fbpx
มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิติศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์ - มานุษยวิทยา

มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิติศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์ – มานุษยวิทยา

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อ่านตอนแรกได้ที่ มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิเทศศาสตร์ – วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ – รัฐศาสตร์

 

หลายต่อหลายครั้งที่เทคโนโลยีดิจิทัลทำเราสับสนระหว่างโลกจริงกับโลกออนไลน์ ดาบในเกมบางครั้งก็มีมูลค่ามากมาย ทั้งที่เราไม่อาจเอามันมาฟาดฟันใครได้ในชีวิตจริง, ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์เป็นจริงแค่ไหน เราจะรู้จักคนผ่านตัวอักษรและคุยผ่านกล้องได้ลึกซึ้งขนาดไหน, เงินดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้ มีค่าแค่ไหน และเราจะนับสิ่งนั้นเป็นเงินหรือไม่, คุณค่าของมนุษย์ถูกลดทอนลงหรือไม่ เมื่ออัลกอริธึมคิดให้เราทุกอย่างแล้ว, กฎหมายแรงงานต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร เมื่อโลกมีงานใหม่เกิดขึ้นเสมอ ฯลฯ

หลากหลายคำถามเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ นักนิติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักมานุษยวิทยา เพียรหาคำตอบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โลกรู้จักกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่นเดียวกับศาสตร์อื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ในโลกใหม่อย่างน่าตื่นตา

แน่นอนว่า เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังกลายเป็นเนื้อเดียวในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ละศาสตร์จึงต้องขยับพรมแดนความรู้ของตัวเองออกไปเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย และไม่ใช่แค่อยู่ในพื้นที่ของศาสตร์ตัวเองเท่านั้น แต่การหาคำตอบนี้ต้องเชื่อมโยงกับสาขาวิชาอื่นๆ ด้วย

โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ ‘ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชามาร่วมนำเสนอพรมแดนความรู้แต่ละสาขาของตัวเองที่เกี่ยวกับดิจิทัลศึกษาทั้งไทยและเทศ ประกอบด้วย

ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมอภิปรายโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง โครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

 

ทั้งหมดร่วมกันนำเสนอในประเด็นคำถามที่ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อประเด็นการศึกษาและระเบียบวิธีวิจัยในสาขาของตนอย่างไร และองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในเมืองไทยเพียงพอต่อการอธิบายเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่เกิดจากตัวเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเปล่า เราจะปิดช่องว่างความรู้ตรงนี้อย่างไร เพื่อให้โลกวิชาการเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และแต่ละคนจินตนาการถึงสังคมดิจิทัลอย่างไรในอนาคต

 

มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิติศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์ - มานุษยวิทยา 

 

นิติศาสตร์ :  เมื่อกฎหมายตามไม่ทันคดีออนไลน์?

 

ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ถ้า item ในเกมออนไลน์เราหายไป เราแจ้งตำรวจได้ไหม? เงินที่เราโอนไปเล่นแชร์ออนไลน์ ถ้าโดนโกงเราเรียกร้องอะไรได้บ้าง? เงินที่โอนให้ไปด้วยความรัก แต่มารู้ทีหลังว่าคนที่เราคุยทางออนไลน์เป็นอาชญากร เราจะทำอย่างไร? การโพสต์รูปในเฟซบุ๊กมีความผิดได้อย่างไร?

เรื่องราวเหล่านี้เป็นโจทย์ใหม่ในโลกดิจิทัล ยิ่งเฉพาะกับแวดวงนิติศาสตร์ที่เกิดคำถามว่า กฎหมายควรจะเป็นอย่างไรในโลกที่ความจริงอาจมีหลายมิติ และอาชญากรตัวจริงไม่เคยปรากฏโฉมในโลกออนไลน์

ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักนิติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องสิทธิกับประเด็นใหม่ในโลกดิจิทัล และทำงานวิจัยเรื่อง ‘การพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21’ ชวนเรามาทำความเข้าใจโลกใหม่ที่กฎหมายอาจตามไม่ทัน

“ศึกษาอดีต เครียดกับปัจจุบัน วิตกกับอนาคต” คือแว่นหลักที่ ผศ.ดร.ทศพล ใช้มองการศึกษาประเด็นใหม่ในโลกดิจิทัล เขาค่อยๆ ไล่เรียงจากงานวิจัยที่ศึกษามา 3 ประเด็น คือ พิศวาสอาชญากรรม การรวมกลุ่มในโลกไซเบอร์เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะ และ ความเหลื่อมล้ำของคนทำงานกับเจ้าของแพลตฟอร์มอันเนื่องมาจากความท้าทายของโลกดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ก่อนจะค่อยๆ พาเราขยายไปสู่ประเด็นการถกเถียงอื่นๆ ต่อไป

 

1.พิศวาสอาชญากรรม

‘พิศวาสอาชญากรรม’ (romance scam) เป็นการหลอกลวงรูปแบบหนึ่งบนโลกออนไลน์ ด้วยการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และแอปพลิเคชันหาคู่ เป็นต้น เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อใน ‘ความสัมพันธ์รัก’ จนกระทั่งเหยื่อยอมโอนเงินและทรัพย์สินให้นักต้มตุ๋น (scammer)

