fbpx
Digital Entrepreneurship - โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่

Digital Entrepreneurship – โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

 

ถ้าเป็นเมื่อสัก 10 ปีก่อน เราคงนึกภาพไม่ออกว่า เราจะสามารถช็อปปิ้งกระเป๋ารองเท้าได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน เราสามารถคุยกับเพื่อนข้ามโลกได้ทุกเวลา ทำงานบริษัทที่ไม่มีออฟฟิศ โอนเงินโดยไม่ต้องไปธนาคาร ดูหนังละครได้โดยไม่ต้องกำรีโมตสลับเปลี่ยนช่องไปมา

โลกดิจิทัลที่ทุกอย่างอยู่บนปลายนิ้วกำลังหมุนไปด้วยความเร็วสูง สิ่งที่เราคิดภาพไม่ออกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้  ยังมีโลกที่เราจินตนาการไม่ออกรออยู่ข้างหน้า เป็นโลกที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย

ในฐานะผู้บริโภค เราอาจแค่นั่งรอนวัตกรรมใหม่ๆ มาทำให้ชีวิตง่ายและมหัศจรรย์ขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการ โลกใบใหม่นี้จะเป็นสนามขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ทำอะไรก็ได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นสนามที่หมุนคว้าง พร้อมจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา

งาน Digital Entrepreneurship – โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ จึงตั้งวงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ประกอบการยุคดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ กิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอบริษัท Anywhere 2 go และผู้ก่อตั้ง Claim di และ ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง builk.com

ยังมีมุมมองในภาพใหญ่ ทิศทางของธุรกิจและแนวคิดทฤษฎีที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิทัล จาก รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดำเนินรายการโดย ดร.สุทธิกรณ์ กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษา CONC คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วงสนทนาคุยกันในประเด็นที่ว่า ผู้ประกอบการจะหาโอกาสแบบไหนในโลกใหม่ และโลกที่รอเราอยู่ข้างหน้าเป็นแบบไหน

Digital Entrepreneurship - โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่

ผู้ประกอบการในโลกเปลี่ยนผ่าน

รศ.ดร.พิภพ อุดร

รศ.ดร.พิภพ อุดร
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เราจะได้ยินเรื่อง 4.0 ตลอดเวลา ตอนแรกอาจรู้สึกว้าว น่าตื่นเต้น จนตอนนี้อาจกลายเป็นแหวะ จนกระทั่งไม่รู้ว่ามันคืออะไร  คนพูด 4.0 กันไปคนละทิศละทาง ไม่มีใครบอกเรื่องนี้ได้ชัด แล้วก็ไม่รู้เลยว่าตกลงที่มาที่ไปเป็นยังไง” รศ.ดร.พิภพ อุดร เริ่มต้นเสวนาด้วยประเด็นร้อน ก่อนเจาะลงไปเฉพาะเรื่องธุรกิจ

ในงานวิจัยของ Thammasat Business School ว่าด้วยเรื่อง Business 4.0 ทำให้เห็นภาพใหญ่ของวิวัฒนาการธุรกิจ ไล่เรียงที่มาที่ไปอย่างกระชับว่า

ยุค 1.0 แข่งขันกันด้วยต้นทุน (cost)

ยุค 2.0 แข่งขันกันด้วยคุณค่า (value)

ยุค 3.0 แข่งขันกันด้วยแบรนด์ (brand)

จนมาถึงยุค 4.0 ที่ “แม้แต่แบรนด์ก็ไม่มีความหมาย” แข่งขันกันด้วยการออกแบบและนวัตกรรม (design & innovation)

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาขยับมากว่าร้อยปี เปลี่ยนผ่านไปตามการแข่งขันและเครื่องมือที่ผู้ประกอบการมี  ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 โลกขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ มีเครื่องจักรทำแทนมือเปล่า  เกือบร้อยปีผ่าน ก็เกิดปฏิวัติครั้งที่ 2 เมื่อโลกมีไฟฟ้า การผลิตจึงขยับจากใช้เครื่องจักรธรรมดาขึ้นไปเป็น mass production เน้นผลิตจำนวนมาก ราคาถูก ทำต้นทุนให้ต่ำลง  ถัดมาอีก 90 ปี กลายเป็นยุค automation สร้างสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแค่การผลิตจำนวนมาก นับเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 3  จนมาถึงยุคปัจจุบัน ธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  คือ Internet of Things เป็นเรื่องของการติดตามวิเคราะห์รายบุคคล  นี่คือปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การปฏิวัติครั้งใหม่ที่เพิ่งมาถึง

“3 รอบแรก เป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนผู้ผลิต เปลี่ยนอุตสาหกรรม แต่รอบที่ 4 นั้นเปลี่ยนผู้บริโภค เปลี่ยนวิถีคนทั้งโลก  digital platform เปลี่ยนทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ การสื่อสาร และการพักผ่อน  ในโลกธุรกิจจึงบอกเราว่าถ้าคุณไม่เปลี่ยน คุณตาย เพราะคนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

