fbpx

Digital Court: สู่ความยุติธรรมที่รวดเร็วและใกล้มือยิ่งขึ้น

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดจน ‘สั่นสะเทือน’ (disrupt) และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงชีวิตประจำวันทั่วไป

ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกเช่นกันที่ต้องเผชิญต่อกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (digital transformation) สำหรับศาลยุติธรรมไทย การโอบรับเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรมนับว่าเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการปรับสถาบันให้เข้ากับยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

‘D-court’ หรือศาลดิจิทัล (digital court) คือรูปธรรมของการนำนวัตกรรมเข้ามาเสริมเพื่อให้ศาลอำนวยความยุติธรรมและตอบโจทย์ความท้าทายในกระบวนการยุติธรรม แต่กว่าศาลจะขยับขยายไปสู่โลกดิจิทัลได้ อะไรคือจุดเริ่มต้นของ D-court ความท้าทายที่กระบวนการยุติธรรมกำลังเผชิญอยู่คืออะไร D-court ทำงานอย่างไร และ D-court จะตอบโจทย์กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง

101 สนทนากับ พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยศาลดิจิทัลของศาลยุติธรรมไทย ไล่เรียงตั้งแต่เบื้องหลังความคิดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้กับกระบวนการยุติธรรม แนวทางการทำงานของศาลดิจิทัล ไปจนถึงการพัฒนาศาลดิจิทัลในอนาคต

ก่อนหน้านี้กระบวนการยุติธรรมต้องเผชิญปัญหาอะไรบ้าง และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การระบาดเน้นย้ำให้เห็นปัญหาเดิมหรือทำให้เห็นปัญหาใหม่ๆ อย่างไรบ้าง

ปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกจะมีลักษณะเหมือนกัน ปัญหาแรกคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งศาลก็ต้องพยายามทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลหรือเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกขึ้นพอสมควร

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือคนในสังคมมีศักยภาพในการใช้สิทธิทางศาลแตกต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วจะเห็นได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในทุกมิติ ไม่เฉพาะแค่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่เรื่องสาธารณสุขและการศึกษาก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้เห็นสภาพปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วเด่นชัดขึ้น เมื่อเกิดการระบาด ประชาชนหลายภาคส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ บางคนอาจถูกเลิกจ้างชั่วคราว และที่สำคัญ การระบาดก็กระทบกับกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างแรกที่กระบวนการยุติธรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศาล คือการเดินทางมาศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการหรือดำเนินกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าศาลเป็นสถานที่ที่มีบุคคลจากหลากหลายแห่งมารวมกัน ยกตัวอย่างเช่น ในการดำเนินคดีอาญาต้องมีผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่ศาล คู่ความ พยานซึ่งมาจากต่างที่กันแล้วมารวมตัวที่ศาล 

ฉะนั้น พอต้องลดการเดินทาง ศาลก็ต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะให้ภาคประชาชนที่เป็นคู่ความเข้ามาดำเนินกระบวนการพิจารณาความให้ได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติมากที่สุด เช่น ลดการติดต่อหรือใกล้ชิดกันระหว่างเจ้าหน้าที่ศาลกับคู่ความ ทนายที่มายื่นเอกสารที่ศาลก็ต้องคำนึงถึงระยะห่าง หรือพยายามลดจำนวนคนให้น้อยที่สุด รวมทั้งต้องเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมหรือเครื่องมืออื่นในการติดต่อกันแทน

ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมย่อมมีค่าใช้จ่าย อยากให้ช่วยฉายภาพที่เป็นรูปธรรมว่า ทั้งคู่ความที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและภาครัฐ ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย หรือผู้เสียหาย เมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่าย โจทก์หรือผู้เสียหายที่ไม่ใช่อัยการต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์ สืบพยานหลักฐาน แสวงหาข้อมูล ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการติดต่อหาทนายความ เป็นต้น จำเลย คนที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยก็เช่นเดียวกัน ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการติดต่อหาหลักฐานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นในการสืบสวนสอบสวน

นอกจากนั้นแล้ว ผมยังมองไปถึงเรื่องค่าเสียโอกาสแฝง ถ้าหากประชาชนจำเป็นต้องเดินทางมาศาลเพื่อใช้สิทธิทางศาล ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยุดภารกิจหน้าที่การงาน ค่าเสียโอกาสที่แฝงอยู่ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีนัก ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายจากรายได้ประจำวัน ถ้าวันไหนหยุดทำงานก็เสียโอกาสและรายได้ในวันนั้นไป ตรงนี้เป็นผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าก็สามารถลดผลกระทบจากค่าเสียโอกาสแฝงได้ดีกว่า นี่เป็นปัญหาพื้นฐานที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งประเทศที่เจริญแล้ว ยิ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่สูงขึ้น

