fbpx

ข้อคิดต่อตัวคูณทวีทางการคลังและภาษีที่ได้จาก ‘นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล’

ในบทความที่แล้ว ผู้เขียนชวนมองวิวาทะสองฝั่งที่มีต่อนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป บทความนี้จึงชวนวิเคราะห์ในรายละเอียดของนโยบายตามที่พรรคเพื่อไทยว่าไว้กันต่อ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่นโยบายดังกล่าวจะบรรลุผลได้จริงตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าหมายไว้

ในเอกสารแจกแจงรายละเอียดนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคเพื่อไทยได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่จะใช้สำหรับการดำเนินนโยบายดังกล่าวไว้ว่า ใช้วงเงินทั้งสิ้น 560,000 ล้านบาท โดยมีที่มาจาก ‘การบริหารงบประมาณและระบบภาษี’ ซึ่งทางพรรคได้แจกแจงเพิ่มเติมถึงแหล่งรายได้ ดังนี้

  1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 เท่ากับ 260,000 ล้านบาท
  2. ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย มูลค่า 100,000 ล้านบาท
  3. การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน 110,000 ล้านบาท
  4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท

แหล่งรายได้สี่ช่องทางข้างต้นตอกย้ำให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้คือการใช้เงินงบประมาณมาแจกให้กับประชาชนผ่านช่องทาง ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ และเป็นนโยบายการคลังที่มีนัยต่อการจัดเก็บภาษีจากประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากสี่ช่องทางนี้ ช่องทางสำคัญที่อยากชวนคิดคือแหล่งรายได้ในข้อที่ 2 นั่นคือช่องทางการใช้ภาษีที่ได้มาจาก ‘ผลคูณต่อเศรษฐกิจ’ ที่มีมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า พรรคเพื่อไทยประเมินมูลค่าของผลคูณสูงเกินจริงไปมากหรือไม่

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้เป็นการผันเงินจากรัฐบาลสู่กระเป๋าประชาชน โดยหวังว่าการใช้จ่ายของเอกชนจะสร้างผลต่อการผลิตและรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ผ่านการหมุนเวียนของเม็ดเงินของโครงการในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งเม็ดเงินมีจำนวนรอบที่หมุนเวียนมากขนาดไหน มูลค่าการผลิตและรายได้ก็จะยิ่งเติบโตมากเป็นทวีคูณ โดยนักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ตัวคูณทวีทางการคลัง’ (fiscal multiplier)

เพื่อให้เห็นภาพการทำงานของตัวคูณทวีทางการคลัง ขอสมมติง่ายๆ ว่า โดยปกติคนไทยใช้เงินในสัดส่วนร้อยละ 20 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปกับการจับจ่ายซื้อสินค้า ดังนั้นหากรัฐบาลผันเงิน 100 บาทเข้ากระเป๋าประชาชน เงินจำนวน 20 บาท จะถูกนำไปใช้เพื่อซื้อสินค้า ขณะที่เงินส่วนที่เหลือ (80 บาท) จะถูกเก็บออมไว้และไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่าย หรือเรียกได้ว่าถูกกันออกไปจากการหมุนเวียนในเศรษฐกิจชั่วระยะหนึ่ง

ในส่วนเงิน 20 บาทที่ถูกนำไปใช้จ่ายจะกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกรอบ หลังจากที่พ่อค้าผู้รับเงินจากการใช้จ่ายในรอบแรกนำเงินจำนวนนั้นไปใช้จ่ายต่อ ซึ่งตามข้อสมมติข้างต้น พ่อค้าก็จะใช้จ่ายในจำนวนร้อยละ 20 ของเงิน 20 บาท หรือคิดเป็น 4 บาท เพื่อนำไปซื้อสินค้าเช่นกัน ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดการใช้จ่ายรอบที่สอง

ผู้อ่านคงจินตนาการกันต่อได้ว่า หลังจากนี้จะมีการใช้จ่ายเกิดขึ้นตามมาเป็นรอบที่สาม รอบที่สี่ ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ โดยเงินที่ใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละรอบมีปริมาณเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินหมุนเวียนในรอบก่อนหน้า ดังนั้นปริมาณเงินที่ส่งต่อไปยังรอบการใช้จ่ายถัดไปจะลดน้อยลงเป็นลำดับ จนกลายเป็น 0 ในที่สุด

