fbpx
‘อยู่กับโลกในจอแบบดีต่อใจ’ Digital Literacy เติมทักษะชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล

‘อยู่กับโลกในจอแบบดีต่อใจ’ Digital Literacy เติมทักษะชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่องและภาพ

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ถ้าคุณยังจำได้ ในยุคหนึ่ง การมีมือถือแบล็กเบอรี่สักเครื่องไว้ ‘บีบี’ ถึงกันถือเป็นสุดยอดความไฮเทค เราต่างตื่นเต้นกับหน้าจอเล็กๆ ที่มีแป้นพิมพ์แชทเล็กเท่าเมล็ดถั่ว ก่อนจะผงะซ้ำในอีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อแอปเปิ้ลเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นบุกเบิกอย่างไอโฟนมาช่วงชิงนิยามคำว่า ‘ไฮเทค’ ไป

นั่นเป็นเรื่องของเมื่อก่อนที่พอนึกย้อนทีไร ก็ยังจำความรู้สึกตื่นตาตื่นใจได้ แต่สมัยนี้ ดูเหมือนว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะไม่ได้สร้างความน่าตื่นเต้นมากมายขนาดนั้นอีกแล้ว เราทุกคนคุ้นชินกับการมีอุปกรณ์ดิจิทัลอยู่ข้างกาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรืออื่นๆ

หากจะมีอะไรที่ยังคงตื่นเต้น น่าจะเป็นสิ่งที่อุปกรณ์ดิจิทัลพาเราไปพานพบเสียมากกว่า เป็นต้นว่า โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มความบันเทิง ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์ ซึ่งนับวันยิ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทวีความซับซ้อน และเกิดความขัดแย้งใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ มันยังทำให้เราต้องปรับตัวและหาวิธีใช้ชีวิตให้ ‘ดีต่อใจ’ ไม่ปวดหัวกับความวุ่นวายในโลกดิจิทัลอยู่เนืองๆ

และเราอาจจะต้องคิดมากขึ้นไปอีก เมื่อคุณไม่ได้อยู่กับโลกในหน้าจอแค่คนเดียว แต่ลูกของคุณ ครอบครัวของคุณ ก็ใช้ชีวิตครึ่งหนึ่ง (หรือมากกว่าครึ่ง) อยู่ในโลกเสมือนเช่นกัน ยิ่งเด็กยุคใหม่เกิดมาได้สัมผัสสมาร์ตโฟนตั้งแต่เล็ก เสพเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น เรายิ่งต้องกลับมาพิจารณาถึงการสร้างเสริมทักษะชีวิตในโลกดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้มากขึ้น

จริงอยู่ว่า Digital Literacy อาจไม่ใช่คำใหม่ ความรู้ใหม่ แต่ภายใต้คำที่คุ้นหูคุ้นตา ความรู้ที่คิดว่าเคยเข้าใจ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทักษะอะไรที่สำคัญและสมควรถูกเน้นย้ำกันอีกครั้ง 101 คุยกับ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO-Co-Founder ZTRUS บอร์ดบริหาร DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association เกี่ยวกับหลักคิด ทักษะชีวิตสำหรับครอบครัวในยุคใหม่ รวมถึงสิ่งที่รัฐต้องมองให้ไกลเพื่อพลเมืองในอนาคต

Digital Literacy นิยามใหม่ ทำไมคุณต้องรู้จักสิ่งนี้?

 

Digital Literacy คืออะไร?

โดยทั่วไป คุณอาจนึกถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เท่าทันความก้าวหน้า แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้น เข็มพร วิรุณราพันธ์ กล่าวว่า ภายใต้ร่มใหญ่ชื่อ Digital Literacy ยังประกอบไปด้วยทักษะความรู้อื่นๆ ด้วย

ตัวอย่างเช่น ทักษะการรู้สื่อ (Media Literacy) – รู้เท่าทันเนื้อหาและผลกระทบจากสื่อ, ทักษะความรู้สารสนเทศ (Information Literacy) – กลั่นกรองข้อมูล เลือกใช้ประโยชน์จากข้อมูล, ทักษะการรู้สังคม (Social Literacy) – มีส่วนร่วมในสังคม เข้าใจวัฒนธรรม เป็นต้น เหตุที่ทักษะเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ด้านดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีไม่ได้มาเยือนเราเพียงแค่ตัวของมันเอง แต่มันยังพาข้อมูลมหาศาล และปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ๆ มาเป็นของฝาก เมื่อพูดถึง Digital Literacy เราจึงไม่พูดถึงความเข้าใจด้านสื่อ ข่าวสาร และสังคมออนไลน์ไม่ได้เลย

ถึงแม้ว่าทางหนึ่ง คนอาจคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลกันมานานแล้ว แต่ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม มองว่า เราต้องกลับมาใส่ใจเรื่อง Digital Literacy กันอีกครั้งในตอนนี้ เพราะเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารและวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้น เห็นผลกระทบอย่างใกล้ชิดชัดเจนยิ่งขึ้น

นึกภาพง่ายๆ ว่า สมัยก่อน คุณอาจติดต่อกับคนในต่างประเทศผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่ก็ถือว่ายังล่าช้ากว่าสมัยนี้ที่มีทั้งไลฟ์ เฟซไทม์ โซเชียลมีเดีย “พัฒนาการด้านดิจิทัลทำให้เราติดต่อกับคนอื่นได้เรียลไทม์ ข้อมูลที่คนแลกเปลี่ยนกันในสังคมตอนนี้ใหญ่ขึ้น และนั่นสร้างผลกระทบต่อมนุษย์”

