fbpx
"โอกาสใหม่" ในโลกดิจิทัล

“โอกาสใหม่” ในโลกดิจิทัล

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เรื่อง

เราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเอง มาใช้มันอย่างชาญฉลาดกันเถอะ

– จิมมี เวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย

อินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบและเปิดให้ใครก็ตามสร้างสรรค์นวัตกรรมบนอินเทอร์เน็ตได้ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและเผยแพร่แอปพลิเคชั่นไปยังตลาดกลุ่มใหญ่โดยไม่ต้องมีทุนมากมาย ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่หลากหลายในราคาที่ถูกลง พลเมืองสามารถเข้าถึงข่าวสารและแนวคิดทางการเมืองจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะที่อินเทอร์เน็ตสร้างขึ้น หรือกระทั่งเป็นผู้สรรค์สร้างเนื้อหาด้วยตนเอง

งานศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งโอกาสขึ้นใหม่ในหลากหลายมิติ ในโลกแห่งการทำงาน เกิดวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ ในโลกของตลาด เกิดวัฒนธรรมการบริโภคแบบตื่นตัว ในโลกแห่งรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เกิดวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโลกแห่งการเมือง เกิดวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยคนธรรมดา ในโลกของสื่อ เกิดวัฒนธรรมการเป็นผู้รับสื่อที่ตื่นตัวและใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ด้วยตนเอง และในโลกแห่งการศึกษา เกิดวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนต้องแสวงหาและจัดการความรู้ตนเองผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์[1]

การสำรวจว่าอินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสอะไรให้เราบ้างทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้ ผ่านกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง จะช่วยให้เราในฐานะพลเมืองดิจิทัลสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ทางสังคมที่อินเทอร์เน็ตหยิบยื่นให้ และร่วมลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

โอกาสทางเศรษฐกิจ

งานศึกษาของโออีซีดี[2] ชี้ให้เห็นความสำคัญของอินเทอร์เน็ตในการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม 4 ด้าน คือ 1) การขยายเครือข่ายการค้า การลงทุน การเคลื่อนไหวของแรงงานที่เปี่ยมทักษะ 2) การทดลองโมเดลทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะกับบริษัทหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ 3) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างแรงงาน ทุน ทักษะ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และ 4) การลงทุนในนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้สูงสุด

งานศึกษาของบริษัทดีลอยต์ (Deloitte) แสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ดังนี้

ภาพที่ 1 วงจรการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอินเทอร์เน็ต[3]

วงจรการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอินเทอร์เน็ต

งานของดีลอยต์ประเมินว่าการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยเพิ่มรายได้ให้พวกเขาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนงานของสถาบันแมคคินซีย์โลก (McKinsey Global Institute) ในปี 2011 ประเมินว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว อินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีโดยเฉลี่ยถึง 21 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย และบราซิล อินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพี 11 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน[4]

นอกจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในระดับมหภาคแล้ว อินเทอร์เน็ตมีส่วนส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ ดังต่อไปนี้

1. อินเทอร์เน็ตขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่

อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เชื่อมต่อกับผู้คนและธุรกิจอื่นๆ และเปิดตลาดใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ช่องทางการขายและการซื้อสินค้า ไปจนถึงการออกแบบ การผลิต การตลาด และการแพร่กระจายสินค้าและบริการ หรือที่เราเรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)

เราเห็นบทบาทของอินเทอร์เน็ตในการสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในแง่ที่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจแบบเดิม เช่น การขยายช่องทางการขายสินค้าและบริการมาสู่โลกออนไลน์เพื่อสื่อสารกับฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น และในแง่ที่ช่วยสร้างสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ขึ้นมา เช่น ยูทูบที่สร้างแพลตฟอร์มเพื่อเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถถ่ายทำวิดีโอและเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ แอมะซอน (Amazon) ที่สร้างร้านหนังสือออนไลน์แบบใหม่ สปอติฟาย (Spotify) ที่สร้างประสบการณ์การฟังเพลงแบบใหม่ หรือแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ที่สร้างแพลตฟอร์มให้คนที่ต้องการปล่อยห้องเช่ากับคนที่ต้องการหาที่พักมาพบกัน

งานศึกษาของแมคคินซีย์ชี้ให้เห็นว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ผลเชิงบวกที่อินเทอร์เน็ตมีต่อการทำธุรกิจกลับเกิดกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า โดยเอสเอ็มอีที่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตจะเติบโตเร็วกว่าธุรกิจที่ไม่ใช้ถึงสองเท่า มีรายได้จากการส่งออกมากกว่าสองเท่า และสร้างงานในบริษัทมากกว่าสองเท่า นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้เอสเอ็มอีกลายเป็นบริษัทระดับโลกที่สามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงผู้บริโภค การค้นหาซัพพลายเออร์ การเฟ้นหาคนทำงานฝีมือดี และการทำการตลาด จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บริษัทข้ามชาติขนาดเล็ก” ทั่วทุกมุมโลก

เคล็ดลับสร้างธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ

ในภาวะที่มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยเติบโตขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,812,592.03 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2559 เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์[5] สะท้อนให้เห็นโอกาสทั้งสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่และผู้ประกอบการรายเดิมในการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

บทความจากเว็บไซต์ entrepreneur.com สรุป 9 เคล็ดลับที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจออนไลน์ประสบความสำเร็จ ดังนี้[6]

1. อย่าเร่งเปิดตัวเว็บไซต์สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ : หนึ่งในข้อผิดพลาดประการสำคัญของผู้ประกอบการคือไปเร่งเปิดตัวเว็บไซต์ทั้งที่ยังไม่พร้อม เรามีโอกาสเพียงครั้งเดียวในการเปิดตัวเว็บไซต์และไม่ควรทำมันพังง่ายๆ จำไว้ว่าอย่าเปิดตัวเว็บไซต์จนกว่าจะเตรียมการให้พร้อมสรรพ เช่น เนื้อหาในการทำการตลาด โซเชียลมีเดีย การซื้อโฆษณาโปรโมต

2. ให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นที่หนึ่ง : เป็นที่รู้กันว่าจุดอ่อนสำคัญที่สุดของธุรกิจออนไลน์คือการที่ลูกค้าไม่สามารถจับ สัมผัส ดมกลิ่น หรือเห็นสินค้าตัวจริงก่อนตัดสินใจ ดังนั้นเราต้องหาวิธีชดเชยข้อด้อยตรงนี้ให้ได้ เช่น การตั้งราคาที่ชวนดึงดูด การใช้ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวให้ผู้ซื้อมองเห็นสินค้าได้เหมือนจริงที่สุด การเสนอบริการจัดส่งและคืนสินค้าฟรี การจัดทำกระบวนการสั่งซื้อที่ไม่ซับซ้อนเกินไป

3. ทดสอบทุกอย่างจนมั่นใจ : เราควรลงทุนกับการทดสอบและวิเคราะห์ธุรกิจของเราไม่ว่าจะก่อน ระหว่าง หรือหลังจากเปิดตัวธุรกิจออนไลน์ สวมวิญญาณลูกค้าเพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่ดี อะไรที่ไม่ดี และพยายามหาสาเหตุเบื้องหลังเพื่อหาทางปรับปรุง

