fbpx
อ่านหนังสือเจ้าสัว

อ่านหนังสือเจ้าสัว

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อ่านหนังสือคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ที่สำนักพิมพ์มติชนเพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นเดือนก่อนก็พาให้นึกถึงงานเขียนอื่นๆ ที่เคยอ่านมา และเกิดแรงบันดาลใจลุกขึ้นค้นหาหนังสือที่เคยอ่านนั้นมาเปิดหาข้อความหรือเนื้อหาส่วนที่คิดถึง แล้วจัดการคัดมาวางไว้ข้างๆ ตอนที่เห็นว่าคุณธนินท์เขียนให้ข้อสังเกตที่แสดงหรือสะท้อนประเด็นที่งานเก่าเหล่านั้นเคยเสนอไว้เมื่อนานมาแล้ว บางตอนก็พบว่าคุณธนินท์เขียนอธิบายและให้ตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจง่ายกว่าที่นักทฤษฎีทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายเสรีนิยมเขียนเสียอีก

ที่ผมจะนำเสนอในบทความคราวนี้จึงไม่ใช่บทปริทัศน์เพื่อแนะนำหรือวิจารณ์หนังสือคุณธนินท์แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงบันทึกในระหว่างทางการอ่านของผู้อ่านคนหนึ่ง ว่าตัวบทที่เขากำลังอ่านอยู่นั้นได้พาความคิดของเขาเชื่อมโยงไปหาตัวบทอื่นๆ ต่อออกไปอีกอย่างไร อนึ่ง บันทึกนี้ ผมยกจากบางส่วนที่อ่านมาเสนอเท่านั้น ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาจากบันทึกการอ่านตลอดทั้งเล่ม

 

1

 

เปิดอ่านมาหน้าแรก ก็ได้เรื่องเลย คุณธนินท์เขียนว่า

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศไทย ก็ยังไม่ใหญ่เท่าฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจในซีกโลกตะวันออก แต่ฮ่องกงก็ยังเล็กกว่าจีนที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต เหนือฟ้า ยังมีฟ้า … ดังนั้น ของดีที่สุด ผมก็ยังไม่ถือว่าเป็นของดีที่สุด แต่ต้องพยายามศึกษาค้นคว้าว่า ยังมีสิ่งที่ดีกว่าอีกไหม  (หน้า 9 เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

คำปรารภเปิดเรื่องของคุณธนินท์ข้างต้น ให้ความรู้สึกคล้ายกันมากกับที่ผมได้จากคำรำพึงของ Cecil Rhodes นักการเมือง นักลงทุนและนักขยายจักรวรรดิชาวอังกฤษในดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลที่แอฟริกาภาคใต้ในเวลาเสี้ยวสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ที่ว่า “บรรดาดวงดาราที่ท่านเห็นลอยอยู่เหนือศีรษะในยามค่ำคืน จักรวาลอันไพศาลที่เราไม่อาจเอื้อมถึง ถ้าสามารถทำได้ ข้าพเจ้าต้องการแผ่ไปให้ทั่วดาราจักรทั้งหมด ข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าที่เห็นมันแจ่มกระจ่าง แต่ก็ช่างอยู่ห่างไกล” (อ้างถึงใน Morgenthau, 1946: 193)

ในหน้าถัดมา คุณธนินท์เล่าถึงการขยายธุรกิจของซี.พี. ว่าจากจุดตั้งต้นที่เป็นธุรกิจด้านการเกษตร ซี.พี. ขยายเข้าสู่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก แล้วตามด้วยธุรกิจโทรคมนาคม

เมื่อทำสำเร็จในธุรกิจโทรคมนาคม เราก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น ในโลกนี้โอกาสเปิดกว้างอย่างไม่มีขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นโอกาสนั้นหรือเปล่า ซี.พี. ไม่เคยจำกัดตัวเอง เราถือว่าตลาดโลกเป็นของทุกคน คนเก่ง วัตถุดิบ และเงินในโลกนี้เป็นของทุกคน หากมีความสามารถย่อมหามาได้ เราจึงขยายธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (หน้า 11)

ตลาดในโลกนี้เป็นของซี.พี. … วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของซี.พี. … คนเก่งในโลกนี้เป็นของซี.พี … “ไม่จำกัดตัวเอง” “ไม่หยุดพัฒนา” (หน้า 98, 101, 103 เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

ไหนๆ ความคิดเรื่องขยายตัวของคุณธนินท์พาให้ผมคิดไปถึงการขยายจักรวรรดิของ Rhodes แล้ว สมควรกล่าวด้วยว่า จากสินทรัพย์มหาศาลของเขา Rhodes ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาสำหรับ Rhodes Scholarship เพื่อสนับสนุนการบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกสาธารณะและความเข้มแข็งทางศีลธรรมที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซี.พี. ก็ดูจะตามรอยนั้นมาไม่ไกล ในบทใกล้ลงท้ายหนังสือ คุณธนินท์เล่าถึงการจัดสรรส่วนหนึ่งของเงินรายได้ของเครือธุรกิจสำหรับทำงานองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม “ที่พร้อมจะจับมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อทำโครงการดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม” (หน้า 289 เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

