fbpx
รสและรักและรอยรำลึก 'สูทไส้กรอก' (Die Entdeckung der Currywurst)

รสและรักและรอยรำลึก ‘สูทไส้กรอก’ (Die Entdeckung der Currywurst)

ผมมีนิยายเรื่อง ‘สูทไส้กรอก’ ไว้ในครอบครองตั้งแต่แรกพิมพ์ออกมาในปี 2557 ทว่าเพิ่งอ่านจบเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ใช่เพราะ ‘ดอง’ ไว้นานจนลืมหรอกนะครับ แต่เพราะทุกครั้งที่หยิบอ่าน พอผ่านตาไปได้ไม่กี่ย่อหน้าเริ่มต้น นิสัยเคยชินในการคาดคะเนล่วงหน้า ทำให้รีบด่วนสรุป (ผิดๆ) ว่า คงจะเป็นนิยายใสๆ เบาๆ เกี่ยวกับการตามรอยอาหารชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า ไส้กรอกกะหรี่ จนขาดแรงดึงดูดให้อ่านต่อจนจบ และกลายเป็นเหตุให้ผมรู้จักกับงานเขียนชั้นดีเรื่องนี้ช้านานเกินกว่าที่ควรไปหลายปี

ที่บอกว่าผมเข้าใจผิดนั้น พูดให้ถูกต้องถ่องแท้คือเป็นความเข้าใจถูกและผิดปนกันนะครับ นิยายเรื่องนี้เปิดฉากและมีจุดหมายปลายทางว่าด้วยการมุ่งหาต้นกำเนิดของไส้กรอกกะหรี่ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดให้คืบหน้า ดังเช่นที่คาดไว้ทุกประการ เพียงแต่คำตอบคำเฉลยทั้งหมดนั้น ทั้งอ้อมค้อมทั้งเฉไฉ เบนเบี่ยงเลี่ยงไกลสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง (ซึ่งไม่มีอันใดเฉียดใกล้กับ ‘นิยายใสๆ เบาๆ’ ที่ผมเดาล่วงหน้าเลยสักนิด) จนเกือบจะเหมือนกับการถามอย่างหนึ่ง ตอบอย่างหนึ่ง ราวกับคุยกันคนละเรื่อง

จนกระทั่งอ่านจบครบถ้วนนั่นแหละ ผู้อ่านจึงค่อยเกิดความกระจ่างและเข้าใจว่า ทำไมคำถามง่ายๆ จึงต้องตอบอย่างยืดยาว และเฉไฉวกวนเป็นอื่นไกล

พูดอีกแบบ คำถามถึงที่มาการถือกำเนิดของไส้กรอกกะหรี่นั้น สามารถตอบสั้นๆ ง่ายๆ ได้เลยทันที แต่ก็จะได้ผลลัพธ์จืดชืดไม่เป็นรส เป็นเพียงเหตุการณ์ยิบย่อยเบ็ดเตล็ดที่ไม่มีอะไรสลักสำคัญและไร้ความน่าสนใจโดยสิ้นเชิง

ตรงกันข้ามกับเมื่อมี ‘เรื่องเล่า’ แนบผนวก การถือกำเนิดของอาหารข้างถนนชนิดหนึ่งกลับกลายเป็นการนำพาไปสู่เรื่องรักที่ซาบซึ้งตรึงใจ และเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญของเยอรมนีอย่างแนบแน่น

‘สูทไส้กรอก’ (Die Entdeckung der Currywurst) หรือชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า The Invention of Curried Sausage เป็นนิยายปี 1993 (และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1995) เขียนโดยอูเว ทิมม์ (Uwe Timm)       

งานเขียนชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ เป็นหนังสือขายดีติดอันดับในเยอรมัน และได้รับคำวิจารณ์ในทางชื่นชมอย่างท่วมท้นล้นหลาม

พล็อตคร่าวๆ เล่าผ่านมุมมองของ ‘ผม’ (ซึ่งผู้อ่านไม่ทราบชื่อเสียงเรียงนามและรู้เรื่องราวในชีวิตของเขาเพียงน้อยนิด) ผู้มีความชื่นชอบโปรดปรานไส้กรอกกะหรี่ (Currywurst) ของคุณบรึคเคอร์ ที่แผงขายอาหารบริเวณโกรสนอยมาร์ค ลานกว้างในเขตท่าเรือมาตั้งแต่เด็กจนโต กระทั่งโยกย้ายไปอยู่ต่างเมือง ทุกครั้งที่มีโอกาสกลับมายังฮัมบูร์ก ‘ผม’ ก็มักจะแวะเวียนมาอุดหนุนเป็นประจำ

จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณบรึคเคอร์ก็เลิกกิจการ เพราะอายุขัยและสังขารไม่เอื้ออำนวย ไม่นานต่อมา ‘ผม’ ก็เกิดปัญหาคาใจจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับใครต่อใคร ถึงการถือกำเนิดของไส้กรอกกะหรี่ อาหารที่แพร่หลายได้รับความนิยมในหลายเมืองของเยอรมัน

“คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าไส้กรอกกะหรี่จะเป็นของที่ใครสักคนคิดค้นขึ้นมาได้ และแถมยังเป็นคนที่ยันยันว่ามีตัวตนได้อีก น่าจะเป็นเหมือนนิยาย นิทาน เทพนิยาย ตำนาน ซึ่งเป็นผลิตผลที่มีคนมากมายร่วมกันสร้างขึ้นมากกว่า”

‘ผม’ มีความเชื่อในส่วนลึกว่าคุณบรึคเคอร์คือผู้คิดค้นอาหารดังกล่าว จึงตระเวนสอบถามคนในครอบครัว เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ทั้งเรื่องการถือกำเนิดของไส้กรอกกะหรี่และหลักแหล่งที่อยู่ปัจจุบันของคุณบรึคเคอร์ จนต้องไปสืบเสาะจากสำนักทะเบียนราษฎร และทราบว่าเธอพำนักอยู่ในบ้านพักคนชราของทางการแห่งหนึ่งในแขวงฮาร์บวร์ก และกลายเป็นคนตาบอด

นับจากนั้นมา ‘ผม’ ก็แวะเวียนไปเยี่ยมคุณบรึคเคอร์หลายครั้งหลายครา สอบถามข้อข้องใจ และได้รับคำตอบยืนยันเบื้องต้นว่า “ใช่ เธอพูด ถูกแล้ว แต่พวกคนที่นี่ไม่มีใครยอมเชื่อฉัน มีแต่คนหัวเราะเวลาฉันเล่า พวกนั้นหาว่าฉันเพี้ยน เดี๋ยวนี้ฉันก็เลยไม่ค่อยได้ลงไปข้างล่างโน่นแล้ว ใช่แล้ว เธอพูด ฉันเป็นคนคิดค้นไส้กรอกกะหรี่ขึ้นมาเอง”

อย่างไรก็ตาม คำบอกเล่าของคุณบรึคเคอร์ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา “ผมไปที่แขวงฮาร์บวร์กเจ็ดครั้ง…เจ็ดครั้งที่ผมต้องฝึกให้ตัวเองรู้จักอดทน…เธอเล่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้ทีละน้อย ยืดตอนจบออกไปเรื่อยๆ ลำดับเรื่องสลับไปมาอย่างห้าวหาญ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นนอกจากต้องเลือกเฟ้น ปรับให้ราบเรียบ โยงเชื่อม และตัดต่อ”

ใจความหลักของนิยายเรื่อง ‘สูทไส้กรอก’ คือเรื่องเล่าจากปากคำของคุณบรึคเคอร์ (ผ่านการขัดเกลาตกแต่งโดย ‘ผม’) รำลึกย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1945 ช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบสิ้นลงในเยอรมัน

เลนา บรึคเคอร์ หญิงวัย 43 ได้พบกับทหารเรือหนุ่มวัย 24 ชื่อแฮร์มัน เบรเมอร์ ระหว่างทั้งคู่กำลังเข้าคิวรอซื้อตั๋วที่หน้าโรงหนัง และรู้จักกันโดยความบังเอิญ เมื่อเป้สนามของเขาไปโดนตัวเธอ (หลังจากนั้นไปจนจบ ตลอดทั่วนิยายเต็มไปด้วยเหตุบังเอิญเล็กๆ น้อยๆ ทำนองนี้ ปรากฎเกิดขึ้นอย่างน่าทึ่ง และส่งผลต่อชะตากรรมและการตัดสินใจสำคัญๆ อีกทั้งมีผลต่อความเป็นไปในชีวิตของตัวละครทั้งคู่มากมายมหาศาล)

ค่ำคืนนั้นเลนากับเบรเมอร์กลับมายังห้องพักของฝ่ายหญิง เช้าวันต่อมา ในเสี้ยวเวลาบางๆ เพียงชั่ววูบที่เบรเมอร์ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการจากลาเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับคำสั่ง กับการอ้อยอิ่งอยู่ต่อ ชายหนุ่มเลือกอย่างหลัง ส่งผลให้เขากลายเป็นทหารหนีทัพไปในฉับพลัน และต้องใช้เวลาที่เหลือถัดจากนั้นซ่อนตัวอยู่ในห้องพักของเธอ จนเกิดเรื่องราวความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง

‘สูทไส้กรอก’ เป็นนิยายที่อ่านสนุกชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ความบันเทิงไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่องหวือหวาโลดโผน หรือเกิดเหตุพลิกผันหักมุมใดๆ ทั้งสิ้น ตรงกันข้ามเรื่องเล่าทั้งหมดนำเสนออย่างราบเรียบ แทบจะไม่มีการเร้าอารมณ์ (ทั้งที่เงื่อนไขความขัดแย้งและหลายๆ สถานการณ์ในเรื่อง เอื้ออำนวยให้บีบคั้นสร้างความสะเทือนใจอย่างหนักหน่วง)

มี 2 ปัจจัยหลักๆ ที่อูเว ทิมม์ หยิบนำมาใช้ตรึงความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านจนอยู่หมัด อย่างแรกคือ คำตอบเกี่ยวกับการถือกำเนิดของไส้กรอกกะหรี่ อย่างต่อมาคือ การผูกปมความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอกทั้งสองผ่านสถานการณ์ห้อมล้อมไม่ปกติ กระทั่งคาดเดายากว่าจะคลี่คลายลงเอยเช่นไร (และเมื่อถึงตอนที่มันเกิดขึ้น ก็เป็นไปอย่างง่ายดายและธรรมดาเหลือเกิน เช่นเดียวกับจุดกำเนิดของไส้กรอกผงกะหรี่)

นอกจากจังหวะลีลาการดำเนินเรื่องที่ทำให้เหตุการณ์เรียบง่าย สะกดตรึงชวนติดตามแล้ว ชั้นเชิงการเล่าราบเรียบ (แต่ฉลาดเป็นกรด) ยังส่งผลให้งานเขียนชิ้นนี้ครบรส ทั้งเร้าใจ น่าสะพรึงกลัว หม่นเศร้า ซาบซึ้ง และโรแมนติกตราตรึงจับใจ

‘สูทไส้กรอก’ มีความปนซ้อนที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน ระหว่างความเป็นนิยายรักและนิยายสะท้อนภาพบรรยากาศในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำหนักของทั้งสองส่วนนี้โดดเด่นเท่าเทียม และมีลักษณะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

พ้นจาก ‘อารมณ์ประทับใจ’ อันเปรียบเหมือนอาหารจานอร่อยที่มีรสชาติเฉพาะตัวแล้ว ผมคิดว่าจุดเด่นสำคัญของ ‘สูทไส้กรอก’ จำแนกกว้างๆ ออกได้เป็น 2 ส่วน คือท่วงทีลีลาในการเขียน และเนื้อหาสาระทางกว้างทางลึกที่นำเสนอออกมา

‘สูทไส้กรอก’ ใช้แบบแผนวิธี ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ คือเรื่องเล่าของ ‘ผม’ นำพาไปสู่เรื่องเล่าของคุณบรึคเคอร์

ในทางวรรณกรรม (รวมถึงศิลปะแขนงอื่นอย่าง ภาพยนตร์หรือละครเวที) ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ ไม่ใช่เทคนิควิธีที่แปลกใหม่ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่ความพิเศษของ ‘สูทไส้กรอก’ ก็คือ การทำให้เรื่องเล่าสองชั้นนี้ มีทั้งการแยกออกจากกันอย่างเด่นชัด (ตัวอย่างเช่น ในเรื่องเล่าของ ‘ผม’ ใช้สรรพนามเรียกขานว่าคุณบรึคเคอร์ ขณะที่ในเรื่องเล่าผ่านมุมมองของหญิงชรา ใช้สรรพนาม เลนา บรึคเคอร์) ขณะเดียวกันก็มีมากมายหลายแห่งเกินกว่าจะนับได้ถ้วน ที่เรื่องเล่าทั้งสองมุมมองสองตัวละคร เหลื่อมซ้อนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นเรื่องเล่าผ่านปากคำของใคร (ตรงนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง ที่นิยายเรื่องนี้เขียนบทสนทนาทั้งหมด โดยไม่ใช้เครื่องหมายคำพูดกำกับ)

ตามความเข้าใจของผม ช่วงจังหวะที่ผู้เล่าเรื่องทั้งสองเหลื่อมซ้อนหรือหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำหน้าที่หลายประการ คือย้ำเตือนถึงความเป็น ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ และการเข้าที่ ‘ผม’ เข้าไปปรุงแต่งจัดระเบียบให้แก่เรื่องเล่าของคุณบรึคเคอร์