“ปกติ มนุษย์เมื่อได้รับข้อมูล จะพยายามตีความออกมาเป็นการกระทำ พอปัจจุบันแค่ไถสมาร์ตโฟนครั้งหนึ่ง ก็ได้รับข้อมูลเข้ามาในหัวปริมาณมาก เป็นข้อมูลที่กว้างไกลกว่าตาเห็นหรือสองแขนเอื้อมถึงในโลกจริง อีกทั้งยังรวดเร็วขึ้น ง่ายดายขึ้น ความเร็วในการทำงานตีความข้อมูลของสมองมนุษย์เพื่อตัดสินใจหรือทำอะไรบางอย่างย่อมเร็วขึ้น – ยิ่งเป็นการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ที่แข่งขันกันเรื่องความเร็วตลอดเวลา อาจบอกได้ว่า ดิจิทัลเปลี่ยนโลกของเรา เปลี่ยนวิธีการทำงานในสมอง ประสาทสัมผัส และพฤติกรรมของเราไปแล้ว” พณชิตอธิบาย

แน่นอน ดิจิทัลไม่เพียงเปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์สมัยนี้ หากยังส่งผลถึงมิติครอบครัวเช่นกัน ในอดีต พ่อแม่อาจวุ่นวายใจกับการเลี้ยงดูลูกในโลกจริงเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน เมื่อคุณ – พ่อแม่ ลูก หรือสมาชิกคนใดก็ตามในครอบครัวกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์ ทุกคนย่อมต้องคิดเรื่องบริหารจัดการความสัมพันธ์ในโลกเสมือนนั้นด้วย

จะโพสต์รูปลูกดีไหม? จะแอดเฟซบุ๊กครอบครัวดีหรือเปล่า? สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของครอบครัวยุคใหม่แทบทุกบ้าน “เพราะโลกดิจิทัลตอนนี้ยังเป็นโลกที่ไม่มีระเบียบชัดเจน เราไม่รู้ว่าควรจะจำกัดความวัฒนธรรมในโลกดิจิทัลยังไง แบ่งแยกพื้นที่กันแบบไหน มันใหม่จริงๆ” พณชิตกล่าว

“สิ่งที่จะช่วยเราได้จึงเป็นความรู้ Digital Literacy เพื่ออยู่ในโลกดิจิทัล เพื่อเอาตัวรอดในโลกที่มีข้อมูลมากมาย เราจะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย ใช้ประโยชน์ และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง รวมถึงต่อผู้อื่น”

“ที่สำคัญที่สุด ทักษะ Digital Literacy กล่าวได้ว่าควรเป็นอีกหนึ่ง ‘สัญชาตญาณ’ ของคนยุคใหม่ “เหมือนเราข้ามถนนต้องมองซ้ายขวา เห็นปลั๊กไฟอย่าเอานิ้วไปแหย่เล่น” พณชิตหัวเราะ “เป็นเรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตที่ใช้ได้โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวในโลกดิจิทัล” ด้วยเหตุผลว่าต่อไป เราจะมีตัวตนอยู่ในโลกดิจิทัลทุกคน – ต่อให้คุณจะเป็นคน ‘โลว์เทค’ มากก็ตาม

“สุดท้าย เราจะถูกบังคับให้ออนไลน์ทางใดทางหนึ่งในอนาคต เพราะโครงสร้างพื้นฐานทั้งสังคมเปลี่ยนไปทั้งหมด อย่างตอนนี้อาจมีคนบางกลุ่ม ผู้สูงอายุหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ แต่ข้อมูลสำมะโนครัวของเขาที่รัฐมีอาจจะออนไลน์แล้วก็ได้” พณชิตแสดงความเห็น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองจากเข็มพรที่คิดว่า “ถึงแม้ตอนนี้ เราจะมีมือถือที่ไม่ใช่สมาร์ตโฟน แต่ดิจิทัลก็กระทบต่อเรา”

“มันทำให้ข้อมูลเดี๋ยวนี้ซับซ้อนขึ้น มีข่าวปลอม ข่าวจริง ภาพตัดต่อด้วยเทคโนโลยีต่างๆ บางครั้งถึงไม่เสพจากสื่อออนไลน์ แต่ข้อมูลในออนไลน์ก็ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลัก ทำให้เราต้องมีทักษะ Literacy ที่เข้มแข็งจริงๆ ถึงจะใช้ชีวิตในโลกที่ข้อมูลข่าวสารซับซ้อน ไม่ตกเป็นเหยื่อได้”

“Digital Literacy ที่สำคัญในยุคนี้สำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องใช้อุปกรณ์ให้เป็นอีกแล้ว” พณชิตเสริม “การใช้ดิจิทัลได้หรือไม่ได้เป็นประเด็นรองๆ เลย เพราะทุกวันนี้อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์หลายอย่างถูกดีไซน์ให้เราใช้งานง่ายขึ้น

“ทักษะ Digital Literacy ที่สำคัญจึงเป็นเรื่อง ‘เราจะรับข้อมูลข่าวสารแบบไหน’ และ ‘ใช้ชีวิตอย่างไรในโลกดิจิทัล’ มากกว่า”

 

พณชิต กิตติปัญญางาม
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO-Co-Founder ZTRUS

 

ก่อนรู้จักโลกดิจิทัล ความสัมพันธ์ในโลกจริงต้องมั่นคง!

