fbpx
เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม กับเกมการตีความประวัติศาสตร์จีน

เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม กับเกมการตีความประวัติศาสตร์จีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

เชื่อไหมครับว่า เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ‘4 พฤษภาคม 1919’ ซึ่งครบรอบ 100 ปีในปีนี้ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนในคราเดียว

4 พฤษภาคม 1919 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ในตอนนั้นนักศึกษาจีนราว 3,000 คน รวมตัวกันประท้วงความอ่อนแอของรัฐบาล เหตุเพราะรัฐบาลยอมโอนอ่อนตามมหาอำนาจในการประชุมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนส่งผลให้ญี่ปุ่นมีสิทธิเหนือมณฑลซานตง รับช่วงต่อจากเยอรมันที่แพ้สงคราม แทนที่จะให้มณฑลซานตงกลับคืนสู่จีน

การประท้วงดังกล่าวนำไปสู่การเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ เพราะวัฒนธรรมเก่าหรือวัฒนธรรมแบบขงจื๊อเป็นต้นเหตุของความล้าหลัง วัฒนธรรมใหม่ที่จีนต้องการ ได้แก่ นายประชาธิปไตย (Mr.Democracy) และนายวิทยาศาสตร์ (Mr.Science)

เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 จึงมีความซับซ้อนอยู่ในตัวเอง เพราะเป็นการต่อต้านจารีตเก่าของจีนและต่อต้านมหาอำนาจตะวันตกไปพร้อมกัน ภายใต้รากฐานความคิดเช่นนี้ สุดท้ายจึงมีกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งริเริ่มศึกษาความคิดมาร์กซิสต์ ซึ่งตอบโจทย์ครบถ้วน คือเป็นความคิดของตะวันตกที่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เอา ขณะเดียวกันก็เป็นความคิดที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คติความเชื่องมงายแบบโบราณอย่างจีน

100 ปีผ่านไป สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ปัญญาชนจีนในต่างกลุ่มเลือกตีความเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 แตกต่างกัน ชวนให้คิดทบทวนว่า เราควรถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้อย่างไร?

ปัญญาชนฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลือกตีความว่า หัวใจหลักของเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 คือจิตวิญญาณชาตินิยม ที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม (มหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น) และศักดินานิยม (ระบบจารีตเก่าที่ทำให้จีนอ่อนแอ) ซึ่งมีเป้าหมายหลักให้จีนเป็นชาติที่แข็งแกร่งและคนในชาติมีวัฒนธรรมความคิดที่ไม่งมงาย เมื่อตีความเช่นนี้ การคงความศรัทธามั่นคงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้วางแบรนดิ้งตัวเองเป็นพรรคชาตินิยมเต็มตัว พร้อมที่จะพาจีนกลับสู่ความยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง จึงกลายเป็นทางเลือกในปัจจุบัน!

เพราะเหตุนี้ไม่แปลกที่เราจะเห็นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงออกมาจัดงานฉลองยิ่งใหญ่และกล่าวสุนทรพจน์ในวาระครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 โดยเน้นย้ำว่าเหตุการณ์นี้เป็นต้นกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งยังโหมจิตวิญญาณความรักชาติและปลุกความปรารถนาที่จะให้ชาติจีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ขณะที่อีกฝ่าย ปัญญาชนที่ต่อต้านแนวทางปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตีความหัวใจหลักของเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ไว้ว่า เป็นจิตวิญญาณเสรีที่จะต่อต้าน ตั้งคำถามกับอำนาจหรือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมที่จะทบทวนตัวเองและแสวงหาทางเลือกใหม่ เพราะหัวใจของวัฒนธรรมประชาธิปไตยและวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์คือการถกเถียงเรียนรู้ เปี่ยมด้วยความสงสัยไม่แน่ใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ยอมรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยอมให้มีพื้นที่สำหรับความเห็นต่าง

วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1989 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนรุ่นใหม่ในจีนตอนนั้นจึงพากันออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปราบผู้ชุมนุมเทียนอันเหมินอันลือลั่น ซึ่งยังคงเป็นเหตุการณ์และประเด็นต้องห้ามที่จะพูดถึงในจีนจนปัจจุบัน

อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจและควรเน้นย้ำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ก็คือ กระแสในอดีตที่เรียกร้องให้ปฏิวัติวัฒนธรรมความคิดของคนในชาติอย่างถอนรากถอนโคนนั้น ทำให้ปัญญาชนจีนในวันนี้เริ่มทบทวนว่า แท้จริงแล้วการถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมเก่าเป็นคุณมากกว่าโทษ หรือเป็นโทษมากกว่าคุณกันแน่?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 อยู่ที่การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนระบบการปกครองหรือเปลี่ยนรัฐบาลอย่างผิวเผิน หากแต่เป็นการเรียกร้องให้คนทั้งชาติเปลี่ยนค่านิยมพื้นฐานในระดับฐานราก จากค่านิยมเก่ายุคโบราณมาเป็นค่านิยมใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นรากฐานสำคัญให้จีนกลายเป็นสังคมที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และทำให้คำว่า ‘ความเป็นสมัยใหม่’ (modernity) กลายเป็นเป้าหมายสำคัญทางการเมืองของจีนตราบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนจีนบางส่วนมองว่าการถอนรากเหง้าของชาติอย่างสุดโต่งเป็นความผิดพลาดสำคัญของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น ในด้านหนึ่ง การถอดรื้อจารีตเก่าของขงจื้อทำให้จีนขาดอัตลักษณ์ที่หลอมรวมชาติ ขณะเดียวกันความคิดค่อนไปทางหัวรุนแรงที่ต้องการถอนรากถอนโคนสิ่งเก่าทั้งหมดก็ส่งผลให้จีนเกิดความวุ่นวายต่อเนื่องยาวนานด้วย

อาจารย์ของผมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจจะไม่ต้องจมทุกข์เกือบ 100 ปี ถ้าในช่วงปลายราชวงศ์ชิง จักรพรรดิและชนชั้นนำจีนเปิดรับการปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะทำให้จีนมีเอกภาพ คงอัตลักษณ์หลอมรวมชาติ พร้อมกันนั้นก็ยังก้าวเดินไปข้างหน้าโดยไม่ติดกับดักโลกยุคเก่า

เวลาต่อมา สังคมจีนยังต้องเผชิญความโหดร้ายและความวุ่นวายในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตง (ค.ศ.1966-1976) ซึ่งเหมาเจ๋อตงย่อมได้รับแนวคิดปฏิวัติถอดรื้อวัฒนธรรมความคิดมาจากเหตุการณ์ 4 พฤษภาคมในอดีต

แม้แต่ในปัจจุบันเองก็ดูเหมือนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ครั้งหนึ่งเคยต้องการล้มล้างแนวคิดขงจื๊อ จะกลับมาเลือกข้างขงจื๊อ โดยพยายามตีความขงจื๊อในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสมานฉันท์ของสังคมเพื่อรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ ในขณะเดียวกัน ปัญญาชนหัวก้าวหน้าบางส่วนก็พยายามตีความแนวคิดของขงจื๊อในทางที่เสรีนิยมมากขึ้น

ปัญญาชนหัวก้าวหน้าหลายคนในจีนยังหวังว่าแนวทางการเปลี่ยนแปลงจีนไม่จำเป็นต้องเกิดการปฏิวัติล้มพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ต้องพยายามส่งเสริมและผลักดันให้พรรคคอมมิวนิสต์เปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางเสรีนิยมมากขึ้นต่างหาก (แนวคิดนี้ดูไม่มีวี่แววจะเป็นจริงได้ในยุคสีจิ้นผิง ซึ่งจีนเปลี่ยนไปในทางอำนาจนิยมและปิดกั้นทางความคิดมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก)

นี่แหละครับ เมื่อเราทบทวนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความคิดขงจื๊อหรือความคิด 4 พฤษภาคม ล้วนมีความซับซ้อนในตัวเอง เปิดให้เราต้องเลือกตีความในทางที่สร้างสรรค์และเป็นคุณแก่สังคมในการเดินหน้าต่อไป

โลกเราไม่ได้มีทางเลือกอยู่แค่ จะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ จะล้มล้างของเดิมหรือจะคงอยู่ในโลกเก่า แท้จริงแล้วเราสามารถเลือกการปฏิรูปไปข้างหน้า หรือเลือกที่จะมองหาคุณค่าใหม่ในสิ่งเก่าก็ได้

ทุกการตีความจึงเป็นการต่อสู้ และทุกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จึงมีทางเลือกหลากหลายในการถอดบทเรียน

ในอนาคต เมื่อเลือกทางเดินที่เปลี่ยนไป เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ก็พร้อมจะมีความหมายใหม่เสมอ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save