fbpx
มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิเทศศาสตร์ - วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ - รัฐศาสตร์

มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิเทศศาสตร์ – วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ – รัฐศาสตร์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว นักศึกษาวิชาวารสารศาสตร์ยังต้องเรียนวิธีพาดหัวข่าวในพื้นที่จำกัดของหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อมาพบโลกการทำงานที่หนังสือพิมพ์กำลังล้มหายตายจาก ขณะที่ข่าวขยับมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีการจำกัดพื้นที่ใดๆ นักศึกษาวารสารฯ ต้องทบทวนความรู้เดิมทั้งหมด และคลำทางไปกับโลกใหม่ที่ยังไม่มีใครนิยามได้

ไม่ใช่แค่วารสารศาสตร์เท่านั้น แต่ศาสตร์อื่นๆ ก็ต้องหันมาทบทวนตัวเอง และตามให้ทันโลกที่ขยับ ‘เร็ว’ และ ‘แรง’ มากขึ้นด้วย หนึ่งในตัวการสำคัญที่ผลักโลกไปเร็วขึ้นคือ ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ ที่เข้ามาเปลี่ยนความเข้าใจของมนุษย์ทั้งเรื่องเวลาและสถานที่จากหน้ามือเป็นหลังมือ

แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญให้มนุษย์ทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิทัลก็กลายเป็นตัวร้ายในหลายกรณี ยิ่งเมื่อถูกนำไปเชื่อมโยงกับการตัดสินคุณค่าเข้ากับบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะโดนตั้งคำถามอยู่มาก เช่น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้คนเท่าเทียมกันหรือยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ? อัลกอริธึมของสังคมออนไลน์กำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราจริงหรือ?

แน่นอนว่า เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังกลายเป็นเนื้อเดียวในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ละศาสตร์จึงต้องขยับพรมแดนความรู้ของตัวเองออกไปเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย และไม่ใช่แค่อยู่ในพื้นที่ของศาสตร์ตัวเองเท่านั้น แต่การหาคำตอบนี้ต้องเชื่อมโยงกับสาขาวิชาอื่นๆ ด้วย

โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ ‘ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชามาร่วมนำเสนอพรมแดนความรู้แต่ละสาขาของตัวเองที่เกี่ยวกับดิจิทัลศึกษาทั้งไทยและเทศ ประกอบด้วย

ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมอภิปรายโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง โครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

 

ทั้งหมดร่วมกันนำเสนอในประเด็นคำถามที่ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อประเด็นการศึกษาและระเบียบวิธีวิจัยในสาขาของตนอย่างไร และองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในเมืองไทยเพียงพอต่อการอธิบายเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่เกิดจากตัวเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเปล่า เราจะปิดช่องว่างความรู้ตรงนี้อย่างไร เพื่อให้โลกวิชาการเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และแต่ละคนจินตนาการถึงสังคมดิจิทัลอย่างไรในอนาคต

 

มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : นิเทศศาสตร์ - วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ - รัฐศาสตร์

 

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ : การเมืองเรื่องเทคโนโลยี

 

ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เราศึกษาอัลกอริธึมในฐานะเทคโนโลยีอย่างเดียวได้ไหม เราควรศึกษาจริยธรรมของ AI ด้วยไหม เทคโนโลยีมีการเมืองของมันไหม และเราจะเชื่อมโยงวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เข้ากับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อย่างไรบ้าง คือโจทย์ที่ ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้สนใจเรื่องสังคมศาสตร์ เลือกหยิบมาชวนถกเถียงและเล่าสู่กันฟังอย่างน่าสนใจ

“ทางฝั่งสังคมศาสตร์มีทฤษฎีเยอะเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี แต่คนที่คิดเทคโนโลยีจริงๆ อาจจะไม่ได้มีทฤษฎีอะไร ทำอะไรได้ก็ทำออกมา” ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวเปิดประเด็นไว้สั้นกระชับ และกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ computer science ทำงานในเชิงเทคนิคเท่านั้น เช่น ทำอย่างไรให้ส่งข้อมูลได้ ส่งข้อมูลแล้วไม่ให้คนดักฟังถอดรหัสได้ คำนวณอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทต่อเรื่องต่างๆ มากขึ้น จึงต้องสนใจเรื่องทางสังคมมากกว่าเดิม