ผศ.ดร.ทศพล อธิบายขั้นตอนหลอกเอาทรัพย์ไว้ว่า เริ่มต้นจากการสร้างโปรไฟล์ปลอม เข้าไปพูดคุยสร้างความสัมพันธ์จนกระทั่งเหยื่อรักใคร่ ไว้ใจ ต่อมาค่อยสร้างสถานการณ์ร้องขอเงิน จนผู้ตกเป็นเหยื่อยอมโอนเงินให้ ‘คนรัก’ (อาชญากร) ซึ่งในช่วงที่ยังไม่รู้ตัวก็จะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมากอาชญากรมักสร้างบทบาทที่น่าเชื่อถือ เช่น ส่งบัตรประจำตัวพนักงานให้ดู มักแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร ส่งภาพสวมเครื่องแบบวิศวกรสนาม ภาพถ่ายแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล เป็นต้น และมักจะใช้คำพูดหวาน แสดงความเอาใจใส่ให้เหยื่อรู้สึกเป็นคนสำคัญ บางกรณี สานสัมพันธ์กันยาวนานกว่า 2 ปี

จากการทำวิจัย ผศ.ดร.ทศพล พบว่าการจะจัดการกับคดีเหล่านี้ ยังมีปัญหาเรื่องความพร้อมพื้นฐานด้านทรัพยากร และเขตอำนาจศาลแบบรัฐสมัยใหม่

“บางทีคนก่ออาชญากรรมไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แล้วคุณจะตามเงินมาได้ยังไง แค่หลอกในประเทศก็หนักแล้ว อันนี้เงินไหลออกนอกประเทศเลย ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลแบบรัฐสมัยใหม่ คือไม่สามารถร่วมมือทางอาญา ติดตาม ออกหมายจับ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ข้ามไปยึดทรัพย์แล้วเอากลับมาคืนให้ผู้เสียหาย แต่ก็จะมีคนค้านว่า มีความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่ แต่จริงๆ ก็มีภาพสะท้อนว่ายังมีความไม่พร้อมพอสมควร” ผศ.ดร.ทศพล กล่าว

นอกจากเรื่องอำนาจศาลแล้ว สิ่งหนึ่งที่ ผศ.ดร.ทศพล พบในคดีพิศวาสอาชญากรรมคือ ‘ความเหงา’ ซึ่งแม้อาจจะไม่ได้เป็นประเด็นทางนิติศาสตร์ แต่ก็ใช้อธิบายความเป็นมนุษย์และสาเหตุของคดีได้อย่างน่าสนใจ

“เรายังนิยามความเหงาได้ไม่ชัดเจนดี เนื่องจากเราไม่ใช่นักมานุษยวิทยา แต่นอกจากเหงาแล้ว คำว่า ‘ใจบาง’ ก็เป็นอีกอย่างที่เห็น ผมว่าวัยรุ่นคิดคำนี้มาคมมาก ใจบาง ไม่ได้แปลว่าใจง่าย แต่เป็นภาวะที่เกิดอาการอ่อนไหวง่ายกับอะไรบางอย่าง ซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้ามีการทำการตลาดในอินเทอร์เน็ตแบบยิงโฆษณาตรงกลุ่มเป้าหมายเลย อาชญากรก็มีกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเหมือนกัน เขาวางมาแล้ว ถ้าเจอคนแบบนี้ต้องหลอกแบบไหน ไม่ใช่แค่เรื่องหาคู่เท่านั้น แต่ทำให้เกิดความโรแมนซ์ได้หลายรูปแบบ นี่คือพิศวาสอาชญากรรม”

เมื่อขยับไปที่กลุ่มที่อยากศึกษาในประเด็นนี้ ผศ.ดร.ทศพล กล่าวว่ามุ่งประเด็นศึกษากลุ่มผู้นิยมประทับรอยเท้าไว้บนอินเทอร์เน็ต (digital footprint) และกลุ่มที่กำลังตื่นเทคโนโลยีใหม่

“จะมีกลุ่มที่เล่นโซเชียลฯ แบบ look at me คือกลุ่มที่ยังมีวัฒนธรรมเดิม ไม่ได้โตมากับเทคโนโลยี ไม่รู้ว่ามันเสี่ยงอย่างไร ตรงกันข้ามกับเด็กวัยรุ่นที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ต้องแสดงตัวตน เล่นโซเชียลฯ แบบ look at this เช่น สนใจประเด็นในแฮชแท็กร่วมกัน เป็นต้น เราก็หาหัวข้อวิจัยที่ตอบสนองมวลชนว่าเขาจะอยู่กันอย่างไร เราจะช่วยป้องกันอย่างไร”

 

2.การรวมกลุ่มในโลกไซเบอร์เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะ

การรวมกลุ่มกันของประชาชนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน ฯลฯ เป็นสิ่งที่รัฐต้องคอยสอดส่องตรวจตรา โดยอ้างประเด็นเรื่องความมั่นคง ผศ.ดร.ทศพล กล่าวว่า การที่มีคนลงเดินถนนทำให้รัฐไทยตื่นตระหนก เนื่องจากประสบการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นการยับยั้งไม่ให้คนลงเดินถนนตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญ

“ผมมั่นใจว่าการที่คนลงถนน คือประเด็นอ่อนไหวที่สุดของฝ่ายความมั่นคง เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องหยุดไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดกระแส อาจทำด้วยการฟ้องตบปาก (SLAPPs – Strategic Lawsuit Against Public Participation) เช่น ถ้ามีนักข่าวหรือเอนจีโอออกมาบอกว่ามีการสร้างบ้านในที่ที่ไม่ควรอยู่ ก็จะเจอฟ้องปิดปากไป ไม่ให้กระเสขึ้นมา คือให้ข้อมูลหยุดอยู่ตรงนั้นแหละ

