด้วยกัน เพราะฉะนั้น การอยู่ด้วยกันจึงเป็นผลดีต่อพวกเรามากๆ สุดท้ายเราจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะออกมาจากรัสเซีย และเอาเข้าจริง ฉันว่าหากฉันออกมาคนเดียวแล้วคงมาได้ไม่ไกลขนาดนี้หรอก 

ตอนนั้นมีสัญญาณเตือนอะไรไหมว่ารัสเซียจะประกาศทำสงครามใหญ่

คาราแมน – มีอยู่นะ แต่มันก็ไม่ได้ชัดเจนแบบว่า “เดี๋ยวเราจะก่อสงครามแล้ว” อะไรแบบนั้น 

นาดีน – เราก็เห็นว่ารัฐเรียกกำลังพลทหารในกองทัพไปประจำการแถวชายแดนประเทศ หรือประกาศเรียกใช้อาวุธสงคราม ด้านหนึ่งเราก็เห็นว่ามันมีความขัดแย้งหนักหนาบางอย่าง แต่ไม่มีใครเชื่อได้ลงหรอกว่าสงครามจะเกิดขึ้นจริงๆ ตอนแรกคนก็เชื่อกันไปว่ารัฐบาลคงแค่พยายามเบ่งพลัง โชว์ว่าตัวเองมีปืน มีอาวุธเท่านั้น

Daily News – The Chronicle of Our Days (2019)

ที่ผ่านมาคุณเคยเห็นขัดแย้งกับนโยบายของปูตินบ้างไหม

นาดีน – พูดก็พูดนะ ตลอด 20 ที่ผ่านมานี้ ผมว่าสำนึกทางการเมืองของผมไม่เคยเห็นด้วยกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของรัฐบาลรัสเซียเลยแม้แต่นิด เราก็พยายามทำโปรเจกต์ต่างๆ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลบ้าง แต่มองย้อนไปแล้วเราก็ไร้เดียงสากับเรื่องนี้กันไม่น้อยเลยนะ ที่เชื่อว่าสิ่งที่เราทำตอนนั้นจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในสังคมได้ในทันที ปีก่อนๆ เราเคยเข้าร่วมงานประท้วงเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างได้ 

หนังของคุณเล่าเรื่องโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตในยุคโจเซฟ สตาลิน จนถึงตอนนี้รัสเซียยังมีโฆษณาชวนเชื่ออยู่ไหม ถ้ามี มันหน้าตาแบบไหน

นาดีน – มีสิ อย่างเดือดเลยด้วย รัฐบาลควบคุมสื่อแทบจะเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว 

คาราแมน – ก่อนหน้านี้สื่อในรัสเซียค่อนข้างต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนะ อย่างในหนัง คุณจะพบว่าภาพที่ปรากฏคือภาพจากรัฐโดยสมบูรณ์ เนื่องจากสมัยนั้นเป็นยุคที่ประชาชนยังไม่มีกล้องเป็นของตัวเอง ทุกสิ่งที่ปรากฏในนั้นจึงผ่านการจัดเตรียมมาหมดเลย และโฆษณาชวนเชื่อก็เข้มข้นมากๆ ในยุคโซเวียตภายใต้การปกครองของสตาลิน ส่วนใหญ่แล้วโฆษณาชวนเชื่อในยุคนั้นมีขึ้นเพื่อชักจูงให้คนเห็นว่าประเทศเรากำลังก้าวหน้า เป็นภาพสังคมคอมมิวนิสต์อันสมบูรณ์แบบ 

ตอนนี้รัสเซียก็มีโฆษณาชวนเชื่ออยู่ แต่ทั้งที่เวลาล่วงผ่านจากอดีตมานานขนาดนั้น มันกลับไม่ได้ต่างไปจากเดิมเท่าไหร่ ยังคงตรงไปตรงมาและไม่ซับซ้อน แต่มันยังได้ผลด้วยนี่สิ มันเลยแปลว่ารัฐบาลก็ยังควบคุมผู้คนได้อยู่ดี

นาดีน – ใช่ มันก็ยังมีสื่ออิสระอยู่ แต่อย่างตอนนี้ข่าวในโทรทัศน์ก็กลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาลเต็มตัว – อันที่จริงก็เป็นมาหลายปีแล้ว – แต่มันก็ยังมีสื่อออนไลน์บางเจ้าที่ยังเขียนงานอิสระเพื่อให้คนอ่านได้เอาไปใช้อ้างอิงได้ แต่สื่อจำพวกนี้ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร โดยเฉพาะหากเทียบกับจำนวนประชากรมหาศาลในรัสเซีย มันจึงมีคนรัสเซียเพียงแค่หยิบมือเดียวที่มีโอกาสได้อ่านหรือเข้าถึงสื่อเหล่านี้ 