เมื่อรวมมูลค่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากเม็ดเงิน 100 บาทที่รัฐบาลเติมเข้าในระบบเศรษฐกิจในตอนต้น จะพบว่าเงินก้อนดังกล่าวได้สร้างให้เกิดมีมูลค่าธุรกรรมเศรษฐกิจรวมทั้งหมดเท่ากับ

100 + 20 + 4 + 0.8 +…

จากความรู้คณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา เราจะพบว่าผลรวมของลำดับตัวเลขข้างต้นมีกฎเกณฑ์ที่แสดงรูปความสัมพันธ์ได้ดังนี้

100 + (0.2 x 100)+ (0.2 x (0.2 x 100)) + … + (0.2 x (0.2 x…x 0.2 x 100)) +..

ซึ่งเราสามารถคำนวณค่าผลรวมได้เท่ากับ 1/(1-0.2) x 100 หรือคิดเป็น 125 บาท

ดังนั้นตัวคูณทวีทางการคลังในตัวอย่างนี้จึงมีค่าเท่ากับ 1.25 ซึ่งมีความหมายว่า เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งให้ประชาชนจับจ่ายสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจมากเป็น 1.25 เท่าของจำนวนที่รัฐได้ใส่เข้าไป

ตัวคูณทวีจะมีค่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ ‘สัดส่วนการใช้จ่ายจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น’ หรือที่เรียกกันในทางวิชาการว่า marginal propensity to consume (MPC) โดยในตัวอย่างข้างต้น เราได้สมมติให้ MPC มีค่าเท่ากับ 0.2 (หรือร้อยละ 20) ซึ่งยิ่ง MPC มีค่ามากเท่าใด ค่าตัวคูณทวีก็จะมากตามไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ตัวเลขภาษีที่พรรคเพื่อไทยคาดว่าจะเก็บได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท ถ้าหากจะเหมาว่าภาษีที่จัดเก็บได้นี้มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด เราจะสามารถคำนวณย้อนกลับได้ว่า มูลค่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่นำมาซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 100,000 ล้านบาทนั้นเป็นเท่าไหร่ โดยอ้างอิงจากอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันที่เท่ากับร้อยละ 7 ซึ่งพบว่าต้องเก็บจากมูลค่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ 1.428 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบตัวเลขนี้กับวงเงินงบประมาณที่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการจำนวน 5.6 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าตัวคูณทวีทางการคลังจะเท่ากับ 2.55 กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกๆ 1 บาทที่รัฐบาลใส่เข้าไปในโครงการจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายและรายได้มูลค่า 2.55 บาท

และจากค่าตัวคูณทวีทางการคลังนี้ เราสามารถคำนวณย้อนกลับถึงค่า MPC ได้ว่าต้องมีค่าสูงถึงร้อยละ 60.8 เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ค่าตัวคูณทวี 2.55 ที่อ้างอิงมาจากตัวเลขรายได้ภาษีที่พรรคเพื่อไทยคาดการณ์นี้ ก็สูงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เคยพบในงานวิจัยที่ผ่านๆ มาอีกด้วย

จากรายงานของ Batini, Eyraud, Forni and Weber (2014) ที่ได้สรุปข้อค้นพบจากงานวิจัยก่อนหน้า ล้วนพบว่าค่าตัวคูณทวีในช่วงปีแรกของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐไม่ได้มีค่าสูงเท่าใด โดยในงานศึกษาที่ใช้ข้อมูลของประเทศสหรัฐฯ พบว่าค่าที่ประมาณได้ของตัวคูณทวีอยู่ระหว่าง 0.3-1.2

ระเบียบวิธีการวิจัยของงานศึกษาส่วนใหญ่จะอาศัยข้อมูลระดับมหภาค อาทิงานของ Ramey (2011) ใช้ข้อมูลรายจ่ายด้านการทหารของสหรัฐฯช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งครอบคลุมช่วงสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ช่วงที่มีการตอบโต้สหภาพโซเวียตในการรุกรานอัฟกานิสถาน รวมทั้งเหตุการณ์ 9/11