ภาครัฐก็ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายเช่นกัน เวลาพนักงานสอบสวนรับเรื่องร้องทุกข์ก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานข้อเท็จจริง อาจต้องเดินทางไปหาพยานหลักฐานข้อเท็จจริงในสถานที่เกิดเหตุจริง ยิ่งในบางกรณีที่พยานหลักฐานอยู่ในขั้นสูง เช่น ต้องตรวจสอบมือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ยิ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบหลักฐานก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในคดีอาญา คู่ความไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เพราะรัฐมีหน้าที่รับค่าใช้จ่ายตรงนี้เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคดีอาญา นั่นก็คือต้องพยายามรักษาความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมโดยรวม 

ทราบมาว่าทางศาลยุติธรรมเริ่มผลักดันแนวนโยบายการทำงานแบบ digital court นโยบายนี้เกี่ยวกับปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่คุณเล่าให้ฟังหรือไม่ แนวคิดดังกล่าวเริ่มมาจากไหนและพัฒนาไปอย่างไรบ้าง

ศาลยุติธรรมวางแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการพิจารณาพักใหญ่แล้ว เรานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเหตุผลสามประการหลักคือ ‘สะดวก รวดเร็ว ประหยัด’ และที่สำคัญคือลดการใช้กระดาษเพื่อลดโลกร้อน 

แนวทางที่ศาลยุติธรรมของไทยกำลังเดินไปนั้น ไม่ได้ต่างจากแนวทางที่ทั่วโลกพยายามพัฒนาไป เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาจนมีความสามารถค่อนข้างมาก ทั่วโลกคิดเหมือนกันคือจะทำอย่างไรให้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อกับศักยภาพของอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นศาลจึงคิดนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว ความประหยัดอย่างที่กล่าวไป

แต่ปรากฏว่าพอเกิดการระบาดของไวรัสโควิด สถานการณ์ผลักดันและกลายเป็นตัวเร่งให้มีการนำนโยบาย digital court มาใช้มากขึ้น สิ่งที่ทางศาลคิดและทำมาแล้วสักพักเลยกลายเป็นผลดี แม้ว่าบุคลากรของศาลบางส่วนจะยังใช้เทคโนโลยีได้ไม่ครบ 100% เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ก็ค่อนข้างคุ้นเคยกับระบบ ทั้งผู้พิพากษาและบุคลากรอื่นๆ สามารถที่จะต่อยอดไปได้เร็วพอสมควร

สำหรับผมการนำนโยบาย digital court เข้ามาใช้ในขณะนี้นั้นมีอีกคีย์เวิร์ดเข้ามาคือ ‘ความปลอดภัย’ การใช้เทคโนโลยีนอกจากจะเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดแล้ว ยังเป็นไปเพื่อความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์การระบาดด้วย ความสามารถของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต 4G หรือ 5G ช่วยให้คนสามารถสื่อสารกันได้ มีปฏิสัมพันธ์กันได้แม้อยู่ในที่ห่างไกล อย่างที่ต่างประเทศก็มีการใช้นโยบายที่มีลักษณะเหมือน digital court เหมือนกัน แต่อาจอยู่ในชื่อ remote court หรือ virtual court ซึ่งก็คือศาลเสมือน สามารถดำเนินกระบวนการพิพากษาคดีได้โดยที่ไม่ต้องมีการรวมตัวกัน 

แต่ในกระบวนการศาลนั้น ศาลไม่สามารถพร้อมอยู่ฝ่ายเดียวได้ ยังมีบุคคลจากอีกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ บุคคลเหล่านั้นจะต้องพร้อมด้วย ซึ่งตอนนี้สำหรับภาคประชาชน ผมคิดว่ามีความพร้อมพอสมควรในการใช้เครื่องมือติดต่อดำเนินกระบวนการในศาลโดยใช้วิธีออนไลน์ เพียงแต่ว่าก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ยังมีข้อจำกัดในประชาชนบางกลุ่มอยู่ อย่างสมาร์ตโฟนก็ใช่ว่าทุกคนจะมี 100% อาจมีคนบางกลุ่มโดยเฉพาะคนที่อยู่ในต่างจังหวัด แม้ว่าใช้โทรศัพท์มือถือได้ แต่อาจยังไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันได้ หรือแม้กระทั่งอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ รวมถึงยังมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ทั่วถึง

การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ อยากทราบว่าศาลมีแนวทางในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างไรบ้างไหมในกรณีเช่นนี้

ปัญหานี้เป็นเรื่องที่แก้ปัญหาค่อนข้างยากเหมือนกัน หากเป็นไปได้ ศาลอยากให้ส่วนราชการต่างๆ ที่สัมพันธ์กับประชาชนมีอุปกรณ์ไว้เพื่อให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ อย่างก่อนหน้านี้ ศาลก็มีการเชื่อมต่อออนไลน์กับทางเรือนจำหรือราชทัณฑ์ ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องนำผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังมาศาลในการดำเนินกระบวนการบางอย่างในศาล เช่น การฝากฟ้อง ฝากขัง หรือการขอปล่อยชั่วคราว บางทีก็มีการสอบถามปรึกษากันระหว่างศาลกับเรือนจำผ่านช่องทางออนไลน์ 

อีกช่องทางหนึ่งที่ศาลอยากให้มีการเชื่อมต่อคือสถานีตำรวจ หรือแม้แต่สภาทนายความก็เช่นกัน เพราะสภาทนายความมีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือที่เรียกว่าทนายความขอแรง ช่วยให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับประชาชนที่ด้อยโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและอาจไม่สามารถแสวงหาทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเองได้ 

digital court ของศาลยุติธรรมไทยมีหน้าตาอย่างไร ทำงานอย่างไร และมีกระบวนการอย่างไรบ้าง

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด เราเตรียมห้องที่เรียกว่า digital court ไว้ที่ศาลเกือบทั่วประเทศ แต่เราเตรียมไว้เพื่อพัฒนาเป็นศาลไร้กระดาษในอนาคต คือทุกอย่างบันทึกในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ เวลามาสืบพยานก็จะบันทึกทั้งภาพและเสียงเอาไว้ในระบบดิจิทัล ในห้อง digital court ก็จะมีอุปกรณ์เครื่องมือทุกอย่างที่ค่อนข้างพร้อม ทั้งจอภาพในการดูพยานหลักฐาน ดูเอกสารต่างๆ แต่ทางศาลใช้ห้อง digital court ในลักษณะ video conference คือสืบพยานทางจอภาพ ฉะนั้น เราไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันในการดำเนินงานช่วงนั้น 

ถ้าถามว่าในปัจจุบันเราใช้ห้องพิจารณาคดีดิจิทัลได้เต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ต้องบอกว่ายัง เพราะต้องรอให้บุคคลในกระบวนการยุติธรรมพร้อมทั้งหมดจึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เราก็ได้ใช้ห้อง digital court ในกรณีที่ต้องสืบพยานบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหว เช่น พยานผู้หญิงหรือเด็ก หรือในคดีบางประเภทโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ต้องกันไม่ให้พยานหรือโจทก์เผชิญหน้ากับจำเลยหรือผู้ต้องหา ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา พอใช้ digital court ศาลก็สามารถแยกห้องสืบพยานได้

แต่พอเกิดสถานการณ์โรคระบาดก็เกิดเทคโนโลยี digital court อีกรูปแบบหนึ่งคือ เราต้องใช้แอปพลิเคชันในเว็บหรือในสมาร์ตโฟนเข้ามาช่วยในให้กระบวนการพิจารณาในศาลสามารถดำเนินการไปได้ เป็นไปไม่ได้ที่ศาลจะหยุดทำงาน เพราะตามกฎหมาย คดีความมีระยะเวลากำหนดไว้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุความหรือระยะเวลาในการใช้สิทธิต่างๆ ศาลจึงต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ในกระบวนการก็ยังมีปัญหาในตัวอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกภาคส่วนที่จะคุ้นเคย การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างแพร่หลายเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ 

ศาลทั่วโลกก็เช่นกัน แม้แต่ละประเทศจะใช้ระบบกฎหมายต่างกันก็จริง แต่กระบวนการยุติธรรมเป็นอะไรที่เป็นสากล เวลาเผชิญปัญหา วิธีการแก้ไขปัญหาจะคล้ายๆ กัน ศาลทั่วโลกตอนนี้ก็หันมาใช้เทคโนโลยีช่วยให้การพิจารณาคดีในศาลเป็นไปได้ เดี๋ยวนี้ศาลฎีกาไทยก็มีการอ่านคำพิพากษาออนไลน์ สามารถรับฟังคำพิพากษาได้โดยที่คู่ความไม่ต้องเดินทางมา 

