fbpx
Digital Dialogue : กสทช. กับ ‘การเยียวยา’ ที่เกินเยียวยา

Digital Dialogue : กสทช. กับ ‘การเยียวยา’ ที่เกินเยียวยา

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

ย้อนไปช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เชื่อว่าลูกค้าที่ใช้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของดีแทคจำนวนหนึ่ง น่าจะตกอยู่ในภาวะหายใจไม่ทั่วท้อง ด้วยเหตุที่ว่าสัญญาสัมปทานคลื่น 850 MHz ของดีแทค ที่ครอบคลุมผู้ใช้บริการประมาณเก้าหมื่นกว่าเลขหมายนั้น จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2561 ซึ่งหากศาลคุ้มครองกลางไม่มีคำสั่งคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามประกาศเรื่อง ‘มาตรการเยียวยา’ ของกสทช. จะส่งผลให้เกิดภาวะ ‘ซิมดับ’ ในที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองลูกค้าดีแทคให้เข้าสู่มาตรการเยียวยา โดยสามารถใช้งานคลื่น 850 MHz ต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน

คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ลูกค้าดีแทค ยังสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ทั่วประเทศ และนับเป็นการต่อเวลาให้ดีแทคได้ทำการโอนย้ายลูกค้าไปสู่ระบบใหม่บนคลื่นใหม่ (2100 MHz และ 2300 MHz) ไปได้อีกระยะหนึ่ง

สิ่งที่น่าจับตาและทบทวนจากกรณีนี้  คือการทำหน้าที่ของกสทช. ตั้งแต่บทบาทของการกำกับดูแล การประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่ ไปจนถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ ว่ามีกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ มีช่องโหว่ตรงไหนอย่างไร ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเชื่อมโยงไปถึงโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือ คือการปรับตัวเข้าสู่ยุค 5G

ในงานเสวนา Digital Dialogue ครั้งที่ 3 หัวข้อ ‘Digital Future อนาคตไทยในโลก 5G : คลื่นความถี่ IoT และสื่อดิจิทัล’ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายกันถึงประเด็นเหล่านี้ ร่วมด้วยวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformations จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานบริหาร บริษัท Adap Creation (Thailand) ผู้ก่อตั้ง 77kaoded.com

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช.

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

ในรายงานชิ้นนี้ จะนำเสนอเนื้อหาบางช่วงบางตอน ว่าด้วยการทำหน้าที่กำกับดูแลและการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่ค้างคามาจนถึงทุกวันนี้ และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีข้อสรุปหรือจุดคลี่คลายที่แน่นอนในเร็ววัน

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ

หลักคิดว่าด้วยเรื่อง ‘การเยียวยา’

 

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิดกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ได้ก่อนที่สัมปทานหมดลง จนส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ  กสทช. จะคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการที่ต่อเนื่อง โดยใช้ ‘มาตรการเยียวยา’ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556

มาตรการเยียวยาที่ว่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการบนคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัมปทานได้ต่อไปชั่วคราว จนกว่าการจัดประมูลใหม่จะแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ‘ซิมดับ’ (No Service) โดยผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกสทช. อาทิ การไม่มีสิทธิรับผู้ขอใช้บริการรายใหม่ การรักษาคุณภาพของการบริการให้สม่ำเสมอ และ ‘รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย’ ทั้งหมดต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ในกรณีล่าสุดของดีแทคนั้น มีความซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทช. มีมติ ‘ไม่คุ้มครอง’ ลูกค้าดีแทคบนคลื่น 850 MHz ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 ดีแทคจึงยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 กันยายน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมาในวันที่ 14 กันยายน ดังที่เกริ่นไปแล้วในช่วงต้น