“แม้เดี๋ยวนี้จะมีการพูดกันว่าการประท้วงเป็นขบวนการแบบแกนนอน คือไม่มีผู้นำ แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่เชื่ออย่างนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เขายังมองว่าทุกขบวนการต้องมีแกนนำ หรือถึงแม้จะเป็นขบวนการแกนนอนก็จริง แต่อาจจะมีรากเหง้าหรือคนสำคัญที่ความคิดของเขามีอิทธิพลกับคนอื่น เพราะฉะนั้นรัฐต้องจับตาคนนั้นไว้ ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นต้องพุ่งเข้าหาคนนั้นก่อน คล้ายแท็กติกฟุตบอลของเจอร์เกน คล็อปป์ คือ ก่อนที่อะไรจะเกิดขึ้นให้ชิงชาร์จคู่ต่อสู้ก่อนเลย” ผศ.ดร.ทศพลอธิบายให้เห็นภาพ ก่อนจะสรุปสภาพปัญหาในการมีส่วนร่วมของประชาชนออกมาได้ดังนี้

  • ฝ่ายความมั่นคงมีความร่วมมือกับบรรษัทเจ้าของเทคโนโลยีข่าวกรองและสารสนเทศเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์จัดจ้างบุคลากรของบรรษัทด้วยภาษีประชาชนมา ‘สอดส่อง’ บุคคลที่มิได้เป็นภัยต่อสาธารณะ เพียงแต่บุคคลเหล่านั้นคุกคามกลุ่มทุนทั้งหลายที่เห็นว่าประเด็นที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเคลื่อนไหว อาจไปกระทบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน
  • ฝ่ายรัฐสร้างชุดกฎหมายไซเบอร์เพื่อสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน
  • ฟ้องตบปาก เพื่อใช้มาตรการเป็นยุทธศาสตร์ในการสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

“เราจะเห็นว่าตอนนี้เริ่มมีกองทุนของรัฐที่ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อของพลเมือง ผมอยากถามว่า ถ้าเราอยากสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองโดยการจัดตั้งกันเองเพื่อตรวจสอบรัฐบาล เขาจะให้ทุนวิจัยไหม หรือแม้แต่เรื่องที่รัฐสอดส่องประชาชนฝ่ายเดียว แล้วประชาชนไปสอดส่องคุณบ้างได้ไหม” ผศ.ดร.ทศพลทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจ

 

 3.ความเหลื่อมล้ำของคนทำงานกับเจ้าของแพลตฟอร์มอันเนื่องมาจากความท้าทายของโลกดิจิทัลในศตวรรษที่ 21

อีกประเด็นที่น่าจับตามองในโลกดิจิทัล คือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มและอาชีพใหม่ๆ อย่างยูทูปเบอร์ แรงงานรับจ้างอิสระอื่นๆ เช่น ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ นักทำภาพประกอบ นักตัดต่อวิดีโอ ฯลฯ ที่เรียกกันคุ้นหูว่า ‘ฟรีแลนซ์’ คำถามสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือ แรงงานคอปกขาว (white collar) เหล่านี้ ที่เคยเป็น ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ในระบบเก่า ได้รับผลกระทบเยอะแค่ไหนจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล และจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

“พอมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นมา คนก็มีพื้นที่แสดงตัวตนเยอะ มีรายการของตัวเอง ซึ่งมีคนพูดถึงแง่ดีเยอะ แต่ในแง่หนึ่ง จากที่ผมศึกษาก็พบว่า คนเหล่านี้ทำงานตลอดเวลา เขาบอกว่าเหนื่อย แทบไม่มีเวลานอน เพราะอยู่กับความไม่มั่นคง แล้วในยุคนี้มีเรื่องความปลอดภัยทางเศรษฐกิจด้วย คือจะมีคนมาชอบแบรนด์คุณ แล้วก็เกลียดแบรนด์คุณ สลับไปมาแบบนี้ ในประเด็นที่คุณจัดการยากมาก ซึ่งเกิดกับคุณที่เป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ในแพลตฟอร์มที่ใหญ่มาก คุณไม่เห็นข้อมูลอะไร ได้แต่กะๆ เดาๆ เอาเอง เพราะฉะนั้นเลยเลือกอยู่แบบเซฟๆ ดีกว่า

“บางคนเจ๊งไปเลยจากการโพสต์แสดงจุดยืนทางการเมืองครั้งเดียว แต่ถ้ามีรายได้บางอย่างที่จุนเจือคุณไปตลอดชีวิต เช่นมีการสร้างหลักประกันสิทธิให้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า ด้วย Universal Basic Income (UBI) จะเวิร์กไหม นี่ก็เป็นข้อท้าทายที่เราลองเสนอให้สังคม” ผศ.ดร.ทศพล กล่าว

“งานเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบดิจิทัล ถึงที่สุดเราพบว่า การได้ส่วนแบ่งนั้นน้อยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ไม่มีใครพูดเลยจริงๆ คือ data ที่คนจำนวนมากผลิตในระบบเป็นของใคร เพราะแพลตฟอร์มยึดไปหมดเลย ยึดไปด้วยสัญญาตั้งแต่ที่เราไปกด accept หรือกด install โดยที่ไม่ได้อ่าน ซึ่งก็มีคนพูดในทางกฎหมายว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูป น่าจะบังคับใช้ไม่ได้ สหภาพยุโรปก็พยายามออกกฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ในชื่อ General Data Protection Regulation (GDPR) ขึ้นมา”

จากสถานการณ์ข้างต้น ผศ.ดร.ทศพล สรุปประเด็นเรื่อง กลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระผู้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจดิจิทัล ไว้ว่า การจ้างงานในโลกดิจิทัลมีคำเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ฝั่งหนึ่งเรียกว่าการจ้างงานยืดหยุ่น แต่อีกฝั่งบอกว่าเป็นการจ้างงานแบบผลตอบแทนไม่แน่นอน คือมองได้ทั้งมุมที่ว่าเราสามารถออกแบบชีวิตเองได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็วางแผนอนาคตไม่ได้ เพราะไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำหรือรายได้ประจำ รวมถึงการเข้าไม่ถึงหลักประกันสิทธิแรงงาน และประการสุดท้ายที่นับเป็นแก่นสำคัญของปัญหาคือ แรงงานดิจิทัลคอปกขาวไม่ยอมรวมกลุ่มกันด้วยหลายสาเหตุ เช่น กลัวมีการลอกงาน และแย่งลูกค้ากัน เป็นต้น ในขณะที่มีงานวิจัยออกมาว่า ถ้ารวมตัวกันไม่ได้ ก็ต่อรองกับแพลตฟอร์มไม่ได้

