fbpx
Digital Medicine : ยาขนานใหม่ในวันที่คนป่วยไข้จากหน้าจอ

Digital Medicine : ยาขนานใหม่ในวันที่คนป่วยไข้จากหน้าจอ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเพิ่งฟังพอดแคสต์ Making Sense with Sam Harris โดยในตอนนี้มีแขกรับเชิญเป็น อดัม แกซซาลีย์ (Adam Gazzaley) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา ผู้เขียนหนังสือ The Distracted Mind : Ancient Brains in a High-Tech World ชวนคุยกันในหัวข้อ ‘The Price of Distraction’

คำถามใหญ่ของการสนทนาคือ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสามารถนำข้อมูลชุดใหม่มาเสิร์ฟลงตรงหน้าเราทุกวินาที ผ่านโนติฟิเคชัน นิวส์ฟีด ทวิต ฯลฯ พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างไรและมันทิ้งผลกระทบทางลบอะไรให้สมองมนุษย์บ้าง ?

อดัมเล่าว่า เดิมทีตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังเข้าป่าล่าสัตว์ ‘ข้อมูล’ คือกุญแจสำคัญในการมีชีวิตรอด ข้อมูลนั้นอาจจะเป็น ‘ข้างหน้ามีแหล่งน้ำ’ ‘สัตว์ชนิดนี้อันตราย’ หรือ ‘ผลไม้ลูกนี้มีพิษ’ ยิ่งมีข้อมูลป้อนให้สมองประมวลผลมาก โอกาสที่เราจะมีชีวิตรอดก็ยิ่งมากตาม มนุษย์จึงเป็นนักล่าข้อมูลโดยธรรมชาติ อดัมใช้คำว่า Information Foraging โดยเปรียบกับพฤติกรรมการหาอาหารของสัตว์อย่างกระรอกที่กระโดดหาถั่วกินบนต้นไม้ พฤติกรรมของกระรอกเหล่านี้คือกระโดดหาต้นใหม่แม้จะยังเก็บถั่วบนต้นที่ตัวเองอยู่ไปได้ไม่ถึงครึ่ง ไม่ต่างกับเราที่กระโดดหาหนังใหม่ คอนเทนต์ใหม่ เพลงใหม่ บทความใหม่ ฯลฯ ตลอดเวลา รวมถึงพฤติกรรมแบบ ‘แปะไว้เดี๋ยวมาอ่าน’

อดัมอธิบายถึงแรงสองแบบที่ทำให้มนุษย์เราหันไปหาข้อมูลใหม่ๆ แบบแรกเรียกว่า Bottom-up Attention คือแรงที่มาจากปัจจัยภายนอก เช่น เวลาเราได้ยินเสียงหม้อแปลงระเบิด เห็นแสงวาบบนฟ้า หรือได้ยินเสียงคนตะโกนชื่อเรา แบบที่สองคือ Top-down Attention หรือการที่เราตั้งใจเพ่งความสนใจไปยังอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง จากตรงนี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดึงเราทั้งสองทาง ทั้งแบบ Bottom-up อย่างเสียงอีเมลเข้า ไลน์เด้ง หรือโนติฟิเคชันใหม่ และ Top-down อย่างนิวส์ฟีดที่เบื่อเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบขึ้นมาไถหาอะไรดู บางทีแค่ไม่ได้เปิดดูเดี๋ยวเดียวก็ทำให้เรารู้สึกพลาดอะไรเต็มไปหมด

การเสพติดข้อมูลเหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่าย เราอดทนต่อความเบื่อได้น้อยลง กลัวว่าจะพลาดข้อมูลใหม่มากขึ้น และการโฟกัสอะไรนานๆ กลายเป็นเรื่องยากซะแล้ว แม้สมองของเราจะเป็นนักล่าข้อมูลตัวยง แต่ศักยภาพของมันก็มีจำกัด และพร้อมจะโอเวอร์โหลดหากต้องประมวลผลข้อมูลใหม่มากเกินไป สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะวิตกกังวล เบื่อหน่ายชีวิตที่เป็นอยู่ จากงานวิจัยของ Center for Human Technology พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก บอกว่าตัวเองรู้สึกแย่ลงหลังใช้เวลาไปกับมัน และยังพบอีกว่าแอปพลิเคชันยอดฮิตอย่างอินสตาแกรม, สแนปแช็ต หรือเฟซบุ๊ก คือสาเหตุของภาวะซึมเศร้า

ในช่วยท้ายของพอดแคสต์ แซมและอดัมพูดถึงวิธีการใช้ชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่ชวนให้เราหลุดโฟกัส เช่น ฝึกทำกิจกรรมแบบ single – tasking หรือทำอะไรอย่างเดียวและโฟกัสกับมันนานๆ ให้เรารู้สึกถึงความเบื่อหน่ายและกังวล เพื่อให้เราเผชิญหน้ากับมันจนเคยชินและทำความเข้าใจ ลองพักเบรคด้วยกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่หยิบมือถือ อาจเป็นการยืนมองพื้นที่สีเขียว ยืดเหยียดร่างกาย หรือทำสมาธิ และหาเวลา digital detox บ้างเป็นบางคราว