คำว่า ‘เปลี่ยนวิถีคนทั้งโลก’ เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องหันมาใส่ใจ และศึกษาให้ชัดว่าคนในปัจจุบันเป็นอย่างไร  หลังจากรุ่น gen Y วัยหนุ่มสาวที่กำลังทำงาน และ gen Z เด็กรุ่นมัธยมที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองชัดเจนแล้ว ต่อจากนั้นเราจะกลับไปนับ gen ใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นต้นไปนับเป็น gen Alpha  นอกจากจะหมายถึงตัวอักษรตัวแรก (A) แล้ว คำนี้ยังใช้ในความหมายพิเศษว่ามีสิ่งที่ gen อื่นไม่มี คือความเป็น digital native

รศ.ดร.พิภพ อธิบายว่า “คนเหล่านี้เกิดมามีความสามารถด้านดิจิทัลอยู่กับตัว  คุณลองยื่นอะไรที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลให้เขาลูบๆ คลำๆ แป๊บเดียวก็ใช้งานได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปสอนเขา”

สิ่งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าโลกดิจิทัลกำลังเข้ามาเปลี่ยนวิถีของผู้คนครั้งใหญ่  ในโลกธุรกิจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Democratization of Business’ หรือ ‘โลกประชาธิปไตยทางธุรกิจ’  โอกาสในการทำธุรกิจไม่ถูกจำกัดอยู่ในมือคนที่มีทุนและคอนเนกชั่นอีกต่อไป รายเล็กมีโอกาสแข่งขันกับรายใหญ่ ในขณะเดียวกันรายใหญ่ก็มีโอกาสเอารายเล็กมาเป็นพวก ความร่วมมือ (collaboration) กับ การแข่งขัน (competition) จึงอยู่คู่กันเสมอ

“โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกเต็มไปหมด  ในปัจจุบันจะเห็นชัดเรื่อง sharing economy  เรามีธุรกิจแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่ได้เป็นเจ้าของแท็กซี่แม้แต่คันเดียว มีธุรกิจโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใดๆ เรามีคนที่สร้าง platform ทำให้คนมาเจอกัน ซื้อขายกัน สร้างเครือข่ายระหว่างกัน โดยไม่ต้องลงทุนใน real estate เรามีคนที่เขียนรีวิวให้อย่างน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องจ้างนักเขียนไว้ในมือเลยแม้แต่คนเดียว  วิถีชีวิตทุกเรื่องเปลี่ยนไปหมด  คำถามคือ ถ้าคุณจะเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล คุณจะต้องทำตัวอย่างไร”

รศ.ดร.พิภพ ทิ้งประเด็นไว้น่าสนใจ ก่อนจะอธิบายความหมายของ entrepreneur หรือ ผู้ประกอบการ ในความหมายเก่าแก่จาก Harvard Business School ว่า “ความเป็นผู้ประกอบการ คือการไขว่คว้าโอกาสทางธุรกิจที่เกินกว่าทรัพยากรที่ตัวเองครอบครอง”

“คุณต้องมีวิญญาณผู้ประกอบการในตัว  คุณเห็นโต๊ะ เก้าอี้ คนมารวมกัน คุณสามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้  แม้คุณไม่มีทุน ไม่มีคอนเนกชั่น คุณก็ยังระดมทุนและคอนเนกชั่นจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาไขว่คว้าโอกาสทางธุรกิจนั้นได้ ซึ่งมีช่วงสั้นๆ เท่านั้นนะ เรียกว่า window of opportunity เพราะถ้าช้า โอกาสคุณผ่านไปเลย  นี่แหละ คือความเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริง”

สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ในโลกดิจิทัลที่หมุนเร็วคือการถูก disrupt ซึ่งเป็นคำที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน กลายเป็นคำที่ใช้อธิบายเมื่อมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่เดิม

“คำว่า disrupt มีความหมายค่อนข้างลบ แต่ในยุคหลังๆ กลายเป็นคำเซ็กซี่ เหมือนเราไปขัดคนอื่นให้สะดุดล้มหัวคะมำได้” รศ.ดร.พิภพขยายความ ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า การถูก disrupt ส่วนมากมักมาจากเทคโนโลยีที่เรามองว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ คุณภาพไม่ค่อยดี แต่ใช้เวลาไม่นานก็จะเติบโตจนมาสกัดกั้นเราได้ – และอาจทำให้เราหน้าคะมำได้

รศ.ดร.พิภพ พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจใหญ่ทั่วโลกว่าต้องเจอเทคโนโลยี 2 แบบ

หนึ่ง คือ Disruptive Technology คือเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนไปสกัดกั้นธุรกิจแบบเดิมให้หัวคะมำ

สอง คือ Dominant Technology คือเทคโนโลยีที่ต่อยอดของเดิมไปเรื่อย ๆ

“ธุรกิจใหญ่มีแนวโน้มเป็นอย่างนี้ เช่น ถ้าคุณทำกล้องดิจิทัล คุณเชื่อว่ากล้องต้องเล็กและละเอียด สิ่งที่คุณทำคือพัฒนาให้เล็กและละเอียดลงไปเรื่อยๆ จนลืมไปว่าบางทีก็เกินความต้องการของคน ลูกค้าอาจอยากได้แค่ตัวที่ถูกกว่า สะดวกกว่า และใช้งานตอบโจทย์ได้ดีเท่ากัน”

