fbpx
ขยับเพดาน 'สิทธิทางดิจิทัล' ของไทย ในวันที่สิทธิเสรีภาพยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ขยับเพดาน ‘สิทธิทางดิจิทัล’ ของไทย ในวันที่สิทธิเสรีภาพยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

เมื่อตัวตนที่ปรากฏในสังคมออนไลน์กลายมาเป็นส่วนสะท้อนชีวิตจริงของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตได้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมและความเป็นไปได้ในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ รวมไปถึงการถกเถียงในประเด็น ‘สิทธิทางดิจิทัล’ หรือสิทธิมนุษยชนในโลกยุคดิจิทัลที่ดูจะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ทว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับบริบทประเทศไทย ณ ขณะนี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นชัดแล้วว่า สิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชนไทยยังอยู่ในสถานะที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่ว่าจะอยู่ในโลกออฟไลน์และออนไลน์

ลองสำรวจประเด็นต่างๆ และทำความเข้าใจโลกยุคดิจิทัลของไทยไปด้วยกันกับบทสนทนาของผู้หญิง 6 คนจากหลากหลายวงการ ทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม นักเขียน นักข่าว และผู้ที่ขับเคลื่อนภาคประชาสังคม เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เราจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกอินเทอร์เน็ตของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร” เพื่อทำให้พื้นที่สิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัย ในพื้นที่ดิจิทัลของไทยได้รับการคุ้มครองมากขึ้น


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล : สิทธิทางดิจิทัล ภาพสะท้อนรากปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทย


เปิดประเด็นด้วยการทำความเข้าใจกรอบคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในโลกดิจิทัลกับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนมองปัญหาเรื่องสิทธิทางดิจิทัลซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่อยู่ในกรอบคิดเรื่องพื้นที่ดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัญหาดั้งเดิมเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย

ฐิติรัตน์มองว่า หากสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานยังไม่ถูกให้ความสำคัญตั้งแต่แรก การเกิดขึ้นของสภาวะโลกดิจิทัลแทนที่จะเข้ามาช่วยเปิดประตูโอกาสในการใช้สิทธิเสรีภาพอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่จะกลับกลายเป็นการป่วนปั่น (disrupt) สภาวะดั้งเดิม เพราะต้องยอมรับว่าหลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจว่าจะนำหลักการประกันสิทธิที่เขียนไว้อย่างเป็นนามธรรมในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ มาปรับใช้กับการดำเนินนโยบายและการใช้ชีวิตของคนในสังคมอย่างไรในทางปฏิบัติ นั่นทำให้การเข้ามาของดิจิทัลเป็นการเข้ามาแทรกแซงแนวปฏิบัติดั้งเดิมในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกที่อาจไม่ได้สอดคล้องกับหลักการการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานนัก 

“รัฐไทยพยายามสร้างระเบียบแบบแผนเพื่อควบคุมโลกดิจิทัลด้วยวิธีคิดแบบเก่า จึงสะท้อนออกมาเป็นกฎหมายหรือแนวนโยบายที่มักมีความลักลั่นในตัวเอง เมื่อรัฐปรับตัวไม่ทัน ทำให้การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตท้าทายกรอบคิดเดิมของรัฐโดยตรง เพราะการพยายามยึดโยงอำนาจทางกฎหมายกับเส้นเขตแดนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับโลกยุคอินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไป 

“ในขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งไปมองว่าเทคโนโลยีคือคำตอบสำหรับทุกอย่าง แต่ควรมองการแก้ไขหรือออกแบบด้วยการยึดคนเป็นศูนย์กลาง (human-centered design) มองความต้องการของมนุษย์เป็นสำคัญก่อนที่จะคิดถึงการแก้ไขทางดิจิทัล”

สำหรับโจทย์ของปัญหานี้ ฐิติรัตน์มองว่าคือการทำให้รัฐไทยเข้าใจว่าโลกดิจิทัลกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มนุษย์ใช้ชีวิต เมื่อเราใช้ชีวิตที่ไหน ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพก็ควรได้รับการเคารพในพื้นที่นั้นๆ ด้วย อีกมุมของการที่ไม่เห็นค่าของสิทธิเสรีภาพในโลกดิจิทัลบางทีอาจสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกออฟไลน์ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพของคนเช่นกัน

