fbpx
Digital Dialouge : ไทยพร้อมแค่ไหนในโลก 5G

Digital Dialouge : ไทยพร้อมแค่ไหนในโลก 5G

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

Thammasat Business School ภาพ

หลังจากที่นำเสอรายงาน Digital Dialogue : กสทช. กับ ‘การเยียวยา’ ที่เกินเยียวยา ว่าด้วยมาตรการเยียวยา ของ กสทช. ต่อกรณีหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 850 MHz ของดีแทค ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ หากขยับมามองในภาพใหญ่ ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดอนาคต โจทย์ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขบคิดต่อ คือสังคมไทยพร้อมแค่ไหนกับโลก 5G และต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อย่างไร

ในรายงานชิ้นนี้ จะเสนอภาพกว้างของอนาคตไทยในโลก 5G ตั้งแต่เรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ ความสำคัญของ Internet of Things (IoT) ไปจนถึงการปรับตัวของสื่อไทยในยุคดิจิทัล โดยเก็บความบางช่วงบางตอนจากวงเสวนา Digital Dialouge หัวข้อ ‘อนาคตไทยในโลก 5G : คลื่นความถี่, IoT และสื่อดิจิทัล’ ร่วมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่านคือ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformations จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานบริหาร บริษัท Adap Creation (Thailand) ผู้ก่อตั้ง 77kaoded.com

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช.

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

Digital Dialogue : กสทช. กับ ‘การเยียวยา’ ที่เกินเยียวยา

ในโลก 5G คลื่นความถี่คือทรัพยากรสำคัญ เพราะเป็นฐานสำหรับบริการต่างๆ ทั้งโทรคมนาคม สื่อสารมวลชน และเรื่อง IoT ด้วย อยากชวนอาจารย์สุพจน์คุยว่า ตอนนี้โลก 5G มันไปถึงไหนแล้ว มีอะไรรอเราอยู่ในอนาคต และคลื่นความถี่สำคัญยังไงในโลกใหม่ข้างหน้า

สุพจน์ : ถ้าย้อนไปว่า 1G หรือ 2G คืออะไร ผมเข้าใจว่าหลายคนอาจไม่ทันเห็นนะครับ 1G คือแค่โทรศัพท์คุยกันได้ แต่เวลาเราไปเดินใกล้สัญญาณอะไรสักหน่อย ก็จะมีเสียงรบกวน คุยกันไม่รู้เรื่อง พอเป็น 2G ก็ดีขึ้นมานิดนึง เป็นยุคดิจิทัล มีการโฆษณากันว่ามือถือสองวัตต์พลังสูง เริ่มส่ง SMS ได้ พอมายุค 3G เราก็เริ่มส่งแชทแบบที่เรียกว่า messaging ได้

พอมา 4G อย่างทุกวันนี้ เป็นยุคที่เริ่มดูพวก Youtube ดู Facebook live ดู video ต่างๆ ได้ ตอนนี้เขาเลยพยายามส่งเสริมให้เราบริโภคความถี่อย่างเต็มที่ คือสามารถใช้ได้แบบไม่ลิมิต หรืออาจมีลิมิตตามแพ็คเกจที่กำหนดไว้ อะไรก็ว่าไป

ทีนี้ ถามว่ายุค 5G จะเกิดอะไรขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ 5G จะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคนสื่อสารกับคน แต่จะเป็นโลกที่วัตถุทั้งหลายจะสื่อสารระหว่างกันด้วย ซึ่งจะเชื่อมไปถึงเรื่องของ IoT หรือ Internet of Things

อย่างงานวิจัยที่ผมไปเจอมา เขาเริ่มเอาเซ็นเซอร์การเคลื่อนไหวไปติดที่แมลงอย่างผึ้ง เพื่อจะวิจัยว่าการอพยพของผึ้งสัมพันธ์กับการทำนายว่าจะเกิดอุบัติภัยหรือเปล่า ถ้าตัวอย่างในเชิงใช้งาน ใช้ประโยชน์ ก็เช่นการเอาเซ็นเซอร์ไปติดตามพื้นที่เกษตร ติดตามเรื่องอุณหภูมิความชื้น หรือปริมาณของปุ๋ย สารต่างๆ เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า Smart Farming หรืออย่างล่าสุด ผมเพิ่งทราบมาว่า เดี๋ยวนี้เขามีโรงงานที่ฆ่าไก่ ล้างไก่ จนกระทั่งหั่นมาเป็นชิ้น หรืออีกหน่อยอาจกลายมาเป็นลูกชิ้นไก่ โดยที่ไม่ต้องมีคนอยู่ตรงกลางเลย

ส่วนในแง่ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรา Smartphone ก็จะรู้เลยครับว่าคุณกลับบ้านมาแล้ว มันก็จะเปิดไฟรอ เปิดแอร์รอไว้ ถ้าเกิดคุณชอบดื่มกาแฟ มันก็จะเริ่มต้มให้ พอเข้าไปถึงปุ๊ป จะได้กลิ่นกาแฟหอมฉุย เราก็สามารถดื่มได้ทันที แล้วเขาก็จะรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ห้องไหน เดินไปที่ไหนไฟก็จะสว่าง

ในโลกใหม่แบบนี้ มีโจทย์อะไรที่ท้าทายพวกเราบ้าง มีอะไรที่เราต้องคิดในแบบที่เราไม่เคยต้องคิดมาก่อนในโลก 4

สุพจน์ : หนึ่ง คือเรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจ จะต้องปรับตัวแล้ว เพราะตอนนี้ทุกคนใช้ผ่านมือถือกันหมด แน่นอนว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา เทคโนโลยีบางอย่างที่อยู่ในรูปแบบเดิมจะเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว

ยกตัวอย่างเรื่องธนาคาร อันนี้เห็นชัดมาก ตอนนี้ทุกค่ายต้องปรับตัวกันหมด หรือในเรื่องของ retail เดี๋ยวนี้เขาก็จะมีลักษณะที่สามารถ check out โดยที่เราออกไปโดยไม่ต้องมีคนมานั่งกด หรือมาติ๊กราคาสินค้าให้กับเราแล้ว เราสามารถที่จะเดินผ่านไปได้เลย กูเกิ้ลทำแล้ว หลายที่ก็พยายามทำอยู่ ในเมืองไทยเราก็เริ่มเอาสิ่งที่เรียกว่า smart check out มาใช้ ให้คนสามารถ check out สินค้าเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานมาดูแล

สอง มันให้อำนาจกับเรา สำหรับคนเล็กคนน้อย เช่น สมัยก่อนเราอยากทำอุปกรณ์สักชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องยากมาก เช่น ถ้าเราบอกว่าอยากทำมือถือไปแข่งกับ apple นี่เป็นเรื่องยาก แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเราคิดได้ design อุปกรณ์อะไรสักอย่างขึ้นมา เช่น ประดิษฐ์เซ็นเซอร์ขึ้นมาสักอัน ส่งไปที่เมืองจีน เมืองจีนเขาก็ทำให้เราได้เป็นจำนวนมาก นัยยะหนึ่งมันให้อำนาจกับคนทั่วไปให้สามารถเริ่มสร้างเครื่องมือของตัวเอง เขียนโปรแกรมของตัวเองได้

สาม หากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ คนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ถ้าเป็นรายแรกแล้วสามารถสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ได้ เขาก็จะมีอำนาจเหนือตลาดเหมือนกัน เหมือนกรณี facebook, youtube ที่เป็นผู้บุกเบิกมาก่อน ถ้าเขาทำสำเร็จก็จะกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ

ที่เล่ามาคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ทีนี้เบื้องหลังที่เรามองไม่เห็นการทำงาน ก็คือคลื่นความถี่ อยากชวนอาจารย์คุยต่อเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของประเทศไทยในโลกยุคใหม่ มีอะไรที่เราต้องคิดต่อ หรือคิดใหม่บ้าง

สุพจน์ : คลื่นความถี่มันเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกไปในอากาศ คุณสามารถใช้ที่ไหนก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือมันต้องมีการบริหารจัดการ ซึ่งในบ้านเรา คนที่ทำหน้าที่นี้คือ กสทช. ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากมัน มันก็เสียประโยชน์ไปเฉยๆ

แล้วถ้าพูดในเชิงเทคนิค ข้อแรกที่แตกต่างเลยคือ 5G จะมีความเร็วเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบัน 4G ได้สักประมาณ 100 เมกะบิทต่อวินาที แต่ 5G สูงสุดจะได้ประมาณ 10 กิ๊กกะบิทต่อวินาที ขณะเดียวกันก็จะรองรับการเข้าถึงอุปกรณ์ได้คราวละมากๆ

แต่ปัญหาคือ การให้บริการ 5G เราต้องการคลื่นความถี่จำนวนมาก อย่างในย่านที่ปัจจุบันเราใช้อยู่ ก็ต้องการอย่างน้อยประมาณ 100 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไปต่อย่าน ถ้าเป็นย่านที่ความถี่สูงมากๆ ที่จะใช้ IoT เป็นจุดต่อความเร็วสูง อันนั้นต้องได้สักประมาณเจ้าละ 800 ถึง 900 เมกะเฮิรตซ์

ดังนั้นสิ่งที่ กสทช. หรือ regulator ต้องทำ คือต้องมาดูแล้วว่าเราจะเอาตรงไหนมาให้ใช้ ซึ่งความถี่ที่ต้องการมีอยู่สามย่านด้วยกัน ย่านที่ความถี่ต่ำ เพื่อจะปูพรมให้ใช้งานได้ทั่วประทศ ตอนนี้คือคลื่น 900 ที่มีปัญหากันอยู่ แต่ถามว่าแค่นั้นพอไหม ก็ไม่พอ ประเทศเพื่อนบ้านเราก็เริ่มเอา 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งปัจจุบันเราใช้กับทีวีดิจิทัล เขาเอามาใช้แล้ว สำหรับการทำ 5G นี่คือย่านแรกที่จำเป็น

ฉะนั้นโจทย์ของประเทศไทยตอนนี้จึงอยู่ที่ว่า เราจะต้องเอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่มาจัดสรร เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ถามว่าที่ผ่านมาเป็นยังไง เราจะเห็นว่ามีคลื่นความถี่หลายคลื่นที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ สิ่งที่ต้องทำคือดึงคลื่นความถี่เหล่านั้นมาจัดสรรใหม่ เรามีการจัดประมูลไปแล้วหลายครั้ง คราวนี้ก็ยังประมูลไปได้ไม่หมด ตรงนี้ถือเป็นการเสียโอกาสในการที่เราจะใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่

ขยับมาที่อาจารย์ภูมิบ้าง อาจารย์เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามติดเทคโนโลยีและเห็นมิติหลากหลาย ในโลกแห่ง Internet of Things จะมีหน้าตาแบบไหน ต่างจากโลกที่เราอยู่ยังไง และอะไรเป็นโจทย์ใหม่ๆ ที่รอเราอยู่บ้าง

ภูมิ : อย่างที่อาจารย์สุพจน์เกริ่นไปว่า เทคโนโลยีอย่าง 5G มันมีศักยภาพสูงมาก ถ้าว่าตามทฤษฎี มันจะ offer bandwidth ปริมาณมหาศาลมาก และด้วยความเร็วที่สูงมาก จาก 4G ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความต่อเนื่องของความถี่ที่สามารถส่งได้ แต่ 5G มันจะรองรับได้ดีกว่ามาก

สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือรัฐต้องรีบเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจน อะไรที่เอาออกมาใช้ได้ ก็รีบเอาออกมาใช้ และต้องกลับไปมองด้วยว่าประเทศไทยมีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่ง คือเราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีล้วน เราไม่สร้างอะไรเลย เพราะฉะนั้นเรามาบอกไม่ได้ว่า เฮ้ย ไปใช้เครื่องนั้นก่อน อย่าใช้เครื่องนี้เลย เราต้องดูอย่างเดียวครับว่าอุปกรณ์ที่จะเข้ามามันคืออะไร และต้องเคลียร์พื้นที่ให้ตรงนั้น

เรื่องนี้เป็นข้อเสียที่ยี่สิบปีที่ผ่านมา เราไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลเลย เราไปทำรถยนต์หมด เราไม่ได้ทำ digital factory เลย เราไม่มีผู้ประกอบการที่สร้างเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเลย คนไทยผลิตอุปกรณ์มาใช้เองไม่ได้ นี่เป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมาก ผมไม่แน่ใจว่าได้รับเสียงสะท้อนมากน้อยแค่ไหนในเชิงนโยบาย

ในแง่ของการที่เราเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว มีโจทย์อะไรที่เราควรจะต้องกังวล

ภูมิ : มีประเด็นที่น่ากังวลอยู่บ้างนะครับ ประเด็นหนึ่งคือสิ่งที่คนเขาชอบเรียกว่าอธิปไตย แต่ผมไม่ชอบใช้คำนี้ ผมใช้คำว่า ความพร้อมที่จะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงไปของ geo politics

ประเทศไทยเราไม่ได้มีศัตรูชัดเจน เราเป็นพันธมิตรได้กับทุกฝ่าย จะเกาหลีเหนือ รัสเซีย จีน ยุโรป อเมริกา เราค้าขายกับทุกฝ่าย แต่มันจะมีแรงกดดันตลอดเวลาจากทั้งสี่ห้าค่าย เพราะทุก power ในโลกนี้เนี่ย เขาจะพยายามครอบครองความสามารถในการคุมอุปกรณ์พวกนี้

เราต้องถอยกลับมามองว่า position ของประเทศเราตอนนี้เป็นยังไง ไม่ได้แปลว่าต้องเลือกข้าง แต่เราต้องรู้ว่า โอเค ถ้ามันมีความเสี่ยงนี้ เราจะบริหารจัดการมันยังไง ถ้ามันเกิด cyber war ขึ้นมาแล้วเราพึ่งพาเทคโนโลยีของประเทศเหล่านี้ทั้งหมด เราจะตกเป็นเครื่องมือของเขาทันที

นี่เป็นประเด็นความเสี่ยงที่หลายคนกังวล และพยายามอ้างเรื่องอธิปไตย แต่ในมุมมองผม ผมไม่อ้างอธิปไตย เพราะอ้างไปก็ไม่มีประโยชน์ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง แต่เราก็ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้จนตกผลึก เพราะเรื่องนี้ประเทศไทยไม่มีทางเลือกจริงๆ

แล้วโจทย์ทางสังคมอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง มันจะยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิมไหม อย่างไร

ภูมิ : ส่วนตัวผมจะห่วงเรื่องการเข้าถึงตัวอุปกรณ์ที่มีศักยภาพมากพอ กับเรื่องการให้ความรู้คน ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ราคาถูกมาก มันเข้าถึงได้แค่ไหน เพราะอินเทอร์เน็ตเดี๋ยวนี้มัน assume ว่าคนที่ใช้อุปกรณ์มี power พอ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์เอย แอปต่างๆ เอย เซอร์วิสทั้งหลายเอย ส่วนใหญ่มันใช้แอนิเมชันเยอะ เรียกร้องฟีเจอร์และฟังก์ชั่นต่างๆ เยอะ

แล้วเดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตมันเริ่มมีสองเลเยอร์ จะมีพวกแอปพลิเคชั่นบางอย่างที่ใช้ในมือถือราคาถูกมากๆ ไม่ได้ เช่น ใช้เข้าเว็บไซต์ได้เฉยๆ ซึ่งมันไม่ได้ให้ความเท่าเทียมแบบทันที

ทั้งนี้ สเต็ปแรกที่ต้องทำ คือการทำให้คนเข้าถึงคลื่นความถี่ นี่อาจเป็นโจทย์แรกที่กระทรวงดิจิทัลฯ กับกสทช. ต้องพยายามแก้ อย่างที่เห็นอยู่ก็เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ เดินสายเน็ตให้ทุกหมู่บ้านมี wifi ใช้ นี่คือแก้พื้นฐานในการเข้าถึงคลื่นความถี่ แต่สเต็ปถัดไปคือ การทำให้คนเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีคุณภาพพอ และทำให้คนมีความรู้มากพอที่จะใช้มัน

เผอิญผมเป็นอนุกรรมการที่เข้าไปตรวจผลสัมฤทธิ์ของโครงการพวกนี้ด้วย ก็เลยได้ไปเยี่ยมดูหลายหมู่บ้านที่โครงการเน็ตประชารัฐเข้าไปถึง ก็พบว่ามันเปลี่ยนแปลงชีวิตคนจริงๆ นะครับ มันทำให้คนเหล่านั้นเขากระหายที่จะเห็นมากขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ประเทศเราต้องทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ต้องหาวิธี educate และทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงมากขึ้น มีอุปกรณ์ที่ราคาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วผมเชื่อว่าหลายๆ อย่างจะเปลี่ยนแปลงไป

ตอนนี้ผมห่วงเรื่องความรู้ของผู้คนมากที่สุด ถ้าจะให้พูดแบบตรงๆ ต้องบอกว่ารัฐไทยทำไม่เก่งเลย เรื่องลงเงินไปซื้ออะไรมาวาง ทำได้ แต่พอเรื่อง educate คน มักไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ นี่เป็นประเด็นที่ผมห่วงมาก