“หลายครั้งที่เราเจอคือ อะไรก็ตามที่ไปขัดต่อวิธีคิดดั้งเดิมที่เราทำ เรามีแนวโน้มที่จะปฏิเสธมัน แต่ในวิธีคิดสมัยใหม่คือ อย่าเพิ่งปฏิเสธมัน เลี้ยงไว้ ถ้าดีเอามาเป็นพวก  นี่คือสิ่งที่ธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องทำ”

หลายครั้งที่พฤติกรรมของผู้คนกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่คนทำธุรกิจเอาไปใช้พัฒนาตัวเอง  การเก็บข้อมูลเพื่อเข้าใจนิสัยคน และเสนอวิธีแก้ปัญหาให้เขาไป จะทำให้เรากลายเป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจ อย่างน้อยๆ ก็เอาชนะใจลูกค้าได้

“ถ้าเราอยากให้เขาเปลี่ยนนิสัย เราต้องไปกำจัดบางอย่างที่เขารำคาญ ถึงจะทำให้เขาว้าวได้  ถ้าเราแก้เรื่องนั้นได้เมื่อไหร่ คุณจะเปลี่ยนแปลงสำเร็จ”

สิ่งที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนนิสัย คือการศึกษาเข้าไปถึงพฤติกรรมคนจนทำให้เกิด Big Data  ข้อมูลจำนวนมหาศาลจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หลายรูปแบบ เช่น ข้อมูลทางการแพทย์ใช้ในการรักษาคนไข้ ข้อมูลทางการเงินใช้จัดระบบบัญชี ไปจนกระทั่งข้อมูลการซื้อของในร้านสะดวกซื้อกลายเป็นตัวบอกว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมและความต้องการอย่างไร

ที่น่าสนใจคือ Big Data จะทำให้เกิด A.I. (Artificial Intelligence) ที่เข้ามาทำงานแทนคน  เมื่อข้อมูลสามารถประมวลผล กลายเป็นรูปแบบซ้ำๆ ที่ A.I. สามารถวิเคราะห์และทำงานแทนคนได้ เช่น ลงบัญชี วิเคราะห์การตัดสินของศาลแทนนักกฎหมาย ฯลฯ  ขณะเดียวกัน ผู้คนในปัจจุบันก็ไม่มีข้อมูลส่วนตัวอีกต่อไป  เมื่อเราใช้ Facebook, Line หรือ GPS  รศ.ดร.พิภพ ใช้คำว่า “เหมือนมี eagle eyes อยู่บนท้องฟ้า รู้เรื่องเราตลอดเวลา”

รศ.ดร.พิภพ อุดร

โลกดิจิทัลที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตซึ่งผนวกรวมทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิด digitized production  พูดให้เข้าใจง่ายคือ ของทุกอย่างสามารถลงลึกเป็นรายบุคคล (individual) ได้แล้ว  รศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า โลกกำลังดำเนินไปทางนั้น ทั้งด้านธุรกิจและการพัฒนาดูแลเมือง ทำให้การกำหนดกฎ กติกา และระเบียบต่างๆ ต้องเปลี่ยนทั้งหมด  เมื่อจะทำธุรกิจต้องลงทุนเรื่อง digitalization of business  มีการลงทุน facility ที่เป็นดิจิทัล และ มีระบบการจัดการสอดคล้องกับดิจิทัล เพราะดิจิทัลไม่ได้แค่ทำให้ยอดขายเพิ่ม แต่ทำให้ต้นทุนหายไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ หรือรู้เท่าทันโลกดิจิทัลเท่านั้น แต่คุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้ประกอบการก็เป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ  รศ.ดร.พิภพ จำแนกคุณลักษณะของ digital entrepreneur ไว้ดังนี้

หนึ่ง มีความเป็นนักเล่าเรื่อง

“คุณต้องขายไอเดียให้เป็น  วิธีขายไอเดียที่ดีที่สุดคือเล่าเรื่องให้คนเข้าใจ เพราะคนจำเรื่องได้ เล่าให้มีตัวละคร พล็อต ไคลแม็กซ์  ถ้ามีความสามารถในการเล่าเรื่อง คุณจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ”

สอง ไม่ต้องเก่งทุกเทคโนโลยี แต่ต้องเก่งบางเทคโนโลยี

“เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตคน และต้องเป็นความสามารถของผู้ประกอบการ  คุณไม่ต้องเก่งทุกเทคโนโลยี แต่คุณต้องเก่งบางเทคโนโลยี และต้องเข้าใจ ecosystem ของเทคโนโลยีที่ผสานเชื่อมต่อกันได้  คุณต้องมีพื้นฐานบางอย่าง เช่น search engine optimization หรือการทำ Facebook marketing  ถ้าไม่มี เป็น digital entrepreneur ไม่ได้”