สำหรับคนที่ติดตามข่าวเรื่องนี้มาเป็นระยะ ย่อมทราบดีว่าดีแทคกับ กสทช. นั้นมีข้อพิพาทกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นปีเรื่อยมา จากการที่คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ของดีแทคจะหมดสัญญาสัมปทานลงพร้อมๆ กันในช่วงเดือนกันยายน โดยคำถามที่ผู้คนให้ความสนใจ แบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่คือ “ดีแทคควรได้รับสิทธิเยียวยาหรือไม่” และ “กสทช. เลือกปฏิบัติหรือไม่”

ทั้งนี้ ในอดีต กสทช. เคยให้สิทธิเยียวยามาแล้วกับทั้ง AIS (หมดสัญญาสัมปทานคลื่น 900 MHz ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 รวม 9 เดือน) และ TRUE (หมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 รวมประมาณ 26 เดือน)

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า หากย้อนไปยังจุดตั้งต้นของการออกประกาศฉบับนี้ในปี 2556 ดูเหมือนว่าจะมีจุดประสงค์เพื่อ ‘เยียวยา กสทช.’ เอง มากกว่าเยียวยาผู้ให้บริการหรือผู้บริโภค ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เป็นการออกประกาศที่ขัดต่อกฎหมายด้วยซ้ำ

“กฎหมายบอกว่าคลื่นความถี่จะใช้ได้ ต้องมีการจัดสรร แล้วมันต้องจัดสรรเชิงพาณิชย์ ก็คือเปิดประมูล คำถามคือจู่ๆ กสทช. มีอำนาจอะไรไปบอกว่าให้คุณใช้คลื่นต่อไปก่อน จริงๆ ผมตั้งข้อสังเกตนี้มานานแล้ว แต่ทุกคนก็เหมือนกับโอเค ให้ผู้บริโภคใช้ได้ ก็เยียวยากันไป”

สุพจน์มองว่า ปมสำคัญในเรื่องนี้เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2557 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 94/2557 ให้ชะลอการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ออกไปอีก 1 ปี และให้ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคตามประกาศเยียวยาฯ คำสั่ง คสช.

“ประเด็นคือว่า หลัง คสช. เข้ามามีอำนาจไม่นาน มีการออกประกาศ คสช. ฉบับหนึ่ง เพื่อจะบอกว่าให้ชะลอการประมูล และให้เยียวยาไปตามระเบียบนี้ นั่นเท่ากับว่าทำให้ระเบียบนี้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่ความจริงผมมองว่ามันขัดกับ พ.ร.บ. ตั้งแต่ต้น”

สุพจน์ชี้ว่า เมื่อคำสั่ง คสช. ทำให้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ มีความชอบธรรมทางกฎหมาย ก็ต้องกลับไปอ่านประกาศใหม่อีกครั้ง ซึ่งในย่อหน้าแรกของประกาศมาตรการเยียวยาฯ ระบุว่า  “….ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ…”  กสทช. ต้องให้มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไป

“กรณีดีแทคล่าสุด คนส่วนใหญ่จะมองว่าดีแทคจะได้เยียวยาหรือไม่ได้เยียวยา ซึ่งผมว่าเราโฟกัสผิดจุดครับ จริงๆ ต้องถามว่ากสทช. มีหน้าที่อะไร การจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตใหม่ให้แล้วเสร็จ คืองานของใคร มันคือหน้าที่ กสทช. ตราบใดที่คุณจัดประมูลแล้วไม่มีผู้ชนะการประมูล ไม่มีผู้รับใบอนุญาตใหม่ ถือว่า กสทช. ยังทำหน้าที่นี้โดยไม่ครบถ้วน ฉะนั้นผมเชื่อว่ายังไงก็ต้องมีการเยียวยา จริงๆ ดีแทคไม่ต้องไปขอเลยด้วยซ้ำ เพราะในระเบียบนี้บอกว่าให้ผู้ประกอบการเอาแผนเยียวยาไปให้เซ็นเห็นชอบเฉยๆ”