ลักษณะเฉพาะตัวถัดมาของ ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ ที่ไม่เหมือนใครในนิยายเรื่องนี้ก็คือ ภายในเนื้อความย่อหน้าเดียวกัน เกิดการสลับข้ามเวลาจากอดีตกับปัจจุบันอย่างฉับพลัน เหมือนขัดจังหวะบทสนทนาที่กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น ตรงนี้เป็นทั้งการเปิดโอกาสให้ตัวละครในปัจจุบันมองย้อนหลังแสดงทัศนะต่อการกระทำในอดีต เป็นทั้งการสร้างจังหวะ เพื่อเปลี่ยนฉากจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นทั้งการทำหน้าที่ตัวแทนผู้อ่าน พูดหรือไต่ถามในแง่มุมที่กำลังนึกสงสัย

รวมถึงทำหน้าที่เร่งเร้าสร้างจุดสนใจ ทำให้เรื่องเล่าอันราบเรียบออกรสชวนติดตาม

บทบาทหน้าที่สำคัญอีกประการระหว่างการแบ่งแยกออกเป็นเรื่องเล่าของ ‘ผม’ และเรื่องเล่าของคุณบรึคเคอร์ก็คือ อย่างแรกทำหน้าที่เล่าประวัติชีวิตในด้านกว้างของหญิงชรา ทั้งก่อนหน้าและหลังจากเนื้อเรื่องหลัก เป็นการบอกกล่าวคร่าวๆ ผิวเผิน ขณะที่ส่วนหลัง เป็นเรื่องเล่าอย่างละเอียดลออถี่ถ้วนในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ไม่กี่วัน

วิธีการเขียนอันแพรวพราวและน่าทึ่งใน ‘สูทไส้กรอก’ เป็นสิ่งที่ผมมาจับสังเกตได้จากการอ่านรอบที่สองนะครับ ตอนอ่านครั้งแรกความสนใจนั้นเพ่งเล็งไปที่เนื้อเรื่อง จนไม่ทันได้เห็นอะไร

ในแง่นี้ ‘สูทไส้กรอก’ มีความพิเศษอีกข้อ คือรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้วก็ยังสามารถอ่านซ้ำได้ และสนุกไปอีกแบบ (สำหรับผู้อ่านที่สนใจศึกษาในเรื่องเทคนิควิธีการเขียน) แต่ด้านบวกของการจับสังเกตเทคนิควิธีการเขียน ก็คือการค้นพบความรัดกุมในการเล่าเรื่อง การสร้างความเป็นเหตุและผล และที่สำคัญคืออารมณ์สะเทือนใจในแบบที่แตกต่างจากการอ่านเที่ยวแรก ซึ่งไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไป

สรุปสั้นๆ คือเป็นเทคนิคและทักษะการเล่าเรื่องแบบ ‘เล่นท่ายาก’ แต่นำเสนอให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย ที่เก่งและร้ายกาจเหลือหลาย

จุดเด่นถัดมาคือ ท่ามกลางเรื่องเล่าทั้งหมด นิยายเรื่องนี้พาผู้อ่านไปสัมผัสกับสภาพและบรรยากาศชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนธรรมดาสามัญในช่วงบั้นปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้นได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เห็นภาพคล้อยตามเป็นจริงเป็นจัง และควรเน้นย้ำด้วยว่า ‘อย่างมีชั้นเชิง’

พูดอีกแบบคือ แง่มุมความเป็นไปทางสังคมนี้ ไม่ได้บอกเล่าแบบขับเน้นโดยตรง ตลอดทั่วทั้งนิยายมุ่งสะท้อนรายละเอียดชีวิตประจำวันอันสุดแสนจะปกติ (ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ) ของเลนา บรึคเคอร์ จำพวกว่าเธอทำงานที่ไหน ทำงานอะไร กินอะไรเป็นอาหารในแต่ละมื้อ ไปไหนมาไหนบ้างในแต่ละวัน และเมื่อกลับมายังห้องพัก เธอกับเขาทำอะไรกัน คุยอะไรกัน

แต่ท่ามกลางรายละเอียดที่เหมือนไดอารีบอกเล่าชีวิตประจำวัน ชิ้นส่วนเล็กๆ และเศษเสี้ยวจำนวนมากของเหตุการณ์ใหญ่ระดับชาติ ก็แทรกปนปรากฎแซมมาอยู่ตลอดเวลา ผ่านสิ่งที่ตัวละครมองเห็น ได้ยิน ได้ฟัง รวมทั้งจากผลกระทบที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่