4. ใช้โซเชียลมีเดียด้วยตัวเอง : ผู้ประกอบการที่พร่ำบอกว่าจะเอางานด้านโซเชียลมีเดียไปให้ทีมข้างนอกทำนั้นถือว่าทำธุรกิจออนไลน์ไม่เป็น โซเชียลมีเดียเป็นเสมือนหัวใจสำคัญของธุรกิจเนื่องจากมันหยิบยื่นโอกาสให้เราได้ทำความรู้จักมักคุ้นกับลูกค้าของเรา คุณอาจจะแต่งตั้งผู้จัดการด้านโซเชียลมีเดียมาช่วยดูธุรกิจก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องคอยทำงานร่วมกับเขาหรือเธอเสมอ

5. ใส่มิติทางสังคมให้กับธุรกิจออนไลน์ : เราควรหาวิธีที่ใส่ “ความเป็นสังคม” ในเว็บไซต์ธุรกิจออนไลน์ด้วย เช่น ช่องทางในการติชมสินค้า เว็บบอร์ดในการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างลูกค้า การล็อกอินผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก มิติทางสังคมนี้จะสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้สนใจสินค้าของเรา

6. รองรับการใช้งานในอุปกรณ์เคลื่อนที่ : ทุกวันนี้จำนวนคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการใช้จ่ายผ่านสมาร์ตโฟนก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ปี ถ้าคุณสร้างธุรกิจออนไลน์โดยไม่ได้เผื่อรองรับหน้าจอสมาร์ตโฟน ธุรกิจของคุณก็จะตกขบวนการเปลี่ยนแปลงภายในอีกไม่กี่ปี (หรืออาจจะตกไปแล้ว!)

7. หาทางให้ติดท็อปในเครื่องมือค้นหา : เครื่องมือค้นหาอย่างกูเกิลกลายเป็นช่องทางสำคัญที่คนจะหาธุรกิจออนไลน์ของเราเจอ การที่ธุรกิจของเราติดอันดับการค้นหาผ่านกูเกิลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ติดท็อปคำค้นหาในเมื่อทุกคนก็ดิ้นรนอยากได้พื้นที่ตรงนั้น เช่น การออกแบบคำสำคัญ (keyword) และเนื้อหาที่สอดคล้องกับการค้นหา หรือบางทีอาจจะต้องซื้อโฆษณาเพื่อให้เว็บไซต์ของเราปรากฏตรงพื้นที่โฆษณาของเสิร์ชเอ็นจิ้น ทว่าข้อเสียคือ ผู้คนอาจไม่เชื่อถือว่าเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมจริงๆ แต่อย่างน้อยเว็บไซต์ก็ปรากฏให้คนเห็น

8. เก็บรวบรวมข้อมูลให้ดี : เราต้องเก็บข้อมูลลูกค้าและสร้างฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและปรับปรุงธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การออกแบบระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ให้ดีจะช่วยให้เราจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาช่วยออกแบบระบบตั้งแต่ต้น

9. อย่าหยุดพัฒนา : เทคโนโลยี เทรนด์ และรสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับการทำธุรกิจออนไลน์หากเราต้องการประสบความสำเร็จ

ธุรกิจออนไลน์ไปรุ่ง – เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery

“เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” ของคุณสุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เริ่มมาจากบ้านของเธอที่สุราษฎร์ธานีทำแพปูเพื่อส่งร้านอาหารและโรงแรม แต่เจอปัญหาถูกยกเลิกออร์เดอร์อยู่บ่อยครั้ง บางวันเหลือปูกว่าสิบกิโลกรัม คุณสุรีรัตน์เลยลองศึกษาลู่ทางธุรกิจใหม่ๆ และพบว่าธุรกิจส่งอาหารถึงบ้าน หรือเดลิเวรี่ น่าจะไปได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ซึ่งคนใช้ชีวิตเร่งรีบ เธอบอกว่าข้อได้เปรียบของธุรกิจเดลิเวรี่คือ ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ในทำเลดีๆ ไม่ต้องตกแต่งร้าน ไม่ต้องมีพนักงานเสิร์ฟ และสามารถเริ่มต้นภายในเวลาอันสั้นถ้ามีสินค้าพร้อม

ในช่วงเริ่มต้น การทำการตลาดเพื่อให้คนรู้จักและเชื่อใจสินค้านับว่าสำคัญมาก เนื่องจากคนยังไม่ชินหรือยังไม่แน่ใจกับการสั่งอาหารแบบปูม้านึ่งที่ต้องทานตอนร้อนและมีความสด ตอนแรกคุณสุรีรัตน์ใช้วิธีแจกใบปลิว แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจและเข้าถึงแค่ในวงแคบ เธอจึงหันมาใช้สื่อโซเชียลแทน และคิดแคมเปญเพื่อดึงดูดความสนใจให้คนมากดไลก์เพจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การทำแคมเปญ “ไลก์แอนด์แชร์” และแจกรางวัลมากมาย เช่น ตุ๊กตาเฟอร์บี้ ปูหนึ่งกิโลฯ หรือกระทั่งทัวร์เกาหลี ซึ่งพอคนเริ่มสนใจ สื่อก็หันมาสนใจเช่นกัน จนยอดไลก์ทุกวันนี้ขึ้นไปเกือบเจ็ดแสนแล้ว

เพจของร้านเจคิว ปูม้านึ่ง Delivery ไม่ได้มีแต่โพสต์ขายของเท่านั้น แต่ยังใช้กลยุทธ์ดึงการมีส่วนร่วมจากลูกเพจด้วยการโพสต์วิดีโอที่มีเนื้อหาสนุกๆ เช่น คลิปสอนวิธีแกะปูซึ่งมีคนดูเกินหนึ่งล้านครั้ง

อีกกลยุทธ์ที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โจทย์สำคัญสำหรับการขายของออนไลน์คือ ลูกค้าไม่เห็นของก่อนซื้อ ยิ่งเป็นอาหารทะเลยิ่งต้องให้แน่ใจว่าสดจริงๆ ดังนั้นทางร้านจึงถ่ายภาพปูและอาหารทะเลให้ออกมาดูสวยงามที่สุด พร้อมอธิบายสินค้าให้ชัดเจน เช่น ปูม้า 1 กิโลฯ ราคาเท่าไร และได้ทั้งหมดประมาณกี่ตัว หรือถ่ายวิดีโอตอนแม่ครัวทุบหอยนางรมเพื่อให้เห็นว่าของสดจริงๆ รวมถึงถ่ายทำการทำอาหารหลังร้านเพื่อให้ลูกค้าแน่ใจในคุณภาพ

ทุกวันนี้ทางร้านมีช่องทางการสั่งอาหารที่หลากหลาย นอกจากจะมีระบบคอลล์เซ็นเตอร์จุดเดียวแล้วค่อยโอนสายไปยังสาขาที่ใกล้ที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ยังมีสื่อโซเชียลอื่นๆ อีกที่ใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า

ส่วนช่องทางการจ่ายเงินนั้น ทางร้านจะเน้นการเก็บเงินปลายทางเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้รับสินค้าแน่นอน แต่ทุกวันนี้ลูกค้าสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า