หัวใจสำคัญของการเข้าถึงโฆษณาชวนเชื่อก็คือโทรทัศน์ ทุกวันนี้มีแต่ข่าวโฆษณาชวนเชื่อเต็มไปหมด และเป็นแบบนี้มาหลายปีมากๆ จนเป็นเหตุผลว่าทำไมการที่รัฐบาลไปก่อสงครามนั้นจึงได้รับความเห็นชอบจากผู้คนง่ายดายเหลือเกิน แต่ผมก็ไม่ได้ดูโทรทัศน์บ่อยขนาดนั้นหรอก ที่บ้านของผมในมอสโกก็ไม่มีโทรทัศน์ด้วยซ้ำไป แต่แม้คุณจะไม่ได้ดูโทรทัศน์เท่าไหร่แล้ว คนรอบๆ ตัวคุณก็ยังดูอยู่ แล้วดูทุกวันด้วย การดูโทรทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเขา 

คาราแมน – คนอายุเยอะส่วนใหญ่ชอบดูโทรทัศน์ และพวกเขาก็มักจะคล้อยตามไปกับโฆษณาชวนเชื่อได้ง่ายด้วย 

ส่วนใหญ่แล้วคนสูงอายุในรัสเซียที่เติบโตในยุคโซเวียตมีความคิดแบบไหน

คาราแมน – ประมาณว่า “เราเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ เรากล้าหาญและประสบความสำเร็จในสงครามโลกครั้งที่สองด้วยการกำราบฮิตเลอร์ได้” ทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังใช้เส้นเรื่องแบบนี้ในโฆษณาชวนเชื่ออยู่นะ ถึงขั้นใช้เป็นเหตุผลหลักในการก่อสงครามกับยูเครนด้วย

นาดีน – รัฐบาลรัสเซียบอกว่ามียิวอยู่ในยูเครน ลำพังแค่เหตุผลนี้เหตุผลเดียวก็ปั่นคนรัสเซียให้เห็นด้วยกับการบุกรุกนี้ได้มหาศาลแล้ว เพราะคนรัสเซียที่เกิดทันยุคสงครามโลกเจ็บปวดกับเรื่องนาซีมาก พ่อแม่ของหลายๆ คนจากไปเพราะนาซี หรือเติบโตด้วยความชอกช้ำจากผลพวงของสงครามและการสู้รบในยุคนั้น แต่กับคนอายุน้อยๆ หรือคนรุ่นผม เรารู้ว่าไม่มีนาซีในยูเครนหรอก 

แต่นี่คือความเป็นขวาในรัสเซีย นอกจากนี้ก็มีลักษณะบางประการ เช่น การสนับสนุนปูติน, การเคร่งศาสนาคริสต์ออร์โธด็อกซ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เชื่อมโยงกับกองทัพด้วย คุณจะพบว่ารัสเซียออร์โธด็อกซ์สนับสนุนสงครามเหลือเกิน อย่างเมื่อสัก 3 ปีก่อน พวกเขาสร้างโบสถ์สักแห่งขึ้นใหม่ เรียกกันว่า The Main Cathedral of the Russian Armed Forces มีภาพทหารจากสงครามโลกอยู่เคียงข้างภาพนักบุญ เพราะทั้งคู่เป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละ

มีบางสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ตกตะกอนหรือหลงเหลือมาจากยุคโซเวียตถึงปัจจุบันไหม

นาดีน – ผมว่ามันอยู่ในระบบการศึกษา การปกครองแบบลำดับชั้นในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักเรียนกับคุณครู เป็นต้น นักเรียนจะถามคำถามหรือแย้งอะไรคุณครูไม่ได้เลย โครงสร้างแบบนี้แข็งแรงมากในสังคมรัสเซีย แน่นอนว่ามีคนที่มองเห็นปัญหาและพยายามกำจัดโครงสร้างแบบนี้ไม่ให้มันดำรงอยู่ต่อ แต่ถึงที่สุด คุณก็ยังสัมผัสมันได้อยู่ดีเวลาอยู่ในสังคม

คาราแมน – เห็นด้วยเลย ฉันว่ามันอยู่ในระบบการศึกษา อยู่ในสังคม อยู่มาตั้งแต่ยุคโซเวียต และยังอยู่เช่นนี้เรื่อยมาจนปัจจุบัน

