ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
ในการเริ่มต้นเรียนเรื่องใด ต้องสอนคนเรียนให้รู้ ก. รู้ ข. ก่อน ว่าสิ่งนี้มีลักษณะอย่างไร ต่างกับสิ่งนั้นตรงไหน เพื่อให้คนเรียนรู้ความแตกต่างชัดและจัดจำแนกเป็น บางทีก็ใช้เวลานานพอดูกว่าจะทำให้คนที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าใจได้ละเอียดลออ
เช่น เข้าใจพิจารณาสงครามว่ามีความหมายต่างจากการต่อสู้ที่ใช้กำลังแบบอื่นๆ ตรงไหน การสงครามแบบไหนจัดว่าเป็นการป้องกันตัวเอง แบบไหนไม่ใช่แต่ถือเป็นการรุกราน การชิงลงมือก่อนแตกต่างจากการป้องกันภัยล่วงหน้าตรงไหน และการชิงใช้กำลังลงมือก่อนแบบไหนที่จัดเป็นการป้องกันตัวเอง หรือการทำสงครามเพื่อป้องกันภัยล่วงหน้าแบบไหนที่จัดเป็น ‘committing suicide for fear of death’
คนเรียนที่มีความอดทนไม่มากนัก หลายคนจะเบื่อเสียตั้งแต่ด่านแรกนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาอาจยังไม่ตระหนักว่าเกมการเรียกอะไรว่าอะไร จัดอะไรว่าเป็นอะไรหรืออะไรไม่ใช่อะไรแบบนี้ ถ้าหากเขาไม่เล่นกับคนอื่น ก็จะมีคนอื่นนำมาเล่นกับเขาไปตลอดชีวิต
รวมทั้งอาจยังไม่ได้ตระหนักว่าเราเข้าหาความเป็นจริงด้วยคำ และเก็บรับประสบการณ์ออกมาจากการเข้าหาความเป็นจริงนั้นก็ด้วยคำ
เมื่อทำให้คนเรียนเห็นและแยกออกระหว่างสิ่งนี้กับสิ่งนั้นและไม่ใช่สิ่งนั้น จนได้ความเข้าใจชัดแล้ว ขั้นต่อไปคือทำให้คนเรียนไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในถ้อยคำแนวคิดที่นำมาใช้เรียกหรือบ่งลักษณะความจริงอย่างเถรตรงตายตัว ว่าการจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างนี้ ด้วยคำๆ นี้หรือด้วยแนวคิดตามความหมายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีลักษณะตามความหมายของคำนั้นหรือแนวคิดนั้นเท่านั้น ไม่อาจมีลักษณะหรือองค์ประกอบอย่างอื่นได้อีกเลย หรือไม่อาจจัดความหมายให้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วยคำอื่นหรือแนวคิดอื่นใดได้อีกแล้ว
เช่น ไม่เข้าไปยึดถือว่าสงคราม อันเป็นคำที่เราใช้เรียกสถานการณ์ความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ว่าต้องเป็นแบบนี้แบบนี้อย่างตายตัว เพราะในความเป็นจริงมีทั้งสงครามที่ไม่ใช่สงคราม แต่ใช้สงครามมาเป็นความเปรียบเพื่อให้คำว่าสงครามสร้างประกายแสงสีเสียงพิเศษให้แก่กิจกรรมที่จะทำ และมีที่เป็นการตั้งใจทำสงครามจริงๆ แต่คนที่รบสงครามเลี่ยงที่จะไม่เรียกว่าเป็นสงครามก็มี
และเอาเข้าจริงแล้ว คำที่ใช้จัดลักษณะหรือเรียกถึงสิ่งนั้นหรือสิ่งไหน มันบอกเพียงบางส่วนของความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้น และคำๆ นั้นเอง ความหมายของมันก็ไม่คงที่อยู่นิ่ง หรือมิเช่นนั้น ก็มีความพยายามที่จะเรียกปรากฏการณ์หรือความจริงแบบเดียวกันนั้นด้วยคำอื่นๆ อีก ที่ให้ความหมายและนัยเชิงคุณค่าแตกต่างออกไปจากคำที่เคยใช้อยู่ ความเป็นจริงจึงเป็นของที่ยากจะจับให้มั่นคั้นให้นิ่งอยู่ได้ด้วยความหมายของคำหรือแนวคิดใดแนวคิดเดียว แต่เราก็ต้องหาคำหรือแนวคิดมาจับความเป็นจริง