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน

เราจะใช้เทคโนโลยี 5G ให้เป็นโอกาสในการหาผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้าประมูลอุตสาหกรรมยังไง เพราะผู้ประกอบการยิ่งเยอะ ผู้บริโภคยิ่งได้ประโยชน์

ภูมิ : ผมเห็นด้วยว่าการมี 5G จะเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการเยอะขึ้น แต่มีอยู่หนึ่งประเด็นที่ผมสงสัยมานานมากแล้ว คือประเทศไทยไม่มีคอนเซ็ปต์ของ wholesale market place สำหรับผู้ให้บริการแบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator – การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายด้วยตัวเอง แต่อาศัยเครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น แล้วนำมาจำหน่ายต่อผ่านโปรโมชั่นและช่องทางการตลาดของตัวเอง)

MVNO ในบ้านเราไม่เคยอยู่ได้ เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนที่จะบอกว่า คนที่ไม่ถือ infrastructure เอง จะสามารถเข้าไปใช้ network ด้วยราคาที่แฟร์ได้อย่างไร

มันควรมีกฎเกณฑ์ที่ช่วยกำหนดได้ว่า ถ้าเราไม่อยากได้ infrastructure สิบราย เพราะมันเปลืองต้นทุนของประเทศที่ตั้งเสาเต็มไปหมด แต่บอกว่าอยากได้ minimum สามราย maximum ห้าราย แล้วทำยังไงก็ได้ให้ประมูลวนเวียนในระหว่างสามถึงห้ารายนี้ หรือถ้าเราอยากได้ผู้บริการต่อ consumer สิบราย ก็ต้องบอกว่ามีวิธีที่ทำให้ MVNO อีกห้ารายมันอยู่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีกฎเกณฑ์เหล่านี้เลย แล้วต่อไปโลก 5G ถ้าเราไม่มีวิธีจัดการแบบนี้ มันจะยิ่งแย่ เพราะต้นทุนในการทำ infrastructure จะยิ่งสูงขึ้น

แล้วเรื่องผูกขาดล่ะครับ

ภูมิ : เรื่องการผูกขาดเป็นอะไรที่พูดยากมากนะครับ ในแง่ที่ว่าเราจะไปสู้กับมันได้ยังไง เพราะว่าทุนมีอำนาจมาก และโลกเทคโนโลยี ยิ่งนับวันความรู้ที่ต้องใช้ยิ่งลึกขึ้น แต่คนที่จะมีความรู้ลึกขนาดนี้ กลับยิ่งน้อยลง หมายความว่าการจะจ้างคนเหล่านี้ได้ คุณยิ่งต้องรวยขึ้น แล้วของพวกนี้ในโลกเทคโนโลยี มันทำครั้งเดียวแล้วใช้ได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้นขอแค่คุณเข้าถึงเทคโนโลยีก่อน คุณก็จะสามารถทวีคูณศักยภาพหรือความสามารถของตัวเองไปได้เร็วกว่าคนอื่นมาก นี่เป็นสาเหตุที่ปัจจุบัน เศรษฐีมักจะลงทุนใน digital business กันเยอะมาก

ปัญหานี้แก้ที่ทุนยาก เพราะทุนยังไงก็ต้องพยายามมองหาการคูณของทุนที่มากยิ่งขึ้น และถึงแม้เราเข้าไปกีดขวางเขา เขาก็วิ่งหนีไปใช้ทุนในต่างประเทศได้ เอาเทคโนโลยีมาเผยแพร่ให้คนไทยใช้โดยไม่อยู่ในตลาดทุนไทยได้ ผมว่าวิธีแก้คือต้องเปิดโอกาสให้ตลาดทุนของเรามีความสามารถในการลงทุน หรือรวมตัวกันขึ้นมาแข่งกับต่างชาติได้

อันนี้เป็นสิ่งที่พยายามทำกันอยู่ ตอนนี้เราก็เปิดช่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลก หรือเป็นเบอร์หนึ่งของโลกที่ดีมากสองด้านแล้ว ด้านแรกคือเรื่องการจัดการ blockchain หรือสื่อสารดิจิทัล ซึ่งเราเป็นประเทศแรกในโลกที่ครบวงจร ตอนนี้โปรไฟล์ของเราดังมากทั่วโลก ว่าประเทศไทยมีความชัดเจนกับเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศอื่นยังมึนๆ กับมันอยู่เลย

ตอนนี้ regulator รอบโลกก็เริ่มติดต่อมา เพราะอยากรู้ว่าประเทศไทยมี framework ใหญ่ยังไง อยากรู้ว่าเดินต่อยังไง เพราะเขาก็อยากเดินตาม อันนี้จะเปิดช่องให้เราสามารถเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลกเข้ามา แล้วเทคโนโลยีใหม่พวกนี้ก็มีโอกาสที่จะสร้างอิมแพคได้

ด้านที่สอง มันมีโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัล ที่ไม่มีใครในโลกมีมาก่อน คือโครงการ National Digital Identity หรือพ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตน ตอนนี้กฎหมายเพิ่งผ่าน ครม. เมื่อเดือนที่แล้ว  ในที่สุดก็ได้เห็นประตูที่ปลายอุโมงค์ว่าครม.ทำแล้ว เพราะตลอดสองปีที่ผ่านมาที่ผมผลักดันโครงการนี้ ต้องบอกว่ามีวิบากกรรมเยอะมาก เป้าหมายของโครงการนี้จริงๆ แล้วคือ ยกระดับการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัลของคนไทยทุกคนให้ปลอดภัยที่สุดในโลก เข้าถึงได้ง่าย และเปิดพื้นที่การแข่งขันโดยแท้จริง