สาม ต้องมีจิตใจแบบนักทดลอง

“ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ อย่ามัวแต่เป็นนักวางแผน ระมัดระวัง กว่าจะทำอะไรต้องรอบคอบให้ถึงที่สุด อย่ามัวคิดว่าต้องเก็บเป็นความลับ ทำออกไปตู้มเดียวจะประสบความสำเร็จ ไม่มีแล้วบนโลกนี้  ยิ่งผิดเร็วเท่าไร จะได้ทำใหม่  Chief Technology Officer ของแอปเปิล เขาใช้คำพูดล้อเพลงว่า ‘Don’t worry, Be Crappy’ คือ ลองทำห่วยๆ ไปก่อน จะได้รู้ว่าอะไรเวิร์ก ไม่เวิร์ก ทำ prototype ให้คนจับต้องได้ แล้วก็แก้  อย่าทำสินค้าที่เพอร์เฟ็กต์ออกมาเลย เพราะของเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา”

สี่ ต้องมีความสามารถในการจัดการเรื่องเงิน

“เรื่องเงินคือเรื่องใหญ่มาก จะหาเงินอย่างไร เงินที่มีอยู่เท่ากันคุณใช้ไปกับเรื่องอะไร  สตาร์ทอัพหมดเงินไปกับการสร้าง user base มากที่สุด  ในธุรกิจสมัยใหม่ ทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด คือทรัพย์สินที่ไม่มีอยู่ในงบการเงิน (off-balance sheet asset)  แต่ก่อนเฟซบุ๊กมีทรัพย์สินรวมทั้งบริษัทสองร้อยล้าน มีคนมาขอซื้อในราคาหนึ่งหมื่นห้าพันล้าน สิ่งที่มองไม่เห็นคือฐานผู้ใช้ทั่วโลก นี่คือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด แล้วมันจะเปลี่ยนเป็นรายได้ให้คุณในอนาคต”

ห้า ชีวิตเราต้องมีเป้าหมายสูงสุด ที่ไม่ใช่เรื่องเงินและกำไร

“ตราบใดที่คุณทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เงินจะตามมาเอง  ถ้าคุณไม่สร้างอะไรที่ใหญ่และสำคัญ ในชีวิตนี้คุณจะเหนื่อยทุกวัน แต่ถ้าวันนี้ออกไปทำงาน จะมีคนที่ชีวิตดีขึ้นเพราะงานที่เราทำ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณเป็นผู้ประกอบการได้โดยไม่ท้อ ทำให้คุณขวนขวายหาเงิน หาคอนเนกชั่น เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นดีกับชีวิตคน  เมื่อคุณสร้างเงินจากมันได้ คุณก็จะมีความสุข แต่ถ้าคุณไปทำอันตรายต่อผู้คน ได้เงินมาจะนอนหลับได้อย่างไร”

“ยกเว้นคุณเป็นคนนอนหลับง่าย ก็จะไม่กระทบกับคุณเท่าไหร่” (หัวเราะ)

Star Trek ที่เป็นจริง และธุรกิจด้าน emergency ที่ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีผู้คนไปตลอดกาล

กิตตินันท์ อนุพันธ์

กิตตินันท์ อนุพันธ์
กิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอบริษัท Anywhere 2 go และผู้ก่อตั้ง Claim di

กิตตินันท์ อนุพันธ์ หรือ แจ็ค ซีอีโอบริษัท Anywhere 2 go และผู้ก่อตั้ง Claim di แอปพลิเคชันที่ช่วยเป็นตัวกลางจัดการเรื่องประกันภัยอุบัติเหตุ โดยมีบริษัทประกันหลายที่ร่วมมือกับแอปฯ นี้  กิตตินันท์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการแก้ปัญหา และมองข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ได้อย่างน่าสนใจ

กิตตินันท์ เป็นคนรุ่น gen X โตมากับภาพยนตร์เรื่อง Star Trek เขาเห็นเทคโนโลยีล้ำยุคที่ทำให้จินตนาการในหัวโลดแล่น เขาเห็นคนคุยกันข้ามจักรวาลด้วยโทรศัพท์มือถือแบบนิ้วก้อยเขี่ย เครื่องปริ้นต์ภาพสามมิติ ฯลฯ

กิตตินันท์เคยทำธุรกิจขายซอฟต์แวร์ให้โรงพยาบาล ก่อนจะหันมามาสนใจเรื่องการช่วยเหลือคนประสบอุบัติเหตุ  เขาเปิดบริษัทในปี 2000 จนมาถึงปี 2014 มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นก็จริง แต่คู่แข่งก็เพิ่มขึ้นมาด้วย และที่สำคัญคู่แข่งเหล่านั้นเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ยอดขายพันล้าน ในขณะที่เขามีพนักงานเพียง 17 คน คิดไม่ออกว่าจะมีทางไหนชนะคู่แข่งได้ นอกจากแข่งกับตัวเองให้ชนะก่อน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

