fbpx
digital india

Digital India ก้าวสู่สังคมออนไลน์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 หนึ่งในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งคือ Digital India ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมให้คนอินเดียเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนชาวอินเดีย

เป็นเวลากว่า 7 ปีเต็มแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลอินเดียเริ่มผลักดันนโยบายชิ้นนี้สู่การปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาที่จับต้องได้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ภายใต้ภาพรวมใหญ่ของนโยบาย มีโครงการเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่โครงการด้านการเกษตร การศึกษา คมนาคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงการต่างประเทศ โครงการเหล่านี้ทั้งหมดเชื่อมโยงกับ Digital India โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ เสริมสร้างสังคมออนไลน์ของอินเดียเพื่อให้สามารถแข่งขันกับพลวัตใหม่ในโลกได้

ครั้งนี้เลยอยากชวนทุกคนไปสำรวจนโยบาย Digital India ว่าอะไรเป็นต้นสายปลายเหตุสำคัญให้รัฐบาลอินเดียหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาสังคมดิจิทัล อินเดียมีมาตรการและกระบวนการอย่างไรในการเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิมสู่สังคมออนไลน์ นโยบายดังกล่าวมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด และสุดท้ายคือ ประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้

ทำไมต้องมุ่งสู่สังคมดิจิทัล

อินเดียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสังคมที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอินเดียจะไม่เปิดรับสิ่งใหม่เลย เพราะอินเดียรู้ดีว่าหลายสิ่งหลายอย่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นได้รวดเร็วที่สุดคงหนีไม่พ้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะไม่ได้เพียงแค่เชื่อมโยงผู้คนภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงผู้คนทั่วทั้งโลกให้สามารถสื่อสารถึงกันได้

เพื่อไม่ให้ตกขบวนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาอินเดียได้ติดตามความเคลื่อนไหวของระบบเทคโนโลยีโลกอย่างใกล้ชิด และพยายามพัฒนาศักยภาพของตัวเองควบคู่ไปกับการเรียนรู้องค์ความรู้เหล่านี้จากต่างประเทศผ่านการส่งเสริม เปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในการกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีของเอเชีย

แน่นอนว่าอินเดียไม่ได้ต้องการหยุดตัวเองไว้เพียงการเป็นศูนย์อุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของตัวเองด้วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษและเริ่มเดินด้วยขาของตนเอง ปัญหาความยากจนถือเป็นความท้าทายใหญ่ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะจำนวนคนจนที่มีอยู่หลายร้อยล้านคน

Digital India จึงถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องการผลักดันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายออนไลน์เพื่อสร้างตลาดใหม่ เพิ่มความใกล้ชิดระหว่างเมืองและชนบท ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของประชาชนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมครัวเรือนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาสังคมดิจิทัลยังอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชนของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาระยะเวลาในการติดต่องาน ลดปัญหาการยื่นเอกสารจำนวนมหาศาล และก้าวสู่การกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ที่สำคัญ Digital India ยังรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

สิ่งเหล่านี้ก็คือเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอินเดียตัดสินใจเกาะขบวน สานต่อนโยบายด้านเทคโนโลยีที่เริ่มวางมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และมุ่งผลักดันสังคมดิจิทัลให้เกิดขึ้นภายในประเทศ

สังคมดิจิทัลเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่บางคน

แน่นอนว่าการสร้างสังคมดิจิทัลภายในอินเดียนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งมีจำนวนประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างและหลากหลาย ในขณะเดียวกันคนอินเดียจำนวนมากก็อาศัยอยู่ในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง ยังไม่รวมว่าอินเดียต้องแก้โจทย์สำคัญที่ว่าจะเปลี่ยนสภาพในช่วงก่อนปี 2014 ที่ครัวเรือนอินเดียจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า สมาร์ตโฟน และอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร รวมถึงอุปสรรคด้านการศึกษาที่ยังพบได้ทั่วไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายใหญ่ของอินเดียในการออกแบบสังคมดิจิทัล

ฉะนั้นเป้าหมายแรกๆ ของรัฐบาลคือการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เริ่มจากการมุ่งให้ครัวเรือนเข้าถึงไฟฟ้าให้ได้ครบทุกหลัง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นออกโครงการสนับสนุนครัวเรือนทั่วทั้งอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการติดโซลาร์เซลล์สำหรับครัวเรือนที่ไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าของภาครัฐได้ ในขณะที่ครัวเรือนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะได้รับสิทธิการใช้ไฟฟ้าฟรี

เมื่อไฟฟ้าพร้อม โครงการต่อเนื่องที่รัฐบาลอินเดียออกมาคือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสมาร์ตโฟนราคาถูกได้ โดยให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตสมาร์ตโฟนรุ่นพิเศษหรือรัฐบาลสนับสนุนเงินบางส่วนเพื่อให้ราคาสมาร์ตโฟนลดลง นอกจากนี้ ในตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา รัฐบาลอินเดียได้ลงทุนแจกจ่ายสมาร์ตโฟนและการบริการโทรออกฟรีกว่า 200 นาทีให้กับครัวเรือนซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนด้วย โครงการเหล่าได้ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนได้อย่างแท้จริงและทั่วถึง

