fbpx
Digital Dialogue : จับตาอนาคต กสทช. กับการกำกับดูแลในยุค 5G

Digital Dialogue : จับตาอนาคต กสทช. กับการกำกับดูแลในยุค 5G

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ประชุม สนช. ลงมติลับ ล้มกระดานการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ตามมาด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 มีหลายประเด็นที่สังคมต้องช่วยกันจับตา ตั้งแต่เบื้องลึกเบื้องหลังของการล้มกระดานครั้งนี้ การดำเนินกระบวนการสรรหาครั้งใหม่ในอนาคต ไปจนถึงผลกระทบต่อภารกิจต่างๆ ที่ กสทช.ต้องสะสาง โดยเฉพาะการจัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานสิ้นเดือนกันยายนปีนี้

เราจะมี กสทช. ชุดใหม่ มาทำงานภายใต้กฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ เมื่อไหร่ ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนแน่นอนคือ โลกยังคงหมุนเร็วต่อไปอย่างไม่หยุดรอใคร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

ในขณะที่โลกกำลังมุ่งไปสู่ยุค 5G ที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังหลอมรวมกันอย่างไร้พรมแดน โจทย์ข้อใหญ่ที่ กสทช. ชุดใหม่ ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ต้องตีให้แตก และต้องตอบสังคมให้ได้ คือจะนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่การเติมเลข 4.0 หรือ 5.0 ไว้แบบลอยๆ

อะไรคือกุญแจสำคัญของการมุ่งไปสู่โลกดิจิทัล, รูปแบบการกำกับดูแลที่เหมาะสมควรเป็นแบบไหน, อะไรคือสิ่งที่ กสทช. ชุดใหม่ต้องเตรียมรับมือ และอะไรคือปํญหาที่ต้องเร่งสะสาง 

101 และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS) เปิดวงถกอนาคตดิจิทัลไทยกับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งใน กสทช. ชุดปัจจุบัน ชวนกันขบคิด เพื่อทบทวนบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา และประเมินสิ่งที่ กสทช. ควรคิดควรทำในอนาคต ชวนสนทนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ : บทบาท กสทช. ในยุค 5G

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

 

อะไรคืออนาคตใหม่ของโลกแห่งการสื่อสาร

โลกเปลี่ยนไปหลายเฟส เราคงเคยได้ยินคำว่า convergence คือการหลอมรวมระหว่างโทรคมนาคม (telecommunications) กับการแพร่ภาพกระจายเสียง (broadcasting) ซึ่ง กสทช. ชุดใหม่ที่สรรหากันก็รวมกันเป็นชุดเดียวแล้ว ไม่ได้แยกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เราก็ตกยุคไปแล้ว เพราะกว่าจะรวมกันได้ โลกก็เคลื่อนไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

การกำกับดูแลในโลกแบ่งออกได้เป็นหลายยุค ยุคแรก คือ โทรคมนาคม, ยุคที่สอง คือ โทรคมนาคม + การแพร่ภาพกระจายเสียง, ยุคที่สาม คือ โทรคมนาคม + การแพร่ภาพกระจายเสียง + โครงข่ายอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา การขนส่ง, ยุคที่สี่ คือ ยุคการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ทุกอย่างที่สื่อสารผ่านแพล็ตฟอร์มดิจิทัล เช่น อีเมล สื่อออนไลน์ Voice over IP วิดีโอออนไลน์

และล่าสุด ยุคที่ 5 ซึ่งยากมาก คือ ยุคของบริการดิจิทัล เป็นยุคที่ไม่ได้มีการกำกับผู้ประกอบการตามอุตสาหกรรมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการกำกับบริการ ซึ่งมีลักษณะข้ามอุตสาหกรรม เมื่อก่อนองค์กรกำกับดูแลให้ใบอนุญาตและพยายามกำกับผู้ได้รับใบอนุญาต แต่ปัจจุบัน บริการดิจิทัลไม่ได้ผูกติดกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น การจ่ายเงินออนไลน์ (payment online) ธนาคารพาณิชย์ก็ทำได้ PayPal ก็ทำได้ บริษัทโทรคมนาคมก็ให้บริการได้ บริษัทค้าปลีกออนไลน์ก็ให้ได้ ดังนั้น ถ้าองค์กรกำกับดูแลจะกำกับบริการการจ่ายเงินออนไลน์ กสทช. ก็ต้องไปทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น

เทคโนโลยีในอนาคตจึงหลอมรวมอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน เส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมเบลอไปหมด เทคโนโลยี 5G อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT) เข้ามารองรับสิ่งเหล่านี้

 

เมื่อโลกก้าวไปสู่จุดนี้ รูปแบบการกำกับดูแลควรเป็นอย่างไร 

ในระดับของการกำกับดูแล เรายังอยู่แค่ยุคที่ 2 คือการกำกับกิจการโทรคมนาคมและกิจการแพร่ภาพกระจายเสียง แต่ระดับนโยบาย เราไปถึงยุคที่ 4 แล้ว ยกตัวอย่างจากชื่อกระทรวง จากกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลโทรคมนาคม เราตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แล้วตอนนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเห็นว่าเราเปลี่ยนชื่อมาเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของเทคโนโลยี ทันสมัยมาก (ยิ้ม)