นาดีน – รัฐบาลเรามีคนที่เป็นอดีต KGB (คณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐของสหภาพโซเวียต) หรือทำงานราชการลับมาก่อน ดังนั้นวิธีที่เขามองโลกทั้งใบก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือมองว่าทุกคนคือศัตรูเสมอ

Detours (2021)

หนังทั้งสองเรื่องของคุณฉายภาพมอสโกในอดีตและปัจจุบัน คุณว่ามันมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม 

คาราแมน – ฉันเกิดและโตในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับสองของรัสเซีย ชีวิตต่างจากในมอสโกนิดหน่อยนะ มันมีวังสวยงามเยอะมาก แล้วก็มีสิ่งที่เป็นมรดกจากจักรวรรดิฝรั่งเศสด้วย มอสโกต่างไปน่ะ โครงสร้างเมืองก็ไม่เหมือนกัน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้ภาพเหมือนพิพิธภัณฑ์มากกว่า มันเป็นเมืองที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นเมืองหลวงในยุคจักรวรรดิ มันเลยลอกเลียนความเป็นยุโรปมาพอสมควร 

นาดีน – มอสโกเป็นเมืองใหญ่ วุ่นวายมากกว่า คือรัสเซียเป็นประเทศรวมศูนย์มากๆ และมอสโกคือศูนย์กลางของทุกสิ่ง ภาคเศรษฐกิจใหญ่ยักษ์ก็กระจุกอยู่ในมอสโกนี่แหละ แล้วผมว่ามอสโกพัฒนาขึ้นมาก คุณจะเห็นว่าในเรื่อง Detours กล้องวงจรปิดจับภาพผู้คนทุกที่ ซึ่งด้านหนึ่งเท่ากับว่ารัฐสอดส่องคุณตลอดเวลา และนี่คือสิ่งที่ทำให้คนออกมาประท้วงไม่ได้ เพราะถ้าออกมา รัฐก็รู้ทันทีว่าคุณคือใคร 

คาราแมน – มอสโกยังมีสถาปัตยกรรมจากยุคโซเวียตอยู่มาก ซึ่งฉันว่าก็สำคัญนะเพราะมันส่งอิทธิพลต่อวิธีที่คุณมองและรู้สึกต่อเมืองทั้งเมืองผ่านอาคารบ้านเรือนต่างๆ ในยุคโซเวียตซึ่งกินเวลานับทศวรรษก็มีการสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักมีลักษณะที่พูดถึงความยิ่งใหญ่ของความเป็นโซเวียตทั้งสิ้น และด้านหนึ่ง ฉันว่ามันทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กตัวน้อยเวลาอยู่ท่ามกลางเมืองมอสโก

นาดีน – จริงๆ นี่เป็นครั้งแรกเลยที่เราฉายหนังสองเรื่องนี้ต่อกัน ปกติเราฉายแยก ก็เลยได้เห็นว่ามอสโกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจคือผมเองก็สังเกตว่าพื้นที่ในมอสโกที่หนังทั้งสองเรื่องนำเสนอนั้นเป็นพื้นที่เดียวกัน แค่คนละเวลา แน่นอนว่ามันก็มีอาคารหลายแห่งที่หักพังลงไปแล้ว แต่ความเป็นโซเวียตเก่าแก่ไม่ได้พังลงไปด้วย มันฝังตัวอยู่ในมอสโกทั้งเมืองเลย ผมรู้สึกแบบนั้นนะ

ก่อนหน้านี้ คิริลล์ เซเรเบรนนิคอฟ เพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงปาล์มทองคำจาก Tchaikovsky’s Wife (2022) เขาเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่เดือดร้อนเพราะรัฐบาลปูติน เช่น ถูกกักบริเวณในบ้าน (house arrest) สถานการณ์ระหว่างศิลปินกับรัฐบาลรัสเซียตอนนี้เป็นอย่างไร

นาดีน – เซเรเบรนนิคอฟถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในบ้านตัวเองราว 2 ปีครึ่ง เกือบ 3 ปีได้ครับ ตัวผมเองก็เคยผ่านงานแสดงมาก่อน เพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็แสดงละครเวทีให้กับเซเรเบรนนิคอฟ เพราะงั้นผมเลยรู้สึกว่าการที่เขาถูกจับและถูกสั่งคุมขังนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผมมาก และเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลกระทบทางความรู้สึกต่อหลายๆ คนด้วย มันแสดงให้เห็นว่าการที่รัฐบาลจะสั่งคุมขัง หรือสั่งจำกัดพื้นที่ใครสักคนนั้นเป็นเรื่องง่ายดายเสียเหลือเกิน แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำงานเชิงการเมืองอะไรเลยก็ตาม คุณแค่ทำละครเวทีหรือกำกับภาพยนตร์ก็มีสิทธิถูกรัฐสั่งขังเอาได้ง่ายๆ แบบนั้น มันเลยเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าสิทธิต่างๆ ของเราถูกริดรอนมากขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์ก็ดูจะแย่ลงๆ ทุกทีโดยเฉพาะหากมองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะคุณเริ่มรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ใกล้ตัวคุณเข้ามาทุกที ทั้งผมและเซเรเบรนนิคอฟทำงานอยู่ในแวดวงเดียวกัน เขาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่ผมเรียน ทำงานร่วมกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งของผม 