ทุกวันนี้ เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery ประสบความสำเร็จอย่างมาก มียอดขายวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือรวมทั้งปีถึง 500 ล้านบาท คุณสุรีรัตน์มุ่งมั่นที่จะต่อยอดธุรกิจออกไปเรื่อยๆ เช่น หันมาเจาะตลาดส่งอาหารเช้าถึงโต๊ะทำงาน ซึ่งคนเมืองส่วนมากไม่มีเวลาทานอาหารดีๆ ในตอนเช้า[7]

2. การสร้างนวัตกรรมภายใต้การแข่งขันที่เท่าเทียม

ลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งนวัตกรรมคือ การเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถเข้ามาสร้างสรรค์สินค้าและบริการได้บนเครือข่ายที่เป็นกลาง หรือที่บางคนเรียกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลักษณะนี้ว่า “เครือข่ายซื่อบื้อ” (dumb network)

เครือข่ายซื่อบื้อในที่นี้หมายถึงหลักการทำงานของอินเทอร์เน็ตที่จะส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ให้บริการโครงข่ายจะทำหน้าที่เป็นแค่ท่อส่งข้อมูลเท่านั้น ส่วนภูมิปัญญาที่แท้จริงจะอยู่ปลายขอบของเครือข่ายทั้งสองด้าน หรือก็คือผู้ให้บริการเนื้อหาและแอปพลิเคชั่นกับผู้ใช้นั่นเอง ในโลกการสื่อสารผ่านเครือข่ายซื่อบื้อนี้ คนที่จะตัดสินว่าสินค้าหรือบริการไหนดีที่สุดก็คือตัวผู้ใช้

หลักความเป็นกลางของเครือข่าย (net neutrality) ดังกล่าวทำให้เกิดนวัตกรรมที่ปลายขอบ (innovation at the edge) อย่างแท้จริง เพราะต่อให้เราเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่ได้มีทุนมากมายในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แต่ถ้ามีไอเดียหรือนวัตกรรมที่สุดยอด เราก็สามารถเป็นผู้ชนะในเกมนี้ได้ ตัวอย่างเช่น สไกป์ (Skype) ที่เริ่มให้บริการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (VOIP) ในปี 2003 และประสบความสำเร็จจนมีผู้ใช้บริการหลายร้อยล้านคน การให้บริการดังกล่าวถือเป็นคู่แข่งกับบริษัทโทรคมนาคมที่มีรายได้หลักมาจากการให้บริการโทรศัพท์ ดังนั้นหากบริษัทโทรคมนาคมสามารถควบคุมเครือข่ายและทำให้บริการของสไกป์มีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะให้บริการวีโอไอพีได้แล้ว สไกป์ก็คงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้

อีกกรณีคือยูทูบซึ่งเริ่มให้บริการแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ใครก็ตามสามารถแบ่งปันวิดีโอร่วมกันได้ในปี 2005 ยูทูบถือเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่ได้มีทุนมากมาย หากคู่แข่งที่ให้บริการคล้ายกันแต่มีทุนหนากว่าสามารถจ่ายเงินให้บริษัทไอเอสพีเพื่อให้บริการของตนเร็วกว่า ยูทูบก็อาจจะพ่ายแพ้ตั้งแต่ต้นทั้งที่บริการของตนดีกว่าคู่แข่ง แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความเป็นกลาง ผู้ใช้จะเป็นคนเลือกผู้ชนะเอง

เครือข่ายซื่อบื้อหรือเครือข่ายที่เป็นกลางของอินเทอร์เน็ตนั้น คือหลักการสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสให้ใครก็ตามที่มีไอเดียหรือนวัตกรรมสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนได้ภายใต้การแข่งขันที่เท่าเทียม เงื่อนไขดังกล่าวช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมที่มาจากคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม และลบความเชื่อที่ว่ามีแต่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะลงทุนกับนวัตกรรมใหม่ๆ

3. ภูมิปัญญารวมหมู่กับการสร้างนวัตกรรมสาธารณะ

อินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เครื่องมือในการสร้างสรรค์ แบ่งปัน และทำงานร่วมกับผู้อื่นนี้ ยังถูกใช้โดยผู้คนมากมายที่มีเวลาว่างและต้องการแบ่งปันความรู้ความสามารถที่ตนมีเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมสาธารณะร่วมกับผู้อื่น หรือที่เราเรียกกันว่าภูมิปัญญารวมหมู่ (collective intelligence) ซึ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความรู้ผ่านความร่วมมือของผู้คนมากมายในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นไม่จำเป็นต้องมีองค์กรกลางหรือการจัดการแบบรวมศูนย์

ผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญารวมหมู่อาจเป็นนวัตกรรมที่บริษัทไม่สนใจ (อาจเพราะงานสร้างสรรค์นั้นทำกำไรไม่มากพอ หรือบริษัทไม่สามารถใช้ประโยชน์จากผลกระทบภายนอกเชิงบวกที่เกิดขึ้นได้) แต่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ ตัวอย่างภูมิปัญญารวมหมู่ที่สำคัญก็เช่นวิกิพีเดีย สารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ลินุกซ์ (Linux) ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายที่มีคนดาวน์โหลดเยอะที่สุด เซติ (SETI) โครงการที่อาสาสมัครทั่วโลกแบ่งปันพลังการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ของตนเพื่อวิเคราะห์คลื่นวิทยุที่อาจเป็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือยุพิน (YouPin) แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนกรุงเทพฯ แจ้งปัญหาต่างๆ ในเมือง เช่น ตู้โทรศัพท์ขวางทางเดิน เพื่อรายงานให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไขต่อไป

 4. อินเทอร์เน็ตกับการสร้างผู้บริโภคที่ตื่นตัว

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตบางทีอาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้บริโภคด้วย เพราะอินเทอร์เน็ตไม่เพียงช่วยเพิ่มการแข่งขันผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ แต่ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประชาชนด้วย เช่น เราสามารถเปรียบเทียบราคาคอมพิวเตอร์ที่ต้องการซื้อได้จากหลายแหล่ง ค้นหาโรงงานผลิตสินค้าหรือห้องที่เราต้องการเช่าได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมถึงประหยัดเวลาจากการขับรถออกไปซื้อของ งานของสถาบันแมคคินซีย์โลกแสดงให้เห็นว่า เว็บไซต์และเครื่องมือค้นหาที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคา ทำให้ราคาสินค้าออนไลน์ถูกกว่าราคาในร้านจริงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์[8]

โอกาสทางการเมือง

อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสทางการเมืองให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาบูรณาการการทำงานข้ามหน่วยงานและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ให้สาธารณะติดตามและตรวจสอบการทำงานได้ และใช้เครื่องมือดิจิทัลดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนผ่านการให้ข้อมูล การปรึกษาหารือ หรือกระทั่งการร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีความสำคัญกับชีวิตพวกเขา

นอกจากอินเทอร์เน็ตจะปรับภูมิทัศน์การเมืองในระบบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันยังเสริมพลังให้กับการเมืองภาคประชาชนผ่านการสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง และเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

 

รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) หมายถึง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการให้บริการประชาชน เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับสาธารณะ และดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ประชาชนกับรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลกับหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติดังนี้