 

ก่อนที่คุณ – พ่อแม่ยุคใหม่ จะค้นหาคำตอบว่าทักษะ Digital Literacy ยุคนี้มีอะไรบ้าง เพื่อเร่งรีบกระโดดเข้าไปในโลกดิจิทัลตามลูกๆ เราอยากให้คุณเริ่มต้นจากพื้นฐาน คือการทบทวนว่าคุณเป็นห่วงการใช้จอของลูกหรือไม่? ถ้าใช่ คุณเป็นห่วงเรื่องอะไร? เพื่อป้องกันการด่วนตัดสินว่าการใช้หน้าจอและเนื้อหาในโลกดิจิทัลมีแต่พิษภัย จนตัดบทด้วยการไม่ใช้ ไม่ให้คนในครอบครัวใช้ และไม่ต้องรู้เรื่อง Digital Literacy ให้ลึกซึ้ง

“เรื่องที่ท้าทายสำหรับผม คือการตอบคำถามว่าทำไมลูกไม่ควรมองจอ” พณชิต ผู้มีอีกบทบาทหนึ่งเป็นคุณพ่อของลูกเล็กวัย 5 ขวบกล่าว “ผมมักจะตั้งคำถามเสมอว่าการมองจอไม่ดีอย่างไร ถ้าเป็นห่วงเรื่องปัญหากายภาพ เรื่องสายตา ก็ต้องควบคุมเวลาการใช้ แต่ถ้าเป็นห่วงเรื่องคอนเทนต์ เราก็ต้องดูอีกทีว่าจะรับมือยังไง ไม่ใช่ว่าเราเป็นห่วงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วตัดจบว่าห้ามมองจอ ห้ามดู

“เราต้องพยายามวิเคราะห์ว่าเราห่วงอะไร แล้วแก้ปัญหาที่สาเหตุ ไม่หยุดที่ทางแก้ว่าห้ามดูจอ การห้ามดูแก้ปัญหาเรื่องคอนเทนต์ที่เขารับจากโลกดิจิทัลไม่ได้ด้วย เพราะยังไงเด็กก็ต้องเสพคอนเทนต์จากช่องทางใดช่องทางหนึ่งอยู่ดี พวกเขามีความอยากรู้อยากเห็นตามวัย”

ในกรณีที่คุณห่วงว่าการใช้จอจะทำให้ครอบครัวห่างเหิน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน ทางแก้ที่ดีที่สุดก็ยังคงไม่ใช่การห้ามมองจออยู่ดี “มันไม่เกี่ยวว่าใช้จอหรือไม่ แต่เกี่ยวกับว่าเราใช้จอคนเดียวหรือใช้กับลูก กับคนในครอบครัวไหม” พณชิตยกตัวอย่าง “อย่างผมเล่นเกมกับลูก อ่านนิทาน เปิดแอนิเมชั่นให้ลูกดูด้วยกัน มันก็เป็นเวลาของครอบครัวได้ จอเป็นเพียงเครื่องมือในการสานสัมพันธ์อย่างหนึ่งเท่านั้น” หรือกล่าวอีกอย่างว่า เวลาของครอบครัวในสมัยนี้ไม่ได้จำกัดแค่ต้องอยู่บนโลกจริงเสมอไป

ด้านเข็มพรเองก็มองว่า ถ้าพ่อแม่ใช้จอร่วมกับลูก กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างกันตั้งแต่ยังเด็ก จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขาสามารถเผชิญหน้ากับข้อมูลและสังคมในโลกดิจิทัลได้ดีมากขึ้น รวมถึงพ่อแม่เอง ก็ได้ทำความรู้จักโลกอีกใบของเด็กๆ ได้ดียิ่งขึ้น

“ปัญหาส่วนใหญ่ของครอบครัวตอนนี้ คือพ่อแม่อาจไม่ได้ใช้จอกับลูก เรียนรู้ร่วมกันกับลูก ปล่อยให้ลูกใช้เพียงคนเดียว บางคนจึงรู้สึกว่าตัวเองเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เข้าไม่ถึงโลกของลูก มองว่ามันมีพิษภัย แต่ถ้าเราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก สร้างความไว้วางใจ ให้ครอบครัวคุยกันได้ทุกเรื่อง เราจะไว้ใจให้ลูกเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ เพราะเด็กจะกล้ามาเล่าให้เราฟังเวลาเขาเจอเรื่องใหม่ๆ หรือเจอปัญหาที่อยากจะปรึกษา

“พื้นฐานความไว้ใจกันในครอบครัวจะทำให้พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องไปไล่ตามเขาในโลกออนไลน์ทุกเรื่อง ไม่ต้องคอยตรวจสอบลูกตลอดเวลา” เข็มพรเน้นย้ำว่าในส่วนของเด็กเล็ก พ่อแม่อาจต้องคอยติดตามเพราะเขาอาจจะยังไม่พร้อมใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ เราควรเร่งใช้เวลาส่วนนี้สร้างความใกล้ชิด ความไว้ใจของลูกต่อพ่อแม่ แต่สำหรับวัยรุ่น พ่อแม่ต่างหากที่ควรไว้ใจลูก คอยสนับสนุนเขาจากด้านหลัง และเปิดใจเรียนรู้วิถีชีวิตในโลกออนไลน์ไปด้วยกัน

“ไม่ว่าอย่างไร เราไม่ควรคิดหลีกหนีไปจากดิจิทัล ไม่อย่างนั้น เราจะไม่ทันมองเห็นแง่งามจากการใช้อย่างสร้างสรรค์ของมัน”

 

How to รับมือข้อมูลในโลกออนไลน์ แบบที่สอนลูกได้ — สอนตัวเองก็ยังได้

 