ในปัจจุบัน Rhodes Scholarship เปิดให้ผู้นำคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกสมัครขอรับทุนไปศึกษาระดับ postgraduate ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้  เมื่อซี.พี. มองทั้งโลกเป็นโอกาสของซี.พี. ที่จะขยายต่อไปได้ไม่มีสิ้นสุด ขอบข่ายการทำงานขององค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ซี.พี.จะทำต่อไป จะขยายขอบเขตออกไปกว้างไกลขนาดไหนก็เป็นเรื่องน่าติดตาม

 

2

 

ในบทต้นเช่นกัน คุณธนินท์ถือโอกาสเปิดประเด็นและเปลี่ยนความหมายที่หลายฝ่ายมองซี.พี.ว่าทำธุรกิจแบบผูกขาด ซึ่งในบทต่อๆ ไป คุณธนินท์จะเสนอความหมายในวิธีทำธุรกิจของซี.พี. ให้คนอ่านที่กังขาในเรื่องอำนาจเหนือตลาดของซี.พี.ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือไม่ควรเข้าใจอย่างนั้น

เช่นที่คุณธนินท์เสนอว่า อย่างมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่าซี.พี. เป็นเพียงผู้นำตลาดเท่านั้น และที่สามารถเป็นผู้นำขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งก็เพราะจากการเห็นก่อนทำก่อน หรือตัดสินใจเลือกทำธุรกิจที่ยังไม่มีคู่แข่งเข้ามาลงทุน แต่ต้องเห็นด้วยว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคตบวกกับยังมีช่องว่างและลู่ทางในการทำตลาดในพื้นที่นั้นอยู่อีกมาก

หรือการทำธุรกิจแบบครบวงจร และการควบคุมเทคโนโลยีไว้ในมือนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะซี.พี. ใช้โมเดลธุรกิจแบบแบ่งหน้าที่กันทำ โดยแทนที่จะเอาภาระความเสี่ยงและการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพไปไว้กับคนที่ขาดแคลนทุนและไม่สามารถจะแบกรับภาระต้นทุนที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวขาดทุนที่ทำให้ต้องจมอยู่กับหนี้สิน ก็เปลี่ยนมาใช้โมเดลธุรกิจที่ซี.พี.ทำร่วมกับเกษตรกร โดยแบ่งหน้าที่ใน “ระบบครบวงจร …ที่ให้คนที่ไม่มีทุน ไม่มีตลาด ไม่มีเทคโนโลยี  แต่มีแรงงาน มีที่ดิน ก็มาออกที่ดิน ออกแรงงาน และให้คนที่มีทุนออกทุน มีเทคโนโลยีออกเทคโนโลยี และเป็นผู้หาตลาด  วิธีนี้ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุน” (หน้า 53 เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

ความสัมพันธ์ระหว่างซี.พี.กับเกษตรกรในคำอธิบายของคุณธนินท์เป็นความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือกันและกันระหว่างบริษัทที่มีความสามารถจะรับความเสี่ยงจากการลงทุน กับเกษตรกรที่รับความเสี่ยงในภาคการผลิตที่มีความผันผวนสูงในหลายๆ ด้านได้อย่างจำกัด โมเดลธุรกิจของซี.พี.จึงเป็นการเข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ถือเกษตรกร “เป็นเหมือนคู่ชีวิต (หน้า 9 เน้นข้อความตามต้นฉบับ) โดยซี.พี.เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและตั้งหลักทำงานร่วมกับซี.พี.ได้  ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีที่ “ทำให้เกษตรกรผลิตได้มากขึ้นแต่เหนื่อยน้อยลง”  และให้การช่วยเหลือด้านการตลาดเพราะ “สถานการณ์สินค้าเกษตรในประเทศไทย พ่อค้าคนกลางเป็นคนซื้อ เป็นคนกำหนดราคา เกษตรกรไม่ค่อยมีอำนาจต่อรอง” (หน้า 156-157)

การหาทางแก้ความเข้าใจของคนทั่วไปในเรื่องอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางธุรกิจของซี.พี. ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารกับสาธารณะ ด้วยการนำเสนอเหตุผลจากวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เพื่อสร้างความหมายให้คนอ่านและคนทั่วไปเข้าใจซี.พี.จากมุมมองที่ต่างออกไปเช่นนี้ นับว่าน่าพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับคนสนใจศึกษาการสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กร หรือสนใจการวิเคราะห์วาทกรรมที่พิจารณาการสร้างความเข้าใจตัวตนของประธาน ระดับอำนาจของผู้กระทำการแต่ละฝ่ายในความสัมพันธ์ที่มีอยู่ และชุดเหตุผลรองรับที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในความสัมพันธ์ยอมรับความสัมพันธ์นั้นอย่างมองเห็นเป็นปกติ