ส่วนที่แอปพลิเคชันเข้ามาเสริมกระบวนการยุติธรรมคือ กระบวนการในการไต่สวน การสืบพยาน ยกตัวอย่างในคดีอาญา หากต้องมีการสอบถามผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ศาลอาจให้บุคคลเหล่านั้นไม่ต้องเดินทางมาที่ศาล หากเป็นผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาลอาจให้มีการรายงานตัวด้วยภาพและเสียงผ่านทางสมาร์ตโฟน ส่วนจำเลยที่ต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติ เจ้าพนักงานก็อาจให้มีการรายงานตัวผ่านแอปพลิเคชันได้เช่นกัน

หากในกระบวนการต้องมีการตรวจพยานหลักฐาน สอบจำเลยว่าต้องการทนายความหรือไม่ ก็ยังสามารถใช้แอปพลิเคชันในการให้คนที่อยู่ต่างสถานที่สามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาดังกล่าวได้ 

อย่างไรก็ตาม หากเป็นกระบวนการสืบพยานเต็มรูปแบบก็ยังขัดข้องอยู่ ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการที่ทำให้ต้องมาดำเนินการที่ศาล เพราะมีหลักกฎหมายที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้า หรือมีสิทธิในการเผชิญหน้าพยาน 

ทราบว่าทางยุโรปแก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางด้านกฎหมายเหล่านี้โดยการออกกฎหมายให้เป็นข้อยกเว้น แต่ในไทย ข้อกฎหมายยังติดขัดอยู่ ในปัจจุบันถ้าจะมีการสืบพยานอย่างเต็มรูปแบบ ศาลจะแนะนำให้ใช้กระบวนการดิจิทัลกับคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพแต่ต้องสืบประกอบ ที่ต้องสืบประกอบเพราะว่ามีความผิดบางอย่างที่กฎหมายกำหนดโทษไว้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปว่าแม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็จะต้องมีการสืบประกอบเพื่อให้มั่นใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง

digital court ใช้ได้ในทุกคดีหรือไม่ คดีแบบไหนที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้บ้าง

คดีที่กระบวนการดิจิทัลใช้ได้คือคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพอย่างที่ได้กล่าวไป แต่ในคดีที่จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มรูปแบบ การสืบพยานผ่านกระบวนการดิจิทัลก็อาจยังไม่ค่อยเหมาะ 

ส่วนคดีแพ่งมักไม่ค่อยมีปัญหาในการเข้าสู่กระบวนการเท่าไหร่เพราะอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจของคู่ความทั้งคู่ ซึ่งศาลเน้นใช้กระบวนการดิจิทัลไปที่คดีแพ่งเป็นหลัก 

ส่วนคดีอาญา ศาลจะทำในบางเรื่องที่ไม่ค่อยเผชิญปัญหาข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่ข้อโต้แย้ง ส่วนมากจะเป็นคดีผัดฟ้องฝากขัง คำร้องขอปล่อยชั่วคราว การตรวจพยานหลักฐาน การสอบจำเลย หรือแสดงความประสงค์ว่าต้องการทนายหรือไม่ ซึ่งก็คือส่วนที่ไม่ได้เข้าไปในเนื้อหาของการสืบพยาน หากจะดำเนินการสืบพยาน ถ้าจำเลยยินยอม ศาลก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องให้อยู่พื้นฐานของความสมัครใจหรือยินยอมเพื่อมิให้มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

กระบวนการยุติธรรมควรจะมีแนวทางอย่างไรที่จะปลดล็อกสิทธิทางกฎหมายให้กระบวนการ digital court สามารถดำเนินได้อย่างเต็มรูปแบบ 

อาจต้องมีการพูดคุยกันในฝ่ายนักกฎหมายว่าสิทธิบางอย่างของจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นพอจะผ่อนคลายลงมาในระดับไหนได้บ้างเพื่อให้ใช้กับการสืบพยานออนไลน์ได้ แต่ในขณะนี้ต้องขบคิดการปลดล็อกข้อกฎหมาย เพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์การระบาดจะดำเนินต่อไปนานขนาดไหน หากมีแนวโน้มว่าจะระบาดนานก็อาจต้องคิดเรื่องข้อยกเว้น 