1. การให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ

บางคนอาจเคยรู้สึกเบื่อที่ต้องเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานรัฐและใช้เวลาค่อนวันกว่าจะได้รับบริการ หรือที่แย่กว่านั้นคือต้องไปติดต่อมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน แต่ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศเริ่มใช้ไอซีทีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำเสนอบริการสาธารณะผ่านอินเทอร์เน็ตแบบรวมศูนย์ที่จุดเดียว (one-stop service) ซึ่งช่วยให้การติดต่อกับหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายสำหรับประชาชนอย่างเรามากขึ้น

ทว่าบริการที่หลอมรวมผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาล 1) สร้างแพลตฟอร์มทางเทคนิคเพื่อให้การประสานงานภายในและการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างราบรื่น 2) สร้างระบบการทำงานข้ามองค์กรที่เข้มแข็ง เช่น ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ทำงานร่วมกันได้ 3) สร้างระบบที่สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนออนไลน์ที่ไว้ใจได้ และ 4) มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีพอ

e-Estonia ซิคิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ บนคาบสมุทรบอลติกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก บริการภาครัฐเกือบทั้งหมดของเอสโตเนียสามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้ตลอดเวลา มีแค่การแต่งงาน การหย่าร้าง และธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ทำทางออนไลน์ไม่ได้

ความสำเร็จของกรณีนี้อยู่ที่การลงทุนในระบบโครงสร้างดิจิทัลกลางที่ปลอดภัยและเชื่อมโยงการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เรียกว่า X-Road โดยระบบนี้จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐกับภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ทำให้บริการภาครัฐหลอมรวมเป็นหนึ่ง สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน

บริการออนไลน์ที่โดดเด่นของเอสโตเนียมีดังนี้

● ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) : เพียงกดปุ่มคลิกครั้งเดียวก็สามารถจ่ายภาษีในเอสโตเนียได้แล้ว เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนี้ช่วยลดเวลาในการเตรียมเอกสารภาษีของประชาชน ลดภาระของภาครัฐไปอย่างมหาศาล อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนจ่ายภาษีอีกด้วย

● บัตรประจำตัวดิจิทัล (digital ID) : ประชาชนเกือบทุกคนในเอสโตเนียจะมีบัตรประจำตัวดิจิทัลซึ่งใช้ยืนยันตัวตนในการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน เช่น การทำธุรกิจ การเซ็นเอกสาร การขอใบสั่งยาจากแพทย์ การธนาคาร

● การลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (i-Voting) : เอสโตเนียเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้มีการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ตในการเลือกตั้งปี 2005 และมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสะดวกสบายในการลงคะแนนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก  และใช้เวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น ระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (e-Heath): ผู้ป่วยในเอสโตเนียถือเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตน และโรงพยาบาลต้องอนุญาตให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ข้อมูลจากโรงพยาบาลและแพทย์กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ถูกเก็บไว้ในรูปดิจิทัล ซึ่งง่ายต่อการนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อหามาตรการป้องกันที่มีประสิทธิผล เช่น การสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไข้ ส่วนแพทย์ก็สามารถเข้าถึงประวัติคนไข้ได้ทุกที่ ซึ่งช่วยให้การรักษามีคุณภาพและต่อเนื่องยิ่งขึ้น[9]

นอกเหนือจากการให้บริการภาครัฐผ่านเครือข่ายสาธารณะแล้ว เทคโนโลยีการใช้เซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) ซึ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จะช่วยให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงบริการได้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ดังเช่นกรณีของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

Smart City พัฒนาชุมชนเมืองไปกับแนวคิดเมืองอัจฉริยะ

แนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ (smart city) คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาและสร้างเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง ความน่าอยู่อาศัย และความยั่งยืนของเมือง ในประเทศไทยเองก็มีเมืองที่รัฐบาลส่งเสริมให้เป็นเมืองต้นแบบหลายแห่ง เช่น นครนายก ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น

สำหรับจังหวัดภูเก็ตนั้น ได้มีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะไปใช้พัฒนาเมืองในหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

● การท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) : โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะความเร็งสูงสำหรับนักท่องเที่ยว การพัฒนาแอปพลิเคชั่น Smart Tourist Card (แอปที่ให้ข้อมูลท่องเที่ยวเกี่ยวกับภูเก็ต บอกพิกัดร้านค้า นำเสนอคูปองหรือโปรโมชั่น) แอป “มาภูเก็ตกดภูเก็ต” (แอปท่องเที่ยวที่แนะนำที่พักและของกินให้นักท่องเที่ยว) แอป Travelism (แอปให้ข้อมูลและขายแพ็กเกจทัวร์ในภูเก็ต)

● ความปลอดภัยและการจราจรอัจฉริยะ (Smart Safety) : ระบบรายงานสภาพการจราจรแบบตามเวลาจริงและระบบบอกเวลารถเข้าป้ายด้วยการติดตั้งกล้องซีซีทีวีไว้ที่รถประจำทาง และมีระบบดิจิทัลสำหรับตรวจตราวินัยการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด ซึ่งสามารถตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รถวิ่งย้อนศร รถหยุดล้ำเส้นหยุด รถจอดในที่ห้ามจอด และการสวมหมวกกันน็อค โดยข้อมูลเหล่านี้จะส่งตรงไปยังโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่

● ระบบจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) : ระบบบริหารจัดการเส้นทางจัดเก็บขยะด้วยการจัดทำแอปให้ประชาชนรายงานเมื่อขยะเต็มถัง มีการติดจีพีเอสไว้ที่รถเก็บขยะ ติดเซ็นเซอร์วัดปริมาณขยะในจุดทิ้ง และจัดทำระบบกระดานข้อมูล (dashboard) เพื่อประสานและจัดการข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งระบบตรวจจับค่าควันพิษด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อใช้วัดค่ามลพิษในอากาศ และระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยติดตั้งเซ็นเซอร์ใกล้พื้นที่โรงงานเพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำเสีย และสามารถระบุแหล่งที่มาของน้ำเสียได้ว่ามาจากโรงงานใด

● ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) : โครงการจัดตั้งสวนนวัตกรรม (Innovation Park) เพื่อส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือโครงการจัดตั้งสถาบันนานาชาติเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการรายใหม่ (International Creative and Innovation Entrepreneur Academy) เพื่อเป็นศูนย์กลางอบรมการเป็นผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์และเปี่ยมนวัตกรรม[10]


2. การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
 

รัฐคือหน่วยงานที่ถือครองข้อมูลสำคัญมากมายในหลากหลายประเด็น เช่น ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลการจราจร ข้อมูลสาธารณสุข ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แนวคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (open government data) ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ต้นทุนการเปิดเผยข้อมูลมีราคาถูกลง ประเทศที่ริเริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร จากนั้นรัฐบาลอื่นเกือบทุกประเทศก็นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญของแทบทุกรัฐบาล เช่น เกาหลีใต้ที่ประกาศแนวคิดเรื่อง Government 3.0