“ถ้าเราไม่ disrupt ลูกค้า หรือตลาดที่เราจะไป เราก็ต้อง disrupt ตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะถูก disrupt  ก็เลยเริ่มศึกษา ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะขายของให้ได้”

เมื่อลองมองธุรกิจของตัวเองให้ชัดขึ้น เขาพบว่าไม่ใช่แค่เรื่องการซื้อการขาย แต่ต้องมองให้เห็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ จนสามารถสร้างบริการที่แปลกและแตกต่างออกไปจากเดิม

ยุคก่อนปี 2000 เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตำรวจคือคนแรกที่ถึงที่เกิดเหตุ ไม่ใช่บริษัทประกัน เพราะเราจำเป็นต้องให้ตำรวจทำรายงาน ดูหลักฐาน  แต่ในปัจจุบันตำรวจไม่เพียงพอต่อกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ยิ่งรอ ก็ยิ่งเกิดปัญหารถติด  กิตตินันท์จึงคิดวิธีการใหม่ที่รวดเร็วขึ้น ให้พนักงานเข้าไปถ่ายภาพในที่เกิดเหตุเก็บไว้โดยใช้เทคโนโลยีโมบายล์  เมื่อมีหลักฐานชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องให้ตำรวจเข้าไป และไม่ต้องรออัดล้างรูปด้วยฟิล์ม

หลังจากนั้นเขา disrupt ตัวเองอีกรอบหนึ่ง ด้วยการคิดใหม่ ไม่ต้องมีพนักงานประกันภัยไปถ่ายรูป แต่ให้คู่กรณีใช้แอปฯ ของ Claim di มาเขย่ากัน เข้าฟังก์ชัน Knock for Knock เพื่อเคลมแลกบริการ แล้วประกันก็อนุมัติทันทีทั้งสองฝ่าย  สิ่งนี้ทำให้นักลงทุนสนใจ และลงทุนกับพวกเขาเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาหลายปีมีคนใช้ Knock for Knock แค่เพียงครั้งเดียว แต่กิตตินันท์ก็ยังมีหนทางอื่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอด ทั้งยังได้เรียนรู้เรื่อง disruption อย่างชัดเจนขึ้น  เขาใช้วิธีการ disrupt ตัวเองไปเรื่อยๆ เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจนกลายเป็นผู้ให้บริการ outsource เขาให้บริษัทประกันภัยเอาซอฟต์แวร์เขาไปใช้ฟรี แต่ถ้ามีลูกค้าโทรไปที่คอลเซนเตอร์ แล้วบริษัทประกันภัยรับไม่ทัน หรือพนักงานเซอร์เวย์เต็มในเขตนั้นๆ จนลูกค้าเกินมาที่เขา เมื่อนั้นจึงเริ่มเก็บเงิน

“ยังไม่เคยมีใครคิดโมเดลธุรกิจแบบนี้มาก่อน ซึ่งจริงๆ ก็ทำบนเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไป disrupt เขานั่นแหละ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้เราเอาเทคโนโลยีไป disrupt พฤติกรรมของเขาได้  ถ้าเราหาเจอ วิธีนี้ไม่มีใครเคยทำ ก็เท่ากับเรา disrupt ได้  แต่วิธีที่เอาโทรศัพท์มาเขย่ากัน  disrupt ยากมาก ก็คงต้องรอ gen ต่อไป  ถึงแม้ว่าคุณมีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม แต่ถ้าคุณ disrupt ไม่ได้ ก็ไม่เกิด transaction”

ถึงแม้ว่าจะมีการพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แต่โลกอนาคต หุ่นยนต์ หรือ A.I. จะเข้ามาทำหน้าที่แทนพนักงาน ซึ่งถือเป็น disruption ครั้งใหญ่ และอาจจะกระทบธุรกิจ SMEs มหาศาล  กิตตินันท์มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า เขาเคยกังวลอย่างมากเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อมีการพูดถึงรถยนต์วิ่งได้เอง เพราะรถที่วิ่งอัตโนมัติจะไม่ชนกัน เมื่อถึงเวลานั้นการประกันอุบัติเหตุอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป และ Claim di จะอยู่อย่างไร

เขาจึงเริ่มหาข้อมูล และพบว่าในอนาคตธุรกิจประกันภัยกับธุรกิจรถยนต์จะกลายเป็นธุรกิจเดียวกัน กล่าวคือ คนก็อาจไม่ซื้อรถอีกต่อไป  ธุรกิจ sharing economy อาจประสบความสำเร็จ เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ให้อูเบอร์ แล้วอูเบอร์ ก็ส่งรถมารับคน โดยไม่มีคนขับ เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือเรียกรถ ถึงปลายทางก็ตัดเงินไป ไม่ต้องรับภาระเรื่องค่าจอดรถ ไม่ต้องรับภาระเรื่องซื้อขาย และไม่ชน  ถ้าโลกก้าวมาถึงจุดนี้จริง บริษัทประกันแทบจะไม่จำเป็นเลย  แต่กิตตินันท์มองต่างออกไปว่า ในอีก 40 ปีข้างหน้าจะมีรถขับอัตโนมัติครึ่งต่อครึ่งกับรถแบบเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา

ต่อจากประเด็นเรื่อง disruption โดยหุ่นยนต์ มาถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพควรมี นอกจาก passion แล้ว กิตตินันท์บอกว่าควรมี 2 อย่าง

หนึ่ง domain expert คุณต้องเคยรู้เรื่องนั้นมาจริง ๆ

“ถ้าเราไม่เคยตกนรก และไม่เคยลุกขึ้นจากนรกมาได้ จะไปเขียนไบเบิลให้คนอื่นเชื่อได้อย่างไร และคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไบเบิลที่คุณเขียนจะเป็นจริง  บางคนพยายามหาประสบการณ์เจ็บปวด แต่ไม่เคยตกนรกด้วยประสบการณ์นั้นมาก่อน บางครั้งเป็นประสบการณ์เจ็บปวดคนละมุม ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพต้องเข้าใจทั้งสองฝั่ง”

สอง พลังในการทำเพื่อคนอื่น

“ตอนที่ผมเจอปัญหาธุรกิจ ผมตัดสินใจปิดบริษัท แต่มีคำพูดจากพระรูปหนึ่ง ท่านบอกว่าแจ็ค ลองคิดดูนะ วันนี้แจ็คทำบริษัทขึ้นมา ได้เงินมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว พนักงานเขาก็สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เราจะตัดสินใจอย่างไร ผมเลยกัดฟันทำมันต่อไป  อีกเรื่องหนึ่งคือ ผมตั้งบริษัทขึ้นมาเพราะอยากทำเรื่อง emergency ผมไปเจอเหตุของการตาย 1.5 ล้านคนต่อปี พิการ 15 ล้านคนต่อปี เป็นเพราะว่าไปถึงที่เกิดเหตุช้า  ผมต้องการไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยชีวิต

ตอนที่บริษัทเติบโตขึ้น เราสร้างอาชีพให้กับคนใหม่ ออกไปตรวจสภาพกับเคลมประกันภัยรถยนต์  เด็กพวกนี้ส่งจดหมายมาหาเรา ขอบคุณพี่มากเลย แม่เขาต้องล้างไตอาทิตย์ละสามครั้ง เงินเขาไม่พอ แต่วันนี้นอกจากทำให้แม่ฟอกไตได้ ยังมีเงินเหลือเก็บ”

“สิ่งเหล่านี้กลับมาหาเราโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ผมตื่นมาทำงานด้วยความสุข”

ทำเรื่องอิฐหินปูนทรายให้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น

ไผท ผดุงถิ่น

ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง builk.com
ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง builk.com

ผู้ก่อตั้ง builk.com ตัวกลางที่คอยช่วยควบคุมต้นทุนการก่อสร้างของบริษัทก่อสร้าง SMEs ทั่วประเทศ  ไผท เริ่มต้นทำธุรกิจจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งแทบไม่มีอะไรจะเกี่ยวข้องกับดิจิทัลเลย  เขาพูดถึงธุรกิจตัวเองก่อนเริ่มว่า “ผมเคยอยู่ในอุตสาหกรรมที่โลว์เทคมาก ชีวิตผมคือการเอาหินเอาเหล็กผสมกันแล้วกลายเป็นตึก  ผมเรียนวิศวะฯ โยธามา เครื่องมือที่ผมใช้ในสมัยก่อนไม่ได้ต่างอะไรจากรุ่นพ่อรุ่นพี่ผม ทุกคนยังเขียนแบบด้วยกระดาษกันอยู่”

เขาเรียนจบช่วงปี 2540 ปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง  จากที่ 5 ปีก่อน วิชาชีพที่เจริญที่สุดในประเทศไทยคือ วิศวกรโยธา เพราะมีการก่อสร้างตึกกันเป็นล่ำเป็นสัน แต่เวลาห่างกันไม่นาน ทุกอย่างก็พลิกผัน วิศวกรไม่ใช่อาชีพที่รุ่งเรืองที่สุดอีกต่อไปแล้ว

“งานแรกของผมคือพนักงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหญ่แห่งหนึ่งของไทย เงินเดือนเก้าพันบาท  ผมรู้สึกว่าไม่ใช่อย่างที่ฝัน”

เมื่อชีวิตถึงทางแยก ในยุคที่เพื่อนๆ นิยมไปเรียนต่อด้าน MBA เขาเลือกที่จะทำธุรกิจ เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างตอนอายุ 23

“อายุ 25 ผมเจ๊งครั้งแรก เป็นบทเรียนที่สอนผมเยอะมาก อ่านหนังสือ dos and don’ts ในการทำธุรกิจ ไม่เท่ากับเจ๊งจริง  ผมเสียเงินเท่ากับเพื่อนที่ไปเรียน MBA มา แต่ผมจำมากกว่าเยอะ  ผมโกนหัวครั้งแรกตอนอายุ 25 เพราะมันเจ๊ง ผมไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนลูกน้อง หมุน 360 องศา ขอยืมเงินเขาหมด บัตรเครดิตเต็มทุกใบ  ชีวิตมันแย่น่ะครับ  เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ ที่เรียน MBA ชีวิตเขาก็ดูดี ในขณะที่ผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำงานแบบไม่มีเงิน หมุนไปวันๆ”