ตอนนี้ในระดับโลก แม้กระทั่ง World Bank หรือประเทศต่างๆ เขาเริ่มมาขอศึกษางานเราแล้วว่าเราแก้ปัญหาที่เขาไม่เคยแก้ได้ได้ยังไง และเขาก็เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นอาวุธที่ต่อยอดความสามารถในโลกดิจิทัลในประเทศไทยได้

จากโครงสร้างที่ผมพูดมา จะเป็นประตูเปิดทางให้เรามีอำนาจต่อรองในโลกดิจิทัลมากขึ้น คือผมคงไม่ไปพยายามทำลาย power ที่มีในปัจจุบัน แต่ผมพยายามหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อให้เรามีอำนาจต่อรองนั้นมากขึ้น

 

ทำไมสองเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้ ทั้งที่อีกหลายๆ เรื่องยังดูล่าช้า และไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่

ภูมิ : เกิดจากหยาดเหงื่อ น้ำตา และความกระอักเลือดมั้งครับ คือมันเป็นปัจจัยที่ยากมาก ผมไม่เคยทำอะไรที่ยากมาก่อนเท่าสองเรื่องนี้ในชีวิต

ต้องบอกว่าผมและอีกหลายๆ คนอยู่ในจุดที่พอจะผลักดันเรื่องนี้ได้ แล้วเราก็ร่วมมือกันทำ บางอันก็แยกกัน บางอันก็เดินด้วยกันแล้วลุย วิธีแก้ปัญหาจริงๆ ก็คือใช้แพชชั่นอย่างเดียว แล้วก็ดันไปจนสำเร็จ

ต้องบอกว่าทั้งสองเรื่องที่ว่ามานี้ แทบทุกคนที่เข้ามาช่วยทำ ทำโดยไม่มีใครที่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยนะครับ ถามว่าเกิดจากใคร ตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือไม่ได้เกิดจากภาครัฐ แต่เกิดจากคนในภาคเอกชนนี่แหละ ที่หลับหูหลับตาและตัดสินใจว่าต้องทำ และใช้แพชชั่นดันอย่างเดียว แล้วคนเหล่านี้ไม่ได้มี political agenda อะไร ก็เลยไม่ได้มีศัตรูในภาครัฐ วิธีที่เราทำก็คือ เราเอาหน้าตาให้เขาหมด พวกเราทำงานแบบไม่มีใครออกสื่อเลย

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน

ตอนนี้โมเดลในการพัฒนาเทคโนโลยีมีสองแบบ แบบหนึ่งก็คือแบบตะวันตก คือให้ตลาดนำ อีกแบบหนึ่งคือแบบจีนที่คนพูดถึงกันเยอะ คือให้รัฐเป็นคนผลักดัน คิดว่าโมเดลในอนาคตแบบไหนจะดีกว่ากัน

ภูมิ : ตอบง่ายมากเลย ถ้าเป็นประเทศไทย ผมยังไม่เคยเห็นหน่วยงานรัฐไหนทำเทคโนโลยีแล้วเวิร์ค ซึ่งการให้เอกชนทำ ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะครับ อันนี้เป็นประเด็นที่คนไทยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ จะชอบคิดว่าถ้าให้ทุนทำแล้วจะไม่ดี มุมมองของผมคือ ถ้าให้ทุนทำ แปลว่าต้องบริหารจัดการผลประโยชน์ของทุนให้ดี ที่มันไม่ดีเพราะไม่สามารถบริหารจัดการให้ดีต่างหาก สาเหตุที่จีนทำได้มันไม่เหมือนกัน เป็นคนละเหตุผลกัน ดังนั้นผมไม่อยากให้เอาจีนมาเป็นตัวอย่าง

แต่ปัญหาที่เราพบเวลาที่ทำกับภาคเอกชน คือการไม่กระจายผลประโยชน์ออกไปสู่สังคม ปัญหานั้นผมคิดว่าแก้ได้ เราต้องแก้ที่ regulator ซึ่งเผอิญผมก็ทำงานกับหลาย regulator ก็พบว่าถ้าจริงๆ แล้วเขามี mindset มีอยากทำให้เกิดความแฟร์นะครับ อย่าง กกต. เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อยากทำสิ่งนั้นมาก

ผมแนะนำว่าวิธีคิดเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรม คือรัฐต้องผลักดันให้เอกชนทำ เอาเงินไปให้เขา ช่วงเขาสร้าง infrastructure แล้วคอยสนับสนุน เช่น ช่วยสร้างกำลังคนหรืออนุญาตให้เอกชนจ้างคนจากต่างชาติเข้ามา แล้วรัฐก็มานั่งเขียนกฎเกณฑ์ว่าต้องมีวิธีแบ่งสันปันส่วนอย่างไร เพื่อให้ความรู้หรือผลประโยชน์นั้นกระจายออกไปให้หลายๆ คนได้ผลประโยชน์

อีกสิ่งที่ผมพบว่าประเทศไทยไม่ทำเลย ก็คือกฎหมายการแข่งขัน ไม่เคยใช้ประโยชน์เลย คือเรามีนะ แต่ไม่เคยใช้เลย

 

ชวนคุณอดิศักดิ์คุยบ้างครับ ในเรื่องการปรับตัวของสื่อ คุณอดิศักดิ์ผ่านวิกฤตมาหลายหน ตอนนี้เจอวิกฤตใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการเข้ามาของ 5G อยากรู้ว่ามีโจทย์อะไรใหม่ๆ ในแวดวงสื่อที่น่าสนใจบ้าง แล้วสื่อไทยต้องปรับตัวรับกับโลกใหม่ยังไง

