fbpx
ภารกิจ Digital Archive กอบกู้พิพิธภัณฑ์บราซิลจากกองไฟ ด้วย ‘ไฟล์’ ภาพถ่าย

ภารกิจ Digital Archive กอบกู้พิพิธภัณฑ์บราซิลจากกองไฟ ด้วย ‘ไฟล์’ ภาพถ่าย

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

พิพิธภัณฑ์บราซิล กองไฟ เพลิง
ภาพ : Buda Mendes/Getty Images

กองเพลิงที่ลุกท่วมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบราซิล อายุกว่า 200 ปี ในกรุงรีโอ เด จาเนโร ได้พรากเอาโบราณวัตถุจากทั่วโลกบางส่วน จากทั้งหมดกว่า 20 ล้านชิ้น  ฟอสซิลไดโนเสาร์ ข้าวของเครื่องใช้ดึกดำบรรพ์ งานศิลปะ จดหมายเหตุ ฯลฯ หายไปในชั่วคืน ทิ้งเหลือบางชิ้นในสภาพเสียหายยากฟื้น

สิ่งที่สูญไปใช่เพียงวัตถุ แต่คือประวัติศาสตร์ ความรู้ ความทรงจำทั้งของชาวบราซิลและของมนุษยชาติ  ประธานาธิบดีบราซิลทวีตข้อความว่า “นี่เป็นวันสุดเศร้าของชาวบราซิล” ในขณะที่ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พูดผ่านสื่อว่ามันเป็น “โศกนาฏกรรมทางวัฒนธรรม”

ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วโลกก็โต้กลับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลงานของรัฐบาลบราซิลเองที่ตัดงบประมาณพิพิธภัณฑ์จากการคอร์รัปชันและปัญหาภายในประเทศ จนอาคารและสาธารณูปโภคอยู่ในสภาพทรุดโทรมไม่พร้อมใช้ ข่าวรายงานว่า ระบบน้ำดับเพลงในอาคารพิพิธภัณฑ์ไม่ทำงาน ไม่เพียงเท่านั้น หัวจ่ายน้ำทั้งสองหัวใกล้อาคารยังไม่สามารถใช้ได้เมื่อรถดับเพลิงมาถึง

พิพิธภัณฑ์บราซิล
ภาพ : Buda Mendes/Getty Images

 

ท่ามกลางอุณหภูมิระอุหลังกองไฟมอด ยังไม่มีใครรู้ว่าความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้จะฟื้นคืนกลับมาเช่นไร มิหนำซ้ำงบประมาณบริหารพิพิธภัณฑ์ที่จำกัดยังทำให้การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบภาพถ่ายมีน้อยมาก ขณะนั้นเองนักศึกษาในบราซิลกำลังลุกขึ้นมาพร้อมภารกิจกอบกู้ความทรงจำที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้นี้

กลุ่มนักศึกษาจาก Universidade Federal do Estado do Rio de Janeiro ลงประกาศถึงผู้เคยเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ขอรับภาพถ่าย ภาพวิดีโอ หรือแม้กระทั่งรูปเซลฟี่กับโบราณวัตถุที่นักท่องเที่ยวทุกคนเคยถ่ายไว้  เพื่อร่วมกันสร้าง ‘Digital Archive’ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบราซิลขึ้นมา

 

Digital Archive ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบราซิลขึ้นมา

ภาพจาก : https://www.geekwire.com/2018/crowdsourcing-efforts-save-digital-ghosts-artifacts-lost-brazils-museum-fire/

ในฝั่ง Wikipedia ก็กำลังทวีตประกาศข้อความเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์บราซิลรายงานว่าขณะนี้มีภาพถ่ายนับพันถูกส่งไปในช่องทางต่างๆ ทั้งจากนักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น หรือแม้แต่หน่วยงานใหญ่ อย่าง National Geographic UNESCO หรือรัฐบาลฝรั่งเศส ก็กำลังยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภารกิจชุบชีวิตพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้

พร้อมกัน เครือข่ายผู้สร้าง 3D Model ทั่วโลกอย่าง Sketchfab ก็กำลังรวบรวมโมเดลสามมิติโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ที่สมาชิกเคยสร้างและอัปโหลดไว้ ทั้งหน้ากากอียิปต์ ไหโบราณ รูปปั้น รวมไปถึงสถาปัตยกรรมภายนอกของอาคารพิพิธภัณฑ์ ทั้งหมดอยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลที่ใกล้เคียงของจริงทั้งวัสดุ พื้นผิว และรายละเอียด

3D Model, โมเดลสามมิติโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์

ภาพจาก : https://sketchfab.com/nebulousflynn/collections/museu-nacional-do-rio-de-janeiro

ราวกับว่า ซากพิพิธภัณฑ์ท่ามกลางควันไฟ กำลังถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ด้วยความทรงจำของทุกคนบนโลก

ภารกิจที่บราซิลยังมองไม่เห็นแสงปลายอุโมงค์ พร้อมกันนั้นบทความใน The New York Times ก็รายงานว่า ขณะนี้วัตถุที่มีส่วนประกอบของพลาสติกในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเสื่อมสภาพ ไล่ไปตั้งแต่งานศิลปะ ยันชุดนักบินอวกาศ (อ่านได้ที่นี่)

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนี้ ตีรวนประเด็นเกี่ยวกับ ‘กระบวนการเก็บรักษา’ สมบัติล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาให้เราได้ถกเถียงกันใหม่