แต่ความจริงแล้ว ในอดีตนักเทคโนโลยีก็สนใจประเด็นทางสังคมอยู่ก่อน เช่น การออกแบบเครื่องที่คล้ายแท็บเล็ตในปี 1972 ของอลัน เคย์ (Alan Kay) ในยุคนั้น นอกจากคอมพิวเตอร์จะเอาไว้ใช้คำนวณสูตร ยิงจรวด คำนวณ GDP แล้ว ก็ยังเอามาใช้ในการศึกษาด้วย อลัน เคย์จึงออกแบบเครื่องที่คล้ายแท็บเล็ตออกมา ณ ตอนนั้นเทคโนโลยียังไปไม่ถึง แต่เขาก็จินตนาการรูปแบบออกมาก่อนแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อเรื่องต่างๆ มากนัก เป็นเพียงแค่การบอกว่าเอาเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์อะไรบ้างเท่านั้น

 

 

Alan Kay, “A personal computer for children of all ages”. 1972

Alan Kay, “A personal computer for children of all ages”. 1972

 

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ computer science มีผลกระทบต่อผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ คือเรื่องการซื้อขาย การทำธุรกิจ e-commerce เป็นต้น ด้วยปัจจัยเช่นนี้ ทำให้คนพูดถึงประเด็นทุนนิยม เช่น มองว่าทุกคนอยากจะทำกำไรเพื่อตัวเอง ตัวเทคโนโลยีเองก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ชูประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า ความจริงแล้วนักเทคโนโลยีไม่รู้หรอกว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมาแบบไหน แต่ใช้เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า testing จึงส่งผลต่อผลลัพธ์แบบต่างๆ

กล่าวให้เห็นภาพ ถ้านักพัฒนาอยากรู้ว่าควรจะออกแบบปุ่มไว้ตรงไหนของเครื่อง พวกเขาก็จะทำหน้าจอขึ้นมาสองแบบ แบ่งผู้ใช้เป็นสองกลุ่ม เสร็จแล้วใช้การวัดผลและรวบรวมข้อมูลไปเรื่อยๆ ผ่านการปรับเปลี่ยนครั้งแล้วครั้งเล่า จนตอบสนองสิ่งที่คนต้องการ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนสังคม แต่สังคมก็เปลี่ยนเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ ข้อมูลของผู้ใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงทำให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการข้อมูล จนกลายเป็นธุรกิจสอดส่องดูแลต่างๆ ที่พยายามทำให้คนโพสต์เยอะขึ้น แชร์อะไรต่างๆ มากขึ้น

“เขาจะคิดว่าทำยังไงให้เราเล่นเฟซบุ๊กนานๆ เวลาลากหน้าจอลงแล้วปล่อยเพื่อรีเฟรช ก็จะเกิดเอฟเฟ็กต์หน้าจอเด้งกลับขึ้นไป คนเล่นก็รู้สึก โอ้ สัมผัสนี้ เหมือนเล่น slot machine คนก็ดึงอยู่อย่างนั้น รูดๆ ปัดๆ ไม่ต้องขยับไปไหน สิ่งเหล่านี้เกิดจากผลลัพธ์ของกระบวนการออกแบบที่เอามนุษย์มาทำ reinforcement learning (เทคนิคการทำปัญญาประดิษฐ์) ให้ตัวผลิตภัณฑ์ จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า attention economy” ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ กล่าว

Attention economy คือการพยายามทำให้คนอยู่กับหน้าจอมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจรวมกับความสามารถในออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของนักพัฒนา

“คนทางฝั่ง computer science เอง ก็ไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองพาโลกมาสู่ความหฤหรรษ์อันน่าสะพรึงกลัวที่จุดนี้ เพราะคนทำเทคโนโลยีก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองภาพไปไกลนัก แต่ตอนนี้หลายคนก็เริ่มตระหนักในประเด็นนี้แล้ว”

แน่นอนว่าหนึ่งในประเด็นที่คนตระหนักมาก และมีข้อถกเถียงกันหลายเรื่องคือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ บ้างก็ว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ บ้างก็กังวลถึงเส้นจริยธรรมหรืออิทธิพลของ AI ต่อเรื่องสังคมการเมือง ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ยกตัวอย่าง วิดีโอจำลองใบหน้า ของ ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เอาใบหน้าของผู้คนมาขยับปากพูดตามที่เราอยากพูด ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การเอาบารัค โอบามา หรือชินโสะ อาเบะ มาพูดได้อย่างอิสระ ซึ่งหากมองในมุมมองของเฟคนิวส์ วิดีโอจำลองใบหน้านี้คือเครื่องมือสร้างเฟคนิวส์ได้อย่างง่ายดาย