ตอนนี้ศาลก็พยายามดำเนินทุกกระบวนการที่พอจะทำได้ เพราะปัญหาต่อไปที่ศาลอาจต้องเจอในอนาคตคือคดีค้าง พอตอนนี้ศาลพิจารณาคดีได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่เคยทำมา ก็จะมีคดีบางส่วนที่ค้างการพิจารณา 

พอเกิดโรคระบาด ศาลต้องต้องลดจำนวนคนบางส่วนให้ work from home แต่แน่นอนว่าศาลไม่สามารถหยุดได้ เมื่อจำนวนบุคลากรลดลง จำนวนคู่ความที่สามารถมาที่ศาลได้ก็ต้องลดลง บางศาลเห็นว่าหากพิจารณาคดีแบบเต็มรูปแบบแล้วทางจังหวัดหรือฝ่ายบริหารคงไม่ค่อยสบายใจ หรือบางศาลที่ใช้ระบบดิจิทัล แต่ประชาชนบางคนที่อยู่ในพื้นที่อาจสะดวกเดินทางมาที่ศาลมากกว่า เพราะฉะนั้นคดีที่อาจพอรอเวลาได้ก็จะเลื่อนออกไปก่อน และนำคดีที่น่าจะทำให้เสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว หรือใช้วิธีต่างๆ เหล่านี้ได้ดำเนินการไปก่อน

ในบางคดีการใช้ digital court อาจเป็นคุณ แต่จริงๆ แล้ว digital court มีผลต่อรูปคดีหรือการสืบพยานบ้างหรือไม่

ในภาษากฎหมายเรียกว่าความน่าเชื่อถือหรือการชั่งน้ำหนักพยานว่าพยานเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ แต่ในต่างประเทศ เขาบอกว่ามีความเห็นทั้งสองทาง ความคิดเห็นหนึ่งจากผู้พิพากษาที่เขาไปสัมภาษณ์บอกว่าไม่ได้แตกต่างกัน ผู้พิพากษาสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่าพยานมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ แม้ว่าจะพูดผ่านจอก็ตาม ไม่ได้แตกต่างจากการที่อยู่ในห้องพิจารณา แต่บางส่วนก็บอกว่ามีปัญหา ศาลทั่วโลกค่อนข้างเห็นตรงกันว่าคดีอาญาที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ไม่เหมาะที่จะใช้วิธีการสืบพยานทางจอภาพทั้งหมด การสืบพยานทางจอภาพใช้ได้เพียงแค่บางคดีเท่านั้น

เมื่อพูดถึงการทำงานในกระบวนการยุติธรรม หรือแม้แต่ในแวดวงราชการโดยรวม เรามักจะเห็นขั้นตอน กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติมากมาย การทำงานแบบดิจิทัลเจอปัญหาอะไรหรือไม่เมื่อนำมาจับกับการทำงานแบบราชการ

ผมมองว่าระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานมากกว่า อย่างระเบียบของทางราชการที่ต้องมีการลงเลขรับหรือเลขคดี ศาลก็สามารถใช้งานพวกนี้ได้เพียงแค่เปลี่ยนที่เก็บข้อมูลจากกระดาษไปเป็นไฟล์ดิจิทัลเท่านั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานมากกว่า เพียงแต่เราต้องหาวิธีการให้ดิจิทัลมาสนับสนุนการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้ถูกต้องและเหมาะสม

ที่ผ่านมา ประชาชนให้การตอบรับต่อการนำ digital court มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง

มีทั้งสองด้าน มีทั้งฝ่ายที่ให้การตอบรับดีและฝ่ายที่มองว่าการใช้งานมีข้อจำกัดอยู่ แต่ส่วนใหญ่ผมคิดว่าทุกภาคส่วนยอมรับและเห็นด้วยที่จะใช้วิธีการเหล่านี้แทนการมาดำเนินการที่ศาลในขณะนี้ เพียงแต่อาจจะมีข้อขัดข้องทางเทคนิค เช่น มีคนที่พร้อมจะใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการสืบพยาน แต่บางทีอาจมีปัญหาจากสัญญาณ 

ตอนนี้เราต้องรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ พยายามนำมาแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้อง แล้วพิจารณาว่าสามารถที่จะแก้ไขได้โดยองค์กรศาลหรือจะต้องขอความร่วมมือจากภาคส่วนใด