เมื่อถึงจุดต่ำสุด เขานึกถึง ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ นักธุรกิจที่เคยล้มช่วงวิกฤต 40 แต่ลุกขึ้นมาขายแซนด์วิชเพื่อกู้ชีวิตตัวเองคืนมาตอนอายุ 40  ไผทเลือกที่จะต่อยอดสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว คือความรู้ด้านวิศวโยธา และประสบการณ์จากการเจ๊งรอบที่แล้ว จึงชวนเพื่อนๆ มาเขียนโปรแกรม เริ่มทำบริษัทซอฟต์แวร์ขึ้นมา คิดจะช่วยผู้รับเหมารายอื่น  จุดแข็งของเขาคือรู้ว่าขั้นตอนการก่อสร้างเป็นอย่างไร อะไรอุดจุดอ่อนได้ จึงคิดโปรแกรมอย่างง่ายขึ้นมาแล้วเริ่มขาย

หลังจากนั้นเขาก็ได้พบกับ แจ็ค กิตตินันท์ ช่วงปี 2550 ได้รู้จักการทำธุรกิจซอฟต์แวร์ แต่ยังเป็นการทำซอฟต์แวร์เพื่ออุตสาหกรรมของตัวเองเท่านั้น  มีการจัดตั้งสมาคมส่งออกซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศ  เขาเริ่มขายโปรแกรมให้ลูกค้ารับเหมาก่อสร้างรายใหญ่จนตั้งตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ก็เจอปัญหาคู่แข่งเลียนแบบและตัดราคา  ยังไม่นับว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่มีการลงทุน ต้องหยุดการก่อสร้าง

“วันนี้ผมเริ่มเข้าใจดิจิทัลมากขึ้น ธุรกิจผมไม่ได้ทำซอฟต์แวร์อย่างเดียวแล้ว เรามีวิวัฒนาการ  คุณใช้ Line มา คุณก็เห็นว่ามันไม่เคยหยุดนิ่ง วันแรกขายสติกเกอร์ วันต่อมาทำเกม ต่อมาทำ E-commerce ต่อมาทำไฟแนนซ์  Line อยู่กับคุณมา 5-6 ปีแต่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไป 4 ตัวแล้ว  แต่ก่อนเราอาจจะเคยเห็นบริษัทที่ 100 ปีไม่เคยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจอย่างธนาคาร แต่วันนี้ดิจิทัลคือสปีด รวดเร็วกว่าแต่ก่อนเยอะ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เครื่องมือเปลี่ยน ผู้ให้บริการก็เปลี่ยน”

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือการเข้าไปเปลี่ยนผู้บริโภค จึงจะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้

“ธุรกิจจะเวิร์กต้องสร้างนิสัยคนได้ คุณกำลังเปลี่ยนนิสัยเขาจากโลกยุคอะนาล็อกมาเป็นโลกยุคดิจิทัล  ถ้าคุณเปลี่ยนนิสัยคนไม่ได้ ไม่มีทางเป็นธุรกิจได้”  ส่วนตัวของเขาเองอาจจะไม่ได้เปลี่ยนนิสัยคนทั้งโลก แต่ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงนิสัยคนในวงการก่อสร้างได้

“อุตสาหกรรมก่อสร้างไม่มีความเป็นดิจิทัลอยู่เลย ทุกคนซื้อค้อน เหล็ก ตะปู หิน แล้วไปประกอบกันเป็นบ้าน เป็นถนน เป็นสนามบิน เป็นเขื่อน ฯลฯ ผมจึงเลือกเปลี่ยนนิสัยบริษัท  ผมไปแนะนำ work flow ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมให้บริษัทรับเหมา ทำงานบนดิจิทัล เหมือน Facebook ที่เข้ามาในชีวิตเรา ผมทำแบบเดียวกัน แต่ทำในวงการก่อสร้าง ช่วยทำ E-commerce ช่วยกระบวนการขาย หลายๆ ร้านร่วมกันเป็น sourcing นำของจากที่เดียวกัน ต้นทุนต่ำลง กระจายไปหาผู้รับเหมาในกลุ่มผม เกิดเป็น win-win solution  ทำให้ผมได้กระบวนการเก็บข้อมูล ปีนี้ผมมีข้อมูลอยู่ในระบบประมาณห้าหมื่นล้านบาท มีงานก่อสร้างเกิดขึ้นทั่วประเทศไทยและอาเซียน”

“ผมขออนุญาตเอาคำพูดของคนใน Singularity University มาพูดว่า disruption process จะต้องผ่าน D 6 ตัว

ตัวแรกคือ Digitization คือการมีข้อมูลจำนวนมากก่อนจะไปทำ A.I. พอมีข้อมูลแล้ว ก็จะเริ่มใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาเสริมด้วย