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐนั้นหมายถึงการเปิดให้เข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้อย่างต่อเนื่องผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย นำไปใช้ใหม่ได้โดยอิสระ และผสมผสานกับชุดข้อมูลอื่นได้ รวมถึงนำไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนฐานคิด “open by default” หรือต้องเปิดเผยข้อมูลเป็นค่าตั้งต้น แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ข้อมูลที่เปิดเผยต้องไม่สามารถระบุตัวตนในระดับบุคคล ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาหรือเปิดเผยความลับทางการค้า รวมถึงไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐนั้นมีประโยชน์รอบด้าน ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม คู่มือ Open Data Handbook ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิโอเพ่นโนวเลดจ์ (Open Knowledge Foundation) และแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2558[11] ได้ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เช่น เพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบของรัฐบาลต่อประชาชน ส่งเสริมให้เอกชนหรือประชาชนนำข้อมูลไปต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ ลดการคอร์รัปชั่น ช่วยในการวัดผลกระทบเชิงนโยบาย ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำหนดนโยบายผ่านข้อมูลภาครัฐ และอีกมากมายเกินกว่าที่เราจะจินตนาการคิดฝันได้

นโยบายการเปิดเผยข้อมูลของบารัก โอบามา

ในวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โอบามาประกาศเจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าว่าจะ “สร้างรัฐบาลที่เปิดเผยข้อมูลมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา” โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ ความโปร่งใส (transparency) การดึงการมีส่วนร่วม (participation) และการสร้างความร่วมมือ (collaboration)

ตลอดระยะเวลาทำงานเกือบ 8 ปี โอบามาเซ็นบันทึกข้อตกลงมากมายที่ทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใสมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือแผนงานเพื่อสร้างการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Directives) ซึ่งลงรายละเอียดว่าหน่วยงานรัฐต้องทำอะไรบ้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อทำให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น นอกจากนั้น โอบามาปรับแนวทางการใช้ Freedom of Information Act หรือกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการเปิดเผยข้อมูลมากที่สุด เพราะเขาเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้คือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสร้างความรับผิดรับชอบของรัฐบาล

แนวทางสำคัญในการตีความกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นมี 3 ประการ คือ 1) presumption of openness คือถ้าไม่แน่ใจว่าเปิดเผยได้หรือไม่ ให้เปิดไว้ก่อน เว้นแต่จะยืนยันได้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปิดเผย 2) proactive disclosure คือให้เปิดเผยโดยไม่ต้องให้มีการร้องขอ และ 3) release to one is a release to all คือหากมีคนร้องขอและมีคำตัดสินให้เปิดเผยข้อมูลแล้ว ก็ควรเปิดข้อมูลชิ้นนั้นกับสาธารณะโดยไม่ต้องให้ร้องขอเป็นกรณี

ผลงานอื่นๆ ที่โดดเด่นก็เช่น การจัดการกับคำร้องเปิดเผยข้อมูลได้มากกว่า 4 ล้านเรื่อง ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีการตั้งศูนย์เปิดเผยข้อมูลแห่งชาติ (National Declassification Center) เพื่อทำให้ชุดข้อมูลที่เคยปิดเป็นความลับจำนวนมากไม่เป็นความลับอีกต่อไป เช่น การเปิดเผยข้อมูลของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) จำนวนนับล้านชิ้น และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การปรับโครงสร้างและวัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานรัฐให้คำนึงถึงการเปิดเผยข้อมูลและการทำงานร่วมกับประชาชนมากขึ้น

3. การมีส่วนร่วมของประชาชน

เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนในด้านการออกแบบนโยบายและให้บริการสาธารณะ หรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation)

รัฐบาลในหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น รัฐบาลของโอบามาหรือรัฐบาลสหราชอาณาจักรในสมัยเดวิด คาเมรอน เพราะเชื่อว่าในโลกที่ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐบาลที่ฉลาดคือรัฐบาลที่สามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญ ความเห็น และประสบการณ์ของประชาชนและหน่วยงานภายนอกในการออกแบบนโยบาย นอกจากนั้น การดึงการมีส่วนร่วมยังช่วยให้นโยบายของรัฐตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงต่อต้านหลังจากนโยบายออกมา โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก

ระดับการดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ 1) การเปิดเผยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Information) คือการให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้สาธารณะเข้าใจและติดตามประเด็นปัญหาต่างๆ ผ่านช่องทางอันหลากหลาย เช่น เว็บไซต์เฉพาะของรัฐบาล โซเชียลมีเดีย 2) การปรึกษาหารืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Consultation) คือการจัดให้มีช่องทางการรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนผ่านช่องทางและวิธีการอันหลากหลาย เช่น เว็บบอร์ด เครื่องมือการโหวต เครื่องมือการส่งคำร้อง และ 3) การตัดสินใจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Decision-Making) คือการนำความคิดเห็นของประชาชนไปใช้ในกระบวนการออกแบบนโยบายจริงๆ เช่น ให้มีการโหวตนโยบายได้โดยตรง

นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมการมีส่วนร่วมแบบใหม่ที่เรียกว่า คราวด์ซอร์ซซิ่งนโยบาย (policy crowdsourcing) ซึ่งหมายถึงการกระจายปัญหา คำถาม หรืองานไปให้ฝูงชนช่วยกันหาคำตอบหรือจัดการ โดยให้ความสำคัญกับการดึงประชาชนมาร่วมออกแบบและสร้างสรรค์นโยบายตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำนโยบายออกมาแล้วค่อยถามความเห็นกับประชาชน

การออกกฎหมายโดยประชาชนฟินแลนด์

ปี 2012 ฟินแลนด์ผ่านกฎหมายริเริ่มจากพลเมือง (Citizens Initiative Act) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอแก้ไขกฎหมายเก่าหรือเสนอกฎหมายใหม่ไปยังรัฐสภาได้โดยตรง วิธีการคือ ประชาชนที่มีอายุถึงเกณฑ์ที่เลือกตั้งได้ สามารถเขียนคำร้องเสนอกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ และหากคำร้องนั้นมีผู้สนับสนุนถึง 50,000 รายชื่อภายใน 6 เดือน รัฐสภาต้องนำคำร้องดังกล่าวมาผ่านกระบวนการพิจารณา

กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดความตื่นตัวในภาคประชาชน เกิดองค์กรภาคประชาสังคมมาช่วยสนับสนุนการพูดคุยและรวบรวมรายชื่อ บางคำร้องมีประชาชนเข้าร่วมลงชื่อเกินแสนคนภายในระยะเวลาไม่นาน ที่ผ่านมา มีคำร้องเสนอและแก้ไขกฎหมายรวมกัน 9 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ท้ายสุดผ่านรัฐสภาจนออกมาเป็นกฎหมาย

นอกจากออกกฎหมายที่เปิดให้ประชาชนเสนอกฎหมายได้สะดวกขึ้นแล้ว รัฐบาลฟินแลนด์ยังนำกฎหมายกำกับการจราจรนอกถนนหลัก (Off-Road Traffic Law) มาปรึกษาหารือกับประชาชน โดยรัฐบาลได้จัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และภายในเว็บไซต์นั้นจะ 1) ตีพิมพ์กฎหมาย เอกสารและลิงก์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิดีโออธิบายประเด็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลรอบด้าน 2) เปิดให้ผู้ใช้สร้างบัญชี โดยเลือกที่จะไม่เปิดเผยชื่อ ใช้ชื่อเล่น หรือชื่อจริงก็ได้ และ 3) มีการให้แต้มเพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น