แซมและอดัมทิ้งท้ายไว้ด้วยคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจมากๆ นั่นคือ ‘Digital Medicine’ จากที่ทั้งสองคุยกันมาทั้งหมด เทคโนโลยีอาจดูเหมือนเป็นวายร้ายทำลายสุขภาพจิต แต่เหรียญย่อมมีอีกด้าน เพราะปัจจุบันเริ่มมีคนตั้งคำถามมากขึ้นว่า เทคโนโลยีที่เป็นตัวการทำร้ายสุขภาพใจจะถูกนำมาใช้เพื่อเยียวยาและสร้างสมดุลทางใจให้คนได้ไหมและอย่างไร หน้าจอที่เป็นเหตุของความป่วยไข้จะกลายเป็นชุดปฐมพยาบาลใจให้คนได้หรือเปล่า

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ผมได้อ่านเรื่องราวของ AeBeZe Laboratories หนึ่งในธุรกิจน้องใหม่ของโลกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบคำถามนี้ แล็บแห่งนี้เป็นสะพานเชื่อมโลกประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) เข้ากับการออกแบบคอนเทนต์ แนวคิดของ AeBeZe คือ ในแต่ละวันเรา ‘บริโภค’ ดิจิทัลคอนเทนต์ผ่านหน้าจอจำนวนมาก ทั้งวิดีโอ เพลง เกม บทความ วิดีโอบนติ๊กต๊อก ไอจีสตอรี่ ฯลฯ และคอนเทนต์เหล่านั้นกระตุ้นให้สมองของเราปล่อยสารสื่อประสาทหรือ Neurotransmitter ที่แตกต่างกันออกมา

เช่น ในวินาทีที่เรากดดูคลิปหมาแมวหรือสัตว์น่ารักๆ สมองของเราจะหลั่งฮอร์โมน Oxytocin ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกถึงความเชื่อใจและรู้สึกอบอุ่น ในขณะที่เวลาดูฉากแอ็กชันของหนังเควนติน ทารันติโน่ ฮอร์โมน Testosterone จะพุ่งพล่าน ทำให้เรารู้สึกแข็งแรงมีกำลังวังชาและกระตุ้นพลังทางเพศให้เดือดดาล แต่เมื่อใดที่นั่งดูคลิปป่า ภูเขา ทะเล ร่างกายของเราจะผลิต Gaba ที่ทำให้รู้สึกสงบ ควบคุมอารมณ์ และรักษาระดับของความกังวลได้ดีขึ้น

พอมองในมุมนี้ คอนเทนต์ที่เรารับเข้าสมองไปในแต่ละวันจึงเหมือนอาหารที่มีสารอาหารแตกต่างกัน AeBeZe นิยามสิ่งนี้ว่า ‘Digital Nutrition’ สารอาหารทางอารมณ์จำแนกออกเป็น 7 ชนิด ได้แก่

  • Serotonin หรือ Happiness ช่วยเรื่องความสมดุลทางอารมณ์และการนอนหลับ
  • Gaba หรือ Calm ช่วยควบคุมพฤติกรรม คลายความกังวล และทำให้รู้สึกสงบ
  • Endorphins หรือ Energy ลดความตึงเครียดของร่างกาย บรรเทาความเจ็บปวด และมอบความรู้สึกฟินให้เรา
  • Acetylcholine หรือ Focus เพิ่มความจดจ่อ กระตุ้นสร้างสรรค์ ความจำ และการเรียนรู้
  • Dopamine หรือ Motivation ยกระดับอารมณ์และความกระตือรือร้น
  • Oxytocin หรือ Connection สร้างความเชื่อใจ ความรู้สึกถึงสายสัมพันธ์ และช่วยเรื่องการเข้าสังคม
  • Testosterone หรือ Strength กระตุ้นความแข็งแรง เพิ่มความสนใจและแรงขับเคลื่อนทางเพศ และ
  • Experimental Medicine หรือ Imagination สารที่อยู่ในระหว่างการทดลองที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ

สิ่งที่ AeBeZe ทำคือการวิเคราะห์ Digital Nutrition ที่ซ่อนอยู่ในดิจิทัลคอนเทนต์ของแบรนด์ องค์กร หรือแพลตฟอร์มใดๆ ที่ต้องการจะสร้างความสมดุลทางอารมณ์หรือแม้แต่สร้างอิมแพ็กทางอารมณ์แก่ผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ทางการตลาด โดยประเมินจากองค์ประกอบต่างๆ ทั้งภาพและเสียง เช่น วิดีโอที่มีภาพทะเลและเสียงคลื่นช่วยกระตุ้น Gaba ในขณะภาพคนเล่นเซิร์ฟในช็อตต่อไปกระตุ้น Testosterone ทำให้สามารถคาดคะเนและประเมินผลได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า สิ่งที่สื่อสารไปทำให้สมองของเราหลั่งสารสื่อประสาทแบบไหนบ้างและส่งผลต่อสภาวะอารมณ์อย่างไร