“เมื่อโลกดิจิทัลคือบริบทใหม่ การอยู่บนโลกดิจิทัลควรสร้างโอกาสให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นข้อผูกพันของรัฐในการประกันสิทธิก็ต้องขยายพื้นที่ออกด้วยเช่นกัน”

อาจารย์นิติศาสตร์มองว่า ถึงแม้โลกดิจิทัลอาจจะมีธรรมชาติบางอย่างที่ไม่เหมือนโลกกายภาพทั้งหมด แต่พื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องไม่หายไป ต้องติดตัวไปกับคนทุกที่ เพียงแต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้แล้วก็เรียกร้องกันต่อไปในพื้นที่ใหม่เช่นนี้


วศินี พบูประภาพ : บทบาทสื่อมวลชนในยุคดิจิทัลกับทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน


ในมุมมองของสื่อมวลชนที่ทำงานเกาะติดสถานการณ์ความเป็นไปของสังคมการเมืองทั้งในพื้นที่ออนไลน์และภาคสนาม วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว WorkpointToday เล่าให้ฟังถึงการทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวในสถานการณ์การเมืองที่มีความเสี่ยงสูง ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจจะระบุตัวตนของบุคคลในโลกออนไลน์ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล

“เรามักคิดว่าเมื่อตั้งค่าให้บัญชีโซเชียลมีเดียเป็นแบบนิรนาม (anonymous) หรือแอคเคาต์หลุม แล้วจะไม่สามารถตามย้อนรอยตัวตนของคนที่โพสต์ข้อความได้ แต่หลายคนก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้จากข้อความที่โพสต์หรือการติดแฮชแท็กที่ล่อแหลม นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยและกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

“ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ แต่ข้อมูลที่เราเผยแพร่บนโลกออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่มีมูลค่า เรามักถูกทำให้เข้าใจว่า ข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นของฟรี สามารถไปแสวงหาประโยชน์ต่อได้ และถูกทำให้มองไม่เห็นว่ามันมีมูลค่าอย่างไร อย่างน้อยเราควรมีการตกลงกันว่า จะนำข้อมูลไปใช้ทำอะไร และฐานอำนาจในการต่อรองระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการที่เก็บข้อมูลควรเท่ากัน”

จากเดิมที่มีความคิดว่า อินเทอร์เน็ตจะสร้างพื้นที่เสรีและส่งเสริมความหลากหลายในสังคมได้ แต่กลับกลายเป็นว่ากลไกของอินเทอร์เน็ตสามารถถูกใช้เพื่อควบคุมคน เพื่อรักษาฐานอำนาจหรือระเบียบบางอย่าง ตั้งแต่ในแง่เทคนิค เช่น ระบบอัลกอริทึมที่ควบคุมให้คนเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้เกิดความสุดโต่งจากมุมมองที่จำกัด 

“เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นแต่ความคิดที่ใกล้เคียงกับตัวเองซ้ำๆ ยิ่งตอกย้ำอารมณ์และทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่รับรู้คือความจริงไปทั้งหมด บวกกับกระบวนการจัดตั้งและจงใจสร้างข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ยิ่งขยายการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดเพี้ยนไป พอมาเจอกับกลไกอัลกอริทึมก็ยิ่งทำให้ความเห็นต่างทวีความรุนแรงมากขึ้น และโอกาสที่จะร่วมมือกันก็น้อยลงตามไปด้วย”

ในฐานะสื่อมวลชน วศินีมองว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหานี้ คืออย่างน้อยต้องพัฒนาสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ สื่อที่ลงทุนเพิ่มทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) สื่อที่ทำหน้าที่ไล่เรียงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากความเห็นส่วนตัว เพื่อช่วยปูข้อเท็จจริงให้การถกเถียงพูดคุยอยู่บนฐานความจริงร่วมกัน