อย่างที่เรารู้กันว่ากระบวนการเก็บรักษาดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์นั้นโฟกัสไปที่การคงสภาพของ ‘ต้นฉบับ’ หรือ ‘ของแท้’ ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เช่น การควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ ควบคุมแสง การรักษาความปลอดภัยหรือระบบป้องกันภัยพิบัติ

กระบวนการอีกส่วนที่ไม่ได้เป็นเป็นเรื่องใหม่แต่ยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์ นั่นคือกระบวนการ ‘Digitize’ หรือทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายแห่งที่มีงบประมาณสนับสนุนมากพอ ใช้กระบวนการที่ว่านี้เพื่อ ‘แบ็คอัพ’ ข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ไว้อีกชั้น ทั้งในรูปแบบของภาพถ่าย 3D Scan เพื่อจัดเก็บเป็นโมเดลสามมิติ หรือการบันทึกแต่ละห้องของพิพิธภัณฑ์ด้วยกล้อง 360 องศา

โปรเจ็กต์ Google Art & Culture คือตัวอย่างที่รวมทุกรูปแบบที่ว่ามา เราจะเห็นว่ากระบวนการนี้ไม่ได้เพียงทำหน้าที่ ‘ข้อมูลสำรอง’ ในวันที่วัตถุจริงสูญสลายเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ให้ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์เมื่อไหร่ก็ได้ จากทุกมุมโลก

รูปแบบการเก็บรักษาที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากก็คือ การสร้าง ‘ของเทียม’ ของโบราณวัตถุขึ้นมา ฝั่งหนึ่งบอกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ควรต้องศึกษาจากของแท้ไม่ใช่หรือ อีกฝั่งก็แย้งว่า แล้วถ้าเรารู้ว่าวันหนึ่งของแท้จะไม่อยู่ จะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถสำรองวัตถุที่ว่า ในรูปแบบที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ข้อมูล

กรณีที่เมคเซ้นส์มากๆ คือซุ้มประตูเมือง Palmyra ในซีเรีย อายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี สถาบันโบราณคดีดิจิทัล (Institute for Digital Archeology) คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า ร้อยทั้งร้อยซุ้มประตูคงต้องถูกผู้ก่อการร้ายทำลายเข้าสักวัน ทีมเก็บรักษาของสถาบันจึงรีบนำกล้อง 3 มิติไปบันทึกเก็บภาพของซุ้มประตูไว้

ในที่สุดซุ้มประตูก็ถูกทำลายเสียหายตามคาด แต่ด้วยไฟล์ภาพสามมิติในมือ ทีมงานของสถาบันเลยสามารถที่จะสร้างขึ้นใหม่ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติในขนาดย่อมกว่าเดิมเล็กน้อย และนำไปจัดแสดงกลางจัตุรัสต่างๆ ในนครนิวยอร์กให้คนทั่วไปได้ศึกษา ในวันที่ซุ้มประตูของจริงไม่เหลือไว้ให้ชม

พิพิธภัณฑ์บราซิล กองไฟ

พอเห็นทั้งหมดแล้วก็เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ ‘ความเป็นดิจิทัล’ ไปเหมือนกัน ในวันที่เรายังมี ‘ของจริง’ อยู่ในมือ คงไม่มีใครให้ค่ากับ ‘ไฟล์ดิจิทัล’ ที่ไม่มีตัวตน แต่ทันทีของจริงหายไปไม่หวนคืน ไฟล์ดิจิทัลจึงกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมากอบกู้ความทรงจำของชาวโลก ข้อมูลใน ‘cloud’ ทั้งภาพถ่าย  วิดีโอ คลิปเสียง ฯลฯ ของพวกเรา แท้จริงก็เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่และเก็บเรื่องราวไว้มากที่สุดในโลกดีๆ นี่เอง

เมื่อพูดถึงการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ ก็อดไม่ได้ที่จะมองกลับมาที่บ้านตัวเอง ไม่ต้องมองไปไกลถึงพิพิธภัณฑ์ที่ร้างไร้คนเข้า แต่กับอาคารเก่า โรงหนังเก่า ชุมชนเก่าใกล้ตัวที่ยังหลงเหลืออยู่ เท่าที่เราเห็นวิธีการจัดการประวัติศาสตร์ในบ้านเรา ก็พอจะทำใจล่วงหน้าได้ว่า ‘ต้นฉบับ’ ประวัติศาสตร์เหล่านี้ อีกเดี๋ยวคงมีชะตากรรมไม่ต่างจากซุ้มประตูในซีเรีย หรือของในพิพิธภัณฑ์บราซิล ที่พร้อมจะหายไปในชั่วข้ามคืน

แต่คงจะดีถ้าเราได้เก็บบันทึกไว้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในตอนที่มันยังอยู่ เด็กที่เกิดในอนาคตจะได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ของเขาหน้าตาเป็นแบบไหน ไม่ว่าจะด้วยภาพถ่าย โมเดลสามมิติ คลิปเสียง หรือเสมือนเข้าไปเดินเล่นข้างในได้อีกครั้งด้วย Virtual Reality

อ้างอิง

https://www.forbes.com/sites/kristinakillgrove/2018/09/05/heres-how-you-can-help-document-rios-national-museum-collections-after-the-catastrophic-fire/#364226593dac

https://www.wired.co.uk/article/palmyra-arch-london-pictures-monument-syria

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save