โดยวิธีเช่นนี้ นิยายรักเช่น ‘สูทไส้กรอก’ จึงสะท้อนภาพความโหดร้ายของสงครามในหลายๆ แง่มุมเคียงข้างไปด้วยตลอดเวลา ตั้งแต่สภาพบ้านเมืองที่เสียหายยับเยิน, ความขัดสนปัจจัยยังชีพ (“ถึงมีเงินอยู่ในมือ แต่ผู้คนก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้สอยซื้อหาอะไรอย่างอื่นได้อีกแล้ว”), อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจากหวาดกลัวต่อการโจมตีสู้รบ กลายเป็นความชาชินเฉยเมย, ครอบครัวที่ล่มสลายกระจัดกระจายพลัดพราก, การดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด (หญิงสาวจำนวนมาก ต้องยึดอาชีพเป็นโสเภณี), ความคลั่งชาติของพวกนาซี, การพึ่งพาประจบประแจงผู้มีอำนาจเพื่อข่มขู่ผู้อื่นและเพื่อสถานะทางสังคมที่เหนือกว่า, อคติและการตั้งแง่รังเกียจชาวยิว ครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ

นี่ยังไม่นับรวมไปถึง สภาพหลังจากสงครามจบลงสดๆ ร้อนๆ ด้วยการที่เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ บรรยากาศสับสนอลหม่าน และอารมณ์เคว้งคว้างไม่รู้อนาคตของผู้คน

ความแนบเนียนอีกประการคือ ทัศนะและท่าทีต่อต้านสงคราม ซึ่งไม่มีให้เห็นผ่านการบอกเล่าบรรยายรายละเอียดต่างๆ แต่ปรากฏเพียงรางๆ ผ่านตัวละครเลนา บรึคเคอร์ ซึ่งเป็นตัวละครชาวบ้านธรรมดาสามัญ ไม่ได้สนใจในเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างจริงจัง เธอเพียงแค่ดำรงชีวิตไปตามครรลองของตน (“เธอไม่สนใจเรื่องราวของเหล่าวีรบุรุษทั้งหลายตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว และยิ่งผ่านเวลาสงครามมาห้าปีก็ยิ่งไม่สนใจเข้าไปใหญ่”)

แต่ในการตัดสินใจกระทำสิ่งที่ผิด ทั้งด้านศีลธรรมและขัดต่อตัวบทกฎหมายอันเป็นจุดสำคัญของเรื่อง เลนา บรึคเคอร์บอกเล่าดังนี้ “ฉันเองทำอะไรผิดหลายครั้ง และทำเอาหูไปนาเอาตาไปเร่หลายต่อหลายครั้ง แต่แล้วฉันก็มีโอกาสหนหนึ่งตอนใกล้จะจบแล้ว บางทีนั่นอาจเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่ฉันเคยทำ เอาใครสักคนหนึ่งไปซ่อนไว้ เพื่อว่าเขาจะได้ไม่โดนฆ่าหรือไม่ไปฆ่าคนอื่นอีก”

มีรายละเอียดช่วงตอนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือหลังจากที่เบรเมอร์ใช้ชีวิตหลบซ่อนในห้องพักของเลนาไปได้ระยะหนึ่ง ชายหนุ่มก็เกิดอาการประหลาด ลิ้นไม่รับรู้รสชาติของอาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ (ในนิยายมีการคาดเดาถึงสาเหตุความเป็นไปได้ โดยเลนาและเบรเมอร์ไปต่างๆ นานา และปราศจากข้อสรุปที่แน่ชัด)

แง่มุมนี้ไปเกี่ยวโยงถึงอีกช่วงตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าปลีกย่อยพรรณนาถึงสรรพคุณบางประการของผงกะหรี่ อันโยงใยเชื่อมต่อไปยังการถือกำเนิดอาหารที่เป็นจุดเริ่มของนิยาย รวมถึงอีกเหตุการณ์คลี่คลายที่เป็นความลับในตอนท้าย

การสูญเสียสัมผัสรับรู้เรื่องรสชาติของเบรเมอร์นั้นตีความได้กว้างและมีความเป็นไปได้หลายทาง ตั้งแต่การเชื่อมโยงไปถึงด้านลบหรือผลพวงอันเกิดจากสงคราม, การเรียนรู้และเข้าใจชีวิตของตัวละครผ่านเหตุการณ์อดีตช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการตระหนักในความรักอันงดงาม

ตามความเข้าใจของผม มันประกอบรวมกันด้วยทุกแง่มุมที่กล่าวมา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save