ยกตัวอย่างสักเรื่อง
ก่อนหน้าการประชุมอาเซียนที่กรุงเทพฯ ได้เกิดวิวาทะเล็กๆ ระหว่างสิงคโปร์ฝ่ายหนึ่ง กับเวียดนามและกัมพูชาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัยระลึกถึงพลเอกเปรม และกล่าวถึงความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในการต่อต้านเวียดนามที่บุกรุกรานกัมพูชา ผู้นำกัมพูชาและเวียดนามประท้วงทันที เพราะผู้นำกัมพูชาปัจจุบันและเวียดนามจับความเป็นจริงของเหตุการณ์นี้ด้วยแนวคิดการปลดปล่อยให้พ้นจากการทารุณกดขี่ในระดับที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ
คำอีกคำหนึ่งที่เวียดนามอาจใช้เรียกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ใช้ในเวลานั้นในการสู้กับอาเซียนบนเวทีระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ คือคำว่าการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม เพราะแนวคิดนี้เพิ่งมาได้รับความสำคัญและได้รับการพัฒนาให้มีความชัดเจนในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศก็ภายหลังจากที่เวียดนามตัดสินใจถอนตัวจากกัมพูชาไปแล้ว ในแง่นี้คำว่า ‘การแทรกแซง’ จึงเป็นคำมีประวัติและมีการคลี่คลายความหมายในทางปฏิบัติระหว่างประเทศเป็นลำดับมา ไม่ได้เป็นคำที่หยุดอยู่นิ่งๆ
กลับมาที่อาเซียน วิวาทะที่ปะทุขึ้นมานี้สะท้อนว่าประวัติศาสตร์อาเซียนฉบับทางการ อาจต้องข้ามเรื่องที่ช่วยสร้างความร่วมแรงร่วมใจกันได้มากที่สุดระหว่างประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้ง 5 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสมาชิกทั้ง 10 ในปัจจุบันจะตกลงกันได้เป็นเอกฉันท์ตามวิถีอาเซียนว่าจะเรียกการใช้กำลังของเวียดนามในกัมพูชาตั้งแต่ปลายปี 1978 ด้วยคำหรือแนวคิดใด ในความหมายอย่างไร
ในขั้นต่อมา คำที่เราใช้เรียกสิ่งที่เห็น เช่น สีแดง กับสีแดงที่ปรากฏให้ตาเราเห็น แดงประการหลังนั้นมีพิสัยความเป็นไปได้ต่างๆ มากมาย จนเราต้องพิจารณาว่าที่เรียกว่าอะไรแดง ไม่ใช่ในลักษณะที่จะแดงเหมือนกันแบบเดียวกันหมดทุกสิ่ง สิ่งที่เราจัดว่าเป็นสีแดง สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้แดงเหมือนกันเสียทีเดียว และมันก่อผลแตกต่างกันได้มาก
โดยเหตุนี้ คนสอนจึงต้องพาคนเรียนทำความเข้าใจความหมายของแดง หรือคำใดๆ ที่ใช้เรียก ที่ใช้บ่งหมายคุณลักษณะคุณสมบัติ ให้รู้เข้าใจในเชิงความคล้ายคลึงกันระหว่างสมาชิกครอบครัวเดียวกัน ที่เรียกว่า family resemblance หรือให้เห็นถึงพิสัยความเป็นไปได้ที่คนต่างๆ จะเลือกผสมสีแดงออกมาต่างกัน หรือเลือกองค์ประกอบบางอย่างที่มีอยู่ในจำพวกนั้นมาผสมใช้ให้เกิดผลอย่างที่ปรารถนา