 

ธุรกิจของ AeBeZe Laboratories ทำงานทั้งกับฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค สำหรับผู้ผลิต Digital Nutrition ทำหน้าที่คล้ายกับการติดฉลากคุณค่าทางโภชนาการลงบนดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อกำกับให้เกิดการผลิตคอนเทนต์ที่มีมาตรฐานทางโภชนาการทางอารมณ์ และสำหรับฝั่งผู้บริโภค คือการสร้างความตระหนักว่า การบริโภคอาหารผ่านหน้าจอในแต่ละวันมีเอฟเฟ็กต์ต่อสมองหรือสภาวะอารมณ์อย่างไรบ้าง และ ‘You are what you eat’ ไม่ได้ใช้แค่กับการบริโภคอาหาร แต่การบริโภคคอนเทนต์ก็เป็นอย่างนั้น

แนวคิดของ Digital Medicine กำลังบอกเราว่า วิธีการเยียวยาอาการป่วยไข้จากหน้าจอไม่ได้มีแค่ทางเดียว คือการปฏิเสธหรือหนีห่างจากหน้าจอ เราสามารถใช้หน้าจอเดียวกันนี้เป็นเครื่องมือเยียวยาและสร้างสมดุลได้เช่นกัน ฟังดูคล้ายแพทย์แผนโบราณที่รักษาธาตุร้อนด้วยอาหารธาตุเย็น

นอกจากจะทำหน้าที่วิเคราะห์สารอาหารในดิจิทัลคอนเทนต์ AeBeZe ยังพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทดลอง ‘จ่ายยา’ ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ชื่อว่า Moodrise

แอปฯ นี้เริ่มต้นโดยการให้เราทำแบบสอบถามเพื่อประเมินอารมณ์และความรู้สึกปัจจุบัน ก่อนจะเสนอสารอาหารที่แนะนำสำหรับเราโดยเฉพาะ สารอาหารที่ว่านั้นอยู่ในรูปแบบของเซ็ตภาพเคลื่อนไหว เสียง หรือเกมสั้นๆ Digital Nutrition เหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่เราขาด เช่น ในหมวด Calm เรียงร้อยไปด้วยภาพที่ทำให้รู้สึกสงบและไหลลื่นอย่างลูกบอลกลมๆ กลิ้งบนขดลวด ผ้าลื่นๆ พริ้วๆ สะบัดไปมาเพื่อกระตุ้นการหลั่งของ Gaba วิดีโอเดินป่าพร้อมเสียงธรรมชาติ ฯลฯ ในหมวด Energy เป็นน้ำตกที่ไหลเชี่ยวรุนแรง คลิปปล่อยจรวดของนาซ่าที่ดูแล้วใจเต้น ลูกแตงโมระเบิดเป็นเสี่ยงๆ เพื่อกระตุ้น Endorphins ฯลฯ

เมื่อดูจบเซ็ตสามารถประเมินได้ว่าสารอาหารโดสนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร ให้คะแนนว่ายาขนานนี้สามารถช่วยใจเราแค่ไหน เพื่อที่แอปจะนำข้อมูลไปพัฒนายาดิจิทัลเหล่านี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาแอปฯ ยังมีการจัด Moodrise Awards โดยคัดเลือกวิดีโอบน Netflix, Vimeo, Hulu และ Prime Video ที่มีความโดดเด่นทาง Digital Nutrition ประเภทต่างๆ รวบรวมเป็นเพลย์ลิสต์ ใครอยากเพิ่มพลังงาน อยากสงบ อยากสุข ฯลฯ เลือกดูกันได้ตามสารอาหารที่ขาด

แม้ไอเดีย Digital Medicine หรือ Digital Nutrition ของ AeBeZe จะเป็นธุรกิจใหม่ซะจนเราอาจยังนึกภาพไม่ออกว่ามันจะมาอยู่ตรงไหนในชีวิต แต่ในยุคสมัยที่สุขภาพจิตกลายเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของโลก ก็เชื่อได้ว่าอีกไม่นานไอเดียนี้คงได้เกี่ยวข้องกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเป็นเพลย์ลิสต์บน Netflix ที่ไม่ได้แบ่งตามหมวดหนังแอ็กชัน คอมเมดี้ ทริลเลอร์ ฯลฯ อีกต่อไป แต่แบ่งตามสารอาหารทางอารมณ์ที่ต้องการ อย่าง Calm, Energy, Connection ฯลฯ หรืออาจจะเป็นฟังก์ชันที่แจ้งเตือนว่าเวลาเราใช้ไปบนหน้าจอในแต่ละวันเริ่มไม่สมดุล วันนี้เสพข่าวการเมืองเยอะทำให้อารมณ์หนักไปทางพลุ่งพล่าน หาอะไรสงบๆ เพลินๆ มาบาลานซ์อารมณ์เสียหน่อยก็เป็นได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save