ตอนนี้เส้นทางที่เราเดินอยู่เป็นเส้นทางที่เรายังไม่คุ้ยเคยและกำลังบุกเบิกเดินไป อาจจะมีข้อขัดข้อง เดินไปแล้วอาจจะต้องเปลี่ยนทางใหม่ เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่จะต้องเรียนรู้และรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน หรือแม้แต่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมเองก็ตาม

แม้ว่าเทคโนโลยี digital court ทั่วโลกพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน แต่มีอะไรบ้างที่ศาลในต่างประเทศทำแล้วเรายังไม่ได้ทำ หรือเราอยากนำมาปรับใช้ในกระบวนการของศาลต่อไป

ผมคิดว่าในไทยก็ไม่ได้ต่างกันกับในต่างประเทศมาก อย่างไรก็ตามต้องมีผู้พิพากษาอยู่ที่บัลลังก์ แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เวลาดำเนินการพิจารณาของศาลแล้วผู้พิพากษาจะอยู่ในสถานที่อื่น เพราะฉะนั้น อย่างน้อยในห้องพิจารณายังต้องมีผู้พิพากษา มีเจ้าหน้าที่ศาล แต่คู่ความอื่นๆ อาจจะไม่อยู่ที่ห้องพิจารณาคดีก็ได้ ส่วนเรื่องโปรแกรม เท่าที่ทราบในทุกประเทศ แม้แต่อังกฤษหรือสหรัฐฯ ที่ใช้ online proceeding ก็ใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเหมือนที่ศาลไทยใช้อยู่ 

สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยและต่างประเทศเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในคดีอาญา คือข้อถกเถียงว่าจะทำอย่างไรจึงจะหาจุดลงตัวได้ว่าคดีประเภทไหนควรพิจารณาผ่านกระบวนการออนไลน์ คดีไหนไม่ควรใช้ และจะก้าวผ่านข้อจำกัดกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการรวมตัวกันของผู้คนได้อย่างไร

ณ ตอนนี้ ในบางประเทศที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงก่อนการระบาดเริ่มเห็นทางสว่าง หากเป็นคดีอาญาอุกฉกรรจ์ก็ให้กลับมาใช้ศาลตามปกติ แต่ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าไม่สามารถล้มเลิกการพิจารณาคดีออนไลน์แล้วกลับไปใช้เพียงกระบวนการออฟไลน์ได้แล้ว เพราะมีข้อดีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย หรือสะดวกกับคู่ความที่เกี่ยวข้อง

ในอนาคตมีการวางแผนจะขยายผล digital court บ้างไหม อะไรคือก้าวต่อไปต่อจาก digital court

แน่นอน เวลาศาลออกนโยบายต้องมองภาพรวมของศาลทั่วประเทศ ที่จริงผมมองว่า digital court ไม่เพียงพอ ในอนาคต digital court ต้องเปลี่ยนไปเป็น smart court ให้ได้ หมายความว่าข้อมูลทุกอย่างที่อยู่กับศาลต้องให้มีการเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด เวลาศาลใดศาลหนึ่งต้องการข้อมูลจากศาลอื่น หรือข้อมูลของคู่ความเวลามีคดีในพื้นที่อื่น เราต้องอาศัยเทคโนโลยีและความได้เปรียบของข้อมูลที่ศาลมีอยู่ให้สามารถประมวลผลตามที่ต้องการได้

ในปัจจุบันไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับศาลเองก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับคู่ความต่างๆ ซึ่งศาลเองมีข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอยู่ที่ศาลไหนในประเทศเท่านั้นเอง ศาลต้องพยายามจัดการการใช้ข้อมูลตรงนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด อาจต้องมีการนำ AI เข้ามาใช้ในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เพราะข้อมูลส่วนบุคคลถือว่าเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวมาก อาจต้องมีการนำบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลคดีต่างๆ  

แต่กว่าจะพัฒนา digital court ไปสู่ smart court ได้จะใช้เวลานานขนาดไหนก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะต้องอาศัยความพร้อมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของโปรแกรม เทคโนโลยี อุปกรณ์ บุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ความพร้อมของโครงข่ายพื้นฐานสัญญาณ 5G ที่จะช่วยให้สังคมพร้อมเข้าถึง smart court ได้อย่างทั่วถึง หรือการสนับสนุนของฝ่ายบริหารในการสร้างโครงข่ายพื้นฐานให้สำเร็จด้วย