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า นักพัฒนาต้องการจะสร้างเครื่องมือทำเฟคนิวส์ขึ้นมาหรือไม่ หรือทำไมต้องสร้างเครื่องมือแบบนี้ขึ้นมา แต่เมื่อศึกษาจริงๆ จะพบว่าความคิดตั้งต้นมาจากการที่อยากทำระบบย้อนกลับไปคุยกับคนในอดีตได้ แต่สุดท้ายเทคโนโลยีก็กลายเป็นแบบนี้โดยที่ผู้พัฒนาไม่ได้ตั้งใจ

 

ภาพจากวิดีโอ Fake videos of real people and how to spot them

ภาพจากวิดีโอ Fake videos of real people and how to spot them

 

ยังมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นกับหลายเทคโนโลยี เช่น เว็บไซต์ที่เขียนเนื้อความต่อไปอัตโนมัติ หลังจากเราเริ่มต้นไว้หนึ่งประโยค โดยใช้วิธีการเอาข้อความจากอินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาลมาเรียนรู้ว่าคำไหนมักต่อจากคำไหน จนออกมาเป็นเนื้อความที่อ่านเข้าใจ แน่นอนว่าเครื่องมือนี้สามารถเอาไปทำเป็นเฟคนิวส์ได้อย่างแพร่หลาย และยากที่จะตรวจสอบคัดกรอง

ดูเหมือนว่า การเติบโตขึ้นของเทคโนโลยี AI จะเข้ามาส่งผลกับโลกเดิมของมนุษย์อยู่มาก ขณะเดียวกัน ตัวเทคโนโลยีเองก็ยังมีช่องโหว่อยู่เยอะที่มนุษย์ไม่อาจไว้ใจได้ทั้งหมด เช่น รถยนต์ขับเองที่ขับชนจนเละ เพราะตรวจจับเซนเซอร์ผิดพลาด เป็นต้น

“ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าสังคมหรือรัฐบาลจะเข้ามากำกับดูแลเรื่องเทคโนโลยีอย่างไร เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นหลายเรื่อง ก็เริ่มมีกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวมา แต่ก็ยังไม่ได้มีการบังคับใช้ชัดเจน คิดว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ”

ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ กล่าวสรุปว่า ตัวนักพัฒนาเทคโนโลยีเองก็ต้องคิดถึงสังคมมากขึ้นในการออกแบบ ต้องคิดว่าทำให้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานมากขึ้นได้อย่างไร ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัว นักพัฒนาก็สนใจว่าจะทำอย่างไรจึงจะรับประกันได้ว่า การเอาข้อมูลมาประมวลผลจะรักษาความเป็นส่วนตัวของคนที่เอาข้อมูลมาให้ รวมถึงเรื่องเฟคนิวส์ เรื่องอคติและความเป็นธรรมของเทคโนโลยี ที่ในปัจจุบันก็มีการตั้งคำถามว่า AI เป็นกลางหรือไม่ AI ตัดสินใจอย่างไร และมนุษย์ตอบได้ไหมว่าเพราะอะไร AI จึงตัดสินใจอย่างนี้

ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่นักพัฒนาเทคโนโลยีต้องศึกษามากขึ้น รับฟังความเห็นจากศาสตร์ทางสังคมมากขึ้น และทำงานร่วมกันให้มากขึ้น

 

นิเทศศาสตร์ : เมื่อ SMCR ใช้ไม่ได้ในโลกยุคดิจิทัล

 

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่อง ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562’ ให้ทาง สกสว. และทำงานเกี่ยวกับเด็กและอินเทอร์เน็ตมาอย่างยาวนาน เริ่มต้นด้วยการพูดถึงพื้นฐานของ ‘อินเทอร์เน็ตศึกษา’ ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับดิจิทัลศึกษา โดยมี paradigm อยู่ 3 เรื่องหลักคือ เทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ และนโยบาย มีคำถามหลักว่า ใคร ทำไม มีผลอย่างไร ต่อใคร ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาพรวมที่ตัดข้ามศาสตร์ที่หลากหลาย ตั้งแต่วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เศรษฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ

เมื่อขยับเข้ามาเฉพาะการศึกษาอินเทอร์เน็ตจากมุมมองนิเทศศาสตร์แล้ว จะแบ่งการศึกษาอินเทอร์เน็ตเป็น 3 รูปแบบ คือ ศึกษาในแง่สื่อ ศึกษาในแง่เทคโนโลยี และศึกษาในแง่บริบททางสังคมและวัฒนธรรม