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมอ่านพบสาขาใหม่ของเศรษฐศาสตร์คือ Narrative Economics ที่สนใจศึกษาการแพร่สะพัดของเรื่องเล่าที่ระบาดกระจายไปในเครือข่ายและผลต่อความรู้สึกนึกคิดการตอบสนองของคนและผลต่อสภาวะขึ้นลงของตลาดที่ตามมา ผมคิดว่า ‘พิมพ์เขียว’ การพัฒนาประเทศแบบ ‘สองสูง’ ของคุณธนินท์ แม้จะไม่ใช่ viral stories อย่างที่ Narrative Economics กำลังให้ความสนใจศึกษากันอยู่ในขณะนี้ แต่ต่อไปเมื่อ Narrative Economics หันมาศึกษา narrative จนได้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบที่สร้างพลังโน้มน้าวใจให้แก่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ผลัดเปลี่ยนขึ้นมาครองความคิดในการจัดการเศรษฐกิจของยุคสมัย แนวคิด ‘สองสูง’ และ ‘สามสูง’ ของคุณธนินท์ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับทดสอบทฤษฎีใน Narrative Economics ได้ดีทีเดียว

แต่ที่ทำให้ผู้อ่านอย่างผมชอบใจเป็นพิเศษเพราะพาให้คิดถึงอะไรต่ออะไรต่อไปได้อีกมาก ก็คือกลยุทธ์ดึงภาพพจน์โวหารมาพลิกความหมาย ที่คุณธนินท์เลือกมาใช้ในบทแรกสุด เพื่อที่จะเปลี่ยนมุมมองคนอ่านออกมาจากการเห็นซี.พี. เป็นธุรกิจผูกขาด และเพื่อจะเตรียมคนอ่านสำหรับการนำเสนอความเข้าใจซี.พี.ใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่คุณธนินท์จะนำเสนอในบทต่อๆ มา

ในบทต้นที่หน้า 11 คุณธนินท์เสนอความเข้าใจผ่านภาพพจน์โวหารว่า

คนไม่เข้าใจไม่เคยเห็นตอนผมสร้างธุรกิจเพราะไม่มีใครสนใจทำ มาเห็นตอนที่ธุรกิจของผมสำเร็จแล้ว จึงคิดว่า ซี.พี. ผูกขาด แต่ไม่รู้ว่าตอนผมสร้างธุรกิจ ลองผิดลองถูกอยู่นั้นมันลำบากขนาดไหน โลกนี้ไม่มีอะไรง่าย ยิ่งทำงานใหญ่ อุปสรรคก็ยิ่งใหญ่ ถึงมีเงินเยอะ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง มีแต่ความกดดันรอบตัว วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจจะล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจมีคนที่เก่งกว่า ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา พนักงานซี.พี. ทุกคนรู้ดีว่า เราต้องเร็วและมีคุณภาพ เพราะยุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็น ยุคปลาเร็วกินปลาช้า ทุกอย่างมีเป้าหมาย มีเวลา “ความสำเร็จ จึงดีใจได้วันเดียว” (หน้า 11 เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

คุณธนินท์ไม่ใช่คนแรกที่คิดว่ายุคนี้ไม่ควรเข้าใจด้วยภาพปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ควรทำความเข้าใจด้วยภาพปลาเร็วกินปลาช้า แต่ความพิเศษของคุณธนินท์อยู่ตรงที่คุณธนินท์เลือกนำภาพพจน์โวหารเปรียบเทียบ 2 แบบนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการพลิกมุมมองของคนที่ยังไม่เข้าใจหรือยังแคลงใจกับซี.พี. และคิดว่าซี.พี. ทำธุรกิจแบบผูกขาด

โลกของปลาใหญ่กินปลาเล็กเป็นโลกที่ให้ภาพบ่งถึงความเสียเปรียบได้เปรียบระหว่างคนที่มีอำนาจไม่เท่ากัน เป็นโลกที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยตกเป็นเหยื่อของกิจการขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกว่าที่ค่อยๆ ไล่ต้อนรายย่อยออกไปจนครองตลาดด้านนั้นไว้ได้ทั้งหมด

ผลลัพธ์ที่ปลาเล็กตกเป็นเหยื่อของปลาใหญ่อันเกิดจากความเหลื่อมล้ำในอำนาจแบบนี้มีปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นประเด็นใจกลาง และเมื่อเป็นแบบนั้น ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมจึงตั้งคำถามทางการเมืองและกลายเป็นประเด็นที่จะต้องต่อสู้และตัดสินใจกันในทางการเมืองและโดยการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่คำถามใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจของรัฐว่าเป็นแบบไหน การทำงานของรัฐเป็นไปเพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ให้ใคร