มองในภาพรวม ศาล อัยการ ตำรวจ ควรจะปรับตัวในยุค digital disruption อย่างไร

ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้และปรับตัวให้คุ้นเคยกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล บุคลากรหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทยค่อนข้างพร้อมในความเห็นส่วนตัวของผม เพราะทุกหน่วยงานสามารถที่จะปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วในสถานการณ์โควิด

ส่วนการพัฒนาด้านดิจิทัลของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาลอย่างตำรวจหรือราชทัณฑ์นั้น อาจจะไม่ได้พัฒนาไปด้วยจังหวะเดียวกันกับศาลเสียทีเดียวเพราะงบประมาณ อย่างฝ่ายราชทัณฑ์ ห้องพิจารณาทางจอภาพของเรือนจำแต่ละแห่งจะมีอยู่จุดเดียว จึงมีข้อจำกัดที่จะพาผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำไปดำเนินกระบวนการ

สิ่งที่จะช่วยประสานให้ทั้งระบบกระบวนการยุติธรรมเดินไปได้พร้อมๆ กันขึ้นอยู่กับความพร้อมของงบประมาณจากรัฐบาลที่จะสนับสนุนแผนงานการพัฒนาไปสู่ดิจิทัล อย่างตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายปัญหาที่ต้องการงบประมาณ โดยเฉพาะปัญหาด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยของประชาชน

นอกจากการนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เรายังเห็นดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในฝั่งของการก่ออาชญากรรมด้วย เช่น การก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ คุณคิดว่ากระบวนการยุติธรรมควรจะปรับตัวให้เท่าทันลักษณะอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้อย่างไร

อย่างแรกเลยคือบุคลากรในทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเทคนิค วิธีการ หรือรูปแบบของอาชญากรรมออนไลน์ว่ามีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะอาชญากรรมที่ทำอย่างเป็นระบบโดยองค์กร ซึ่งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องรู้เท่าทัน อย่างน้อยต้องรู้ว่าเครื่องมือแต่ละอย่างมีประสิทธิภาพในการใช้กระทำความผิดอย่างไร และมีขั้นตอนวิธีการที่จะแสวงหาพยานหลักฐานนั้นเป็นอย่างไร 

ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่พนักงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ต้องรู้คือ วิธีการสืบพยานหลักฐานดิจิทัล (digital forensic) เพราะวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานอาจมีช่องว่างที่นำไปสู่การได้หลักฐานมาโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการพิจารณาคดี อาจนำมารับฟังในศาลไม่ได้ เพราะศาลมีหน้าที่หนึ่งในการเป็นตัวกลางในการพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแสวงหาพยานหลักฐานจนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนเกินสมควรหรือไม่ 

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือการประสานงาน เพราะอาชญากรที่ใช้เทคโนโลยีก่ออาชญากรรมอาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่อาจกระทำความผิดจากนอกประเทศก็ได้ตราบเท่าที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีและการใช้อุปกรณ์ เพราะฉะนั้นความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในและภายนอกประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมรูปแบบใหม่บนโลกไซเบอร์ 

เรามักติดภาพกันว่า ศาลเป็นหน่วยงานที่เข้าถึงยาก แต่การทำงานแบบ digital court การนำดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงแนวนโยบายของอดีตประธานศาลฎีกา (ไสลเกษ วัฒนพันธุ์) และประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน (เมทินี ชโลธร) พยายามจะทำให้ศาลมีความเปิด ผู้พิพากษาลงไปหาประชาชน และทำให้ประชาชนเข้าถึงศาลได้มากขึ้น คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เป้าหมายของโครงการเปิดศาลที่มีมาตั้งแต่ท่านประธานไสลเกษต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงท่านประธานเมทินีคือให้ความรู้แก่ภาคประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มที่จะเข้ามารู้จักศาล ศาลก็พยายามวางว่าแต่ละกลุ่มต้องการข้อมูลระดับไหนโดยคำนึงถึงความต่าง 