ศ.ดร.พิรงรอง เริ่มต้นจากหัวข้อการศึกษาอินเทอร์เน็ตในแง่สื่อ ด้วยการอธิบายประวัติศาสตร์ของนิเทศศาสตร์ในเบื้องต้น นิเทศศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับมานุษยวิทยา ปรัชญา หรือรัฐศาสตร์ เพราะเริ่มก่อตัวเป็นศาสตร์จริงๆ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรกต้องหยิบยืมฐานคิดและทฤษฎีจากศาสตร์อื่นมาใช้ก่อน ซึ่งศาสตร์ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ วิศวกรรมโทรคมนาคม โดยใช้โมเดลการสื่อสารของ Shannon – Weaver ที่เป็นเรื่องของวิศวกรรมการสื่อสาร พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นโมเดลการสื่อสาร SMCR ที่นักศึกษานิเทศศาสตร์รู้จักดี

 

Shannon - Weaver’s Model

Shannon – Weaver’s Model

 

Berlos's SMCR Model of Communication

 

Lasswell's Communication Model

 

หลังจากพัฒนาเรื่อยมา ก็มีการเพิ่มองค์ประกอบการสื่อสารอีกหนึ่งตัวคือ Effect เพื่อดูว่าสื่อส่งผลอะไรบ้าง ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า เมื่อมององค์ประกอบการสื่อสารนี้แล้วตั้งคำถามว่า อินเทอร์เน็ตควรจะอยู่ตรงไหน หากมองจากกระบวนทัศน์ดั้งเดิม อินเทอร์เน็ตจะเข้าไปอยู่ตรง channel ในฐานะ medium หรือเป็นแค่ท่อผ่าน เป็นเทคโนโลยีที่ให้สารผ่านไปเท่านั้น ทั้งยังกล่าวอีกว่า SMCR ไม่สามารถใช้ได้กับโซเชียลมีเดียอีกต่อไป

“เคยออกข้อสอบระดับปริญญาเอก ถ้านิสิตคนไหนบอกว่า SMCR ยังใช้ได้กับสื่อโซเชียลมีเดีย ก็ให้ตกไปเลย ไม่ต้องเข้าเรียน เพราะ SMCR ใช้ไม่ได้แล้ว คือใช้ได้ในแง่การประกอบความคิด แต่ถ้าเอามาใช้ในโซเชียลมีเดียไม่ได้ เพราะโซเชียลมีเดียไม่เป็นเส้นตรง แต่ SMCR เป็นเส้นตรง ซึ่งอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายจึงใช้ SMCR ไม่ได้” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

นอกจากนี้เมื่อมองในประเด็นลักษณะทางเทคโนโลยีที่ ศ.ดร.พิรงรอง สรุปจากประวัติศาสตร์ว่าเทคโนโลยีส่งผลต่อการสื่อสารมาอย่างยาวนาน เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีในแง่ของการเป็นสื่อ จะแยกขาดจากเนื้อหาไม่ได้ “เทคโนโลยีสื่อกับเนื้อหาต้องมาควบคู่กัน นิเทศศาสตร์ต้องพิจารณาทั้งคู่ ดูอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เราจะเห็นว่า ผู้ใช้ได้รับผลกระทบจากสื่อ ขณะเดียวกันผู้ใช้ก็เป็นคนกำหนดทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาด้วยเหมือนกัน”

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหากับเทคโนโลยีแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงกับสังคม ซึ่ง ศ.ดร.พิรงรอง เล่าผ่าน ‘สามกระบวนทัศน์หลักในการศึกษาสื่อกับสังคม’ ไว้ว่า

กลุ่มที่ 1 Structure – Positive Organicism มองว่าทุกอย่างที่สัมพันธ์กันระหว่างสื่อกับสังคมอยู่ในกรอบของหน้าที่และโครงสร้างนิยม เป็นโครงสร้างที่ยึดติดกับการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ทฤษฎีที่บอกว่าหน้าที่ของสื่อคือการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การประสานส่วนต่างๆ ของสังคม หรือการสืบทอดวัฒนธรรม ซึ่งทฤษฎีแนวนี้เชื่อว่าถ้าทุกส่วนของสังคมและสื่อทำหน้าที่ของตัวเอง สังคมก็จะธำรงต่อไปได้ไม่มีสะดุด เป็นความสัมพันธ์ที่มีสมดุลสูง

กลุ่มที่ 2 History – Structure & Historical หรือ เศรษฐศาสตร์การเมืองวิพากษ์ มองในเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกัน แต่เป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนไปตามประวัติศาสตร์ และจุดมุ่งหมายของการศึกษาไม่ใช่เพื่อธำรงให้เกิดความต่อเนื่องของสังคม แต่ศึกษาเรื่องของปัจจัยการผลิต เรื่องชนชั้น และความไม่เท่าเทียม มาจากอิทธิพลของ conflict theory จากพื้นฐานมาร์กซิสม์ โดยมองว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางอำนาจที่กดทับและควบคุมผู้คนได้