ต่อไป เมื่อคนเรียนไปพบกับคำกินนัยคลุมพิสัยความเป็นได้กว้างขวาง อย่าง smart casual เขาจะได้นึกถึงความหมายที่ไม่ใช่เป็นการตีกรอบ แต่เป็นความหมายในเชิงทางเลือกที่ได้มาจากการรู้จักผสมคุณลักษณะ ที่แม้จะใกล้เคียงจนจัดอยู่ในหมู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่เมื่อจับผสมแต่งออกมาได้ต่างๆ กันแล้ว ก็ดูโก้ เก๋ไก๋ หรือแก่ แตกต่างกันได้มาก
พ้นจากขั้นนี้ขึ้นไป คือการพาคนเรียนให้สังเกตคำต่างๆ ที่อยู่รายล้อมกันหรือพ่วงพาชักนำกันมา คำๆ หนึ่ง หรือแนวคิดหนึ่ง ยืนอยู่โดยลำพังไม่ได้ มันจะแสดงความหมายในทางบวกหรือลบ สูงส่งหรือแสนทราม ก็โดยอาศัยพลังจากคำอื่นๆ ที่พ่วงพามาประกอบกันเข้าเพื่อสร้างผลส่งความหมายให้กัน
‘อารยธรรม’ เป็นคำดีไหม? ยังบอกไม่ได้ถนัดจนกว่าจะเห็นการปรากฏของมันท่ามกลางคำสำคัญอื่นๆ ว่ามันประกอบอยู่กับคำกลุ่มไหน และคำทั้งกลุ่มนั้นช่วยสร้างผลส่งความหมายของมันให้จัดความสัมพันธ์ระหว่างใครหรือระหว่างอะไร ด้วยคุณค่าแบบไหนขึ้นมา หรือเรียกร้องให้เราต้องรับ หรือจับตาเฝ้าระวังอันตราย หรือเข้าไปสัมพันธ์กับมันอย่างไร
‘อารยธรรม’ ที่แวดล้อมด้วยคำ ตะวันตก มาตรฐาน ความเจริญ ความเป็นสากล ความป่าเถื่อนล้าหลัง การปรับตัว ครอบครัวประชาชาติ คำสำคัญเหล่านี้ย่อมจัดความหมายให้ ‘อารยธรรม’ อย่างมีนัยแตกต่างจาก ‘อารยธรรม’ ที่ปรากฏท่ามกลางแวดล้อมของคำอีกกลุ่ม เช่น เหยียดผิว นอกรีต มิจฉาทิฐิ การกดขี่ อาณานิคมทางปัญญา ปฏิปักษ์ ปะทะ
เมื่อคนเรียนรู้พิจารณาอย่างนี้แล้ว ขั้นต่อไปคือการพาพวกเขาให้สังเกตกลุ่มคำที่ผูกอยู่ด้วยกัน เพื่อทำงานสร้างส่งความหมายออกมาเป็นปทัสถาน ศีลธรรม กฎ อำนาจ หรือสิทธิ ที่หนุนหลังข้อเสนอ คำสั่ง คำประกาศ คำมั่นสัญญา พันธะกรณี ฯลฯ ที่ประกอบขึ้นมาด้วยคำอีกเช่นกัน
โดยเหตุที่คำมันไม่ใช่ตัวความจริง เป็นเพียงสิ่งที่กำหนดขึ้นสำหรับใช้ระบุสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง หรือใช้เรียกแทนสภาวะนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ คนเรียนจึงต้องฝึกสังเกตให้ดีว่าในคำที่ประกอบกันและกันขึ้นมา มันกำลังระบุหรือเรียกความเป็นจริงตามสภาพแบบไหนออกมา ควรรับมันว่าเป็นความจริงเพียงใด และในเงื่อนไขหรือด้วยเกณฑ์อะไร
ความจริงที่เข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงไม่ได้ทั้งหมด คำที่ใช้เรียกความเป็นจริงเท่าที่เข้าถึงได้ ผลในทางปฏิบัติการจากการใช้คำ และจากคำที่ต่างฝ่ายต่างใช้เรียกความเป็นจริงเหล่านั้น จึงสร้างความอลหม่านขึ้นไม่น้อย ทั้งในการรับรู้ ในความหมายความเข้าใจ และในอารมณ์ความรู้สึก เราทั้งหลายที่เคลื่อนไหวใช้ชีวิตในโลกที่พบกับความจริงได้บ้างไม่ได้บ้าง และที่พบก็จริงบ้างไม่จริงบ้างอยู่เสมอนี้ จึงต้องเจอกับความท้าทายในการใช้ถ้อยคำจัดการกับความจริงและโลกของความเป็นจริงเสมอมา