อดิศักดิ์ : ต้องบอกว่าน่ากลัวกว่าเดิมครับ อันดับแรกเลยคือสื่อที่ถูก disrupt จากเทคโนโลยี พอมีแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น สื่อก็ถูก disrupt อย่างชัดเจน และไม่ได้เป็นเฉพาะเมืองไทยนะครับ แต่เมืองไทยอาจหนักหนาสาหัสกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อหลักอย่างโทรทัศน์

ผมคิดว่าจังหวะเวลาของการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลในบ้านเรา เดิมทีเราบอกว่ามันเกิดช้า แต่ถ้าคิดย้อนกลับไปเนี่ย ผมว่ามันเกิดเร็วไป เพราะถ้าช้าอีกสักปีเดียว มันจะไม่ต้องเกิดแล้ว (หัวเราะ) ซึ่งน่าจะดีกว่า

เราประมูลทีวีดิจิทัลเดือนธันวาคม 2556 พอถึงพฤศจิกายน 2557 ก็มีประมูล 3G แล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มมี facebook live มี line TV ที่ทยอยกันออกมา มันทำให้สื่อโทรทัศน์ได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งทีเพิ่งหนีตายจากสื่อสิ่งพิมพ์มา

จะเห็นว่าคนที่เข้าประมูลทีวีดิจิทัล เป็นพวกสื่อสิ่งพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ บางเจ้าประมูลไม่ได้ ก็ถือว่าโชคดีไป (หัวเราะ) เช่น สยามกีฬา ส่วนพวกที่ได้เนี่ย โดยเฉพาะค่ายใหญ่ๆ ผมว่าตอนนี้ทุนที่เขาสะสมกันมาร่วม 20-30 ปี น่าจะหมดไปกับทีวีดิจิทัลเกือบหมดแล้ว

เป็นเพราะเทคโนโลยีกำหนด หรือว่าสื่อไทยเก่งไม่พอ

อดิศักดิ์ : ผมว่าไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีกำหนด ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทยกับอเมริกา อเมริกาเขามีการปรับตัว จริงๆ แล้วเขามองทีวีดิจิทัลเป็นพื้นที่เฉพาะมากกว่า ก่อนหน้านี้ดาวเทียมของเขาเป็น national wide ทั่วประเทศ แล้วเขาก็ชิงปรับตัวก่อน คือเปลี่ยนจากโทรทัศน์แบบเดิม แตกออกไปหลายรูปแบบ และดูผ่าน stream ได้หมด

แต่ของไทย ผมว่าเป็นทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มันบิดเบี้ยวมาโดยตลอด อย่างเช่นทีวีอะนาล็อกที่ผูกขาดอยู่สี่สิบปี ก่อนที่จะเกิดทีวีดิจิทัล พอเกิดทีวีดิจิทัล กสทช. ก็มีเป้าหมายคือคุมทีวีดาวเทียม คุมเคเบิ้ลท้องถิ่น

ผมเคยบอกทางภาครัฐในนามของสมาคมทีวีดิจิทัลว่า มันเป็นเรื่องประหลาดว่า กสทช. ตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์ แต่หกปีผ่านไป ทำไมมันตายหมด มันเกิดอะไรขึ้น แล้วไม่ใช่ทีวีดิจิทัลที่ตายอย่างเดียว ดาวเทียมก็ตาย เคเบิ้ลก็ตาย ตอนนี้กลายเป็นว่าโทรทัศน์พวกนี้ ผู้ลงโฆษณาใหญ่คือ TV shopping ทั้งหลาย

ตอนนี้ถ้าเราไปดูบนทีวีดาวเทียม ทุนของ TV shopping จากไต้หวัน จากเกาหลี ญี่ปุ่น ยึดหมดแล้ว แล้วตอนนี้กำลังรุกคืบมายึดทีวีดิจิทัล

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

พูดได้ไหมว่า ปัจจัยหลักมาจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่ขณะเดียวกัน เรื่องกฎกติกาหรือการกำกับดูแลก็ล่าช้า

อดิศักดิ์ : ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องของภาระทางการเงินด้วย เพราะถ้าย้อนไปตอนประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปลายธันวาคมปี 2556 ถ้าช่องน้อยกว่านี้ จะเดือดร้อนกว่านี้ คือแพงกว่านี้สักเท่านึง ซึ่งช่องไหนเป็น hi-def อาจจะถึงหมื่นล้านเลยด้วยซ้ำ ตรงนี้ผมว่าเป็นภาระที่ใหญ่ และเป็นความบิดเบี้ยวของโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้

สภาพของทีวีดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา คือไม่มีเงินเพียงพอในการจ่ายค่าโครงข่าย แล้วมันกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะเจ้าของโครงข่ายคือช่องห้า Thaipbs กับช่องเก้า ก็ไม่มีรายได้ วิธีแก้คือต้อง refarming ทั้งหมด ว่าคลื่นความถี่อะไรบ้างที่ยังไงก็ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว ให้รีบเอาออกมาใช้ อย่างเช่นคลื่น 700 MHz ที่อาจารย์สุพจน์บอก ถ้าหากไม่รีบประมูล ไม่รีบเอามาใช้ ต่อไปมันอาจเอามาใช้ไม่ได้แล้ว

ทางกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัลเคยเสนอว่า ไม่ได้ต้องการการพักหนี้ เพราะพักหนี้ หนี้มันยังอยู่ แต่ต้องการให้ปรับโครงการของอุตสาหกรรมทีวีทั้งหมด เช่น เรื่องโครงข่าย จำเป็นต้องมีอยู่ครบทุกเจ้าไหม หรือรวมเป็น one network เพื่อลดต้นทุนลง เพื่อให้ทุกคนอยู่รอด ไม่งั้นพอเครือข่ายอยู่ไม่รอด ช่องก็อยู่ไม่รอด หรือแผนแม่บทของโทรทัศน์ดิจิทัล 48 ช่อง ต้องแก้ไหม เหลือ 24 พอไหม ครึ่งเดียวพอ แล้วเอาคลื่นที่เหลือไปประมูลใหม่ แล้วเอาเงินจำนวนหนึ่งมาชดเชย