กลุ่มที่ 3 Culture – Social Action มีพื้นฐานมาจากมาร์กซิสม์เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่สอง โดยมองจากพื้นฐานที่ว่าสังคมมีความสัมพันธ์ไม่เท่าเทียม มีความเหลื่อมล้ำ แต่ขณะที่กลุ่มที่สองให้น้ำหนักกับผู้ที่อยู่ในอำนาจตามโครงสร้าง กลุ่มนี้จะให้อำนาจกับผู้ปฏิบัติการ มองว่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่มาปะทะสังสรรค์กันบนพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนทางความหมาย จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในพื้นที่ของการสื่อสารและความหมายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า พื้นที่ของสื่อและวัฒนธรรม คือพื้นที่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

 

ต่อมาคือการศึกษาอินเทอร์เน็ตในแง่เทคโนโลยี ซึ่งก็มีมุมมองทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ โดยบางส่วนสอดคล้องกับการศึกษาอินเทอร์เน็ตในแง่สื่อด้วย แบ่งมุมมองได้ดังนี้

Technological determinism (เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด)

  • สนใจในผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสังคม โดยมองเทคโนโลยีเป็นสาเหตุหรือตัวการ
  • สังคมและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมถูกหล่อหลอมโดยเทคโนโลยีเป็นหลัก
  • ลักษณะทางเทคโนโลยีสามารถนำไปสู่ผลทางสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเสมือนถูกกำหนดไว้แล้ว
  • ความโน้มเอียงหรืออคติในตัวเทคโนโลยีสื่อกำหนดรูปแบบการใช้และผลกระทบในลักษณะที่คาดเดาได้ โดยไม่เกี่ยวว่าใครเป็นผู้พัฒนาหรือควบคุม ใครเป็นผู้ใช้ และในบริบททางสังคมวัฒนธรรมแบบใด

“กลุ่มนี้มองว่า เทคโนโลยีเป็นปัจจัยในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางสังคม ถ้าเอาเทคโนโลยีตัวเดียวกันไปใส่ที่ไหนก็ตาม ผลจะเหมือนกันหมด ไม่ต่างกันเลย เพราะอานุภาพของเทคโนโลยีค่อนข้างสูง และเป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีมุมมองความคิดที่เรียกว่า Mass Media and Modernization  ในยุคแรกๆ ของนิเทศศาสตร์จะมีกระบวนทัศน์หลักที่เชื่อว่า ถ้าเอาสื่อเข้าไปใส่ในหอกระจายข่าว หรือวิทยุมากๆ ก็จะทำให้เกิดความทันสมัยในสังคมนั้น ซึ่งคล้ายกับมุมมองเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

Social shaping of technology (สังคมหล่อหลอมเทคโนโลยี)

  • อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด โดยมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ผู้ปฏิบัติการในสังคมสร้างขึ้น มีลักษณะเป็นกลาง และการใช้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม การจัดลำดับความสำคัญ อคติ และประโยชน์แห่งอำนาจของมนุษย์
  • การพัฒนาหรือใช้ประโยชน์เทคโนโลยีขึ้นอยู่กับบริบทและแรงจูงใจของผู้ใช้ เช่น วิทยุในเบื้องแรกเป็นสื่อไร้สายเพื่อสื่อสารระหว่างบุคคล โดยเป็นคู่แข่งของโทรศัพท์ แต่ถูกพัฒนาไปเป็นสื่อสารมวลชนเพื่อส่งเนื้อหาให้มวลชน อันเนื่องมาจากบริบทของสงครามที่ต้องการควบคุมความคิดของผู้คนในสังคม เป็นต้น
  • บทบาททางสังคมของเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ ศักยภาพ และการจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรม อำนาจต่อรองของผู้บริโภค และตัวกลางต่างๆ

“กลุ่มนี้ค่อนข้างใหญ่ มองว่าอคติที่แฝงฝังในตัวเทคโนโลยีมาจากการครอบงำของทุนนิยม เชื่อว่าเทคโนโลยีเกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของทุนนิยม เช่น เทคโนโลยีสายพานจะไม่ขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีหลักของยุคอุตสาหกรรม หากไม่ตอบโจทย์ทุนนิยม เพราะเทคโนโลยีสายพานจัดคนหมู่มากให้อยู่ในที่ทาง ให้คนทำงานในโรงงาน จัดการง่าย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เช่นเดียวกับรถยนต์ วิทยุ หรือยาไวอะกร้า ที่เกิดขึ้นเพราะตอบโจทย์ทุนนิยม”

