วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เรื่อง
มานูเอล คาสเทลส์ นักสังคมวิทยาชื่อดังผู้บุกเบิกงานศึกษาเกี่ยวกับสังคมยุคสารสนเทศ เคยเขียนถึงพลังของอินเทอร์เน็ตไว้ว่า “โอกาสในยุคสารสนเทศจะปลดปล่อยขีดความสามารถในการสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยพลังแห่งความคิด … ฉันคิด ดังนั้นฉันจึงสรรค์สร้าง” แต่เขาก็กังวลว่า “เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเราพัฒนาขึ้นบนฐานของผลประโยชน์ คุณค่า สถาบัน และระบบตัวแทนซึ่งจำกัดความสร้างสรรค์รวมหมู่ ยึดกุมดอกผลจากเทคโนโลยีสารสนเทศ และหันเหพลังงานของเราไปสู่การเผชิญหน้าที่ทำลายตัวเอง” [1]
แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยที่มอบโอกาสมากมายให้กับพลเมืองในการพัฒนาตนเองและสังคมร่วมกัน เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่หลายคนเชื่อว่าจะนำพาเราเข้าสู่สังคมที่ดีในอุดมคติ แต่พลังของอินเทอร์เน็ตจะถูกใช้ไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำกับควบคุมศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยเช่นกัน
อินเทอร์เน็ตจะสร้างโอกาสอันเท่าเทียมให้กับคนทุกคนหรือเป็นตัวการทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น? มันจะช่วยสร้างพื้นที่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับคนทุกคนหรือเป็นพื้นที่ที่ถูกยึดกุมโดยอำนาจทุนใหญ่เท่านั้น? มันจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเสรีที่คนทุกคนเข้าถึง แบ่งปัน และต่อยอดความรู้ได้ หรือเป็นพื้นที่ที่ถูกอำนาจทางกฎหมายมากำกับอิสรภาพแห่งความรู้และการสร้างสรรค์? มันจะเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนพูดคุยและฟังเสียงที่แตกต่างตามแนวทางประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ หรือจะเป็นเพียงโลกแคบๆ ที่ทุกคนสนใจแต่เสียงที่สอดรับกับความเห็นของตน?
บทความนี้ชวนสนทนาถึงความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีดิจิทัล และชวนขบคิดว่าพลเมืองอย่างเราจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างไรหากต้องการให้อินเทอร์เน็ตเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมที่เราปรารถนา
ช่องว่างดิจิทัล
อินเทอร์เน็ตมอบโอกาสมากมายทั้งในแง่ของการทำธุรกิจ การเข้าถึงความรู้ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทว่าโอกาสเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยหากคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงขาดทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีดิจิทัลรู้จักกันในชื่อ “ช่องว่างดิจิทัล” (digital divide)
ช่องว่างดิจิทัลหมายถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสร้างโอกาสและทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ ช่องว่างดิจิทัลเกิดขึ้นได้ในหลายระดับและหลากมิติ เช่น ช่องว่างระหว่างประเทศหรือภายในประเทศ ช่องว่างระหว่างคนเมืองกับชนบท ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ช่องว่างระหว่างผู้สูงวัยกับเยาวชน ช่องว่างระหว่างชายกับหญิง ช่องว่างระหว่างคนชายขอบกับคนชั้นกลางในเมือง
รายงานของธนาคารโลก [2] ชี้ให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตถือเป็นเทคโนโลยีที่มีการแพร่กระจายไปทั่วโลกรวดเร็วกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีใดๆ ที่เคยมีมา อินโดนีเซียมีโอกาสใช้ประโยชน์จากเรือจักรไอน้ำหลังมีการประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วเกือบ 160 ปี เคนยามีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกหลังถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ 60 ปีก่อน และกว่าเวียดนามจะเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้หลังจากมีการใช้ครั้งแรกก็ปาเข้าไป 15 ปี แต่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการแพร่กระจายไปทั่วโลก ถึงกระนั้นก็ยังห่างไกลจากคำว่า “ทั่วถึง” (universal) มากนัก โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
รายงานฉบับเดียวกันนี้ระบุว่า แม้ประชากรในประเทศกำลังพัฒนา 8 ใน 10 คนจะมีโทรศัพท์มือถือใช้แล้วในปี 2014 จนเรียกได้ว่าครัวเรือนที่เข้าถึงมือถือนั้นมีจำนวนมากกว่าครัวเรือนที่เข้าถึงไฟฟ้าเสียอีก แต่ประชากรในโลกกำลังพัฒนาที่มีอินเทอร์เน็ตใช้กลับมีน้อยกว่ามาก คือ 31 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับตัวเลข 80 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่มีรายได้สูง เรียกได้ว่าประชากรส่วนมากในโลกยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติดิจิทัลได้เต็มที่
นอกจากประเด็นเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในมิติทางเทคโนโลยี ช่องว่างดิจิทัลยังพูดถึงช่องว่างด้านคุณภาพของอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญเมื่อบริการออนไลน์สมัยใหม่เรียกร้องการใช้แบนด์วิดธ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เด็กชนบทที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำได้เฉพาะในโรงเรียนหรือห้องสมุดย่อมได้รับโอกาสในโลกออนไลน์น้อยกว่าเด็กในเมืองที่สามารถจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงผ่านมือถือได้ตลอดเวลา สถิติปี 2016 เน้นย้ำให้เห็นว่ามีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงและจ่ายเงินเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (ความเร็วสูง) ได้
ช่องว่างดิจิทัลที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ช่องว่างด้านทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของคนกลุ่มต่างๆ เพราะต่อให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่าเทียมกันมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะและความรู้ย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยเรียนรู้การเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ย่อมได้ประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าเด็กที่ไม่เคยเรียน หรือประชาชนที่มีการศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐมากกว่า ข้อเท็จจริงที่แย่กว่านั้นคือ ในโลกที่ประชากรราว 1 ใน 5 ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ คนกลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตตามที่ควรจะเป็นได้อย่างไร