ทันสมัยแต่ชื่อหรือเปล่า

(ยิ้ม) เนื้องานก็เปลี่ยนอยู่บ้าง เพราะเมื่อมันเป็นยุคดิจิทัล เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัล ก็จะวิ่งไปที่กระทรวงนี้ เช่น เรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ หรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ปัญหาคือ ในขณะที่นโยบายพยายามไปถึงยุคที่ 4 แล้ว หลอมรวมกันระดับหนึ่ง แต่การกำกับดูแลยังไปไม่ถึง อยู่แค่ยุคที่ 2 มันจึงเกิดความลักลั่น ติดขัดพอสมควร เช่น ถามว่า กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ไหม คำตอบคือไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้

กสทช. ต้องปรับตัวอย่างไร 

เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่าย ยังติดอยู่กับ กสทช. แต่ตัวบริการพัฒนาไปไกลแล้ว ดังนั้น ถ้า กสทช. ยังทำงานกำกับดูแลตามโมเดลเดิม คือกำกับแต่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้โครงข่าย ก็ต้องประสานงานและร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น เช่น กระทรวงดิจิทัล หรือ ธปท. จะทำงานอยู่คนเดียวแบบเดิมไม่ได้แล้ว

ในหลายประเทศ เช่น เคนยา ก็เป็นองค์กรกำกับดูแลดิจิทัล (digital regulator) ไปแล้ว หลายประเทศก็เลิกแยกระหว่างโทรคมนาคมกับการแพร่ภาพกระจายเสียงไปแล้ว ประเทศไทยก็คงต้องเดินไปสู่จุดนั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีประเทศไทย ยังไม่ต้องพูดถึงการวิ่งแข่ง แค่เดินยังไม่ค่อยจะไหว เราอาจเริ่มต้นด้วยการทำให้กิจการโทรคมนาคมและกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงเข้มแข็งก่อนก็ได้  แต่ก็ต้องเรียนรู้ว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น ความปลอดภัยไซเบอร์ จะเข้าไปทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลอย่างไร หรือแม้กระทั่งกฎกติกาในการกำกับดูแลการผูกขาด ก็ต้องร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ทำงานร่วมกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

แล้วภาครัฐ เช่น กระทรวงดิจิทัล ต้องปรับรูปแบบการทำงานอย่างไร

จุดอ่อนของนโยบายและการกำกับดูแลของประเทศไทยคือ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ดี และเพียงพอ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เพียงพอ ไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ  ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก เราจะทำงานกันแบบเดิมไม่ได้ ถ้าคุณกำกับเข้มเกินไป เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ไม่เกิด ประโยชน์ใหม่ๆ ที่เราควรได้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าเรากำกับน้อยเกินไป มันก็เสี่ยง ทุกอย่างต้องสมดุล ทั้งการสนับสนุนผู้ลงทุนใหม่ๆ และการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องนี้ไม่ง่าย งานกำกับดูแลไม่ใช่การเปิดตำราทำงานอีกต่อไป

ดังนั้น ความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแล ในยุค disruptive technology หรือยุค 5G จึงครอบคลุมหลายส่วน ไม่ใช่แค่โทรคมนาคมอีกต่อไปแล้ว เช่น เราจะกำกับดูแล bitcoin ยังไง จะควบคุม AI Fund ยังไง นี่เป็นโจทย์ที่ผู้กำกับดูแล รวมถึงผู้ที่ออกนโยบาย จะต้องคำนึงถึง และหาวิธีสร้างสมดุลให้ได้

ปัญหาของการกำกับดูแลในช่วงที่ผ่านมา คืออะไร

วิธีการทำงานแบบไทยๆ เช่น ออกกฎกติกาออกมาโดยไม่ต้องรับฟังความเห็น หรือรับฟังความเห็นไป แต่สุดท้ายก็ทำแบบเดิม จะเสี่ยงมาก อาจสร้างความเสียหายให้ประเทศได้ เหมือนเรามีม้าที่วิ่งเร็วขึ้น ถ้าเราเป็นจ๊อกกี้ที่เก่ง เราก็จะยิ่งพุ่งไปได้ไกล แต่ถ้าเรายังไม่เก่ง ควบคุมม้าไม่ได้ สุดท้ายก็จะตกม้าตาย

แนวทางทำงานในยุคนี้ การออกกฎกติกากำกับดูแลหรือควบคุม ต้องมีเหตุผล ต้องมองรอบด้าน ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นี่เป็นมิติใหม่ของการทำงานกำหนดนโยบายและการกำกับดูแล ซึ่งภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลของไทยไม่เคยชินกับวิธีการแบบนี้ ที่ผ่านมาใช้วิธีการปิดประตูเขียนกฎกติกาออกมาบังคับใช้เลย

เครื่องมือสำคัญอันหนึ่งคือ Regulatory Impact Assessment (RIA) หรือการประเมินผลกระทบของกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก่อนการบังคับใช้ ประเทศอื่นทำกันหมด แต่ไทยแทบไม่มีการทำเลย ในยุคใหม่ RIA เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ

โจทย์ที่ท้าทายและซับซ้อนรอ กสทช. ชุดใหม่อยู่ สังคมควรจับตา กสทช. ชุดใหม่อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ กสทช. ควรทำและไม่ควรทำ 