Critical theory of technology (ทฤษฎีวิพากษ์เทคโนโลยี)

  • เทคโนโลยีทำให้เป้าหมายปลายทางและวิธีการผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก ความเป็นกลางของเทคโนโลยีเป็นเพียงมายาคติ และความเสื่อมโทรมและเสื่อมถอยในด้านแรงงาน การศึกษา หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นผลมาจากเทคโนโลยีหรือจากผู้ใช้หรือสังคมที่แวดล้อม แต่มาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่แฝงฝังมาในการออกแบบเทคโนโลยี และลักษณะเฉพาะตัวของเทคโนโลยีด้วย
  • เทคนิคทุกอย่างจะไม่ได้รับการส่งต่อข้ามรุ่นเป็นเทคโนโลยี หากไม่ได้ถูกเลือกสรรโดยระบบหลักของการผลิตทางสังคม อย่างระบบทุนนิยม และระบบอุตสาหกรรมนิยม

“หนังสือ Critical Theory of Technology ของ แอนดรูว์ ฟีนเบิร์ก (Andrew Feenberg) บอกว่ามุมมองนี้ไม่ใช่ทั้ง technological determinism และ social shaping of technology แต่เป็นทั้งสองอย่าง มีภาพของทั้งคู่ซ้อนทับกันอยู่ เช่น เรามักจะโทษเทคโนโลยีเสมอเมื่อมีปัญหา เมื่อหลายปีก่อนนักจิตวิทยาจากกรมสุขภาพจิตออกมาบอกว่าเฟซบุ๊กทำให้เกิดคุณแม่วัยใส ซึ่งถ้ามองในเชิง medium theory ไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะเฟซบุ๊กไม่ได้ทำให้คนเกิดอารมณ์ทางเพศแล้วอยากออกไปหาผู้ชาย แต่เป็นแค่แพลตฟอร์มหนึ่งในการสื่อสารเท่านั้นเอง

“กลุ่มนี้มองว่ารูปแบบเทคโนโลยีมาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่แฝงฝังอยู่ในการออกแบบ เทคนิคทุกอย่างไม่ได้เกิดเป็นเทคโนโลยีทั้งหมด ฟีนเบิร์กบอกว่าเมื่อไหร่ที่ ways of doing things ไม่ถูกส่งต่อในรุ่นถัดไป สิ่งนั้นก็จะไม่กลายเป็นเทคโนโลยี และจะไม่เกิดผลในระยะยาว เช่น ถ้าอินเทอร์เน็ตไม่ถูกเลือกและพัฒนา ก็จะไม่กลายเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อสังคม”

 

เมื่อกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุคปัจจุบัน ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า จากแต่เดิมที่สื่อดั้งเดิม เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สามารถควบคุมเนื้อหาของผู้ใช้ได้ แต่ปัจจุบันนักวิชาชีพสื่อแทบไม่มีบทบาทแล้วในการคุมเนื้อหา บางครั้งก็เอาข่าวจากอินเทอร์เน็ตมาเล่าออกอากาศด้วยซ้ำ ดังนั้น เครือข่ายจะเปิดกว้างมากและมีการผสมผสานหลายรูปแบบมาก ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตก็ไม่ใช่แค่เครื่องมือเท่านั้น แต่กลายเป็นระบบที่หลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่ระบบสื่อสาร แต่เป็นระบบส่งของด้วย เช่น แกร็บ, ไลน์แมน เป็นต้น

“ในเชิงนิเทศศาสตร์เราก็ต้องรู้จักทั้งเรื่องคุณลักษณะทางเทคนิค และเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์และโครงสร้างในสังคมนั้นๆ ด้วย ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีคำถามใหญ่ว่า นวัตกรรมเหล่านี้นำไปสู่ ‘สังคมที่ดีกว่า’ จริงๆ รึเปล่า ใครได้ใครเสีย ในเชิงความยุติธรรมของสังคม ความเท่าเทียม และประโยชน์สาธารณะ” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวสรุป

 

รัฐศาสตร์ : ประตูที่ไม่ต้องเคาะ – โซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้ง

 

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์อย่างเป็นระบบ เป็นนักวิชาการไทยคนแรกๆ ที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกออนไลน์ และทำวิจัยเรื่อง ‘การใช้สื่อโซเชียลกับการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562’ เขามาให้ภาพรวมว่างานศึกษาด้านรัฐศาสตร์ในเมืองไทยสามารถอธิบายภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปได้แค่ไหน