ช่องว่างดิจิทัลยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของข้อมูลในโลกออนไลน์ ข้อมูลส่วนมากอยู่ในรูปภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษย่อมไม่สามารถเข้าถึงความรู้ได้ ตัวอย่างเช่น คอร์สเรียนฟรีจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกสอนด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้นต่อให้เราเข้าถึงคอร์สได้ฟรี แต่ถ้าขาดความรู้ด้านภาษาก็ไม่สามารถเรียนได้อยู่ดี นอกจากนั้น ข้อมูลส่วนมากในโลกออนไลน์ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น 85 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ใช้ (user-generated content) มาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป หรือเกาะเล็กๆ อย่างฮ่องกงกลับมีส่วนร่วมผลิตเนื้อหาในวิกิพีเดียมากกว่าทุกประเทศในแอฟริการวมกัน ทั้งที่แอฟริกามีประชากรมากกว่าฮ่องกงถึง 50 เท่า [3]
ในประเทศไทยเอง การลดช่องว่างดิจิทัลประสบความสำเร็จในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่ สถิติปี 2559 แสดงให้เห็นว่า อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดโดยอยู่ที่ 140 เปอร์เซ็นต์ (หมายความว่ามีเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมด) และความครอบคลุมของสัญญาณมือถือ (3G) ในเชิงพื้นที่ของผู้ให้บริการหลัก คือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค อยู่ที่ 97.59 เปอร์เซ็นต์ 65.57 เปอร์เซ็นต์ และ 75.55 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เรียกได้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายในประเทศไทยนั้นประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับครัวเรือนยังน้อยอยู่ คือแค่ 33.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกทั้งราคาก็ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์หรือเวียดนาม [4]
รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยมีคุณภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกหมู่บ้าน ทุกเทศบาลเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ทุกโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์ดิจิทัลชุมชน รวมถึงให้มีราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติต่อหัว โดยโครงการหัวหอกของรัฐบาล คือโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และโครงการเน็ตชายขอบของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งตั้งเป้าสนับสนุนให้มีการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าไปในหมู่บ้านมากกว่า 29,000 แห่ง
หากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าไปในทุกพื้นที่ และมีการนำคลื่นความถี่กลับมาจัดสรรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาช่องว่างในมิติของการเข้าถึงทางเทคโนโลยีก็น่าจะบรรเทาลง แนวโน้มต่อไปที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญคือการลดช่องว่างในมิติเชิงคุณภาพและมิติเชิงความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
ความเป็นกลางของเครือข่าย
ความเป็นกลางของเครือข่าย หรือ net neutrality (บางครั้งถูกเรียกแทนด้วยคำว่า อินเทอร์เน็ตเปิด หรือ open internet) หมายถึงหลักการที่บังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ปฏิบัติต่อเนื้อหาและบริการต่างๆ บนเครือข่ายของตนอย่างเท่าเทียม พูดอีกอย่างคือ หลักการนี้ห้ามไม่ให้ไอเอสพีใช้เทคโนโลยีจัดการกับข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่บนอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าของเครือข่ายใช้อำนาจในฐานะผู้ควบคุมการไหลเวียนของข้อมูล (gatekeeper) เลือกปฏิบัติกับผู้ให้บริการเนื้อหา แอปพลิเคชั่น หรือบริการออนไลน์บางราย รวมถึงการกำหนดว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเราจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาหรือบริการไหนได้เร็ว ช้า หรือกระทั่งไม่ได้เลย
กฎเหล็ก 3 ประการของความเป็นกลางของเครือข่ายมีดังนี้ 1) ห้ามบล็อก (no blocking) คือไอเอสพีไม่สามารถบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์หรือบริการที่ถูกกฎหมายได้ 2) ห้ามลดความเร็ว (no throttling) คือไอเอสพีไม่สามารถลดความเร็วในการเชื่อมต่อเว็บไซต์หรือบริการใดเป็นการเฉพาะได้ และ 3) ห้ามให้สิทธิพิเศษด้วยการจ่ายเงิน (no paid prioritization) คือไอเอสพีไม่สามารถรับเงินจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อให้บริการเร็วขึ้น
ในช่วงทศวรรษ 1990 การเข้าควบคุมการจราจรของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นไปไม่ได้ในเชิงเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเหมือนเครือข่ายซื่อบื้อ (dumb network) ที่เชื่อมจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (end-to-end) โดยไอเอสพีไม่สามารถแทรกแซงการไหลเวียนของข้อมูลได้ ทว่าในปี 2003 บริษัทเน็ตสกรีนเทคโนโลจีส์ได้คิดค้นเทคโนโลยีที่ใช้จัดการการจราจรในอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า deep packet inspection หรือเครื่องมือตรวจสอบข้อมูลอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถแยกแยะประเภทของข้อมูลและจัดการกับข้อมูลต่างๆ ได้ทันที ส่งผลให้ไอเอสพีสามารถเลือกปฏิบัติกับข้อมูลและบริการต่างๆ ได้
แล้วการมีหรือไม่มีความเป็นกลางของเครือข่าย มันสำคัญกับเราอย่างไร? ตอบได้ว่าสำคัญมาก เพราะมันส่งผลกระทบกับสิ่งที่เราคุ้นเคยในโลกออนไลน์เกือบทั้งหมด เราอาจจะพบว่าการดูวิดีโอสตรีมมิ่งผ่านยูทูบ หรือเน็ตฟลิกซ์ทำไม่ได้อีกต่อไปถ้าผู้ให้บริการเหล่านั้นไม่จ่ายเงินให้กับไอเอสพีที่เราเลือกใช้บริการ เราอาจไม่สามารถใช้โปรแกรมแชร์ไฟล์เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป หรือกระทั่งเราอาจไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาทางการเมืองบางอย่างได้หากไอเอสพีมีสิทธิตัดสินว่าจะบล็อกหรือไม่บล็อกเนื้อหานั้น ตัวอย่างเช่น เวอไรซอน บริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา เคยบล็อกข้อความของกลุ่มสนับสนุนการทำแท้งที่ส่งผ่านมือถือ โดยเวอไรซอนอ้างว่าตนมีอำนาจในการบล็อกข้อความซึ่งเป็นที่โต้เถียงในเชิงจริยธรรม
ไอเอสพีมีแรงจูงใจมากมายในการแทรกแซงความเป็นกลางของเครือข่าย ไม่ว่าเพื่อควบคุมการจราจรในกรณีที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากและขีดความสามารถในการรองรับการใช้บริการของเครือข่ายไม่เพียงพอ เพื่อหากำไรเพิ่มเติมจากการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มกับผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นที่ต้องการให้บริการของตนส่งผ่านข้อมูลได้เร็วกว่า หรือเพื่อกีดกันคู่แข่งที่ให้บริการคล้ายๆ กับบริการอื่นของตน เช่น บริษัทเคเบิลที่ให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกอาจกีดกันการใช้บริการทีวีสตรีมมิ่งอย่างเน็ตฟลิกซ์