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านประธานศาลฎีกาเมทินีมีนโยบายคือ การดูแลคุ้มครองสิทธิของคู่ความทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา จำเลย รวมถึงผู้เสียหายด้วย ซึ่งปัจจุบันศาลพยายามให้ผู้เสียหายคิดถึงศาลเป็นที่พึ่งแรกมากกว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย ท่านประธานศาลฎีกาก็มักจะกล่าวว่าอยากให้ศาลเป็นที่พึ่งแรกของประชาชน เพราะฉะนั้น หากผู้เสียหายได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะไปแจ้งเรื่องที่ไหน ศาลจะเก็บข้อมูลรวมไว้ส่วนกลางและพยายามให้ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะได้รับข้อมูลว่าการสืบสวนสอบสวนดำเนินการอยู่ในขั้นไหน ดำเนินการฟ้องคดีแล้วหรือไม่ เมื่อไหร่ สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ อย่างไร สามารถที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างไรบ้าง หรือจะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร 

จะทำอย่างไรให้ประชาชนมองศาลเป็นที่พึ่งแรกได้อย่างแท้จริง

ประชาชนต้องเข้าใจว่าตนมีสิทธิอะไร และเข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่อย่างไร เมื่อรู้สิทธิและรู้ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร การเข้าถึงศาลจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ฝ่ายศาลเองก็ต้องกระจายข้อมูล ประชาสัมพันธ์ความรู้เหล่านี้ให้ถึงประชาชน ศาลยุติธรรมเองก็พยายามบอกให้ศาลต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าจะเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้อย่างไร โดยเฉพาะศาลในภูมิภาค อาจจะใช้วิธีสื่อสารผ่านทางผู้นำหมู่บ้าน ไม่ว่าจะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นให้กระจายความรู้ลงไปให้ถึงประชาชน

สำหรับศาล การปรับตัวครั้งนี้มีนัยสำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไรบ้าง 

เราต้องเปลี่ยนแนวความคิดของศาลว่า ศาลควรเป็นหน่วยบริการหน่วยหนึ่งที่ให้บริการด้านความยุติธรรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งเปลี่ยนภาพว่าแทนที่ศาลจะเป็นผู้ตั้งรับ ในบางกรณีศาลอาจแสดงบทบาทเชิงรุกให้เด่นชัดขึ้นในการให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในศาลจะยึดถือประชาชนและคู่ความเป็นสำคัญ การปรับเปลี่ยนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จะทำให้ศาลยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาให้แก่คู่ความและประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในศาลได้

ทั้งนี้อาจเกิดปัญหาข้อขัดข้องอยู่บ้าง แต่คิดว่าเมื่อทุกฝ่ายคุ้นเคยย่อมทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลเป็นไปได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยอย่างที่คาดหวัง และผมเชื่อว่าแม้สถานการณ์ของโรคระบาดครั้งนี้จะผ่อนคลายและดีขึ้น การพิจารณาคดีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน

หากมองกระแสสังคม มีหลายช่วงที่เกิดคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและสังคมเกิดคำถามต่อการทำงานของศาล รวมถึงความไว้ใจที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการทำงานแค่ไหน ศาลมีวิธีแก้ไขหรือมีแนวทางอย่างไรบ้างเมื่อมีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้น

สำหรับผม เราต้องไม่มองว่าเป็นอุปสรรค แต่ต้องมองว่าเป็นความท้าทายที่จะต้องแก้ไขให้ได้ 

ในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสื่อสังคมออนไลน์กระจายข่าวได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว แต่สิ่งที่แฝงอยู่คือเราไม่รู้ว่าข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่จริงเท็จมากน้อยแค่ไหน หรือมีแหล่งที่มาอย่างไร ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งของสังคมอยู่กับการอ่านและดูข้อมูลทั้งที่เป็นข่าวสาร ภาพ เสียง และคลิปที่ส่งและกระจายอยู่บนโลกไซเบอร์ โดยไม่สนใจกับแหล่งที่มาและพร้อมจะเชื่อทันทีที่อ่านหรือดู ซึ่งส่วนนี้นับวันจะมากขึ้นทุกที สถานการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาต่อความเชื่อมั่นในองค์กรต่างๆ อย่างมาก และดูเหมือนว่ายิ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ดีคนยิ่งเชื่อ ผมมองว่าเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนเหมือนกัน แม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจ หากมีข่าวที่กระทบต่อองค์กรเผยแพร่ออกไปก็ต้องพยายามแก้ไขแม้ว่าอาจทำได้ยาก

เพราะฉะนั้น ศาลต้องสร้างความเข้าใจหรือต้องให้ภาคประชาชนเชื่อมั่นในองค์กร รวมทั้งประชาชนต้องรับฟังหรืออ่านข่าวสารด้วยความหนักแน่นและมีสติ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save