เมื่อมองไปข้างหน้า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรกำกับดูแล อาจไม่ใช่แค่คำถามว่าจะกำกับอะไร อย่างไร แต่อยู่ที่วิธีการกำกับดูแลจะต้องมีความโปร่งใส เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม และทำงานอย่างเปิดเผยต่อต่อสาธารณะ ลำพังแค่องค์กรกำกับดูแลองค์กรเดียวนั้น คงไม่มีความสามารถพอที่จะกำกับได้อย่างพอดิบพอดี ครบทุกมิติ อย่างน้อยควรมีฟีดแบคจากทั้งผู้ประกอบการ ตัวแทนจากผู้บริโภค หรือภาคส่วนอื่นๆ ถ้ายังใช้วิธีการทำงานแบบปิดประตูอย่างที่ผ่านมา โอกาสผิดพลาดจะเยอะมาก ไม่ว่าจะไปในทิศทางเข้มเกินไปหรืออ่อนเกินไป การหาสมดุลระหว่างเป้าประสงค์ในการกำกับดูแลที่หลากหลายก็เป็นเรื่องสำคัญ

บางคนอาจบอกว่า ที่ผ่านมา กสทช. มีการรับฟังความคิดเห็นมาตลอดอยู่แล้ว แต่ดิฉันมองว่า มันเป็นแค่การรับฟังความเห็นแบบ tick the box คือรับฟังเพื่อให้มันผ่านไป แต่ไม่ใช่การรับฟังเพื่อเอาเนื้อหาเหล่านั้นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเอาร่างกฎกติกาทั้งฉบับมาวาง แล้วก็ถามว่าคิดเห็นยังไง ซึ่งผิดขั้นตอน สิ่งที่ควรเป็นคือการรับฟังก่อนที่จะมีการยกร่างออกมา เช่น ถ้าฉันจะกำกับแบบนี้ หรือจะร่างออกมาแบบนี้ คุณคิดว่ามันเหมาะสมไหม หรือคุณคิดว่าฉันควรกำกับแบบไหน เมื่อระดมความเห็นเสร็จแล้ว จึงนำข้อสรุปไปร่างกฎออกมา ไม่ใช่ร่างออกมาแล้วถามว่าชอบไหม

กสทช. มีผลประโยชน์มหาศาล แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักเรื่องการวางบทบาทตัวเองให้เป็นกลางมากนัก  ในต่างประเทศ ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลจะทำตัวเหมือนศาลยุติธรรม คือไม่สุงสิงกับคนอื่น ไม่สุงสิงกับผู้ประกอบการ หรือถ้าจะสุงสิง ก็ต้องทำอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ไปตีกอล์ฟด้วยกัน ไปกินข้าวด้วยกัน มาตรฐานจรรยาบรรณพวกนี้สำคัญ ความเป็นกลางมีความสำคัญมากต่อการสร้างความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายและต่อสาธารณะ ถ้าคุณสร้างความเชื่อมั่นไม่ได้ คุณจะทำงานลำบาก

เราคุยกันเรื่องโจทย์ในการกำกับดูแลมากมายเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล เมื่อ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาทำงาน ควรจัดลำดับความสำคัญอย่างไร 

วัตถุประสงค์หลักขององค์กรกำกับดูแลโดยทั่วไปจะมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยี อีกส่วนคือการคุ้มครองผู้บริโภค คำถามคือ กสทช. ควรจะทำทั้งสองด้านนี้อย่างไร

ในมุมของดิฉัน คิดว่าที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของ กสทช. คือการคุ้มครองผู้บริโภค ข้อหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือเรื่องคุณภาพของบริการ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4G เราเห็นการร้องเรียนเรื่องคุณภาพของสัญญาณอยู่เสมอ เช่น ช้ามาก พูดง่ายๆ ว่า คุณภาพในการใช้งานจริงยังห่างไกลจากสิ่งที่โฆษณาอยู่เยอะ ถ้า กสทช. ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ก็น่าจะทำให้มาตรฐานของบริการสูงขึ้นด้วย ถ้า 4G เรายังช้าอยู่แบบนี้ เราจะไป 5G ได้ยังไง

ในส่วนของการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคม สิ่งที่เป็นห่วงมากคือการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคมไทย ไม่มีรายใหม่อยากเข้ามาร่วมประมูล เพราะการกำกับดูแลของเราไม่เอื้อให้มีรายใหม่เข้ามา ในต่างประเทศมีการส่งเสริมให้มีรายใหม่เข้ามาแข่งขัน โดยกันคลื่นความถี่บางส่วนไว้เฉพาะสำหรับรายใหม่ หรือมีแต้มต่อให้รายใหม่เมื่อเข้ามาประมูล

การเชื่อมต่อโครงข่ายก็มีความสำคัญ ประเทศไทยไม่มี mobile virtual network operator (MVNO) หรือผู้ให้บริการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่าย เงื่อนไขในการซื้อ capacity มาต่อยอดมีราคาแพงและไม่คุ้ม เมื่อไม่มีคนที่สามารถเข้ามาใช้โครงข่ายเพื่อสร้าง value-added service ได้ ก็เลยมีรายใหญ่อยู่เพียงไม่กี่เจ้า ก็คือเจ้าของโครงข่ายนั่นเอง เพราะเขาไม่ให้คนอื่นมาใช้ของเขา หรือให้ใช้ได้แต่ยาก เชื่อมต่อก็แพง

