fbpx
ลมหายใจของความสัมพันธ์ยุคใหม่ เมื่อดิจิทัลเป็นคนสำคัญในครอบครัว

ลมหายใจของความสัมพันธ์ยุคใหม่ เมื่อดิจิทัลเป็นคนสำคัญในครอบครัว

ภาพครอบครัวอบอุ่นที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ลูกวิ่งเล่นกับโกลเดนรีทรีฟเวอร์บนสนามหญ้าสีเขียวสดหน้าบ้านปูนสีขาวสวยงาม อาจเป็นภาพที่หลายคนคุ้นชินเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทุกคนในบ้านสบตากัน ส่งรอยยิ้ม และไม่มีใครถือโทรศัพท์ในมือ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ความสัมพันธ์ของครอบครัวหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้น และยิ่งในโลกที่อินเทอร์เน็ตเป็นลมหายใจของยุคสมัย เครื่องมือดิจิทัลจึงกลายเป็นสมาชิกของครอบครัวไปโดยปริยาย

ก่อนหน้านี้ ข่าวและชุดข้อมูลเรื่องอันตรายของโซเชียลมีเดีย เกม และการท่องอินเทอร์เน็ต ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมไทยและทั่วโลก พ่อแม่หลายคนมองว่าการที่ลูกติดโซเชียลมีเดียเป็นปัญหาทั้งต่อสุขภาพ สมาธิ และความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่เมื่อผู้คนเรียนรู้ที่จะใช้โซเชียลมีเดีย ‘เป็น’ แล้วนั้น การติดต่อสื่อสารทางดิจิทัลเหล่านี้จึงกลายมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ในหลายสถานการณ์

แดเนียล มิลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ Why We Post เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียกับความสัมพันธ์ในครอบครัวว่า “สมาร์ตโฟนทั้งเชื่อมครอบครัวให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นและเพิ่มระยะห่างในครอบครัวให้ห่างกันมากขึ้น ประเด็นคือ สมาร์ตโฟนมักถูกใช้เพื่อชดเชยปัญหาที่แต่ละคนเผชิญอยู่ก่อนหน้านี้ สำหรับคนที่รู้สึกว่าห่างไกลจากครอบครัว ก็ใช้สมาร์ตโฟนเพื่อกลับไปกระชับสัมพันธ์กับครอบครัวอีกครั้งได้ แต่สำหรับคนที่อยากมีอิสระจากชีวิตครอบครัว ก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเพื่อลดความชิดใกล้ในครอบครัวได้เช่นกัน”

101 พาสำรวจประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อดิจิทัลที่หลากหลายของแต่ละครอบครัว ผู้คนหยิบฉวยมาใช้อย่างไรเพื่อสมดุลความสัมพันธ์ และความเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับธรรมชาติของผู้คนอย่างไร


ครอบครัวระยะไกล : คุย 1 นาทีก็มีความหมาย


“แค่เรียกชื่อลูก เขาก็ร้องไห้แล้ว เขาคงนึกในใจว่าคนนี้เคยเห็นหน้ากัน เขาติดเราแล้ว พอไม่ได้อยู่ด้วยเลยร้องไห้” คุณแม่วัย 30 เล่าถึงชีวิตที่ต้องติดต่อลูกวัย 1 ขวบ 2 เดือน ผ่านทางวิดีโอคอล เมื่อความจำเป็นของชีวิตทำให้ต้องห่างจากลูก

วธู มิทสึอิ แต่งงานกับชาวญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยหน้าที่การงานของทั้งคู่ ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับลูกได้เต็มเวลา และการจ้างพี่เลี้ยงก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป เมื่อคิดสะระตะแล้ว ในช่วงที่พ่อแม่จำเป็นต้องออกนอกบ้านทุกวัน  ทั้งคู่จึงตัดสินใจส่งลูกไปอยู่กับตายายที่ต่างจังหวัด รอจัดการชีวิตให้ลงตัวแล้วค่อยพาลูกกลับมาอยู่ด้วยกัน

ระยะเวลาประมาณครึ่งปีที่ลูกต้องอยู่ห่างจากอ้อมอกพ่อแม่ การวิดีโอคอลจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้กัน