การรับฟังความเห็นจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นกำหนดขอบเขตปัญหา (problem mapping) คือขั้นตอนระบุปัญหาการจราจรนอกถนนหลัก รัฐบาลจะกำหนดปัญหาเริ่มต้น 10 ด้าน เช่น การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ใช้พาหนะ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบเริ่มต้น ประชาชนสามารถแสดงความเห็นและแชร์ประสบการณ์ได้ โหวตให้ความเห็นที่ตนชอบ รวมถึงสามารถสร้างหัวข้อใหม่ขึ้นมาได้ 2) ขั้นเสนอทางแก้ปัญหา (problem solving) ปัญหาหรือข้อกังวลเกี่ยวกับการจราจรนอกถนนหลักในขั้นแรกจะถูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ และระบุเป็นหัวข้อให้ประชาชนมาเสนอทางออก ซึ่งผู้เข้าร่วมก็สามารถสร้างหัวข้อใหม่ได้เหมือนขั้นแรก และ 3) ขั้นประเมินข้อเสนอ (evaluation) โดยผู้เข้าร่วมทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญ ผู้เข้าร่วมจะได้รับตัวอย่างข้อเสนอแบบสุ่มและให้ประเมินด้วยการให้คะแนน (1-5) หรือการจัดลำดับ ส่วนผู้เชี่ยวชาญต้องให้คะแนน 4 ด้าน คือ ความเป็นไปได้ ประสิทธิภาพ ต้นทุน และความเป็นธรรม พร้อมเหตุผลประกอบ สุดท้าย กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะรวมรวมผลลัพธ์จากการรับฟังความเห็นและเสนอแก้เป็นกฎหมายต่อไป

บทสรุปจากการดึงประชาชนมาร่วมออกกฎหมายของฟินแลนด์คือประชาชนฉลาดกว่าที่คิด ผู้เข้าร่วมเสนอความเห็นใหม่ๆ มากมายนอกเหนือจากกรอบข้อเสนอที่รัฐบาลกำหนดไว้ในเบื้องต้น ผู้เข้าร่วมปฏิเสธแนวคิดสุดโต่งและสนใจร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในความเห็นที่มีเหตุผล และผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้กระบวนการกำหนดนโยบายมากขึ้น[12]

Challenge.gov แก้ไขปัญหาสาธารณะผ่านภูมิปัญญาสาธารณะ

Challenge.gov คือผลผลิตที่ต่อยอดมาจากนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของโอบามา ซึ่งสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐใช้รางวัลเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันกันเสนอแนวคิดและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีและสังคม แนวคิดเบื้องหลังของโครงการนี้คือการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาของประชาชนโดยมีแรงจูงใจเป็นตัวกระตุ้น

Challenge.gov คือสารบบออนไลน์ที่รวม “ความท้าทาย” ของหน่วยงานภาครัฐ (ซึ่งอาจร่วมกับเอกชนก็ได้) ไว้ด้วยกันทั้งหมด และเป็นเวทีกลางให้ประชาชนเข้ามาค้นหา พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมให้กับภาครัฐอย่างเป็นระบบ ความท้าทายก็มีตั้งแต่ง่ายๆ อาทิเช่น การออกแบบโลโก้ หรือการออกแบบแอปพลิเคชั่น เช่น แอปที่ให้ความรู้เรื่องภาษี ให้ข้อมูลสำหรับคนพิการในการหาที่อยู่ที่เหมาะสม หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การออกแบบเกม เช่น เกมจำลองที่ช่วยพัฒนาความรู้และทักษะอาชีพให้กับนักเรียน หรือการสร้างเกมบนมือถือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศ ไปจนถึงการออกแบบเครื่องมือสุดล้ำ อย่างเช่นกรณีรางวัลดีซัล (DESAL Prize) งานแข่งขันที่ท้าทายให้ออกแบบเทคโนโลยีการขจัดเกลือด้วยต้นทุนที่ต่ำและประหยัดพลังงาน ซึ่งทีมที่ชนะคือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ที่ประดิษฐ์เครื่องแยกเกลือพลังงานแสงอาทิตย์และใช้รังสียูวีในการฆ่าเชื้อ

ความสำเร็จของ Challenge.gov ซึ่งมีประชาชนมากกว่า 250,000 คนร่วมแข่งขันใน “ความท้าทาย” กว่า 700 ชิ้น สะท้อนให้เห็นว่า หากเรามีเวทีและใช้แรงจูงใจกระตุ้นการแข่งขัน ประชาชนจะกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมที่ตื่นตัว และช่วยเสนอทางออกดีๆ ทั้งทางเทคโนโลยีและทางสังคมได้มากมาย[13]

 

อินเทอร์เน็ตกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม

ในปี 2006 นิตยสาร ไทม์ ได้เลือก “You” (เราทุกคน) ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นบุคคลสำคัญแห่งปี (Person of the Year) ด้วยเหตุผลว่า อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนธรรมดาอย่างพวกเราสามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลก โดยมีการอ้างถึง โอ้มายนิวส์ (OhmyNews) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่มีคำขวัญว่า “พลเมืองทุกคนคือนักข่าว” และเนื้อหาส่วนมากภายในเว็บไซต์ก็ผลิตโดยแม่บ้านชาวเกาหลีกว่าสามแสนชีวิต เว็บไซต์ดังกล่าวสื่อถึงพลังของประชาชนที่กลายเป็นกลไกตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่สำคัญของเกาหลีใต้

ภาพที่ 2 หน้าปกนิตยสาร ไทม์ ฉบับบุคคลสำคัญแห่งปี ประจำปี 2006 และ 2011

หน้าปกนิตยสาร ไทม์ ฉบับบุคคลสำคัญแห่งปี ประจำปี 2006 และ 2011

พอมาถึงปี 2011 นิตยสาร ไทม์ ก็เลือก “protesters” (ผู้ประท้วง) เป็นบุคคลสำคัญแห่งปี ผู้ประท้วงทั่วโลกได้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง ตั้งแต่อาหรับสปริง ซึ่งเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านกับการกดขี่บีฑาของเผด็จการ ไปจนถึงปฏิบัติการยึดวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านกับการจัดการวิกฤตการเงินที่รัฐบาลเข้าข้างนักการเงิน และขยายกลายเป็นการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก วาเอล โกนิม หนึ่งในผู้ประท้วงคนสำคัญที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือต่อสู้รัฐบาลเผด็จการในอียิปต์ได้กล่าวว่า “นี่คืออาหรับยุคใหม่ … ถ้าเยาวชนที่ใช้เฟซบุ๊กในประเทศนี้รวมตัวกันต่อต้านคอร์รัปชั่นและความอยุติธรรม อียิปต์จะกลายเป็นประเทศที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”

อินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกิดขึ้นผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ แต่เดิมนั้น ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ในการสื่อสารอย่างสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งมีลักษณะการสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังมวลชน (mass communication) และไม่เปิดให้มีส่วนร่วม จะเป็นผู้กำหนดความหมายในใจของผู้คนต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้ครอบครองทรัพยากรสื่อสารอันจำกัดอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุ สามารถสื่อสารกับมวลชนได้ (mass self-communication) ช่วยให้คนธรรมดาอย่างเราเป็นทั้ง “ผู้รับสาร” และ “ผู้ส่งสาร” ที่สามารถกำหนดวาระและความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 เราต่างประจักษ์ถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ในการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคม อาทิ อาหรับสปริงหรือปฏิบัติการยึดวอลล์สตรีท เรียกได้ว่าอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งเสรีภาพที่ช่วยเสริมพลังให้กับการเมืองภาคประชาชน และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการส่งเสียงของตนออกไปในวงกว้าง สร้างพื้นที่ในการถกเถียงแลกเปลี่ยน และขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยตนเอง เช่น ผ่านการลงชื่อใน Change.org