ปัญหาตอนนี้คือ กสทช. ชุดใหม่ยังไม่เกิด ส่วนชุดเก่าก็ไม่กล้าทำอะไรใหม่ ผมว่ามันต้องเอาคลื่นความถี่มา refarming ทั้งหมด อะไรที่วางแผนเกินความจำเป็นต้องเอาคืน เอาคลื่นที่ไม่ใช้มา refarming ใหม่ แล้วไม่ใช่เฉพาะตัวช่องนะ ตัวโครงข่ายที่ลงทุนเกินความจำเป็นก็เช่นกัน

อันนี้เป็นโจทย์เฉพาะทางที่ตอนนี้สื่อดิจิทัลไทยเผชิญอยู่

อดิศักดิ์ : ใช่ แล้วถ้าหากว่ามี 5G มันจะยิ่งหนักหนากว่าเดิม เพราะถ้าฟังจากที่อาจารย์สุพจน์บอก คิดง่ายๆ ถ้าเปรียบเทียบปัจจุบัน 3G โหลดหนังเรื่องหนึ่งหกนาที แต่ 5G จะใช้แค่หกวินาที และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ใช้ IoT ได้หนึ่งล้านชิ้นต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าอย่าง AIS เคยมีการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนัดสำคัญๆ แต่พอถ่ายทอดปุ๊ป คนเข้าเยอะ แฮงค์ ดูไม่ได้ แต่ถ้า 5G ไม่มีแฮงค์หรอกครับ ยังไงก็ดูได้ แต่ทุกวันนี้ คนเข้า 4G สามหมื่น ห้าหมื่น ก็ล่มแล้ว หรือถ้าไม่ล่มก็หนืดมาก คำถามคือถ้า 5G มันไปถึงระดับนั้นได้ แล้วทีวีดิจิทัลจะเหลืออะไร

มองไปนอกบ้านเราบ้าง เห็นการเปลี่ยนแปลงในโลก หรือเห็นการปรับตัวอะไรในวงการสื่อโลกที่เจอปัญหาเรื่องเทคโนโลยี disruption คล้ายๆ แบบเรา แล้วเขามีการปรับตัวอย่างไร

เดิมสื่อไทยคิดว่าออนไลน์คือทางออก ทุกคนก็แห่มาทำเว็บไซต์ ทำโซเชียลมีเดียหมด แต่ผมกลับมองว่ามันไม่ใช่ทางออก ไม่ใช่ทางรอด เพราะแพลตฟอร์มขนาดยักษ์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ คือ Facebook Twitter Youtube ที่ดูดเงินโฆษณามาอยู่บนออนไลน์แบบมหาศาล ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะเมืองไทยนะ เป็นกันทั่วโลก

สิ่งที่ในต่างประเทศเขากำลังเป็นกระแสและหาทางสู้รบกันอยู่ คือจะทำยังไงให้สามารถสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ disrupt และทดแทนแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ อย่างเรื่อง blockchain ที่อาจารย์ภูมิพูดมา ก็เป็นทางหนึ่งที่น่าสนใจ อีกทางหนึ่งก็คือพวก OTT (Over the top) อย่าง Netflix ที่กำลังขยายตัวขึ้นมา โดยอาศัยความเร็วของโครงข่ายเป็นตัวช่วย อันนี้ก็เป็นทางออกหนึ่ง

อย่างกรณีของเมืองไทย พอ Netflix เข้ามา นอกจากเขาจะมีคอนเทนต์ระดับโลกแล้ว เขาก็ร่วมมือกับผู้ผลิตไทยด้วย เพื่อนำคอนเทนต์มาขยายไปสู่ระดับโลก อันนี้ก็พอจะเป็นทางรอดได้

แล้วในแง่ของการทำหน้าที่ของ กสทช. คุณมีความเห็นอย่างไร

อดิศักดิ์ : ผมคิดว่า ที่ผ่านมาเรามี กสทช. ชุดเดียวก็จริง แต่ข้างในมันมีสองชุด คือฝั่ง broadcast กับ telecom พอข้างในแบ่งเป็นสองชุด แล้วสองชุดไม่คุยกัน ต่างคนต่างทำ และต่างก็บอกว่าตัวเองมีผลงาน มันเลยเกิดปัญหา ทั้งที่คลื่นความถี่สามารถใช้ทดแทนกันได้ทั้งฝั่ง broadcast กับ telecom

ขณะเดียวกันก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะไม่มีการวางแผนชัดเจน ไม่มีการประเมินอนาคต ตั้งแต่การกำหนดจำนวนคลื่นความถี่ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ หรือการมองไปในอนาคตว่าทางเลือกของการส่งภาพเคลื่อนไหว หรือ streaming มันไม่จำเป็นต้องส่งแบบคลื่นทีวีดิจิทัลเท่านั้น แต่มันส่งผ่านคลื่นด้าน telecom ได้ อันนี้คือบทเรียนที่ว่า สองชุดต่างคนต่างทำ ต่างบอกว่าตัวเองมีผลงาน

แต่นอกเหนือจากเรื่อง กสทช. ซึ่งมีการพูดถึงกันเยอะ อีกเรื่องที่ต้องพูดเหมือนกัน ก็คือเรื่องกระทรวงดิจิทัลฯ ตอนนี้ประเทศไทยมีกระทรวงดิจิทัลฯ มาสองปีแล้ว แต่งานหลักคือจัดอีเวนต์ แค่นั้นจริงๆ นะครับ แผนเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลใดๆ ที่ควรมี หรือควรทำ ยังไม่เห็นเลย เราจะเห็นแต่ event marketing จัดงาน start up เป็นงานหลัก ข้าราชการที่อยู่ในกระทรวงเกินครึ่งทำงานนี้