“บางคนอาจหงุดหงิดว่าทำไมสื่อต้องเสนอข่าวสองฝั่ง ทำไมต้องยังให้พื้นที่กับฝ่ายตรงข้ามอยู่ ในแง่หนึ่งเราก็คาดหวังว่าจะสามารถส่งสารไปถึงทั้งสองฝ่ายได้ เพื่อให้คนได้รับข้อมูลที่มีข้อเท็จจริงร่วมกัน เพราะถ้าสุดท้ายเราไม่ให้พื้นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความจริงที่เขาสามารถแสวงหาได้ก็จะเป็นความจริงที่ถูกตั้งธงไว้แล้ว” วศินีกล่าว


ชลธิชา แจ้งเร็ว : จากการล่าแม่มดเพื่อคุกคามทางออนไลน์ สู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิตจริง 


“ในโลกออฟไลน์เราอาจเห็นม็อบชนม็อบ แต่ในโลกออนไลน์ก็มีการล่าแม่มด การทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง การเผยแพร่ความเกลียดชัง คุกคามทางเพศ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จากการคุกคามบนโลกออนไลน์นำไปสู่การคุกคามทางกายภาพและจิตใจในท้ายที่สุด”

ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมหญิงและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ชวนคิดว่าเมื่อการใช้พื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางการเมืองถูกขยายมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ยิ่งเอื้อให้การคุกคามเกิดขึ้นในวงกว้างที่กระทบต่อความปลอดภัย ตัวตน และจิตใจ ในระดับที่ซับซ้อนมากขึ้น

“ในโลกออนไลน์มีหลายตัวแสดงที่สามารถคุกคามความไม่ปลอดภัยต่อนักกิจกรรมที่ทำงานเคลื่อนไหวได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรัฐ คนที่เห็นต่าง หรือผู้ให้บริการอื่นๆ รูปแบบการคุกคามจึงมีหลายมิติมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น โดยที่หลายครั้งเราเองอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันคือการคุกคาม

“ความน่ากลัวของโลกออนไลน์คือพื้นที่การโจมตีขยายขอบเขตกว้างขึ้น การคุกคามเป็นกระแสที่มาไวและขยายไปได้ไกลมาก นั่นเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับเหยื่อ เพราะกระแสข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไปทำให้ยากขึ้นที่จะอธิบายตัวเองต่อข้อกล่าวหามากมาย ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเราต่อสาธารณะโดยที่เราไม่มีโอกาสได้อธิบายเลย”      

ชลธิชาเล่าว่า จากประสบการณ์ของเธอเอง การโดนคุกคามออนไลน์ไม่ได้สร้างผลกระทบแค่ในโลกออนไลน์ แต่ทำให้เธอกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันด้วย เช่น หลังจากมีคนนำรูปภาพของเธอไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียแล้ว นั่นไม่ได้หมายความว่าจะจบแค่ในออนไลน์ แต่มีคนเดินเข้ามาต่อว่าต่อหน้า บ้างก็ขู่ทำร้ายร่างกาย ในหลายกรณีที่นักกิจกรรมถูกคุกคามถึงร่างกายก็มักจะมีสัญญาณของการคุกคามออนไลน์มาก่อนหลายครั้ง ทำให้เห็นว่าพื้นที่ออนไลน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชัง

“อย่ามองว่าการคุกคามหรือกลั่นแกล้งออนไลน์เป็นเรื่องเล็กน้อย มันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งตกอยู่ในสังคมแห่งความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยไปตลอดชีวิต เพราะเรามีตัวตนจริง โลกออนไลน์คือโลกหนึ่งที่ตัวตนเราเข้าไปอยู่ในนั้น