Change.org

Change.org คือเว็บไซต์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วโลกสามารถสร้างคำร้อง (petition) และร่วมลงชื่อในแคมเปญที่ตนสนับสนุน หลังจากนั้นจะมีการส่งคำร้องไปให้กับผู้มีอำนาจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างแท้จริง ในปี 2018 Change.org ระบุว่ามีพลเมืองเข้าร่วมมากกว่า 225 ล้านคน และมีคำร้องมากกว่า 25,000 คำร้องที่ได้รับชัยชนะใน 196 ประเทศ

แคมเปญของ Change.org ที่โด่งดังในระดับโลก เช่น การออกกฎหมายต่อต้านการกลั่นแกล้งในสหรัฐอเมริกา การออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในฝรั่งเศสบริจาคอาหารที่ขายไม่หมดแทนที่จะโยนทิ้ง  ฯลฯ ส่วนของประเทศไทย ตัวอย่างแคมเปญที่ได้รับความนิยมมากคือ

● “หยุด #พรบคอม หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต (373,375 ผู้ร่วมสนับสนุน)

● “เราต้องการพื้นที่การเรียนรู้ใจกลางเมืองสำหรับทุกคน National Knowledge Center”โดย เพื่อนเพื่อนของ ‘มีนา’ (237,686 ผู้ร่วมสนับสนุน)

● “Thai Govt: ต่อต้านการตั้งซิงเกิลเกตเวย์ Stop proposed plan for single internet gateway” โดย Coconut Shell Thailand (154,874 ผู้ร่วมสนับสนุน)

● “ดำเนินคดีกับผู้ล่าสัตว์ในเขตอุทยานฯ ต้องโปร่งใส และมีมาตรฐานแบบเดียวกันทุกคดี” โดย ตุลย์พิชญ์ แก้วม่วง (121,074 ผู้ร่วมสนับสนุน)[14]

โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

คำกล่าวที่ว่า “อินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่มีการคิดค้นเครื่องพิมพ์” คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก

อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้จำนวนมหาศาลในโลกออนไลน์ สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และเผยแพร่เนื้อหาด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ต้องการสร้างสรรค์ แบ่งปัน ร่วมมือ และวิพากษ์วิจารณ์

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอินเทอร์เน็ตสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเรียนรู้ในทุกระดับและทุกมิติ อินเทอร์เน็ตไม่เพียงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้ (ทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล) แต่รวมถึง “วิธีการเรียนรู้” (การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบร่วมมือกับผู้อื่น การเรียนรู้ที่ปรับเข้ากับบุคคลและสัมพันธ์กับชีวิตจริงมากขึ้น) และ “ช่วงเวลาในการเรียนรู้” (การเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเองมากขึ้น และการหาความรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต) เราสามารถสรุปการเปลี่ยนแปลงสำคัญได้ดังนี้

  • อิสรภาพในการท่องโลกความรู้โดยไม่ติดกับข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์ : เราสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีคุณภาพสูงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มหาวิทยาลัยชั้นนำมากมายนำเสนอคอร์สออนไลน์ฟรี จนมีการเรียกอินเทอร์เน็ตว่าเทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษามีความเท่าเทียมมากขึ้น นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้การศึกษาเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเครื่องมือ
  • วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ : การเรียนรู้แบบเดิมที่มีคนสอนหน้าห้องและให้ผู้เรียนท่องจำความรู้ถูกแทนที่ด้วยการเรียนรู้ผ่านเครือข่าย ซึ่งผู้เรียนต้องแสวงหาความรู้ ร่วมมือกับผู้อื่น และสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่วนครูจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (facilitator) แทน นอกจากนั้นอินเทอร์เน็ตยังเชื่อมต่อการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสถานการณ์จริงได้มากขึ้น
  • การเรียนรู้ที่ปรับเข้ากับความต้องการส่วนบุคคล : อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราควบคุมธรรมชาติและรูปแบบของการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเราได้มากขึ้น เช่น หากเราไม่เก่งเลขและต้องการเวลาในการเรียนรู้บทเรียนมากกว่าเพื่อน เราก็สามารถทบทวนบทเรียนด้วยตนเองก่อนที่จะขยับไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น
  • ประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ : สื่อการเรียนรู้แบบใหม่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากขึ้น เช่น การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลอง (simulation) การเรียนรู้ผ่านการเล่น (educational game) การเรียนรู้ผ่านภาพ (visualization) เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ประสบการณ์ในการเข้าถึงเนื้อหาเปลี่ยนไป เช่น การศึกษาปรากฏการณ์แผ่นดินไหวผ่านสถานการณ์จำลองหรือเกม[#จบbullet]

แหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ยอดนิยม

· Wikipedia : สารานุกรมออนไลน์ที่มีเนื้อหามากที่สุดในโลก และเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาสร้างสรรค์และแก้ไขเนื้อหาให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา

· Project Gutenberg : ห้องสมุดออนไลน์ที่รวบรวมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้ดาวน์โหลดฟรีมากกว่าห้าหมื่นเล่ม โดยหนังสือส่วนมากจะถูกเก็บไว้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น สกุล PDF, EPUB, MOBI, HTML เพื่อให้อ่านได้กับคอมพิวเตอร์เกือบทุกประเภท หนังสือส่วนมากที่ถูกนำมาแปลงเป็นดิจิทัลเป็นหนังสือที่ตกเป็นของสาธารณะแล้ว (public domain)

· YouTube EDU : ช่องวิดีโอการศึกษาของยูทูบที่มีผลงานรวมกันนับล้านชิ้นจากใครก็ตามที่ต้องการสร้างสรรค์และแบ่งปันวิดีโอการศึกษา เช่น ช่องรายการของครูนกเล็ก รวมถึงเนื้อหาจากพาร์ตเนอร์ด้านการศึกษาของยูทูบ เช่น TED-Ed, Khan Academy, Mahidol Channel และ Ormschool

· iTunes U : แหล่งรวมสื่อการเรียนรู้ทั้งในรูปของวิดีโอและเสียงในไอทูนส์สโตร์ เนื้อหาสื่อมีทั้งจากมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ และองค์กรสื่อสาธารณะ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดสื่อการเรียนรู้ที่ต้องการลงเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ก็ได้

· Khan Academy : องค์กรไม่แสวงกำไรด้านการศึกษาที่รวบรวมวิดีโอการศึกษาหลายพันชิ้นตามหัวข้อวิชา (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ศิลปะและมนุษย์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และการเงิน) และระดับการศึกษา ตั้งแต่อนุบาล ประถม จนถึงมัธยมปลาย รวมถึงมีแบบทดสอบสำหรับวัดผลการเรียนรู้ด้วย ซาลมาน คาน ผู้ก่อตั้ง มุ่งหวังให้วิดีโอการศึกษาของคานอะคาเดมี่เป็นส่วนเสริมของการเรียนในห้องเรียนตามแนวทางห้องเรียนกลับด้าน (flipped classroom) โดยให้นักเรียนดูวิดีโอและทบทวนบทเรียนก่อนชั้นเรียน เพื่อที่ครูผู้สอนจะได้ใช้เวลาในห้องเรียนกำกับการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการสอนหน้าชั้นเรียนแบบเดิม