นอกจากนี้ ผมว่ามันทำให้เรารู้สึกว่าการแสดงออกของเราหดแคบลงเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้มีคนมาบอกโดยตรงว่าไม่อยากให้เราพูดหรือแสดงความคิดเห็น แต่อาจจะเป็นการบอกทางอ้อมมากกว่า ประมาณว่า “ฉันว่านายอย่าพูดหรืออย่าทำแบบนั้นแบบนี้จะดีกว่านะ”

เหมือนเซนเซอร์ตัวเองใช่ไหม

นาดีน – ทำนองนั้น ผมเองก็พยายามตอบคำถามตัวเองอยู่ว่าที่ผ่านมา ผมเคยเซนเซอร์ตัวเองบ้างไหมเพราะไม่อยากทำแบบนั้น และพยายามอย่างยิ่งด้วยที่จะไม่ให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเอง ซึ่งผมก็มองว่าตัวเองทำได้ดีที่จะไม่ให้เกิดการเซนเซอร์กับตัวเองนะ แต่พอมีคนทักขึ้นมาหน่อย เราก็จะรู้สึกแย่ขึ้นมาแล้ว ยิ่งสมมติมีคนมาบอกว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วเดี๋ยวหนังที่นายทำก็จะไม่ได้ถูกฉายหรอก คำถามคือแล้วจะเหลือทางเลือกให้เรากี่ทาง เราอาจจะเห็นด้วยกับพวกเขาก็ได้ หรือยืนหยัดทำหนังอย่างที่เราอยากทำต่อไป ดังนั้นผมเลยรู้สึกการเผชิญหน้าสถานการณ์เหล่านี้มันยากมากๆ 

ผมว่าศิลปะอยู่ในเนื้อตัวเรา ก็แน่ล่ะว่ารัฐบาลพยายามรักษาอำนาจของตัวเองด้วยการปิดปากพวกเรา แต่คุณก็จะตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้อยู่ดี 

น่าจะเป็นเวลา 10 เดือนแล้วที่คุณย้ายออกมาอยู่ในไทเป ชีวิตในไทเปเป็นอย่างไรบ้าง

นาดีน – ชีวิตเปลี่ยนไปมหาศาล นั่นก็แน่นอนอยู่แล้ว เราย้ายมาอยู่ยังอีกซีกหนึ่งของโลกที่เราก็ไม่เคยมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป และนี่ก็ยากกับเราเอามากๆ แต่เราก็พบว่าไต้หวันเป็นเหมือนบ้านใหม่ของเรา มีคนที่คอยสนับสนุนสิ่งที่เราทำ ผู้คนมีสำนึกทางการเมืองที่เข้มแข็งมากๆ และก็สู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยอย่างหนักด้วยเช่นกัน ซึ่งผมเคารพพวกเขามากๆ ยิ่งเมื่อมองว่าสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่ช่างยากลำบากขนาดนี้ด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเราไปถึงไต้หวันและทำงานที่นั่น เราก็ไม่พบปัญหาเรื่องการเซนเซอร์ใดๆ เลย เราพบว่าบรรยากาศบ้านเมืองทั้งการเมืองและสังคมของไต้หวันมีลักษณะเฉพาะตัวเหลือเกิน รวมทั้งผู้คนก็ต้อนรับเราอย่างดีด้วย

ตอนนี้เราหวังจะใช้ชีวิตที่นั่นต่อไปอีกระยะหนึ่ง การคะเนอนาคตของตัวเองในเวลานี้ยากมากๆ ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป และการย้ายไปยังประเทศอื่นก็ยังเป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ เพราะต้องมีการทำเอกสารเยอะแยะไปหมด ดังนั้นในเวลานี้ ไต้หวันเลยเป็นที่ที่เราอยากอยู่ไปอีกพัก นอกจากนี้ สังคมศิลปะบ้านเขาก็คึกคักและอบอุ่นมากด้วย 

