fbpx
เดินหน้าประเทศไทย ต้องปรับทัศนคติท่านผู้นำ

เดินหน้าประเทศไทย ต้องปรับทัศนคติท่านผู้นำ

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เรื่อง

 

สี่ปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า “ปรับทัศนคติ” บ่อยครั้ง และทุกยามเย็น โทรทัศน์ช่องต่างๆ ล้วนออกอากาศรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” จนทั้งสองวลีกลายเป็นถ้อยคำที่คุ้นหูกันดี แต่ในงานสัมมนาประจำปีของทีดีอาร์ไอเมื่อไม่นานมานี้มีหัวข้อใหญ่ของการสัมมนาคือ “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” และมีประเด็นการนำเสนอหนึ่งซึ่งใช้ชื่อที่น่าสนใจว่า “ปรับทัศนคติภาครัฐ เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต”

เรามักจะคุ้นชินกับข่าวที่รัฐลงมือปรับทัศนคติใครต่อใคร แต่งานนี้กลับมีข้อเสนอให้ปรับทัศนคติภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่ชวนติดตามยิ่ง

ในการประชุมดังกล่าว เริ่มด้วยการเกริ่นถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงอันปั่นป่วนจากเทคโนโลยี เช่น Ride sharing, ICO, Driverless car เป็นต้น และทัศนคติเดิมๆ ของภาครัฐคือการควบคุมอย่างเข้มงวด เน้นการระแวดระวังและคุ้มครองระบบเดิมๆ ซึ่งไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และทำให้เราไม่สามารถใช้หรือสร้างประโยชน์จากบริการบนเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ จนอาจถึงกับตกขบวนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตรงกับบทสรุปที่ว่า ถ้าไม่รับความเสี่ยงใดเลย ก็จะไม่มีโอกาสอะไรเลยเช่นกัน

ข้อเสนอจากเวทีคือ ต้องปรับทัศนคติผู้กำหนดนโยบายหรือผู้กำกับดูแลภาครัฐให้มองผลระยะยาว มองไปข้างหน้า เลิกทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี โดยต้องดำเนินการแบบมีส่วนร่วม ต้องมีการทดสอบแนวทางกำกับดูแลใหม่ๆ ในสถานการณ์จริง ด้วยแนวคิด Regulatory Sandbox เพื่อให้เข้าใจตัวเทคโนโลยี ตัวประโยชน์ และตัวผลกระทบจากเทคโนโลยี แล้วออกกติกาที่สร้างสมดุลระหว่างผลดี-ผลเสียอย่างเหมาะสม และต้องลดความซ้ำซ้อนของการกำกับดูแลจากหลายหน่วยงานหรือจากกฎหมายหลายฉบับ

นอกจากงานสัมมนาประจำปีของ TDRI แล้ว ในการประชุม Mobile World Congress ที่ผ่านมา มี Keynote Speech ในหัวข้อ The Foundation of the Digital Economy ที่ส่งสัญญาณให้เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแนวคิดการบริหารในยุคดิจิทัล โดยหนึ่งใน Keynote Speaker คือ Jim Whitehurst ผู้บริหารของบริษัทด้านไอที Red Hat ได้นำเสนอประสบการณ์การเปลี่ยนงานจากการบริหาร Delta Air Lines มาบริหาร Red Hat ทำให้จิมตระหนักว่า ฐานรากของเศรษฐกิจดิจิทัลแตกต่างจากเศรษฐกิจดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

จิมตั้งคำถามแรกว่า ผู้นำจะวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างไร ในยุคดิจิทัลการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา การวางแผนอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน และซับซ้อน ทำให้เราไม่สามารถวาดภาพอนาคตได้อย่างละเอียดและชัดเจน แล้วเราจะรับมือได้อย่างไร

ตอนบริหารสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสภาพแวดล้อมค่อนข้าง static แม้จะมีการแข่งขันระหว่างสายการบินต่างๆ ก็ตาม โครงสร้างการบริหารเป็นแบบดั้งเดิมที่มีลำดับชั้นและมุ่งไปที่ “ประสิทธิภาพ” การตัดสินใจและสั่งการตามสายบังคับบัญชายังใช้ได้ผล แต่เมื่อมาบริหารธุรกิจด้านไอทีที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา หัวใจสำคัญของความอยู่รอดจึงไม่ใช่การมีประสิทธิภาพแบบเดิมๆ ที่สามารถวางแผนได้ง่าย (เมื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ชิ้นหนึ่งแล้วสามารถทำกำไรได้นานนับสิบปี แล้วค่อยๆ สร้างสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนไปเรื่อย) แต่หัวใจสำคัญของความอยู่รอดในยุคดิจิทัลคือ “นวัตกรรม” จิมย้ำว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่เกิดต่อเนื่องแบบ Fluid ไม่ใช่เหตุการณ์แบบ Episodic ต่างจากการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ในธุรกิจแบบดั้งเดิมซึ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราว (Innovation is fluid, not episodic)