“ในมุมของผม ดิจิทัลศึกษา ไม่น่าจะเท่ากับอินเทอร์เน็ต ไม่เท่ากับไซเบอร์ เหมือนเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แล้วเราดีไซน์ไม่ชัดพอ สิ่งที่เกิดคือเราเอาความคุ้นเคยที่เคยมีมาโหลดไว้ในคำนี้ เรากำลังจะไปสู่อะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่แน่ใจ” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวเริ่มต้นตรงประเด็น

“ถ้าพูดในทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร ในยุคแรก media and politics อธิบายในเชิงบวก คือ media มีความสำคัญในการสร้างชาติ เป็นเครื่องมือของ modernization theory  ส่วน political communication ถ้าศึกษาแบบโลกตะวันตก คือการศึกษาอิทธิพลของการสื่อสารที่มีต่อการเลือกตั้ง พฤติกรรมการเลือกของคน ประชาชนรับรู้ข้อมูลอย่างไร แต่ถ้าศึกษาในโลกแบบของเรา หรือประเทศเกิดใหม่ ก็จำเป็นต้องมีการรวมชาติ สื่อมีความสำคัญในการสร้างชุมชนของเราอย่างไร ตัวอย่างเช่น ประเทศเราจำเป็นต้องมีบุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ ต้องมีสถานีโทรทัศน์ มีสถานีวิทยุเพื่อให้คนรับรู้ถึงความเป็นชุมชนเดียวกัน แนวคิดแบบนี้จะมีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง เช่น เด็กๆ จะตอบคำถามว่า การเป็นพลเมืองที่ดีคือการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เป็นต้น

“แต่ในโลกใหม่ สื่อไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการส่งข้อมูลแล้ว แต่เป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ สื่อทำหน้าที่ส่งผ่านวัฒนธรรม คือตัววัฒนธรรมเองเป็นปริมณฑลแห่งการต่อสู้ทางการเมือง การเมืองสู้กันในการกำหนดเนื้อหานี่แหละ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สื่อที่บอกว่ามีความเป็นกลางเพื่อรวมประเทศ เมื่อมีความเป็นชาตินิยมแล้ว ก็จะสร้างประเทศให้พัฒนาได้ ซึ่งอาจจะไม่จริง เป็นเครื่องมือของการครอบงำ เป็นเรื่องที่คุยกันมานานแล้ว” ผศ.ดร.พิชญ์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์และการสื่อสารไว้ ก่อนจะเข้าประเด็นงานวิจัย

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีได้ดี คือ งานวิจัย ‘การใช้สื่อโซเชียลกับการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562’ ของ ผศ.ดร.พิชญ์ เอง

ผศ.ดร.พิชญ์ เริ่มต้นการนำเสนอโดยแสดงข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้เห็นภูมิทัศน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า ในปี 2534 มีปริมาณคนใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 30 คน ตัวเลขขึ้นแตะล้านครั้งแรกปี 2542 และปี 2561 ตัวเลขขึ้นไปที่ 47.4 ล้าน จากประชาชนประมาณ 70 ล้านคน เมื่อขยับมาดูที่โซเชียลมีเดีย มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอยู่ 51 ล้านคน ส่วนมากผู้ใช้อยู่ที่อายุ 18-34 ปี โดยสื่อโซเชียลฯ ที่คนใช้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ เฟซบุ๊ก ยูทูป และอินสตราแกรม

คำถามสำคัญก็คือ สื่อโซเชียลฯ ในการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไร มีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายข้อ อย่างแรก สื่อโซเชียลฯ ยังเป็นการใช้หาเสียงคู่กับสื่อทั่วไป ป้าย แผ่นพับ การเดิน

“การลงพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เสมอไปที่ ส.ส. จะชนะโดยการมีสื่อโซเชียลฯ ผมสัมภาษณ์ ส.ส. พลังประชารัฐ เขาเพิ่งมีเฟซบุ๊กสองสัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้ง ผลออกมาชนะ เขาลงพื้นที่มา 20 กว่าปี” ผศ.ดร.พิชญ์เล่า

นอกจากจะใช้คู่กับสื่อทั่วไปแล้ว สื่อโซเชียลฯ ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเข้าถึงพื้นที่ปิด กล่าวคือ พื้นที่การเลือกตั้งกรุงเทพฯ แบ่งได้สองกลุ่มใหญ่ คือชุมชนที่เป็นพื้นที่เปิด กับ บ้านที่มีรั้ว ซึ่งบ้านที่มีรั้วนี่เองที่สื่อทั่วไปเข้าไม่ถึง เพราะเจ้าของบ้านไปทำงานวันธรรมดา และต้องการพักผ่อนในวันหยุด การจะเคาะประตูบ้าน หรือเอารถแห่มาวิ่งรอบหมู่บ้าน จะยิ่งทำให้ผลออกมาในทางลบ สื่อโซเชียลฯ จึงเหมือนการยิงข้ามรั้วไปหาคนกลุ่มนี้ได้