ทางสมาคมทีวีดิจิทัลเคยบอกเรื่องนี้ไปหลายครั้ง เพราะแง่หนึ่งเราก็หมดหวังกับ กสทช. ไปแล้ว แต่ที่หยาบกว่าคือกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งตามโครงสร้างแล้ว ต้องมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลทุกด้านเลย

อย่างที่หลายท่านบอกไปว่า ในอนาคตเมื่อมี 5G มันจะไม่ใช่แค่เรื่องของ telecom แล้ว ขณะเดียวกัน broadcast ก็จะไม่ใช่เรื่องของการใช้คลื่นความถี่แล้ว แต่เป็นเรื่องของ content ที่จะออกไปยังช่องทางไหนได้มากกว่า คำถามคืออนาคตของอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ตรงไหน ถ้าไม่มีการวางแผนที่ชัดเจน

ผมบอกเลยว่า ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยก็คงมีสภาพเป็นเพจตาม facebook เป็นยูทูปเบอร์ หรือไม่ก็เป็นเว็บล่องลอยไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมที่เป็นตลาดหลักในการทำคอนเทนต์ของทั้งโลก มีอยู่ไม่กี่อย่าง ผมว่ากระทรวงดิจิทัลฯ มีส่วนสำคัญมากที่จะกำหนดเส้นทั้งหมดของการใช้คลื่นความถี่ สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือ refarming ก่อน ก่อนถามว่าจะถามว่า 5G จะประมูลหรือไม่ประมูลยังไง ถึงที่สุดแล้วอาจไม่จำเป็นต้องมี กสทช. เร็วๆ นี้ด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยกระทรวงดิจิทัลฯ ควรกำหนดแผนต่างๆ ให้ชัดก่อน

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

แต่ละคน มีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายไหมครับ

อดิศักดิ์ : ในฐานะของคนทำสื่อที่ถูก disrupt มากที่สุด แง่หนึ่งผมดีใจที่เห็นผู้บริโภคมีพลังมากขึ้นในการลุกขึ้นมาตรวจสอบสื่อ อย่างเคสของ นายพีท ที่หลอกขายหวย 90 ล้าน ที่เรื่องปูดขึ้นมาก็เพราะผู้บริโภคด้วยกันเอง ขณะที่สื่อหลักกลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการเป็น gatekeeper ที่ดีเลย นี่เป็นความน่าอับอายของสื่อหลัก ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งทีวี รวมทั้งสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสด้วย ที่ทำข่าวนี้โดยที่ไม่มีการตรวจสอบ

ผมคิดว่าหลังจากนี้อีกสักสองสามปี คงได้เห็นการปรับตัวว่าสื่ออะไรที่จะอยู่ได้ ส่วนที่อยู่ไม่ได้ก็คืออยู่ไม่ได้ ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ ผมว่าผู้บริโภคเองก็เริ่มเห็นแล้วว่าสื่อไหนที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรทำ

ภูมิ : ส่วนตัวผมเป็นคนเชื่อในการร่วมมือกันและการเข้าใจกัน สิ่งหนึ่งที่ผมพบจากการทำงานที่ผ่านมาคือ สาเหตุที่ประเทศเราไม่เดินหน้าเท่าที่ควร เพราะว่าเรา play blame game เยอะมาก

ผมเข้าไปทำงานอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ผมเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะมี attitude บางอย่างเกี่ยวกับทั้งเอกชน ทั้งสังคมและทั้งการเมือง พอผมไปอยู่ในภาคประชาสังคม ผมก็เป็นนักขับเคลื่อนด้วย พ.ร.บ. ทั้งหลายผมก็เข้าไปทั้งต่อต้านและช่วยแก้ไข เขาก็มองคนอื่นไม่ดีหมดเลยเหมือนกัน ส่วนภาคเอกชนเอง ก็มองว่าภาครัฐไม่น่าไว้ใจ พอไปทำงานกับภาครัฐ เขาก็มองว่าเอกชนมุ่งแต่จะโกงประชาชน ส่วนประชาชนก็ไม่ยอมตื่นตัว มัวหวังพึ่งแต่ภาครัฐ

พูดง่ายๆ คือทุกคนมีแต่ blame กันไปมา สิ่งที่ผมพยายามทำก็คือ เข้าไปอยู่ในทุกโครงการ ทุกภาคส่วน เท่าที่จะทำได้ แล้วก็พยายาม serve ทุกฝ่าย และชวนทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกันให้ได้

สุพจน์ : จริงๆ อยากจะบอกว่าเทคโนโลยีมันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนะครับ รุ่นลูกเราก็ไม่ทันเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านแล้ว อีกหน่อยรุ่นหลานเราก็จะมาถามว่า สมัยพ่อทำไมต้องดูทีวีด้วยเหรอ ทำไมต้องนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นเพื่อดูหน้าจอทีวีด้วย

ขณะเดียวกัน ต่อไปมันจะเป็น 5G 6G 7G 8G ท่านไม่ต้องตื่นเต้นตกใจหรอกครับ มันคือโอกาสที่เราจะนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ แต่เราต้องตั้งคำถามให้ดีว่า เราอยากจะพัฒนาประเทศของเราตรงไหน อยากจะพัฒนาประชาชนของเราตรงไหน อยากพัฒนาตัวเองยังไง แล้วมองให้เห็นโอกาสที่จะเอามาใช้

กรณีของ 5G ที่เราพูดถึงกันไป คือการคาดเดาจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนสามารถช่วยกันคิดต่อได้นะครับ สุดท้ายถ้าเราเข้าใจพลังเทคโนโลยีแล้วเนี่ย ผมเชื่อว่ายังไงเราก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save