ถ้าได้กลับไปรัสเซียตอนนี้ จะทำหนังว่าด้วยอะไร

นาดีน – (คิดนาน) ถ้ามีโอกาสได้กลับไปเหรอ ผมอาจจะบันทึกภาพเหตุการณ์รัสเซียยุคหลังสงครามกับยูเครน ผมไม่รู้เลยว่าถึงตอนนั้นแล้วรัสเซียจะหน้าตาเป็นอย่างไร อาจจะมีสงครามกลางเมืองก็ได้ 

คาราแมน – นี่กำลังพูดถึงอนาคตและความเป็นไปได้ของรัสเซียอยู่หรือเปล่า

นาดีน – ไม่สิ เพราะคำถามคือถ้าผมมีโอกาสไปรัสเซียตอนนี้ ผมจะทำอะไรบ้าง แต่คำตอบคือผมไปในตอนนี้ไม่ได้หรอก ดังนั้นก็เลยตอบไม่ได้ หากจะไปได้จริงๆ ก็ต้องวางบนเงื่อนไขว่าสถานการณ์ในรัสเซียเปลี่ยนไปแล้ว คือผมกลับไปแล้วยังปลอดภัยดี แต่เรื่องของเรื่องคือเวลานี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกลับไปอย่างปลอดภัย เลยได้แต่จินตนาการถึงการทำหนังที่ว่าด้วยรัสเซียหลังสงคราม ว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร ความขัดแย้งที่ปรากฏในสังคมมีหน้าตาแบบไหน แน่ล่ะว่าถึงเวลานั้นจริงๆ การกลับไปก็อาจไม่ได้ปลอดภัยนัก แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ไม่ต้องถูกส่งไปสงคราม 

คาราแมน – อาจจะสำรวจสภาพสังคมและผู้คน ว่าหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้วพวกเขาเปลี่ยนไปมากแค่ไหน มีอะไรที่ต่างไปจากเดิมบ้าง

สถานการณ์หลังสงครามแบบไหนที่คิดว่าหากมีโอกาสก็อยากสำรวจ

คาราแมน – ก่อนนี้ มันมีช่วงหนึ่งเลยที่หลายคนไม่สนใจเรื่องสงคราม เหมือนว่าพวกเขาอยู่ในโลกฟองสบู่ของตัวเอง ไม่แยแสว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่มีทางหรอก ไม่ด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมก็จะทะลวงเข้าไปยังโลกฟองสบู่ของพวกเขาอยู่ดี ก่อนหน้าสงคราม พวกเขาอาจไม่สนใจการเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่พอเกิดสงครามขึ้น พวกเขาก็ต้องออกมาจากฟองสบู่ของตัวเองเพื่อหาทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์ตรงหน้า

นาดีน – บางคนก็สนับสนุนรัฐบาลมาโดยตลอด ทำสิ่งที่รัฐบอกให้ทำ แต่พอสงครามกระทบชีวิต พวกเขาก็เริ่มมาพินิจพิเคราะห์ดูถึงความชอบธรรมต่างๆ หลายคนมามีสำนึกทางการเมืองเอาก็ตอนที่ผลจากสงครามมากระทบชีวิตนี่เอง ที่ผ่านมาอาจไม่เคยตั้งคำถามถึงรัฐบาลสักครั้ง แต่ตอนนี้ พวกเขาก็เพิ่งมาตระหนักได้ว่าถึงเวลาต้องหัดตั้งคำถาม ตื่นตัวกันได้สักที เพราะเมื่อประเทศคุณไปก่อสงคราม คุณก็ไม่มีทางใช้ชีวิตแบบที่เคยใช้ต่อไปได้หรอก คุณต้องเริ่มถามตัวเองบ้างแล้วว่าไอ้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ยังไง เราจะหาทางจัดการสถานการณ์ตรงหน้าได้ไหม หรือที่ผ่านมา เราเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดสงครามนี้บ้างหรือเปล่า เราทำอะไรลงไป

ตอนแรกๆ คุณอาจบอกว่า สนับสนุนสงครามนะ แต่พอสงครามมาถึงตัวคุณเข้าจริงๆ เช่น ลูกชายถูกเกณฑ์ไปรบ คุณก็คงเริ่มตั้งคำถามแล้ว แต่แน่นอนว่าก็มีบ้างเหมือนกันที่หลายคนก็สนับสนุนให้คนในครอบครัวตัวเองถูกเกณฑ์ไปเข้ากองทัพเพื่อออกรบ แต่พอถึงเวลาจริงๆ คุณก็อดกังวลไม่ได้หรอก 

กับบางคนก็ต้องรอให้ถึงตัวก่อนค่อยรู้สึก 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save