“หากจะร่วมกันสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอในสังคม อันดับแรกรัฐต้องรับฟังเสียงของประชาชน เพราะจะช่วยให้เราได้มาซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน แทนที่จะใช้การกดทับเพื่อรอการปะทุ เราควรเปลี่ยนทัศนคติจากการมองว่าการแสดงความเห็นเป็นการบ่อนทำลายประเทศ เปลี่ยนไปมองในมุมที่ว่านี่อาจเป็นหนึ่งในทางรอดของวิกฤตที่เป็นอยู่ เพราะตราบใดที่รัฐยังพยายามจับจ้องผู้เห็นต่างและควบคุมประชาชนในทุกมิติ การแสดงความเห็นไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ จะเปิดเผยหรือปกปิดตัวตน ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน” ชลธิชากล่าว


อัญชนา หีมมิหน๊ะ : เสียงสะท้อนจากจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเทคโนโลยีถูกใช้เพื่อกดทับประชาชน


การคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนยิ่งซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้และผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนกับการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ นั่นหมายถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ‘เป็นพิเศษ’

เมื่อวิธีคิดและทัศนคติในการปกครองไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ย่อมนำไปสู่การขีดเส้นว่าอะไรเป็นเรื่องที่พูดได้และอะไรเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ โดยผู้กำหนดเส้นสมมติเหล่านั้นคือรัฐเอง แทนที่การมาของอินเทอร์เน็ตจะช่วยพัฒนาเราไปข้างหน้า แต่โครงสร้างเก่ากลับตีกรอบไว้หมด จนทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ใช้ในการคุกคามโจมตีคนในพื้นที่ 

อัญชนามองว่า นโยบายและวิธีการแก้ปัญหาของรัฐที่พยายามสร้างการกลืนกลายทางวัฒนธรรม ไม่ยอมรับอัตลักษณ์และภาษาในพื้นที่ นำไปสู่การโจมตีทั้งทางกายภาพและออนไลน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ เป็นระดับ ไล่ลงมาตั้งแต่โครงสร้าง นโยบาย และการปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ แทนที่จะใช้เทคโนโลยีสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ แต่รัฐกลับใช้เทคโนโลยีเป็นอีกเครื่องมือเพื่อกดทับประชาชน

“พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นพื้นที่ภายใต้บรรยากาศของการยอมจำนน มีการกดดัน คุกคาม โดยใช้เครื่องมือทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ติดตามตามบ้าน ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) การบังคับเก็บข้อมูลไบโอเมทริก (biometric) รวมไปถึงการใช้ปฏิบัติการข่าวสารหรือ information operation (IO) มีการใช้สื่อในการพูดถึงข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารจากรัฐฝ่ายเดียว บิดเบือนข้อมูล กระบวนการเหล่านี้ทำให้เสียงของประชาชนกลายเป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน ส่งผลทำให้ทุกคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและเซ็นเซอร์ตัวเอง

“ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รัฐต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือกดทับประชาชน”

เธอมองว่าสิ่งที่ควรทำต่อไปคือการเปลี่ยนมาสนับสนุนการให้ข้อมูลที่รอบด้าน ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อลดการโจมตีกล่าวหา นำข้อมูลที่มีมาร่วมกันวิเคราะห์ ตรวจสอบการละเมิดสิทธิอย่างตรงไปตรงมาว่าการกระทำนั้นผิดหลักการอะไร ใครคือผู้รับผิดชอบ ที่ผ่านมาสิ่งที่คนในจังหวัดชายแดนใต้เผชิญคือการขาดบทสรุป แต่ละฝ่ายต่างพูดจากมุมมองของตนเอง ดังนั้นข้อมูลและเครื่องมือทางเทคโนโลยีจะเข้ามาสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้มากหากใช้มันอย่างเกิดประโยชน์


วีรพร นิติประภา : เมื่อรัฐไทยยังอยู่ในวิธีคิดแบบอนาล็อกในโลกที่กลายเป็นดิจิทัลแล้ว


“เมื่อความจริงมีหลายชุดในโลกดิจิทัล เราจำเป็นต้องการแสวงหาความจริงในแบบต่างๆ สงครามในโลกทุกวันนี้คือสงครามข้อมูลข่าวสาร”

วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย เปิดบทสนทนาถึงมิติความจริงของชีวิตมนุษย์ยุคดิจิทัล 