ในทุกเหตุการณ์ที่ระบุนี้ รายจ่ายด้านการทหารปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าภาวะปกติมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักวิจัยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลอนุกรมเวลาเพื่อประเมินผลกระทบที่ทำให้ผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ในระยะเวลาต่างๆ มีการปรับตัวภายหลังจากที่เกิดรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งงานศึกษาของ Ramey (2011) พบว่าค่าตัวคูณทวีทางการคลังในสี่ช่วงเวลาดังกล่าวมีค่าอยู่ระหว่าง 1.1–1.2

นอกจากข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค มีงานศึกษาอีกฟากฝั่งหนึ่งที่อาศัยข้อมูลระดับจุลภาคจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างระดับครัวเรือน มาใช้วิเคราะห์ผลของนโยบายแบบเฉพาะเจาะจง อาทิ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ดำเนินผ่านการคืนภาษีในปี 2001 เพื่อค้นหาค่า MPC และค่าตัวคูณทวีทางการคลัง

กล่าวคือในปีดังกล่าวมีการปฏิรูปภาษีภายใต้กฎหมาย Economic Growth and Tax Relief Reconciliation Act (EGTRRA) ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน โดยในการปฏิรูปภาษีนี้ อัตราภาษีรายได้ของรัฐบาลกลางในกลุ่มรายได้ระดับล่างสุดจะลดลงจากร้อยละ 15 เหลือเพียงร้อยละ 10 และมีผลย้อนหลังกลับไปถึงเดือนมกราคม 2001 ด้วย

ดังนั้น คนที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าวได้รับเงินภาษีที่จ่ายไปคืนกลับมาภายในปีนั้นเลย โดยรัฐบาลส่งเช็คเงินคืนภาษีให้กับคนกลุ่มดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2001 และจะแจ้งลำดับก่อนหลังของการได้รับเช็คให้ทราบก่อนในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังส่งจดหมายไปยังผู้ที่จะได้รับเช็คคืนภาษี โดยแจ้งให้แต่ละรายทราบว่าเช็คจะส่งไปถึงมือผู้รับภายในสัปดาห์ใดอีกด้วย

ในการคืนเงินภาษีครั้งนี้มีผู้เสียภาษีที่ได้รับเช็คทั้งหมด 92 ล้านคน โดยมูลค่าเงินคืนสูงสุดอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อคู่สมรส คิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.4% ของ GDP ในปี 2001

การคืนภาษีครั้งนี้จึงมีความคล้ายคลึงกับนโยบายผันเงินเข้ากระเป๋าประชาชนตามที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นบทความ เพราะเป็นการโอนเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีวิธีการดำเนินการที่เหมาะจะใช้เพื่อศึกษาผลกระทบเชิงนโยบาย ตามระเบียบวิธีวิจัยที่เรียกว่าการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม หรือ randomized control trial ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทองคำของการประเมินผลนโยบายในปัจจุบัน เพราะ

  1. แต่ละครัวเรือนที่ได้รับเงินคืนภาษี ได้เป็นเงินก้อนในครั้งเดียว โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ได้รับเงินโอนรายละ 300 เหรียญสหรัฐ
  2. คนที่ได้รับสิทธิ์สามารถคาดการณ์ได้ว่าเงินคืนภาษีจะมาในช่วงไหน กล่าวได้ว่าไม่ใช่เป็นสถานการณ์ ‘ส้มหล่น’ ที่ผู้รับไม่รู้ตัวมาก่อน ผู้วิจัยจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าการตอบสนองของการใช้จ่ายที่เป็นผลจากเงินภาษีที่ได้รับคืน จะเกิดขึ้นเมื่อใดด้วย
  3. รัฐบาลใช้ตัวเลขสองตัวท้ายในหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเป็นตัวกำหนดลำดับการได้รับเงินคืน ดังนั้นลำดับของการได้รับเงินคืนจึงเป็นเสมือนการสุ่มแจก ไม่ได้เกี่ยวโยงกับตัวชี้วัดหรือลักษณะอื่นใดของครัวเรือน