ควบคู่กันไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสมาร์ตโฟน รัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนให้มีบริการโมบายอินเตอร์เน็ตแบบ 4G ฟรีทั่วทั้งประเทศผ่านความร่วมมือกับค่ายโทรศัพท์ JIO ซึ่งช่วยให้ประชาชนอินเดียหลายร้อยล้านคนสามารถเข้าถึงเครือข่ายโมบายอินเตอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังส่งผลให้ค่ายมือถือใหญ่ๆ ของอินเดียลดราคาแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตลงอย่างมาก โดยเริ่มต้นเพียงเดือนละ 50 บาทเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้เจรจากับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตภายในประเทศเพื่อให้บริการ WIFI ฟรีในพื้นที่สาธารณะต่างๆ อย่างตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ ในอินเดียจะมีบริการ WIFI ฟรีซึ่งให้บริการโดย Google หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะมีการให้บริการในลักษณะใกล้เคียงกันจากบริษัทเจ้าอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปมากยิ่งขึ้นในประเทศอินเดีย

เราจะเห็นว่าในการผลักดันนโยบายสังคมดิจิทัลของอินเดีย รัฐบาลให้ความสนใจและใส่ใจอย่างมากกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่า ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องได้รับปัจจัยพื้นฐานทางดิจิทัลเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง เพราะมันจะเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันโครงการอื่นๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสมาร์ตโฟน และระบบอินเตอร์เน็ตต่อไป

ตลอดหลายปีมานี้รัฐบาลอินเดียก็ทำได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อปี 2013 คนอินเดียสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียงร้อยละ 15.1 เท่านั้น แต่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของประชากร ในขณะที่ตัวเลขผู้เข้าถึงสมาร์ตโฟนก็เพิ่มขึ้นจาก 76 ล้านเครื่องในปี 2013 เป็น 696 ล้านเครื่องในปี 2020

ฉะนั้นในมุมมองของรัฐบาลอินเดีย การสร้างโอกาสในการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลมากกว่าที่ปล่อยให้เป็นเรื่องของประชาชนฝ่ายเดียว หากรัฐบาลอินเดียนิ่งเฉยและไม่ออกนโยบายปรับโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศ เพราะคนที่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนมีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในขณะที่คนยากจนเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ยาก รวมทั้งส่งผลให้การผลักดันโครงการสังคมดิจิทัลต่อไปในด้านอื่นๆ ทำได้ยากขึ้น

เสริมแกร่ง กระจายรายได้ ปฏิรูประบบราชการ และลดปัญหาทุจริต

อย่างที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า ภายใต้นโยบาย Digital India ประกอบไปด้วยโครงการมากมายซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันและสร้างผลกระทบต่อสังคมอินเดียในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือการยกระดับการศึกษา สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำคือ ผลักดันการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟนและสมาร์ตสคูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่จำกัดอายุ โครงการนี้มีส่วนอย่างมากต่อการยกระดับการอ่านออก เขียนได้ของคนอินเดีย

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอินเดียยังใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานข้างต้นยกระดับภาคเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรโดยตรง การแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเครือข่ายของภาครัฐและการสร้างตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถค้าขายกับผู้บริโภคได้โดยตรงเพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลาง ซึ่งรัฐบาลกำลังพัฒนาโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้รับความสนใจอย่างมาก

แต่ที่เรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของนโยบาย Digital India คือการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะการลดระยะเวลาในการติดต่อราชการ ปัจจุบันหลายหน่วยงานของอินเดียมีระบบการจองคิวออนไลน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาชัดเจน และหลายครั้งการยื่นเอกสารต่างๆ สามารถดำเนินการได้ในระบบออนไลน์เรียบร้อยแล้ว เช่น การติดต่อกับหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของอินเดียในปัจจุบันสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้เกือบหมดแล้ว หรือการขอวีซ่าท่องเที่ยวของอินเดียก็สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้แล้วเช่นกัน

การย้ายการดำเนินการบางส่วนของภาครัฐไปสู่ระบบออนไลน์ยังช่วยลดการทุจริตในภาครัฐอย่างมาก อย่างในอดีต การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่จ่ายผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่หักค่าหัวคิวได้ หรือการยืนต่อคิวก็เปิดโอกาสให้มีการจ่ายสินบนเพื่อลัดคิวกัน แต่เมื่อทุกอย่างทำผ่านระบบออนไลน์ ก็เป็นการตัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางกับประชาชนออกไป กลายเป็นว่าประชาชนคือผู้ติดต่อรัฐบาลโดยตรงไปโดยปริยาย

แน่นอนว่า Digital India กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังคงมีจุดบกพร่องอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สังคมอินเดียเกิดการปรับเปลี่ยนอย่างมหาศาลทั้งในภาคราชการ เศรษฐกิจ และประชาชน แต่เหนือสิ่งอื่นใด การเปลี่ยนไปสู่สังคมดิจิทัลของอินเดียนั้นไม่ได้มาจากตัวชี้วัดว่าหน่วยงานรัฐพัฒนาแอพพลิเคชันของตัวเองได้หรือไม่ แต่เป็นการยกระดับการทำงานจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะการพัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานทำงานได้ทุกประเภท

เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับประเทศไทยว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เราขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 นั้น เราทำอะไรไปบ้างเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้เข้าถึงง่าย ด้วยราคาที่จับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้นเราปล่อยให้คนหล่นหายระหว่างทางไปมากน้อยเพียงใดจากความแตกต่างจากสถานะทางเศรษฐกิจ ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เรายิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทยไม่ใช่เรื่องของคนทุกคน แต่เป็นเรื่องสำหรับบางคนที่มีศักยภาพในการเข้าถึงสมาร์ตโฟนและอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

สุดท้ายแล้ว จริงอยู่ที่ระบบดิจิทัลมีส่วนอย่างมากในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่มันก็เป็นดาบสองคมที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในสภาพที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าถึงโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จะช่วยในการก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้ต่างกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save