“เราคิดถึงลูกมาก วิดีโอคอลหาเขาวันละ 2 ครั้ง คุยกันแค่นาทีเดียว ลูกยังไม่พูดไม่ได้ เราก็ได้แต่เรียกชื่อเขา บางทีเขาก็ไม่รู้เรื่องหรอก ลูกอาจจะไม่แฮปปี้ แต่แม่แฮปปี้”

ที่น่าสนใจคือ ตายายที่อยู่กับหลานก็ไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่ว วธูจึงจำเป็นต้องขอให้เพื่อนที่อยู่ใกล้บ้านแวะไปหาลูกให้ แล้ววิดีโอคอลผ่านเครื่องของเพื่อน ด้วยวิธีการเหล่านี้จึงทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวดำเนินต่อไปได้

ก่อนหน้าที่วธูและสามีจะตัดสินใจส่งลูกกลับไปอยู่บ้าน ลูกของพวกเขาก็คุ้นชินกับการอยู่กับหน้าจออยู่แล้ว ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่อยู่อาศัย ทำให้เด็กต้องอยู่ในห้อง แบ่งเวลาทั้งวันในการเดินและคลานทั่วห้อง ต่อเลโก้ และดูการ์ตูน-ฟังเพลงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

“เรามีพื้นที่จำกัด ลูกเดินวนอยู่ในห้อง 30-40 รอบต่อวัน ถ้าจะพาออกไปข้างนอกก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ เราไม่มีเวลาด้วย เลยพาออกไปได้เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ยิ่งช่วงมีโควิดก็ไม่อยากออกไปไหน สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะก็ปิด ก็เลยจำเป็นต้องให้เขาอยู่ในห้อง เราก็เปิดดนตรี คอนเสิร์ตแนวใหม่ๆ ให้เขาดู เช่น แอฟริกันมิวสิกหรือการ์ตูน”

ถึงอย่างนั้นวธูบอกว่า ด้วยความที่ปู่คนญี่ปุ่นปลูกฝังให้ลูกอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เขาเลยส่งหนังสือมาให้หลานอ่าน ทำให้การเลี้ยงลูกผสมทั้งการเล่นหน้าจอและการอ่านหนังสือ ซึ่งน่าจะเป็นสมดุลที่ดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

“เราก็ไม่ได้อยากให้ลูกอยู่กับหน้าจอตลอด แต่บางครั้งก็จำเป็น เครื่องมือพวกนี้ก็มีประโยชน์ของมันอยู่ และพอห่างกันยิ่งทำให้เห็นว่าประโยชน์ของดิจิทัลมีมาก เช่น เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน ลูกป่วยผื่นขึ้น แม่เราก็วิดีโอคอลมาให้ดูได้เลยว่าขึ้นตรงไหนบ้าง ไม่ต้องมาคอยอธิบายกันผ่านเสียงอย่างเดียว เราก็จะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็จัดการความกังวลได้”

วธูเป็นหนึ่งในคนวัยทำงานที่มีลูกอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญภาวะต้องเลือกระหว่างงานและลูก การพยายามหาสมดุลโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลมาช่วยจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ทำให้การดำเนินชีวิตไปต่อได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบนักก็ตาม


เล่นเกมด้วยกัน : เมื่อครอบครัวรู้จักกันผ่านการ ‘ช่วยกันผ่านด่าน’


ในบ้านหนึ่งหลังที่มีผู้คนต่างวัยอยู่ด้วยกัน ภาพของการเล่นเกมด้วยกันคงไม่ใช่ภาพที่คนนึกออกเท่าไรนัก แต่สำหรับบ้านของปอ (นามสมมติ) พวกเขานั่งอยู่ข้างกัน เปิดเกมขึ้นจอทีวี และเล่นด้วยกันทั้งพ่อแม่และลูกอีก 3 คน ด้วยความที่ลูกชายคนเล็กของบ้านอยู่ในช่วงวัยรุ่น อายุห่างจากพี่ๆ กว่า 15 ปี ทำให้คนในครอบครัวหาวิธีเชื่อมสัมพันธ์กันโดยทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม

“วิถีชีวิตครอบครัวเราสนใจและทำอะไรคนละอย่างอยู่แล้ว เวลาอยู่ด้วยกัน บางทีก็ไม่ได้คุยกันเยอะ แต่การเล่นเกมช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์กัน โดยที่ไม่ต้องนั่งดูทีวี เพราะดูทีวีไม่ค่อยได้คุย แต่การเล่นเกมได้คุย” ปอเล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิตของครอบครัวที่เป็นอยู่

“น้องชายคนเล็กชอบมาชวนเล่นเกม บางทีก็เล่นบอร์ดเกม หรือเกมออนไลน์ ทั้งต่อขึ้นจอทีวีกับเล่นในคอมพ์ฯ น้องเขาเป็นวัยรุ่น เขาเจอเกมไหนสนุก เล่นกับเพื่อนมา เขาก็คงอยากสร้างบทสนทนาในบ้าน เลยมาชวนว่า ‘เจ๊ เล่นอันนี้มั้ย หม่าม้าเล่นสิ’ เขาเป็นคนชักนำทุกคนเข้าสู่วงการเกม

“ทุกคนก็ยอมเล่น แต่ทุกคนก็ขี้เกียจ ไม่มีใครอินกับเกมอยู่แล้ว แต่เกรงใจ น้องชอบชวนเล่นเกมที่แปลงมาจากบอร์ดเกม ให้ทำภารกิจช่วยกัน พอเราได้ไปช่วยเล่นบ่อยๆ หลังๆ ก็ติดจนมีแอ็กเคาต์เป็นของตัวเองไปแข่งกับคนอื่น”

บรรยากาศในบ้านสนุกสนานขึ้นมาหลังจากเล่นเกมด้วยกัน แม้ว่าพ่อกับแม่อาจจะตามไม่ทันในบางเกม แต่การได้นั่งดูลูกเล่นด้วยกันก็ทำให้พ่อแม่สบายใจ และที่สำคัญการอธิบายกลไกของเกมทำให้ครอบครัวรู้จักตัวตนของลูกได้มากขึ้น

“ตอนเล่นเกม น้องจะพยายามสอน ในยามปกติจะพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก แต่พอเล่นเกม ความพยายามในการอธิบายของเขาทำให้เราเห็นว่า เขาอธิบายดี  มีความใจเย็นพอ อธิบายสามรอบแล้วเรายังไม่เขาใจ น้องก็ยังอธิบายต่อ เราก็เห็นมุมอื่นๆ ของเขา ผ่านการทำกิจกรรมที่เขาสนใจ ไม่ใช่กิจกรรมที่พ่อแม่สนใจ”

ในขณะเดียวกัน บางเกมก็ทำให้น้องชายของบ้านเครียดมากกว่าปกติเช่นกัน จนบางครั้งพี่ๆ ต้องคอยดึงน้องกลับมาสู่ภาวะอารมณ์ปกติ

“บางทีเราจะเห็นว่าเขาเครียดมากในการเล่นเกม เพราะเกมดุเดือด เราบอกว่า สำหรับเรา เกมเป็นของบันเทิง ควรจะเล่นแล้วมีความสุข ถ้าเล่นแล้วเหนื่อยขนาดนี้ ไปทำอย่างอื่นไหม น้องก็จะงงๆ แป้บหนึ่ง แล้วก็เล่นต่อ แต่ดีกรีความเข้มอาจจะลดลงหน่อย”

ด้วยการเชื่อมต่อด้วยเกมแบบนี้ ทำให้ครอบครัวมีเรื่องคุยกันมากขึ้น แม้จะไม่ได้มีความสนใจที่ตรงกันทุกเรื่อง และไม่ใช่แค่การเล่นเกมเท่านั้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่การเล่นโซเชียลมีเดียก็ทำให้ครอบครัวคุยกันมากขึ้น ปอเล่าว่า บางครั้งเวลาพ่อแม่เห็นลูกโพสต์เรื่องต่างๆ ก็จะกลายมาเป็นหัวข้อในการพูดคุย เช่น เรื่องการเมือง เป็นต้น

“บางทีพ่อแม่เห็นเราโพสต์ เขาก็จะมาถามว่าเรื่องเป็นอย่างไร หรือถ้ามีเพื่อนส่งข่าวมาให้ในไลน์ เขาก็จะถามว่าข่าวนี้จริงไหม การที่ต่างคนต่างเล่นโซเชียลมีเดียก็ทำให้มีเรื่องคุยกันมากขึ้นในครอบครัว” ปอทิ้งท้าย