นอกจากนั้น ไทยยังไม่มีระบบ infrastructure sharing เรามีเสาโทรคมนาคมขึ้นเป็นดอกเห็ด ต่างประเทศเขาไม่ให้ทำแบบนี้ ถ้ามีสามเจ้า ทำไมต้องปักสามเสา แทนที่จะปักเสาเดียวแล้วแชร์สัญญาณกัน แต่เมืองไทยไม่มีกฎกติกา เอกชนก็ไม่อยากแชร์เพราะกลัวล้วงข้อมูลกัน ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูง แทนที่ถ้าแชร์กันต้นทุนจะลดลงไปเหลือหนึ่งในสาม สุดท้ายประเทศไทยก็เต็มไปด้วยเสา และภาระก็ตกกับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น

สถานการณ์การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไทยจะยิ่งน่ากังวลมาก ถ้าผู้ประกอบการสามรายจะเหลือสองราย เพราะขนาดตอนนี้ก็ยังไม่ได้แข่งขันกันถึงกับเต็มที่นัก

ปีนี้น่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่ เราเรียนรู้บทเรียนอะไรจากการประมูลคลื่นความถี่ในอดีต

ในอดีตมีการประมูลสองครั้ง ครั้งแรกได้ราคาถูกมาก แทบจะเท่าราคาตั้งต้น รัฐเสียประโยชน์ เพราะ กสทช. ออกกฎให้ไม่มีการแข่งขัน บทเรียนแรก คือ อย่าออกแบบให้เป็นการแบ่งเค้กกัน

สอง การประมูลต้องมีการตรวจสอบผู้เข้าร่วม ต้องมีบทลงโทษไม่ให้เกิดการเข้ามาปั่นราคาเล่น แล้วทิ้งไป

หลักการที่ดีคือต้องมีการแข่งขัน ทั้งก่อนประมูลและหลังประมูล ออกแบบให้มีหลายเจ้ามาร่วมประมูล และพอประมูลเสร็จ ก็มีผู้ประกอบการหลายรายแข่งกันในตลาด

ส่วนในการประมูลครั้งใหม่ เรื่องการกำหนดราคาตั้งต้นตามราคาสุดท้ายจากการประมูลรอบก่อนที่มาจากการปั่นราคา ตามหลักแล้ว ถ้ากฎการประมูลเอื้อให้มีการแข่งขันจริงๆ มันไม่จำเป็นต้องมีราคาขั้นต่ำด้วยซ้ำไป สมมติเรามีกันอยู่ 4 คน แต่เรามีเค้ก 3 ชิ้น ก็ต้องมีคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นทุกคนต้องสู้กัน ใครจ่ายได้น้อยสุดก็อดไป ในแง่นี้ มันจึงไม่จำเป็นต้องมีราคาขั้นต่ำด้วยซ้ำ แค่ปล่อยให้ทั้ง 4 คนสู้กันไป จนกว่าใครสักคนจะรู้สึกว่าพอแล้ว เค้กชิ้นนี้ฉันจ่ายให้มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ฉันยอม จบ อีกสามเจ้าก็ได้ไป

ฉะนั้นการออกแบบที่ดี จึงอยู่ที่การสร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะตั้งราคาขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่มีการแข่งขัน ราคาขั้นต่ำก็จะมีความสำคัญมาก

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา : คลื่นความถี่ที่ไม่เคยสะสาง

 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ในฐานะที่เป็น กสทช. ชุดแรก ทำงานมา 6 ปีเต็ม คุณหมอมองอนาคตของโลกการสื่อสารยังไง เห็นโอกาส ความหวัง ข้อจำกัด อะไรบ้าง

ข้อแรกที่เราต้องตระหนักคือ โลกของการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น หมายความว่าเทคโนโลยีเป็นตัวนำ ทำให้การสื่อสารเปลี่ยนแปลงตาม และทำให้กติกาการกำกับดูแลต้องเปลี่ยนไปด้วย

ผมมีสองประเด็น เรื่องแรก วิธีคิดแบบดิจิทัล เรื่องที่สอง ประเทศไทยยังไม่พร้อมรับ 5G

ผมขอพูดถึงเรื่องวิธีคิดแบบดิจิทัลก่อน ตอนผมไปร่วมงาน Moblie World Congress ปี 2018 มีวิทยากรคนหนึ่งพูดเรื่องนี้ เขาเป็นอดีตผู้บริหารของ Delta Airlines ก่อนจะย้ายมาเป็น CEO ของ Red Hat บริษัทที่ทำงานด้านเทคโนโลยีและอินโนเวชั่นต่างๆ

เขาบอกว่า เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกิดขึ้นทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี สิ่งที่เขาค้นพบคือ ‘Planning is dead’ การวางแผนตายไปนานแล้ว วิธีคิดแบบเก่าที่เริ่มจากการวางแผน ต่อด้วยการดำเนินการ แล้วค่อยมาปรับเปลี่ยนแผนกันใหม่ มันไม่ทันกับยุคดิจิทัลแล้ว เช่นเดียวกับวิธีการบริหารแบบ top-down ที่ผู้บริหารเป็นคนกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง มันจะไปไม่รอด

ยุคนี้เป็นยุคที่มีคนคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาแข่งกับคุณตลอดเวลา ถ้าคุณยังคิดจะขายของเก่าอยู่ โดยที่คนอื่นเอาของใหม่ออกมาขายกันแล้ว คุณจะเจ๊ง กลายเป็นว่าคุณก็ต้องพยายามทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ

ทีนี้ วิธีที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้นั้น มีหัวใจสำคัญสองข้อ หนึ่งคือการกระจายอำนาจ สองคือการมีส่วนร่วม ถ้าองค์กรไหนยังใช้วิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ องค์กรนั้นจะตาย ถ้าองค์กรไหนยังปิดปากลูกน้อง ไม่ให้แย้ง ไม่ให้พูด หรือต้องพูดว่า ‘ดีครับผม’ อย่างเดียว องค์กรนั้นไม่รอด

ประเด็นต่อมา เรื่องเมืองไทยยังไม่พร้อมสำหรับ 5G  สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกการสื่อสารต่อจากนี้ โดยเฉพาะเรื่อง 5G มันไม่ใช่แค่เรื่องของโทรคมนาคมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของทุกภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ภาคการเงิน ภาคการเกษตร การขนส่ง และ IoT พูดง่ายๆ ว่ามันจะเป็นเหมือนอากาศ เหมือนไฟฟ้า เหมือนประปา ที่ทุกคนต้องใช้ เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่ทุกคนต้องอยู่กับมัน

ฉะนั้น การมองว่า 5G เป็นเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมเท่านั้นจึงเป็นความคิดที่ผิด การกำกับดูแลจึงต้องยุ่งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ใช่แค่โทรคมนาคม ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงไม่ใช่คนที่กำกับดูแลเฉพาะเครือข่ายโทรคมนาคมเท่านั้น ถ้าเราอยากให้เครือข่ายดิจิทัลทั้งหลายเดินหน้าไปด้วยกัน กสทช. จำเป็นจะต้องประสานงานกับภาคส่วนๆ อื่น รวมถึงองค์กรกำกับดูแลในภาคส่วนนั้นๆ ด้วย การทำงานคนเดียวอย่างที่ผ่านมาคงเป็นไปไม่ได้

กลับมาเมืองไทย วัฒนธรรมราชการไทย คือเอาราชการเป็นใหญ่ เอากฎหมายเป็นเครื่องมือ ต่อให้ออกกฎหมายมากี่ฉบับก็ไม่มีทางทัน ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้คือ ต้องทำให้พลเมืองไทยคิดได้ทำได้ ไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจรัฐคิดได้ทำได้ แล้วสั่งพลเมือง เพราะรัฐไม่มีทางเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน ไม่ว่าจะออกกฎหมายใหม่อย่างไร เขียนยังไงก็ไม่ทัน แถมกฎหมายยังเป็นอุปสรรคในการทำงาน การออกกฎหมายแต่ละครั้งไม่ได้แปลว่าประสิทธิภาพการทำงานของราชการจะดีขึ้น

ขยายความหน่อยว่า ทำไมประเทศไทยถึงยังไม่พร้อมรับ 5G

ข้อแรก เพราะคลื่นความถี่ของเราไม่เคยถูกสะสาง ตั้งแต่มี กสทช. มา ถามว่าเราเคยเรียกคืนคลื่นความถี่ไหนสำเร็จบ้าง คลื่นที่เราเคยประมูลกันมาเป็นคลื่นว่างทั้งนั้น นั่นคือ คลื่น 2100  ในประมูล 3G ส่วนการประมูล 4G คลื่น 900 และคลื่น 1800 คือคลื่นที่หมดสัมปทาน ก็เป็นคลื่นว่างที่คืนมาให้เรา กสทช. ไม่เคยใช้อำนาจในการเรียกคืนคลื่นได้สำเร็จเลยสักคลื่นเดียว

แต่อนาคตจะเกิดปัญหาแน่นอน เพราะไทยจะไม่มีคลื่นประมูล 5G เราไม่เคยทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (spectrum roadmap)  คลื่นความถี่สำหรับ 5G แบ่งเป็น 3 ย่าน คือ ย่าน low band ต่ำกว่า 1 GHz ซึ่งประเทศไทยแทบไม่เหลือแล้ว เพราะคลื่น 900 ประมูลไปแล้ว ส่วนคลื่น 850 จะยกให้รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โทรคมนาคมหมดสิทธิ์ เหลือคลื่นเดียวคือ 700 แต่ต้องรอให้ทีวีอนาล็อกกับทีวีดิจิทัลตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะเอามาประมูลได้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่  ย่านที่สองคือ mid band (1-6 GHz) หรือ C-band ใช้ในบริการดาวเทียมอยู่ ซึ่งถ้าไม่เคลียร์ให้ว่างก็นำมาประมูล 5G ไม่ได้ และย่าน high band (สูงกว่า 6 GHz) เรายังไม่เคยแตะต้อง คิดถึงการใช้ประโยชน์ หรือสะสางเลยว่าใช้ได้หรือไม่

ประเด็นต่อมา คือเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล บนเวที Moblie World Congress มี CEO ของบริษัทยุโรปบริษัทหนึ่ง ซึ่งให้บริการในพื้นที่เอเชียด้วย ประกาศบนเวทีชัดเจนว่า ถ้ามี 5G เขาจะยังไม่ลงทุนในเอเชียกับแอฟริกา ซึ่งทำให้ทุกคนงงมาก เพราะมันเป็นตลาดใหม่ที่น่าลงทุน