ท้ายสุด ผศ.ดร.ทศพล สรุปว่า นักกฎหมายต้องกลับไปทบทวนว่าจะมองคดีอย่างไร จะทำความเข้าใจโจทก์และจำเลยด้วยสายตาแบบไหน จะจัดการกับการสอดส่องตรวจตราจากรัฐอย่างไร และจะสนับสนุนให้เกิดสิทธิแรงงานในโลกดิจิทัลอย่างไร โดยอาจต้องเริ่มต้นร่างกฎหมายจากโลกจริง มากกว่าเริ่มต้นจากหน้ากระดาษ

 

เศรษฐศาสตร์ : เมื่อดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนระบบตลาด

 

รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เช่นเดียวกับนิติศาสตร์ คำถามสำคัญของเศรษฐศาสตร์ในโลกยุคดิจิทัลคือ องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในโลกดิจิทัลได้ไหม ระบบตลาดแบบเก่าจะถูกทำลายลงอย่างไร และนักเศรษฐศาสตร์ควรหยิบแว่นไหนมาส่องโลกเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐมิติ และสนใจเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม พูดถึงระเบียบวิธีวิจัยใหม่ๆ ในโลกเศรษฐศาสตร์ ที่มี big data เป็นส่วนสำคัญ ชวนมองภาพว่าวงการเศรษฐศาสตร์ตามทันความรู้ใหม่เหล่านี้ขนาดไหน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ (digital economy) ทำงานอย่างไร ส่งผลต่อเศรษฐศาสตร์ยุคก่อนอย่างไรบ้าง และสิ่งที่ต้องคิดต่อไปคืออะไร

รศ.ดร.ธนะพงษ์ แบ่งคำถามออกเป็นสองประเด็นหลัก คือ เศรษฐกิจดิจิทัลส่งผลต่อรัฐบาลและการกำกับดูแลอย่างไร กับ ชีวิตคนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในโลกยุคดิจิทัล

“สมัยโบราณเราเชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์ น่าจะนำมาซึ่งการจัดสรรทรัพยากรที่มีประโยชน์สูงสุด แต่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัลมาทำลายความเชื่อพวกนี้ ซึ่งผลกระทบจากเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลจะจัดสรรทรัพยากรในโลกดิจิทัลอย่างไร ซึ่งทรัพยากรสำคัญคือข้อมูล หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดใหม่จากดิจิทัลเทคโนโลยี ก็มีหลายอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่เข้าใจว่าคืออะไร พอไม่เข้าใจ เราจึงไม่สามารถกำกับดูแลได้”

“ส่วนประเด็นเรื่องคน เรื่องงานที่เปลี่ยนไป ก็พูดถึงกันเยอะในต่างประเทศและเมืองไทยว่าคนไทยจะตกงานไหม จะถูก AI มาทดแทนงานเท่าไหร่ แล้วเราจะมองงานใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น แกร็บแท็กซี่ แกร็บฟู้ด อย่างไร จนนำมาสู่ประเด็นเรื่องการศึกษาว่าต่อไปจะเตรียมคนเข้าสู่การประกอบอาชีพอย่างไร”

 

รัฐบาลและการกำกับดูแลในเศรษฐกิจดิจิทัล

 

 ‘ข้อมูล’ ทรัพยากรของโลกใหม่

สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหม่ และเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางคือนิยามของทรัพยากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งในโลกยุคดิจิทัล ‘ข้อมูล’ กลายเป็นทรัพยากรสำคัญ รศ.ดร.ธนะพงษ์ อธิบายว่า แต่เดิม การซื้อมาขายไปขึ้นอยู่กับ ‘ความเป็นเจ้าของ’ และ ‘สิทธิในทรัพย์สิน’ เช่น เราโอนความเป็นเจ้าของขวดน้ำให้คนที่ให้เงินเรา ดังนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับการกำหนดความเป็นเจ้าของก่อน นี่คือคำอธิบายทรัพยากรในสมัยก่อน ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์กับกฎหมายมองเหมือนกันว่า มองเฉพาะของที่จับต้องได้ หรือมีลักษณะทางกายภาพ

“ทรัพยากรสมัยก่อนที่สำคัญคือที่ดิน เราบอกว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินด้วยการเอารั้วมากั้น ใครมีกุญแจรั้วคือเจ้าของ ใครที่เข้าไปในรั้วนั้นได้ คือคนที่มีสิทธิใช้ที่แห่งนั้นได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในยุคนี้คือทรัพยากรสมัยใหม่เป็นข้อมูล บางคนบอกว่า ข้อมูลไม่อยู่ที่ไหนเลย ขณะเดียวกันข้อมูลก็อยู่ทุกที่ คำถามก็คือ แล้วข้อมูลเป็นของใคร ถ้าเราถ่ายรูปคนทั้งหมดในห้องนี้ด้วยกัน เอาไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แล้วรูปนี้เป็นของใคร คนถ่ายรูป ทุกคนในห้องนี้ หรือเฟซบุ๊ก

“หรือเรื่องสิทธิในการใช้ข้อมูล เช่น ถ้าผมโพสต์รูปบนเฟซบุ๊ก ตั้งใจจะแชร์ให้เพื่อนดู แล้วถ้าเฟซบุ๊กเอา AI มาอ่านรูปผมเพื่อจะเข้าใจว่าผมยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้เพราะอะไร คำถามคือเฟซบุ๊กมีสิทธิทำได้ไหม”