แต่โลกปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ภาพของโลกที่พาให้เห็นความเหลื่อมล้ำแตกต่างในอำนาจ แต่เป็นภาพวาดให้เห็นโลกที่มีการแข่งขันสูงมาก ชัยชนะในการแข่งขันวัดกันที่ความสามารถในการพัฒนาตัวเองและปรับตัวให้ทันเวลาทันคู่แข่งทันกับความเปลี่ยนแปลงแต่ให้เลยขีดความสำเร็จเก่าของตนเองต่อไปอีกไม่มีหยุด อนุญาตให้ความสำเร็จใดๆ “ดีใจได้วันเดียว”

ในโลกของปลาเร็วกินปลาช้า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพได้ไม่หยุดยั้ง การขยายธุรกิจขยายการผลิตขยายตลาดและจัดการกับความเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจนความสำเร็จและความผิดพลาดล้มเหลวใดๆ ถือเป็นการตัดสินใจในทางธุรกิจ และเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเป็นหลัก

พออ่านได้ใจความแบบนี้ ผมก็นึกถึงงานเก่าของ C. Wright Mills เรื่อง The Power Elite (1956) ขึ้นมา เพราะเคยได้ความเข้าใจจากงานของเขาว่า คนที่มีระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ไม่ไกลเกินกว่ารอซื้อของจากรถพวงหรือตลาดนัดในหมู่บ้านที่ติดตลาดทุกพุธทุกเสาร์และจากร้านเซเว่นกับซีพีเฟรชมาร์ท ที่ตั้งขนาบหน้าปากซอยทางซ้ายทางขวา กับคนระดับที่เห็นว่า ในโลกธุรกิจนั้นไม่มีพรมแดนขวางกั้น โลกเป็นแหล่งวัตถุดิบของเรา โลกเป็นตลาดของเรา คนเก่งในโลกนี้เป็นของซี.พี. (หน้า 100, 101 เน้นข้อความตามต้นฉบับ) ย่อมยืนอยู่ในตำแหน่งที่มองโลกจากพื้นระดับที่แตกต่างห่างกันมาก

และจากความห่างระหว่างระดับที่ต่างกันนั้น  ก็ไม่แปลก ถ้าฝ่ายหนึ่งจะเห็นโลกผ่านภาพปลาใหญ่กำลังกินปลาเล็ก  ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีภาพโลกของปลาช้าที่ถูกปลาที่เร็วกว่าไล่กินได้ประจำอยู่ในใจตลอดเวลา จนความสำเร็จอะไรที่ได้รับมาก็หยุดช้าให้ดีใจได้แค่วันเดียว

Mills เขียนเปิดเรื่อง The Power Elite ให้ภาพความแตกต่างของคนที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเดียวกันแต่ต่างกันคนละโลกไว้อย่างนี้

อำนาจของคนธรรมดาถูกขีดล้อมวงไว้โดยโลกจำเจทุกเมื่อเชื่อวันที่พวกเขาอาศัยใช้ชีวิตอยู่ และแม้แต่ในวงของที่ทำงาน ในครอบครัว และในย่านที่คนเหล่านี้อาศัย ก็พบเห็นอยู่เป็นประจำว่าพวกเขาถูกผลักถูกดันไปโดยพลังที่อยู่พ้นวิสัยที่พวกเขาจะเข้าใจหรือจะขึ้นไปมีอำนาจเหนือมันได้  … สังคมสมัยใหม่ได้หากรอบมาบีบพวกเขาไว้ให้อยู่ในโครงการที่มาจากทุกทิศทาง แต่เป็นโครงการที่พวกเขาไม่ใช่และไม่ได้เป็นเจ้าของมันเลย ในสังคมมวลชน คนทั้งชายและหญิงจึงรู้สึกว่าในยุคที่พวกเขาปราศจากอำนาจ พวกเขาก็ไม่ได้อยู่ด้วยเป้าหมายของตัวเอง

แต่ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นคนธรรมดาในความหมายที่ว่ามานี้ทุกคน เมื่อเครื่องมือของข้อมูลข่าวสารและอำนาจถูกรวมศูนย์มากขึ้น คนบางคนก็ขึ้นมาครองตำแหน่งในสังคม และจากตำแหน่งนั้นก็ทำให้เขามองลงมายังข้างล่างได้ และใช้การตัดสินใจของเขาสร้างผลกระทบต่อโลกในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปได้มหาศาล … ไม่มีชุมชนแห่งไหนจะมาผูกมัดเขาไว้ เขาไม่จำเป็นต้องคอยรับปฏิบัติตามคำสั่งข้อเรียกร้องรายวันรายชั่วโมง แต่เขาเป็นคนสร้างคำสั่งและข้อเรียกร้องเหล่านั้นขึ้นมาเอง และให้คนอื่นๆ เป็นคนมารับไปปฏิบัติ  ไม่ว่าเขาจะบอกว่าเขามีอำนาจหรือไม่ก็ตาม แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ของเขาทั้งในความรู้ทางเทคนิคและในทางการเมืองทำให้อำนาจของเขามีเหนือกว่าคนทั่วๆ ไปมาก … ชนชั้นนำผู้มีอำนาจประกอบด้วยคนที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งทำให้พวกเขาสามารถรื้อถอนสภาพแวดล้อมธรรมดาๆ ของคนธรรมดาทั่วไปได้