เขาให้เหตุผลว่า เพราะ 5G ไม่ใช่บริการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่มันเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่ต้องมี use case กับธุรกิจอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงิน การขนส่ง หรือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่พร้อม use case ยังไม่มี ก็ไม่ดึงดูดให้คนอยากเข้ามาลงทุน เพราะมันจะเสียเวลา เสียเงินลงทุนไปเปล่าๆ เขาจะลงทุนเฉพาะประเทศที่ use case พร้อมแล้ว นั่นคือในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ย้อนกลับมาที่ไทย สิ่งที่ต้องระวังคือ เราต้องไม่สร้างความตื่นตัวเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเท่านั้น ไม่ว่าเราจะให้ AIS, DTAC หรือ True พูดเรื่อง 5G กันขนาดไหน ก็ไม่มีประโยชน์ เครือข่าย 5G คือ intelligence network ที่เชื่อมต่อ IoT ทั้งหมด ถ้าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่สนใจ ก็ไม่มี use case แล้วใครจะกล้าลงทุน เพราะมันลงทุนเยอะกว่า 3G และ 4G มหาศาล ทั้งคลื่นความถี่ ทั้งโครงข่าย

ถ้าพูดโดยสรุป ปัจจุบันเราพยายามตีปี๊บเรื่อง 5G แต่ผมบอกเลยว่าเราทำแค่ตีปี๊บ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นพื้นฐานรองรับเรื่อง 5G เลย

 

ที่ผ่านมา กสทช. มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไร และทำไมเราถึงยังสะสางไม่ได้

เวลาเราพูดถึงแผนการจัดการคลื่น มันมีหลายระดับ สิ่งที่ กสทช. ประกาศใช้แล้วคือ แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ กับตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ซึ่งบอกแต่เพียงว่า คลื่นไหนใช้กับบริการอะไร เช่น มือถือ ดาวเทียม ประมง วิทยุสมัครเล่น นี่คือแผนลำดับใหญ่ที่สุดที่เรามี

ส่วนแผนที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือแผนที่เรียกว่า spectrum roadmap ก็คือเป็นแผนที่นอกจากบอกว่าคลื่นไหนใช้กับบริการอะไรแล้ว ยังบอกด้วยว่าใครเป็นผู้ถือครองอยู่ แล้วจะหมดเมื่อไหร่ แล้วจะสามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรมอะไร ได้เมื่อไหร่ ไปจนถึงมีแผนที่จะขยับขยายหรือเรียกคืนคลื่นเมื่อไหร่ ถ้าเราเห็นทั้งกระดานแบบนี้ เอกชนก็สามารถเลือกได้ถูกว่าจะลงทุนในคลื่นไหน อย่างไร

จนถึงวันนี้ ที่ กสทช. ตีข่าวว่าจะประมูลคลื่น DTAC ถามตรงๆ นะครับ นี่มันวันที่เท่าไหร่แล้ว สัมปทาน DTAC จะหมดเดือนกันยายน 2561 ตอนนี้ถ้าถามว่าเราจะประมูลคลื่นกันยังไง ในเมืองไทยไม่มีใครตอบได้  ถ้าเป็นเมืองนอก นี่ลาออกอย่างเดียวนะครับ สัมปทานจะหมดในอีกไม่กี่เดือนแต่คุณตอบไม่ได้ว่าจะจัดสรรคลื่นเมื่อไหร่ แต่ของไทยเรา กสทช. ก็ยังอยู่กันได้

ข่าวตอนแรกออกมาว่าจะประมูลกันเดือนพฤษภาคม แต่แล้วก็มาบอกว่าไม่แน่ จะเลื่อนไปเรื่อยๆ เหมือนเลื่อนเลือกตั้งหรือเปล่า ไม่รู้ ฉะนั้นการที่เรามี spectrum roadmap ว่าคลื่นอะไรจะใช้กับธุรกิจอะไร เมื่อไหร่ ใครถือครอง มีอายุการอนุญาตเท่าไหร่ เอกชนจะได้วางช็อตในอนาคตได้ถูก

ทำไม กสทช. ชุดปัจจุบัน ถึงทำ spectrum roadmap ได้ไม่สำเร็จ ติดขัดอยู่ตรงไหน

จริงๆ แล้วปัญหาของเมืองไทยไม่ใช่เรื่องอนาคต แต่เป็นเรื่องอดีตทั้งนั้น ถามว่าทำไมเราถึงทำ spectrum roadmap ไม่ได้ ก็เพราะคลื่นเกือบทุกคลื่นในประเทศไทยมีเจ้าที่ กองทัพบ้าง รัฐวิสาหกิจบ้าง ส่วนราชการบ้าง หรือแม้แต่เอกชน แล้วเจ้าที่ก็มักจะไม่ค่อยคืน ต่อให้ไม่ได้ใช้แล้ว

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องโทรศัพท์ 470 ที่เป็นเสาสูงๆ ตั้งในต่างจังหวัด กรมไปรษณีย์เดิมจัดสรรส่วนหนึ่งให้ TOT ทำโทรศัพท์ทางไกลสาธารณะชนบท เราเลิกใช้โทรศัพท์แบบนี้กันไปนานแล้ว แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถเอาคลื่น 470 มาทำอะไรได้เลย เพราะเจ้าที่เดิมรู้สึกว่ายังเป็นของเขาอยู่

ในทำนองเดียวกัน ตอนคลื่น 900 และ 1800 หมดอายุสัมปทาน CAT ก็ยังบอกว่าเป็นของเขาอยู่ กลายเป็นคดีในศาลปกครอง นี่เดี๋ยวพอสัมปทาน DTAC หมด CAT ก็จะบอกว่าเป็นของเขาอยู่ เช่นเดียวกับคลื่นของกองทัพทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่า ไม่ว่าเราจะหยิบคลื่นไหนขึ้นมาก็ตาม คลื่นนั้นมีเจ้าของหมดแล้ว