สื่อโซเชียลฯ ยังใช้ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายรูปแบบใหม่ โดยการ ‘ยิงแอดฯ’ ในรอบนี้มีวิธีการยิงสองแบบ หนึ่ง ยิงเฉพาะเขตที่ตัวเองลงเลือกตั้ง และสอง ยิงแบบ facebook lookalike เพื่อหากลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน ซึ่งวิธีการนี้พรรคอนาคตใหม่นำไปใช้ เพราะมองว่า คนเคลื่อนไหวตลอดเวลา การยิงไปที่เขตพื้นที่อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง จึงเปลี่ยนมาหากลุ่มที่อยากให้สื่อเข้าถึง แล้วส่งโฆษณาตรงไปยัง ‘กรุ๊ป’ ที่คิดว่าคนกลุ่มนั้นจะอยู่ เช่น อยากได้กลุ่มแม่บ้าน ก็ยิงแอดไปที่กลุ่มแม่และเด็ก เป็นต้น

หลังผ่านการหาเสียงและลงคะแนนไปแล้วเรียบร้อย พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนป็อปปูลาร์โหวตในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ 8 แสนเสียง แต่เมื่อมาดูที่นั่งกลับได้ 9 ที่นั่ง แพ้ให้พรรคพลังประชารัฐที่แม้จะได้คะแนนน้อยกว่า (7.9 แสน) แต่ได้ ส.ส.ไป 12 ที่นั่ง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างประกอบผลเช่นนี้

การได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายของพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้เกิดการต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ออกมาต่อต้านในสื่อออนไลน์ให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ แบ่งรูปแบบการต่อต้านพรรคอนาคตใหม่ออกมาสี่รูปแบบ

1.ไม่เห็นด้วยในจุดยืน และอาจจะแฝงด้วยการกล่าวหา เช่น วิจารณ์นโยบายพรรคอนาคตใหม่ว่ามีแนวทางล้มล้างสถาบันโดยการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊ก เป็นต้น

2. ความเห็นก้ำกึ่งแต่ใช้วาทกรรมแบบเด็ก-ผู้ใหญ่ ใช้เรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า “ปรากฏการณ์อนาคตใหม่ ไม่ใช่โอกาสที่น่าชื่นชมยินดี แต่เป็นเสียงสะท้อนชัดเจน วัยเรา วัยพ่อแม่เรา ได้แต่บ่นว่าน่ากลัวจัง แต่ในเมื่อเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่เขาเลือก เราก็ต้องยอมรับมัน” มีการใช้ชุดทางวัฒนธรรมบางอย่างมาอธิบาย โดยไม่ได้บอกโดยตรงว่าพรรคไม่ดีอย่างไร

3. ข่าวปลอม ปลอมโดยไม่มีฐานความจริง หรือปลอมโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง

4. ฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันแซะกันเอง วิจารณ์กันเอง คือ ฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันจะอธิบายว่าพรรคอนาคตใหม่ก้าวหน้าไม่พออย่างไรบ้าง หยิบเอาคำว่า ‘อยู่ไม่เป็น’ ที่พรรคอนาคตใหม่ใช้ทำแคมเปญ มาวิจารณ์ว่าอะไรคือการ ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘อยู่ไม่เป็น’ กันแน่

 

สุดท้าย ผศ.ดร.พิชญ์ สรุปว่าทั้งหมดคือการยกตัวอย่างให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไรบ้าง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นดิจิทัลศึกษาได้หรือไม่

“เรากำลังก้าวเข้าสู่ดิจิทัลศึกษาแน่นอน เรากำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัลซึ่งอยู่กับเรามานานแล้ว แต่เราจะนิยามอย่างไร ก็อาจจะต้องคุยว่าจะก้าวต่อยังไง ในทางรัฐศาสตร์ ตัวแบบสำคัญที่ศึกษาเรื่องนี้ก็ยังคงอยู่ในสองตัวแบบใหญ่ คือ ตัวแบบเครื่องมือว่าถูกนำไปใช้ในทางการเมืองอย่างไร และ คนจะยังหมกมุ่นอยู่กับการทำนโยบายอยู่ ทั้งที่งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจจะมีเยอะมากกว่านั้น”

 

ติดตาม มอง ‘ดิจิทัลศึกษา’ ข้ามศาสตร์ : มานุษยวิทยา – นิติศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์ ได้เร็วๆ นี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save