การเปลี่ยนภาพปลาเร็วกินปลาช้ามาแทนภาพปลาใหญ่กินปลาเล็กจึงเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดที่ทำให้คุณธนินท์พ้นจากกับดักของการแบ่งแยกคนในสังคมเดียวกันออกเป็น 2 ฝ่ายระหว่างปลาเล็กที่ไม่มีอำนาจ กับปลาใหญ่ที่มีอำนาจ และความสัมพันธ์ที่ฝ่ายมีอำนาจน้อยมีทุนน้อยหรือไม่มีเลยตกเป็นเหยื่อของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีอำนาจมากกว่ามีทุนมากกว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่า พูดสั้นๆ ก็คือ คุณธนินท์ปฏิเสธที่จะรับเกียรติเป็น power elite ตามการแบ่งชั้นทางสังคมของ Mills นั่นเอง

Mills เขียนว่าชนชั้นนำผู้มีอำนาจจะมองจากตำแหน่งบนยอดลงมาหาข้างล่าง แต่คุณธนินท์ไม่ได้ตั้งต้นเรื่องที่เขียนด้วยการมองแบบนั้น ในประโยคตั้งต้นหนังสือ คุณธนินท์ยืนอยู่ในห้องทำงานส่วนตัวบนยอดตึกของสำนักงานเครือซี.พี.ในฮ่องกงแล้วมองออกไปรอบๆ จากตำแหน่งบนจุดนั้น คุณธนินท์มองเห็นศูนย์กลางธุรกิจในเอเชียตะวันออก เห็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก เห็นโอกาสการแข่งขันกับคนอื่นๆ ในโลก และแน่นอน เห็นผ่านภาพที่ไม่ใช่โลกของปลาเล็กปลาใหญ่ แต่เป็นโลกของปลาขนาดสมน้ำสมเนื้อกันตัวที่เร็วกว่าสามารถเอาชนะปลาตัวที่ช้ากว่าในตลาดการแข่งขันที่ “ใครมีเทคโนโลยีก็สามารถดึงเงินมาจากอากาศได้” (หน้า 193)

ในขณะที่งานเขียนของคุณธนินท์ไม่ยอมเป็นตัวจิ๊กซอว์อยู่ในภาพต่อของ C. Wright Mills ที่ตัดแบ่งคนออกเป็นชั้นระหว่าง power elite กับคนธรรมดาๆ ที่ไร้อำนาจ ผมก็เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ไปกันได้ดีมากกับงานของนักคิดด้านเศรษฐกิจการเมืองฝ่ายเสรีนิยมผู้มีชื่อเสียงคือ John Stuart Mill เจ้าของผลงาน The Principles of Political Economy (1848) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากจะเสนอว่าฝ่าย ‘productive class’ ของ Mill จะอ่านหนังสือเล่มนี้ของคุณธนินท์ด้วยความพอใจอย่างมาก เพราะ

1. Productive class ของ Mill ชอบและจะซาบซึ้งกับการถ่ายทอดอุดมคติที่เน้นเรื่องความสำเร็จทางเศรษฐกิจของคุณธนินท์ อันเกิดจาก “ ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตใจ” ในเรื่องการรู้จักอดออมและอดทนสู้งานหนัก ความซื่อตรงต่อคู่ค้า การไต่เต้าจากระดับเล็กๆ ไปสู่การเติบโตที่ผ่านการลองผิดลองถูกแต่พัฒนาศึกษาเรียนรู้ไม่หยุดหย่อน การรู้จักเลือกคนและการใช้คนด้วยการ “ให้เกียรติ ให้ใจ ให้การสนับสนุน ให้ความเป็นเพื่อน” (หน้า 27) และ “ให้ความช่วยเหลือ ให้อภัย ให้โอกาส” (หน้า 20) และที่สำคัญไม่น้อยกว่าคุณสมบัติข้ออื่นๆ ก็คือ “กล้าเปลี่ยนแปลง” (หน้า 121)