รศ.ดร.ธนะพงษ์ กล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า ต้องเริ่มต้นมาคุยกันว่าเราจะกำหนดความเป็นเจ้าของข้อมูลอย่างไร ใครมีสิทธิใช้บ้าง ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องการกำกับดูแลทรัพยากรที่สังคมยังตกลงกันไม่ได้

 

การจำกัดความสกุลเงินแบบใหม่

มีผลิตภัณฑ์มากมายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างแรงสะเทือนและข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางคือ cryptocurrency หรือเงินตราเข้ารหัสลับ เช่น บิตคอยน์ ที่กลายเป็นโจทย์ใหม่และข้อท้าทายสำคัญต่อนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก สิ่งแรกคือต้องทำความเข้าใจและนิยามสกุลเงินดิจิทัลให้ได้ว่า สุดท้ายแล้วเราจะจำกัดความอย่างไร

“หลายคนบอกว่าชื่อเป็น currency ก็ต้องเป็นเงินสิ แต่ก็มีข้อถกเถียงว่า ไม่ใช่เงิน เพราะบิตคอยน์ใช้ซื้อพิซซ่าที่ไทยไม่ได้ ถ้าเป็นเงินจริงต้องซื้อพิซซ่าได้ บางคนก็มองว่าบิตคอยน์เป็นหลักทรัพย์ เหมือนหุ้นที่คนใช้ลงทุน แต่ประเด็นในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ ถ้าเรากำหนดไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร เราจะให้ใครกำกับดูแล ถ้าเรามองว่าเป็นเงิน คนที่กำกับดูแลต้องเป็นแบงค์ชาติ ถ้าเราคิดว่าเป็นสินทรัพย์ คนกำกับดูแลต้องเป็น กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) สุดท้ายแล้วการจะนิยามว่าเป็นอะไรไม่ใช่เรื่องง่าย นักเศรษฐศาสตร์ต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะมองเป็นสินทรัพย์แบบเดิมไหม หรือต้องจัดหมวดหมู่ใหม่”

 

การกำกับดูแลตลาดและบริษัท

เศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนมุมมองตลาดแบบเดิมของนักเศรษฐศาสตร์ได้อย่างน่าจับตามอง รศ.ดร.ธนะพงษ์ อธิบายว่า วิธีคิดเศรษฐกิจแบบเดิมคือไม่ต้องการตลาดผูกขาด (monopoly) เพราะจะทำให้ตลาดไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ขายของราคาแพงและสินค้ามีคุณภาพต่ำ แต่ตลาดดิจิทัลเปลี่ยนมุมมองตลาดไปทางตรงกันข้าม เกิดคุณสมบัติใหม่ที่มาจากข้อมูล คือคนที่มีข้อมูลเยอะจะมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุด เช่น กูเกิลที่ทำกลยุทธ์การตลาดได้ดี เพราะมีข้อมูลเยอะที่สุด เช่นเดียวกับ แอมะซอน อาลีบาบา แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่มียอดซื้อเยอะที่สุด ก็มาจากการมีข้อมูลของผู้ใช้มหาศาล

“ถ้ามองในแง่การผลิตอย่างเดียว ตลาดการผูกขาดสร้างการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพราะใครที่มีข้อมูลเยอะที่สุด ก็จะผลิตได้ราคาต่ำสุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด คำถามที่เราต้องคิดในแง่การกำกับดูแลคือ เราต้องการเศรษฐกิจแบบไหน ต้องการตลาดการผูกขาดที่มีประสิทธิภาพในการผลิต หรือต้องการบริษัทเล็กๆ มาแข่งกัน

“โมเดลนี้ไม่มีคำตอบ แต่ละประเทศก็มีกฎหมายเอื้อให้เกิดรูปแบบธุรกิจต่างกัน เช่นจีนที่ต้องการสร้างตลาดการผูกขาดขึ้นมาเลยเพื่อไปสู้กับบริษัทชาติอื่น หรืออเมริกาที่กฎหมายเอื้อให้เกิดบริษัทใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล แต่ในยุโรป กฎหมายจะแตกออกเป็นบริษัทเล็กๆ ทั้งหมด ไม่มีบริษัทผูกขาด เราจะเอาแบบไหน นี่คือปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องตอบ” รศ.ดร.ธนะพงษ์ กล่าว

 

 เครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแล

“สมัยก่อนเราต้องการให้เกิดตลาดแข่งขันเพื่อให้กลไกราคาทำงาน เพราะฉะนั้นจุดที่กลไกราคาทำงานคือจุดที่ดีมานด์และซัพพลายตัดกัน หรือจุดที่มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ทำงาน คอยจัดการทุกอย่างให้ดีที่สุด หน้าที่ของกลไกราคาคือส่งข้อมูลจากผู้ซื้อไปยังผู้ขาย เช่น คนซื้อของเยอะ ของก็ราคาแพงขึ้น คนขายก็ผลิตออกมาเยอะขึ้น นี่คือวิธีการกำกับดูแลผ่านตลาด เป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างเก่า” รศ.ดร.ธนะพงษ์ เปิดประเด็น ก่อนจะยกตัวอย่างวิธีการกำกับดูแลแบบใหม่ในประเทศจีน ที่ข้ามขั้นตอนกลไกราคาไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“ในจีน แทนที่เขาจะดูกลไกราคาผ่านตลาด ตอนนี้ดูผ่าน big data ได้เลย ในเมืองจีนมีกล้องเป็นล้านตัว เวลาคนออกจากบ้าน เดินไปซื้อของ รัฐบาลจีนเห็นหมด ดังนั้น แทนที่จะรอให้ราคาสินค้าขึ้นก่อน ผู้ผลิตค่อยผลิตเพิ่ม แต่รัฐบาลจีนพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเลยว่า คนไปซื้อสินค้านี้เยอะแล้ว ให้ผลิตเพิ่มได้เลย อันนี้เป็นการกำกับดูแลที่ไม่ต้องใช้ตลาด แต่ใช้ข้อมูลเลย ข้อเสียของการกำกับดูแลโดยใช้ข้อมูลเป็นหลักคือ เราต้องเชื่อใจรัฐบาล และสิ่งที่เราต้องสูญเสียคือความเป็นส่วนตัวของประชาชน”