ตัวที่สองคือ Deception เป็นช่วงที่คุณอาจจะงงๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่เวิร์กจริงไหม

ตัวที่สามคือ Disruption จะมีบางคนที่เปลี่ยนตัวเอง ทลายกำแพงเดิมๆ เชื่อมต่อกำแพงใหม่

ตัวที่สี่คือ Dematerialization การส่งมอบคุณค่าที่ไม่ใช่สิ่งของอีกต่อไป

ตัวที่ห้าคือ Demonetization อาจจะไม่ต้องใช้เงินก็ได้ ผมมีโมเดลธุรกิจบางอย่างที่แลกเปลี่ยนคุณค่ากันโดยไม่ต้องใช้เงิน  ผมให้คุณใช้ฟรี คุณให้คุณค่าอย่างอื่นกลับมา

และสุดท้ายก็คือ Democratization ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ของผมที่เกิดมา 8 ปี เติบโตมียอดขายสามร้อยล้านน่าจะถึงพันล้านได้ ผมสามารถขายวัสดุก่อสร้างไปประเทศเพื่อนบ้านจากการที่ผมมีข้อมูล ผมรู้ว่าใครสามารถขายของพวกนี้ได้ มีโรงงาน มีเครือข่ายตรงไหนที่ส่งของถึงปลายทางแล้วประหยัดที่สุด”

“วงการก่อสร้างมีข้อต่อหลวมๆ เต็มไปหมด ผมใช้ดิจิทัลไปขันน็อตกระบวนการที่หลวมอยู่ ทำให้ดีขึ้น  สิ่งที่ผมได้กลับมาคือตังค์  ผมไปเอาเงินจากความไร้ประสิทธิภาพที่เคยมีอยู่ในอุตสาหกรรม  แน่นอนว่ามีคนเสียผลประโยชน์จาก disruption ผมไม่สามารถทำเพื่อทุกคนได้ ร้านวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวไม่ได้ แน่นอนว่าได้รับผลกระทบ แต่ร้านวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวได้ ผมก็เข้าไปช่วยให้เขาทำได้ดีขึ้น”

“ผมมีข้อมูล แล้วเริ่มใช้ machine learning ใช้ A.I. ก้าวไปข้างหน้า  ผมเริ่มใช้เทคโนโลยีที่พวกเราพบกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งราคาถูกลงเรื่อยๆ อย่าง Internet of Things เซ็นเซอร์ต่างๆ  การตรวจจับภาพ  ผมสามารถใช้กล้องสแกนแล้วนับดูได้ว่าเหล็กที่มาส่งมีกี่ชิ้น ทำให้เราลดกระบวนการ ลดขยะจากสมัยก่อนไปได้เยอะ  เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ล้าหลังเลยมีโอกาสเยอะ  ผมก็ตามดูอุตสาหกรรมอื่นแล้วกำลังตามไปข้างหน้าอย่างใกล้ชิด”

เมื่อให้สรุปความถึงธุรกิจดิจิทัลสมัยใหม่ ว่ามีรูปแบบแบบไหน และไทยก้าวไปจุดไหนแล้ว ไผทอธิบายว่า

“ธุรกิจยุคใหม่เป็น platform business  คำนี้อย่าฟังผ่านๆ นะครับ  platform คือที่ที่ให้คนมายืนใช่ไหม เป็น physical platform ก็ได้ แต่ว่าตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนสู่ยุค digital platform เช่น Airbnb, Facebook เป็น platform ที่เอาคนอื่นๆ มาอยู่บนนี้ และทำให้คนไปได้ไกลขึ้น  เช่นเดียวกัน ร้านวัสดุก่อสร้างมาใช้ชีวิตบน platform ของผม ผู้รับเหมาต้องรวยขึ้น ร้านวัสดุต้องรวยขึ้น สถาปนิก วิศวกรต้องรวยขึ้น  นั่นคือรูปแบบการทำธุรกิจแบบหนึ่งที่ลูกหลานเราต้องเข้าใจ”

“วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีอะไรที่เป็น platform ของตัวเองเลย  พอเราทำไม่ได้ คนอื่นเลยเสนอเข้ามาเป็น platform ให้เราหมดแล้ว  เรากลายเป็นผู้บริโภคทางด้านเทคโนโลยี  แต่อย่าลืมว่าถ้าต้องลงทุนกับประเทศชาติ ก็ควรจะมี platform ของตัวเองบ้าง”

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากงาน ‘Digital Dialogue  ถกอนาคตดิจิทัลไทย’ ครั้งที่ 2 หัวข้อ ‘Digital Entrepreneurship – โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่’  จัดโดย The101.world และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS)  เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ผู้ร่วมสนทนาได้แก่ รศ.ดร.พิภพ อุดร, กิตตินันท์ อนุพันธ์, ไผท ผดุงถิ่น  ดำเนินรายการโดย ดร.สุทธิกรณ์ กิ่งแก้ว

ดูคลิปการเสวนาฉบับเต็มได้ที่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save