ด้วยความชื่นชอบอุดมคติความสำเร็จที่ตัวเองรับผิดชอบตนเองได้แบบนี้  ฝ่าย productive class ของ Mill จึงสนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐบาลในทางช่วยรักษาผลอันเกิดจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการฝ่าย productive class ได้ลงทุนลงแรงฝ่าฟันสร้างตัวขึ้นมา และแทนที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเก็บภาษีรีดเอาความมั่งคั่งจากความสำเร็จดังกล่าวมากระจายต่อแล้วอ้างเป็นผลงานความสำเร็จทางการเมืองของตนเอง รัฐบาลควรดำเนินนโยบายสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างและขยายความมั่งคั่งแห่งชาติ ด้วยนโยบายสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การขยายโอกาสการลงทุนและบุกเบิกตลาดใหม่ การค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ข้อเสนอในหนังสือของคุณธนินท์เล่มนี้ให้ข้อคิดและแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่าย productive class

2. ยุทธศาสตร์ 2 สูงของคุณธนินท์เข้ามาช่วยฝ่าย productive class ของ Mill ในระบบเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนความเข้าใจของคนในสังคมเกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรมของรายได้ โดยชี้ให้เห็นส่วนที่ปัญหาใหญ่ของความไม่เป็นธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่งคั่งแห่งชาติว่า ไม่ได้อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนบนชั้นยอดสุดที่เป็น power elite ของ Mills กับคนอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด แต่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนระดับที่เป็นฐานรากของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เกษตรกรที่เป็นคนจำนวนมากมีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของแรงงานในภาคการผลิตอื่น และถ้ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาด้วยการยกระดับรายได้ของคนระดับที่เป็นฐานรากทุกๆ ภาคการผลิต ไม่เฉพาะแต่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น แล้วบริหารด้วยนโยบายแบบรักษา 2 ต่ำ คือกดราคาสินค้าเกษตรให้ต่ำ และกดค่าแรงให้ถูก เป้าหมายการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มพูนความมั่งคั่งแห่งชาติจะไม่มีทางทำได้สำเร็จ

3. Wright Mills เสนอ power elite ออกมาแตกต่างเป็นคนละพวกกับคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป  คุณธนินท์คงไม่ชอบที่จะถูกมองผ่านแนวคิดเศรษฐกิจการเมืองแบบชนชั้นนำนิยมของ Mills แต่คงจะพอใจมากกว่าถ้าจัดให้คุณธนินท์อยู่ใน productive class ของ John Stuart Mill เพราะการอยู่ในฝ่ายนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกับใคร ตราบเท่าที่พวกเขาได้รับความเป็นธรรมในการคุ้มครองจากรัฐแก่ตัวเขา และในสิ่งที่พวกเขาทำมาหาได้โดยสุจริตและไม่ผิดกฎหมาย  โมเดลธุรกิจภายใต้ระบบ contract farming ของซี.พี.ที่คุณธนินท์เล่าไว้ในหนังสือก็สะท้อนความคิดในแบบ productive class ของ Mill ว่าเกษตรกรผู้ประกอบการรายย่อย กับซี.พี.เจ้าของเทคโนโลยี ทุน กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกัน แต่สามารถหาตัวแบบการแบ่งงานแบ่งบทบาทหน้าที่ที่เปิดให้แต่ละฝ่ายเกื้อกูลช่วยเหลือกันตามความสามารถ โดยมีผลิตภาพและประสิทธิภาพในการผลิตเป็นเป้าหมาย และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันโดยความพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย

คนอ่านหนังสือคุณธนินท์บางคนอ่านแล้วเห็นว่าคุณธนินท์กล่าวถึงปัญหาการผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาดไม่มากเท่าที่ควร แต่ผมเห็นว่านั่นอาจจะไม่ใช่ปัญหาของคุณธนินท์เท่ากับที่เป็นปัญหาของระบบกฎหมายไทยที่ยังคลุมเครือในความหมายในทางปฏิบัติของการแข่งขัน การผูกขาด การมีอำนาจเหนือตลาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรม และโดยที่กฎหมายยังไม่ได้วางกฎเกณฑ์และบังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด   ถ้าใช้ศัพท์ทางรัฐศาสตร์คือเรื่องนี้ยังควรถือเป็น nondecision เรื่องหนึ่งในนโยบายสาธารณะของไทย  ผลก็เลยเป็นอย่างที่เห็น ที่คุณธนินท์จะแก้ความเข้าใจเรื่องการผูกขาดในแบบที่ไม่ต้องอิงความหมายและตัวชี้วัดเรื่องนี้ด้วยเกณฑ์อันเคร่งครัด  การเปิดประเด็นนี้ที่คุณธนินท์จะทำได้ไม่ถนัดถ้าไม่เปิดประเด็นกับรัฐราชการและรัฐบาลไทยที่ผ่านมาก่อนหรือพร้อมๆ กันไป