เมื่อนักวิจัยสามารถแยกแยะกลุ่มที่ได้รับเงินโอน (หรือเรียกว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ได้รับผลของนโยบาย’) ออกจากกลุ่มที่ไม่ได้รับเงิน (หรือเรียกว่า ‘กลุ่มควบคุม’) ได้ ก็ทำให้สามารถประเมินได้ว่าการคืนเงินภาษีทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยดูจากความแตกต่างในการใช้จ่ายของครัวเรือนสองกลุ่มนั้น ในช่วงก่อน-หลังการดำเนินนโยบาย

งานวิจัยเชิงประจักษ์ของ Hamilton (2008) และ Misra and Surico (2014) ต่างพบว่า ครัวเรือนที่ได้รับเงินคืนภาษีจะมีการใช้จ่ายในสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.25 ในทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับมา 

ตัวเลข 0.25 บ่งชี้ถึง MPC ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับว่า ตัวคูณทวีทางการคลัง มีค่าเท่ากับ 1.33 โดยตัวเลขที่พบในงานศึกษานี้สูงกว่าค่าที่พบในงานศึกษาที่ใช้ข้อมูลเศรษฐศาสตร์มหภาค

อย่างไรก็ดี หลักฐานที่อ้างอิงได้จากงานวิจัยเชิงประจักษ์ข้างต้นล้วนพบว่าค่าตัวคูณทวีทางการคลังต่ำกว่า 2.55 มาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากว่า รายได้ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจะมีมูลค่ามากถึง 100,000 ล้านบาทตามที่พรรคเพื่อไทยระบุไว้ในเอกสารนำส่ง กกต.

หากเป็นเช่นนี้ ย่อมมีคำถามตามมาได้ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร เมื่อพบว่ารายได้ภาษีที่คาดการณ์ไว้ไม่เพียงพอจะไฟแนนซ์ งบประมาณจำนวน 5.6 แสนล้านบาทของโครงการนี้?

หากรัฐบาลไม่ตัดลดงบประมาณด้านอื่นเพื่อโยกงบมาอุดรายจ่ายของโครงการเงินดิจิทัลนี้ รัฐบาลก็คงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากใช้วิธีการกู้และก่อหนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าหนี้รัฐบาลที่ใกล้จะแตะระดับ 10 ล้านล้านบาทในขณะนี้ จะต้องพอกพูนเพิ่มขึ้นไปอีก พร้อมๆ กับภาระที่ต้องชำระหนี้ที่มากขึ้นในวันข้างหน้าอีกด้วย

ประชาชนที่ตระหนักรู้ว่า หนี้สาธารณะที่ก่อไว้ในวันนี้ แท้ที่จริงคือภาระภาษีที่รอเรียกเก็บในวันหน้า ย่อมจะเตรียมแผนรองรับ ด้วยวิธีลดการใช้จ่ายในปัจจุบันและเก็บออมเงินไว้ เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติเพียงพอจะนำมาจ่ายภาษีในอนาคต

การคาดการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยลดการใช้จ่ายรายได้ในวันนี้น้อยลงกว่าเดิม พูดอีกนัยหนึ่งคือ ค่า MPC ก็จะปรับลดลงกว่าเดิม

เมื่อค่า MPC ลดลง ค่าตัวคูณทวีก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยฝากความหวังไว้ จะไม่ได้ให้ผลเลิศตามที่คาดในที่สุด

เรื่องนี้จึงอยากจะขอฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับพรรคเพื่อไทย


เอกสารอ้างอิง

Nicoletta Batini & Luc Eyraud & Lorenzo Forni & Miss Anke Weber, (2014). “Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections,” IMF Technical Notes and Manuals 2014/004, International Monetary Fund.

Hamilton, D. (2008): “A Reexamination of Johnson, Parker, and Souleles 2001 Tax Rebate Esti- mate,” mimeo.

Misra, Kanishka, and Paolo Surico. (2014). “Consumption, Income Changes, and Heterogeneity: Evidence from Two Fiscal Stimulus Programs.” American Economic Journal: Macroeconomics, 6 (4): 84-106.

Valerie A. Ramey (2011) “Identifying Government Spending Shocks: It’s all in the Timing”, The Quarterly Journal of Economics, Vol. 126 (1), February, pp. 1-50.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save