“ปัญหาของโลกออนไลน์คือความน่าเชื่อถือของทุกสิ่งทุกอย่างลดลงไป เมื่อความจริงไม่ได้มีชุดเดียว และเราเองก็ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ พื้นที่ในโซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้เราเห็นชีวิตของใครคนหนึ่งได้เท่าที่เราได้รับอนุญาตให้รับรู้ ซึ่งนั่นหมายความว่าสิ่งที่ไม่ถูกโพสต์หรือแชร์ก็ไม่ถูกเห็นเลย แถมอัลกอริทึมยังอนุญาตให้เห็นเราข้อมูลบางชุดในความถี่ที่ไม่เท่ากันอีก นั่นย่อมมีผลต่อแนวโน้มการรับรู้และเชื่อในข้อมูลนั้นๆ มากขึ้นกว่าข้อมูลชุดอื่น

“ขณะที่ฝั่งภาครัฐของไทยยังมีความคิดเป็นแบบอนาล็อกภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นระบบอำนาจนิยม ปัญหาของระบบเช่นนี้คือมันไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ และมีวิถีอนาล็อกที่พยายามรวมทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลาง นั่นเป็นสิ่งขัดแย้งมากกับโลกที่เป็นดิจิทัล เพราะความเป็นดิจิทัลมีความเป็นพลวัตสูงมาก ทุกอย่างวิ่งไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ไม่มีที่ทางให้คิดแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบอนาล็อกแล้ว

“ถ้ารัฐยังอยู่วิถีอนาล็อก เราจำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบดิจิทัล ต้องอยู่แบบลื่นไหล ปรับตัว เราหนีไม่พ้น และเราต้องรับรู้”

การต้องอยู่ในสภาพโลกที่เป็นดิจิทัลเช่นนี้ วีรพรมองว่าเราต้องเข้าใจธรรมชาติความเป็นดิจิทัลและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะอยู่แบบที่มีความลื่นไหล (fluid) ท่ามกลางกระแสที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลาได้อย่างไร

“เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก คนแต่ละเจเนอเรชันจะมีกระบวนเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร ในเมื่อสุดท้ายเราก็ไม่มีทางออกจากโลกแบบนี้ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แต่เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ ต้องยอมรับว่าเราเจ็บปวดได้ และเติบโตไปพร้อมๆ กับโลกเช่นนี้”


สุภิญญา กลางณรงค์ : การรู้เท่าทันโลกดิจิทัลและเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจระหว่างกัน


“สิทธิทางดิจิทัล คือส่วนขยายของการปกป้องคุ้มครองพลเมืองจากยุคอนาล็อกที่ผูกเข้ากับบทบาทของเทคโนโลยีมากขึ้น แต่สังคมไทยยังไม่มีรากฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนที่แน่นมากพอ ซึ่งรวมถึงสิทธิพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจด้วย”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคี CoFact.org ชี้ให้เห็นช่องโหว่เรื่องสิทธิดิจิทัลในประเทศไทย 

“สมัยก่อนเราอาจไม่สนใจเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากนัก ทั้งระดับกฎหมาย สังคม และวัฒนธรรม เช่น คุณอาจจะเคยเห็นการนำสำเนาบัตรประชาชนมาห่อถุงกล้วยแขก หรือการที่หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลของเราไปให้บริษัทบัตรเครดิต เมื่อการกำกับดูแลเป็นไปอย่างหละหลวม พอเข้าสู่ยุคดิจิทัลการจัดการก็เลยอ่อนแอตามไปด้วย นำไปสู่การขาดความเชื่อใจในสถาบันต่างๆ ทางสังคม  อย่างในยุโรปรัฐบาลต่างๆ เริ่มนึกถึงการกำกับแพลตฟอร์ม แต่ในไทยผู้คนก็ไม่เชื่อใจรัฐ ทำให้อำนาจแพลตฟอร์มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีอำนาจต่อรองสูง รัฐเองก็ไม่สามารถทำหน้าที่ตัวแทนคนในรัฐเพื่อยืนยันสิทธิได้ และสิทธิดิจิทัลในระดับนโยบายก็ไม่ได้พูดถึงมากนัก”