 

‘เรียนและงาน’ โจทย์ใหม่ของมนุษย์ในยุคดิจิทัล

 

เราจะสูญเสียงานจริงไหมและควรรับมืออย่างไร

ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า สุดท้ายแล้วในโลกอนาคตต้องมีหลายงานที่หายไป เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทดแทนงานบางอย่าง เช่น รถยนต์ขับเองทดแทนคนขับรถ หรือ เทคโนโลยีสแกนหน้าจ่ายเงินทดแทนพนักงานแคชเชียร์ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงและทำความเข้าใจกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ลักษณะงานที่เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยี เช่น การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้บุคลากรในสายงานรถยนต์ใช้น้ำมันตกงานไหม และพวกเขาต้องปรับตัวอย่างไร

รศ.ดร.ธนะพงษ์ ยกตัวอย่างที่ละเอียดขึ้นว่า “ในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้ญี่ปุ่น และรถที่ใช้น้ำมัน แต่เทคโนโลยีทำให้รถยนต์ใช้น้ำมันล้าสมัย คำถามก็คือใครจะตกงาน กลุ่มแรงงานคอปกขาว หรือคอปกน้ำเงินจะตกก่อน คำถามถัดมาคือ จะตกเท่าไหร่ และตกเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบต่อไป”

 

การเยียวยาและทดแทนผู้สูญเสียงาน

แม้จะมีมาตรการเยียวยาผู้สูญเสียงานที่วางกันไว้ในทางเศรษฐศาสตร์ โดยการเก็บภาษีจากคนที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง มาให้คนที่เสียประโยชน์แล้วก็ตาม แต่ปัญหาในยุคดิจิทัลซับซ้อนขึ้นไปอีกระดับ เพราะหลายครั้งที่คนได้ประโยชน์กับคนเสียประโยชน์อยู่คนละประเทศ เช่น คนไทยตกงานเพราะรถใช้น้ำมันขายไม่ได้ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือคนทำงานในเทสลาที่อเมริกา หรือโรงงานรถไฟฟ้าในจีน

“คำถามคือ เราอาจต้องการองค์กรระหว่างประเทศมาดูแลการเยียวยาตรงนี้ไหม แต่เราคงยังไม่เห็นในเร็ววันนี้” รศ.ดร.ธนะพงษ์ กล่าว ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นเรื่อง Universal Basic Income เพื่อเยียวยาคนทำงาน ที่ด้านนิติศาสตร์เสนอไว้เช่นเดียวกัน

“ถ้าสุดท้ายแล้วงานหายไปเยอะมากๆ เทคโนโลยีดีขึ้นมากๆ เป็นไปได้ว่าคนอาจจะไม่ต้องทำงาน ให้หุ่นยนต์ทำงานแทน คำถามก็คือเราจะไปถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ และเราอาจจะต้องคิดว่าความหมายของงานกับคนเป็นอย่างไร ตอนนี้เราทำงานเพราะต้องการหาเงิน แต่ถึงจุดหนึ่ง เราอาจจะแค่ได้ Universal Basic Income แล้วทำงานเพื่อความสุขบางอย่าง ประเด็นคำถามที่ต้องคิดต่อก็คือ เราให้ Universal Basic Income เพื่ออะไร แล้วคนยังต้องทำงานไหม”

 

งานใหม่ในโลกใหม่

นอกจากเรื่องการสูญเสียงานแล้ว ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลก็สร้างงานใหม่ขึ้นมาเช่นกัน เช่น gig economy งานฟรีแลนซ์ ที่ถูกมองได้ทั้งเป็นงานอิสระ และงานที่ไม่มั่นคง คำถามสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ เราจะคุ้มครองคนทำงานนี้เหล่าอย่างไร

“คนที่ขับแกร็บ อาจจะขับ 50 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ ซึ่งถ้ามองในแง่กฎหมายแรงงาน เขาควรจะเหมือนพนักงานประจำ แต่แกร็บบอกว่า เขาไม่ใช่ เพราะคนขับมีอิสระ อยากทำเมื่อไหร่ก็ได้ คำถามที่ต้องคิดและเกิดหัวข้อในอเมริกาหรืออังกฤษก็คือ จริงๆ แรงงานพวกนี้ควรจะได้รับการคุ้มครองไหม เขาควรจะมีสิทธิป่วยไหม ถ้าป่วยแล้วควรจะได้ค่าประกันสุขภาพไหม หรือควรจะมีสิทธิลางานไหม

“ถ้าเราตีความว่าเขาเป็นพนักงานประจำ เขาควรจะได้รับสิทธิพวกนี้ แต่ปัจจุบันเรามองว่าเขาคือพนักงานที่อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นแกร็บอาจต้องรับผิดชอบตรงนี้ ประเด็นก็คือ สังคมก็ต้องคิดว่าเรามองงานนี้เป็นงานประจำรึเปล่า เราจะให้การคุ้มครองเขารึเปล่า หรือเขาต้องคุ้มครองตัวเอง”

 