แต่ส่วนที่ผมเห็นว่าขาดหายไปอย่างน่าสังเกตในงานของคุณธนินท์คือประเด็นความเป็นธรรมในความหมายแบบมาร์กซิสต์  คุณธนินท์ไม่ใช่มาร์กซิสต์แน่ จึงกล่าวถึงแต่การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยไม่ได้ตอบเรื่องมูลค่าส่วนเกิน  แต่มิตรสหายมาร์กซิสต์และกระแสวิพากษ์สายอื่นๆ คงมีคำถามไม่น้อยที่อยากตั้งปัญหาถามคุณธนินท์และซี.พี.ในเรื่องนี้และประเด็นเกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ตามมา

การอ่านตอนนี้ผมบันทึกข้อสรุปได้ว่าจากการเปลี่ยนภาพที่นำเสนอโลกแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก แล้วแสดงแทนด้วยภาพปลาเร็วกินปลาช้าเปิดโอกาสให้คุณธนินท์จัดวางซี.พี.ลงไปในสนามความหมายที่เปลี่ยนเรื่องเล่าและความเข้าใจแบบที่ชวนตั้งข้อกังขาต่อโมเดลธุรกิจของซี.พี.มาเป็นโมเดลธุรกิจที่มี “การลงทุนสูง ประสิทธิภาพสูง คุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ” ที่จะก่อให้เกิดการเพิ่มรายได้ เพิ่มผลลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ (หน้า 191)

 

3

 

แต่ถึงไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์ ก็สามารถอ่านงานของคุณธนินท์แบบที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์ แต่เอื้อต่อการเข้าใจหรือตั้งประเด็นสนทนากับข้อเสนอของมาร์กซ์และนักคิดฝ่ายมาร์กซิสต์ได้อยู่เหมือนกัน จากที่ผมอ่านผมเห็นอย่างน้อย 2 เรื่องในหนังสือของคุณธนินท์

เรื่องแรกคือข้อเสนอของมาร์กซ์ใน Grundrisse ว่าด้วยเรื่อง “annihilation of space by time” ที่เห็นแล้วดูจะเข้าใจยากว่ากาละจะมาจัดการทำลายข้อจำกัดอันเกิดจากเทศะหรือพื้นที่ได้ตรงไหนและอย่างไร แต่ในหนังสือของคุณธนินท์บทที่ว่าด้วย “ครัวโลก” และ “7-Eleven พลิกชีวิตใหม่ด้วย ‘คน’” จะให้ตัวอย่างรูปธรรมที่ดีมากว่าการลดเวลาที่ต้องใช้ระหว่างการหาและขนส่งวัตถุดิบกับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายให้มีผลิตภาพและได้คุณภาพมากที่สุด และการลดระยะเวลาที่ต้องใช้ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นแล้วกับการจำหน่ายให้ถึงมือผู้ซื้อผู้บริโภคให้สินค้าได้ไหลเวียนออกไปและมีใหม่มาเติมได้เร็วที่สุด ซี.พี.มีคำตอบในเชิงกลยุทธ์และตัวแบบธุรกิจอย่างไรต่อการขยายตัวของทุนเข้าสู่พื้นที่ทุกส่วนของโลก ทุกย่าน และทุกปากซอยใหญ่และในซอกซอยเล็กๆ

แนวคิดเรื่องเทศะของมาร์กซ์มีนักคิดสายมาร์กซิสต์อย่าง David Harvey นำมาพัฒนาต่อด้วยแนวคิด spatial fix ซึ่งมีความหมาย 2 แบบ แบบแรกคือความหมายของ fix ที่เป็นทางแก้ คือการใช้พื้นที่เป็นตัวแก้ปัญหาการสะสมทุนที่ล้นเกิน ด้วยการขยายเข้าไปลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ ที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมยังพัฒนาขึ้นมาไม่เต็มที่ แต่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ตามมาด้วยความหมาย fix ในแบบที่ 2 คือการลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพนั้น จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนสูงก็จริง แต่การลงทุนเพื่อเปลี่ยนพื้นที่นั้นให้กลายเป็นฐานการผลิต เช่นการสร้างระบบรองรับต่างๆ จะทำให้ทุนถูกจับตรึงติดอยู่ในพื้นที่ หนังสือของคุณธนินท์จะให้กลยุทธ์หลายแบบสำหรับจัดการปัญหา spatial fix ที่ Harvey เสนอไว้

ไหนๆ พูดถึงงานของ David Harvey คู่มากับเครือซี.พี.เจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อแล้ว  ก็ขออนุญาตแนะนำสินค้าอาหารสมองแบบขายพ่วงไว้ที่นี่เลย ว่าเมื่อท่านรับหนังสือเจ้าสัวธนินท์จากแผงแล้ว โปรดมองหาหนังสือ ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม ของ เดวิด ฮาร์วี แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาเป็นผู้จัดพิมพ์ มาอ่านด้วย จะอ่านอย่างถือว่าเป็นคู่ปรับกัน หรือจะอ่านอย่างวิภาษวิธีก็ตามแต่ใจท่าน แต่มั่นใจได้ว่าจะได้รสชาติอาหารสมองดียิ่งนักแล