การถกเถียงเรื่องความเป็นกลางของเครือข่ายร้อนแรงมากในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา กรณีโด่งดังที่ทำให้คนหันมาสนใจถึงแนวคิดความเป็นกลางของเครือข่ายเกิดขึ้นเมื่อคอมแคสต์ บริษัทไอเอสพีและเคเบิล ถูกกล่าวหาว่าแอบลดความเร็วในการอัปโหลดไฟล์จากบิตทอร์เรนต์ ซึ่งเป็นโปรแกรมแชร์ไฟล์ร่วมกัน (peer-to-peer file sharing) และทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของคอมแคสต์ไม่สามารถใช้บิตทอร์เรนต์เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ได้ หรือกรณีที่ออเรนจ์ บริษัทโทรคมนาคมในฝรั่งเศสทำข้อตกลงกับกูเกิลเพื่อเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากกูเกิล เนื่องจากการจราจรในเครือข่ายของออเรนจ์เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์มาจากยูทูบและกูเกิล รวมถึงกรณีที่เน็ตฟลิกซ์ทำข้อตกลงกับคอมแคสต์ในปี 2014 เพื่อให้คุณภาพบริการของเน็ตฟลิกซ์ผ่านคอมแคสต์ดีขึ้น
อีกรูปแบบหนึ่งที่ละเมิดความเป็นกลางของเครือข่ายและกำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาคือ ซีโร่เรตติ้ง (zero rating) หรือการที่ไอเอสพีเลือกปฏิบัติโดยไม่นับการใช้บริการบางอย่างเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการมือถือบางรายอาจทำข้อตกลงพิเศษกับแอปพลิเคชั่นฟังเพลงเพื่อให้ลูกค้าใช้บริการได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเน็ตจะหมด หรือกรณีของเฟสบุ๊คซีโร่, กูเกิลฟรีโซน หรือวิกิพีเดียซีโร่ ที่ผู้ให้บริการอย่างเฟสบุ๊ค กูเกิล และวิกิพีเดีย ไปทำข้อตกลงซีโร่เรตติ้งกับไอเอสพีด้วยเหตุผลว่าต้องการขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนในโลกกำลังพัฒนา แต่ผู้คัดค้านเห็นว่ามันขัดกับหลักความเป็นกลางของเครือข่าย และทำให้บริการเหล่านั้นได้เปรียบคู่แข่ง
เหตุผลหลักที่ใช้สนับสนุนความเป็นกลางของเครือข่ายมีดังนี้
- ความเป็นกลางของเครือข่ายช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและทำให้การแข่งขันเท่าเทียม: อินเทอร์เน็ตเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนานวัตกรรมสามารถสร้างสรรค์และเผยแพร่บริการใหม่ๆ ให้กับผู้ที่สนใจได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้บริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในกติกาของเกมนี้ ผู้นำเสนอนวัตกรรมที่เจ๋งที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ทว่าหากกติกาเปลี่ยนโดยไอเอสพีสามารถเก็บค่าเข้าถึงเครือข่ายเป็นลำดับขั้น (เปรียบได้กับการให้บริการบนถนนที่จำกัดความเร็วต่างกัน) คือยิ่งจ่ายมากก็ยิ่งให้บริการได้เร็วขึ้น หรือถ้าไม่จ่ายก็ไม่สามารถให้บริการได้เลย อำนาจในการกำหนดผู้ชนะหรือแพ้ในเกมนี้จะเปลี่ยนไปอยู่ในมือของไอเอสพีแทน สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้นักพัฒนานวัตกรรมหน้าใหม่เสียเปรียบและบั่นทอนนวัตกรรมในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน
- ความเป็นกลางของเครือข่ายช่วยปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก: ความเป็นกลางของเครือข่าย ช่วยประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในอินเทอร์เน็ตด้วย เพราะหลักการนี้ห้ามไม่ให้ไอเอสพีเลือกปฏิบัติกับเนื้อหาที่ส่งผ่านเครือข่ายของตน (เหมือนกรณีของเวอไรซอนข้างต้น) และช่วยการันตีว่าใครก็สามารถนำเสนอและเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อการแสดงออก การปล่อยให้ไอเอสพีมีอำนาจควบคุมการแสดงออกย่อมส่งผลต่อความหลากหลายของแหล่งข่าวอิสระและการสร้างสรรค์เนื้อหาอันแปลกใหม่บนเว็บไซต์ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในศตวรรษใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการต่อต้านเผด็จการและความอยุติธรรมในสังคม
- ความเป็นกลางในอินเทอร์เน็ตช่วยการันตีการเข้าถึงเนื้อหาอย่างเท่าเทียม และป้องกันการคิดราคาแบบเลือกปฏิบัติ: ถ้ามองจากฝั่งผู้ใช้ ความเป็นกลางในอินเทอร์เน็ตจะช่วยการันตีว่าเราสามารถเข้าถึงเนื้อหาและบริการ (ที่ถูกกฎหมาย) อะไรก็ได้ที่เราต้องการโดยไอเอสพีไม่มีสิทธิบล็อกหรือทำให้การเข้าถึงบริการใดช้าลงเป็นการเฉพาะ นอกจากนั้น หากปราศจากความเป็นกลางของเครือข่าย ไอเอสพีจะสามารถกำหนดแพ็กเกจบริการอินเทอร์เน็ตที่มีหน้าตาเหมือนแพ็กเกจบริการเคเบิลทีวี โดยเราจะไม่ได้จ่ายเงินเป็นค่าบริการรายเดือนเพื่อเข้าถึงบริการอะไรก็ได้ แต่ต้องจ่ายเงินตามแพ็กเกจเนื้อหาและบริการที่เราเลือกใช้แทน ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เราอาจจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต 500 บาทต่อเดือนเพื่อเข้าถึงบริการอะไรก็ได้ แต่ต่อไปเราอาจต้องจ่าย 100 บาทเพื่อใช้บริการอีเมล 200 บาทสำหรับบริการโซเชียลมีเดีย และ 300 บาทสำหรับบริการวิดีโอ
ภาพที่ 1: เปรียบเทียบแพ็กเกจบริการอินเทอร์เน็ตแบบที่มีความเป็นกลางของเครือข่ายกับแบบที่ไม่มี [5]
ส่วนผู้ต่อต้านหลักการความเป็นกลางของเครือข่ายก็มีเหตุผลหลักดังนี้ 1) ไอเอสพีควรมีสิทธิจัดการกับการจราจรบนเครือข่ายของตน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการใช้บริการมาก เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการใช้เครือข่ายร่วมกัน 2) ไอเอสพีต้องลงทุนพัฒนาเครือข่ายเพื่อรองรับบริการอย่างยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ หรือเฟสบุ๊ค ซึ่งสามารถหาประโยชน์บนเครือข่ายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ดังนั้นไอเอสพีควรมีสิทธิเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อนำรายได้มาลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่ายสำหรับรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น และ 3) หากไอเอสพีไม่สามารถเก็บเงินเพิ่มได้ ก็จะขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเครือข่าย ซึ่งย่อมกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม
วินต์ เซิร์ฟ ผู้ร่วมคิดค้นอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล เคยกล่าวไว้ว่า อินเทอร์เน็ตถูกออกแบบมาโดยไม่มีผู้มีอำนาจใดๆ จะมาควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาและบริการใหม่ๆ ได้ หากเราปล่อยให้ไอเอสพีควบคุมสิ่งที่ประชาชนเห็นและทำในโลกออนไลน์ได้ ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีแห่งโอกาสก็จะถูกบั่นทอนลงทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม
ในประเทศไทยเอง ประเด็นเรื่องความเป็นกลางของเครือข่ายยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากนัก แม้จะมีข่าวคราวการควบคุมการจราจรของไอเอสพีบางราย และการนำเสนอแพ็กเกจซีโร่เรตติ้งในบางบริการของผู้ให้บริการมือถือ แต่ในอีกไม่นาน ความเป็นกลางของเครือข่ายจะกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทยอย่างแน่นอน และถือเป็นความท้าทายสำคัญที่พลเมืองดิจิทัลจะต้องร่วมกำหนดอนาคตของโครงสร้างอินเทอร์เน็ตร่วมกัน
ระบอบลิขสิทธิ์กับวัฒนธรรมเสรี
ลิขสิทธิ์หมายถึงกฎหมายที่ใช้คุ้มครองผลงานของผู้สร้างสรรค์ โดยผู้ที่จะทำซ้ำ แบ่งปัน หรือนำผลงานไปใช้ ต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงานก่อน ระบอบลิขสิทธิ์นั้นมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของสื่อชนิดใหม่ ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ มาจนถึงอินเทอร์เน็ต ล้วนส่งผลต่อการจัดการลิขสิทธิ์ซึ่งมุ่งรักษาสมดุลระหว่างสิทธิของผู้สร้างสรรค์งานกับประโยชน์สาธารณะ
ในกรณีของอินเทอร์เน็ตนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้ผู้ใช้สามารถทำสำเนา แบ่งปัน เผยแพร่ และสร้างสรรค์ผลงานขึ้นใหม่ได้อย่างง่ายดาย เช่น บิตทอร์เรนต์ช่วยให้การแชร์ไฟล์ระหว่างคนหมู่มากทำได้อย่างง่ายดาย หรือยูทูบทำให้ใครก็สามารถเผยแพร่สื่อวิดีโอของตนเองได้ ส่วนทางด้านเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีเทคโนโลยีในการคุ้มครองและตรวจสอบการใช้งานลิขสิทธิ์ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยีจัดการสิทธิดิจิทัล (digital rights management) ที่ควบคุมไม่ให้มีการคัดลอกเพื่อใช้ในสื่ออื่น จำกัดจำนวนผู้ใช้ หรือกระทั่งจำกัดเวลาในการใช้สื่อนั้น ส่งผลให้เรื่องลิขสิทธิ์กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งมักเป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ข้ามชาติในสหรัฐอเมริกา วิ่งเต้นอย่างหนักทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อทำให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์เข้มข้นมากขึ้นจนอาจส่งผลต่อวัฒนธรรมเสรีในอินเทอร์เน็ต เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการบังคับใช้รัฐบัญญัติลิขสิทธิ์สหัสวรรษดิจิทัล (US Digital Millennium Copyright Act หรือ DMCA) หรือในระดับระหว่างประเทศก็มีสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty) และข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPS) ขององค์การการค้าโลก ซึ่งบังคับให้ประเทศที่ลงนามในข้อตกลงต้องออกกฎหมายที่นิยามการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ครอบคลุมไม่เพียงแต่การคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงการทำสำเนาโดยไม่ได้รับอนุญาตที่แม้ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์แต่อาจส่งผลเสียหายเชิงพาณิชย์ด้วย [6]เช่น การแชร์ไฟล์หรือการอัปโหลดสื่อเพื่อใช้เป็นการส่วนตัวในอินเทอร์เน็ต
ในปี 2011 บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่พยายามผลักดันการออกร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ หรือโซปา (Stop Online Piracy Act หรือ SOPA) ซึ่งให้อำนาจอัยการสูงสุดสามารถบังคับไอเอสพีให้บล็อกโดเมนเนมของเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการละเมิดลิขสิทธิ์ ห้ามไม่ให้เสิร์ชเอ็นจิ้นแสดงผลการค้นหาที่เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว และสั่งให้ผู้โฆษณาและผู้ให้บริการด้านการเงินออนไลน์อย่าง PayPal หยุดดำเนินธุรกิจกับเว็บไซต์เหล่านั้น ขณะที่ผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เห็นว่าโซปาจะช่วยจัดการกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ผู้ต่อต้านเห็นว่าโซปาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก บั่นทอนความมั่นคงไซเบอร์ และทำลายนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สุดท้ายความพยายามในการผลักดันโซปาก็หยุดลงหลังจากมีการต่อต้านจากเหล่าบริษัทเทคโนโลยี นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เช่น วิกิพีเดียซึ่งต่อต้านด้วยการหยุดให้บริการ 1 วัน เพื่อชักชวนให้คนจินตนาการถึงโลกที่ปราศจากเสรีภาพในการเข้าถึงความรู้
ภาพที่ 2: วิกิพีเดียหยุดให้บริการ 1 วันเพื่อต่อต้านกฎหมายโซปา
แม้ระบอบลิขสิทธิ์จะมีขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิผู้สร้างสรรค์งานและสร้างแรงจูงใจในการคิดค้นอะไรใหม่ๆ การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดเกินไปในโลกออนไลน์อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะการเข้าถึงความรู้และการสร้างสรรค์ เช่น การปิดเว็บไซต์สำหรับแชร์ไฟล์อย่าง The Pirate Bay อาจบั่นทอนศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในฐานะเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ของคนจากประเทศกำลังพัฒนา หรือการตีความการคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ที่เข้มงวดเกินไปอาจส่งผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อต่อยอดความสร้างสรรค์ เช่นกรณีการโพสต์วิดีโอเด็กทารกเต้นกระจาย (Dancing Baby Lawsuit)
[box]คดีทารกเต้นกระจาย
ในปี 2007 ครอบครัวเลนซ์โพสต์วิดีโอที่ลูกชายวัย 13 เดือนเต้นอย่างสนุกสนานตามเสียงเพลง Let’s Go Crazy ของพรินซ์ ลงในยูทูบ เพื่อแบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง ปรากฏว่าหลังจากนั้น 4 เดือน บริษัทยูนิเวอร์แซลมิวสิกกรุ๊ป ซึ่งดูแลลิขสิทธิ์ของศิลปินพรินซ์ ส่งจดหมายหายูทูบ ให้นำวิดีโอซึ่งมีการใช้เพลงของพรินซ์ออก ทั้งที่เสียงเพลงในวิดีโอที่มาจากเครื่องเสียงด้านหลังไม่ชัดหรือฟังแทบไม่รู้เรื่อง (คือไม่มีใครคิดจะเปิดวิดีโอนี้เพื่อฟังเพลงจนกระทบยอดขายของค่ายเพลงแน่ๆ) และไม่ได้เป็นการทำเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทนายจากยูนิเวอร์แซลเตือนว่าผู้โพสต์วิดีโอนี้อาจโดนค่าปรับสูงสุด 150,000 เหรียญสหรัฐ!
ครอบครับเลนซ์ไม่เข้าใจว่าทำไมการโพสต์วิดีโอเด็กทารกถึงกลายเป็นความผิดได้ จึงติดต่อมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (EEF) ให้เป็นตัวแทนฟ้องยูนิเวอร์แซล ข้อหาบิดเบือนกฎหมายลิขสิทธิ์และละเมิดหลักการการใช้อย่างเป็นธรรม (fair use) ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ครอบครัวเลนซ์ชนะ และแจ้งเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างยูนิเวอร์แซลให้คำนึงถึงหลักการการใช้อย่างเป็นธรรมก่อนส่งคำร้องให้นำเนื้อหาออก