สุภิญญายกตัวอย่างปัญหาในกฎหมายไทย เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ไม่ได้ใช้ตรงวัตถุประสงค์ เพราะเจตนารมณ์ตั้งต้นควรมุ่งขจัดอาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime) แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพในการแสดงความเห็นเสียมากกว่า ในขณะที่การจัดการอาชญากรรมทางไซเบอร์กลับยังไม่มีการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 

“ถ้ามองระดับวัฒนธรรมในสังคมไทยแล้ว เราอยู่ในโลกที่ใช้ความกลัวเป็นตัวตั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็สบายๆ เกินไป นั่นหมายถึงไม่ถือสาเรื่องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ขณะที่ดิจิทัลเข้าถึงตัวเราทุกขณะวินาทีตั้งแต่เช้าจนตื่นนอนอีกวัน แม้กระทั่งในห้องนอนหรือห้องน้ำ มีกล้อง มีไมโครโฟนอยู่ เราไม่ได้ถูกทำให้ตระหนักว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง ยกเว้นการถูกทำให้กลัว แม้คนจำนวนมากอาจจะไม่รู้จักสิทธิดิจิทัล แต่มันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก เราใช้งานแอปพลิเคชันมากมาย แต่ลืมนึกถึง digital footprint และอาจไม่รู้เลยว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้างต่อชีวิตคนเรา”

สุภิญญาเสนอว่า เราอาจจำเป็นต้องเริ่มกลับมาตั้งคำถามและสร้างความตระหนักรู้เรื่องการรู้เท่าทันโลกดิจิทัล (digital literacy) ในฐานะพลเมืองดิจิทัลและสร้างพื้นที่บทสนทนาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการพูดถึงข้อดีหรือข้อเสียของดิจิทัลเพียงด้านเดียวเท่านั้น และเปิดพื้นที่ที่สมดุลระหว่างคนสองกลุ่มที่เป็น digital native กับ digital immigrant เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจระหว่างกัน นั่นทำให้เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า จะสร้างทักษะทางดิจิทัลในโลกยุคนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และจิตใจเราเองไม่ซึมเศร้าหดหู่ด้วย

“เพราะในโลกดิจิทัลไม่มีอะไรที่ธรรมชาติเสรีด้วยตัวมันเอง เพราะมีอีกหลายอย่างที่มีอำนาจเหนือการควบคุมของเรา เช่น อัลกอริทึม, deep fake, echo chamber มีอะไรเต็มไปหมดเลย เราจำเป็นต้องรู้ทันและเตรียมรับมือให้ได้อย่างไร” สุภิญญากล่าว


สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์นั้น ‘สิทธิมนุษยชนของเรา’ จะต้องไม่หายไป แต่การขยับเพดานเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพเหล่านั้น การเรียกร้องและต่อสู้ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะบรรยากาศภายในประเทศเช่นนี้

#HumanOnTheLine คือแคมเปญรณรงค์เรื่องสิทธิทางดิจิทัล (digital rights) ริเริ่มโดยองค์กร EngageMedia เพื่อต้องการเปิดพื้นที่บทสนทนาในสังคมไทย ทั้งในแง่การทำความเข้าใจว่าในโลกดิจิทัลที่พวกเราเข้ามาอาศัยอยู่นั้นมีประเด็นอะไรบ้างที่เราควรพิจารณา ทั้งในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว บทบาทความรับผิดชอบของรัฐ แพลตฟอร์มและผู้มีอำนาจควรเป็นอย่างไร และเน้นย้ำว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพในพื้นที่ทางดิจิทัล คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราจึงอยากชวนคุณมาช่วยกันส่งเสียงว่าจะทำอย่างไรให้ “สิทธิทางดิจิทัลและโลกอินเทอร์เน็ตของไทยดีขึ้น ผ่านการเล่าถึงวิธีแก้ปัญหาในแบบของคุณเองแล้วติด #HumanOnTheLine ในโซเชียลมีเดียของคุณ เพื่อช่วยกันขยับเพดานในโลกดิจิทัลให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save