ความเห็นของดร.สุพจน์ สอดคล้องกับวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ที่ว่า “…ประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวฯ มีความมุ่งหมายประการสำคัญที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด อันเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้ผู้รับสัมปทานเดิมมีหน้าที่ให้บริการต่อไปชั่วคราว กสทช.จึงไม่อาจอ้างกรณีที่ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่มาใช้เป็นเหตุผล ที่จะไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการคุ้มครองตามประกาศดังกล่าว มติของกสทช. จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย”

ดร.สุพจน์ เสริมประเด็นนี้ว่า จากการที่ กสทช. มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ถ้าผู้ให้บริการรายใดไม่เข้าร่วมประมูล ก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา (ในกรณีนี้ก็คือดีแทค) ยิ่งเป็นการสะท้อนว่า กสทช. มุ่งแต่จะเยียวยาตัวเองมากกว่า

“ระเบียบเขียนอย่างดีว่าเยียวยาผู้บริโภค แต่จริงๆ คือเยียวยาตัวเอง การกำหนดเงื่อนไขว่าถ้าไม่เข้าประมูล ก็จะไม่เยียวยา สะท้อนว่า กสทช. ไม่ได้ทำเพื่อผู้บริโภคเลย”  

สารี อ๋องสมหวัง

“กสทช. มีหน้าที่ขยายถนน ไม่ใช่ปิดถนน”

สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่ กสทช.ทำนั้น เป็นความจงใจที่จะบีบให้เหลือผู้ประกอบการเพียงสองรายหรือไม่ และถ้าหากยึดเอาบรรทัดฐานที่ กสทช. เคยใช้มาตรการเยียวยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอดีต เช่นกรณีของ True และ AIS เหตุใดกรณีของดีแทคในคราวนี้จึงมีบรรทัดฐานที่ต่างออกไป

“ปรากฏการณ์ที่ กสทช.กำลังทำอยู่ขณะนี้ เรียกว่าไม่มีความต่อเนื่องในแง่การเป็น regulator เพราะถ้าย้อนไปในปี 2556 คุณจะเห็นเลยว่า กสทช.เข้าไปช่วย True กับ Digital World DTC ทั้งที่ตอนนั้นพวกเรารุมกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์กันมากว่าไม่ต้องช่วย แต่ให้รีบจัดประมูล ทำให้เร็ว แต่สุดท้ายกสทช.ก็ช่วยไปเขาอยู่ตั้งปีกว่าๆ

“พอปี 2558 คุณก็ช่วย AIS ที่หมดสัญญาสัมปทานอีกรอบหนึ่ง เรียกได้ว่าทั้ง TRUE และ AIS ได้ใช้คลื่นฟรีโดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ ไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ แต่กับกรณีล่าสุดของดีแทค คุณกลับมีมติออกมาว่าไม่ช่วย เป็นมติที่ออกมาสามวันก่อนสัญญาสัมปทานหมด การทำแบบนี้ก็เหมือนปล่อยให้ผู้บริโภคที่ยังต้องใช้คลื่นนี้อยู่เก้าหมื่นกว่าคน ไปจัดการตัวเองเอา”

สารีเปรียบเปรยว่า การตัดสินใจแบบนี้ของกสทช. ไม่ต่างจากการปิดถนน ทั้งที่จริงแล้วหน้าที่ของกสทช. คือการขยายถนนมากกว่า ซึ่งการทำแบบนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการดีแทคเท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงคลื่นความถี่ในย่านอื่นๆ รวมถึงผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งต้องแบกรับจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้น จากเดิมที่ถนนแต่ละเส้นมีความหนาแน่นและติดขัดอยู่แล้ว ก็จะยิ่งติดขัดมากขึ้นไปอีก

“จริงๆ การคิดแบบนี้เหมือนกับการปิดถนนนะ เพราะมันไม่ใช่กระทบแค่เก้าหมื่นห้าพันเลขหมาย มันจะกระทบกับอีกยี่สิบสองล้านที่ใช้คลื่น 2100 MHz ด้วย เพราะจากเดิมคนที่ใช้ดีแทค สัญญาณมันจะ switching ระหว่างคลื่น 2100 MHz กับ 850 MHz ก่อนหน้านี้คุณวิ่งข้ามกันได้ แต่ขณะนี้คุณไปปิดถนน 850 มันก็ยิ่งแคบ แล้วถ้าเกิดยี่สิบสองล้านพากันย้ายไป AIS กับ TRUE ก็จะเกิดปัญหาอีก เพราะถนนสองเส้นของ AIS กับ True มันก็ไม่ได้กว้าง”

สารียังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า นัยหนึ่งของการที่ กสทช. ใช้มาตรการแบบนี้กับดีแทค นอกจากจะเป็นการปิดถนนแล้ว อาจนำไปสู่การผูกขาดของผู้ประกอบการที่เหลืออีกสองเจ้าด้วย ซึ่งสวนทางกับบทบาทที่ กสทช. ควรทำ คือการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน

“เราไม่ได้เชียร์ดีแทค แต่เราคิดว่าสิ่งที่ กสทช.ทำมันไม่ถูก คุณมีหน้าที่ขยายถนน คุณไม่มีหน้าที่ไปปิดถนน ถนนซึ่งมันจำกัดอยู่แล้วทำให้เน็ตมันกาก เน็ตมันถุย มันไม่ถูกที่ กสทช. ทำแบบนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมเกิดขึ้นแน่นอน”

“พอดีแทคแย่ ห่วย คนก็จะย้ายออกจากดีแทค ซึ่งมันก็จะไปแน่นอยู่ที่ TRUE กับ AIS อยู่ดี ฉะนั้นคุณก็จะเหลือสองเจ้า ถ้ามองแบบจินตนาการนิดนึง ก็เหมือนกับว่าคุณพยายามจะลดผู้ประกอบการหรือผู้รับใบอนุญาต จากเดิมที่น้อยอยู่แล้วก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก ซึ่งต้องบอกว่าสวนทางกับสเกลขนาด 80 ล้านเลขหมาย สิ่งที่คุณต้องคิดคือเรื่องเพิ่มผู้รับใบอนุญาต ไม่ใช่ไปลดผู้รับใบอนุญาต เพื่อที่จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น”

นอกเหนือไปจากเรื่องของมาตรการเยียวยา สารีมองว่าต้นตอของปัญหา มาจากการที่ กสทช. ไม่ได้จัดการประมูลให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกรอบเวลาที่ควรทำ

“จริงๆ คุณไม่เยียวยาก็ได้นะ แต่ไม่ใช่ว่าคุณมีมติไม่คุ้มครองสามวันก่อนซิมดับ คุณควรจะทำก่อนหน้านี้ให้นาน แล้วโดยหลักที่ผ่านมา คุณเยียวยาตลอด คุณก็ต้องมีความคงเส้นคงวาในการกำกับดูแล  แล้วเมื่อคุณตัดสินใจเยียวยา เราก็เสนอว่าคุณต้องรีบประมูล ทำให้มันเรียบร้อยและเร็วที่สุด

“ที่สำคัญคือเรื่องราคา กสทช. อาจคิดว่า เฮ้ย ต้องได้ราคาเท่าเดิม ซึ่งมันอาจไม่ง่าย ตรงนี้คุณก็ต้องยอมรับด้วยว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไป เป็นเรื่องของโอกาสในแต่ละช่วงเวลา ทุกคนก็รู้ว่าตอนประมูล 3G ราคาถูกเป็นขี้ ถูกด่ามากมาย พอถึงตอนประมูล 4G ก็แพงจัด แต่ก็โอเค ถือว่าเจ๊ากันไป อีกแง่หนึ่งก็ต้องฝากถึงผู้ประกอบการด้วย ซึ่งมักจะชอบอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ แต่ไม่ชอบอยู่ภายใต้ระบบที่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค”

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน

เปลี่ยนจากการ ‘เยียวยาตัวเอง’ เป็น ‘กำกับตัวเอง’