แมคเชอรี ผู้อำนวยการด้านกฎหมายของ EFF กล่าวถึงคดีนี้ว่า “การตัดสินวันนี้ส่งข้อความอย่างชัดแจ้งว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ให้อำนาจกับการเซ็นเซอร์การแสดงออกที่ชอบด้วยกฎหมาย … การเพิกเฉยต่อสิทธิการใช้อย่างเป็นธรรมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรับผิดกับผลเสียที่เกิดขึ้น” [7][/box]
ลอร์เรนซ์ เลสสิก อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อวัฒนธรรมเสรีในอินเทอร์เน็ต กังวลว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ที่ถูกทำให้เข้มงวดขึ้นตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมากำลังทำลายความสร้างสรรค์ในสังคม และบั่นทอนวัฒนธรรม “เขียน/อ่าน” (Read/Write หมายถึงวัฒนธรรมที่เราเป็นทั้งผู้บริโภคสื่อและผู้สร้างสรรค์สื่อด้วยตนเอง) ให้กลายเป็นวัฒนธรรม “อ่าน/เท่านั้น” (Read/Only คือการบริโภคอย่างเดียว) ทุกวันนี้ กฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมไปถึงการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัว (ด้วยเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต การฟังเพลงหรือเล่นวิดีโอออนไลน์คือการทำสำเนาจากเซิร์ฟเวอร์หนึ่งมาบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอยู่แล้ว) ซึ่งไม่ได้กำกับแค่ “มืออาชีพ” (professional) แต่ครอบคลุมมาถึง “มือสมัครเล่น” (amateur) ด้วย [8] กล่าวคือกฎหมายลิขสิทธิ์กำลังบั่นทอนความสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมผสมผสาน (remix culture) โดยคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเครื่องมือดิจิทัลอนุญาตให้เราผสมผสานสื่ออันหลากหลายและรังสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการผสมผสานคลิปข่าวและเพลงบางส่วนเพื่อใช้ในการล้อเลียนทางการเมือง ก็อาจมีการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์มาควบคุมความเห็นทางการเมืองของเรา
การรักษาผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่บั่นทอนศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงความรู้และรังสรรค์ต่อยอดจากผลงานของผู้อื่นถือเป็นความท้าทายสำคัญในยุคดิจิทัล เลสสิกเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ 1) เลิกกำกับ “ความสร้างสรรค์ของมือสมัครเล่น” ที่ใช้เครื่องมือดิจิทัลผสมผสานผลงานขึ้นมาใหม่โดยไม่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ 2) หยุดกำกับ “การคัดลอก” ในอินเทอร์เน็ต เพราะการใช้ผลงานสร้างสรรค์ออนไลน์คือการคัดลอกเสมอ ดังนั้นจึงไม่ต่างจากการกำกับการหายใจของมนุษย์ แต่ควรหันไปกำกับที่การใช้ เช่น การเผยแพร่ผลงานลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ และ 3) หยุดทำให้เด็กทุกคนกลายเป็นอาชญากร เราควรหาวิธีใหม่ๆ ในการชดเชยผลประโยชน์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ต้องไล่ฟ้องเด็กทุกคนที่แชร์ไฟล์
การเซ็นเซอร์เนื้อหาและการรับผิดของตัวกลาง
อินเทอร์เน็ตเคยถูกมองว่าเป็น “เทคโนโลยีแห่งเสรีภาพ” ที่ไร้ซึ่งการกำกับดูแลจากภาครัฐ ทว่าทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็น “เทคโนโลยีแห่งการควบคุม” ไปเสียแล้ว รายงานของ Freedom on the Net [9] ชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพในอินเทอร์เน็ตทั่วโลกเสื่อมถอยลงต่อเนื่องมาตลอด 7 ปี (2011-2017) ประชากรกว่าสองในสามของโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่วิจารณ์รัฐบาล ชนชั้นปกครอง และหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงรัฐบาลเริ่มเข้ามากำกับช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ อย่างโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชั่นที่ใช้ส่งข้อความ เช่น WhatsApp, อินสตาแกรม และสไกป์มากขึ้นเรื่อยๆ
การที่ผู้คนหันมาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นทำให้มันตกเป็นเป้าของการเซ็นเซอร์มากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากการบล็อกการเข้าถึงโซเชียลมีเดียแล้ว ผู้ใช้โซเชียลมีเดียยังต้องเผชิญกับบทลงโทษในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวอย่างเช่น มีการจับกุมคนที่เผยแพร่แนวคิดอเทวนิยมหรือการไม่เชื่อในพระเจ้าในซาอุดีอาระเบียและถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปี รายงาน Freedom on the Net แสดงให้เห็นว่า ในปี 2016 27 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่จับกุมคนที่โพสต์ แชร์ หรือกระทั่งแค่กดถูกใจเนื้อหาในเฟสบุ๊ค ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มจากปี 2013 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนั้น รัฐบาลทั่วโลกยังขยายการเซ็นเซอร์ไปครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น อาทิเช่น เว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนลงชื่อในคำร้อง หรือเรียกร้องให้มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล (เช่นในคาซัคสถาน นักกิจกรรมสองคนถูกจับจากการใช้โซเชียลมีเดียวางแผนเข้าร่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน) เว็บไซต์ข่าวที่สนับสนุนแนวคิดต่อต้านอำนาจทางการเมือง เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางเพศ (เช่นในอินโดนีเซีย รัฐบาลขอให้ไลน์นำสติกเกอร์ที่เกี่ยวกับเกย์หรือเลสเบี้ยนออกจากร้านค้าของไลน์) รวมถึงเนื้อหาประชดเสียดสี (เช่นในพม่า กวีที่โพสต์กลอนเสียดสีผู้นำทางการเมืองถูกตัดสินจำคุก)
ถ้ามองในแง่วิวัฒนาการของการกำกับดูแลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตจะพบว่า ช่วงแรก (ก่อนปี 2000) รัฐแทบไม่เข้ามาแทรกแซงเนื้อหาในพื้นที่ไซเบอร์เลย การกำกับดูแลจะอยู่ในรูปของการกำกับดูแลกันเองเป็นหลัก เช่น การจัดการกับสแปมผ่านการลิสต์รายชื่อและการกรองข้อความที่ไม่ต้องการผ่านระบบของอีเมล พอช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 รัฐบาลบางประเทศได้ใช้ระบบฟิลเตอร์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาบางประเภท โดยมีจีนเป็นประเทศผู้นำที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก และต่อมาประเทศอื่นๆ ก็เข้ามากำกับดูแลเนื้อหามากขึ้นบนฐานความชอบธรรมว่าต้องการคุ้มครองคุณค่าอื่นๆ อาทิเช่น ประเด็นความปลอดภัยและมั่นคง (เช่น การก่อการร้าย) การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่อันตราย ประทุษวาจา รวมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจ (เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การพนัน) อย่างไรก็ดี การเซ็นเซอร์ได้ครอบคลุมไปถึงเนื้อหาที่ชอบธรรมด้วยในหลายประเทศ เช่น การวิพากษ์รัฐบาล
วิธีการกำกับดูแลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การกำกับเนื้อหาที่จุดกำเนิดหรือตัวผู้ผลิตและเผยแพร่เนื้อหา โดยวิธีนี้จะทำได้ไม่ยากนักหากเนื้อหาถูกฝากไว้ในเซิร์ฟเวอร์ภายในประเทศหรือบริษัทที่รับฝากเนื้อหาจดทะเบียนบริษัทไว้ในประเทศ เช่น บริษัทคอมพิวเซิร์ฟของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีบริษัทอยู่ที่ประเทศเยอรมนีด้วย ถูกฟ้องให้นำภาพอนาจารและภาพการทารุณเด็กซึ่งผิดกฎหมายเยอรมนีออก แต่หากเนื้อหาอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ รัฐบาลจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนักนอกจากการขอความร่วมมือกับเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ให้นำเนื้อหาออกหรือร่วมมือกับประเทศที่เนื้อหาถูกฝากไว้ ด้วยเหตุนี้ การใช้เครื่องมือในการฟิลเตอร์เนื้อหาผ่านตัวกลางอย่างไอเอสพี เพื่อป้องกันการเข้าถึงแทนที่จะจัดการกับผู้ผลิตเนื้อหาโดยตรงจึงได้รับความนิยมมากขึ้น
การกำกับดูแลเนื้อหาในโลกไซเบอร์สเปซผ่านตัวกลางได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐบาลมุ่งเป้าการกำกับดูแลเนื้อหาไปที่ตัวกลางซึ่งเป็นบริษัทเอกชน เช่น ไอเอสพีต้องฟิลเตอร์หรือบล็อกการเข้าถึงเนื้อหาที่มีปัญหาในต่างประเทศ หรือกูเกิลต้องฟิลเตอร์ผลการค้นหาตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เป็นต้น การกระทำเช่นนี้สร้างประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบในการจัดการกับเนื้อหาออนไลน์ของบริษัทเอกชนซึ่งไม่ได้มีพันธกิจสาธารณะ และอาจมีแนวโน้มว่าบริษัทเอกชนจะบล็อกเนื้อหามากเกินควรเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายหรือแรงกดดันจากภาครัฐ โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้มากเท่าที่ควร
แม้หลักการเรื่องการแจ้งเตือนและเอาออก (notice-and-takedown regime) จะช่วยป้องกันไม่ให้ไอเอสพีต้องรับผิดตามกฎหมายจากเนื้อหาที่บุคคลอื่นสร้างขึ้น ตราบเท่าที่ไอเอสพีนำเนื้อหานั้นออกอย่างรวดเร็วเมื่อได้รับแจ้งเตือน แต่ในกรณีนี้ก็อาจจะสร้างแรงจูงใจให้ตัวกลางอย่างไอเอสพีนำเนื้อหาออกทันทีที่ได้รับการแจ้งเตือนโดยไม่ได้พิสูจน์ว่าเนื้อหาดังกล่าวผิดกฎหมายจริงหรือไม่ เพราะไอเอสพีไม่อยากเสี่ยงรับผิดทางกฎหมายและเสียทรัพยากรไปกับการตรวจสอบเนื้อหา
ตามหลักการสากลแล้ว กฎหมายควรระบุถึงสิทธิของประชาชนผู้โพสต์เนื้อหาด้วย เช่น เจ้าของเนื้อหามีสิทธิได้รับการแจ้งจากตัวกลางและมีสิทธิปกป้องการใช้เนื้อหาของตนก่อนมีการปิดกั้นหรือลบเนื้อหา หรือมีสิทธิในการรับรู้ถึงกระบวนการตรวจสอบความถูกกฎหมายของเนื้อหา นอกจากนั้นอาจพิจารณานำระบบ “แจ้งเตือนและแจ้งเตือน” (Notice and Notice) มาใช้กับตัวกลางแทน ดังเช่นกรณีการจัดการกับเนื้อหาที่ติดลิขสิทธิ์ในแคนาดา [10] กล่าวคือ เมื่อตัวกลางได้รับการแจ้งเตือนถึงเนื้อหาที่มีปัญหา ตัวกลางจะมีหน้าที่แจ้งเตือนต่อไปยังเจ้าของเนื้อหา และการตัดสินใจว่าจะนำเนื้อหาออกหรือไม่ถือเป็นสิทธิของเจ้าของเอง หากเจ้าของเนื้อหาตัดสินใจไม่เอาเนื้อหาออก ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องระหว่างรัฐกับประชาชนผู้นั้นต่อไป กรณีนี้ถือว่าตัวกลางทำหน้าที่เป็นตัวกลางอย่างแท้จริงและไม่ต้องทำหน้าที่เซ็นเซอร์เนื้อหาแทนรัฐ
การรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนกับบทบาทหน้าที่ของรัฐในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะผ่านการเซ็นเซอร์เนื้อหาบางอย่าง ถือเป็นความท้าทายสำคัญในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนของสังคมควรมีส่วนร่วมในการกำหนดให้อินเทอร์เน็ตเป็น “เทคโนโลยีแห่งเสรีภาพ” ภายใต้ข้อจำกัดที่เหมาะสมพอควร
ฟิลเตอร์บับเบิลและข่าวลวง: อันตรายต่อประชาธิปไตย?
ในศตวรรษที่ 19 เทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีราคาถูกลงส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของหนังสือพิมพ์ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งทำลายอำนาจของสื่อสิ่งพิมพ์ในฐานะกลไกตรวจสอบผู้มีอำนาจ ในศตวรรษที่ 20 การเกิดขึ้นของวิทยุและโทรทัศน์ในฐานะสื่อหลักที่ครอบงำสังคมทำให้คนบางกลุ่มกังวลว่า การถกเถียงทางการเมืองจะถูกลดรูปเหลือเพียงแค่การนำเสนอภาพนักการเมืองที่มีเสน่ห์และขึ้นกล้อง ส่วนคนที่มีความรู้ความสามารถในการนำพาประเทศแต่อาจดูไม่ดีหรือมีเสน่ห์จะไม่ได้พื้นที่ในการนำเสนอความคิด พอถึงปลายศตวรรษที่ 20 หลายคนเชื่อว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตซึ่งสร้างพื้นที่ไร้พรมแดนในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย รวมถึงเป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและหาจุดร่วมที่เป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี คนที่เห็นต่างเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เพียงช่วยให้ตัวเราเองเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลและความเห็นที่สอดคล้องกับความเชื่อที่ยึดถือมาก่อน แต่อัลกอริธึมของเสิร์ชเอ็นจิ้นและโซเชียลมีเดียซึ่งเลือกแสดงเว็บไซต์หรือโพสต์ที่ตรงกับความสนใจของเราเป็นหลัก (เช่น พื้นที่ที่เราอยู่ พฤติกรรมการคลิกที่ผ่านมา หรือประวัติการค้นหา) จะทำให้เราอยู่ในโลกที่ได้ยินแต่เสียงสะท้อนที่ตรงกับความเชื่อของเรา (echo chamber) หรืออยู่ในโลกที่ห่อหุ้มด้วยฟองสบู่ (filter bubble หรือฟิลเตอร์บับเบิล) ซึ่งอัลกอริธึมสร้างขึ้น ซ้ำร้ายกว่านั้น อินเทอร์เน็ตซึ่งใครก็สามารถสร้างและเผยแพร่สื่อโดยไม่ต้องมีกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างทีมบรรณาธิการ ยังเป็นพื้นที่บ่มเพาะ “ข่าวลวง” (fake news) ทั้งหมดนี้ทำให้คนตั้งข้อสงสัยว่าอินเทอร์เน็ตกำลังทำลายประชาธิปไตยหรือไม่ ดังกรณีโด่งดังที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาปี 2016 ซึ่งผู้คนเสพข่าวลวงและสร้างฟองสบู่ที่กีดกันข้อมูลและความเห็นที่แตกต่างออกไป