· สื่อการเรียนรู้ฟรีจากสถาบันการศึกษา (Open Educational Resource) : สถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลก เช่น MIT OpenCourseware หรือ Harvard Open Courses เผยแพร่สื่อการเรียนรู้จากชั้นเรียนให้นักศึกษาและคนทั่วไปเข้าถึงได้ฟรีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น วิดีโอการสอน สไลด์การสอน บันทึกย่อสัมมนา

· หลักสูตรออนไลน์เปิดขนาดใหญ่ (MOOC – Massively Open Online Courses) : MOOC คือหลักสูตรออนไลน์ที่ไม่ได้มีแค่สื่อการสอนเหมือนกรณี Open Educational Resource เท่านั้น แต่ยังมีระบบอื่นๆ รองรับให้เหมือนการเรียนในชั้นเรียนจริง เช่น มีกระดานสนทนาเพื่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมคอร์สและผู้สอน ผู้เรียนต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายและผ่านการทดสอบ ผู้สอนจะต้องคอยตอบคำถามและให้คะแนนผู้เรียน รวมถึงมีการออกใบประกาศนียบัตรให้ (ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามา) นอกจากนั้นเนื้อหาการเรียนรู้ก็อาจมีการออกแบบใหม่ให้เข้ากับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วย MOOC ส่วนมากจะเปิดให้ลงทะเบียนเรียนได้ฟรีหากไม่ต้องการใบประกาศ และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะของตนเอง (ยกเว้นบางคอร์สที่มีการกำหนดเวลาชัดเจน)

สถิติปี 2016 แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้ลงทะเบียนเรียน MOOC กว่า 58 ล้านคนทั่วโลก มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเสนอคอร์สกว่า 700 แห่ง และมีคอร์สเรียนรวมกัน 6,850 คอร์ส MOOC ที่โดดเด่นอันดับต้นๆ คือ Coursera (MOOC ที่มีขนาดใหญ่สุดในปัจจุบัน มีนักเรียนลงทะเบียนเรียนกว่า 23 ล้านคน และมีคอร์สเรียนกว่า 2,000 คอร์ส), edX (MOOC ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีโดยไม่มุ่งแสวงกำไร มีผู้ใช้กว่า 10 ล้านคน), XeutangX (MOOC ของประเทศจีนที่แม้จะมีแต่คอร์สภาษาจีน แต่ก็มีผู้ใช้กว่า 6 ล้านคนแล้ว) และ Udacity (MOOC ที่เน้นคอร์สด้านวิชาชีพสำหรับคนทำงานเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านการตลาด มีผู้ใช้กว่า 4 ล้านคน)[15]

เนื้อหาคอร์สออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ 1) ธุรกิจและการจัดการ เช่น การตลาดในโลกดิจิทัล ความเป็นผู้ประกอบการในเศรษฐกิจใหม่ 2) วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เช่น การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) 3) วิทยาศาสตร์ทั่วไป เช่น ระบบสุริยะ ศาสตร์แห่งการคิดในชีวิตประจำวัน และ 4) สังคมศาสตร์ เช่น ความยุติธรรม ทฤษฎีเกม[16]

ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีบริการ MOOC โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และระบบสื่อสาระออนไลน์แบบเปิดที่บริหารงานโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

บทสรุป

อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้อย่างที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีไหนทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าโอกาสเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพียงเพราะเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีปฏิบัติทั้งในระดับสถาบันและระดับปัจเจกเพื่อแปลงศักยภาพของอินเทอร์เน็ตให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตยังอาจถูกใช้ในทางที่นำพาความเสี่ยงใหม่ๆ มาให้สังคม เช่น การคุกคามทางเพศ การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การละเมิดความเป็นส่วนตัว การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ข่าวลวง ประทุษวาจา หรือภาพโป๊เด็ก และอีกสารพัดปัญหาที่อินเทอร์เน็ตกำลังท้าทายสังคม

เทคโนโลยีไม่ได้มีความเป็นกลางและมีอำนาจกำหนดความเป็นไปของสังคม สิ่งที่กำหนดว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตจะดีหรือไม่ดี จะกลายเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง ล้วนเป็นเรื่องของพลเมืองอย่างเราทุกคนที่จะใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เราปรารถนา


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ คู่มือพลเมืองดิจิทัล เผยแพร่ทางเว็บไซต์ thaidigizen พลเมืองดิจิทัล 

อ้างอิง

[1] Manuel Castells, “The Impact of the Internet on Society: A global perspective,” in Change: 19 key essays on how internet is changing our lives (Spain: BBVA, 2013), 127-147.

[2] OCED, “Economic and Social Benefits of Internet Openness,” the background report for Panel 1.1 “Economic and Social Benefits of Internet Openness” of the OECD Ministerial Meeting on the Digital Economy, June 21-23, 2016, Cancún (Mexico).

[3] ที่มาภาพประกอบ Deloitte, “Values of Connectivity: Economic and social benefits of expanding internet access,” February, 2014, London, UK: Deloitte.

[4] James Manyika and Charles Roxburgh, “The Great Transformer: The Impact of the Internet on Economic Growth and Prosperity,” Report McKinsey Global Institute, October 2011.

[5] สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ), รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2560 (กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, 2560).

[6] Samuel Edward, “9 Tips to Make Your Ecommerce Business Wildly Successful,” Entrepreneur, May 15, 2015.

[7] ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต, “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery: ซีฟู้ดสดๆ ส่งตรงถึงหน้าบ้านคุณ,” a day online, มีนาคม 7, 2559. และ Oops Hardcore, “สัมภาษณ์พิเศษ ‘คุณโอ๋ เจคิว ปูม้านึ่ง’ ขายปูออนไลน์ร้อนล้าน,” MarketingOops!, ธันวาคม 13, 2559.

[8] Manyika and Roxburgh, “The Great Transformer.”

[9] เว็บไซต์ อีเอสโตเนีย

[10] ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), ถอดบทเรียน SMART PHUKET: เส้นทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (กรุงเทพฯ: เนคเทค, 2560).

[11] เข้าถึงได้ที่ Open Knowledge Foundation, Open Data Handbook (ฉบับภาษาไทย), แปลโดย ฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (กรุงเทพฯ: สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, 2558).

[12] Tanja Aitamurto and Helene E. Landemore, “Five Design Principles for Crowdsourced Policymaking: Assessing the case of crowdsourced off-road traffic law in Finland,” Journal of Social Media for Organizations 2, 1 (2015): 1-19.

[13] เว็บไซต์ Challenge.gov

[14] เว็บไซต์ Change.org

[15] อ้างอิงจาก Dhawal Shah, “By The Numbers: MOOCS in 2016,” Class Central, December 25, 2016.

[16] อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์, “จุดจบของมหาวิทยาลัย? MOOC กับความท้าทายใหม่ในโลกการศึกษา.” the101world, มีนาคม 21, 2560.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save