เมื่อคุณปูพื้นฐานความสัมพันธ์ของครอบครัวในโลกจริงให้มั่นคงแข็งแรงแล้ว ก็ถึงคราวเข้าสู่โลกดิจิทัล— โลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย จริงเท็จผสมปนเปกันไป แถมบางครั้งยังไม่รู้ว่าใครกันแน่คือต้นกำเนิดของข้อมูล

ทักษะ Digital Literacy ข้อแรกที่ทุกคนควรมีจึงเป็นทักษะ ‘เจ้าหนูจำไม’ คอยตั้งคำถามต่อทุกสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน รับรู้จากโลกเสมือนจริง

“สังคมไทยยังไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการตั้งคำถามกันเท่าไรนัก” เข็มพรตั้งข้อสังเกต “ในตอนนี้ เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปเร็วมาก แต่วัฒนธรรมการเสพสื่อเรายังเหมือนเดิม เมื่อก่อนคนดูสื่อหลักและเชื่อข้อมูลที่อยู่ในสื่อหลัก คิดว่ามันถูกต้องเพราะผ่านการคัดกรองก่อนปล่อยสู่ประชาชน  ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว สื่อคือสิ่งประกอบสร้างของมนุษย์ ข่าวสารในสื่อหลักต้องผ่านคนที่อยู่เบื้องหลัง เช่นกลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของสื่อหรือรัฐ การที่เราฟังและเชื่ออย่างเดียวโดยไม่ตั้งคำถาม ทำให้เรามองไม่ออกว่าสื่อส่งผลต่อเรายังไง ค่านิยมที่แฝงมาคืออะไร

“พอมีสื่อใหม่เข้ามา มันมีประเด็นหลายอย่าง ทั้งเรื่องความรวดเร็ว ทำให้ยากที่จะตรวจสอบแหล่งข้อมูล ใครเป็นเจ้าของสื่อ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถปลอมแปลงข้อมูล ตัดต่อภาพจนเหมือนจริง พอข้อมูลซับซ้อนมากขึ้นแบบนี้ เราจะใช้วัฒนธรรมเสพสื่อแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว”

เข็มพรเสริมว่าหลายคนยังนิยมเสพสื่อเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ดูละครในทีวี ดูซีรีส์ในอินเทอร์เน็ตแบบสนุกสนานแล้วผ่านไป ไม่ทันวิเคราะห์ว่าเนื้อหาความสนุกเหล่านั้นมีชุดความคิด ค่านิยม หรือทัศนคติอะไรอยู่เบื้องหลัง ทักษะการตั้งคำถามและต่อยอดจากคำถามมาคิดวิเคราะห์ กลายเป็นทักษะ Critical Thinking จึงสำคัญมากสำหรับการรับสารในยุคนี้

อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้คุณสามารถรับมือกับปรากฏการณ์ข่าวปลอม (Fake news) ในโลกออนไลน์ได้ในเบื้องต้น “ถ้าเราตั้งคำถามอยู่ตลอด เชื่อว่าความจริงไม่ได้มีแค่ชุดเดียว เราจะตรวจสอบข้อมูลนั้นก่อนแชร์เสมอ”

การสร้างนิสัยชอบตั้งคำถามและทักษะคิดวิเคราะห์ มองสื่ออย่างทะลุปรุโปร่งนี้ พณชิตมองว่าพ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาให้แก่ลูกมากทีเดียว เพราะถ้าเทียบระหว่างเด็กที่มีประสบการณ์พบเจอโลกมาน้อยกับพ่อแม่  แน่นอนว่าฝ่ายหลังย่อมมองเห็นเบื้องหลังวิธีคิดของสารแต่ละอย่างได้เฉียบคมยิ่งกว่า

“เด็กสมัยนี้อาจหาความรู้ ดูคอนเทนต์ต่างๆ จากโลกดิจิทัลได้ แต่กระบวนการย่อยคอนเทนต์ มองสิ่งที่แฝงมาอาจจะไม่ดีเท่าพ่อแม่ พ่อแม่จึงมีหน้าที่สอนเรื่องชุดความคิดแต่ละชุดให้เขา” พณชิตระบุ และการสอนลูกว่า ชุดความคิดแต่ละชุด ค่านิยมแต่ละอย่างที่แฝงมาว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ ‘ควร’ หรือ ‘ไม่ควร’ ก็อาจต้องอาศัยประสบการณ์ของพ่อแม่เช่นกัน

“มันเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะสอนให้ลูกเข้าใจ เพราะการตัดสินบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การรับรู้ข้อมูลของแต่ละคน แต่เราอาจช่วยให้ลูกมีประสบการณ์ทางความคิดได้บ้าง เช่น ชวนเขาตั้งคำถามต่อชุดความคิดนั้น ให้เขาได้เห็นความคิดหลายๆ แบบ นั่งคุย ชวนคิดไปพร้อมๆ กับลูก”

สิ่งที่พณชิตเน้นย้ำในกระบวนการสอนลูกแบบนี้ คือพ่อแม่ต้องคิดว่า “ตัวเองก็ไม่ได้รู้มากหรอก ตัวเองก็อาจจะเป็นฝ่ายผิดได้” ความคิดความเชื่อบางอย่างของเราอาจจะเป็นผลมาจากโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) หรืออาจจะเพราะอยู่ในวังวนของ Echo Chamber ซึ่งเป็นผลจากอัลกอริทึมของเทคโนโลยี – พ่อแม่ควรจะคิดและตระหนักจุดนี้อยู่เสมอ “เพื่อให้อีโก้เราหายไป ออกไปหาอะไรที่แตกต่าง และย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อตัวเองบ้าง”

ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามกับข้อมูลและวิเคราะห์อย่างรอบด้านเท่านั้น เข็มพรยังเสนอว่าทักษะ ‘จับใจความ’ ข้อมูลในโลกดิจิทัลก็สำคัญต่อคนยุคใหม่ไม่ต่างกัน กล่าวคือ ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารมหาศาล เราต้องมีทักษะกลั่นกรอง รู้ว่าข้อมูลไหนที่เราต้องการนำไปใช้ประโยชน์ “เป็นทักษะที่เราสามารถตอบตัวเองได้ว่า เมื่อเข้ามาในโลกออนไลน์ เราต้องการข้อมูลอะไร จะเข้าถึงมันได้อย่างไร หาจากที่ไหน” เข็มพรชี้แจง

“ถ้ามีทักษะดังกล่าว คนจะสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดี ไม่ใช่ค้นไปเรื่อย หลงทางไปทั้งวัน”

แค่หลงทางจนเสียเวลาอาจไม่เท่าไร สิ่งที่พ่อแม่หลายคนหวั่นใจ น่าจะเป็นการที่เด็กหลงทางไปเจอเนื้อหาไม่เหมาะกับวัยในโลกดิจิทัลเสียมากกว่า – เป็นต้นว่า หนังโป๊ วิดีโอวาบหวิว พรรค์นั้น

“ผมไม่ปล่อยให้ลูกผมใช้เองอยู่แล้ว” คุณพ่อลูกเล็กอย่างพณชิตรีบพูด “สำหรับเด็กเล็ก พ่อไม่ควรปล่อยให้เลือกคอนเทนต์เอง เราจำกัดเขา ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่ควรดูหรือเราไม่ชอบใจอย่างเดียว แต่เพราะบางเรื่อง เขายังไม่โตพอจะเข้าใจ เหมือนกินอาหารแล้วฟันเขายังไม่แข็งแรงพอจะเคี้ยว ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่เราจะระวังให้เขาหน่อยก็ดี

“แต่ถ้าเป็นเด็กโตแล้ว ผมว่าพ่อแม่ก็ควรเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นะ” ..ว่าวัยรุ่นเป็นวัยว้าวุ่นและสนใจเรื่องเพศ ซึ่งประเด็นนี้ ฝั่งเข็มพรกล่าวว่า “ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่สื่อ แต่เป็นเรื่องการศึกษาเพศศึกษาในโรงเรียนของเราค่อนข้างอ่อน

“ถ้าเราสอนเพศศึกษาให้เด็กดีพอ พ่อแม่อาจจะกังวลเรื่องเหล่านี้น้อยลง ตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังกลัวว่าเพศศึกษาจะสอนเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เนื้อหาจริงๆ ไม่ได้สอนแค่เรื่องเพศสัมพันธ์ ยังมีเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ของคน การรับมือปัญหาด้านเพศที่ต้องเผชิญ เราไม่เตรียมความพร้อมเลย แล้วก็กลัวว่าสื่อจะมาทำอะไรลูก” ความกังวลดังกล่าวจึงควรแก้ที่สาเหตุอย่างระบบการศึกษา เปิดใจ และเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศให้กว้างขึ้นในสังคม

เข็มพรยังฝากว่านอกจากเรื่องเพศแล้ว พ่อแม่ควรเปิดใจ (หรือใจเย็น) กับเนื้อหาหยาบคายด้วย เพราะพัฒนาการของศัพท์แสงวัยรุ่นตอนนี้ไปไกลอย่างมาก

“ตอนนี้ พ่อแม่อาจต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของคำและบริบทบางอย่าง ถ้าเราไปยึดคำใดคำหนึ่งว่าหยาบคาย ผิดหลักภาษา ก็อาจจะหวั่นใจเวลาลูกไปเจอ เราต้องเปิดกว้าง ทำความเข้าใจเบื้องหลังคำนั้นว่ามีบริบทอะไรยังไงก่อนตัดสิน”

ตัวอย่างเช่น หากคุณเจอคนอุทาน ‘อีดอก’ ในอินเทอร์เน็ต คุณก็ต้องใจเย็นๆ เพราะนั่นอาจไม่ใช่คำด่ารุนแรงอีกต่อไป เพราะมันคือคำว่า ‘โอ้มายก๊อด’ ของวัยรุ่นต่างหาก เข็มพรคิดว่าถ้ามีทักษะการทำความเข้าใจบริบทของเนื้อหา เราจะเสพข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น

“เพราะเนื้อหาอันตรายบางอย่างไม่ได้มาในรูปแบบคำหยาบคาย เช่น คนพูดเพราะแต่บูลลี่ หรือใช้ Hate Speech ก็มี เราจะได้เท่าทัน”

 

เข็มพร วิรุณราพันธ์
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)

 

How to ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์แบบสบายใจ ปลอดภัย ปล่อยวาง

 

โลกดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่โลกของข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมมนุษย์แบบใหม่ที่ย้ายขึ้นไปอยู่ในโลกเสมือนจริงไร้พรมแดน ดังนั้นนอกจากทักษะรับมือกับข้อมูลแล้ว ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ก็สำคัญยิ่งยวดต่อคนทุกวัยไม่แพ้กัน

“ดิจิทัลเข้ามาขยายความเทาๆ ของสังคมให้รุนแรงขึ้น” พณชิตออกความเห็น คำว่า ‘ความเทาๆ’ ของเขาหมายถึงสิ่งที่เราไม่อาจชี้นิ้วว่าใครถูกหรือผิดได้อย่างชัดเจน “.. การถกเถียงกัน ดราม่าต่างๆ ในโซเชียล ถึงเราจะมีความขัดแย้งกันในโลกจริงมานานแล้ว แต่ดิจิทัลขยายความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างให้รุนแรงขึ้น เพราะเราทำทุกอย่างได้เร็วขึ้น เห็นคอนเทนต์จากคนที่ไม่ชอบได้บ่อยขึ้น ทะเลาะกับคนที่อยู่ไกลได้มากขึ้น..”

การจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ ‘เห็นคอมเมนต์แต่ไม่เห็นตัว’ เช่นนี้ พณชิตเสนอว่าเราต้องกลับไปยึดหลักรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม คือ การเข้าอกเข้าใจคนอื่น หรือ Empathy

“การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เราสามารถเข้าใจมุมมองของคนอื่นที่มองมายังตัวเรามากขึ้น และทำให้เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เราอาจไม่จำเป็นต้องรักกันก็ได้ แต่อย่างน้อย ต้องเห็นอกเห็นใจคนอื่นเพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้า” พณชิตแจง “Empathy ยังทำให้เราไม่มีอีโก้ที่ใหญ่เกินไป ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งนั่นจะช่วยให้เราเปิดใจ เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ และรู้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความหลากหลายนั้นได้ยังไง”

สำหรับเข็มพรแล้ว เธอถือว่าการเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็นทักษะแบบหนึ่งที่ต้อง ‘ฝึก’ ในยุคดิจิทัลเลยทีเดียว “เพราะถ้าเป็นปกติ เราอยู่ในบ้าน ในชุมชน เราสามารถเห็นหน้าเห็นตาคนอื่น สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์จากกันและกันได้ว่าเขารู้สึกหรือมีอารมณ์ยังไง แต่เมื่ออยู่ในโลกดิจิทัล ความรู้สึกเหล่านั้นหายไป เราไม่รู้และทำให้เราอาจไม่ทันเห็นอกเห็นใจบางปัญหาของคนอื่น

“เราจึงต้องเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจจากโลกจริง แล้วนำมาปรับใช้ในโลกออนไลน์ ใช้สองโลกมาประกอบกัน เตือนตัวเองอยู่เสมอเมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกออนไลน์ว่าถ้าเราเจอแบบนี้ในชีวิตจริง จะรู้สึก และตัดสินใจทำอะไร เป็นทักษะชีวิตที่ต้องเรียนรู้กันใหม่”

ทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้ดิจิทัลทุกวัยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอันเป็นพิษภัยในโลกออนไลน์ ทั้ง Cyber Bully, Hate Speech, การละเมิดความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงอาชญากรรม ความรุนแรงด้านเพศ และความรุนแรงต่อจิตใจต่างๆ

“บางเรื่องมีกรอบทางกฎหมายคอยควบคุมไว้อยู่ แต่สำหรับสิ่งที่ไม่มีกรอบทางกฎหมายกำหนด เช่น เอารูปลูกแก้ผ้าอาบน้ำไปโพสต์ได้ไหม ครูถ่ายรูปนักเรียนมาหัวเราะในโซเชียลได้ไหม สิ่งเหล่านี้ต้องใช้กรอบความคิดเรื่องจรรยาบรรณ และการเห็นอกเห็นใจคนเข้ามาช่วย ไม่หลงลืมไปเพียงเพราะเราอยากได้ยอดไลก์ยอดแชร์” เข็มพรเตือน

“อีกเรื่องหนึ่งคือต้องระวังความคิดความเชื่อ ความเข้าใจผิดบางเรื่องที่แอบแฝงอยู่ในตัวเรา เพราะในโลกออนไลน์ การแสดงออกบางอย่างอาจจะดูรุนแรงกว่าเดิม มีผลมากกว่าเดิม สมมติว่าเราไม่ชอบคนคนหนึ่ง ในโลกจริงเราคงไม่ได้เดินไปว่าเขา แต่พออยู่ในโลกออนไลน์ เราพิมพ์ว่าเขาแล้วมันอาจจะกระทบคนอื่นๆ ด้วย ยิ่งถ้าเป็นความเข้าใจผิด อคติเหมารวมเกี่ยวกับกลุ่มคน เชื้อชาติ มันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้”

นั่นอาจตีความได้ว่า การใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลเรียกร้องความเข้าใจในเรื่องของ Political Correctness ด้วยว่าการกระทำแบบใดหรือคำแบบไหนที่แฝงด้วยอคติ ความรุนแรงต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม และยังต้องเข้าใจบริบทวัฒนธรรมที่อ่อนไหว เพราะสังคมออนไลน์ตอนนี้มีคนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อาศัยร่วมกัน

“เราต้องตระหนักว่าตัวเราในโลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโลก เป็นพลเมือง เป็นเจ้าของ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม สิ่งที่เราสร้างล้วนมีผลต่อคนอื่น ดังนั้น เราจะใช้พื้นที่ออนไลน์ของเรายังไงให้เกิดประโยชน์มากกว่าผลกระทบ สำนึกเหล่านี้ควรปลูกฝังในครอบครัว ในโรงเรียน ในสังคมจริง” เข็มพรกล่าว

นอกเหนือจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจแล้ว พณชิตยังเสนอว่า การมีสติและความฉลาดทางอารมณ์ ก็ควรเป็นหนึ่งในทักษะ Digital Literacy ของคนสมัยนี้

“สติเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสติในโลกออนไลน์และออฟไลน์ต่างกันนะ โลกออฟไลน์ เวลาเราทะเลาะกับเพื่อน เรายังสามารถหลบหน้าไปหายใจ ไปใช้สติ แต่ในโลกออนไลน์ ทุกอย่างส่งข้อมูลมาเร็ว แชทเร็วตอบเร็ว เราจะต้องดึงสติให้ไว เพื่อย่อยข้อมูล พิจารณามันก่อนตอบกลับ และเราต้องใช้สติในการห้ามการเสพคอนเทนต์เชิงลบของตัวเองให้ได้ด้วย

“อีกทักษะที่สำคัญของคนยุคนี้ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) กับความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Mental Resilient) หลักคิดที่ยืดหยุ่นจะทำให้เราจิตใจเปิดกว้าง และความฉลาดทางอารมณ์จะทำให้เราสามารถควบคุมตัวเองให้เผชิญหน้ากับคอนเทนต์ที่ทำให้เราอารมณ์ไม่ดีได้ และปล่อยวางจากมันได้”

ส่วนทักษะที่พณชิตเสนอไว้เป็น ‘ออปชั่นเสริม’ สำหรับการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล คือทักษะการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ซึ่งจะช่วยให้คุณมองปัญหาซับซ้อนแตกแยกย่อยออกมาอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงสาเหตุและผลลัพธ์เข้าหากันได้ รวมถึงทักษะ Design Thinking ที่ไม่คิดแก้ปัญหาเพียงในกรอบ แต่ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วมองหาวิธีแก้แบบใหม่ๆ ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด

สุดท้าย การอยู่บนโลกออนไลน์อย่างมีความสุข คุณต้องไม่ลืมว่าตนเองมีคุณค่าต่อสังคม มี Self-esteem ที่เข้มแข็ง เพราะในยุคที่ผู้คนอวดความสำเร็จของตนเองลงโซเชียลมีเดีย หลายคนอาจรู้สึกว่าไร้ตัวตน “เพราะไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร รู้สึกหาตัวตนไม่เจอ” พณชิตว่า

“แต่อันที่จริง เราไม่จำเป็นต้องหาตัวตนให้โดดเด่นก็ได้ ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นก็ได้ ขอแค่รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคม สามารถสร้างอะไรแก่สังคมได้บ้างก็พอ”

 

จากนี้รัฐต้องขยับ สนับสนุนให้ทุกคนเกิด Digital Literacy!

 

อันที่จริง ความหนักใจของพ่อแม่ในการตัดสินใจจูงมือ (หรือปล่อยมือ) ลูกเข้าสู่โลกดิจิทัล อาจไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าการกลัวว่าลูกยังไม่พร้อมเผชิญโลกเสมือนจริงอันซับซ้อนกว้างใหญ่ “ซึ่งต่างกับในต่างประเทศที่เด็กๆ จะถูกเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกเทคโนโลยี มีทักษะ Digital Literacy จากโรงเรียนและสังคมโดยรอบ พ่อแม่ในสังคมแบบนั้นน่าจะสบายใจมากกว่าในบ้านเรา” เข็มพรให้ความเห็น

จากประโยคข้างต้น จึงชัดเจนว่าการมีระบบการศึกษา รวมถึงสภาพแวดล้อมของสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล คือตัวช่วยสำคัญของครอบครัวยุคใหม่ และคนที่สามารถจัดสรรสิ่งเหล่านั้นให้เราจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘รัฐ’

“ต่อจากนี้ ทักษะ Digital Literacy จะเป็นความสามารถที่ประชากรทุกคนต้องมี ไม่ใช่แค่ในสถาบันครอบครัวเท่านั้น เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสื่อทำให้เราเข้าสู่วิถีชีวิต วัฒนธรรมแบบใหม่กันแล้ว ตอนนี้ทุกคนกลายเป็นทั้งผู้รับสื่อและใช้สื่อใหม่ จึงต้องมีทักษะอ่านสื่อออก เขียนสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เพื่อนำไปสร้างสรรค์เป็นอาชีพ สร้างสิ่งใหม่ให้เศรษฐกิจสังคม แต่ดูเหมือนประเทศไทยจะยังไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้เลย”

สัญญาณที่แสดงว่า ‘ยังไม่มีการเตรียมความพร้อม’ ปรากฏผ่านทัศนคติและระดับความรู้เท่าทันเทคโนโลยีของครูในระบบการศึกษา “หลายโรงเรียนยังมีมาตรการยึดมือถือกันอยู่เลย แต่พอเวลาให้เด็กทำการบ้าน กลับบอกให้ไปค้นเอาเอง” เข็มพรเล่า

“ครูต้องเริ่มประยุกต์เทคโนโลยีเข้าไปในการสอนได้แล้วเพื่อก้าวตามโลกให้ทัน ต้องเข้าใจว่า Digital Literacy คืออะไร ตอนนี้ เวลาจัดอบรมเรื่องนี้ทีไร โรงเรียนก็ส่งมาแต่ครูคอมพิวเตอร์ ทั้งที่ครูทุกคนควรรู้ เพื่อช่วยกันสอนเด็ก”

หากตัวครูประสบปัญหาในการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล รัฐก็ควรตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อทำหน้าที่พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะ หรือหาครีเอทีฟ ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดค้นเครื่องมือ สื่อการสอน อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา – เหมือนทางสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนที่ได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้และตัวชี้วัดทักษะ Digital Literacy มาแล้วก่อนหน้านี้

“นอกจากการศึกษา รัฐสามารถช่วยเรื่องการเรียนรู้ด้านอื่นได้ เช่น สร้างพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีในสังคม ในชุมชน ห้องสมุดต่างๆ” เข็มพรเสนอและอธิบายเพิ่มเติมว่า การสร้างศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อเด็กเท่านั้น แต่เพื่อรองรับคนวัยพ่อแม่ ผู้สูงอายุ ที่อยากจะเติมทักษะดิจิทัลให้กับตนเองด้วย

เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปทุกวัน ทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นการศึกษาในยุคดิจิทัลจะมีแนวโน้มเปลี่ยนไปยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และให้ความสำคัญกับการสร้างทัศนคติพัฒนาตนเอง (Growth Mindset) – พูดง่ายๆ ว่า ถึงคราวหมดยุคพ่อแม่รู้ดีกว่าลูก หรือลูกควรฟังแค่พ่อแม่ แต่กลายเป็นยุคที่เราทุกคนเรียนรู้โลกใหม่ไปพร้อมกัน และแลกเปลี่ยนทักษะให้กันและกัน

เพื่อการนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ จึงไม่จำกัดอยู่แค่มีพื้นที่เชิงกายภาพ แต่ต้องกำจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หมดไป

“ถ้าไม่นับปัญหาความยากจนที่เราต้องแก้แน่ๆ ส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เราต้องทำให้เกิดการเข้าถึงแบบทั่วถึง ไม่ใช่ว่าบางพื้นที่ในชนบทต้องซื้ออินเทอร์เน็ตแพงกว่า มีต้นทุนเข้าถึงดิจิทัลสูงกว่าเพราะไม่มีWi-Fi หรือ Wi-Fi ที่รัฐให้อ่อนจนใช้ไม่ได้” เข็มพรวิพากษ์ เธอมองว่า นอกจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างสมาร์ตโฟนเองก็ควรเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้

“การไม่ได้จับสมาร์ตโฟนทำให้เราขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลใหม่ๆ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะข้อมูลตอนนี้มีหลายรูปแบบมากที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา ทั้งข่าวปลอม ข้อมูลหลอก การล่อลวง ละเมิดเด็ก หรือหลอกโอนเงิน ขายของออนไลน์ ถ้าเราไม่เท่าทันข้อมูลเหล่านี้ เหตุการณ์เหล่านี้ ก็อาจกลายเป็นเหยื่อของคนที่แสวงหาผลประโยชน์หรือคนที่ใช้ข้อมูลแบบผิดๆ เพื่อหาผลประโยชน์

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ถ้าเราไม่ได้จับเลย เราก็ไม่รู้ว่าควรใช้มันแบบไหนจึงจะปลอดภัย จะล็อกเอาท์ ป้องกันรหัสผ่านอย่างไร”

พณชิตเสริมว่า การได้จับอุปกรณ์ดิจิทัลและเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์ คือวิธีฝึกทักษะ Digital Literacy ที่กล่าวมาทั้งหมดได้ดีที่สุดแล้ว “แม้เราจะมีหลักคิดพื้นฐานอย่างการเห็นอกเห็นใจและทักษะอื่นๆ แต่การใช้ชีวิตในโลกจริงและโลกดิจิทัลแตกต่างกัน ถ้าคุณเจอการสื่อสารที่รวดเร็วแบบดิจิทัล คุณอาจรับมือสถานการณ์ต่างๆ ไม่ทันก็ได้”

“การใช้ดิจิทัลเหมือนการได้ลงสนามจริง ทุกคนควรได้เรียนรู้ในโลกออนไลน์ว่า นี่แหละ คือสังคมออนไลน์ที่แท้จริง ความเร็วของข้อมูลเป็นแบบนี้ กระทบต่อใจเราแบบนี้ แล้วเราจะรับมือมันได้ยังไง”

สุดท้าย เข็มพรเน้นย้ำว่า ในการพัฒนาพลเมืองของประเทศให้เกิดทักษะด้านดิจิทัล รัฐต้องทลายกรอบวิธีคิดสองเรื่อง

เรื่องแรกคือรัฐต้องเลิกทำตัวเป็นพ่อแม่ที่เข้มงวด คอยสั่งแบนเว็บไซต์ ไม่ให้ประชาชนดูคอนเทนต์ที่ไม่อยากให้ดูได้แล้ว

“การควบคุมดูแลจากรัฐในบางคอนเทนต์ก็อาจจะจำเป็นอยู่ แต่รัฐต้องเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการดูแลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตด้วย ไม่ใช่รัฐตัดสินเองฝ่ายเดียวว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับคนในสังคม เราต้องให้คนเข้ามาร่วมกันกำหนดมาตรฐาน มีมาตรการที่สร้างร่วมกัน ซึ่งการมีส่วนร่วมทำได้หลายรูปแบบ ทั้งผ่านตัวกลไกหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว หรือทำงานวิจัย ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแสดงความเห็น หรือให้ชุมชนออนไลน์เฝ้าดูกัน เพื่อเจาะจงไปตามบริบทก็ได้”

อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐต้องเลิกมองเทคโนโลยี การรับสื่อ และใช้สื่อ เป็นเรื่องแยกส่วนกัน

“พอมองว่ามันเป็นเรื่องแยกส่วนกัน เรื่องเทคโนโลยี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็มอบให้กระทรวงเทคโนโลยีฯ จัดการ เรื่องการเข้าถึงสื่อ เนื้อหาสื่อ ก็ให้หน่วยงานเกี่ยวกับสื่อดูแล ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งหมดเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม ทุกคนใช้สื่อจนเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไปแล้ว เราควรทำงานแบบองค์รวม สอดประสานกัน และต้องมองไปไกลถึงเรื่องวิธีการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าคอยจับผิดตรวจสอบว่ามันมีผลกระทบเชิงลบต่อสังคมอย่างไร”

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save