หนึ่งในประเด็นที่ทุกคนในวงเสวนาครั้งนี้ แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือมาตรการเยียวยาของ กสทช. นั้น แท้จริงแล้วอาจมีขึ้นมาเพื่อ ‘เยียวยาตัวเอง’ เป็นหลัก กล่าวคือเยียวยาการทำหน้าที่อันบกพร่องของตัวเอง

กรณีของดีแทคที่ยกขึ้นมา เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในธุรกิจโทรคมนาคมเท่านั้น ยังไม่นับกิจการอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันอย่างทีวีดิจิทัล สื่อออนไลน์ ไปจนถึงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งล้วนต้องใช้คลื่นความถี่ทั้งสิ้น

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ในฐานะนักวิจัยที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยี และเป็นที่ปรึกษาด้านไอทีให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน ชี้ว่าสิ่งที่รัฐต้องรีบสะสางตอนนี้ คือการเอาคลื่นความถี่มาจัดสรร ภายใต้แผนการบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อนำคลื่นเหล่านี้ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

“ปัญหาที่เราเจออยู่ในปัจจุบันคือ การคิดเชิงนี้มันต้องคิดแบบ strategic มีแผนการที่ชัดเจน แปลว่าเราต้องมีความเฉียบขาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา คือคลื่นความถี่เหล่านี้อยู่ในมือคนหลากหลายมาก แล้วมันไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะเอามันกลับมารวมกันได้อย่างไร อันนี้คือสิ่งที่น่ากังวล จากมุมมองผม ตอนนี้สายไปเยอะมากแล้ว เพราะถ้าเราไม่รีบเอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่ตอนนี้ออกมาใช้ มันจะยิ่งสิ้นเปลืองและเสียเวลา”

“ถ้ามองในมุมของเอกชน ถามว่าเขาอยากได้อะไร เขาต้องการความชัดเจนว่า spectrum ไหนมาเมื่อไร แล้วต้องทำตามกำหนดการณ์นั้นให้ได้ เอกชนขอเพียงมีความมั่นใจให้เขา เพื่อที่เขาจะได้วางแผนความเสี่ยง วางแผนการเงิน วางแผนการลงทุนได้ แต่พอมันไม่แน่นอนแบบนี้ เขาก็รู้สึกว่าไม่เอาดีกว่า เปลี่ยนใจ เพราะเขาไม่สามารถตอบสนองกับสิ่งเหล่านั้นได้ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย คือรัฐต้องรีบเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจน อะไรที่เอาออกมาใช้ได้ ก็รีบเอาออกมาใช้”

ในเรื่องของการเยียวยาและการกำกับดูแล ดร.ภูมิ มองไปในทางเดียวกับคนอื่นๆ ว่ายังไงก็ต้องได้รับการเยียวยา และเสริมว่าคนที่ กสทช. ควรกำกับมากที่สุด ก็คือตัวเอง

“เรื่องเยียวยา ผมคิดว่ายังไงก็ควรเยียวยา เพราะว่าเหตุผลที่บอกมาก็ชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งในแง่มุมทางกฎหมายอย่างที่อาจารย์สุพจน์บอก หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อความเป็นธรรม ฉะนั้นหน้าที่ regulator คือทำยังไงก็ได้ให้มีผู้เล่นในอุตสาหกรรมหลากหลายมากที่สุด”

“ส่วนเรื่องการกำกับ ผมคิดว่าคนที่ กสทช. ควรกำกับมากที่สุดก็คือตัวเอง คนมีอำนาจต้องพยายามหักห้ามใจตัวเองให้ได้ ทำหน้าให้หนาๆ หน่อย คือคุณมีอำนาจแล้ว คุณฟังเขานิดนึง เพราะว่าอำนาจเดียวที่คนที่ไม่มีอำนาจมี คือเสียงที่จะพูด”