การศึกษาที่จินตนาการไม่ออก

“สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของเรา ดิสรัปชันจะมาเร็วและแรงขึ้น งานอาจจะหายไปในทุก 4-5 ปี งานที่น่าจะเริ่มหายไปตอนนี้คืองานโอเปอเรเตอร์รับโทรศัพท์ คำถามก็คือถ้าทักษะล้าสมัยทุก 4-5 ปี เราต้องคิดแล้วว่าจะสอนอะไรให้เด็ก อีก 10 กว่าปีเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาต้องเรียนอะไรจึงจะทำงานได้ในอนาคต เป็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์คิด นักการศึกษาก็คิด แต่ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าอีกใน 10 ปีข้างหน้า ทักษะอะไรที่มีประโยชน์”

นอกจากเรื่องสอนเด็กแล้ว ยังต้องมีการสอนทักษะใหม่ให้คนทำงานด้วย เช่น สอนคนในบริษัทผลิตน้ำมัน ว่าจะอยู่อย่างไรในโลกยุครถไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันหรือแพลตฟอร์มไหนที่รองรับรูปแบบ ‘การเข้าโรงเรียนใหม่’ แบบนี้

 

มานุษยวิทยา : เส้นแบ่งพร่าเลือนของโลกดิจิทัลและอนาล็อก

 

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น ‘นักมานุษยวิทยาดิจิทัล’ คนแรกๆ ในวงวิชาการไทย ที่ศึกษาเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทั้งเปิดสอนวิชามานุษยวิทยาดิจิทัลในระดับบัณฑิตศึกษา นับเป็นหมุดหมายใหม่ของการเรียนการสอนสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาในประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางมานุษยวิทยาไว้อย่างน่ารับฟัง

 

The analog – The digital

“ผมเริ่มต้นจากการพยายามทำความเข้าใจก่อนว่า ระหว่าง สิ่งที่เป็นอนาล็อก (the analog) และสิ่งที่เป็นดิจิทัล (the digital) มีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วเอาจริงๆ ต่างกันขนาดไหน คำถามสำคัญอีกอย่างก็คือ มีโลกที่แบ่งระหว่างเป็นยุคอนาล็อกกับยุคดิจิทัล จริงรึเปล่า” รศ.ดร.ยุกติ เปิดประเด็น ก่อนจะพูดถึงข้อจำกัดของดิจิทัลและอนาล็อกไว้ว่า ดิจิทัลอยู่ในโลกที่ต้องการกระแสไฟฟ้า ดังนั้นเราจึงทำสิ่งที่เป็นดิจิทัลโดยไม่มีกระแสไฟฟ้าไม่ได้ แต่เราทำสิ่งที่เป็นอนาล็อกโดยไม่มีกระแสไฟฟ้าได้ เช่น เราสร้างสภาวะอนาล็อกของเวลาด้วยการใช้นาฬิกาแดด แต่ในขณะที่นาฬิกาดิจิทัลยังต้องการกระแสไฟฟ้า

“เพราะฉะนั้น เวลาเราจะพูดถึงสังคมวัฒนธรรม ผู้คน ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้มันเกิดขึ้นมา และสภาวะที่ดำรงอยู่ด้วย ผมนึกถึงเรื่องง่ายๆ ว่า ประตูไฟฟ้าที่มหา’ลัย พอไฟดับ ประตูไฟฟ้าทั้งหมดก็เปิดอยู่อย่างนั้น ไม่มีการล็อกด้วยอนาล็อก ก็อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรได้ เพราะฉะนั้นวิธีหนึ่งที่เราจะดิสรัปท์ดิจิทัลคือตัดกระแสไฟฟ้า” รศ.ดร.ยุกติ กล่าว

นอกจากเรื่องความแตกต่างของกระแสไฟฟ้าแล้ว รศ.ดร.ยุกติ ยังกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจของดิจิทัลคือมันปฏิวัติตัวเองอยู่ในสภาพอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการอาศัยอุปกรณ์เดียวกันในการแบกรับภาพปรากฏที่แตกต่างกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เช่น ดิจิทัลมีแผ่นซีดีที่เก็บได้ทั้งเสียงและรูป หรือสมาร์ตโฟนที่เก็บข้อมูลและประมวลได้หลากหลาย แม้จะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่การปฏิวัติสภาวะเหล่านี้ของดิจิทัลก็ไม่สามารถทำได้กับทุกอย่าง เช่น การเก็บรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เลียนแบบรสเย็นตาโฟมาใส่ในบะหมี่ ซึ่งอนาล็อกทำได้ แต่เราไม่สามารถทำรสเย็นตาโฟในโลกดิจิทัลได้

“ผมคิดว่ายังไม่น่ากลัว โลกดิจิทัลก็ยังมีพื้นที่จำกัด โลกอนาล็อกยังมีที่อีกเยอะ คุณยังต้องพึ่งโลกที่เป็นอนาล็อกอยู่ดี นี่อาจจะเป็นความหวังว่าแรงงานอนาล็อกยังมีที่อยู่อีกเยอะ ถ้าคุณรู้ว่าจะทำอะไร” รศ.ดร.ยุกติ กล่าวสรุปในประเด็นแรก

 

มนุษย์ (human) – สิ่งพ้นมนุษย์ (nonhuman)

“คำถามใหญ่ในการศึกษามานุษยวิทยา คือ การมีโลกดิจิทัลทำให้เรากลับไปตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ในระดับที่ลึกเหมือนกัน ไม่ใช่ตัวมันเองทำให้ต้องไปถามคำถามใหญ่ แต่การมีอยู่ของดิจิทัลทำให้เราเชื่อมโยงกับคำถามใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 คือสภาวะของการมีอยู่ของมนุษย์ และสภาวะที่พ้นมนุษย์มีความเป็นอยู่อย่างไรกันแน่