วิดีโอคอลข้ามประเทศ : บทสนทนาหลังครัวของแรงงานข้ามชาติ


หลังครัวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านบางลำพู หากไม่มีออเดอร์จากลูกค้า เสียงตะหลิวผัดอาหารบนกระทะจะกลายเป็นเสียงพูดคุยของลูกสาวกับพ่อแม่ทางวิดีโอคอล

น้อย (นามสมมติ) ในวัย 25 ปี เดินทางมาจากสะหวันนะเขต ประเทศลาวเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 13 ปี เริ่มต้นจากการเป็นแม่บ้านอยู่ 6-7 ปี แล้วค่อยย้ายออกมามีครอบครัว ขายของที่ตลาดอยู่หลายปี เข้าไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารได้ปีกว่า จึงค่อยมาทำงานที่ร้านอาหารแห่งนี้

กว่าครึ่งชีวิตที่น้อยใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เธอได้เจอหน้าพ่อแม่น้อยกว่าเจอเจ้าของร้านที่ทำงานอยู่ด้วย เจ้าของร้านจึงกลายเป็นเหมือนญาติคนหนึ่งของเธอ ขณะเดียวกัน เธอก็ติดต่อกับครอบครัวผ่านทางวิดีโอคอลอย่างสม่ำเสมอ

“เราติดต่อกับทางบ้านทางเฟซบุ๊ก ส่วนเบอร์ไม่ค่อยโทรเท่าไหร่ เพราะราคาแพง เราโทรหาแม่ ป้า ลุง ทุกวันเลย วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าว่าง โทรไปเมื่อไหร่เขาก็รับตลอด เพราะเขาก็เล่นอยู่ทั้งวันเหมือนกัน คุยกันทีเป็นชั่วโมง ถามข่าวคราว เพราะคิดถึงมาก”

น้อยเล่าว่า สมัยที่น้อยเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ ใหม่ๆ ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกันง่ายดายอย่างนี้ เธอต้องโทรทางโทรศัพท์ ซึ่งมีราคาแพง การคุยกับพ่อแม่จึงทำได้แค่เพียงครั้งละสั้นๆ และไม่สามารถคุยได้ทุกวัน แต่พอโลกมีอินเทอร์เน็ตขยายเกือบทุกพื้นที่ การคุยกับพ่อแม่นานๆ จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปนัก

“การมีอินเทอร์เน็ตดีมาก ลดค่าใช้จ่ายเราด้วย เพราะโทรทางเบอร์ เติมเงินไป 100 บาท ไม่กี่นาทีก็หมดแล้ว แต่ตอนนี้อยากคุยเท่าไหร่ก็คุยได้” น้อยเล่า

ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ทำให้น้อยจำเป็นต้องไกลบ้าน น้อยเล่าว่าแม้จะคิดถึงบ้านขนาดไหน แต่ก็ยังไม่คิดจะกลับตอนนี้ เพราะไม่รู้จะหาเงินอย่างไร

“ส่วนมากเขาจะมาหาเงินที่ไทย อยู่ที่ลาวหางานทำยาก เศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนที่เรียนจบมาสูงๆ ก็ไปต่อไม่ได้ ไม่มีงานทำ ถ้าไปต่อ ส่วนมากก็จะมีงานโรงงาน แต่เงินเดือนก็ไม่มาก เดือนละล้านกีบ คิดเป็นเงินไทย 4,000-5,000 บาทต่อเดือน แต่ราคาข้าวจานนึงก็แพง เงินได้น้อย ค่าครองชีพสูง แต่มาอยู่ที่ไทย เราได้วันละ 400 บาท ถ้าบางวันขายดี ที่ร้านก็ให้ 500-600 บาท เข้างาน 8 โมงเช้า – 4 โมงเย็น”

น้อยทิ้งท้ายว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เธอเหมือนอยู่ใกล้กับครอบครัว แม้ว่าในความเป็นจริงจะไม่มีโอกาสอยู่ด้วยกันก็ตาม



ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save