อีไล พาริเซอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฟิลเตอร์บับเบิล [11] อธิบายว่า บริการออนไลน์มากมายทุกวันนี้มีอัลกอริธึมที่คอยเลือกและปรับบริการให้ตรงกับความต้องการส่วนบุคคล (personalization) เช่น เฟสบุ๊ค กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ แอมะซอน หรือกระทั่งสำนักข่าวต่างๆ ที่เลือกแสดงเนื้อหาที่สอดรับกับความสนใจของเรา อัลกอริธึมของบริการออนไลน์เหล่านี้ทำตัวเป็น “นายทวารเฝ้าประตูข้อมูล” คอยคิดแทนว่าเราต้องการเห็นอะไรโดยไม่เคยถามไถ่เรา ตัวอย่างเช่น ถ้าเรายึดมั่นความเชื่อแบบเสรีนิยม เราก็มักจะมีเพื่อนในเฟสบุ๊คและกดถูกใจความเห็นของเพื่อนที่เชื่อแบบเดียวกัน อัลกอริธึมก็จะกรองโพสต์ของเพื่อนอนุรักษนิยมออกไปจากหน้าเฟสบุ๊คของเรา หรือถ้าคุณใช้กูเกิลเพื่อค้นหาคำบางคำ อัลกอริธึมของกูเกิลก็จะเลือกแสดงผลการค้นหาที่แตกต่างโดยอิงจากข้อมูลและพฤติกรรมของเรา (เช่น เราใช้คอมพิวเตอร์อะไร เราใช้บราวเซอร์แบบไหน เราเคยค้นหาคำว่าอะไร)
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวไว้ว่า “กระรอกที่ตายหน้าบ้านคุณอาจจะสอดคล้องกับความสนใจของคุณตอนนี้มากกว่าประชาชนที่เสียชีวิตในแอฟริกา” [12] แน่นอนว่าเฟสบุ๊คอาจหวังดีอยากให้เราเข้าถึงเฉพาะโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราในโลกที่ข้อมูลท่วมท้น หรือก็แค่อยากดึงการมีส่วนร่วมของเราผ่านสิ่งที่อัลกอริธึมเชื่อว่าเราสนใจ ทว่าคำถามสำคัญคือเราอยากสร้างฟองสบู่ออนไลน์ที่ทุกสิ่งที่เรารับรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเท่านั้นหรือเปล่า เราต้องการพบปะกับคนใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ หรือไม่ เราต้องการข้อมูลและความเห็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อเท่านั้นจริงหรือ แล้วความเห็นที่แตกต่าง ท้าทาย หรือตั้งคำถามกับความเชื่อที่เราคุ้นเคย ไม่สำคัญหรือไร
ปรากฏการณ์ฟิลเตอร์บับเบิลทำให้นักวิจารณ์มากมายโทษอัลกอริธึมของผู้ให้บริการว่ากำลังบั่นทอนประชาธิปไตย แทนที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยผ่านการเข้าถึงและมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูล แนวคิด และความเห็นอันหลากหลาย แต่เราสามารถโยนความผิดให้เทคโนโลยีทั้งหมดจริงหรือเปล่า งานศึกษาของเฟสบุ๊ค [13] พบว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ผู้ใช้ที่ยึดถือความเชื่อต่างกัน (ระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษนิยม) เห็นข่าวที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรายึดมั่น คือ 1) ใครคือเพื่อนของเราในเฟสบุ๊ค และข่าวที่เพื่อนแชร์ 2) ในบรรดาข่าวที่เพื่อนแชร์ ข่าวไหนที่ถูกแสดงโดยอัลกอริธึมของเฟสบุ๊ค และ 3) เราคลิกดูข่าวแบบไหนที่แสดงในหน้าเฟสบุ๊คของเรา ผลการศึกษาปรากฏว่า ปัจจัยที่หนึ่ง (เพื่อนส่วนมากไม่แชร์ข่าวที่ตรงข้ามกับความเชื่อ) และปัจจัยที่สาม (ตัวผู้ใช้ไม่คลิกดูข่าวที่ตรงข้ามกับความเชื่อ) มีความสำคัญต่อการสร้างฟิลเตอร์บับเบิลมากกว่าปัจจัยที่สอง (อัลกอริธึมเลือกหรือไม่เลือกแสดงโพสต์ที่ตรงข้ามกับความเชื่อ) ดังนั้นข้อสรุปในรายงานจึงบ่งชี้ว่า ตัวเราเองต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเจาะฟองสบู่ออกไปเจอกับความเห็นที่หลากหลาย
ส่วนประเด็นเรื่องข่าวลวงกับผลต่อประชาธิปไตยนั้นถูกจุดกระแสขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ซึ่งมีข่าวลวงแพร่กระจายในโซเชียลมีเดียเยอะเป็นปรากฏการณ์ และมีข้อกล่าวหาว่ารัสเซียเข้าแทรกแซงการเมืองอเมริกาด้วยการซื้อโฆษณาเพื่อปล่อยข่าวลวงในเฟสบุ๊ค (นอกจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ รายงาน Freedom on the Net ปี 2017 ชี้ว่า การบิดเบือนข้อมูลและการปล่อยข่าวลวงเพื่อปั่นป่วนการเลือกตั้ง เกิดขึ้นในอย่างน้อย 17 ประเทศ) งานศึกษาเกี่ยวกับข่าวลวงกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ [14] แสดงให้เห็นว่า 1) ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 62 เปอร์เซ็นต์เสพข่าวบนโซเชียลมีเดีย 2) ข่าวลวงที่ได้รับความนิยมในเฟสบุ๊คนั้นมีการแชร์มากยิ่งกว่าข่าวที่ผลิตโดยสื่อกระแสหลักเสียอีก 3) คนจำนวนมากที่มีโอกาสเห็นข่าวลวงยังเชื่อเนื้อหาที่ปรากฏในข่าวด้วย และ 4) ข่าวลวงส่วนมากมีแนวโน้มที่จะเข้าข้างโดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่าฮิลลารี คลินตัน หลักฐานทั้งหมดนำไปสู่ข้อสรุปของคนบางกลุ่มว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่ชนะการเลือกตั้งหากไม่เป็นเพราะผลกระทบของข่าวลวง กล่าวคือข่าวลวงมีพลังมากถึงขั้นพลิกผลการเลือกตั้งเลยทีเดียว
ข่าวลวงแพร่หลายและได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดียมากขนาดนี้เพราะ 1) อินเทอร์เน็ตทำให้ใครเป็นสื่อก็ได้ การจัดทำเว็บไซต์และหารายได้จากข่าวลวงผ่านแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ก็ทำได้ง่าย อีกทั้งสื่อสมัครเล่นเหล่านี้ไม่มีต้นทุนด้านชื่อเสียงที่ต้องรักษาไว้ แค่หวังประโยชน์ระยะสั้นทั้งในเชิงรายได้และเชิงอุดมการณ์จากข่าวลวง ซึ่งแตกต่างจากสื่อกระแสหลัก 2) สื่อโซเชียลถูกออกแบบมาเพื่อการแชร์ และโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนใช้มากขึ้นทุกปี (จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียในปี 2018 คือเกือบ 3.2 พันล้านคน หรือคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก [15]) 3) ความไว้ใจในสื่อกระแสหลักนั้นเสื่อมคลายลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหันไปเชื่อถือสื่อจากแพลตฟอร์มอื่นๆ มากขึ้น และ 4) การแบ่งขั้วทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้คนที่ยึดถือความเชื่อแตกต่างกันอย่างสุดขั้วมีจำนวนมากขึ้น คนเหล่านี้พร้อมจะเชื่อข่าวที่โจมตีฝ่ายตรงข้าม แม้จะดูไม่มีมูลความจริงก็ตาม
ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการที่ข่าวลือแพร่กระจายนั้นมีหลายมิติ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่หลงเชื่อในข่าวลวงย่อมมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและส่งผลต่อการใช้เหตุผลเพื่อการถกเถียงแลกเปลี่ยน อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดี การที่ผู้บริโภคต้องเผชิญกับข่าวลวงมากๆ ทำให้เกิดความกังขากระทั่งกับสื่อที่ผลิตข่าวดีๆ ส่งผลให้ไม่สามารถแยกระหว่างข่าวคุณภาพกับข่าวลวงได้ รวมถึงการที่ข่าวลวงได้รับความสนใจมากขึ้นอาจไปลดแรงจูงใจในการลงทุนผลิตข่าวที่ถูกต้องและมีความเป็นมืออาชีพได้
ข้อเสนอในการรับมือกับข่าวลวงนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่การเรียกร้องให้ผู้ให้บริการอย่างเฟสบุ๊คและกูเกิลใช้เทคโนโลยีตรวจสอบและกรองข่าวลวงออกไปจากแพลตฟอร์มของตน ส่งเสริมให้เกิดการผลิตข่าวที่น่าเชื่อถือโดยสื่อมืออาชีพ จัดตั้งหน่วยงานในการรับแจ้ง ตรวจสอบ และแก้ไขข่าวลวง ไปจนถึงข้อเสนอด้านการศึกษาโดยการเสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศให้กับพลเมือง เช่น การตรวจสอบที่มาและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล การเสพข่าวอย่างมีวิจารณญาณ การไม่แชร์หรือส่งต่อข่าวลวงเพียงเพราะมันดูน่าตื่นเต้น น่าสนใจ หรือสอดรับกับความเชื่อของตนเองเท่านั้น