“ปัญหาของผู้มีอำนาจในสังคมไทยคือค่อนข้างดื้อ และหน้าตาคือเรื่องใหญ่มาก ซึ่งผมคาดหวังว่าอย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีคนที่พร้อมรับฟังอยู่บ้าง เขาจะได้เรียนรู้ว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ เราต้องเป็นสังคมที่เปิดรับความผิดพลาดและการถูกตำหนิบ้าง ไม่ต้องเพอร์เฟกต์ตลอดเวลา  วัฒนธรรมแบบนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลง”

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือก็คือเรื่อง 5G  คำถามคือเมื่อเรามี กสทช. ชุดใหม่ อะไรบ้างคือสิ่งที่ควรทำ

สารี ในฐานะที่เคยอยู่ในอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. มองว่าทางหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการทั้งหมดเคลื่อนไปต่อได้ คือต้องสรรหากรรมการชุดใหม่ แก้ไขกฎหมาย เหนืออื่นใดคือต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระเป็นสำคัญ

“น่าผิดหวังที่ทุกคนพยายามออกแบบให้ กสทช. เป็นอิสระ แต่ท้ายที่สุด กสทช. กลับไม่รักความเป็นอิสระ คุณอยู่ใต้อาณัติสัญญาของทั้งทุน ทั้งการเมือง อะไรต่ออะไรมั่วไปหมด ความหวังอย่างเดียวที่เรามีต่อ กสทช. ตอนนี้ คือต้องแก้กฎหมาย และทำให้ กสทช. เป็นอิสระจริงๆ”

นอกจากนี้ เธอยังทิ้งท้ายแบบตลกร้ายว่า “กสทช. เป็นประเภทชอบออกกติกาแล้วไม่บังคับกติกา กติกานี่เยอะมาก มีทุกอย่างนะ แต่เหมือนมีไว้โชว์ระดับสากลว่าเรามีอันโน้นอันนี้ แต่แทบไม่เคยบังคับใช้เลย ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่อง SMS ที่หลอกให้คนสมัครสมาชิก แล้วเสียตังค์ จะรู้ตัวก็ตอนที่บิลออกมา บางคนถ้าไม่เช็คก็ไม่รู้ เสียไปเดือนละสองสามร้อย กรณีแบบนี้ กสทช. สามารถใช้มาตรการเอาเปรียบได้เลย แต่ไม่เคยใช้ ร้องเรียนไปคนหนึ่งก็แก้ไปปัญหาให้ทีหนึ่ง ซึ่งแบบนี้ไม่มีทาง อีกสิบชาติก็ไม่สำเร็จ หรือการซื้อของหรือใช้บริการออนไลน์ เวลามีปัญหา บางบริษัทก็จะบอกให้เราไปทำเรื่องแบบออฟไลน์ ซึ่งมันตลกมาก”

“ประเด็นที่จะบอกคือ พอเกิดภาวะแบบนี้มากเข้า มันยิ่งทำให้คนเฉยชากับการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง คุณต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก”

ด้าน ดร.สุพจน์ ทิ้งท้ายด้วยโจทย์สำคัญๆ ที่ กสทช. ชุดใหม่ควรทำว่า “กสทช. ชุดใหม่จะต้องเตรียมการตั้งแต่ หนึ่ง ทำ spectrum roadmap สอง ไปดึงคลื่นความถี่เดิมมา refarm ให้ได้ สาม คือจัดประมูลแล้วขอให้มีผู้แข่งขันในตลาด สี่ ดูแลเรื่องการจัดการโครงข่ายให้มีผู้ประกอบการ จัดร่วมกับ sector อื่นได้ ถ้าทำแบบนี้ผมเชื่อว่า 5G เราจะมีโอกาสที่จะมีผู้ให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น”

ติดตามรายงาน ‘Digital Dialogue : อนาคตไทยในโลก 5G ว่าด้วย IoT และสื่อดิจิทัล’ ได้ในช่วงสัปดาห์หน้า


ดูคลิปเสวนาฉบับเต็มได้ที่ :

สำหรับผู้สนใจประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย

คลื่น 900 MHz : คลื่นเจ้าปัญหาและระเบิดเวลาลูกใหม่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save