จิมจึงสรุปว่า วงจรธุรกิจแบบเดิมที่ เมื่อวางแผนคิดค้นผลิตภัณฑ์หนึ่งแล้วทำกำไรได้เป็นสิบปี แล้วก็วางแผนใหม่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดได้อีกแล้วในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีรากฐานบนนวัตกรรม การคิดวางแผนแบบนั้นใช้งานไม่ได้อีกแล้ว (Planning is dead)

Red Hat เน้นสร้างผลิตภัณฑ์แบบ Opensource จึงต้องทำงานและคิดค้นร่วมกับชุมชนนักพัฒนาตลอดเวลา ไอเดียที่สุดยอดและสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เกิดจากไอเดียดีๆ มากมาย (Great ideas are forged from many good ideas) บรรยากาศการทำงานที่เหมาะสมจึงไม่ใช่บรรยากาศแห่งการสั่งการ แต่เป็นบรรยากาศที่สร้างให้เกิดการเสนอไอเดียดีๆ นั่นก็คือบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ก็ไม่ใช่การมุ่งเยินยอไอเดียต่างๆ และไม่เหมือน brainstorming ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ความคิดต่างๆ สำหรับความอยู่รอดขององค์กรแล้ว ไอเดียต่างๆ ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกท้าทาย และถูกทดสอบได้ จนสามารถหลอมหรือแปรสภาพมาเป็นไอเดียที่ใช้งานได้จริง

วิธีการทำงานจึงไม่ใช่ผู้บริหารตัดสินใจวางแผนหรือกำหนดนโยบาย แล้วถ่ายทอดหรือสั่งการไปยังฝ่ายปฏิบัติ แล้วมีระบบติดตามประเมินผลว่ามีการดำเนินการตามแผนงานหรือนโยบายหรือไม่ ซึ่งเครื่องมือสำคัญในวงจรการทำงานแบบดั้งเดิมคือ “การประสานงาน” แต่วิธีการทำงานในยุคดิจิทัลคือการเสริมศักยภาพให้พนักงานสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ให้อำนาจการตัดสินใจกับพนักงานซึ่งรู้สถานการณ์จริงดีกว่าผู้บริหาร ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือ “การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์”

วัฒนธรรมการทำงานในยุคดิจิทัลจึงต้องเปลี่ยน แต่จิมย้ำว่าอย่าเริ่มที่การรณรงค์เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพราะวัฒนธรรมองค์กรเป็นผลผลิต ไม่ใช่ปัจจัยนำเข้า วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงตามภาวะผู้นำ ระบบโครงสร้างองค์กร และกระบวนการจัดการภายในองค์กร

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งแรกจึงเป็นทัศนคติของผู้นำ ให้ยอมรับการปลดปล่อยศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน ต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการไว้วางใจ ต้องยอมให้เกิดการถกเถียงอย่างเปิดเผย ต้องให้การทำงานมีความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ไอเดียหรือเทคโนโลยีดีๆ มากมาย เกิดขึ้นภายนอกองค์กร เราจึงต้องพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้เข้าสู่องค์กร (ชมวิดีโอการนำเสนอของจิมได้ที่นี่)

ในโลกยุคดิจิทัลซึ่งต่อไปทุกสิ่งทุกอย่างจะเชื่อมต่อกัน และมีการใส่ปัญญาประดิษฐ์เข้าไปในสิ่งต่างๆ (Masayoshi Son ผู้บริหารของ SoftBank เคยคาดการณ์ว่า เมื่อ Singularity เป็นเรื่องจริง คือวันที่ปัญญาประดิษฐ์มีไอคิวสูงกว่ามนุษย์ แม้แต่รองเท้าที่เราสวมก็จะฉลาดกว่าคนสวมเสียอีก) หากเราต้องจำกัดการประมวลผลต่างๆ ให้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางเท่านั้น (Core Computing) สภาพคอขวดก็จะเกิดขึ้น ความคับคั่งของข้อมูลจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองปัญหาได้ทันสถานการณ์  Edge Computing จึงเป็นทางออก การประมวลผล การตัดสินใจไม่จำเป็นต้องเป็นสภาพรวมศูนย์ รถยนต์ไร้คนขับไม่ได้ถูกควบคุมจากศูนย์กลางโดยเบ็ดเสร็จ แต่ถูกควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ในรถและการประมวลผลข้อมูลที่รถแต่ละคันสื่อสารกันหรือสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมรอบรถในขณะนั้นๆ

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างนวัตกรรมเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัล การปรับทัศนคติผู้นำจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ และเราไม่ควรลุ่มหลงกับเครื่องมือที่ตายไปแล้วอย่างการวางแผนระยะยาวแบบเก่าๆ แต่ต้องสร้างให้ทุกคนสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ด้วยแผนใดๆ ได้

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save