“พูดอีกอย่างก็คือ เราต้องตั้งคำถามว่ามนุษย์น่าจะมีตัวเล็กลง แล้วมีสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่านั้น เราน่าจะกังวลกับการมีอยู่ของความสัมพันธ์มนุษย์กับสิ่งที่พ้นมนุษย์มากขึ้น” รศ.ดร.ยุกติ กล่าว

รศ.ดร.ยุกติ ยกงานของ บรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่วิพากษ์วิธีคิดแบบสมัยใหม่ที่แยกคนกับธรรมชาติออกจากกัน ในขณะที่โลกก่อนสมัยใหม่ไม่ได้แยกคนออกจากธรรมชาติ

“เราอยู่ในโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น หรือโลกที่วัตถุมีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ บางทีเราอาจจะถูกกำกับด้วยอัลกอริธึม การสอดส่องตรวจตรา ซึ่งควบคุมเราในแบบที่เราไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับมันได้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสภาวะของการปะปน การเชื่อมต่อสัมพันธ์กันระหว่างคนกับสิ่งที่ไม่ใช่คนจึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้เปลี่ยนมุมมองการศึกษาทางสังคมศาสตร์เยอะพอสมควร”

“คำถามพวกนี้เป็นคำถามที่รื้อวิธีคิดจากตะวันตกที่แยกคนออกจากธรรมชาติมาอย่างยาวนาน รื้อความคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่เราจะทำงานด้วยกันระหว่างสาขาต่างๆ เพราะมีความเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

มองสังคมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

รศ.ดร.ยุกติ ยกตัวอย่างงานศึกษาของ Daniel Miller ผู้ศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับมิติของสังคมและเทคโนโลยีไว้จำนวนมาก ว่าด้วยเรื่องอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ เฟซบุ๊ก หรือเว็บแคม ฯลฯ โดยยกตัวอย่างประเด็นของเว็บแคมที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ร่วมของคนที่อยู่ห่างไกลกันได้

“สิ่งนี้อธิบายได้ว่าความรักออนไลน์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเทคโนโลยีสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ ในการสร้างสังคมขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เทคโนโลยีกำหนด และไม่ใช่ว่าสังคมจะเลือกเฟ้นแล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา แต่ถึงพร้อมจุดหนึ่งแล้วก็สร้างสภาวะทางสังคมขึ้นมาแบบหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปดูถูกทินเดอร์ เพราะมีบทบาททางสังคมจริงๆ” รศ.ดร.ยุกติ กล่าวสรุป

 

เศรฐศาสตร์การเมืองดิจิทัล : ยูโทเปีย vs ดิสโทเปีย

หนึ่งในผู้ที่บุกเบิกการศึกษาโลกดิจิทัลในระดับสังคมขนาดใหญ่คือ Manuel Castells ที่อธิบายโลกดิจิทัลเอาไว้ในงานหลายชิ้น แม้จะมีข้อถกเถียงว่า เขามองโลกดิจิทัลในลักษณะยูโทเปียมากเกินไปก็ตาม โดย Castells มองว่า วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตเน้นความสามารถทางเทคโนโลยี เข้าไปเปลี่ยนวัฒนธรรม มีการสร้างสรรค์ใหม่ๆ และท้าทายอำนาจรวมศูนย์ ทั้งยังมองว่าทำให้เกิดเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตแบบใหม่ และสังคมเครือข่ายไม่ใช่โลกเสมือน

“Manuel Castells เขียนหนังสือ The Internet Galaxy เหมือนเป็นคำประกาศ digital age ว่า เราเข้าสู่สังคมยุคใหม่แล้ว อ่านหนังสือเล่มนี้จะหอมหวนมาก เราก็จะเคลิ้มๆ อินๆ มีความหวังแล้วว่าจะมีคนอีกเยอะแยะที่เราไม่รู้จักมาช่วยกันสร้างสังคมแบบใหม่ขึ้นมา แต่คำถามก็คือมันเป็นจริงแค่ไหน”

รศ.ดร.ยุกติ ยกตัวอย่างว่า ในความจริง เราก็เห็นยูทูปเบอร์ หรือคนผลิตเนื้อหาใหม่ๆ มากขึ้น ในขณะที่สื่อโซเชียลฯ ก็มีพลังพอที่จะทำให้คนที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐสั่นคลอนได้ อย่างที่แม่ทัพของประเทศหนึ่งเคยพูดไว้ว่า “สื่อโซเชียลฯ ทรงอานุภาพยิ่งกว่าอาวุธกองทัพ”

เมื่อมีมุมมองแบบยูโทเปีย ก็มีฝ่ายที่มองอินเทอร์เน็ตเป็นดิสโทเปียว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่ปราศจากการยินยอมของเรา มีการตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต sharing economy เอื้อกับบริษัทยักษ์ใหญ่หรือกับผู้บริโภคกันแน่ มองว่าการเติบโตของอินเทอร์เน็ตเกิดพร้อมกับการขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ ที่เอื้อกับทุนขนาดใหญ่และเพิ่มความเหลื่อมล้ำ การเมืองอินเทอร์เน็ตถูกควบคุมมากขึ้น และมองว่านักกิจกรรมไซเบอร์ไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง

ทั้งหมดนี้ยังมีการตั้งคำถามและถกเถียงต่อไป ในตอนท้าย รศ.ดร.ยุกติ กล่าวสรุปว่า “โลกดิจิทัลหรืออินเทอร์เน็ต มีสองด้านเสมอ ซึ่งเราไม่ควรจะพูดถึงแค่ว่ามีสองด้าน แต่ควรมาคิดว่าจะวิเคราะห์ในเชิงสังคมอย่างไรมากกว่า”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save