[box]Facebook กับการจัดการข่าวลวง
เฟสบุ๊คตกเป็นเป้าการโจมตีอย่างรุนแรงว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวลวงในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 และเพื่อจัดการกับข่าวลวง เฟสบุ๊คประกาศว่าจะดำเนินมาตรการเพื่อลดการแพร่กระจายของข่าวลวงในบริการของตน เช่น การเปิดให้ผู้ใช้สามารถรายงานโพสต์ที่สงสัยว่าเข้าข่ายข่าวลวง การใช้ซอฟท์แวร์เพื่อระบุโพสต์ที่เป็นข่าวลวง หรือการตัดช่องทางหารายได้ของผู้ผลิตข่าวลวง
หนึ่งในมาตรการจัดการกับข่าวลวงคือการสร้างระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอย่างสำนักข่าวเอพี, เอบีซีนิวส์ และ FactCheck.org หากโพสต์ไหนที่ผู้ใช้สงสัยว่าเป็นข่าวลวงและรายงานมายังเฟสบุ๊ค หน่วยงานดังกล่าวก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเป็นข่าวลวงก็จะมีการติดป้ายเพื่อเตือนให้ผู้ใช้รู้ว่าควรเชื่อและแชร์โพสต์นั้นหรือเปล่า รวมถึงโอกาสในการถูกเห็นของข่าวที่ถูกติดป้ายบนเฟสบุ๊คก็จะลดไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
อีกมาตรการหนึ่งที่เฟสบุ๊คออกมาประกาศเมื่อต้นปี 2018 คือ การปรับอัลกอริธึมให้แสดงโพสต์ของเพื่อนและครอบครัวเป็นหลัก ขณะที่ลดการแสดงโพสต์ในระดับองค์กรหรือหน่วยงาน เช่น องค์กรสื่อที่ใช้เฟสบุ๊คเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ข่าว โดยเฟสบุ๊คให้เหตุผลว่าอัลกอริธึมใหม่นี้จะช่วยให้เฟสบุ๊ครักษาความเป็นพื้นที่สำหรับปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดอย่างมีความหมาย และลดโอกาสที่ผู้ใช้จะเจอกับข่าวลวงที่ถูกเผยแพร่โดยองค์กรหรือสถาบันต่างๆ
อย่างไรก็ดี บทความของ นิวยอร์กไทมส์ [16] วิเคราะห์ว่า คนเรามักเลือกแชร์ข่าวที่หวือหวาอย่างข่าวลวงมากกว่าข่าวคุณภาพที่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง การปรับอัลกอริธึมให้ผู้ใช้เฟสบุ๊คเห็นข่าวที่แชร์จากเพื่อนหรือครอบครัวมากขึ้น ขณะที่เห็นข่าวจากสำนักข่าวน้อยลง อาจจะส่งผลตรงข้ามจาก นั่นคือข่าวลวงจะแพร่กระจายมากขึ้น และโอกาสที่คนจะเห็นข่าวที่ผ่านการตรวจสอบแก้ไขข้อเท็จจริงก็จะยิ่งลดลง [/box]
บทสรุป
ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ผู้คิดค้นเวิล์ดไวด์เว็บ เคยกล่าวไว้ว่า “ผมยังไม่เห็นเว็บในแบบที่ผมจินตนาการถึง อนาคตของมันจะยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เป็นมาในอดีต”
ไม่ว่าเว็บหรืออินเทอร์เน็ตที่ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี จินตนาการถึงจะหน้าตาเป็นอย่างไรในอนาคต จะสอดคล้องกับความฝันของหลายคนที่อยากเห็นเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสร้างสังคมที่ดีแห่งศตวรรษที่ 21 สังคมที่พลเมืองมีอิสรภาพส่วนบุคคล มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่ไร้พรมแดน มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงมีโอกาสดำรงชีวิตอย่างสร้างสรรค์ผ่านทางเลือกที่มีมากขึ้น หรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่แน่นอนคือความท้าทายใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลกำลังบั่นทอนศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในการสร้างสังคมที่ดี
พลเมืองดิจิทัลไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจแนวคิดพลเมืองที่สอดคล้องกับยุคสมัย สร้างทักษะและความรู้ดิจิทัลอย่างรอบด้าน ปกป้องตนเองจากภัยคุกคามออนไลน์ ตระหนักถึงสิทธิและความรับผิดชอบในยุคดิจิทัล และมองหาโอกาสด้านต่างๆ ที่อินเทอร์เน็ตช่วยสร้างขึ้น แต่ยังต้องเข้าใจประเด็นท้าทายใหม่ๆ และมีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขที่ช่วยให้อินเทอร์เน็ตส่งเสริมสังคมที่เราอยากเห็น
อนาคตของอินเทอร์เน็ตจะเป็นอย่างไร มันจะช่วยสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยโอกาสหรือความเสี่ยง พลเมืองดิจิทัลอย่างเราล้วนมีส่วนในการกำหนดมัน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ คู่มือพลเมืองดิจิทัล เผยแพร่ทางเว็บไซต์ thaidigizen พลเมืองดิจิทัล
อ้างอิง
[1] Manuel Castells, End of Millennium (Oxford & Massachusetts: Blackwell, 1998/2000).
[2] World Bank, World Development Report 2016: Digital dividends (Washington, DC: World Bank, 2016).
[3] World Bank, World Development Report 2016.
[4] สุพจน์ เธียรวุฒิ, “Digital Access: Bridging the Digital Divide,” เอกสารนำเสนอในงานสัมมนาหัวข้อ “Digital Transformation: โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย,” กรุงเทพฯ, กันยายน 9, 2560.
[5] ทวิตเตอร์ของ Ro Khanna (2017), อ้างใน Sheheryar Khan, “Debate Against and For Net Neutrality,” PureVPN, February 23, 2018.
[6] โจวาน เคอร์บาลิจา, เปิดประตูสู่การอภิบาลอินเทอร์เน็ต, แปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ (กรุงเทพฯ: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, 2558).
[7] Electronic Frontier Foundation, “Important Win for Fair Use in ‘Dancing Baby’ Lawsuit,” September 14, 2015.
[8] Lawrence Lessig, Remix: Making art and commerce thrive in the hybrid economy (Bloomsbury Academic, 2008).
[9] ดูรายงานได้ที่เว็บไซต์ Freedom House.
[10] อ้างอิงจาก Office of Consumer Affairs, “Notice and Notice Regime,” Innovation, Science and Economic Development Canada, last modified January 20, 2015.
[11] Eli Pariser, The Filter Bubble: How the new personalized web is changing what we read and how we think (New York: Penguin Books, 2012).
[12] อ้างอิงจาก Eli Pariser, “When the Internet Thinks It Knows You,” The New York Times, May 22, 2011.
[13] Eytan Bakshy, Solomon Messing and Lada A. Adamic, “Exposure to Ideologically Diverse News and Opinion on Facebook,” Science, 348, 6239 (2015): 1130-1132.
[14] Hunt Allcott and Matthew Gentzkow, “Social Media and Fake News in the 2016 Election,” Journal of Economic Perspectives 31, 2 (2017): 211-236.
[15] อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Hootsuite.
[16] Sheera Frenkel, Nicholas Casey and Paul Mozur, “In Some Countries, Facebook’s Fiddling Has Magnified Fake News,” The New York Times, January 14, 2018.