พอทุกคลื่นในเมืองไทยมีเจ้าที่ เวลาที่มันจะจบ มันจะไม่จบที่ กสทช. แต่จบที่ศาล อย่างเรื่องคลื่น 470 ที่เล่า TOT เป็นคนฟ้อง กสทช. นะครับ ส่วนคลื่น 1800 CAT ก็ฟ้อง กสทช. ฉะนั้นเกือบทุกคดี มีการฟ้องร้องหมด ยกเว้นคดีที่เรายกคลื่นให้เขา เขาก็เลิกฟ้อง อย่างเช่นตอนที่ กสทช. ใจดี ยกคลื่น 2300 ให้ TOT หรือยกคลื่น 2600 ให้ อสมท. เขาก็ไม่ฟ้อง เพราะได้ประโยชน์ แต่ถ้า กสทช. บอกว่าเป็นของเราปุ๊บ ก็จะมีการฟ้องเกิดขึ้น

เมื่อเจ้าที่ส่วนใหญ่คือส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ วัฒนธรรมของราชการไทยก็มักจะมีความเข้าอกเข้าใจราชการด้วยกันอยู่ เลยไม่ค่อยมีการแสดงออกหรือมีปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์กันอย่างรุนแรง แล้วเราก็อยู่กันมาแบบนี้ ประนีประนอม สุดท้าย กสทช. เลยทำอะไรได้ไม่มาก

 

เราจะสะสางปัญหาเหล่านี้อย่างไร 

สิ่งที่ทำได้คือเอาหลักฐานที่ชี้ว่าคุณได้คลื่นมาโดยชอบด้วยกฎหมายมากางดูกัน ถ้าคุณได้คลื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย คุณก็ใช้ต่อได้ แต่ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณก็ใช้ไม่ได้ ต้องคืนคลื่น แค่นั้นเอง

น่าแปลกใจที่คลื่นหลายคลื่นซึ่งส่วนราชการไทยใช้มาโดยตลอด ไม่เคยมีหนังสืออนุญาตให้ใช้คลื่นเลย ไม่มีหลักฐานใดๆ ถ้าว่าตามหลักกฎหมายก็ถือว่าผิดกฎหมายใช้คลื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดี เพราะเห็นว่าเป็นส่วนราชการด้วยกัน

กฎหมายเขียนไว้ว่า กสทช. ชุดปัจจุบัน มีหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาสัมปทานทั้งหมด รวมถึงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ทั้ง AIS, DTAC, True ทั้งหลายทั้งปวง แต่ผ่านมา 6 ปี จนถึงตอนนี้ กสทช.ไม่เคยตรวจสอบเรื่องนี้เลย เขาตรวจสอบแค่ว่า สัญญายังมีผลอยู่ ซึ่งผมก็บอกในที่ประชุมไปแล้วว่า ถ้าจะตรวจแค่นี้ ไม่ต้องตรวจหรอก เพราะเด็ก ป.4 ก็รู้ สิ่งที่ควรตรวจสอบจริงๆ คือ ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา ซึ่ง กสทช.ไม่เคยทำ เราไม่เคยทำตามกฎหมายจนสิ้นสุดกระบวนการเลย

 

สำหรับการทำงานของ กสทช. ในอนาคต อะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันจับตา และบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร

วัฒนธรรมการทำงานของ กสทช. ยังมีความเป็นอำนาจนิยมสูง อิงกับระบบราชการสูง จึงทำให้มันไม่เป็นองค์กรอิสระที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเท่าไหร่นัก

ดังนั้น สิ่งที่ผมคาดหวังคืออยากเห็น กสทช. เป็นมืออาชีพ นอกจากจะเป็นมืออาชีพในการทำงานแล้ว สิ่งที่ควรทำคือการติดตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ว่าประเทศไทยควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร

เท่าที่ผมจับตาดูหน่วยงานหรือองค์กรอิสระทั้งหลาย ผมคิดว่าสำนักงานเป็นตัวตัดสินว่าการทำงานจะรุ่งหรือไม่ ซึ่งสำนักงานส่วนใหญ่มักทำตัวเป็นแค่ฝ่ายธุรการ ทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้มีลักษณะการทำงานไม่ต่างจากราชการ เพียงแต่กินเงินเดือนสูงขึ้น ใช้งบฟรีมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ฉะนั้นข้อแรก คือตัวสำนักงานต้องเปลี่ยนสภาพการทำงานก่อน

ถ้าเรายอมรับตั้งแต่แรกว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนเร็ว และไม่สามารถคาดเดาได้ หมายความว่าการออกกฎกติกาก็แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น แทนที่จะพยายามออกกฎกติกา สิ่งที่ควรคิดควรทำมากกว่า คือหาวิธีที่จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ อย่างที่ผู้กำกับดูแลของหลายประเทศทำกัน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ประเด็นต่อมา คือการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น นอกจากการสนับสนุนแล้ว ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้วย ตอนนี้สิ่งที่หลายประเทศทำแล้ว รวมถึง ธปท. ก็กำลังทำอยู่ ก็คือ สนามทดลอง หรือ sandbox จากเดิมที่เราเป็นฝ่ายรอให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยปรับหรือแก้ตาม เราต้องหันมาร่วมพัฒนากับทุกอุตสาหกรรม มาทดลองในสนามกันเลยว่าถ้า 5G เข้ามา ภาคส่วนไหนจะทำอะไรได้บ้าง เมื่อเรียนรู้ร่วมกันเสร็จ ผู้ประกอบการก็จะมองเห็นว่าจะทำกำไรได้อย่างไร ส่วนผู้บริโภคก็จะรู้ว่าเขาได้ประโยชน์หรือโทษอย่างไร แล้วค่อยไปออกกติการ่วมกัน