เรื่องที่ 2 ที่น่าพิจารณางานของคุณธนินท์คือ แนวคิด 2 สูงและ 3 สูงที่คุณธนินท์เสนอเป็นทิศทางสำหรับนโยบายปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจไทย ข้อเสนอของคุณธนินท์เป็นข้อเสนอเพื่อการปรับเปลี่ยนการทำงานของกลไกเชิงสถาบันโดยไม่เปลี่ยนแปลงตรรกะรากฐานที่ขับเคลื่อนการทำงานของระบบเศรษฐกิจ พลวัตของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เข้ากับที่ Talcott Parsons และ Neil Smelser เสนอไว้ใน Economy and Society (1956, 270-1) มากกว่าที่จะเป็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงตามตัวแบบความขัดแย้งของมาร์กซิสต์   Parsons and Smelser เสนอวงจรของการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันในระบบเศรษฐกิจไว้ดังนี้

1. ผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่สร้างความไม่น่าพอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2. สังคมเกิดปฏิกิริยาและความรู้สึกต่อสภาวะอันไม่น่าพึงใจของระบบเศรษฐกิจ และหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อเรียกร้องและความคาดหวังในทางที่ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ หรือ ‘ทำให้เป็นจริงได้ยาก’

3. การส่งผ่านความไม่พอใจเข้าสู่ช่องทางต่างๆ จะไม่ถึงกับแตกแถวออกไปมากจากแบบแผนของคุณค่าอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในสังคม เช่น คุณค่าเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของค่านิยมทางวัฒนธรรมคอยสกัดไว้

4. ผู้นำที่ได้รับความเคารพจากสังคมจะออกมาสนับสนุนการปฏิรูปและเสนอทางเลือก (วางข้อเสนอของคุณธนินท์ ไว้ในขั้นตอนนี้ได้)

5. ตามมาด้วยความพยายามทั้งภายในและภายนอกรัฐบาลที่จะผลักดันให้มีการรับและนำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปแปรไปสู่การปฏิบัติ

6. นวัตกรรมหรือตัวแบบกระบวนการใหม่ๆ ได้รับการยอมรับตามผลของมันที่มีต่อผลิตภาพ รายได้และกำไร

7. นวัตกรรมหรือตัวแบบกระบวนการใหม่ๆ ที่ได้รับการยอมรับแล้ว ทำงานอย่างเป็นสถาบัน

แน่นอนว่า นักคิดปัญญาชนฝ่ายมาร์กซิสต์จะเห็นขั้นตอนวงจรการเปลี่ยนแปลงที่รีดเอาความเป็นการเมืองออกไปจนหมดแบบนี้ด้วยความอิดหนาระอาใจ แต่วงจรแบบนี้มันก็มักจะเวียนมาเกิดซ้ำให้เห็นอยู่บ่อยๆ เพราะวิกฤตที่คาดกันไว้นานแล้วว่าจะสร้างจุดจบของระบบทุนนิยมก็ยังไม่เข้ามารื้อเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสักที มีแต่ทุนนิยมที่เข้ารื้อเปลี่ยนยกสลายทุกพื้นผิวที่มันเจาะเข้าไปถึง

ผลงานของคุณธนินท์และคนอย่างคุณธนินท์ในโลกที่ปลาเร็วกินปลาช้าจะส่งผลเป็นตัวช่วยสืบรักษาความเข้มแข็งของทุนนิยมต่อไปได้หรือไม่ การอ่านตัวบทที่ไขปริศนา “เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” และ “ความมหัศจรรย์ทางธุรกิจของเมืองไทย” (คำโปรยบนปกหลังของหนังสือคุณธนินท์) ควบคู่ไปกับตัวบทอีกเล่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า “นวัตกรรมที่ทำให้ทุนนิยมเข้มแข็งและดูประหนึ่งมั่นคงสถาพร” นั้น แท้ที่จริงอาจเป็นเพียง “เปลือกนอกหลอกตา … ที่เป็นอันตรายถึงฆาตต่อสังคมของเรา” (คำโปรยบนปกหลังของหนังสือเดวิด ฮาร์วี) อาจจะพอให้คำตอบเหมาะๆ แก่ท่านได้  ท่านจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรจะไปร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกหาความเปลี่ยนแปลงฉบับใด

แต่จะเป็นฉบับใดของฝ่ายไหน ก็อย่าลืมคำคุณธนินท์

เมื่ออยู่ในโลกทุนนิยม ต้อง “กล้าเปลี่ยนแปลง”!  (เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save