อีกเรื่องคือ ทิศทางการทำงาน ทั้งรัฐและ กสทช. ควรเดินไปทิศทางเดียวกัน เช่น ถ้าเราตกลงกันเรื่อง digital transformation เราจะ transform ภาคส่วนไหนบ้าง เมื่อไหร่ อย่างไร ในเมื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้บาดเจ็บน้อยที่สุด ได้ประโยชน์สูงสุด ทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัล

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ หมายความว่าในอนาคต กสทช. จะไม่ใช่องค์กรโชว์เดี่ยวอีกต่อไป เพราะการทำตัวโดดเดี่ยวไม่มีประโยชน์ กสทช. ต้องสร้างพันธมิตรร่วมทำงาน ต้องเป็นผู้รับฟังก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ

ส่วนเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ประเด็นราคาตั้งต้นในการประมูล ที่บอกว่าเอาราคาสุดท้ายของครั้งที่แล้วมาเป็นราคาตั้งต้นในครั้งนี้ มองเผินๆ ก็ดูดี ไม่งั้นคนที่ชนะไปแล้วจะเสียเปรียบ แต่ข้อเสียของมันคือ ถ้าในอนาคต สมมติว่าผมเป็นรายใหญ่ที่มีเงินเยอะสุด ผมอาจซื้อคลื่นในราคาแพงที่สุด เพราะรู้ว่าในอนาคตจะไม่มีใครซื้อราคานี้ได้อีกเลย

ดังนั้นการใช้ราคาเก่ามากำหนดคือการกีดกันรายอื่นๆ เข้าตลาด การกักตุนคลื่นจะเกิดง่ายขึ้น และการเอาคลื่นไปใช้ประโยชน์จริงจะยิ่งน้อยลง เช่น สมมติเราประมูลคลื่น 1800 MHz แล้วมีคนเข้าประมูลรายเดียวเนื่องจากสัมปทานหมด ถามว่าคลื่นที่เหลือจะทำยังไง คุณกล้าไหมที่จะเอาคลื่นนั้นมาเปิดประมูลในราคาที่ต่ำลง เพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้าตลาด ถ้าไม่กล้า ประเทศไทยก็หมดอนาคต

 

กสทช. ควรจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ อย่างไร ควรทำอะไรเป็นลำดับต้นๆ

ถ้าพูดในแง่เทคโนโลยี หลักๆ ก็คือเรื่องคลื่น เราต้องสะสางคลื่นให้ได้ก่อน คล้ายการสะสางกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด เพื่อจะได้จัดสรรได้ถูกว่าจะเอาที่ดินนั้นไปทำอะไร

แต่ถ้าพูดในแง่ของคนที่เคยทำงานตรงนี้มาก่อน ผมอยากสะสางวัฒนธรรมการทำงานของสำนักงานและกรรมการ กสทช. ก่อน เพราะอุปสรรคทั้งหมดเริ่มต้นจากตรงนั้น ถามว่าทำไม spectrum roadmap ไม่เกิด ก็เพราะวัฒนธรรมการทำงาน ถ้าวัฒนธรรมการทำงานยังเป็นแบบนี้ ยังมีความเกรงใจส่วนราชการ ยังเกรงใจทุนใหญ่ roadmap ก็ไม่มีวันเกิด

ดังนั้น ผมจึงเชื่อเรื่องการสะสางการทำงานขององค์กรให้มีคุณภาพมากขึ้นก่อน แต่ผมก็ยังอยากให้ กสทช. เป็นอิสระ ซึ่งสิ่งที่ต้องมีควบคู่กับความอิสระก็คือการตรวจสอบ ถ้าเราปล่อยให้มีอิสระแต่ไปทำลายระบบตรวจสอบ อันนั้นยิ่งกว่าเผด็จการ

เรื่องสุดท้ายที่อยากย้ำอีกครั้ง คือการบริหารความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดเดาไม่ได้ การมองย้อนหลังและเอาแต่โทษว่าเพราะทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วล้มเหลว จะยิ่งทำให้คนไม่อยากบริหารความเปลี่ยนแปลง เพราะมันจะเจอแต่การรับผิด

การบริหารสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องใช้การลองผิดลองถูก ถามว่าการลองผิดลองถูกที่ดีที่สุดคืออะไร ก็คือการกระจายอำนาจ และการสร้างการมีส่วนร่วม จากอดีตที่ผ่านมา อำนาจที่สั่งมาจากส่วนกลางไม่เคยแก้ปัญหาดิจิทัลได้ เพราะโลกดิจิทัลคือพื้นที่ของทุกๆ คน


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากงาน ‘Digital Dialogue ถกอนาคตดิจิทัลไทย’ ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘Digital Communications : อนาคตวงการโทรคมนาคมและสื่อไทย ภายใต้ กสทช.ชุดใหม่’ จัดโดย The101.world และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ผู้ร่วมสนทนาได้แก่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ 

ดูคลิปการเสวนาฉบับเต็มได้ที่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save